ใครจะคาดคิดว่า บริษัทเล็กๆ ตั้ง อยู่ในย่านอ่อนนุช ทำกันเป็นครอบครัว
มีพนักงานไม่ถึง 10 คน จะทำรายได้กับแผนที่ประเทศไทยมา เป็นเวลาถึง 16 ปีเต็ม
มาวันนี้ บางกอกไกด์กำลังผันตัวเองไปสู่ แผนที่อิเล็กทรอนิกส์ บรรจุในแผ่นซีดีรอม
เป็นมิติใหม่ของสื่อไอที
สุชัย เลาหเกษมวงศ์ เจ้า ของบริษัท เล่าถึงจุดเริ่มต้นของบริษัท บางกอกไกด์ว่า
เกิดมาจากการใช้แผนที่เป็นประจำสมัยที่เรียนหนังสืออยู่ออสเตรเลีย และเมื่อเรียนจบกลับมาทำงานค้าขายน้ำมันเครื่องยังต้องเดินทางไปต่างประเทศ
บ่อยครั้ง แต่เมืองไทยเวลานั้นยังไม่มีแผนที่ใช้งานอย่างแพร่หลาย
ประกอบกับความเป็นคนชอบประดิษฐ์คิดค้นอุปกรณ์ ขึ้นใช้เอง ทำให้สุชัยพร้อมกับญาติอีก
2 คน เริ่มทำแผนที่ ตามแบบฉบับของตัวเอง ซึ่งแผนที่วางจำหน่ายในเวลานั้นไม่มีความละเอียดพอ
มีแค่เส้นทางหลวงเท่านั้น
สุชัย เริ่มด้วยการเก็บข้อมูลอาศัยเพียงมอเตอร์ไซค์ 1 คัน และรถแท็กซี่เก่าๆ
ที่ซื้อหามาในราคา 2-3 หมื่นบาทพร้อมกับเข็มทิศ 1 อัน ออกวิ่งสำรวจตามถนนหนทางของกรุงเทพฯ
ตามตรอกซอกซอยต่างๆ ซึ่งเขาต้องใช้เวลาถึง 3 ปีเต็มในการเก็บข้อมูล
"เมืองไทยยังขาดความเป็นระเบียบ ป้ายบอกซอย หรือถนนหนทางเสียหายเป็นประจำ
เราต้องอาศัยที่ตั้งของสถานที่อย่างธนาคาร เป็นตัวบอก"
แต่ความยากลำบากในครั้งนั้น ทำให้สุชัยได้ทำแผนที่ ในแบบฉบับของตัวเองไม่เพียงแค่ถนนสายหลักเท่านั้น
แต่ยังรวมไปถึงตรอก ซอย ที่ตั้งสำคัญๆ โดยเฉพาะถนนที่เป็น ทางลัด ซึ่งถือว่าเป็นไฮไลต์ที่ทำให้บางกอกไกด์ทำธุรกิจมาเป็นเวลาถึง
16 ปีเต็ม
ปรากฏว่า อุปสรรคของสุชัยไม่ได้หมดเพียงแค่นั้น มาถึงขั้นตอนที่จะนำไปพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่มเพื่อวางจำหน่าย
ด้วยความที่ไม่เคยมีความรู้มาก่อน เขาจึงต้องลองผิดลองถูกมาตลอด
"ตอนแรกอุปสรรคเยอะ พอหาข้อมูลเสร็จก็ต้องมาพิมพ์ ก็ไม่รู้ว่าจะไปแยกสีตรงไหน
ต้องอาศัยเพื่อนฝูงแนะนำโรงพิมพ์ให้ พอพิมพ์เสร็จก็มานั่งคิดว่าจะขายใครดี
ร้านหนังสือเขาก็บอกให้เราลดราคา 50% ถึงจะยอมขายให้ ผมบอกตายแล้ว ผมเซ็ทราคามา
250 บาท ใช้เวลาสำรวจมา 3 ปี"
กระนั้นก็ดีแผนที่ชุดแรกของบางกอกไกด์พิมพ์ออกมาขาย 10,000 เล่ม ต้องใช้เวลาถึงสี่ปีครึ่งกว่าจะขายได้หมด
แต่สุชัยก็ยังไม่วางมือ พิมพ์ออกมาวางขายอีก 10,000 เล่ม โดยหวังว่าจะได้รับการยอมรับมากขึ้น
แต่ครั้งนี้เขาต้องใช้เวลาถึง 6 ปีเต็มกว่าจะขายหมด
"เรานึกแบบฝรั่งว่าทุกคนต้องมีแผนที่ แต่พอมาทำเอง ทำให้เห็นว่าเรานึกไปเองคนเดียว
เพราะเราชอบแผนที่ แต่คนไทยไม่ใช้ แทบจะไม่มีรถคันไหนใช้แผนที่เลย" สุชัยกล่าว
ผลจากความล้มเหลวจากการขายในครั้งที่สอง ทำให้สุชัยเกือบถอดใจลาจากธุรกิจนี้
หากไม่บังเอิญว่ามีผู้บริหาร บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์แห่งหนึ่งได้มาว่าจ้างให้ผลิตแผนที่เอาไว้แจกลูกค้า
สุชัยจึงถือโอกาสนี้พิมพ์ขึ้นมาขายอีก 10,000 เล่ม เพราะครั้งนี้เขาสามารถประหยัดต้นทุนค่าทำเพลทไปได้
3 แสนกว่าบาท
และสิ่งหนึ่งที่ทำให้บางกอกไกด์มีวันนี้ได้ สุชัยบอกว่า เป็นเพราะความเป็นนักประดิษฐ์ชอบคิดค้นหาสิ่งใหม่ๆ
ทำให้เขานำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้กับธุรกิจแผนที่ตลอดเวลา และหาหนทางคิดค้นอุปกรณ์ขึ้นมาเองแทนที่จะซื้อเทคโนโลยีมาอย่างเดียว
สุชัยเริ่มต้นการซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอช มาช่วยในการผลิตการพิมพ์แผนที่
แทนที่จะใช้แบบตัดแปะ แบบเดิม ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 3 ปีเต็มกว่าจะเรียนรู้จนทะลุปรุโปร่ง
ส่วนการสำรวจข้อมูลเพื่อใช้ทำแผนที่กรุงเทพฯ สุชัย นำเอาระบบจีพีเอส (จีโอกราฟฟิก
โพซิชั่นนิ่ง ซิสเต็มส์) ระบบที่ใช้บอกตำแหน่งที่อยู่บนโลกโดยใช้ดาวเทียมมาใช้เพิ่มความสะดวกในการหาข้อมูลแบบเดิมๆ
แต่เขาไม่ได้เอาระบบจีพีเอสมาใช้แบบล้วนๆ แต่ใช้วิธีประยุกต์ใช้ โดยศึกษาการทำงานของระบบจีพีเอส
หาข้อดีและข้อบกพร่อง จากนั้นก็นำเอาเข็มทิศไฟฟ้ามาติดตั้งกับล้อรถเพื่อให้ทำงานร่วมกัน
ซึ่งทำให้การคำนวณทิศทางที่จะใช้ในการทำแผนที่มีความแม่นยำ และรวดเร็วมากขึ้น
จากนั้น เป็นจุดเริ่มที่ทำให้สุชัยหันมามองเทคโน-โลยีใหม่ บรรจุข้อมูลแผนที่ลงบนแผ่นซีดีรอมแทนการพิมพ์ออกมาเป็นกระดาษ
ซึ่งเขาให้ชื่อสินค้านี้ว่า ELEC-TRONEC MAP INFORMATION SYSTEM หรือ อีเอ็มไอเอส
วิธีนี้นอกจากทำให้เขาไม่ต้องมีปัญหาในเรื่องสต็อกแล้ว ยังเป็นตัวที่สามารถทำเงินให้กับบริษัทได้เกินคาด
แต่การผลิตออกมาในลักษณะนี้ สิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดก็คือ การถูกก๊อบปี้
หนทางแก้ไขก็คือการซื้ออุปกรณ์ ฮาร์ดล็อก มาใช้ป้องกันการก๊อบปี้ แต่ก็ต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก
ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับบริษัทเล็กๆ อย่างบางกอกไกด์ ที่จะต้องใช้เงินลงทุนเป็นหลักล้าน
พอดีกับเสรี ลูกชายคนเดียว ซึ่งเรียนจบทางด้านออกแบบระบบควบคุมวงจร คณะวิศวะคอมพิวเตอร์
จาก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มาเป็นผู้เริ่มคิดค้นประกอบฮาร์ดล็อกขึ้นมาใช้งานเอง
ควบคู่ไปกับออกแบบซอฟต์แวร์ที่ใช้ทำแผนที่บรรจุลงในแผ่นซีดี
เสรี เล่าว่า เขาใช้วิธีไปหาซื้อแผงวงจรพรินเซอร์กิต บอร์ด จากนั้นก็มาออกแบบให้ใช้งานกับกระแสไฟในระดับต่างๆ
ได้ ซึ่งเสรีใช้เวลาลองผิดลองถูกอยู่หลายเดือน กว่าจะมาลงตัวที่ฮาร์ดล็อก
ที่ใช้ได้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกรุ่น ไม่ว่าจะเป็นรุ่นเก่า รุ่นใหม่ เป็นเครื่องแบบตั้งโต๊ะ
หรือโน้ตบุ๊ค
"การป้องกันการก๊อบปี้จะมี 3 ส่วน ฮาร์ดล็อกจะเป็นเพียง 1 ใน 3 และซอฟต์แวร์ที่จะบรรจุคำสั่งการทำงานของเครื่องเอาไว้
และจะต้องมีซ้อสโค้ด ซึ่งทั้ง 3 ส่วนจะต้องทำงานไปด้วยกัน ดังนั้นหากใครจะ
ก๊อบปี้จะไปแกะที่ฮาร์ดล็อกก็ก๊อบปี้ไม่ได้"
จากเดิมที่อาจต้องเสียเงินซื้อฮาร์ดล็อกสำเร็จรูปตัวละ 1,000 บาท แต่เขาทำขึ้นเองได้ในราคา
200 บาท ทำให้หนทางในการผลิตแผนที่อิเล็กทรอนิกส์ ในรูปของซีดีรอมก็เริ่มมองเห็นหนทางที่สดใสขึ้น
จุดสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ การพัฒนาซอฟต์แวร์ให้ใช้งานได้ง่าย ซื้อไปแล้วใช้งานได้ทันที
ไม่ต้องเสียเวลาฝึกอบรมอีกหลายเดือน และมีให้เลือกทั้งภาษาไทยและอังกฤษ
ความละเอียดของข้อมูล ที่สามารถระบุได้ทั้งถนนหลัก ตรอก ซอย สถานที่สำคัญๆ
รวมถึงเส้นทาง ลัด และการค้นหาสถานที่ตั้งของสถานที่ก็ทำได้หลายๆ รูปแบบ
อาทิ ถนน ตรอก ซอย รัฐวิสาหกิจ โรงเรียน ที่ทำการไปรษณีย์ วัด
และอีกปัจจัยหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ การมีเครื่องมือที่บรรจุข้อมูลเกี่ยวกับชื่อ
ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ แฟกซ์ หรือประเภทของงานของผู้ที่จะต้องติดต่อเป็นประจำ
ตามพื้นที่แต่ละจุดได้ ซึ่งเป็นจุดที่ธุรกิจจะนำไปใช้ประโยชน์ได้
"แผนที่ของเราเป็นแผนที่มูลฐาน (BASE MAP) ซึ่งลูกค้าใช้งานได้ต่อเมื่อลูกค้าสามารถมองทะลุได้ว่า
จะนำไปประยุกต์ใช้กับงานของ เขา แต่ถ้าเขาไม่รู้ เขามาถามเรา เรา จะแนะนำเขาไปว่าจะประยุกต์ใช้งานอย่างไรบ้าง"
ปรากฏว่า แผนที่อิเล็กทรอนิกส์ของบางกอกไกด์เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น
ลูกค้าที่ซื้อส่วนใหญ่จะเป็น ธนาคาร ธุรกิจประกันภัย อสังหาริม ทรัพย์ และธุรกิจขนส่งสินค้า
แต่แผนที่ซีดีรอมของสุชัยไม่มีวางขายที่ไหน หากลูกค้าต้องการซื้อจะต้องขับรถมาซื้อที่บริษัท
ที่อยู่ในซอยอ่อนนุชเท่านั้น ซึ่งสุชัยเองก็ยอมรับว่า เขายังขาดในเรื่องแผนการ
ตลาดที่ดี จึงทำให้การขายเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษา ที่จะนำไปวางขายบนอินเตอร์เน็ต
สุชัยเล่าว่า 100 ชุด ตกชุดละ 14,000 บาทและสุชัย ก็เชื่อว่า ความต้องการของลูกค้าจะมีไม่เกิน
300 ชุด ทำ ให้บริษัทจะต้องพัฒนาชุดใหม่ออกมาเรื่อยๆ และจะไปถึงจุดที่ทำเป็นแผนที่บอกทางสำหรับรถยนต์
หรือ ที่เรียกว่า คาร์นาวิเกเตอร์
นอกจากนี้ สุชัยยังมองไปถึงการทำธุรกิจด้านแผนที่ ให้กับต่างประเทศ ซึ่งจากระบบซอฟต์แวร์
ซีดีรอมที่เขาคิดขึ้นนั้น เพียงแค่บรรจุแผนที่ของประเทศเหล่านั้นก็สามารถทำได้ทันที
ที่สำคัญเวลานี้ ซีดีรอม กลายเป็นรายได้หลักที่ทำ ให้บริษัทอยู่รอดได้
หลังจากที่เกือบไม่รอดในช่วงเศรษฐกิจ ตกต่ำ ที่ยอดขายแผนที่ที่เป็นกระดาษตกฮวบไปถึง
70%
และนี่เป็นเสี้ยวหนึ่งของธุรกิจขนาดย่อมที่ไม่ได้มีเงินทุนมากมาย อาศัยเพียงไอเดีย
และความคิดสร้างสรรค์ โอกาสทำเงินจึงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม