Accenture


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

ภ า พ ร ว ม

Accenture มีฐานกิจการอยู่ที่ชิคาโก สหรัฐฯ เดิมมีชื่อว่า Andersen Consulting เป็นกิจการที่แยกตัวมาจาก Andersen Worldwide โดยบริษัทต้องตัดสินใจครั้งสำคัญ เพราะด้านหนึ่งนั้นบริษัทเป็นอิสระจากบริษัทแม่คือ Arthur Andersen ซึ่งทำธุรกิจด้านการตรวจสอบบัญชีและภาษีที่มีส่วนต่างกำไรต่ำ แต่อีกด้านหนึ่งบริษัทก็กำลังจะสูญเสียชื่อยี่ห้อที่เป็นที่รู้จักทั่วไป

Accenture เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารอันดับ 1 ของโลก ให้บริการแก่บริษัทธุรกิจทั้งในด้านข้อมูลและบริการลูกค้า การวิจัยเกี่ยวกับระบบการขายผ่านอินเทอร์เน็ตตลอดจนการออกแบบและดำเนินการ โดยให้บริการแก่ลูกค้าที่เป็นบริษัทข้ามชาติ ผ่านสำนักงานที่มีอยู่ใน 48 ประเทศ บริษัทมีความโดดเด่นทางด้านการใช้เทคโนโลยีให้บริการคำปรึกษา โดยที่ปรึกษาของบริษัทจะได้รับการฝึกอบรมอย่างจริงจัง ร่วมกับซัปพลายเออร์ด้านคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ นอกจากนั้น Accenture และไมโครซอฟท์ยังมีโครงการร่วมทุนชื่อ Avanade ซึ่งมีมูลค่าถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้บริการทางด้านเทคนิคและอินเทอร์เน็ตแก่ลูกค้าที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของไมโครซอฟท์ด้วย

การแยกตัวออกมาจาก Andersen Worldwide นับเป็นการยุติความขัดแย้ง
ที่มีมานานถึง 11 ปี เนื่องจากกลุ่มที่ปรึกษานั้นไม่พอใจที่จะต้องแบ่งปันผลกำไรจากธุรกิจของตน ให้กับหุ้นส่วนที่ทำธุรกิจด้านการตรวจสอบบัญชี ทั้งนี้ ธุรกิจด้านที่ปรึกษานั้นมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ยอดขายกว่าครึ่งหนึ่งมาจากตลาดสหรัฐฯ

Accenture จะต้องจ่ายเงินให้กับบริษัทแม่ถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
แต่บริษัทก็เตรียมนำกิจการเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2001

ค ว า ม เ ป็ น ม า

Arthur Andersen ซึ่งเป็นกิจการที่ก่อตั้งโดยศาสตราจารย์ด้านการบัญชีแห่งมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น ในปี 1913 ได้เริ่มเข้าสู่ธุรกิจที่ปรึกษาในช่วงทศวรรษ 1920 โดยให้เป็นบริการคู่กับบริการด้านการบัญชี

Arthur Andersen เป็นผู้บริหารกิจการจนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1947 ผู้ที่รับช่วงบริหารงานต่อคือ Leonard Spacek ได้แยกกิจการส่วนที่ปรึกษาออกเป็นหน่วยงานต่างหากในปี 1954

ช่วงทศวรรษ 1970 ธุรกิจที่ปรึกษาเติบโตอย่างรวดเร็วโดยทำยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 21% ในปี 1979 แต่ธุรกิจยิ่งเติบโตอย่างพุ่งพรวดในทศวรรษ 1980 และเมื่อนโยบายการปรับโครงสร้างองค์กรเป็นที่แพร่หลายในสหรัฐฯ ธุรกิจที่ปรึกษาก็ทำยอดขายได้สูงถึง 40% ในปี 1988 (และพุ่งขึ้นเป็น 56% ในทศวรรษต่อมา) กลุ่มที่ปรึกษาจึงเริ่มมีบทบาทในองค์กรมากขึ้น ขณะที่ธุรกิจด้านตรวจสอบบัญชีเผชิญแรงกดดันยิ่งขึ้นทั้งจากการแข่งกันตัดราคา และมาตรการที่เข้มงวดยิ่งขึ้นจากข้อกำหนดที่ให้บริษัทผู้ตรวจสอบรับผิดชอบต่อความผิดปกติต่างๆ ของบริษัทลูกค้ามากขึ้น)

ในปี 1989 บริษัทจึงปรับโครงสร้างโดยจัดตั้ง Andersen Worldwide ขึ้นเป็นบริษัทแม่ของบริษัทอิสระสองแห่ง ได้แก่ Arthur Andersen และ Andersen Consul-ting ทว่าความไม่สมดุลกันของการทำรายได้เข้าบริษัทของกิจการทั้งสองแห่งยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก และในปีถัดมา Arthur Andersen ก็กลับแก้ปัญหาด้วยการริเริ่มธุรกิจที่ปรึกษาของตนเองขึ้น

Andersen Consulting ซึ่งเคยเน้นด้านการประสานรวมระบบ (system inte-gration) ได้เริ่มรุกเข้าสู่ธุรกิจด้านการผลิต การเงิน และงานในภาครัฐ โดยหันทิศทางจากเมนเฟรมไปที่พีซีมากขึ้นโดยสร้างพันธมิตรกับฮิวเลตต์-แพคการ์ด, ซัน ไมโครซิสเต็มส์ และไมโครซอฟท์ และเริ่มเจาะตลาดเอเชียแปซิฟิกในปี 1993

ปี 1996 Andersen Consulting เข้าร่วมทีมกับ BBN ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านอินเทอร์เน็ต จัดทำ ServiceNet ขึ้นในลักษณะกิจการร่วมทุนเพื่อพัฒนาทางด้าน
e-commerce และระบบอื่นๆ

ตระกูลแอนเดอร์เซนไม่พอใจอย่างหนัก เมื่อกลุ่มด้านการตรวจสอบบัญชี
รับตำแหน่งสูงสุดใน Andersen Worldwide ในปี 1997 และในปีนี้เองที่ Andersen Consulting ได้ขอให้ International Chamber of Commerce เจรจาเพื่อขอแยกกิจการจาก Andersen Worldwide จอร์จ ชาฮีน (George Shaheen) ลาออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารในปี 1999 โดยมีโจ ฟอร์แฮนด์ (Joe Forehand) รับหน้าที่แทน

ความขัดแย้งในเรื่องการขอแยกกิจการยังคงต่อเนื่องมาจนถึงปี 2000 โดย Arthur Andersen เรียกร้องเงินชดเชยถึงเกือบ 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะเดียวกัน ธุรกิจด้านที่ปรึกษาเติบโตขึ้น และมีการแตกแขนงกิจการออกไปท่ามกลางการรวมตัวกันของอุตสาหกรรม (คู่แข่งสำคัญอย่าง Cap Gemini และ Earnst & Young ผนวกกิจการกันในปี 2000) ในปี 1999 บริษัทได้รุกเข้าสู่ตลาด
e-commerce ด้วยการจัดตั้ง Andersen Consulting Ventures และปีต่อมาก็ลงนามเป็นหุ้นส่วนกับไมโครซอฟท์ (Microsoft system implementation service) ร่วมมือกับ ซันไมโครซิสเต็ม (จัดทำ B2B Internet office supply sales) และร่วมมือกับบีที (จัดทำบริการด้านทรัพยากรมนุษย์ที่อิงกับอินเทอร์เน็ต) ต่อมาการตัดสินให้ Andersen Consulting แยกตัวออกมาจาก Andersen Worldwide ก็บรรลุผล โดยที่ Andersen Consulting จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้บริษัทแม่ 1 พันล้านดอลลาร์ บริษัทจึงเปลี่ยนชื่อกิจการเสียใหม่เป็น Accenture ในปี 2001



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.