ปูนซิเมนต์ไทย + ดาว เคมิคอล = แข็งแกร่ง


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

หลังจากทนทุกข์ทรมานกับความบอบช้ำทางด้านเศรษฐกิจตลอดระยะเวลา 2 ปี ถึงวันนี้ธุรกิจหลายแห่งเริ่มหายใจคล่องมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อบริษัทจัดอันดับทั้งมูดี้ส์ และเอส แอนด์ พี ที่ได้ให้เครดิตประเทศไทยจากยอดแย่มาเป็นระดับเสถียรภาพ ทำให้บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นคึกคักขึ้นมาอีกครั้ง หรือการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัท ที่เกิดจากเศรษฐกิจฟองสบู่เริ่มส่อเค้าไปในทางที่ดีแม้ว่าจะเฉื่อยชาไปบ้าง แต่ก็เป็นสัญญาณที่ดีที่บ่งบอกถึงการกู้ซากปรักหักพังว่ามีความคืบหน้ามากขึ้น ซึ่งรัฐบาลวาดฝันไว้ว่าปี 2542 อัตราการเจริญเติบโตจะกลับมาเป็นบวก 1% และปีหน้าคาดว่าจะกระโดดไปอยู่ที่ระดับ 3%

สำหรับภาคธุรกิจที่แท้จริงโดยเฉพาะภาคการส่งออกซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก และเป็นดัชนีที่จะบอกว่า ประเทศไทยมีอัตราการเจริญเติบโตมากน้อยเพียงใด ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมา หลายๆ ธุรกิจทนพิษบาดแผลทางเศรษฐกิจไม่ได้ต้องยกธงขาว ขณะเดียวกันธุรกิจที่ยังไม่ตายก็กระเสือกกระสนหาทางออกในหลายๆ รูปแบบเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะธุรกิจที่เติบโตขึ้นมาในลักษณะครอบครัวและอาศัยเงินกู้มาดำเนินธุรกิจ ในทางกลับกันก็ยังมีองค์กรหลายๆ แห่ง ที่รอดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งนี้ แม้ว่าจะกระเทือนบ้างแต่ก็แค่ถลอกเท่านั้น โดยเฉพาะบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีพาร์ตเนอร์ที่ดีและทำธุรกิจแนว conservative

บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) และบริษัทร่วม แม้ว่าจะประกาศตัวเลขผลการดำเนินงานไตรมาสแรกของปี 2542 ออกมาไม่สวยหรูนัก โดยมีรายได้รวม 26,443 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 32,770 ล้านบาท ลดลง 19% ส่งผลให้ขาดทุนสุทธิ 1,165 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 24,423 ล้านบาท

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้บริษัทอธิบายว่าเกิดจากในปีก่อนมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวนมาก แต่งวดนี้มีขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนรวมทั้งมีค่าใช้จ่ายจาก การปรับโครงสร้างธุรกิจเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และความคล่องตัวในการบริหารงาน ตลอดจนสามารถปรับตัวเข้ากับการแข่งขันทั้งในปัจจุบันและอนาคต และลดบทบาทในธุรกิจที่ไม่มีความชำนาญ และต่อจากนี้ไปกลุ่มปูนซิเมนต์ไทยจะเน้นธุรกิจกลุ่มปูนซีเมนต์ กลุ่มกระดาษ และกลุ่มเคมีภัณฑ์ ซึ่งที่ผ่านมาธุรกิจทั้ง 3 กลุ่มคือหัวใจสำคัญของบริษัทในการ สร้างรายได้ เช่นในไตรมาส 1 ปี 2542 สร้างยอดขายจำนวน 5,611 ล้านบาท, 4,905 ล้านบาท และ 3,778 ล้านบาท ตามลำดับ กระนั้นก็ตามการขยายธุรกิจของกลุ่มปูนซิเมนต์ไทยก็ยัง "เสียงดัง" อยู่เสมอ

การปรับโครงสร้างธุรกิจที่ผ่านมาของปูนซิเมนต์ไทยนับว่าประสบความสำเร็จมากพอสมควร โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์ โดยใช้กลยุทธ์การร่วมทุนเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับตัวเอง ซึ่งปูนซิเมนต์ไทยโชคดีอย่างมากที่ได้บริษัทดาว เคมิคอล ยักษ์ใหญ่วงการเคมีภัณฑ์อันดับ 5 ของโลก เข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์ ถือว่าเป็น "คู่ค้า คู่คิด คู่ชีวิต" ที่ดีต่อกันอย่างแท้จริง

ความสัมพันธ์ของทั้งสองเริ่มต้นที่ดาว เคมิคอล เข้ามาดำเนินงานโรงงานผลิตโพลิสไตรีน ที่สมุทรปราการเมื่อ
ปี 2518 จากนั้นได้เปิดให้ปูนซิเมนต์ไทยเข้ามาร่วมทุนในโรงงานแห่งนี้เมื่อปี 2530 และก่อนหน้านั้น คือในปี 2526 ปูนซิเมนต์ไทยเริ่มเข้าสู่ถนนสายธุรกิจปิโตรเคมี โดยก่อตั้งโรงงานผลิตโพลิเอททีลีนและโพลิโพรพีลีน อันเป็นช่วงเดียวกับการเริ่มโครงการปิโตรเคมีแห่งชาติ (NPC) ขณะที่ดาว เคมิคอล เริ่มมีบทบาทในการนำเทคโนโลยีและการเปิดตลาดสู่กลุ่มประเทศในภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแถบเอเชียแปซิฟิกมากขึ้น

จากอดีตจนถึงปัจจุบันปูนซิเมนต์ไทยและดาว เคมิคอล ได้มีบริษัทร่วมทุนด้วยกัน 5 บริษัทแล้ว ล่าสุดบริษัทร่วมทุนแห่งที่ 6 เพิ่งเปิดเป็นโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกโพลิ เอททีลีนไปเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ถือว่าเป็นโรงงานขนาดระดับโลกด้วยกำลังการผลิตโพลิเอททีลีน 3 แสนตันต่อปี ใช้เม็ดเงินลงทุนกว่า 3.6 พันล้านบาท

"จุดนี้เป็นจุดสำคัญเพราะเป็นการพิสูจน์สายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของบริษัทแม่ทั้งสองฝ่าย เราเชื่อมั่นว่าโรงงานใหม่แห่งนี้มีความพร้อมที่จะช่วยให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ และระบบการผลิตใหม่ๆ ตอบสนองลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น และให้มีข้อได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดโลก ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เราร่วมกันขยายกิจการในภูมิภาคนี้อย่างมาก" ปีเตอร์ ไซค์ส กรรมการผู้จัดการบริษัทร่วมทุนระหว่างปูนซิเมนต์ไทยกับดาว เคมิคอล (ประจำประเทศไทย) กล่าวถึงสายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสององค์กร

ในบรรดาบริษัทร่วมทุนทั้ง 6 แห่ง ดูเหมือนว่าโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกโพลิเอททีลีน เป็นกิจการที่ปูนซิเมนต์ไทยและดาว เคมิคอล มีความกังวลมากที่สุด เพราะโรงงานนี้ใช้เทคโนโลยีระดับสูงและมีขนาดใหญ่ อีกทั้งเป็นโรงงานแห่งที่ 3 ของดาว เคมิคอล หลังจากสร้างที่เยอรมนีและแคนาดา และเมื่อรวมกำลังการผลิตโพลิเอททีลีนของปูนซิเมนต์ไทยที่มีในปัจจุบัน 5 แสนตันต่อปี จะกลายเป็น 8 แสนตันต่อปี ถือว่าเป็น "The Large on The World"

และอภิพร ภาษวัธน์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ปูนซิเมนต์ไทย ยังเชื่อว่าการร่วมทุนระหว่างสององค์กรที่ประสบความสำเร็จ ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น การเปิดโรงงานแห่งใหม่ครั้งนี้เป็นความสำเร็จครั้งสำคัญ ที่ส่งผลให้ปูนซิเมนต์ไทยก้าวขึ้นเป็นบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมนี้ ทั้งด้านขนาดและศักยภาพการแข่งขัน "เมื่อรวมกับกำลังการผลิตของโรงงานโพลิเอททีลีนของเราอีก 3 แห่ง ยิ่งทำให้โรงงานแห่งนี้มีความแข็งแกร่ง และเป็นผู้นำในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าในการขยายตลาดภายในภูมิภาค"

อย่างไรก็ดียังมีความกังวลว่าจากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ฟื้นอาจจะทำให้ผลิตภัณฑ์ ที่ทั้งสองบริษัทผลิตขึ้นมาจะเกินความต้องการ เพราะเป้าหมายหลักของโรงงานแห่งใหม่ผลิตขึ้นมาเพื่อรองรับการบริโภคภายในประเทศเท่านั้น ขณะที่ปัจจุบันความต้องการเม็ดพลาสติกโพลิเอททีลีนในไทยมีเพียง 70,000-80,000 ตันต่อปี ดังนั้นเป้าหมายต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วยการส่งออกประมาณ 80%

"ตลาดปิโตรเคมีในเอเชียเติบโตประมาณปีละ 5% และตลาดเอเชียแปซิฟิกคาดว่าต่อไปจะเติบโตขึ้นอย่างมหาศาล ดังนั้นเราทำธุรกิจนี้ไม่ได้มองระยะสั้นๆ เพราะโรงงานแห่งนี้จะอยู่ไปได้อีก 30 ปีข้างหน้า" ปีเตอร์ ไซค์ส กล่าว

ทางด้าน แอนดี้ ดูปองท์ ผู้อำนวยการฝ่ายการค้าโพลิเอททีลีนภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ดาว เคมิคอล กล่าวเสริมว่าประเทศแถบเอเชียมีอัตราการเติบโตด้านการส่งออกที่ดีมาก โดยเฉพาะบริษัทคู่ค้าซึ่งดำเนินธุรกิจด้านบรรจุภัณฑ์ จะไม่ค่อยได้รับผลกระทบในการดำเนินธุรกิจสักเท่าใด "ฉะนั้นปัจจัยนี้ก็ยังทำให้ธุรกิจของเราคล่องตัวได้ดี ถึงแม้ว่ารายอื่นๆ ในช่วงกลางปี 2540 หลายบริษัทถอนตัวออกไป แต่เรากลับสวนทางด้วยการลงทุนและช่วงนี้สำเร็จแล้วเพราะเศรษฐกิจเริ่มโงหัวขึ้น"

ซึ่งคาดว่าในปีนี้โรงงานทั้ง 6 แห่งที่ปูนซิเมนต์ไทยและดาว เคมิคอลร่วมกันสร้างขึ้นมาจะทำยอดขายได้ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 6 พันล้านบาท

หลังจากเหน็ดเหนื่อยมามากกับการขยายฐานธุรกิจขององค์กรยักษ์ใหญ่ทั้งสอง บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่พวกเขาจะตักตวงผลพวงแห่งการลงทุน แม้ว่าศักยภาพที่จะขยายการลงทุนต่อไปยังมีอีกมาก เนื่องจากไม่มีปัญหาเรื่อง cash flow

"ในช่วงนี้ผมขอ enjoy กับสิ่งที่ลูกจะหามาให้กินหรือปรนนิบัติมากกว่า คือช่วงนี้ผมขอหยุดพักสัก 2-3 ปี เพื่อดูทิศทาง เพราะมันเป็นช่วง up cycle ของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี หลังจากที่เราเปิดโรงงานมาตลอดในช่วงที่ผ่านมา ผมมั่นใจว่าต่อไปนี้ถึงเราไม่ขยายการลงทุน ก็จะสามารถเพิ่มผลประกอบการเป็น 3 หมื่นล้านบาทในปี 2545" ปีเตอร์ ไซค์ส กล่าว

พูดง่ายๆ ก็คือ นับจากนี้เป็นต้นไปถึงจุดแล้วที่ปูนซิเมนต์ไทยและดาว เคมิคอล จะปฏิบัติการ"make money" โดยเฉพาะลูกคนที่ 6 ที่เพิ่งคลอดออกมา ที่ทั้งสองบริษัทตั้งความหวังเอาไว้มากว่าจะสร้างรายได้อย่างมาก "ลูกคนอื่นๆ กว่าจะเลี้ยงดูแม่ได้ต้องใช้เวลานานหลายปีแต่ การลงทุนระหว่างเราทั้งสองได้ผลทันที ลูกคนนี้เป็นอัจฉริยะ และนับจากนี้เขาจะนำความสดใสและความเจริญรุ่งเรืองมาให้แม่อย่างเดียว" แอนดี้ ดูปองท์ กล่าวตบท้าย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.