วิชัย กฤษดาธานนท์ คงเป็นนัก ธุรกิจผู้ที่ประสบกับฝันร้ายมาตลอดระยะเวลา
6-7 ปีที่ผ่านมาอีกรายหนึ่ง ล่าสุดในเดือนมีนาคม 2542 เมื่อทางตลาดหลักทรัพย์
ได้แจ้งว่า กฤษดามหานคร จำกัด(มหาชน) เป็น บริษัทพัฒนาที่ดิน 1 ใน 3 บริษัทที่เข้าข่ายอาจจะถูกเพิกถอนออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์
ต้องเสนอแผนฟื้น ฟูให้ตลาดฯโดยเร็ว เช่นเดียวกับอีก 2 บริษัทคือไรมอนแลนด์
และบริษัท แนเชอรัลพาร์ค
ในปี 2540 กฤษดาฯ ยังสามารถทำยอดขายได้ประมาณ 1,100 ล้านบาท แต่พอมาในปี
2541 ทำราย ได้จากการขายได้เพียง 170 กว่าล้าน บาทเท่านั้น ส่งผลให้ประสบกับภาวะ
ขาดทุนถึง 2,051 ล้านบาท
จะว่าไปแล้ว ที่จริงวิชัยเริ่มจะนอนไม่หลับติดต่อมาตั้งแต่เมื่อคืนวันที่
22 เมษายน 2536 เมื่อเอก-กมล คีรีวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรม การกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลัก
ทรัพย์ในเวลานั้น ได้ออกมาแถลงข่าว สงสัยพฤติกรรมของวิชัยว่าเป็นผู้ที่ทำการปั่นหุ้นสร้างราคาของกฤษดา
มหานคร
เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้วิชัย ประกาศลาออกจากตำแหน่งกรรมการ ผู้จัดการของบริษัท
โดยปล่อยให้บทบาทการบริหารตกอยู่กับ ธเนศวร์ สิงคาลวณิช ผู้เป็นรองกรรมการผู้จัดการนับแต่นั้นเป็นต้นมา
โดยมีขุนพลเก่าแก่คือพิภพ บุศราคัมวดี และโกศล กลมกล่อม เป็นผู้ช่วยคนสำคัญ
ต่อมาประมาณกลางปี 2541 ผู้ดูแลด้านการตลาดมือฉมังคือ พิภพนั้นได้ลาออกไป
อย่างไรก็ตามเป็นที่รู้กันว่าวิชัยเองยังไม่ได้หนีหายไปไหน เพียงแต่ยิ่งทำตัวเงียบลงกว่าที่ผ่านมาเท่านั้น
หลังจากฝันร้ายคืนนั้น วิชัยก็ยังเจอศึกหนักอย่างไม่คาดคิดมาอย่างหนักหน่วงต่อเนื่องมาโดยตลอด
โดยเฉพาะเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อกลางปี 2540 วันที่รัฐบาลสั่งปิดบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไอทีเอฟ
ซึ่งวิชัยได้ไปเทกโอเวอร์มาจากจากกองทุนฟื้นฟูฯ เมื่อปี 2535 และสามารถทำให้มันมีภาพที่เติบโตขึ้นกลายเป็นแหล่งเงินก้อนใหญ่
ในการดึงออกมาสูบฉีดโครงการพัฒนาที่ดินต่างๆ มาตลอด
เท่านั้นยังไม่พอ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า และ บริษัทมหานครทรัสต์
ซึ่งกฤษดานครเข้าไปถือหุ้น และเป็นสายป่านทางการเงินอีก 2 บริษัทก็ถูกสั่งปิดไปพร้อมๆ
กันเมื่อเดือนสิงหาคม 2540
คราวนี้ไม่ใช่วิชัยฝันร้ายคนเดียว แต่รวมไปถึงพนักงานและผู้ถือหุ้นอีกหลายพันคน
ที่พลอยกระสับกระส่ายไปด้วย
จะว่าไปแล้วก่อนที่จะมีปัญหาเรื่องสถาบันการเงิน กฤษดาฯ เองก็ตกอยู่ในฐานะเสือลำบากตัวหนึ่งอยู่แล้วเพราะในประมาณปี
2538-2539 นั้น ภาวะการขายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะโครงการบ้านราคาแพงซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักของบริษัทนั้นเริ่มขายได้ยากขึ้น
ทีมงานต้องเฟ้นหากลยุทธ์การขายต่างๆ ทยอยออกมาใช้ฟาดฟันกันอย่างหนักหน่วง
เช่น การลดราคา เพิ่มระยะเวลา การดาวน์ และเมื่อมีปัญหาเรื่องปิดสถาบันการเงินประดังเข้า
มาในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2540 นั้นกฤษดาฯ ก็ยิ่งยอมลดราคาลงมาถึง 35% หลังจากนั้นก็มีมหกรรมลดราคาอย่าง
ต่อเนื่องจนกระทั่งยอมลดลงถึง 50% ในโครงการธานนท์กอล์ฟแอนด์สปอร์ตคลับซึ่งเป็นบ้านหรูหราราคาแพงติดสนามกอล์ฟ
เรียกว่ายอมทำทุกอย่างเพื่อลดภาระหนี้สิน และเพื่อให้มีเงินสดหมุนเวียนเข้ามาในบริษัท
พร้อมๆ กับการลดพนักงาน และลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการบริหาร
ในปี 2541 นั้นแม้จะพยายามทำทุกอย่างแล้วเพื่อให้โครงการขายได้ สถานการณ์ต่างๆ
ของบริษัทก็ยังไม่ดีขึ้น เพราะภาวะการเงินที่ตกต่ำอย่างรุนแรงรวมทั้งปัญหาคนตกงานทำให้โครงการยิ่งขายยากขึ้นๆ
ทุกวัน อีกทั้งยังมีบ้านอีกจำนวนมากที่ครบกำหนดโอนแต่ลูกค้าก็ไม่ยอมมาโอน
วิชัยมีเงินกู้ระยะยาวที่ต้องชำระในปี 2540-2543 ถึง 7 พันกว่าล้านบาท
ในจำนวนนี้เป็นเงินกู้ยืมต่างประเทศจำนวน 78.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งครบกำหนดชำระคืนทั้งสิ้นภายใน
ปี 2543
ดังนั้นสิ่งที่วิชัยทำได้อย่างเดียวขณะนี้ก็คือพยายามประนอมหนี้ จัดโครงสร้างและเงื่อนไขการกู้ยืมใหม่
รวมทั้งขอผ่อนผันเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยในกรณีที่ผิดนัดชำระพร้อมๆ กับการโหมลดราคาสินค้าที่ยังคงเหลืออย่างหนัก
วันนี้วิชัยประกาศลดราคาให้สำหรับผู้ซื้อเงินสดถึง 60% ในโครงการบ้านหลุดดาวน์ที่โครงการ
กฤษดาไพรเวทเลค แอนด์พาร์ค โครงการกฤษดามารีน่า ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นโครงการของมหาเศรษฐี
ที่ไม่มีเงินมาโอน ระดับราคา 5 ล้านบาทขึ้นไป ถึง 25 ล้านบาท ส่วนลดพิเศษ
เริ่มตั้งแต่ 3 ล้านบาท -11 ล้านบาท โดย เฉพาะโครงการกฤษดาซิตี้กอล์ฟฮิลล์
หรือโครงการกฤษดานคร 16 บนถนนปิ่นเกล้านครชัยศรีนั้น เป็นโครง การของอภิมหาเศรษฐีโดยเฉพาะราคา
6 ล้านขึ้นไปถึง 65 ล้านบาท เช่นบ้าน เกศกานดาพื้นที่ 381 ตารางวา ราคา 65
ล้านบาท ก็จะได้ส่วนลดทันที 39 ล้านบาท เหลือเพียง 26 ล้านบาท เท่านั้น
รวมทั้งโครงการกฤษดาคอนโดเทล คอนโดตากอากาศ ที่กำลังโหมลดราคาอย่างหนักเช่นกัน
วิชัยเองยังหวังว่า ชื่อเสียงและประสบ การณ์ต่างๆ ที่เขาสร้างสมมาเกือบ 3
ทศวรรษนั้นคงสามารถดึงให้คนมีเงินที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยจริงตัดสินใจซื้อเสียที
เม็ดเงินที่เข้ามาอาจจะทำให้เขาฝันดีได้บ้าง เพราะถ้าหากรอให้เศรษฐกิจดีขึ้น
ก็คงไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ แต่คงนานนักไม่ได้เพราะวันนี้ก็เท่ากับเขายืนอยู่บนชะง่อนผาที่สูงชันเต็มทีแล้ว