"เทรน" นำ Y2K สู่คู่แข่ง หวังดึงแชร์เพิ่มขึ้นในปลายปี


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

ปัจจุบันตลาดเครื่องปรับอากาศมีการแข่งขันสูงมากเนื่อง จากการเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างการผลิตที่มีการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตได้ ภายในประเทศสูงขึ้นเกือบ 100% จาก เดิมที่ต้องมีการนำเข้าสูงกว่า 50% ต้นทุนในการผลิตจึงลดลง ส่งผลให้แต่ละค่ายต่างใช้กลยุทธ์ "ราคา" มาห้ำหั่นกัน ผลประโยชน์ก็ตกที่ลูกค้า ทำให้สามารถซื้อเครื่องปรับอากาศได้ในราคาที่ถูกลง

เทรน เป็นเครื่องปรับอากาศค่ายอเมริกันที่มีราคาค่อนข้างสูง ยังต้องกระโดดลงมาสู้ในสงครามราคาที่ดุเดือด ในปีนี้ด้วย โดยในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ได้ส่งเครื่องปรับ อากาศขนาดเล็กสำหรับครัวเรือนราคาพิเศษ รุ่นไฮคอมมาน ซึ่งเป็นรุ่นที่สามารถปรับเป็นแบบตั้งหรือแขวนก็ได้มาลุยในราคาเพียง 19,500 บาท ซึ่งอังกูร โชตินิสากรณ์ ผู้จัดการฝ่ายขายและตัวแทนจำหน่ายเครื่องปรับอากาศเทรน (ประเทศ ไทย) เปิดเผยว่า กลยุทธ์นี้มีความแตกต่างจากค่ายอื่นที่มุ่งทำตลาด เฉพาะเครื่องปรับอากาศแยกส่วนขนาดเล็กแบบแขวนผนังเท่านั้น

"เราเน้นทำตลาดแอร์ที่สามารถตั้งได้และแขวนได้ในเครื่องเดียวกัน ซึ่งราคาจะถูกกว่ารุ่นที่แขวนได้เพียงอย่างเดียว โดยเฉลี่ยประมาณ 10,000 บาท ซึ่งจะทำให้เราสามารถส่งแอร์ราคาถูกลงไปสู้ในตลาดได้"

ธุรกิจเครื่องปรับอากาศเป็นธุรกิจที่สามารถทำรายได้ได้ดีเฉพาะ ช่วงหน้าร้อนหรือช่วงครึ่งปีแรกเท่านั้น ส่วนในช่วงครึ่งปีหลังยอดขายก็จะเบาบางลง อย่างไรก็ดีตลาดเครื่องปรับอากาศมิได้หยุดอยู่เพียงตลาดของรายย่อยเท่านั้น หากยังมีตลาดของเครื่องปรับอากาศขนาดกลาง และขนาดใหญ่ที่ใช้ในอาคารพาณิชย์หรือโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ อีก ด้วย ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เทรนมียอดขายรวมทั้งสิ้น 500 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากเครื่องปรับอากาศขนาดเล็ก ประมาณ 200 ล้านบาท ขนาดกลางและขนาดใหญ่ประเภทละ 150 ล้านบาท ส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดของแอร์ตัวเล็กเพิ่มขึ้นเป็น 9% จากเดิมที่มีอยู่ 8% ในขณะที่แอร์ขนาดกลาง และใหญ่ยังคงอยู่ที่ประมาณ 35-50% ซึ่งนับเป็นส่วนแบ่งที่สูงสุดในตลาดปัจจุบัน

เพื่อที่จะรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดนี้ไว้ เทรนจึงนำเอากลยุทธ์การแก้ปัญหา Y2K มาใช้ในตลอดปีที่เหลืออีก ด้วย โดยเครื่องปรับอากาศเทรนทุกเครื่องทั่วโลกได้ผ่านการทดสอบความพร้อมใน การใช้งานให้สามารถรองรับปัญหาระบบคอมพิวเตอร์ในปี ค.ศ.2000 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าวได้นั้น บริษัทแม่คือบริษัท อเมริกัน แสตนดาร์ดได้เริ่มต้นแก้ไขมาตั้งแต่ปี 1990 แล้ว โดยแบ่งการแก้ไขออกเป็น 2 ส่วนคือ ในส่วนของการบริหารงานในองค์กร และในส่วนของผลิตภัณฑ์

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา Y2K ในประเทศไทย อังกูรเปิดเผยว่า บริษัท แอร์ โค ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่อง ปรับอากาศ เทรน ในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นบริษัทลูกของอเมริกันแสตนดาร์ดได้มีการลงทุนถึง 10 ล้านบาทในการปรับเปลี่ยนเครื่องคอมพิวเตอร์ในองค์กรทั้ง หมด และมีการตั้งทีมงาน "Year 2000 Team" อย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 1997 เพื่อทำหน้าที่จัดทำ ฐานข้อมูลอุปกรณ์ของเครื่องปรับอากาศเทรน และทดสอบโปรแกรมการทำงานของเครื่องปรับอากาศในปีค.ศ.2000 ให้แก่ลูกค้าพร้อม ทั้งให้คำแนะนำและแนวทางในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับ Y2K ให้แก่ลูกค้าที่ใช้เครื่องปรับอากาศของเทรนรุ่นที่ผลิตก่อนปี 1995 ซึ่งบางเครื่องอาจจะไม่สามารถรองรับปัญหาดังกล่าวได้ รวมถึงลูกค้าเทรนรุ่นอื่นที่ต้องการความแน่ใจในเครื่องปรับอากาศรุ่นที่ตนเองใช้อยู่ โดยปัจจุบันมีลูกค้าประมาณ 200 รายที่ทางบริษัทต้องเข้าไปตรวจสอบ Y2K และขณะนี้ได้ตรวจ สอบแล้วเสร็จไปประมาณ 15% แล้ว อาทิ อาคารเพลินจิตเซ็นเตอร์ ฮ่องกงแบงก์ และโรงงานของเทรนเอง เป็นต้น

"ขอบข่ายในการรับรอง Y2K ของเรานั้นจะรับรองเฉพาะ Equipment ที่เป็นของเราเท่านั้น เราจะไม่รับรองไปถึง System หรือระบบคอมพิวเตอร์อื่นที่ใช้ร่วมด้วย" อังกูรชี้แจงและกล่าวว่า ปัญหา Y2K จะส่งผลต่อลูกค้าโครงการ และลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่าลูกค้ารายย่อยเนื่อง จากระบบเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ขึ้นไปทั้งด้านเครื่องทำความเย็น และระบบส่งลมเย็นมีการใช้ระบบ DDC (Direct Digital Control) ซึ่งโปรแกรมเหล่านี้ต้องใช้วันที่ในการคำนวณ ดังนั้นจึงได้รับผลกระทบจาก Y2K โดยตรง ตัวอย่างเช่น ระบบ BAS ซึ่งใช้ควบคุมการเดินหรือหยุดตารางการซ่อมบำรุงต่างๆ ของทุกระบบปรับอากาศภายในอาคาร, ระบบควบคุม DDC ของทุกชุดอุปกรณ์ เช่น DDC สำหรับชุดทำความเย็น ชุดส่งลมเย็น และหอความเย็น (Cooling Tower) เป็นต้น, โปรแกรมประเภท Cooling load/Energy analysis ซึ่งอาจจะมีการใช้ฐานปีอ้างอิงข้อมูล รวมไปถึงงานด้านการบริหารโครงการตามเวลาด้วยเป็นต้น

อย่างไรก็ตาม อังกูรกล่าวเสริมว่า "แม้ว่าเราจะมีการแก้ไขและป้องกัน Y2K ในเครื่องปรับอากาศของเราทุกรุ่นแล้วก็ตาม แต่เราไม่สามารถตามไปรับรองระบบคอม พิวเตอร์ที่แต่ละโครงการนำมาใช้ในการเชื่อมโยง ระบบทุกส่วนภายในอาคารหรือโครงการได้ ซึ่งเครื่องปรับอากาศเป็นเพียงส่วนย่อยๆส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง"

สำหรับเครื่องปรับอากาศของเทรนที่ผ่านการตรวจสอบ และรับรองว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหา Y2K เรียบร้อยแล้ว ได้แก่ เครื่องปรับอากาศเทรนในส่วน Unitary ซึ่งประกอบด้วย Commercial และ Mini Split ทุกรุ่น และสำหรับลูกค้าที่ไม่ได้ใช้เครื่องปรับอากาศในรุ่นดังกล่าว สามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเองจากเว็บไซต์ของเทรน www.trane.com ภายใต้หัวข้อ Year 2000

นอกจากกลยุทธ์ต่างๆ ที่ปรากฏในแผนงานของเทรน ในปีนี้ อังกูรยังได้กล่าวถึงนโยบายการลงทุนของเทรนในประเทศไทยที่มีอย่างต่อเนื่องด้วยว่า ปัจจุบันเทรนได้จัดตั้ง ศูนย์ฝึกอบรมด้านเทคนิค สำหรับประเทศไทยและประเทศ ในเอเชียแปซิฟิกขึ้นที่สำนักงานของเทรน ณ อาคารเพลินจิต เซ็นเตอร์ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งเปิดสำนักงานแห่งใหม่ ที่พัทยา รวมทั้งมีการพัฒนาระบบการสื่อสารอิเล็คทรอนิกส์ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และในขณะนี้เทรนกำลังดำเนินการพัฒนาประสิทธิภาพ และกำลังการผลิตของโรงงานที่สมุทรปราการ เพื่อเพิ่มศักยภาพและคุณภาพในการผลิตให้ดีขึ้น โดยคาดว่าโครงการนี้จะเสร็จสิ้นในกลางปีนี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.