"ผู้ชายคนนี้ป็นคนช่างฝัน สำหรับโลกนี้แล้วเป็นสิ่งท้าทายสำหรับเขา" "ผู้จัดการรายเดือน"
ขอยกคำพูดของท่านผู้หญิงนิรมล สุริยสัตย์ นักธุรกิจหญิงคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเพื่อนเก่าแก่ของกฤษณ์
อัสสกุล เคยกล่าวไว้
กฤษณ์ เป็นนักสู้ผู้บุกเบิกและก่อตั้งอาณาจักรของกลุ่มไทยสมุทร ให้ยืนหยัดอย่างมั่นคงจนครบ
50 ปี ในปีนี้ นอกจากจะประสบความสำเร็จในเรื่องธุรกิจประกัน เขายังเป็นนักพัฒนาที่ดินซึ่งเอาระบบไทม์แชริ่งมาใช้เป็นรายแรกๆ
ในโครงการซิกม่ารีสอร์ทบนหาดจอมเทียน เป็นเจ้าของอาคารตึกสูงออฟฟิศคอนโดมิเนียมใจกลางกรุง
ในยุคที่ขายความฝันกันในแผ่นกระดาษ และเป็นผู้สร้างฝันให้เป็นจริงให้กับเศรษฐีชาวไทยที่มีจิตใจชื่นชอบกีฬาทางเรือ
โดยสร้างโครงการโอเชี่ยนมารีน่า ยอช์ทคลับ โครงการมารีน่าที่สมบูรณ์แบบแห่งแรกของเมืองไทย
ปัจจุบันธุรกิจหลักของกลุ่มไทยสมุทรประกอบไปด้วย 3 กลุ่มหลักคือ 1. กลุ่มทางด้านการเงิน
เช่นบริษัท ไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย บง.มหาสมุทร สยามโบรก เกอร์ สยามประกันชีวิต
2. กลุ่มอินดัสตรี้ เช่นบริษัทโอเชี่ยนกลาส จำกัด(มหาชน) และ 3. กลุ่มเรียลเอสเตท
เช่น บริษัทโอเชี่ยนทาวเวอร์ บริษัทโอเชี่ยนมารีน่า บริษัทเรียล เตอร์ และบริษัทธนภูมิ
กฤษณ์วางบทบาทให้ กีรติ และวีรวุฒิ ลูกชายคนโตและคนรองดูแลธุรกิจ 2 กลุ่มแรก
ส่วนนุสราลูกสาวคนสุดท้องดูแลทางด้านเรียลเอสเตทและโครงการโรงเรียนนานาชาติทั้ง
2 แห่ง บทบาทของนุสราในวันที่กำลัง สร้างฝันให้ผู้เป็นพ่อในยุคเศรษฐกิจไม่เป็นใจจึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองยิ่งนัก
ต้องยอมรับว่านุสรา เป็นลูกสาวเถ้าแก่อีกคนหนึ่งที่ทำงานหนักมากๆ ตั้งแต่เรียนจบมาใหม่ๆ
แม้แต่วันที่แจกการ์ดแต่งงานให้กับ อนันต์ อัศวโภคิน สมัยที่บริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ยังอยู่ในโรงแรมแมนดาริน
เธอยังสามารถเล่าเรื่องงานแต่งงานไปได้พร้อมๆ กับการเจรจาขายพื้นที่ตึกได้ด้วยตั้งหลายยูนิต
กฤษณ์ ไม่ได้สอนลูกให้เป็นนาย เขาพูดเสมอๆ ว่าให้ลูกๆ ทุกคนทำตัวเหมือนพนักงานทั่วไปคนหนึ่ง
ซึ่งหากเป็นคนเก่งจริงก็จะได้รับการยอมรับเอง ไม่ใช่ให้คนยอมรับเพราะความเป็นลูกของเจ้าของบริษัท
ดังนั้นพอนุสราเรียนจบปริญญาโทสาขา Finance จาก University of California,
Los Angeles ก็เลยไม่มีความคิดในหัวว่าจะต้องมานั่งเก้าอี้ตัวใหญ่ตัวใดตัวหนึ่งของบริษัทในเครือไทยสมุทร
เธอจึงไปสมัครงานเพื่อหวังจะหาประสบการณ์ในบริษัทการเงินบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งในอเมริกา
ด้วยความหวังว่าอยากเป็นที่ปรึกษาทางด้านการเงิน เพราะมั่นใจว่าเรื่องตัวเลขสำหรับ
เธอนั้นเป็นเรื่องง่ายๆ เป็นเรื่องถนัดที่ตนอยากทำ
เมื่อเห็นลูกสาวคนเล็กจริงจังที่จะหางานทำเพื่อหาประสบการณ์แน่นอน กฤษณ์กลับบอกว่าให้กลับมาทำงานกับเขารับประกันได้ว่าเพียง
6 เดือนก็จะได้ประสบ การณ์ในการทำงานมากกว่าอยู่เมืองนอกแน่นอน
นุสรากลับจากเมืองนอกก็เริ่มงานในบริษัทไทยสมุทร แผนกพัฒนาที่ดินซึ่งเป็นแผนกเล็กๆ
ในบริษัท ตอนนั้นมีการทำโครงการอสังหาริมทรัพย์มาหลายโครงการแล้วอย่างเช่นหมู่บ้านไทยสมุทร
อพาร์ตทเมนต์ที่ซอย ศาลาแดง หัวหมากคอนโดมิเนียม ลาดพร้าวคอนโดมิ เนียม และทุกโครงการก็ขายจบไปหมดแล้ว
แต่กฤษณ์ได้หวังไว้ว่าจะให้ลูกสาวคนนี้เข้ามารับผิดชอบพัฒนาที่ดิน จำนวนมากมายที่อยู่ในมือของเขา
ให้กลายเป็นทองคำให้ได้ โดยเขาจะเป็นคนให้แนวความคิด ส่วนตัวเธอต้องเป็นคนลงมือทำ
และเธอก็ทำได้จริงๆ งานชิ้นแรกที่รับผิดชอบก็คือการขายพื้นที่ตึกไทยสมุทรซึ่งเป็นเรื่องใหญ่
และใหม่สำหรับตัวเองมาก เมื่อไม่เคยเรียนไม่เคยทำมาก่อนเธอ จึงลงมือลุยงานเองแทบทุกอย่าง
เริ่มตั้งแต่สำรวจตลาดความต้องการออฟฟิศบิลดิ้งในเมืองไทยขณะนั้น การกำหนดราคา
และออกเคาะประตูหาลูกค้าเอง
ลูกค้ารายแรกของนุสรา ก็คือมร.สก็อต มอร์แกน กรรมการผู้จัดการคนแรกของบริษัทริชาร์ด
เอลลิส (ประเทศไทย) บริษัทโบรกเกอร์ข้ามชาติรายแรกของเมืองไทยที่เข้ามาเมื่อปี
2531 และกำลังมองหาพื้นที่อาคาร สำนักงานตั้งออฟฟิศ วันนั้นเสนอขายเสร็จเรียบร้อยก็ยังไม่เป็นที่ตกลง
ไม่เป็นไรน่า เธอปลอบใจตัวเอง อีก 2 วันต่อมร.มอร์แกนก็โทรกลับเข้ามาเพื่อชวนเธอทานข้าวเที่ยงด้วย
นุสราเล่าว่าดีใจมาก มั่นใจว่าทางริชาร์ดเอลลิสต้องสนใจพื้นที่เช่าแน่นอน
แต่เปล่าหรอกนะ เขาโทรมาเพื่อชวนไปทำงานด้วยต่างหาก ก็เลยกลายเป็นเรื่องโจ๊กในวงการที่มร.มอร์แกนเล่าให้ใครต่อใครฟังว่า
เพราะความประทับใจในความเก่งและความคล่องของเธอเลยติดใจชวนมาร่วมทีมด้วย
ใครจะไปรู้ว่าเธอเป็นลูกสาวเจ้าของโครงการคนหนึ่ง
"เป็นช่วงที่ทำงานสนุกมาก ขายดีจนขึ้นราคาเกือบทุกอาทิตย์ 5 อาทิตย์เราขายพื้นที่ไปประมาณ
70% จากพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 3 หมื่นตารางเมตร แต่ทำงานหนักมาก เป็นช่วงที่ได้ประสบการณ์มากที่สุด"
นุสราเล่าย้อนให้ฟังถึงยุคเศรษฐกิจบูมจนกระทั่งความฝันบนแผ่นกระดาษก็ขายได้
และผลของการทำงานหนักในครั้งนั้น ทำให้เธอได้ข้อสรุปที่นำมาใช้ในทุกวันนี้ว่า
การที่จะใช้คนได้ดี ใช้ให้เป็นนั้น คนใช้ก็ต้องทำงานเป็นมาก่อนเหมือนกัน
ส่วนหนึ่งของความสำเร็จเป็นเพราะนุสราเป็นนักพัฒนาที่ดินรุ่นใหม่ ที่มีความสามารถอย่างมากในเรื่องตัวเลข
แต่ก็ใช่ว่าจะได้กำไรเป็นตัวเลขที่สวยงามทุกโครงการไป โอเชียนมารีน่า ยอชท์คลับ
คือตัวอย่างนั้น
โอเชี่ยนมารีน่า เป็นโครงการหนึ่งที่กฤษณ์ฝันไว้ว่าจะทำให้เมืองไทยมีมารีน่าที่ดีมีมาตรฐานให้ได้
แน่นอน ต้องมีการทุ่มเงินมากมายลงไปในเม็ดทราย จึงจะกลายเป็นโครงการที่สวยงามเป็นท่าจอดเรือที่สมบูรณ์แบบได้
ผลพวงของโครงการนี้ ทำให้ชื่อเสียงของบริษัทไทยสมุทรเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
ทำให้ความฝันของกฤษณ์เป็นจริง แต่ก็เป็นโครงการที่ได้เพียงกล่องไม่ได้เงิน
โครงการนี้จะมีกำไรก็ต่อเมื่อตึกหลังที่ 2 ซึ่งเป็นเสาเข็มค้างคาอยู่นั้นเดินเครื่องต่อจนเสร็จ
แต่แน่อนในช่วงภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้หยุดไว้ก่อนจะปลอดภัยกว่าแน่นอน รวมทั้งโปรเจ็กต์พัฒนาที่ดินอีกหลายโครงการ
ไม่ว่าจะเป็นออฟฟิศบิลดิ้ง คอมเพล็กซ์หรู และคอนโดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งบางโครงการแบบแปลนแผนผังถูกกำหนดไว้เรียบร้อยแล้ว
ว่ากันว่านุสราเธอเป็นคนค่อนข้างใจร้อน คิดเร็ว ชอบกีฬาเรือใบที่ท้าทายเหมือนพ่อ
แต่เธอเรียนรู้จังหวะที่จะดึงจะผ่อนและบังคับใบเรือ รวมทั้งเรียนรู้ทิศทางลม
จนทำให้สามารถฝ่ามรสุมธุรกิจครั้งนั้นมาได้
จะว่าไปแล้วสไตล์การทำงานอย่างนี้ก็ไม่ได้ต่างไป จากกฤษณ์ผู้มีบทบาทสำคัญในการขยายอาณา
จักรของบริษัทในเครือไทยสมุทรอย่างระมัดระวังมาตลอด จนเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้รับแรงกระทบมากนักจากภาวะวิกฤติของเศรษฐกิจในรอบนี้
เพราะไม่อย่างนั้นแล้วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาถ้าเธอตัดสินใจเดินหน้าโครงการอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดตามแผนการที่วางไว้ล่ะก็
มีหวังไม่มีกะจิตกะใจสานต่อความฝันของพ่อในเรื่องธุรกิจโรงเรียนนานาชาติแน่นอน