ธุรกิจโรงเรียน อย่าถามเรื่องเวลาการคืนทุน


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

หลังจากทำดีลสำคัญ คือขาย สนามกอล์ฟอัลไพน์กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับให้กับทางบริษัทแอสซี แอสเซ็ท ของดร.ทักษิณ ชินวัตร เรียบร้อยแล้ว วันนี้พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ก็ได้หันมาใช้เวลาทั้งหมดให้กับโรงเรียนนานาชาติเกศินี ซึ่งเพิ่งเปิดทำการสอนไปเมื่อกลางปี 2541

นับว่าเป็นโรงเรียนนานาชาติอีกแห่งหนึ่งที่ได้มีการเตรียมงานทุกอย่างพร้อมไว้หมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็น การลงทุนทางด้านอาคารเรียน อุป-กรณ์การเรียนการสอน และบุคลา-กร แต่ในขณะที่ยังไม่ได้ทำการเปิดสอน ต้องเจอกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกรวมทั้งเหตุการณ์ค่าเงินบาท ลอยตัว การปิดสถาบันการเงินใน เมืองไทย แน่นอนสิ่งเหล่านี้มันย่อม กระทบโดยตรงต่อกลุ่มลูกค้าเป้าหมายซึ่งก็คือบรรดาลูกหลานในครอบครัวของ บรรดาเศรษฐีที่เคยร่ำรวยและชาวต่างชาติที่ถูกว่าจ้างเข้ามาทำธุรกิจในไทย

รวมทั้งผู้ประกอบการเอง ที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในเรื่องต่างๆ เพิ่มขึ้นพร้อมกับกลุ่มลูกค้าหดหายไป

ก่อนหน้าที่จะมาทำธุรกิจโรงเรียนทางพงษ์ศักดิ์เองก็ได้มีการศึกษาพบว่า โรงเรียนนานาชาติที่มีส่วนใหญ่ตกอยู่ใน ภาวะขาดทุนแทบทั้งสิ้นดังนั้นพอเอ่ยปากว่าจะสร้างโรงเรียนทีไร ทางเพื่อนฝูงหรือญาติพี่น้องใกล้ชิดก็ต่างพากันห้ามเอาไว้ทุกครั้งไป

"โรงเรียนคือธุรกิจที่ทำแล้วขาดทุน เป็นธุรกิจที่นายธนาคารไม่อยากคุยด้วย เป็นธุรกิจที่รัฐบาลหลายยุคหลายสมัยให้ความสำคัญเหมือนลูกเมียน้อย"

พงษ์ศักดิ์เล่าให้ฟัง แต่เขาก็ยังยืนยันที่จะทำ ส่วนหนึ่งที่เขาต้องการทำธุรกิจโรงเรียน ก็เพราะว่าในขณะนั้นตนเองกำลังมีลูกเล็กๆ และวางแผนอยากให้ลูกศึกษาในระบบโรงเรียนนานาชาติ แต่ไม่อยากส่งลูกไปเมืองนอก ต้องการให้ลูกสัมผัสคลุกคลีกับวิถีชีวิตแบบไทยๆ มากกว่า เพราะมั่นใจว่าถึงอย่างไรเมื่อโตขึ้นลูกก็ต้องกลับมาทำธุรกิจที่เมืองไทย

แต่จุดสำคัญที่สุดในการตัดสินใจอยู่ตรงที่ว่าได้สนใจกับระบบการศึกษาในเมืองไทยมานาน หลังจากที่พบว่านักศึกษาที่จบปริญญาตรีหรือปริญญาโทหลายคน ที่เข้ามาร่วมงานในบริษัทของเขาถึงแม้จะมีคะแนนดีๆ ประดับติดตัวกันมา แต่จะมีบุคลิกที่ไม่กล้าแสดงออกไม่กล้าแสดงความคิดเห็น และทำงานด้านวิเคราะห์วิจัยได้ไม่ดีเท่าที่ควร

เมืองไทยยังมีระบบการศึกษาแบบเดิมๆ ที่ทำให้เด็กไม่กล้าแสดงออกเป็นสิ่งที่เขาเคยสรุปไว้ แล้วยังมีคำถามของตนเองอีกว่าถ้าบ้านเรายังมีระบบ การศึกษาแบบเดิมแล้วเด็กเราจะตามทันโลกหรือไม่

นั่นคือความตั้งใจ ประกอบกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมของเขาอยู่ในช่วงที่กำลังซบเซาก็เลยตั้งใจจะหยุดพัฒนาที่ดิน แล้วมารุกธุรกิจโรงเรียนอย่างจริงจัง และเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงเลยชักชวนเพื่อนฝูงที่เป็นเศรษฐีหลายคนซึ่ง มีแนวความคิดเห็นตรงกัน ในเรื่องระบบการศึกษาของเมืองไทยมาร่วมเข้าหุ้น โดยใช้ที่ดิน 16 ไร่ ในหมู่บ้านเกศินีวิลล์ ย่านห้วยขวางซึ่งเป็นที่ดินดั้งเดิมที่ซื้อไว้เมื่อประมาณ 20 กว่าปีก่อน สมัยทำโครงการบ้านจัดสรร โครงการแรกในปี 2528

ดังนั้นพงษ์ศักดิ์จึงอาจจะแตกต่างกับเจ้าของโรงเรียนบางแห่งซึ่งเป็นนักจัดสรรที่ดิน และสร้างโรงเรียนขึ้นมาเพื่อหวังที่จะขายโครงการที่อยู่อาศัยซึ่งอยู่รอบๆ เพราะโครงการในหมู่บ้านเกศินีนั้นขายไปหมดนานแล้ว

โรงเรียนนานาชาติเกศินีได้ทำข้อตกลงกับ วอชิงตัน อินเตอร์แนชั่นแนล สคูล (WIS) ซึ่งเป็นโรงเรียนนานาชาติที่เมืองวอชิงตัน ดี.ซี.ให้ส่งคนมาดูแลเรื่องหลักสูตรการเรียน การสอนเพื่อให้เป็นไปตามระบบสากล รวมทั้งการคัดเลือกครูโดยทาง WIS ได้รับเอาโรงเรียนนานาชาติเกศินี เป็นสาขาหนึ่งของเขา

จุดที่เขาประทับใจ WIS จนต้องเอากลับมาใช้ในเมืองไทยก็คือ เป็นโรงเรียนที่สอนแบบ bilingual (ควบสองภาษา) คือภาษาหลักเป็นภาษาอังกฤษ ควบกับภาษาที่สองเช่นฝรั่งเศสและสเปน และเป็นโรงเรียนที่ศึกษาค้นคว้าระบบแบบนี้มาประมาณ 30 ปี

นักเรียนในโลกอนาคตของพงษ์ศักดิ์ ตามปรัชญาของ WIS จะเน้นการศึกษาไปใน 3 เรื่องใหญ่คือ 1. ต้องพูดภาษาอังกฤษได้ 2. ต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็น และ 3. ปลูกฝังให้เด็กเป็นคนช่างคิดช่างถาม ที่สำคัญคือไม่มีการบ้านใน เด็กเล็กเด็ดขาด ส่วนที่เอาสอดแทรกดัดแปลง บ้างก็คือการเรียนพร้อมๆ ไปกับการเรียนรู้วัฒนธรรมไทย โรงเรียนนานาชาติเกศินี ขออนุญาตในการเปิดสอนถึงชั้นประถมปีที่ 6 แต่ในปี 2542 นี้จะเปิดสอนตั้งแต่อนุบาลถึงประถม 1 ไปก่อน หลังจากนั้นก็จะทยอยเปิด ไปเรื่อยๆ จนถึงป.6 และในอนาคต อาจจะขออนุญาตเปิดสอนต่อในระดับมัธยมปลาย ปัจจุบันมีนักเรียน ประมาณ 110 คน

พงษ์ศักดิ์บอกว่าจำนวนนักเรียนที่เข้ามาในระยะเริ่มแรกนี้เป็นที่น่าพอใจ แต่เขาจำเป็นต้องลดค่าเล่าเรียนลงครึ่งหนึ่งตามภาวะเศรษฐกิจ จากเดิมปีละประมาณ 4 แสนลดลงเหลือประมาณ 2 แสนบาทเท่านั้น และคงต้องยืนราคาดังกล่าวไปก่อนจนกว่าสถานการณ์โดยรวมจะดีขึ้น

พงษ์ศักดิ์ใช้งบประมาณในการก่อสร้างอาคารเรียนประมาณ 150 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในเรื่องของหลักสูตร บุคลากร และอุปกรณ์ ไปอีกจำนวนมาก เมื่อถามว่าคาดว่าจะใช้เวลานานแค่ไหนในการคืนทุน เขาตอบว่าในช่วงเวลานี้แทบไม่ได้คิดเรื่องการคืนทุน แต่ทำใจไว้ตั้งแต่ในระยะแรกแล้วว่า ถึงไม่ได้กำไร แต่ก็เป็นธุรกิจที่ทำให้คนไทยมีทางเลือกในการศึกษา

และเมื่อภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นเขาก็จะหวนคืนสู่สนามเก่าเรียลเอสเตท อีกครั้งหนึ่งแน่นอน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.