เอ็น.ซี.ซี. ไม่สนเศรษฐกิจ เดินหน้าจัดเวดดิ้ง แฟร์ '99 ครั้งใหญ่


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้ว่าเศรษฐกิจจะซบเซา แต่ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อความ รักของหนุ่มสาว ในทางตรงกันข้าม ในปี 1999 นี้ กลับเป็นปีที่คู่รักหลายคู่ตั้งใจที่จะลงเอยกัน อาจด้วยเหตุผลของความพร้อมและความเหมาะสม และที่พิเศษกว่านั้นคือ เพื่อให้มีลูกได้ทันในปี 2000 หรือปีมังกรทอง ซึ่งถือว่าเป็นปีที่เฮงที่สุดสำหรับโหราศาสตร์จีน บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด หรือ เอ็น. ซี.ซี. ผู้บริหารศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จึงสั่งลาศตวรรษที่ 20 ด้วยการจัดงานเวดดิ้ง แฟร์ ครั้งยิ่งใหญ่ขึ้นที่ศูนย์ประชุมฯ ในระหว่างวันที่ 13-16 พ.ค.นี้ ซึ่งครั้งนี้นับเป็นปีที่ 6 แล้ว

พวงทิพย์ โชติพันธวานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจการจัดงานของเอ็น.ซี.ซี.ได้เล่าถึงรายละเอียดของงานเวดดิ้ง แฟร์ในปีนี้ว่า

"คอนเซ็ปของงานในปีนี้ยังคงเน้นที่การเป็น ONE STOP SHOPPING สำหรับธุรกิจการแต่งงาน โดยในงานจะประกอบด้วยสินค้าและบริการที่หลากหลาย ตั้งแต่ชุดวิวาห์ เครื่องประดับ-แหวนหมั้นเพชร สถานที่จัดเลี้ยง โรงแรม เค้ก การ์ด-ของชำร่วย เฟอร์นิเจอร์ สตูดิโอถ่ายภาพ และบริษัท ทัวร์ เป็นต้น"

สำหรับปีนี้ พวงทิพย์คาดว่าจะมีผู้ที่สนใจเข้าชมงานไม่ต่ำกว่า 17,000 คู่ โดยมีผู้แสดงงานทั้งสิ้น 130 ราย ซึ่งเป็น ประมาณการตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว และจากตัวเลขสถิติของงานเวดดิ้ง แฟร์ ที่จัดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1994 พบว่ามีอัตราการเติบโตสูงขึ้นทุกปี

ส่วนกิจกรรมพิเศษของงานในปีนี้ ทางเอ็น.ซี.ซี ได้จัดให้มีโครงการเวดดิ้ง เทรนด์ ดีไซน์ 1999 ขึ้น โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชั่นของเมืองไทยมาร่วมแสดงแนวโน้มแฟชั่นของการแต่งงานในช่วงปี 1999-2000 อาทิ สมชาย แก้วทอง จากไข่บูติค, บวรพร สุทธิวานิช จากห้องเสื้อระพี, ชัชวาล โรจนานุจิ จากร้านชุดวิวาห์ชัชวาล และ กัลยา ภูธน-กิจ จากห้องเสื้อการิต้า ออสเซิ่ล มาเป็นคณะกรรมการด้านแนวโน้มของแฟชั่นชุดวิวาห์ เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแต่งหน้าและทำผมมาร่วมด้วย

"โครงการเวดดิ้ง เทรนด์ ดีไซน์ เกิดขึ้นจากการเล็งเห็นว่า ตลาดสินค้าและการบริการด้านการแต่งงานยังมีแนวโน้มที่สดใสและเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่มีบริษัทที่ประกอบธุรกิจด้านนี้เข้ามาเปิดตัวในเมืองไทยเยอะมากในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นทางเอ็น.ซี.ซี จึงได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิด้านแฟชั่นของเมืองไทยมาร่วมแสดงความเห็น และกำหนดแนวทางรูปแบบของแฟชั่นการแต่งงานของเมืองไทยเองให้โดดเด่นมากขึ้น เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนอันเป็นเอกลักษณ์ที่งดงามของไทยไม่ให้สูญหายไปในสภาพ แวดล้อมสากล" พวงทิพย์กล่าว

ซึ่งผลสรุปของแนวโน้มสำหรับปีนี้ไปจนถึงปีหน้าจะเน้นที่ 2 ประเด็นหลัก ประเด็นแรกคือ "การประหยัด" ดัง นั้นแนวโน้มของแฟชั่นชุดวิวาห์จึงเน้นในเรื่องของการเลือกใช้วัสดุที่หาได้ไม่ยาก ตกแต่งออกมาเป็นชุดที่เรียบง่ายแต่คงไว้ซึ่งความสง่างาม และประเด็นที่สอง คือ "การอนุรักษ์ ความเป็นไทย" ซึ่งจะเน้นการนำเอาผ้าไทยมาตัดเย็บเป็นชุดแต่งงาน โดยแสดงให้เห็นถึงความงดงามของเนื้อผ้าไทยผสาน กับความประณีตของช่างฝีมือไทย ส่วนทางด้านของการแต่ง หน้าและทำผมก็จะมีความสัมพันธ์กับชุดวิวาห์ที่แสดงออกถึงความเป็นไทย

งานเวดดิ้ง แฟร์ นี้ถือเป็นพระเอกของงานแสดงสินค้าภายในประเทศที่ทางเอ็น.ซี.ซีจัดขึ้นในปีเลยก็ว่าได้ อย่างไรก็ดี เอ็น.ซี.ซี ยังคงมีการจัดงานนิทรรศการแสดงสินค้าที่ต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยหวังดึงรายได้เข้าบริษัท หลังจากที่ขาดทุนอย่างหนักในปีที่แล้ว

"ต่อไปนี้เราต้องคิดว่า งานแต่ละงานที่เราจัดขึ้นจะมีส่วนช่วยให้แก่ลูกค้าอย่างไรบ้าง ทั้งผู้มาแสดงงานและผู้มาชมงาน สมัยที่เศรษฐกิจดี ขายบูธเท่าไรคนก็มาซื้อ แต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว เราต้องทำให้เขารู้ว่าการที่เขาเข้ามาหาเราแล้ว เขาจะได้อะไรกลับไปด้วย เราถึงจะได้ชื่อว่าทำหน้าที่ของตัวกลางในการให้ผู้ซื้อกับผู้ขายมาเจอกันแล้วเกิดประโยชน์ สูงสุด"

งานที่ทางเอ็น.ซี.ซี วางแผนจัดแสดงทั้งปีจะเน้นที่งานเทรดโชว์และงานคอนซูเมอร์ และในอนาคตพยายามที่จะจัดงานที่เป็นลักษณะอินเตอร์เนชั่นแนลให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้แก่บริษัทได้มาก เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการจัดงานจะค่อนข้างสูง ซึ่งจะทำให้งานระดับนานาชาติมีอัตราค่าเช่าพื้นที่ที่สูงกว่างานในประเทศ มาร์จินที่ทางเอ็น.ซี.ซี จะได้รับสูงขึ้นไปด้วย

"อัตราค่าเช่าบูธของแต่ละงานจะแตกต่างกัน เราจะพิจารณาจากค่าใช้จ่ายของเราเป็นหลัก เพราะค่าใช้จ่ายในการจัดงานหนึ่งค่อนข้างสูงมาก โดยค่าใช้จ่ายหลักมีทั้งค่าเช่าพื้นที่ ค่าโฆษณา ประชาสัมพันธ์และการทำสิ่งพิมพ์ จากนั้นเราก็พิจารณามาร์จินของแต่ละงานว่าจะกำหนดที่เท่าไร ซึ่งแต่ละงานจะไม่เท่ากัน อย่างเช่นงานที่เป็นการจัดระดับนานาชาติ จะมีค่าใช้จ่ายด้านโปรโมชั่นที่สูงมาก ฉะนั้นอัตรา ค่าเช่าพื้นที่จะสูงถึง 300 เหรียญสหรัฐต่อตร.ม. แต่ถ้าเป็นงานภายในประเทศจะเสียแค่ 4,000 บาทต่อตรม.เท่านั้น จะเห็นว่าแตกต่างกันมาก" ผู้บริหารสาวชี้แจงและเล่าถึงขั้นตอนในการจัดงานแต่ละงานว่า เริ่มตั้งแต่การคิดคอนเซปต์ ของงานขึ้นมา จากนั้นก็ทำการสำรวจความต้องการของตลาด และกลับมาจัดทำแผนงบประมาณของงาน

สำหรับในส่วนของเนื้องานจะแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนคือ 1. ขั้นตอนการทำ EXHIBITOR PROMOTION คือการหาลูกค้ามาออกบูธ 2. VISITOR PROMOTION คือ การหาคนมาชมงาน และ 3. การทำ ON SITE MANAGEMENT คือ การจัดการในวันงานจริงว่า 3-4 วันที่เซ็ทขึ้นมาในการจัดงานนั้น ต้องมีการวางแผน และพยายามมองให้ออกว่าจะมีปัญหาอะไรที่จะเกิดขึ้น และต้องแก้อย่างไรบ้าง ซึ่งงานใน 2 ขั้นตอนแรกจะเป็น การติดต่อกับลูกค้าโดยตรง ถือเป็นงานที่ละเอียดมาก บ้าง ครั้งต้องติดต่อกับลูกค้าเป็นพันๆ ราย กว่าจะได้จัดงานๆ หนึ่งขึ้นมา เพื่อจะให้มีคนมาร่วมเพียงประมาณ 100-200 บริษัทต่องานเท่านั้น

แม้ว่างานจะค่อนข้างหินพอสมควร แต่กระนั้นพวงทิพย์ก็มีความภูมิใจที่ได้ร่วมงานกับเอ็น.ซี.ซี.มายาวนานร่วม 6 ปีแล้ว ทั้งๆ ที่เธอไม่ได้จบมาทางด้านการบริหารธุรกิจหรือสาขาการจัดงานนิทรรศการเลย

พวงทิพย์เรียนจบปริญญาตรีจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้านชีวเคมี จากนั้นเธอก็เข้าร่วมงานกับบริษัทยาต่างชาติได้ประมาณ 5-6 เดือน เธอก็ไปเรียนต่อที่มิสซูรี่ อเมริกา ในสาขา FOOD SYSTEM MANAGEMENT ซึ่งเธอเล่าว่าเป็นการเรียนเกี่ยวกับการจัดการเกี่ยวกับอาหารที่ครบวงจร ซึ่งรวมถึงการวางแผนจัดซื้ออาหารด้วย เธอเรียนจบใน 2 ปีครึ่ง จากนั้นก็กลับมาเมืองไทย และมาสมัครงานที่เอ็น.ซี.ซี.เลยตามคำแนะนำ ของเพื่อน และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเธอก็ทำงานกับที่นั่นมาจนจะครบ 6 ปีในปลายปีนี้

"สาขาการจัดงานนิทรรศการเป็นสาขาที่ใหม่มากในเมืองไทย ยังไม่มีการเปิดการเรียนการสอน อาจจะเริ่มแล้ว บ้างที่ม.รังสิต แต่ยังไม่ชัดเจนถึงขั้นกำหนดเป็นหลักสูตร โดยเปิดเป็นคอร์สสั้นๆ ซึ่งส่วนตัวแล้วก็ไม่ได้เรียนมาด้านนี้โดยตรง แต่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในแง่ที่ว่าการที่เรียน สาขาวิทยาศาสตร์เป็นการเรียนที่เป็นเหตุเป็นผล และอาศัย ประสบการณ์ที่เรียนรู้จากการทำงานจริงมาปรับตัวไปเรื่อยๆ"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.