พ้อง ชีวานันท์ จากที่ปรึกษารมต.มาทำออดิโอเท็กซ์


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

หากไม่นับผู้ให้บริการข้อมูลทาง เสียง หรือออดิโอเท็กซ์เจ้าเก่า อย่างกลุ่มสามารถ หรือบีเอ็นที ที่ให้บริการด้วยเลขหมาย 7 ตัว และ ทำรายได้จากการขายบัตรที่บรรจุรหัสสำหรับโทรเข้ามาใช้บริการแล้ว "อินโฟร์เทล คอมมูนิเคชั่น" ก็ถือเป็นรายแรกของผู้ได้ใบอนุญาตบริการ "ออดิโอเท็กซ์ยุคใหม่" จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย(ทศท.)

จะว่าไปแล้ว อินโฟร์เทลก็อาจไม่มีวันนี้ หากไม่มีคนชื่อ "พ้อง ชีวานันท์" ไปเสียคน

ก่อนหน้าที่พ้องจะมาร่วมงานกับอินโฟร์เทล ผู้บริหารชาวอังกฤษของบริษัทก็เคยได้ยื่นเรื่องขอใบอนุญาตบริการออดิโอเท็กซ์ กับทศท.มาตั้งแต่ปี 2538 รวมเป็นเวลา 2 ปีเต็มที่เรื่องยังไปไม่ถึงไหน

ผู้ถือหุ้นของอินโฟร์เทล ภายใต้การนำของ วิชัย รักศรีอักษร เจ้าของบริษัทคิงส์พาวเวอร์ ผู้รับสัมปทานร้านดิวตี้ฟรี จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งลงขันร่วมกับผู้ถือหุ้นอื่นๆ ของคิงส์พาวเวอร์เปิดบริษัทอินโฟร์เทลในนามส่วนตัว จึงไปชักชวนพ้องมาร่วมงานและลงขันในบริษัทอินโฟร์เทล

"ผมว่าสาเหตุที่เขาขอใบอนุญาตไม่ได้ เขาอาจไม่เข้าใจวิธีการทำงานของหน่วยงาน รัฐวิสาหกิจต้องมีขั้นตอน และบริการของออดิโอเท็กซ์ เป็นแค่ส่วนนิดเดียวของทศท. ยิ่งต้องมีการเฝ้าติดตาม ต้องพยายามประสานงาน ให้งานในส่วนนี้เดินหน้า" พ้องเล่าถึงที่มาของการได้สัมปทาน

จะว่าไปแล้ว การได้สัมปทานออดิโอเท็กซ์มา คงมองข้ามประสบการณ์ 20 ปีเต็มที่พ้องคลุกคลีอยู่บนเส้นทางการเมือง ในฐานะที่ปรึกษาคนสนิทของมนตรี พงษ์พานิช อดีตหัวหน้าพรรคกิจสังคม ไปไม่ได้

แม้ว่าพ้องจะไม่ถูกเรียกว่าเป็น "นักการเมือง" อย่าง เต็มตัว แต่การโลดแล่นอยู่ในแวดวงการเมืองในฐานะของทีมงานเบื้องหลังให้กับมนตรี พงษ์พานิช มากว่า 20 ปี ทำให้เขาผ่านเหตุการณ์สำคัญๆ มาแล้วมากมาย

ทั้งพ้องและมนตรีต่างก็เป็นเพื่อนสนิทที่คบหากันมาตั้งแต่สมัย เคยทำงานร่วมกันอยู่ที่บริษัทบี.กริมแอนด์โก บริษัทเก่าแก่เป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ของซีเมนส์ เมื่อมนตรีเข้าสู่เส้นทางการเมืองก็ดึงเอาเพื่อนคนนี้มาร่วมงาน

พ้องเริ่มต้นด้วยการเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่มนตรีได้ตำแหน่งนี้มาในช่วงปี 2525 จากนั้นเขาก็โลดแล่นอยู่บนเส้นทางการเมือง ย้ายไปเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีตามกระทรวงต่างๆ ไม่ว่ากระทรวงพาณิชย์ สาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เรียกง่ายๆ ว่า มนตรีได้โควตานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีประจำกระทรวงไหนพ้องก็ต้องไปนั่งเป็นที่ปรึกษา

และในโครงการสำคัญๆ ไม่ว่าโครงการโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย โครงการดาวเทียมไทยคม โครงการสร้างถนน ในช่วงที่มนตรีนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างปี 2531-2533 ซึ่งถือว่าเป็นช่วง ที่มีโปรเจกต์เยอะที่สุด

มีหลายครั้งที่พ้องได้เข้าไปนั่งในตำแหน่งกรรมการตามหน่วยงานราชการสำคัญๆ เช่น กรรมการบริษัทขนส่ง กรรมการสภาหอการค้าไทย หรือแม้แต่การไปนั่งเป็นผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) ในช่วงปี 2538-2540 ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่เขาได้เป็นอนุกรรมการพิจารณาช่วยเหลือ ด้านราคาและตลาดสินค้าเกษตร และกรรมการคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาเกษตรและสหกรณ์

ตำแหน่งล่าสุดก่อนล่าถอยออกจากเส้นทางการเมือง ก็คือ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้กับสมศักดิ์ เทพสุทิน ส.ส.ในสังกัดพรรคกิจสังคม

"ถ้าถามผมว่าประทับใจในการทำงานช่วงไหน แต่ละ แห่งมันเป็นอะไรที่ไม่เหมือนกัน แต่ละกระทรวงก็มีข้อแตกต่างกันไป การได้โอกาสเข้าไป ระดับนโยบายตรงไหนก็เป็น อะไรที่สนุกและน่าสนใจทั้งนั้น"

หลังจากมนตรีประกาศลาจากเวทีการเมือง ประกอบ กับอายุราชการในตำแหน่งผู้อำนวยการอตก.กำลังหมดลงพอดี พ้องจึงหวนกลับมาสู่เส้นทางของธุรกิจอีกครั้งหลังจากห่างหายไป 20 ปีเต็ม

พ้องบอกว่าเวลานี้ไม่มีใครที่จะรู้เรื่องธุรกิจออดิโอเท็กซ์ ได้ดีเท่ากับเขา เพราะเขาเป็นคนที่ทำอะไรแล้วต้องเรียนรู้ให้ถ่องแท้

บริการออดิโอเท็กซ์ ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย เพราะก่อนหน้านี้มีเอกชนให้บริการออดิโอเท็กซ์แล้วหลายราย ซึ่งแต่ละรายหวังว่าออดิโอเท็กซ์จะเป็นมิติใหม่ของการทำธุรกิจ

แม้ผู้ให้บริการทุกรายจะสรรหาข้อมูลให้เลือกหลายประเภท ทั้งโหราศาสตร์ ข่าวสาร บันเทิง แต่ที่นิยมที่สุดคือบริการปาร์ตี้ไลน์ จะเป็นบริการที่ให้โทรฯเข้ามาพบปะพูดคุยกับเพื่อนใหม่ที่ไม่เคยรู้จักกัน ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่น แต่ภายหลังก็ได้กลายเป็นปัญหาใหญ่เนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวข้องกับเรื่องเซ็กซ์ บริการนี้จึงเงียบหายไปพักใหญ่

สำหรับพ้องแล้ว บริการออดิ โอเท็กซ์ คือ ธุรกิจบริการข้อมูลประเภทหนึ่ง ที่ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เช่นเดียวกับวิชัย รักศรีอักษร ที่มองเห็นโอกาสทำเงินกับธุรกิจในลักษณะนี้มากกว่า การเป็นเจ้าของสัมปทานสื่อสารขนาดใหญ่

ข้อสำคัญคือ บริการออดิโอเท็กซ์แบบใหม่ ที่ได้ใบอนุญาตมาก็แตกต่างไปจากเดิมอย่างมาก ออดิโอเท็กซ์แบบเดิม เป็นลักษณะของการเช่าคู่สายธรรมดา 7 หลักเท่านั้น จากนั้นก็เป็นเรื่องของเอกชนจะต้องเอาคู่สายไปหารายได้จากการหาโฆษณา และขายบัตร

ในขณะที่บริการออดิโอเท็กซ์แบบใหม่ องค์การโทรศัพท์ฯ จะเป็น คนสนับสนุนในเรื่องของโครงข่ายโทรศัพท์ และระบบบิลลิ่งเรียกเก็บเงินค่าใช้บริการจากผู้ใช้ใบเดียวกับบิลค่าโทรศัพท์ เอกชนเพียงแต่มีข้อมูลดีๆ ทำโฆษณาดีๆ และจ่ายค่าสัมปทานให้กับทศท. 40% ของรายได้

ด้านผู้ใช้สามารถใช้บริการด้วยการกดโทรศัพท์ผ่านเลขหมาย 4 หลัก และตามด้วยรหัสของบริการ ไม่ต้องซื้อบัตรโทรศัพท์ อัตราค่าบริการจะคิดเป็นนาทีตามประเภทของ ข้อมูล ซึ่งเป็นอัตราเดียวกันทั่วประเทศ เรียกว่าสะดวกกับทั้งผู้ใช้บริการ และผู้ให้บริการ

อัตราค่าบริการจะเก็บในลักษณะของพรีเมียมเรต คือ คิดเป็นนาที ตามที่อินโฟร์เทลกำหนดไว้คือ 9 บาทต่อนาที สำหรับบริการและสาระบันเทิง การลงคะแนนความคิดเห็นต่างๆ และ 3 บาทต่อนาทีสำหรับข้อมูลบริการด้านสังคมสาธารณประโยชน์ และบริการสังคม และสุขภาพ

อัตราค่าบริการนี้จะใช้เหมือน กันทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ดังนั้นลูกค้าเป้าหมายของอินโฟร์เทล อยู่ในต่างจังหวัด เพราะจะมีโอกาสได้รับข่าวสารได้เท่าเทียมกับคนในที่อยู่ ในกรุงเทพฯ ด้วยค่าบริการที่เท่ากัน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เขาจะละเลยลูกค้าในเขตกรุงเทพฯ

พ้องเล่าว่าอินโฟร์เทล ใช้เงินไปกว่า 30 ล้านบาท ใน จำนวนนี้ใช้ไป 20 ล้านบาทในการสร้างระบบคอมพิวเตอร์เพื่อจัดเก็บข้อมูลและรองรับกับคู่สาย 120 พอร์ต ที่เหลืออีก 10 ล้านบาท เป็นเรื่องของโฆษณา ประชาสัมพันธ์ การหาข้อมูล และค่าดำเนินงานภายในบริษัท

ระบบคอมพิวเตอร์ที่อินโฟร์เทลลงทุนไปนั้น จะรองรับกับการโทรได้ 200,000 นาที ซึ่งอินโฟร์เทลจะต้องมีผู้โทรศัพท์เข้ามา 10,000 ครั้งขึ้นไปต่อวัน จึงจะคุ้มค่ากับเงินลงทุนที่ลงไปแล้ว 30 ล้านบาท ซึ่งพ้องประมาณการไว้ว่า 3 ปีน่าจะถึงจุดคุ้มทุน

บริการออดิโอเท็กซ์ในต่างประเทศ ส่วนใหญ่ผู้ใช้จะ นิยมใช้บริการที่เรียกว่า virtual chat คล้ายๆ กับบริการปาร์ตีไลน์ในอดีต แต่ทศท.กำหนดไม่ให้ทำบริการนี้ เพราะเกรงจะเกิดปัญหาเหมือนกับในอดีต

ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว ทำให้ผู้ให้บริการออดิโอเท็กซ์ของไทยต้องมุ่งทำในเรื่องข้อมูลเพื่อดึงดูดใจให้มีผู้โทรมาใช้บริการ เพราะรายได้ของบริษัทจะมาจากค่าแอร์ไทม์ ยิ่งโทร มากเท่าไหร่ อินโฟร์เทลจะมีรายได้มากเท่านั้น

ไม่เพียงแต่ข้อมูลเท่านั้น การโฆษณาบริการข้อมูลใน แต่ละประเภทให้เป็นที่รู้จัก เป็นภารกิจที่สำคัญไม่แพ้สิ่งอื่น ซึ่งอินโฟร์เทลมีบริการโหราศาสตร์ กีฬา สาระข่าวสาร บัน เทิง ประกาศผลรางวัลสลากกินแบ่ง

หากเปรียบแล้วบริการในแต่ละประเภทก็ไม่ต่างไปจากสินค้าหรือบริการประเภทหนึ่ง เพราะบริการข้อมูลในแต่ละประเภทจะมีรหัสหมายเลขบริการเฉพาะ 6 หลักสุดท้าย ที่จะต้องทำโปรโมชั่นให้คนใช้รู้จัก

สำหรับพ้องแล้วเป็นกังวลมากที่สุดก็คือ การแข่งขัน ทางด้านราคาที่จะเป็นปัญหามากที่สุด ซึ่งเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ และเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ให้บริการหลายรายต้องเลิกกิจการไป เป็นสิ่งที่เขาไม่อยากให้เกิดในไทย

แต่ดูเหมือนว่าพ้องจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะนอกจาก จะมีคู่แข่งอย่างเทเลคอมเอเซีย ที่มีลูกเล่นใหม่ๆ เพิ่มการใช้คู่สายโทรศัพท์ที่ใกล้เคียงกับบริการออดิโอเท็กซ์ และคู่แข่งใหม่ๆ อย่าง ช่อง 3, ยูคอม และฟิวเจอร์ไฮเทค ก็จ่อคิว เปิดให้บริการในอีกไม่ช้า

ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับความน่าสนใจของข้อมูล และประสิทธิภาพของการโฆษณาที่ใครจะเข้าถึงผู้ใช้ได้มากกว่ากัน

ที่แน่ๆ พ้องบอกว่า ออดิโอเท็กซ์เป็นแค่ชิมลางเบื้องต้น ยังมีบริการสื่อสารอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างเตรียมการ ไม่แน่ว่า พ้องและผู้บริหารคิงส์พาวเวอร์จะเป็นอีกรายในธุรกิจสื่อสาร หรือไม่ งานนี้ต้องจับตาให้ดี



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.