ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ "เสี่ยงให้ใหญ่ไปเลย"


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

ชื่อของดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ไม่ใช่มือใหม่ในวงการตลาดทุนไทย และยังไม่ใช่ผู้ที่ล้มเหลวไปในยุคที่มีการปิดไฟแนนซ์ 56 แห่งและแบงก์ถูกยึด ตรงกันข้าม เขาเป็นผู้ที่ยืนยงและ รอดพ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นโดยไม่มีบาดแผลแม้แต่น้อย ความล่มสลายของเศรษฐกิจฟองสบู่ไม่ได้มีผลกระทบที่เป็นนัยสำคัญอันใดกับธุรกิจของเขา บล.แอสเซทส พลัสยังคงมีงานเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำ M&A ปรับโครงสร้างหนี้ หาพันธมิตรทางธุรกิจให้ลูกค้า รับออร์เดอร์ ลูกค้า wholesale และล่าสุดคือบริหารไพรเวทฟันด์หรือกองทุนส่วนบุคคล ห้าปีเต็มกับการก่อตั้งแบร์ริ่ง รีเสิร์ชในไทยและบริหารกิจการจนเติบใหญ่ เขาเก็บสั่งสมประสบการณ์ไว้อย่างดีจากภาวะขา ขึ้นของตลาดหุ้นยามนั้น แต่ชีวิตเขาได้พบเห็นเศรษฐกิจขาลงครั้งใหญ่ๆ หลายครั้ง จึงสามารถรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจครั้งล่าสุดได้ เขาเป็นผู้ยึดถือคติว่า "ไม่จำเป็นต้องเสี่ยงกันทุกปี นานๆ ครั้งจึงจะทำ และเมื่อทำแล้วก็ต้องเสี่ยงให้ใหญ่ไปเลย" การออกมาก่อตั้งบล.แอสเซท พลัส ของเขาเมื่อ 3 ปีก่อนถือเป็นการเสี่ยงครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในชีวิต ซึ่งก็ได้ ผลคุ้มค่าทีเดียว ตอนนี้จะถึงจังหวะเช่นนั้นอีกหรือไม่ จับตาดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ

เรื่องโดย ฐิติเมธ โภคชัย

หลังจากรัฐบาลประกาศลดค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ดัชนีตลาดหุ้นไทย ลดลงจนกระทั่งหลุด แนว 300 จุด บรรดานักลงทุนเริ่มทยอยหันหลังให้กับตลาดหลักทรัพย์ ขณะเดียวกันก็ยังมีนักลงทุนอีกกลุ่มเริ่มเดินเครื่องด้วยการเข้ามาซื้อ และทยอยเก็บหุ้นที่มีอนาคต แน่นอนว่าผู้ที่มีทุนหนา กำลังทรัพย์แน่นย่อมพอใจที่จะซื้อของถูกเก็บตุนไว้รอจังหวะขึ้น หนึ่งในนักลงทุนกลุ่มที่มองการณ์ไกลและมองลึกดังกล่าวคือ ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บล.แอสเซท พลัส หลังจากนั้นเขารอคอยให้ตลาดหุ้นดีดตัวกลับ เพราะความคิดของ ดร.ก้องเกียรติ ก็คือ "ตลาดหุ้นไม่มีวันตาย" ในที่สุดเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยพุ่งทะยานไต่ขึ้นมาอย่างต่อเนื่องรวมทั้งมูลค่าซื้อขายต่อวันทะลุ 10,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นวันที่ ดร.ก้องเกียรติ มาถึงแล้วด้วยการขายหุ้นเพื่อทำกำไร

"เราขายหุ้นออกไปหมดเลย หุ้นบางตัวทำกำไรเป็นเท่าตัว เพราะถ้าไม่ขายไม่รู้จะไปขายตอนไหน"

นโยบายการลงทุนในช่วงสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ของ ดร.ก้องเกียรติ ถือเป็นโอกาสอันดีที่ต้องลงทุนแม้ ว่าในพอร์ตลงทุนของเขานอกจากตลาดหุ้นแล้วยังมี การลงทุนรูปแบบอื่นทั้งหุ้นกู้หรือกองทุนต่างๆ "รวมมูลค่าพอร์ตทั้งหมดประมาณ 800 กว่าล้านบาท แต่ภาวะอย่างนี้เราให้น้ำหนักไปในตลาดหุ้น" เพราะเป็นจังหวะและโอกาสที่จะสามารถกอบโกยกำไรได้เร็วที่สุด "อย่างอื่นใช้เวลานาน เช่น การลงทุนทางตรง หรือเข้าไปถือหุ้นบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ พวกนี้จะใช้เวลานานกว่าจะได้ผลตอบแทนกลับคืนมาและบางครั้งไม่แน่ใจว่าจะขาดทุนหรือไม่"

การลงทุนในตลาดหุ้นตามสไตล์ของ ดร.ก้องเกียรติเช่นนี้เป็นการดำเนินตามคติที่เขายึดถือมาโดยตลอด นั่นคือ ไม่จำเป็นต้องเสี่ยงลงทุนทุกปี (take risk) แต่นานๆ จึงจะทำและเมื่อทำแล้วก็ต้องเสี่ยงให้หนักๆ ไปเลย

"เราไม่เคยเจอวิกฤติเหมือนคนอื่น เพราะนิสัยผมเป็นคนอนุรักษนิยม บางคนอาจจะรู้สึกว่าเป็นคน take risk ซึ่งก็ถูกของเขา แต่จะทำนานๆ ครั้ง และแต่ละครั้งก็จะ take risk ให้ถึง กึ๋นž ไปเลย ผมว่าเราไม่จำเป็นต้อง take risk กันทุกปี บางครั้ง 2 ปีอาจจะทำสักครั้งหนึ่ง นี่คือนิสัยของผม ง่ายๆ ดำเนินธุรกิจไปเรื่อยๆ ไม่ทำให้เรา ลูกน้อง หรือบริษัทเดือดร้อน" ดร.ก้องเกียรติสรุปนิสัยการลงทุนทางธุรกิจของเขา ซึ่งเป็นแนวทางที่ทำให้เขาเติบโตมาจนทุกวันนี้ สร้างมูลค่ากองทุน ของบริษัทถึง 800 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การที่จะดำเนินงานอย่างนี้ได้ต้องมีเงินสดในมือมากพอ สมควร ซึ่งบล.แอสเซท พลัส ก็เช่น เดียวกัน เพราะปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 540 ล้านบาท และตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา มีกำไรสะสมประมาณ 280 ล้านบาท ดังนั้น ดร.ก้องเกียรติจึงสามารถนำเงิน เหล่านี้ไป take risk ในตลาดหุ้นโดย มีสภาพคล่องเหลือล้น ประกอบกับหลัก การทำงานของเขาด้วยคติที่ว่า"การไม่ มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ" ส่งผลให้บริษัทสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิ ภาพ

พูดกันง่ายๆ หลักการลงทุนของ ดร.ก้องเกียรติ ก็คือ ต่อให้หุ้นตัวนั้นกลายเป็นศูนย์เขาก็ไม่เดือดร้อน หรือสมมติว่าหุ้นตกทั้งพอร์ตก็ไม่กระเทือน เพราะในพอร์ตหนึ่งๆ เขาได้หาโอกาสถอนทุนและทำกำไรไปเป็นส่วนมากแล้ว เงินทุนที่เหลืออยู่จึงเป็นเสมือน "ส่วนเกิน" ที่นำมาลงทุนใหม่นั่นเอง

"แต่อย่าเล่นหุ้นเกินตัว เล่นให้พอดีๆ คือผมจะ conservative ขนาด นั้นถ้าจะทำแต่เมื่อไหร่ถึงเวลา take risk เราเต็มที่เช่นกัน" เขายังกล่าวเสริมว่า สิ่งที่กังวลมากในการลงทุนคือ ลงทุนไปแล้วมีทางออกหรือไม่? ถ้าต้องการจะขาย ขายได้หรือไม่? และถึงแม้ขาย ไปแล้วขาดทุน แต่อย่างน้อยสามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้หรือไม่? "เพราะถ้าเป็นเพียงแค่กระดาษและถือไปเรื่อยๆ ก็ลำบากเหมือนกัน"

แนวทางการลงทุนและดำเนินธุรกิจดังอธิบายมาข้างต้น ดร.ก้อง-เกียรติได้รับการพัฒนามาจากการหล่อ หลอมในหม้อต้มที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์ ต่างๆ ตั้งแต่สมัยทำงานอยู่ที่แบร์ริ่ง รี-เสิร์ช เพราะส่วนหนึ่งของการอยู่ในวงการธุรกิจตลาดทุนทำให้เขากล้าเสี่ยง นิสัยนี้ได้ซึมซับเข้าไปในตัวเขา แต่เป็นไปในลักษณะบทเรียนที่เห็นอยู่ทุกวัน หมายถึงรู้ความเสี่ยงในการเข้าไปซื้อขาย หุ้น สามารถคาดคะเนได้ และเมื่อถึง จุดหนึ่งเขาสามารถหาทางออกได้

"สมัยที่อยู่แบร์ริ่ง รีเสิร์ช ผมได้สัมผัสกับนักลงทุนตลอดเวลา ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ดีมาก อีกทั้งมีนักลงทุน มาเยี่ยมสำนักงานในกรุงเทพฯ ปีละประมาณ 200 กลุ่ม ยังไม่นับการออกไปโรดโชว์ในต่างประเทศ ถือว่าเป็นประสบการณ์การทำงานที่ดีมากช่วงหนึ่งทีเดียว" ดร.ก้องเกียรติกล่าวถึงบรรยากาศในอดีต

เบ้าหลอมชีวิต

ดร.ก้องเกียรติ เกิดในครอบ ครัวนักธุรกิจ พ่อของเขาทำงานในวงการประกันภัย และชิปปิ้ง แม่เป็นแม่บ้าน ซึ่งถือเป็นครอบครัวชนชั้นกลางของสังคมไทย ในวัยเด็กเขาเป็น นักเรียนที่เรียนดีของโรงเรียนอัสสัมชัญ (บางรัก) จากนั้นเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งเป็นสถานศึกษาที่หลายๆ คนใฝ่ฝันอยากจะเข้าไปสัมผัส ความที่เป็นคนเรียนเก่ง ประกอบกับเป็นลูกคนโต ทำให้เขาพยายามตั้งใจเรียนเพื่อให้น้องๆ สบาย

"สมัยเด็กสิ่งที่จะทดแทนหรือทำให้คุณพ่อคุณแม่สบายใจได้มีอย่างเดียว คือ ตั้งใจเรียน" ดร.ก้องเกียรติ เล่าถึงความคิดในช่วงวัยเด็กให้ "ผู้จัดการรายเดือน" ฟัง เรียกว่าความคิดเติบโตมากกว่าอายุก็ไม่ผิดนัก

จากนั้นได้เข้าไปศึกษาระดับปริญญาตรีในรั้วจามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาวิศวกรรม คอม-พิวเตอร์ จบปริญญาตรีด้วยเกียรตินิยม อันดับ 1 เหรียญทอง จากนั้นเข้าทำงาน ที่ธนาคารกสิกรไทยและได้รับทุนไปศึกษาต่อด้านบริหารธุรกิจหรือ MBA ที่ Wharton School มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา ศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอกด้าน Operation Research มหาวิทยาลัย เดียวกัน และที่นั่นเขาก็ได้รับเกียรตินิยมอันดับ 1 และเกียรตินิยมเบตา แกมมา และซิกมา บ่งบอกถึงความเป็นเลิศทางการศึกษาของเขา

ขณะที่ศึกษาอยู่ที่อเมริกา ดร.ก้องเกียรติได้รับการฝึกฝนการทำงานอย่างโชกโชน ทั้งการเป็นที่ปรึกษาโครงการภาครัฐและเอกชน เช่น กระ-ทรวงกลาโหม กระทรวงศึกษาธิการของอเมริกา บริษัทเบียร์ในเม็กซิโก นักวิจัยอาวุโสและที่ปรึกษา Wharton Applied Center และเคยผ่านการเป็นที่ปรึกษาของ Booz Allen Hamilton และ AT&T มาแล้ว

"ปกติสถาบันเหล่านี้จะใช้บริการ ของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว เพราะมีความ เป็นกลาง ช่วงที่กำลังศึกษาก็ได้โครงการของรัฐบาลเยอะมาก ภายใต้ศูนย์วิจัยของมหาวิทยาลัย เขาต้องจ้างนักศึกษามาทำโครงการให้ คล้ายๆ กับทำ หน้าที่เป็นที่ปรึกษา ซึ่งได้ประสบการณ์ ดีมากแต่หนักไปทางงานวิจัยทางด้านการตลาด" ดร.ก้องเกียรติ เล่า

หลังจากสั่งสมประสบการณ์ในต่างแดนจนเต็มที่แล้ว ดร.ก้องเกียรติเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อใช้ทุนที่ธนาคารกสิกรไทย (TFB) เมื่อปี 2527 ในตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าส่วน ส่วนส่งเสริมธุรกิจฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ดูแลงานด้านวิเคราะห์สินเชื่อ ซึ่งจุดนี้คือจุดเริ่ม ต้นของ ดร.ก้องเกียรติ ในสายงานธุร- กิจการเงิน และขณะที่เขากำลังก้าวหน้า ในสายงาน ดร.ก้องเกียรติ ก็ถูกผลักดันจากความทะเยอทะยานของตัวเองให้เข้ามาทำงานกับบริษัทต่างชาติ แบร์-ริ่ง รีเสิร์ช (สำนักงานกรุงเทพฯ) หลัง ทำงานที่ TFB ได้เพียง 4 ปี ตำแหน่ง สุดท้ายใน TFB ของ ดร.ก้องเกียรติ คือ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร ที่ดูแลงานตลาดบัตรพลาสติกทุกชนิด

อย่างไรก็ดีกว่าจะตัดสินใจออก มาทำงานให้กับแบร์ริ่งฯ ต้องใช้เวลานานถึง 6 เดือน "เพราะยังไม่รู้จักบริษัท นี้ดีพอและไม่เคยได้ยินมาก่อน" ซึ่งเขาถือว่าเป็นความเสี่ยงมากพอสมควร ในการเดินออกจาก TFB แต่นั่นไม่เป็น อุปสรรคที่จะสามารถฉุดรั้งให้ดร.ก้อง-เกียรติอยู่ต่อไปได้ เนื่องจากความสนใจส่วนตัวต่อธุรกิจ คือ เขาเป็นคนชอบเล่นหุ้นและสนใจธุรกิจค้าหลักทรัพย์

เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2531 ผู้บริหารงานขายคนหนึ่งของแบร์ริ่ง ซีเคียวริตี้ ฮ่องกง ได้มีโอกาสรับรู้ถึงความสามารถของ ดร.ก้องเกียรติ ในธุรกิจค้าหลักทรัพย์ เพราะดร.ก้อง-เกียรติเองนั้นนอกจากหน้าที่หลักในการทำงานที่ TFB แล้ว เขายังมีหน้า ที่ติดต่อประสานงานกับนักลงทุนหรือสถาบันการเงินต่างประเทศด้วย ทำให้ เขารู้จักนักลงทุนเหล่านี้มาก ในที่สุดเดือนกรกฎาคม ปี 2532 ดร.ก้องเกียรติ กลายเป็นเจ้าหน้าที่บริหารระดับ Chief Representative คนแรกของแบร์ริ่ง รีเสิร์ช ในกรุงเทพฯ "เมื่อถึงจุดจุดหนึ่งคนเราต้องมีการเปลี่ยนแปลง" คือ สิ่งที่เขาตัดสินใจออกมาทำงานในสิ่งที่ตนเองใฝ่ฝัน และการที่เขาได้มานั่งตำแหน่งสูงสุดนับว่าเป็นคนไทยคนแรกที่ผู้บริหาร ธุรกิจหลักทรัพย์ระดับมืออาชีพของโลกอย่าง Christopher Heath ผู้บริหารระดับสูงในแบร์ริ่ง ซีเคียวริตี้ ลอนดอน ยอมรับในฝีมือ

ลักษณะการทำงานของสำนักงาน ตัวแทน แบริ์ริ่ง รีเสิร์ชในระยะแรกคือ จัดหาข้อมูลภาวะการค้าหุ้นและบรรยา-กาศการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และ ส่งรายงานข้อมูลเหล่านี้ไปให้ นักลงทุนในประเทศที่แบร์ริ่งเปิดดำเนินการ ใน ทุกๆ เช้าเขาต้องรายงานให้เทรดเดอร์ในฮ่องกงทราบถึงความเคลื่อนไหวภาวะ ตลาดหุ้นในประเทศไทย ช่วงบ่ายคุยกับ เทรดเดอร์ที่ลอนดอน พอตกค่ำยกหูโทรศัพท์คุยกับดีลเลอร์ที่นิวยอร์ก นี่คือกิจวัตรประจำวันของ ดร.ก้องเกียรติ ซึ่งเป็นหน้าที่ของนักวิจัยหุ้นระดับมืออาชีพในบริษัทหลักทรัพย์ระดับโลก

ก่อกำเนิด แอสเซท พลัส

ประสบการณ์ 4 ปีเต็ม ในแบร์ ริ่ง รีเสิร์ช ที่เริ่มด้วยการเป็นตัวแทนของแบริ่งฯ ติดต่อกับนักลงทุนต่างๆ ตั้งแต่มีรถ 1 คันมือถือ 1 เครื่อง จนในที่สุดมาเช่าพื้นที่สำนักงานสาธรธานี และสร้างชื่อเสียงให้แบร์ริ่งฯ เป็นที่รู้จักในแวดวงนักค้าหุ้นในตลาดหุ้นไทย มีทีม นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่มีฝีมือและมีผลงานวิจัยหลักทรัพย์ที่น่าเชื่อถือ ชีวิตของ ดร.ก้องเกียรติ เปลี่ยนแปลง ครั้งใหญ่ที่สุดเมื่อตัดสินใจออกมาก่อตั้ง บล.แอสเซท พลัส โดยมีผู้ร่วมก่อตั้งสำคัญ คือ อนันต์ อัศวโภคิน แห่งแลนด์แอนด์เฮ้าส์ (L&H) และผู้บริหาร กองทุน Swiss Fund (ปัจจุบันสัด ส่วนผู้ถือหุ้น บล.แอสเซท พลัส ได้แก่ดร.ก้องเกียรติ 30%, L&H 27%, BBL และ ชาตรี โสภณพนิช 25%, ผู้ถือหุ้น รายย่อยและสถาบันต่างชาติ 2 แห่ง 18%) แต่ด้วยนิสัย conservative เขาไตร่ตรองอยู่นานพอสมควร แม้ว่าใจหนึ่งยังประทับใจการทำงานในแบร์ริ่ง รีเสิร์ช อยู่

"ช่วงออกจากแบร์ริ่ง รีเสิร์ช เป็นจังหวะโชคดี ที่ว่ามันเอื้ออำนวยและถึงจุดอิ่มตัว เมื่อเราสามารถสร้างองค์กรให้แข็งแรงแล้วทุกอย่างก็ตัน คุณกินเงินเดือนเท่าไหร่ก็รู้อยู่แล้ว มัน ไม่มีความตื่นเต้นอีกต่อไป และเราก็ไม่ได้หวังไปเป็นผู้บริหารสำนักงานในประเทศอื่น อีกทั้งมีคนมาชวนตั้งบริษัทซึ่งเราก็ยอมรับว่าคนที่มาชวนเป็นพวกที่เห็น อะไรมามาก ประกอบกับผมชอบเป็นนายตัวเอง เคยเขียนหนังสือให้คนอื่นอ่านเมื่อถึงจุดหนึ่งก็ต้องปฏิบัติเองด้วย" ดร.ก้องเกียรติกล่าว

กำเนิดของ บล.แอสเซท พลัส เกิดจากได้รับมอบหมายจากกรรมการชุดเดิมของ บล.ชาวไทย ให้เข้าฟื้นฟูกิจการ โดยเสนอแผนฟื้นฟูต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จนได้รับอนุมัติ จากนั้น บล.ชาวไทย เปลี่ยนมาเป็น บล.แอสเซท พลัส ด้วยเงินเพียง 500 กว่าล้านบาท เงินจำนวนดังกล่าวส่วนหนึ่งก็มาจากการ take risk ของ ดร.ก้องเกียรติ ในปี 2536 ซึ่งเป็นปีที่ตลาดหุ้นไทยบูมสุดๆ สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น(return on equity) สูงถึง 100% ภายในระยะ เวลาปีเดียว ซึ่งเป็นฐานให้กับ ดร.ก้อง- เกียรติ ในการนำเงินผลกำไรดังกล่าวมาซื้อ บล.ชาวไทย

จากประสบการณ์ของ ดร.ก้อง-เกียรติที่เคยผ่านวิกฤติการณ์ตั้งแต่ยุค oil shock ดัชนีดาวโจนส์เคลื่อนไหวที่ระดับไม่กี่ร้อยจุด สมัยที่ศึกษาอยู่อเมริกา แม้กระทั่งกลับมาเมืองไทยยังเจอเหตุการณ์แบล็กมันเดย์ ทำให้เขาเป็นคนที่มีการปรับตัวได้อย่างรวด เร็วและมีจิตใจมั่นคงมากในเรื่องการลงทุน เขามีแนวคิดอนุรักษนิยมแต่ยินดีเสี่ยงลงทุนเมื่อพิจารณาว่าจะได้ผลตอบแทนคุ้มค่าแม้ในจังหวะนั้น

"ช่วงออกมาตั้งบริษัททุกอย่างไม่จำเป็นต้องมีความมั่นใจ 100% แต่ความมั่นใจระดับหนึ่งเราต้องทำได้" ดร.ก้องเกียรติ กล่าว

ผลงาน เป็นสิ่งที่จับต้องได้

ความที่เป็นนักอนุรักษนิยมของ ดร.ก้องเกียรติ บล.แอสเซท พลัส จึง มีทิศทางไปในลักษณะค่อยๆ เติบโต ทำเฉพาะธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญ อีกทั้งไม่ทำอะไรที่ใหญ่โตมโหฬาร เพราะ เขาชอบที่จะเป็น niche market pla-yer ทำในสิ่งที่ถนัดและมีคู่แข่งน้อย สิ่งที่ว่านั้นคือธุรกิจด้าน วาณิชธนกิจ (investment bangking : IB) ซึ่งถือ เป็นงานที่ ดร.ก้องเกียรติถนัดและมีความชำนาญมากที่สุด บรรดาผู้ที่อยู่ในวงการการเงินยอมรับในฝีมือด้านนี้ของเขา "ถ้าเทียบงานด้านวาณิชธนกิจหนึ่งต่อหนึ่งแล้ว ดร.ก้องเกียรติ ถือว่าเก่งที่สุดและไม่มีใครกินเขาลง ไม่ว่าจะเป็นต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในเมืองไทยหรือคนไทยด้วยกันเอง" และ ถือได้ว่า ดร.ก้องเกียรติ เป็นผู้บุกเบิก งานด้านวาณิชธนกิจคนแรกๆ ของเมืองไทยที่แยกตัวออกมาก่อตั้งบริษัทของตนเองหลังจากสร้างฝีมือและชื่อเสียงมาช่วงหนึ่ง และงานด้านนี้ไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนมากก็สามารถทำได้ "เพราะงานวาณิชธนกิจเป็นเรื่องของฝีมือ และความสามารถเฉพาะตัว" ปัจจัยสำคัญคือบุคลากร

แน่นอนสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ดร. ก้องเกียรติ มีพร้อม รวมทั้งสาย สัมพันธ์ที่ดี ความรู้ความสามารถทางการเงิน ทีมงานที่แข็งแกร่ง การรักษา ความลับของลูกค้าเป็นเครื่องชี้ขาดความ สำเร็จของวาณิชธนกิจที่มีขอบข่ายงานหลักๆ คือ สายงาน IPO ซึ่งเป็นงานที่ รับผิดชอบในการเป็นที่ปรึกษาทำดีล ทำ Filing งานควบกิจการ (M&A) และสายงานที่ปรึกษาทางการเงินของ ดีลทั่วๆ ไป

"สิ่งที่เราถนัดคือการประสานหาผู้ร่วมทุน หาผู้ซื้อขายหรือแนะนำและจัดการด้านการเงินมากกว่า เราคงไม่เข้าไปร่วมทุนหรือบริหารกิจการนั้นเอง" ดร.ก้องเกียรติ เคยกล่าวไว้กับ "ผู้จัดการรายเดือน" ปี 2537 และนับจากนั้นเป็นต้นมาเขาคือวาณิชธนากรที่หาตัวจับยากคนหนึ่ง ที่สามารถสร้าง บล.แอสเซท พลัส และทำกำไรเลี้ยงตัวเองได้ในฐานะ "มืออาชีพ" หลังจากเป็นเพียงแค่ "ลูกจ้าง" คนหนึ่งของ TFB และแบร์ริ่ง รีเสิร์ช เพียงแค่ 8 เดือน ภายหลังจากการซื้อกิจการ บล.ชาวไทย เขาสามารถทำให้ บล.แอสเซท พลัส มีกำไรสุทธิในปี 2538 ถึง 37 ล้านบาท

ผลงานที่ดร.ก้องเกียรติสร้าง สรรค์ขึ้นมีความโดดเด่น และสูตรที่สร้างชื่อเสียง อย่างงดงามให้เขา คือ เน้นรับงานเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ๆ เท่านั้น ประเภท "เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ทำ" ซึ่งทำแล้วต้องได้ทั้งเงินและกล่อง

ที่ผ่านมาผลงานที่ ดร.ก้อง-เกียรติ รังสรรค์ขึ้นมาได้อย่างสมบูรณ์ อาทิ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์ฯ ให้กับ บมจ.เดอะ โคเจนเนอเรชั่น (COCO) หรือ บมจ. สยามสปอร์ต ซินดิเคท (SSPORT) ในปลายปี 2538 และที่คึกคักมากที่สุด คงหนีไม่พ้นการจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุนของ บมจ.บีอีซี เวิลด์ (BEC) ให้ประชาชนทั่วไป เมื่อกลางปี 2539

สำหรับดีล M&A ถือว่าเป็นหัวใจของงานด้านวาณิชธนกิจของ ดร. ก้องเกียรติ เพราะเป็นธุรกิจที่มีความชำนาญเป็นพิเศษ และผลงานการ ผนวกกิจการเซ็นทรัล-โรบินสัน ที่มีมูล ค่าสูงถึง 2.2 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2538 คือความสำเร็จอย่างสวยหรูและนับเป็นดีลที่สร้างรายได้ให้กับเขามากที่สุด

"เราต้องคืบคลานขึ้นมาจากศูนย์ มีแต่ความเชื่อถือที่ลูกค้ามีให้ต่อเราตั้ง แต่ก่อตั้งบริษัทมาผมว่าเรามีดีลดีๆ กว่า 30 ดีล และดีลเล็กๆ เราไม่ทำเสียเวลา"

ด้านงานวิเคราะห์วิจัยหลักทรัพย์ ที่ผ่านมาดูเหมือนว่า ดร.ก้องเกียรติ จะไม่เน้นการทำวิจัยในลักษณะ "ปูพรม" เหมือนบริษัทหลักทรัพย์อื่นๆ แต่กลับเน้นวิจัยเฉพาะบางบริษัทที่น่าสนใจเท่า นั้น อีกทั้งการรับออร์เดอร์เฉพาะ wholsale หรือลูกค้าประเภทสถาบันเท่านั้น "ในช่วงก่อนวิกฤติเราถามตัวเองว่า เมื่อเราได้บริษัทหลักทรัพย์มาแล้วจะทำธุรกิจให้เหมือนคนอื่นหรือไม่ คำตอบคือ ไม่ บริษัทอื่นเข้าไปจับลูกค้ารายย่อย เปิดห้องค้าต่างจังหวัดเรา มีลูกค้าสถาบัน ซึ่งจุดแข็งเราอยู่ตรงนั้น และเนื่องจากเราไม่ได้จับลูกค้ารายย่อย margin loan ก็ไม่เอา ถึงแม้มีมา เราก็ไม่ให้และไม่มีความหมายต่อเรา"

ดร.ก้องเกียรติ จึงเป็นเจ้าแรกที่ประกาศว่าเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่ไม่มีห้องค้าให้นักลงทุนรายย่อยมานั่ง แนวความคิดของเขา คือ ใช้โทรศัพท์อย่างเดียว "เพราะเชื่อว่าลูกค้าที่มีคุณภาพส่วนใหญ่ไม่มานั่งเฝ้าหน้าจอพวก ที่มามีเป้าหมายเพื่อสังสรรค์หรือมารวม กลุ่มนั่งจิบกาแฟหรือเทรดเพื่อความสนุกสนานมากกว่า พวกนี้จึงไม่ใช่ target group ของเรา และลูกค้าประเภทนี้ไม่ค่อยเชื่อฟังนักวิเคราะห์ดังนั้นลูกค้าของเราจึงมีแต่สถาบันพวกที่มีการศึกษาเท่านั้น และเชื่อนักวิเคราะห์ ด้วย"

HOW TO SURVIVE?

ในขณะที่ธุรกิจไทยยังกรุ่นไปด้วยความไม่แน่นอน กระแสการแข่งขันแย่งชิงความเป็นหนึ่งมีอย่างต่อเนื่อง ดูเหมือนว่า "คุณภาพ" เป็นปัจจัยชี้ขาด ว่าธุรกิจใดจะทะยานขึ้นสู่ระดับแนวหน้าได้ ช่วงเหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทสัญชาติไทยหลายๆ แห่ง ได้เปิดให้เห็นถึง "ความ ไม่มีคุณภาพ" กันอย่างเต็มที่ และในเวลานี้บริษัทเหล่านั้นพยายามที่จะปิดช่องว่างความไม่มีคุณภาพกันอย่าง ทุลักทุเล เห็นเด่นชัดคงหนีไม่พ้นธุรกิจธนาคารและสถาบันการเงิน ขณะเดียวกันก็ยังมีหลายๆ บริษัทที่แสดงออกถึงความมีคุณภาพ หนึ่งในนั้นคือ บล.แอสเซท พลัส ที่มีแม่ทัพ อย่าง ดร.ก้องเกียรติ ซึ่งอิทธิพล ทางความคิดของเขาเป็นประโยชน์ต่อการกระจายรายได้ ทรัพย์สิน และโครงสร้างแห่งอำนาจ ที่นำไปสู่ความก้าว หน้าทางธุรกิจ และสามารถยืนอยู่เหนือ ซากปรักหักพังทางเศรษฐกิจได้อย่างสวยงามเป็นที่อิจฉาของคนทั่วไป

บล.แอสเซท พลัส เติบใหญ่พร้อมเม็ดเงินที่พอกพูน ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะยอดกำไรที่กระเตื้องขึ้น แต่ต้อง ทำควบคู่ไปกับการเพิ่มรายได้ด้วยการคิดค้นสินค้าใหม่ๆ มาทดแทนสินค้าเก่าๆ ที่จางหายไปกับภาวะเศรษฐกิจ กลเม็ดเหล่านี้มีอยู่ในตัว ดร.ก้องเกียรติ เพราะพลันที่เศรษฐกิจล่มสลาย บรรดา ไฟแนนซ์ต่างๆ ที่เติบโตมาจากฟองสบู่ออกอาการซวนเซ รายได้เริ่มฝืด ขณะ ที่ บล.แอสเซท พลัส กลับมีดีลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

"ปัจจุบันดีล IPO เริ่มหดหายไป แต่กลายเป็นว่าเราได้ดีลเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้เข้ามา เวลานี้มีถึง 6 ดีล มูลค่า 600-700 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วน M&A ล่าสุดที่เพิ่งจบไป คือ บมจ.ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่นโปรดักส์รวมกับ บมจ.สงขลาแคนนิ่ง หรือการเป็นที่ปรึกษาให้กับลูกค้าในการซื้อหุ้นของโรงแรมรีเจ้นท์ แม้กระทั่งได้เป็นที่ปรึกษาการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้กับการบินไทยด้วย ซึ่งโชคดีเมื่อลูกค้ารูปแบบหนึ่งหายไปก็จะมีอีกแบบหนึ่ง เข้ามา" ดร.ก้องเกียรติ กล่าว

นอกจากนี้ส่วนที่สนับสนุนและเป็นพลังขับเคลื่อนให้ บล.แอสเซท พลัส กระโจนไปข้างหน้า คือ ทีมงานที่แข็งแกร่ง แม้ว่าปัจจุบันจะมีพนัก งานบริษัทเพียง 80 คน ดร.ก้องเกียรติ กล่าวว่า นี่คือมูลค่าอันแท้จริงในการทำธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์ "เงินใครๆ ก็มี พวกสถาบันที่อยากเข้ามาลงทุนเขาก็มีเงินทั้งนั้น ธุรกิจนี้มูลค่าอยู่ที่คนมากกว่า ส่วนอื่นๆ ไม่มีความหมาย เพราะการลงทุนของบริษัทไม่มีเครื่องจักร มีแต่คอมพิวเตอร์และมันสมองของคนที่จะนำดีลเข้ามา"

ด้านการบริหารของ บล.แอสเซท พลัส ไม่ผิดนักที่จะบอกว่าเป็นศูนย์รวมมืออาชีพที่มีประสบการณ์ซึ่ง ทีมงานประมาณ 10% เป็นคนอังกฤษและอเมริกาที่เข้ามาร่วมงาน ดร.ก้องเกียรติบริหารงานได้อย่างลงตัว ซึ่งทีมงานบางคนเขายอมลงทุนบินไปสัมภาษณ์ด้วยตัวเองที่อเมริกาเพื่อดึงเข้ามาทำงานให้กับ บล.แอสเซท พลัส อีกทั้งหลังจากบริษัทเริ่มเติบโต ดร.ก้องเกียรติพยายามเปลี่ยนสไตล์การทำงานจาก one man show มา เป็นบริหารแบบกระจายอำนาจให้มากขึ้น

"เราต้องการสร้างเครือข่ายให้กว้างขึ้น คือ ทำงานแบบตัวคนเดียวอีกต่อไปไม่ได้ จุดหนึ่งที่พยายามสร้าง คือ สร้างบุคลากรให้มีคุณภาพมากๆ หลายๆ กลุ่ม หลายๆ ฝ่ายเพื่อภาพ พจน์ของบริษัทจะได้ไม่มีเฉพาะตัวผมคนเดียว" เนื่องจากเชื่อว่าการปรับทิศทางการบริหารงานจะช่วยให้การดำเนินงาน เป็นไปอย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น รวมทั้งสามารถแข่งขันกับตนเองในแง่ความอยู่รอดและแข่งขันกับตลาดในช่วงที่มีการแข่งขันสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ดีจากความเป็นผู้มีความคล่องแคล่ว ตัดสิน ใจอย่างรวดเร็วบางครั้งทีมงานตามเขาไม่ทัน "เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าอยู่นานๆ จะรู้จักนิสัยของผม"

ปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ส่งให้ ดร. ก้องเกียรติ นำ บล.แอสเซท พลัส ฝ่าฝันอุปสรรคแห่งวิกฤติเศรษฐกิจออกไปได้ คือ การสร้างรากฐานไว้อย่างแข็งแกร่งและการมองเห็นถึงช่องว่างในตลาดที่ จะเข้าไปทำธุรกิจ นั่นคือดำเนินธุรกิจเฉพาะด้าน (niche market) ที่มีความถนัดและมีคู่แข่งน้อยราย และเมื่อคู่แข่งมากขึ้นก็จะย้าย ไปทำธุรกิจเฉพาะด้านอื่นๆ ที่คู่แข่งมองไม่เห็นต่อไป ไม่ว่าจะเป็นที่ปรึกษา ด้านการแปรรูปองค์กร ล่าสุดเพิ่งได้ทีม งาน private banking จากธนาคาร กรุงเทพ (BBL) 3 คน มาดูแลธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล (private fund) ที่กำลังขอใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. อยู่

"ทีมนี้ก็จะดึงลูกค้าเข้ามาเลย ส่วนธุรกิจอื่นๆ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเราไม่ทำเพราะสู้พวกที่ทำอยู่ก่อนแล้วไม่ได้ คือ อะไรที่เราสู้ไม่ได้เราไม่ทำ เสียเวลา เนื่องจากว่าโอกาสทำธุรกิจในบ้านเรามีมาก หันไปทางไหนก็มีแต่โอกาสถ้าคนดูเป็น แต่ถ้าดูไม่เป็นก็มืดไปหมด" ซึ่งแนวความคิดในลักษณะนี้ทำให้ บล.แอสเซท พลัส ยืนหยัดอยู่รอดในตลาดที่มีการแข่งขันสูงได้

บ้างาน

สไตล์ของนักเรียนนอกบวกกับ ความเป็นคนหัวดีเรียนเก่งเป็นทุนเดิม ทำให้ ดร.ก้องเกียรติ เป็นคนมั่นใจใน ตัวเองสูง ประกอบกับความทะเยอ ทะยานในการเป็น "เถ้าแก่" อันแรงกล้า เขาจึงมุ่งมั่นว่าสักวันหนึ่งจะต้องเป็นนายของตัวเองให้ได้ โดยเนื้อแท้เขามา จากครอบครัวนักธุรกิจ ภาพลักษณ์ที่ผ่านมาของ ดร.ก้องเกียรติ จึงเข้าขั้น "บ้างาน" ซึ่งคนในแวดวงตลาดทุนไทย ให้คำจำกัดความเขาว่า "งาน คือ ชีวิต"

สำหรับ ดร.ก้องเกียรติแล้วงาน จะต้องมาก่อนเรื่องส่วนตัว เขาเป็นคนที่ละเอียดอ่อนต่อเรื่องส่วนตัวหรือครอบครัว ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยที่ไม่มีใครรู้ว่า เพื่อนสนิทของเขาคือใคร เพราะโดยส่วนตัวแล้วเขาไม่ค่อยชอบสังสรรค์ "สิ่งที่ผมสั่งไว้กับเลขาฯ คือ ไม่รับ dinner ใครทั้งนั้น และถ้าไม่จำเป็นจะไม่รับ breakfast ด้วย" ดร.ก้องเกียรติเล่าถึงความเป็นส่วนตัวของเขา

แน่นอน คนประเภทบ้างานอย่างดร.ก้องเกียรติ ย่อมต้องเป็นคนที่ "เขี้ยว" ที่สุดสำหรับการทำงาน ดังนั้น คนที่ทำงานร่วมกับเขาจะต้องตามให้ทัน "อย่างเช่น เขานำคนจากโบรกเกอร์ ต่างประเทศเข้ามาทำงานเยอะมาก เขาย่อมรู้เกมในสิ่งที่เขาทำดีที่สุด และมี connection ครบถ้วน ลักษณะการทำงานคล้ายๆ โกลด์แมน แซกส์"

อย่างไรก็ดี ด้วยความเป็นผู้มีชื่อเสียง ประกอบกับเป็นคนเงียบๆ และไม่ใช่ตระกูลคนดัง แต่อาศัยพื้นฐานการศึกษาสูง และประสบความสำเร็จในธุรกิจการเงิน แน่นอน ย่อมมีคนอิจฉาเป็นธรรมดา "ผู้ใหญ่บางคน ในวงการเงินชอบเขา บางคนก็ไม่ชอบ" คำบอกเล่าของนักการเงินรายหนึ่ง

การประกาศนโยบายการดำเนิน ธุรกิจของเขา "ดีลเล็กๆ เราไม่ทำเพราะ เสียเวลา" หมายความว่าดีลขนาดเล็กเมื่อทำไปแล้วผลตอบแทนกลับมาไม่คุ้มกับค่าเหนื่อย คือ สิ่งบ่งบอกถึงความมั่นใจในความสำเร็จของดีลที่ทำได้ระดับหนึ่งทีเดียว

แม้เมื่อถามถึงการหาพันธมิตรทางธุรกิจเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งให้ บล.แอสเซท พลัส คำตอบที่ได้จากเขา คือ การปฏิเสธนักลงทุนเหล่านั้นโดยเฉพาะต่างประเทศ "การที่เราไม่ถูกครอบงำ กลายเป็นว่าเราได้ประโยชน์ เพราะบริษัทแบบเรา ที่เหลืออยู่และเป็นอิสระในประเทศไทยมีกี่แห่ง? และ สามารถทำงานในระดับสากลได้แทบไม่มีเหลืออยู่เลย ฉะนั้นเราถึงทำดีลกับทุกคนได้ บางครั้งก็มีต่างชาติเข้ามาทาบทามร่วมทุนกับเรา แต่บางครั้งก็ไม่เกิดประโยชน์ ซึ่งผมรู้สึกว่าถ้าเข้ามาก็มาเอาบริษัทผมไปเลย ผมจะออก ไปตั้งบริษัทใหม่"

บางครั้งก็เป็นเรื่องแปลกประ-หลาดเหมือนกันสำหรับธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์ที่หลังจากดำเนินธุรกิจไป ระยะหนึ่งแล้วก็จะดันตัวเองเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่สำหรับ ดร.ก้องเกียรติ ปัจจุบันเขากำลังนึกเหตุ ผลว่าถ้านำ บล.แอสเซท พลัส เข้าตลาดฯ แล้วจะนำเงินจากการระดมทุน ไปทำอะไร "เพราะเงินเรามีอยู่แล้ว"

อย่างไรก็ตามเมื่อถึงเวลาหนึ่งทุกคนต้องการการพักผ่อน ดร.ก้องเกียรติ ก็เช่นเดียวกัน ปัจจุบันเขาอายุ 43 ปี และสิ่งที่เขาอยากเห็นมากกว่าการวางมือ คือ เห็นบริษัทที่เขาปั้นมากับมืออยู่ได้โดยที่ไม่มีเขา แค่นี้ก็เพียง พอแล้ว ขณะนี้เขาไม่สามารถวางมือได้ "บางครั้งผมต้องลงไปลุยงานด้วยตัวเองเพราะลูกค้าบางคนติดผม จะต้องให้ลงไปเจรจาด้วยตัวเองจึงจะยินยอม"

แม้เขาจะเปรยๆ ว่าอยากจะรีไทร์ เพื่อไปทำในสิ่งที่อยากทำ คือ นอนอ่านหนังสือ แต่จากสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเขาคงต้องเป็นแม่ทัพให้ บล.แอสเซท พลัส ต่อไปอีกหลายปีทีเดียว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.