กรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับประเด็นที่ว่า หนังสือแสดงเจตจำนงในการดำเนิน
นโยบายที่รัฐบาลไทยยื่นต่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เพื่อขอเงินกู้ฉุกเฉินเป็นหนังสือสัญญาระหว่างประเทศหรือไม่
ถือเป็นประเด็นที่ท่านผู้อ่านควรให้ความสนใจยิ่ง แม้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะให้คำวินิจฉัยออกมาแล้วว่าไม่ใช่หนังสือสัญญาระหว่างประเทศ
แต่ประเด็นที่ยังถกเถียงกันได้คือกระบวนการในการวินิจฉัยและเหตุผลประกอบคำวินิจฉัย
ซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละท่านได้อธิบายไว้ โดยเฉพาะเหตุผลของศาสตราจารย์
ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช และคำอธิบายต่อเนื่องของร.ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้อ่านที่มีวิจารณญาณทุกท่านควรให้ความสนใจ
อย่าเปิดผ่านเลยไป ท่านจะได้จดจำไว้ว่าไม่ควรรับฟังเพียงผลการวินิจฉัยหรือคำตัดสินใดๆ
แต่ควรจะต้องดูกระบวนการทั้งหมดของการพิจารณาและใช้วิจารณญาณของท่านตัดสินเรื่องนี้
ข้อสรุปเช่นนี้อาจจะเท้าความกลับไปที่เรื่องการวินิจฉัยสมาชิกภาพของ ส.ส.
"กลุ่ม งูเห่า" ซึ่งปรากฏว่าคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาว่ายังคงสมาชิกภาพอยู่
แต่คำวินิจฉัยนี้ไม่ได้ออกมาในลักษณะเป็นเอกฉันท์ และมีการอธิบายเหตุผลของตุลาการรัฐธรรมนูญบางท่านไว้อย่างน่ารับฟัง
ที่ดิฉันหยิบยกสองกรณีตัวอย่างนี้มาเตือนความทรงจำท่านผู้อ่าน (รายละเอียดติดตามได้จากนสพ.ผู้จัดการรายวัน)
ก็ด้วยเหตุผลที่ว่าทุกวันนี้คนมักให้ความสำคัญกับผลลัพธ์โดยไม่ดูว่ากระบวนการ
ที่จะให้ได้มาซึ่งผลเช่นนั้นเป็นอย่างไร อย่างกรณีล่าสุดเรื่องการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครสมุทรปราการ
ที่เป็นข่าวเกรียวกราวว่าเป็นการเลือกตั้งที่ "โคตรโกง" และมีหลักฐานจากสื่อโทรทัศน์ที่เสนอภาพการโกงให้เห็นกันทนโท่นั้น
ยังปรากฏว่า "คนโกง" ชนะการเลือกตั้งและยังได้เป็นรักษาการนายกส.ท. โดยที่ทางการยังทำอะไรไม่ได้
แถมบอกด้วยว่าให้บริหารงานไปก่อนแล้วค่อยดำเนินการภายหลัง
สื่อมวลชนและนักวิชาการที่มีจรรยาบรรณได้พยายามเปิดเผยกลไก วิธีการ ในการโกงของคนขี้โกงทั้งหลาย
การตัดสินใจวินิจฉัยว่าผลลัพธ์ที่ออกมาถูกหรือผิดนั้นขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของท่านผู้อ่านแล้ว
หันมาดูสกู๊ปข่าวปกฉบับนี้ เรานำเสนอเรื่องราวของผู้ประกอบการในธุรกิจตลาดทุนรายหนึ่ง
เป็นรุ่นเก๋าคนหนึ่งในตลาดทุนไทยที่ฝีไม้ลายมือสู้ฝรั่งได้สบายมาก ความล่มสลายของเศรษฐกิจฟองสบู่ไม่ได้มีผลกระทบที่เป็นนัยสำคัญอันใดกับ
ธุรกิจของเขา ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ สามารถนำบล.แอสเซท พลัส ฝ่าพ้น วิกฤติเศรษฐกิจมาได้
และยังคงมีงานเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำ M&A ทำปรับโครงสร้างหนี้ หาพันธมิตรทางธุรกิจให้ลูกค้า
รับออร์เดอร์ลูกค้า wholesale และล่าสุดคือบริหารไพรเวทฟันด์หรือกองทุนส่วนบุคคล
ฝีมือของเขาต้องยอมรับว่าไม่ใช่ย่อย เขามีแนวคิดอย่างไร มองทิศทางธุรกิจอย่างไร
และมีวิธีการบริหารกิจการบริษัทหลักทรัพย์ขนาดเล็กให้มีกำไรมากมายขึ้นมาได้อย่างไร
นอกจากนี้ผู้อ่านยังจะได้พบไลฟ์ สไตล์ของชายผู้นี้ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า born
to be นักธุรกิจโดยแท้
ด้านสกู๊ปข่าวอื่นๆ ยังคงเข้มข้นตามปกติ มีเรื่องของช่อง 3 หรือชื่อในตลาดหลักทรัพย์ฯ
เรียก BEC ที่รอดพ้นวิกฤติเศรษฐกิจมาได้เช่นกันเพราะระงับการลงทุนขยายกิจการบางด้านทัน
BEC ก็เป็นลูกค้ารายหนึ่งของแอสเซท พลัส นอกจากนี้มีเรื่องของปูนกลางที่ปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายของกลุ่ม
Holderbank- ผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่จากสวิตเซอร์แลนด์และมีเครือข่ายโรงปูนในทั่วโลก
แนวทางที่ปูนกลางจะรักษาสถานะทางการเงินและการตลาดเป็นอย่างไร ต้องฟังจากปากของมร.ฮูเกนโทเบลอร์
ผู้บริหารคนใหม่จาก Holderbank
ท่านผู้อ่านจะเห็นว่าแก่นของฉบับนี้ออกจะเป็นเรื่องในแนวของ success story
เป็นส่วนมาก ก็ถือเป็นกำลังใจแก่เหล่านักธุรกิจผู้ประกอบการทั้งหลายว่า ในท่ามกลางวิกฤติที่เผชิญหน้าพวกท่านอยู่นั้น
ยังมีผู้มองเห็นโอกาสและหาทางรอดได้
ฉบับหน้า "ผู้จัดการรายเดือน" จะมีการปรับปรุงรูปโฉมใหม่ รวมทั้งปรับปรุงคอลัมน์และสกู๊ปข่าวต่างๆ
โดยยังมีแนวทางการวิเคราะห์เจาะลึกอยู่เช่นเดิม