ยี่สิบกว่าปีที่แล้ว วิชัย มาลีนนท์ ต้องต่อสู้อย่างหนักกับการรักษาช่อง
3 จากบริษัทที่เกือบเข้าขั้นล้มละลาย วันนี้ ช่อง 3 กลับถูกจัดชั้นให้เป็นบริษัทที่มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย
ภายใต้การบริหารงานของมาลีนนท์รุ่นที่ 2 เพียงเพราะวันนี้ช่อง 3 เรียนรู้ที่จะบริหารเงิน
คู่กับบริหารรายการเท่านั้นหรือ !?
เรื่องโดย ไพเราะ เลิศวิราม
สิบกว่าปีที่แล้ว "ผู้จัดการรายเดือน" เคยนำเสนอเรื่องราวความเป็นไปของสถานีโทรทัศน์ช่อง
3 ที่สะท้อนให้เห็นถึงเรื่องราวการต่อสู้อย่างหนักของวิชัย มาลีนนท์ ในการก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ช่อง
3
โทรทัศน์เป็นธุรกิจสัมปทานที่รัฐเป็นเจ้าของ ต้องอาศัยสายสัมพันธ์ของผู้มีอำนาจในแต่ละยุค
การต่ออายุ สัญญาแต่ละครั้งต้องใช้เงินจำนวนมาก และเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยการลงทุนอย่างหนักในช่วงเริ่มต้น
เพื่อใช้ขยายเครือข่ายการส่งสัญญาณให้ครอบ คลุมไปทั่วประเทศ กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้วิชัยจึงต้องผ่านวิกฤติทางการเงินมาแล้วหลายครั้งหลายหน
ช่วงเริ่มก่อตั้งนี้เอง ที่ทำเอาบริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ต้องเกือบล้มละลาย
จากการที่วิชัยต้อง วิ่งหาเงินทุนมาสร้างช่อง 3 การล้มของเอเซียทรัสต์ ฐานที่มั่นทางการเงินของ
ช่อง 3 ที่วิชัยเอาช่อง 3 ไปผูกเอาไว้ และจากการกู้ยืมเงินจากแบงก์กรุงเทพ
มากกว่า 1,200 ล้านบาทเพื่อมาใช้ขยาย เครือข่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ตามข้อกำหนดในการต่ออายุสัมปทานครั้งที่
3 ไปอีก 30 ปี เป็นเหตุให้ชาตรี โสภณพนิช ต้องเข้ามานั่งเป็นประธานของบริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นท์
ปีนี้ช่อง 3 เพิ่งจัดงานครบรอบ 28 ปีที่ศูนย์แสดงสินค้าไบเทคไปไม่นาน และเป็นงานที่ช่อง
3 ต้องจัดเป็นประจำ ทุกปี และคงทำให้วิชัยมีโอกาสหวนนึก ถึงความหลังไปพร้อมๆ
กับได้นั่งดูความ สำเร็จของช่อง 3 อย่างเงียบๆ ตาม สไตล์ของวิชัยที่ทำงานแบบ
LOW PROFILE มาตั้งแต่ไหนแต่ไร
ในวัย 81 ปีของวิชัย ยังคงมาทำงานที่อาคารวานิชเกือบทุกวัน แต่ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการบริหารงานในช่อง
3 เหมือนกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เพราะวิชัยได้ลูกๆ 6 คนที่ส่งไปเรียนต่อต่างประเทศกลับมาช่วยงาน
และแบ่งหน้าที่กันไปบริหารตามถนัด
และนับได้ว่าเป็นช่วงที่ช่อง 3 ก้าวกระโดดไปไกลกว่าเดิมมากนัก ช่อง 3 ในวันนี้
แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ รายได้รวมของบีอีซีเวิลด์ ในปี 2541
ลดลง 18% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ ผล กำไรสุทธิไตรมาสแรกของปี 2542 ยังลดต่ำกว่าไตรมาสเดียวกัน
133 ล้านบาท ทั้งหมดนี้เป็นผลพวงจากยอดโฆษณา รวมของโทรทัศน์ลดลง
แต่ฐานะการเงินรวมของบริษัทก็ยังจัดว่าแข็งแกร่ง มีสินทรัพย์รวม 8,428
ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นในรูป ของเงินสด และเงินฝากสถาบันการเงิน
ในระหว่างที่คนอื่นๆ กำลังวิ่งวุ่นอยู่กับปัญหาหนี้สินหลังฟองสบู่ แต่ช่อง
3 และตระกูลมาลีนนท์ ถูกจัดอันดับอย่างไม่เป็นทางการว่าเป็นบริษัทที่ร่ำรวยที่สุดในเวลานี้
และยังอยู่ในฐานะของ "ผู้ซื้อ" อีกด้วย
ประวิทย์ มาลีนนท์ และผู้บริหารของบีอีซีเวิลด์ (มหาชน) มักต้องตอบคำถามว่า
จะลงทุนในกิจการใดในช่วงกิจการดีราคาถูกขายอย่างเกลื่อนตลาด
จะว่าไปแล้ว ความสำเร็จของช่อง 3 ไม่ใช่เรื่องจะมองข้ามไปได้
ข้อแรก - ตระกูลมาลีนนท์เริ่ม รู้แล้วว่า การบริหารเงินอย่างถูกวิธีเป็น
เรื่องสำคัญไม่แพ้การบริหารซอฟต์แวร์รายการ
ช่อง 3 เป็นสถานีโทรทัศน์ช่องเดียวในเวลานี้ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ในนามของบริษัทบีอีซีเวิลด์ (มหาชน) จำกัด ทำให้ช่อง 3 ต้องเรียนรู้การบริหารเงินมากกว่าเดิม
การเข้าตลาดหลักทรัพย์ในครั้ง นั้นก็กลายเป็นจุดพลิกผันที่ทำให้ช่อง 3
สามารถลืมตาอ้าปากชั่วข้ามคืน
บีอีซีเวิลด์ มีเงินสดที่ระดมมาได้จากตลาดหลักทรัพย์หลายพันล้านบาท และเงินจำนวนนี้ถูกนำไปล้างหนี้สินที่ติดค้างอยู่กับธนาคารกรุง-เทพ
และบริษัทในเครือ 1,200 ล้านบาท ซึ่งกู้ยืมมาเพื่อขยายเครือข่ายไปทั่วประเทศ
ช่อง 3 จึงกลายเป็นบริษัทปลอด หนี้เป็นครั้งแรก และไม่เพียงไม่เป็นหนี้สินเท่านั้น
แต่ยังมีเงินสดเหลืออยู่ในบัญชีถึง 2,000 ล้านบาท และเงินจำนวนนี้ถูกเก็บใส่บัญชีธนาคารรวมกับ
กำไรสะสมที่เพิ่มขึ้นทุกปี จนเพิ่มเป็น 4,000 ล้านบาทในปี 2541 เฉพาะรายได้จากดอกเบี้ยอย่างเดียวปีละ
500 ล้านบาท
"เวลานั้นช่อง 3 เองก็ขยายเครือ ข่ายไปแล้วทั่วประเทศ ไม่มีภาระที่ต้องลงทุนหนักๆ
อีก ต้องถือว่าเป็นช่วงที่ดีมากๆ ของช่อง 3" ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร
แอสเซท พลัส กล่าว
จะว่าไปแล้ว งานนี้ผู้ที่มีบทบาท อย่างมาก ส่วนหนึ่งต้องยกเครดิตให้กับ
ดร.ก้องเกียรติ เป็นที่ปรึกษาในการนำบริษัทบีอีซีเวิลด์ จดทะเบียน และยังคงทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาการเงินที่วิชัย
ให้ความไว้วางใจมากที่สุดคนหนึ่งจนถึงทุกวันนี้
ทฤษฎีว่าด้วยการลงทุนในธุรกิจของดร.ก้องเกียรติ ก็คือการให้ธุรกิจเหล่านี้จะต้องโฟกัสธุรกิจหลักที่ตัวเองถนัดเท่านั้น
ต้องไม่ขยายการลงทุนแบบไร้ทิศทาง เพราะจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินรวม
ถึงการตัดสินใจของนักลงทุน
กลุ่มชินวัตร เป็นอีกหนึ่งในลูกค้าของแอสเซส พลัส ดร.ทักษิณ ชินวัตร เคยใช้บริการของดร.ก้องเกียรติ
อยู่บ่อยๆ ดีลสำคัญๆ ของกลุ่มชินวัตร ผ่านมือของแอสเซท พลัสมาแล้วหลายครั้ง
รวมถึงการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับไอบีซีในการรวมกิจการกับยูบีซี
จะเห็นได้ว่าตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ชินวัตรจะมุ่งเน้นสร้างความชัดเจนในการลงทุนธุรกิจ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับโครงสร้างล่าสุด ชิน-วัตรจะเป็นโฮลดิ้งคอมปานีทำหน้าที่ลงทุนอย่างเดียว
ส่วนเอไอเอสจะมุ่งไปที่ธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ชินวัตรแซทเทิ่ล ไลท์ จะทำเฉพาะธุรกิจดาวเทียมไทยคม
วิชัย มีลูกถึง 6 คน การขยาย ธุรกิจเป็นเรื่องธรรมดาของธุรกิจครอบ ครัว
ที่จะมองหาโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจเพิ่มขึ้น
ประชา มาลีนนท์ ลูกชายคนที่สาม เป็นผู้มีส่วนอย่างมากในการลง ทุนธุรกิจใหม่ของช่อง
3 ทั้งที่เป็นการลงทุนของบีอีซีเวิลด์ และของตระกูลมาลีนนท์
ประวิทย์บอกว่า ช่อง 3 โชคดีที่ไม่มีการขยายงานบุ่มบ่าม ไม่ได้จับธุรกิจหลายๆ
เรื่องพร้อมกัน การลงทุนของช่อง 3 ในแต่ละปีจะตกประมาณ 800 ล้านบาท ไม่เกินพันล้าน
ทำให้ช่อง 3 มีกำไรสะสมเพิ่มขึ้นทุกปี
"จุดแข็งของช่อง 3 คือ การมีเงินในบัญชี 4 พันล้าน เพราะเป็นเงินที่ระดมทุนมาจากตลาดหลักทรัพย์
และกำไรสะสมของบริษัท ก็ถือว่าเป็นโชค ที่เงินจำนวนนี้ก็ยังไม่ได้ถูกใช้"
ฉัตรชัย เทียมทอง ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินกล่าว
พูดง่ายๆ ก็คือ แม้ว่าช่อง 3 จะ มีเงินเหลือจากการระดมทุนในตลาด หลักทรัพย์
แต่หากช่อง 3 ไม่ระมัด ระวังการใช้เงิน เอาเงินไปขยายลงทุนแบบไม่ลืมหูลืมตาเหมือนกับหลายบริษัท
ที่อาจต้องประสบปัญหาเช่นเดียวกับบริษัทอื่นๆ ในเวลานี้
4-5 ปีที่แล้ว ช่อง 3 เคยเข้าร่วมประมูลโครงการทีวีเสรี ระบบยูเอชเอฟแต่ไม่ได้รับเลือก
และในยุคที่แสงชัย สุนทรวัฒน์ นั่งเป็นผู้อำนวย การอ.ส.ม.ท. เรียกว่าเป็นยุคผ่าตัดอ.ส.ม.ท.ในช่วงนั้นเองช่อง
3 ได้คิดขยับขยายธุรกิจด้านบรอดคาสติ้งออกไปอย่างมาก
ช่อง 3 ได้ยื่นขอสัมปทานโครงการสำคัญๆ กับอ.ส.ม.ท.และได้มาถึง 3 โครงการ
คือ เคเบิลทีวี โครงการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม และบริการอัพ ลิงค์-ดาวลิงค์สัญญาณโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม
แต่จนถึงวันนี้ทั้ง 3 โครงการยักษ์ใหญ่นี้ก็ยังไม่ได้เกิดขึ้น
และนับว่าโชคของช่อง 3 ที่ตัด สินใจระงับการลงทุนในธุรกิจเคเบิลทีวี หลังจากส่งเรื่องไปให้แอสเซท
พลัสศึกษาผลดีผลเสียของโครงการ และคำตอบที่ได้คือ ให้ยกเลิกโครงการนี้เสีย
"เราตัดสินใจ ยอมเสียค่าปรับไป 20 กว่าล้านคืนสัมปทานให้อ.ส.ม.ท. เพราะเวลานั้น
หากจะทำก็ต้องลงทุนด้านเครือข่าย และในช่วงนั้นทุก อย่างมันปิดหมด ดาวเทียมก็ยิงไม่ได้เคเบิลใยแก้วก็วางไม่ได้
ระบบ MMDS ก็ไม่มีคลื่นความถี่ให้ และถึงมี เราก็ไม่พร้อมที่จะลงทุนเครือข่ายเองเพราะ
ลงทุนแล้วก็ไม่คุ้ม"
เป็นเรื่องที่ประวิทย์ และผู้บริหารของช่อง 3 ยังออกมาเล่าให้ "ผู้สื่อข่าว"
ฟังกันอยู่บ่อยๆ เพราะหากช่อง 3 ไม่ตัดสินใจคืนสัมปทานไปเสีย ยังไม่รู้ว่าช่อง
3 จะตกอยู่ในสภาพไหน
เพราะปัญหาขาดทุนของไอบีซี และยูทีวี จนต้องรวมกิจการกัน และกลุ่มชินวัตรตัดสินใจถอนตัวจากธุรกิจ
นี้ไปในที่สุด
และเป็นโชคอีกเหมือนกันที่ โครงการที่เหลืออีก 2 โครงการยังไม่คืบ หน้าหลังการตายของ
แสงชัย สุนทร-วัฒน์ และล่าสุดกระทรวงคมนาคมได้ยื่นครม.ให้ยกเลิกโครงการอัพลิงค์-ดาวน์ลิงค์แล้ว
ช่อง 3 ไม่มีนโยบายสร้างอาคาร สำนักงานใหญ่ ยกเว้นสถานีห้องส่งที่หนองแขมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาที่ทำไว้กับอ.ส.ม.ท.ที่ช่อง
3 จะต้องสร้าง ขึ้นและส่งมอบให้เป็นทรัพย์สินของ อ.ส.ม.ท.ที่ผ่านมาช่อง 3
เช่าใช้อาคารวานิชริมถนนเพชรบุรีตัดใหม่ใช้เป็นสำนักงานใหญ่มาตลอด จนคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าอาคารแห่งนี้มีช่อง
3 เป็น เจ้าของ
"ตอนแรกช่อง 3 ก็คิดว่าจะสร้างอาคารสำนักงานของตัวเองเพราะ มีที่ดินอยู่บนถนนพระราม
9 เป็นของตระกูลมาลีนนท์ที่ซื้อไว้นานแล้ว แต่คณะกรรมการของบริษัทตัดสินใจเด็ดขาดมาตั้งแต่ปี
2539 แล้วว่า จะไม่ลงทุนอาคารด้วยบริษัทบีอีซีเวิลด์ เพื่อไม่ให้เป็นภาระของบริษัท
แต่จะเป็น การลงทุนของตระกูลมาลีนนท์เอง ซึ่งเราจะทำไปช้าๆ ตามภาวะเศรษฐกิจ"
ฉัตรชัย เทียมทอง เล่า
เป็นเรื่องที่ดร.ก้องเกียรติ ก็ให้ความเห็นไว้ว่า ช่อง 3 ไม่มีความจำเป็นต้องสร้างอาคารสำนักงานเพราะ
ไม่ได้ส่งผลในเรื่องรายได้ให้กับบีอีซีเวิลด์ เพราะมูลค่าของธุรกิจโทรทัศน์ไม่ได้อยู่ที่
อาคาร แต่อยู่ที่ซอฟต์แวร์รายการ การ ลงทุนสร้างอาคารจะกลับเป็น การสร้างภาระในเรื่องการลงทุนให้กับบีอีซีเวิลด์
ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อโครงสร้างการเงินของ บริษัท และอาจส่งผลต่อราคาหุ้นในอนาคต
ในระหว่างที่อาคารสำนักงานแห่ง ใหม่ของตระกูลมาลีนนท์ ต้องใช้เงินลงทุน
1,500 ล้านบาท ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 15 ไร่ ริมถนนพระราม 9 ที่ตระกูลมาลีนนท์ซื้อทิ้งเอาไว้ยังสร้างไม่เสร็จ
ช่อง 3 จะย้ายไปยังสำนักงานแห่งใหม่อาคาร ของห้างสรรพสินค้าเอ็มโพเรี่ยมถนนสุขุมวิทแทน
เพราะสัญญาที่ช่อง 3 ทำไว้กับอาคารวานิชจะหมดลงในเดือน กรกฎาคม
เงื่อนไขของ ช่อง 3 จะเลือกลงทุนในธุรกิจที่ "ซินเนอยี" หรือเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจเดิมเท่านั้น
และนี่คือที่มาของการที่บีอีซีเวิลด์ ไปซื้อหุ้น 20% ในซีวีดี จากนั้นก็ซื้อหุ้นจากบริษัท
เทโร ผู้ประกอบธุรกิจจัดคอนเสิร์ต
"ช่อง 3 เรามีรายการอยู่แล้ว ก็ เอารายการไปอัดใส่วิดีโอป้อนให้กับ ซีวีดีไปเช่า
หรือขาย ส่วนร้านซีวีดี ช่อง 3 จะนำไปโฆษณาผ่านทีวีให้ ส่วนเทโร ที่เราไปลงทุนเพราะเราอยาก
ได้รายการกีฬา ไปเป็นสปอนเซอร์ให้ทีมฟุตบอล"
แต่ดูเหมือนจังหวะการลงทุนของช่อง 3 จะไม่ดีนัก เพราะปีที่แล้วซีวีดีต้องเจอปัญหาขาดทุนไป
224 ล้านบาทจากหนี้เสีย และสินค้าค้างสต็อก หลังจากตัดหนี้เสียและสินค้าค้างสต็อกในปีที่แล้วไปหมดแล้ว
ก็คาดว่าผลประกอบการในปีนี้จะดีขึ้น
นอกจากนี้ช่อง 3 ยังไปลงทุนในเทโรเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ทำธุรกิจจัดคอนเสิร์ต
และเพลง ที่ยังไม่เห็นผลในเรื่องของรายได้ รวมทั้งสร้างภาพยนตร์เป็นเรื่องแรกในปีที่แล้ว
ที่แม้ว่าช่อง 3 จะยืนยันในเรื่องรายได้ แต่ คนในวงการทีวีกลับมองว่า งานนี้ช่อง
3 ไม่คุ้มเท่าที่ควร
และแม้ว่าจะเจ็บตัวจากธุรกิจเหล่านี้บ้าง แต่ก็ยังถือว่า ไม่เจ็บหนักหากตัดสินใจลงทุนโครงการใหญ่ๆ
อย่างเคเบิลทีวี
"เรายังคงสนใจจะลงทุนในธุรกิจ บรอดคาสติ้ง และในส่วนของเอ็นเตอร์ เทนเม้นท์
เราเชื่อว่า เรามีศักยภาพดีกว่าคนอื่น แต่ว่าไม่มีความจำเป็นต้อง รีบร้อนทำเวลานี้
อย่างเคเบิลทีวี แนวโน้มธุรกิจเหล่านี้ต้องมา แต่จะช้าจะเร็วเท่านั้น เราไม่จำเป็นต้องรีบ
ไม่เหมือนกับทีวี ที่เราเห็นช่อง 7 ได้ประโยชน์อย่างมาก จากการที่เขาเริ่มก่อน
แต่เคเบิลทีวีมันไม่มีประโยชน์ เราลงทุนแน่ แต่ต้องรอจังหวะ" ฉัตรชัย กล่าวไว้อย่างชัดเจน
เมื่อถูกถามถึงการลงทุนใหม่ๆ
ที่สำคัญ ฉัตรชัย ย้ำว่า การลงทุนของช่อง 3 ไม่ใช่จะมีเฉพาะ M & A
(MERGER AND ACQUISITIONS) เหมือนอย่างที่ทุกคนอยากจะเห็น
ข้อสอง - การเป็นธุรกิจกึ่งผูกขาด
ด้วยโครงสร้างธุรกิจโทรทัศน์ของเมืองไทยเป็นธุรกิจสัมปทานกึ่งผูกขาด จะเป็นส่วนเอื้ออำนวยให้กับช่อง
3 ได้ไม่น้อย
ในไทยมีสถานีโทรทัศน์ทั้งหมด 6 ช่อง คือ 3, 5, 7, 9, 11 และไอทีวี จะว่าไปแล้วตลอด
30 กว่าปีที่ผ่านมามีเพียงช่อง 3 และช่อง 7 เท่านั้นที่บริหารงานโดยเอกชน
และการได้สัมปทานมาของช่อง 7 และช่อง 3 ก็ล้วนเกิดมาจากสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจในยุคที่
เมืองไทยยังปกครองโดยทหารที่เกิดขึ้นมานานแล้ว
ไอทีวี จึงเป็นสถานีโทรทัศน์เกิดใหม่เพียงแห่งเดียวในรอบ 30 ปีที่ ได้รับสัมปทานจากสำนักนายกรัฐมนตรี
ด้วยความที่เป็นธุรกิจกึ่งผูกขาด นี้เอง ที่วิชัยยอมกัดฟันสู้ และยอมตัดทิ้งธุรกิจอื่นๆ
หันมาโฟกัสที่ธุรกิจโทรทัศน์เพียงอย่างเดียว เพราะเขารู้ดีว่า เมื่อผ่านพ้นการลงทุนอย่างหนักในช่วง
แรกๆ ที่ต้องติดตั้งสถานีเพื่อให้รับชมได้ทั่วประเทศได้แล้ว ช่วงที่เหลือก็คือ
การเก็บเกี่ยวรายได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
อันที่จริงแล้ว ธุรกิจโทรทัศน์และโทรศัพท์มือถือไม่แตกต่างกันนัก ทั้งในรูปแบบของการลงทุน
และการเป็นสัมปทานกึ่งผูกขาด ทำให้มีเอกชน เพียง 2 รายเท่านั้นที่มีบทบาทอย่างมาก
ในตลาด
เช่นเดียวกับ ธุรกิจโทรทัศน์ ด้วยความคล่องตัวของการบริหารงาน และการทำแผนการตลาด
ยอดบิลลิ่งโฆษณาทีวีส่วนใหญ่จะเป็นของช่อง 7 ตามมาด้วยช่อง 3
ข้อสาม - สู้ที่ซอฟต์แวร์รายการ
การมาช้ากว่าสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ทำให้ช่อง 3 ต้องเสียเปรียบช่อง 7 ในหลายๆ
เรื่อง
"เริ่มตั้งแต่หน่วยงานต้นสังกัดที่ให้สัมปทาน ข้อได้เปรียบของช่อง 7 ก็คือ
การเป็นสถานีโทรทัศน์ของทหาร ทำให้ช่อง 7 เลือกไปตั้งเสาอากาศถ่ายทอดสัญญาณบนยอดเขา
ซึ่งมันมีผลต่อสัญญาณที่ส่งไป เพราะยิ่งตั้งเสาได้สูง หรืออยู่บนยอดเขา จะทำให้สัญญาณที่ส่งออกไปชัดเจนมากขึ้น"
แหล่งข่าว เล่า
ช่อง 7 ก็อาศัยกลยุทธ์ทางด้านเครือข่ายมาสร้างความได้เปรียบทางการตลาดให้เหนือกว่าคู่แข่ง
ด้วยการสร้างเครือข่ายให้บริการครอบคลุมไปทั่วประเทศ และป้อนด้วยรายการให้ครอบคลุมคนดูในระดับกว้างในต่างจังหวัดทั่วประเทศ
ช่อง 3 ไม่เพียงแต่มีเครือข่ายที่น้อยกว่าช่อง 7 คลื่นความถี่ที่ได้รับมาเป็นคลื่นความถี่ต่ำที่สุดในสถานีโทรทัศน์ทั้งหมด
ซึ่งทำให้สัญญาณที่ส่งออกไปไม่ชัดเจน เป็นสิ่งที่ช่อง 3 ต้องแก้ปัญหากันมาหลายปี
แต่ทันทีเมื่อช่อง 3 จัดการแก้ปัญหาเหล่านี้ ด้วยการเร่งสร้างเครือข่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
และแก้ปัญหาในเรื่องความชัดเจนของสัญญาณ รวมทั้งความพร้อมในเรื่องของเงินทุนจากที่เคยจับแต่ตลาดชั้นกลางในกรุงเทพฯ
และปริมณฑล ช่อง 3 ก็หัน มาเปิดแนวรบกับช่อง 7 ที่ครองแชมป์ เรตติ้งคนดูอย่างจริงจัง
ประวิทย์ และผู้บริหารของช่อง 3 รู้ดีว่าธุรกิจโทรทัศน์ต้องแข่งขันกันด้วยซอฟต์แวร์รายการ
ไม่ใช่เครือข่ายเหมือนในอดีตแล้ว
ช่อง 3 ใช้เงินลงทุนในธุรกิจปีละ 800 ล้านบาท เป็นค่าซอฟต์แวร์รายการถึง
600 ล้านบาท ปรับปรุงเครือข่าย 200 ล้านบาท
นี่คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการให้น้ำหนักกับการสร้างซอฟต์ แวร์รายการที่จะเป็นหัวใจสำคัญ
ของการแพ้ชนะในการแข่งขันระหว่างสถานีโทรทัศน์ด้วยกัน
ในขณะที่ช่อง 7 จะผูกขาดอยู่กับดาราวีดีโอ และกันตนา เป็นเจ้าประจำผูกขาดการผลิตละครป้อนให้
แต่ช่อง 3 กลับใช้วิธีเปิดกว้าง ให้มีผู้จัดละคร และผู้กำกับหลากหลาย เพราะสิ่งที่จะได้ตามมาในอนาคต
ก็คือ ช่อง 3 จะมีซอฟต์แวร์รายการให้เลือกหลากหลาย
ช่อง 3 สร้างแรงจูงใจ ไม่ใช้ระบบขายเวลาให้ผู้จัด แต่ใช้วิธีแบ่งรายได้จากโฆษณา
หรือเรียกว่าระบบ ไทม์แชริ่ง เพื่อสร้างแรงจูงใจ ให้ผู้จัดที่มีไอเดียดีแต่ไม่มีเงินทุน
วิธีนี้จะไม่เห็นผลในระยะสั้น เพราะช่อง 3 จะไม่มีรายได้จากค่าเช่าที่เป็นรายได้ตายตัว
แต่วิธีนี้จะส่งผลในระยะยาว เพราะ นี่คืออาวุธสำคัญที่ทำให้ช่อง 3 มี ซอฟต์แวร์รายการดีๆ
และหลากหลาย เอาไว้ต่อกรกับช่องอื่นๆ
"เราสร้างพันธมิตรมาตลอด เราให้โอกาสคน เราสร้างคน อันนี้เป็น จุดแข็งที่สำคัญที่ทุกคนยอมรับ"
ฉัตรชัย เทียมทอง ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน สะท้อนความเห็น
และนี่เอง คือ ยุทธวิธีที่ทำให้ช่อง 3 ใช้ความหลากหลายของซอฟต์ แวร์ละครจากผู้จัดมากหน้าหลายตาในการเปิดศึกในช่วงไพรม์ไทม์กับ
ช่อง 7 ที่เคยครองแชมป์ตลอดกาล จนทำให้เรตติ้งของช่อง 3 สามารถสูสีกับช่อง
7 ได้
ในบางครั้งการสร้างพันธมิตรของช่อง 3 ก็ต้องรอคอยอย่างอดทน เช่น รายการกีฬา
ที่ยังเป็นจุดอ่อนของช่อง 3 ที่ยังไม่สามารถเอาชนะช่อง 7 โดยเฉพาะในเรื่องฟุตบอล
ซึ่ง ประวิทย์ยอมรับว่า เป็นสิ่งที่คนดูต้อง การ และช่อง 3 ยังขาดอยู่ ซึ่งช่อง
3 ก็ใช้วิธีสนับสนุนทีมฟุตบอลของไทย ตั้งแต่ช่วงแรกๆ เพื่อหวังว่า ในระยะยาวจะเก็บเกี่ยวจากประโยชน์จากการรอคอยอย่างอดทนนี้
ทุกๆ ปี ประวิทย์ และทีมผู้บริหารของช่อง 3 จะเดินทางไปดูเครือข่ายทุกจังหวัด
แบ่งออกเป็นภาคๆ พร้อมกับสำรวจตลาดคนดูไปในตัว
"ช่อง 3 เราได้ชื่อว่า ปรับผังรายการบ่อยมาก เราปรับกันทุกๆ 3 เดือน และจะปรับใหญ่ทุกๆ
เดือนกรกฎาคมของทุกปี" ประวิทย์กล่าว
ช่อง 3 ให้ความสำคัญกับการปรับผังรายการให้สอดคล้องกับคนดูมาก ผังรายการของช่อง
3 จึงมีความยืดหยุ่นอย่างมาก และเมื่อเร็วๆ นี้ช่อง 3 นำการเซ็นสัญญากับผู้จัดรายการมาใช้เป็นครั้งแรก
หลังจากใช้สัญญาใจมานาน และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงช่อง 3 ก็โดนข้อครหาว่าถอดรายการไปโดยไม่บอกล่วงหน้า
แต่การเปิดศึกของช่อง 3 บวก กับวิกฤติเศรษฐกิจ ก็ทำให้ช่อง 7 หัน มาปรับปรุงตัวเองในหลายๆ
ด้านด้วย การเปิดให้มีผู้จัดละครหน้าใหม่ เอาระบบไทม์แชร์ริ่งมาใช้เป็นครั้งแรก
จะเห็นได้ว่า รูปแบบรายการของช่อง 3 และช่อง 7 ในช่วงไพรม์ ไทม์ไม่ได้แตกต่างกัน
คือตั้งแต่หลังข่าวภาคค่ำ ไปจนถึง 5 ทุ่ม เริ่มด้วยละครหลังข่าว ที่ขยายไปกลุ่มคนดูระดับ
MASS มากขึ้น และตามด้วยรายการเกมส์โชว์ไปจนถึง 5 ทุ่ม และนี่เองที่ทั้งสองช่องต่างก็ผลัดกันรุกผลัดกันรับมาตลอด
ประวิทย์ ก็พูดเสมอว่า การผลิตละครของช่อง 3 เวลานี้ ก็เหมือน กับการวางตลาดสินค้าใหม่ๆ
ที่ต้องทำอยู่ตลอดเวลา ทุกๆ 2 เดือน
"เวลานี้เราสร้างเวลาขึ้นมาได้แล้ว เพียงแต่ซอฟต์แวร์เราใส่แต่ละวันแข็งพอหรือเปล่า
ภาพรวมเวลานี้ไปได้ อย่าง ละคร ทุก 2 เดือนเปลี่ยนครั้งหนึ่ง การตอบสนองจากคนดูจะเปลี่ยนแปลง
ตลอดเวลา บางเรื่องก็ดีบางเรื่องก็ไม่ดี คนดูจะสวิงมากเลย อย่างเกมส์โชว์
เรตติ้งไม่มีใครครอง อยู่ที่แขกรับเชิญ อยู่ที่ความน่าสนใจของแต่ละวัน มันไม่เหมือนเมื่อก่อน
เป็นแชมป์ขึ้นคาน" ประวิทย์ กล่าว
วิกฤติเศรษฐกิจนี้ ช่อง 3 ต้อง เรียนรู้มากขึ้นก็คือ การต้องหารายได้อื่นๆ
มาทดแทนในส่วนรายได้ที่หดหาย ไป จากภาวะตลาดโฆษณาที่หายไป รวมทั้งดอกเบี้ยเงินฝากที่ลดลง
รายได้รวมในแต่ละปีของบีอีซีเวิลด์ มาจากโฆษณาทีวี 95-98% ซึ่งในปี 2541
ยอดรายได้รวมโฆษณาทีวีลดลงถึง 30% เป็นสัญญาณอันตรายที่ผู้บริหารช่อง 3 ตระหนักดี
วิธีการแก้ปัญหาของช่อง 3 ก็คือ การยืดเวลาละครหลังข่าวภาคค่ำ ซึ่งเป็นช่วงไพรม์ไทม์ออกไปอีก
15 นาที จะทำให้มีเวลาโฆษณาเพิ่มขึ้นอีก 3 นาที นั่นก็หมายความว่าช่อง 3
จะมีเงินรายได้เพิ่มขึ้น 300 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 10% ของรายได้รวม
นอกจากนี้ช่อง 3 ต้องหันมาใช้ประโยชน์จากซอฟต์แวร์รายการที่มีอยู่ในมือให้มากขึ้น
"นี่คือ โอกาสที่เราจะทำรายได้เพิ่มจากสิ่งที่เรามีอยู่ในมือของเราเอง"
ปราโมทย์ โชคศิริกุลชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัทยูแอนด์ไอ สะท้อน
ปราโมทย์ เป็นผู้บริหารที่ใกล้ชิดกับประชามากที่สุดคนหนึ่ง เขารับหน้าที่ในการดูแลธุรกิจใหม่ๆ
ของช่อง 3 นอกเหนือจากธุรกิจวิทยุ เขาเป็นผู้รับผิดชอบโครงการทีวีบี 3 เน็ทเวิร์ค
เป็น การร่วมทุนของช่อง 3 กับทีวีบีแห่งฮ่อง-กง พันธมิตรเก่าแก่ของช่อง 3
เพื่อผลิตและจัดหารายการป้อนให้กับเครือข่ายโทรทัศน์ เคเบิลทีวี ในไทยและประเทศอื่นๆ
ทีวีบี 3 เน็ทเวิร์ค ซึ่งเป็นแหล่ง ผลิตซอฟต์แวร์ที่สำคัญ เมื่อบวกรวมกับซอฟต์แวร์รายการของช่อง
3 เอง ที่ผลิตไว้แต่ยังไม่ได้แพร่ภาพ รวมทั้งที่แพร่ภาพไปแล้ว รวมทั้งหมดประมาณ
3,000 ชั่วโมง ที่พร้อมจะขายให้กับยูบีซีเคเบิลทีวี
ปราโมทย์บอกว่า หากประเมิน ตามราคาตลาดทั่วไปแล้ว ซอฟต์แวร์เหล่านี้จะมีราคาชั่วโมงละ
500-1,000 เหรียญสหรัฐ นั่นก็หมายความว่าช่อง 3 มีซอฟต์แวร์ในมือ มีมูลค่า
1.5 ล้าน เหรียญสหรัฐ-3 ล้านเหรียญสหรัฐ
สิ่งที่ช่อง 3 ทำก็คือ ใช้ซอฟต์ แวร์ที่มีอยู่เหล่านี้ขายรายการเหล่านี้ป้อนให้กับยูบีซีทั้ง
1 ช่องรายการ
"เราเสนอเขาว่า จะขอทำเป็นช่องของเราเลย จะมีทั้งละคร หนังไทย และหนังจีน
ที่เราได้ลิขสิทธิ์มา แต่ก็อยู่ระหว่างเจรจา ว่าจะแบ่งผลประโยชน์ กันยังไง
และเขาก็ต้องไปคิดว่าเขาจะทำหรือไม่ เพราะเขาต้องลงทุนใหม่" ปราโมทย์เล่า
วันนี้ช่อง 3 เรียนรู้แล้วว่า บางครั้งอาจไม่จำเป็นต้องมีเครือข่าย แต่ก็สามารถเป็นส่วนร่วมในธุรกิจเคเบิลทีวีนี้ได้
นี่คือ ส่วนหนึ่งของการเรียนรู้แก้ปัญหาเรื่องรายได้ภายใต้วิกฤติการณ์
เศรษฐกิจของช่อง 3
อนาคตข้างหน้าก็คือ การเป็นผู้นำในธุรกิจทีวีอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แม้ว่าเวลานี้เรตติ้งจะยังเป็นรองช่อง
7
"เรายังมีเวลาเก็บเกี่ยวอีกยาวไกล แม้ว่าเรายังไม่สามารถเป็นนัมเบอร์ วันในเวลานี้
แต่ไม่ได้หมายความว่าในอนาคตเราจะไปถึงจุดนั้นไม่ได้ ช่อง 3 ทำทุกอย่างไม่ได้หวังผลระยะสั้น
แต่เรามองไกล"
เวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์ อนาคต