มาสด้ายึดสุโกศล มาสด้าปิดฉากสุโกศล


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

6 มีนาคม 2542 วันเปิดงานมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 20 ณ ไบเทค เป็นวันที่คลาคล่ำ ไปด้วยผู้หลงใหลนวัตกรรมยานยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่ค่ายรถยนต์ต่างๆ ผลิตออกมาเย้ายวนบรรดาพวกกระเป๋าหนักทั้งหลาย และงานนี้เองที่มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จากญี่ปุ่น เจ้าของรถยนต์ยี่ห้อมาสด้าที่เริ่มธุรกิจ จากการผลิตจุกไม้ก๊อก ได้สร้างสีสันให้กับงานนี้ได้พอสมควรในการใช้อาคารไบเทคเป็นที่ประกาศเทกโอเวอร์ บริษัท สุโกศล มาสด้า จำกัด ผู้แทนจำหน่ายรถยนต์มาสด้า ในประเทศไทย

แผนการการเทกโอเวอร์ครั้งนี้เริ่มก่อตัวขึ้นในวันที่ 26 มีนาคม 2541 เมื่อมาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จากแดนปลาดิบได้เจรจากับสุโกศล มาสด้า ถึงการเปลี่ยนแปลง ครั้งใหญ่ด้วยการตัดสินใจที่จะเพิ่มทุนใน
สุโกศล มาสด้า อีกจำนวน 1,900 ล้านบาท จากเดิมที่มีเพียง 400 ล้านบาท รวมเป็นทุนจดทะเบียนใหม่ 2,400 ล้านบาท

เหตุผลที่บริษัทแม่ญี่ปุ่นเข้ามาเทกโอเวอร์สุโกศล มาสด้า ไม่มีใครแปลกใจเลยเนื่องจากคาดการณ์ล่วงหน้าเอาไว้แล้วว่า ไม่ช้าไม่นานการเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากวิกฤติการณ์เศรษฐกิจที่ทำให้สภาพคล่องหดหายลงไปอย่างมาก

"การเปลี่ยนแปลงของมาสด้าในไทย บริษัทแม่ได้ศึกษามาตั้งแต่วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจเริ่มต้น จากเหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุโกศล มาสด้า โดย ยอดขายรถยนต์ลดลงอย่างหนักถึง 70% เราต้องหาทางออกเพื่อความอยู่รอดของมาสด้าในไทย ด้วยเหตุนี้มาสด้าและหุ้นส่วนรายอื่นของสุโกศล มาสด้า จึงมีความเห็นพ้องกันว่าการเพิ่มทุนพร้อมทั้งมอบหมาย ให้มาสด้าเข้ามารับผิดชอบการบริหารงาน อย่างเต็มที่เป็นแนวทางที่จะช่วยให้บริษัท มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น" มาร์ค ฟิลด์ส ที่ปรึกษาอาวุโสฝ่ายการตลาด การขาย อะไหล่ และการบริการ บริษัท มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวถึงความจำเป็นในการ เข้ามากอบกู้ตลาดรถยนต์มาสด้าในไทย

เม็ดเงินจำนวน 1,900 ล้านบาท เพื่อเข้ามาเติมสภาพ คล่องให้กับสุโกศล มาสด้า บริษัทแม่ญี่ปุ่นจะเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านผู้ถือหุ้นชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะในอดีตจำนวนหุ้นในสุโกศล มาสด้า 60% เป็นของตระกูล สุโกศล, 20% เป็นของโตแมน คอร์ปอเรชั่น และอีก 20% ถือโดยมาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอ เรชั่น แต่หลังจากใส่เม็ดเงินก้อนใหม่เข้ามา มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จะมีสัดส่วนในการถือหุ้นขยับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 93% ขณะที่ตระกูล สุโกศล เหลือ 4% และโตแมน คอร์ปอเรชั่น เหลือ 3%

"เงิน 1,900 ล้านบาท จะนำไปชำระหนี้จากการกู้ของบริษัทสุโกศล มาสด้า ที่เหลือจะนำไปใช้ลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพในส่วนของการตลาด การขาย ตัวแทนจำหน่ายและสนับสนุนลูกค้า ซึ่งการเพิ่มเงินลงทุนของเราจะช่วยบรรเทาปัญหาทางการเงินและเสริมสร้างฐานะทางการเงินของ บริษัทให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถของมาสด้าในการให้ความสนับสนุน ตัวแทนจำหน่ายของมาสด้าทั้ง 72 ราย พร้อมทั้งเจ้าของรถมาสด้าอีก 150,000 รายทั่วประเทศ" มาร์ค ฟิลด์ส กล่าว

ภายหลังจากการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ บริษัทผู้จัดจำหน่ายมาสด้าในไทยจะเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด (เอ็มเอสที) โดยโครงสร้างธุรกิจ จะมีความซับซ้อนน้อยลง เพราะบริษัทใหม่จะมุ่งเน้นการดำเนินงานด้านการตลาด การขาย และการให้ความสนับสนุน ต่อลูกค้า ตลอดจนตัวแทนจำหน่ายมาสด้า "มาสด้าได้เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยยาวนานถึง 48 ปี และเรามีปณิธานที่จะเข้ามาทำธุรกิจอย่างจริงจัง ด้วยจุดแข็งดังกล่าวนี้ จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ของบริษัทหลังจากการปรับโครงสร้างองค์กร ซึ่งแนวทางนี้ถือเป็นภารกิจสำคัญที่มาสด้าได้ทุ่มเทในอันที่จะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง"

การประกาศออกมาเช่นนี้ของมาสด้าไม่แตกต่างจากบริษัทรถยนต์ค่ายอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียที่ต้องเผชิญกับความ ท้าทายมากมายที่เกิดขึ้นช่วงเศรษฐกิจพังยับเยิน ภาพที่เห็นชัดในเวลานี้ คือ การแข่งขันในระดับโลกของประเทศต่างๆ เพื่อแข่งขันเป็นเจ้าตลาดกำลังเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกประเทศและทุกองค์กร กระแสที่เกิดขึ้นไปพร้อมๆ กัน หนีไม่พ้นการควบหรือรวมกิจการระหว่างบริษัทต่างๆ ด้วยจุด มุ่งหลักร่วมกันในการที่จะครอบครองตลาด ซึ่งมาสด้าเองได้กลับมาทบทวนสถานะของตนเองเพื่อเตรียมตัวสู่การเติบโตครั้งใหม่อีกครั้ง ซึ่งมีเป้าหมายที่จะก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้า ของผู้นำตลาดรถยนต์ หลังจากถูกค่ายรถยนต์ร่วมประเทศ อย่างโตโยต้า ฮอนด้า บดบังรัศมีมาเป็นระยะเวลานาน

แน่นอนว่าบรรดาผู้บริหารของมาสด้าหวังไว้หลังจากการเทกโอเวอร์สุโกศล มาสด้า จะสามารถช่วยให้การปรับโครงสร้างหรือยกเครื่องใหม่เพื่อ ให้มีประสิทธิภาพและมีการตื่นตัวด้านการตลาดมากยิ่งขึ้น

"ขณะนี้เรามีส่วนแบ่งตลาดในไทยน้อยมาก ดังนั้นเป้า หมายของเราจะต้องมีส่วนแบ่งในตลาดรถปิกอัพขนาด 1 ตัน และรถยนต์นั่งขนาดเล็กให้ได้ 10% ซึ่งต้องใช้เวลานานอีกหลายปี แต่ปีนี้คาดว่าจะขายให้ได้ 6,000 คัน" มาร์ค ฟิลด์ส ย้ำอย่างหนักแน่นถึงการทำตลาดในไทย เนื่องจากเขามองว่าในปัจจุบันตลาดรถยนต์ในไทยประมาณ 50% เป็นรถปิกอัพ รองลงมาเป็นรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ซึ่งไม่แปลกที่เขาพุ่งเป้าไปที่รถยนต์ 2 ตลาดนี้ แต่เขาก็ยังไม่ลืมว่าต่อจากนี้ไปการสร้างแบรนด์อิมเมจให้กับมาสด้า เพื่อให้สามารถแข่งขันได้อย่างเต็มที่กับรถยี่ห้ออื่นก็เป็นปัจจัยสำคัญท่ามกลางอุณหภูมิ ของการแข่งขันที่กำลังร้อนแรงในขณะนี้

สิ่งหนึ่งที่ตามมากับการปรับองค์กรที่บริษัทแม่ต้อง การเห็น คือ การลดขนาดองค์กรให้เล็กลงแต่การบริหารต้องมีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มสูงขึ้น ประเภทเล็กแต่จิ๋ว (small but beautiful) ซึ่งการเข้ามามีบทบาทอย่างเต็มที่ของผู้บริหารที่สั่งตรง มาจากแดนปลาดิบจะมีผลดีในด้านการทำงานที่สร้างความรวดเร็วขึ้น เนื่องจากบริษัทใหม่เป็น ส่วนหนึ่งของบริษัทแม่ ดังนั้นข้อมูลข่าวสารและความเคลื่อน ไหวด้านต่างๆ ในไทยจะถูกส่งไปสำนักงานใหญ่ ทันที ทำให้การตัดสินใจดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทันเกม การแข่งขันตลาดรถยนต์ในไทยที่กำลังห้ำหั่นกันในเวลานี้

อย่างไรก็ดีจากแผนการดังกล่าวได้กระทบต่อพนักงานบางส่วนที่จำเป็นต้องถูกเลิกจ้าง ซึ่งตามแผนแล้วบริษัทจะคงไว้เฉพาะ บุคลากรด้านการตลาด การขาย การดูแลลูกค้า "เรื่องนี้เราได้คุยกับพนักงานเป็นที่เรียบ ร้อยแล้ว ดังนั้นโครงสร้างการทำธุรกิจจะปลอดโปร่งมากขึ้น เพราะบริษัทแห่งนี้มุ่ง ทำแต่การตลาด การขายและการบริหารเครือข่ายเป็นสำคัญ" มาร์ค ฟิลด์ส กล่าว

จากนี้ไปภาพลักษณ์ของรถยนต์ยี่ห้อมาสด้าในไทย จะไม่เห็นร่องรอยของความเป็นไทยอีกต่อไป เมื่อ"สุโกศล" ที่ถือเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อนี้แต่เพียงผู้เดียว ได้ถูกบริษัทแม่แห่งแดนปลาดิบเข้ามาเทกโอเวอร์จนเกือบหมดสิ้น ทั้งการถือหุ้นและอำนาจการบริหารงาน ถือว่าการเกิดวิกฤติการณ์ด้านเศรษฐกิจครั้งนี้ของเอเชีย เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทำให้ธุรกิจอุตสาห- กรรมรถยนต์ของตระกูลเก่าแก่นี้ต้องล่มสลาย ไปทั้งๆ ที่เคยเป็นผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อนี้มาเป็นเวลานาน 40 ปี บัดนี้ได้เวลาแล้ว ที่บริษัทแม่ต้องทวงสิทธิ์คืนไปพร้อมการปิดฉากลงของ "กมล สุโกศล" ในอุตสาห- กรรมรถยนต์ไทย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.