Volk-Audi ยังเชื่อมั่นยนตรกิจลงนามสัญญา CKD ประเดิม 2,000 คัน ปี'43


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

หลังจากเงียบเหงามานานเพราะบริษัทบีเอ็มดับเบิลยูเข้า มาทำตลาดรถบีเอ็มดับเบิลยูด้วยตัวเอง แม้จะยังจ้างให้กลุ่มยนตรกิจผลิตรถบีเอ็มดับเบิลยูให้ในรุ่นซีรีส์ 5 ก็ตาม แต่กลุ่มยนตรกิจก็หลบหน้าหลบตาไม่ยอมโอภาปราศรัยต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

มาจนปลายเทศกาลสงกรานต์จึงแจ้งข่าวการเซ็นสัญญา เพื่อผลิตชิ้นส่วนในประเทศและประกอบรถยนต์โฟล์คสวาเกน พัสสาทใหม่ และรถยนต์ออดี้ เอ 6 ซึ่งจะเริ่มผลิตในเดือนมกราคม 2543 และนำออกจำหน่ายได้ในเดือนนั้น โดยมีเป้าหมายการผลิตรถพัสสาทใหม่ 1,500 คัน และรถออดี้ เอ 6 อีก 500 คัน และหากเศรษฐกิจไทยมีการ ขยายตัวดีขึ้น ทางกลุ่มก็ตั้งเป้าหมายไว้ด้วยว่าจะเพิ่มยอดการผลิตอีก 2-3 เท่าในปี 2546

พลกฤษณ์ ลีนุตพงษ์ กรรมการบริหารกลุ่มยนตรกิจ ผู้รับผิดชอบด้านโรงงานทั้ง 4 แห่งของกลุ่มและดูแลธุรกิจอุตสาหกรรมอื่นๆ ของกลุ่มกล่าวว่า "วัตถุประสงค์เบื้องต้นของการประกอบรถยนต์ดังกล่าวก็เพื่อรองรับตลาดภายในประเทศ เป้าหมายการผลิตมุ่งเน้นเรื่องคุณภาพในการประกอบมากกว่าเน้นเรื่องปริมาณ"

กลุ่มยนตรกิจมีประสบการณ์กว่า 20 ปีในอุตสาหกรรม ยานยนต์ในประเทศไทย โดยมีโรงงานประกอบรถยนต์ YMC Assembly ที่ลาดกระบัง ซึ่งจะใช้เป็นโรงงานเพื่อการผลิตรถพัสสาทใหม่ และออดี้ เอ 6 โรงงานแห่งนี้มีกำลังการผลิต รถยนต์ได้ทั้งสิ้น 30,000 คัน/ปี แต่ตอนนี้จะใช้กำลังการผลิตไม่เต็มที่ โดยเริ่มผลิตพัสสาทและออดี้ในปีหน้า 2,000 คัน/ปี ผลิตเปอโยต์ 406 และ 306 รวม 3,000 คัน/ปี (รุ่นละ 1,500 คัน/ปี) และรถบีเอ็มดับเบิลยู ซีรี่ส์ 5 อีก 2,000 คัน/ปี

เท่ากับมีการใช้กำลังการผลิตเพียง 7,000 คัน/ปี พลกฤษณ์กล่าวว่า "กำลังการผลิตที่มีอยู่นั้นเราเตรียมไว้รองรับ 5-7 ปีข้างหน้า แต่ในช่วงเศรษฐกิจดีๆ นั้น เราเคยประกอบถึง 10,000 คัน/ปี" นอกจากนี้กลุ่มยนตรกิจก็มีโรงงานในเครือที่ทำการผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์ด้วยคือ ATP, โรงงาน YKI และโรงงาน OTC ซึ่งร่วมทุนกับญี่ปุ่น

พลกฤษณ์กล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่า "โฟล์คและยนตรกิจกำลังอยู่ระหว่างการศึกษารายการชิ้นส่วนในประเทศ 7 รายการ เพื่อดูว่าราคาของในประเทศถูกกว่าที่ผลิต จากต่างประเทศหรือไม่ และมีคุณภาพเป็นอย่างไร ซึ่งในการผลิตรถทั้งสองรุ่นนี้เรามีนโยบายการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ อยู่แล้ว แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถบอกสัดส่วนได้"

รายการชิ้นส่วนในประเทศที่อยู่ระหว่างการศึกษาได้แก่ ยาง (ดูระหว่างมิชลิน, บริดจสโตน และกู๊ดเยียร์), แบตเตอรี่, เบาะรถยนต์, วิทยุ, กระทะล้อ(แม็กซ์) และสายไฟ เป็นต้น ซึ่ง 2 รายการหลังกลุ่มยนตรกิจก็มีโรงงานผลิตอยู่แล้วทั้งนี้ พลกฤษณ์เล่าด้วยว่า "สัญญานี้ถือเป็นครั้งแรกที่โฟล์คเข้ามา ประกอบรถยนต์ในไทย เขาไม่มีความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรม ชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทยนัก เมื่อมาเห็นว่าไทยมีการประกอบชิ้นส่วนฯ อยู่มากก็รู้สึกทึ่ง แต่เขาก็ต้องตรวจสอบดูคุณภาพว่าได้ตามมาตรฐานของเขาหรือไม่"

สัญญาการผลิตชิ้นส่วนในประเทศและการประกอบรถยนต์ครั้งนี้เป็นแบบ rolling contract คือหากไม่มีการยกเลิก ก็สามารถต่ออายุสัญญาไปได้เรื่อยๆ ซึ่งมันก็ขึ้นอยู่ กับความพอใจในผลการดำเนินงานของกลุ่มยนตรกิจว่าจะสามารถ ทำให้กลุ่มโฟล์คสวาเกนที่เป็นบริษัทรถยนต์อันดับ 1 ในยุโรปและอันดับ 3 ของโลกพึงพอใจเพียงใดในเรื่องยอดขาย การตลาดและการผลิต

ในแง่ของยอดขายและการตลาดนั้น วิทิต ลีนุตพงษ์ กรรมการบริหารซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงก็ยังคงปิดปากเงียบ รอเปิดเผยเมื่อมีการทำ commercial launch รถยนต์ ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเป็นเมื่อใด แต่เขาแย้มว่าเรื่องราคารถยนต์ทั้งสองรุ่นที่ผลิตในประเทศนี้ จะน่าดึงดูดใจมาก

ดร.โรเบิร์ต บุคเคลโฮเฟอร์ กรรมการบริหารฝ่ายการตลาดและการขายของโฟล์คสวาเกน เอ จี และประธาน ประจำภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกให้ความเห็นว่า "กลุ่มโฟล์ค มีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทยมาก ผมเชื่อว่ายอดขายรถยนต์เริ่มปรับตัวดีขึ้นแล้วในปีนี้ และผมคิดว่าน่าจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป"

ทั้งนี้ ดร.บุคเคนโฮเฟอร์เห็นว่าตลาดเอเชียแปซิฟิกเป็นตลาดที่มีศักยภาพมากที่สุดแห่งหนึ่ง สำหรับการเติบโตในระยะยาว และเขาต้องการเพิ่มความมั่นคงให้แก่ตำแหน่ง ทางการตลาดของโฟล์คและออดี้ในภูมิภาคนี้ เขาเปิดเผยว่ากลุ่มโฟล์คมีลูกค้าในไทยประมาณ 25,000 คัน โดยในเอเชีย นั้นมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้น 5.5% ในปี 2541 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่มีส่วนแบ่งฯ อยู่ในระดับ 4.5%

ด้านส่วนแบ่งในตลาดโลกนั้นก็เพิ่มขึ้นจาก 10.4% มา เป็น 11.4% ในปี 2541 จริงๆ แล้วกลุ่มโฟล์คตั้งเป้าหมายส่วน แบ่งตลาดโลกที่ 10% ตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อน แต่สามารถทำได้ เกินเป้าหมาย มาปีนี้กลุ่มฯ ตั้งเป้าหมายในตลาดโลกไว้ 12%

ดร.บุคเคนโฮเฟอร์กล่าวถึงการแข่งขันที่มีในทุกตลาด ว่า "การที่มีคู่แข่งในแต่ละตลาดเท่ากับเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าตลาดนั้นๆ มีความสำคัญจริง เราอยู่ในตลาดที่มีการแข่งขันอยู่ตลอดเวลาและเรามียุทธวิธีต่อสู้กับการแข่งขันอย่างเข้มข้น"

ยุทธวิธีอย่างหนึ่งของกลุ่มโฟล์คฯ ก็คือการเสนอสินค้าให้หลากหลายที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยมีรถยนต์สำหรับ ตลาดแต่ละส่วน แม้จะเป็นตลาดลูกค้าเฉพาะที่เล็กที่สุดก็ตาม (niche market) ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมากลุ่มโฟล์ค พยายามดำเนินยุทธวิธีนี้

ทั้งนี้กลุ่มโฟล์คเป็นกลุ่มที่มีแบรนด์รถยนต์หลายยี่ห้อ มาก และแต่ละยี่ห้อก็มีฐานลูกค้าที่เข้มแข็ง ได้แก่ ออดี้ เบนท์ลีย์ บูกัตติ ลัมบอร์กินนี่ โรลส์รอยซ์ เซียท สโกด้า โฟล์คสวาเกน และโฟล์คสวาเกนเพื่อการพาณิชย์

"ยี่ห้อเหล่านี้มีรถยนต์ทุกประเภทซึ่งล้วนแล้วแต่มีรูปลักษณ์น่าดึงดูดใจ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ขนาดเล็กไปจนถึงรถยนต์หรูหราหรือแม้แต่กระทั่งรถบรรทุกก็ตาม"

สำหรับยนตรกิจนั้น การประกาศให้ความร่วมมือในการผลิตจากกลุ่มโฟล์ค ถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญของกลุ่มที่สามารถมัดใจกลุ่มผู้บริหารโฟล์ค ให้มอบการสนับสนุนและความไว้วางใจแก่ยนตรกิจในการดำเนินการผลิตและการตลาด ต่อไป พลกฤษณ์กล่าวตอนหนึ่งว่า "ผลจากความร่วมมือในครั้งนี้จะถูกใช้เป็นบรรทัดฐานเพื่อกำหนด เป็นมาตรฐานต่อไปในอนาคตสำหรับการประกอบรถยนต์ CKD ในประเทศอื่นๆ"

ในการดำเนินการผลิตรถยนต์ทั้งสองรุ่นดังกล่าวนั้น กลุ่มยนตรกิจต้องลงทุนแต่ฝ่ายเดียวเป็นเม็ดเงินประมาณ 10 ล้านมาร์กเยอรมันเพื่อเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตบางอย่างคือลงทุน เรื่องการประกอบตัวถังประมาณ 80% ทั้งนี้โฟล์คจะถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ในเรื่องเชื่อมตัวถังรถยนต์ด้วยแสงเลเซอร์ (Laser Beam Welding) และคอมพิว เตอร์ ออกแบบสำหรับการสร้างจิกเพื่อการประกอบรถยนต์ ส่วนเม็ดเงินที่เหลือใช้ในการสร้าง paint shop และการปรับปรุงการประกอบรายการที่แตกต่างจากรถยนต์อื่นๆ

อนึ่ง เทคโนโลยี LBW นี้ถูกจำกัดการใช้งาน เฉพาะกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์เพื่อการแข่งขันรถยนต์แบบฟอร์มูล่า 1 หรือเพื่อผลิตรถต้นแบบเท่านั้น เพราะมีต้นทุนสูง มีกรรม วิธีที่ซับซ้อน แต่วิศวกรโฟล์คสวาเกนได้พัฒนาและปรับปรุง จนสามารถนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในกระบวนการผลิตรถยนต์เชิงอุตสาหกรรม และพัสสาทใหม่ เป็นรถยนต์รุ่นแรกจากโฟล์คที่ใช้เทคโนโลยีนี้

ส่วนกลุ่มโฟล์คนั้น แม้จะมีโรงงานร่วมทุน 2 แห่งใน จีนและประสบความสำเร็จในตลาดแห่งนี้สูง แต่การลงทุนในไทยก็ถือเป็นแนวทางใหม่ที่สำคัญอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการมองตลาดและการคาดหมายของกลุ่มถูกต้อง โฟล์คคงจะเติบโตได้อีกมาก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.