บทเรียนจากภัทรฯ ความล่มสลายของเครือข่ายทางการเงิน


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

ความสั่นคลอนอย่างรุนแรงของบง.ภัทรธนกิจ หลังจากที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่อย่างธนาคารกสิกรไทยประกาศ "ลอยแพ" ไม่ยอมใส่เม็ดเงินช่วยเหลือใดๆ อีกต่อไป เมื่อสิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เป็นข่าวใหญ่ที่สั่นสะเทือนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อสถาบันการเงินไทยอีกครั้งหนึ่ง และยังลามไปถึงความกังขาต่อวิธีปฏิบัติของทางการ

รวมทั้งได้รับความสนใจจากสังคมการเงินตะวันตกด้วย (ASIAN WALLSTREET JOURNAL ซึ่งเป็นปากเสียงและสะท้อนความรู้สึกของนักลงทุนที่ MANHATTAN ได้ดี ลงข่าวหน้า 1 ติดต่ออย่างน้อย 2 วัน ในขณะที่ข่าวธนาคารกรุงไทย ไม่ได้รับความสนใจเลย)

ภัทรธนกิจ (ก่อนที่จะแยกธุรกิจบง.และบล.ออกจากกัน) ได้ชื่อว่าเป็นไฟแนนซ์และโบรกเกอร์ท้องถิ่นชั้นนำ ที่ได้รับความเชื่อถือในการทำธุรกิจจากลูกค้าชั้นนำทั้งในและต่างประเทศตลอดมา เป็นบริษัทที่มีวัฒนธรรมองค์กรของตัวเองเด่นชัด มีการบริหารองค์กรด้วยทีมจัดการมืออาชีพ

หลังเกิดเหตุการณ์วิกฤตค่าเงินบาทซึ่งมาปะทุเมื่อ 2 ก.ค. 2540 ตามมาด้วยการประกาศปิดกิจการไฟแนนซ์รวมทั้งสิ้น 56 แห่งนั้น ปรากฏว่าบงล.ภัทรธนกิจไม่ใช่หนึ่งในกิจการที่ถูกสั่งปิด และในปลายปี 2540 บริษัทฯ ก็จัดการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตได้ระดับหนึ่ง

ทีมผู้บริหารบงล.ภัทรธนกิจให้สัมภาษณ์ "ผู้จัดการ" โดยมีข้อสรุปว่า "จัดบ้านเสร็จรายแรก ภัทรธนกิจเตรียมเดินหน้า รุกธุรกรรมแก้ปัญหาตลาดทุนไทย" ผู้สนใจสามารถอ่านได้ใน "ผู้จัดการ" ฉบับเดือนมกราคม 2541

แต่แล้วในกลางปี 2541 ธนาคารกสิกรไทยก็ประกาศ "อุ้ม" บง.ภัทรธนกิจ นี่ถือเป็นข่าวที่สวนกระแสกับการที่อีกหลายแบงก์ไม่ยอมให้ความช่วยเหลือไฟแนนซ์ในเครือ แต่ก็เป็นข่าวที่สร้างความตกใจแก่สาธารณะไม่น้อย และแน่นอนมันทำให้สถานการณ์ความเชื่อมั่นต่อสถาบันการเงินในยามนั้นตกต่ำสุดขีด

ในยุคที่เศรษฐกิจรุ่งเรืองนั้น ไฟแนนซ์ทำมาหากินได้คล่องแคล่วกว่าธนาคารพาณิชย์มาก ไฟแนนซ์ทำหน้าที่เสมือนหนึ่งธนาคารพาณิชย์ คือปล่อยกู้ให้กิจการต่างๆ มากและปล่อยให้ง่ายกว่าระบบของธนาคารพาณิชย์ ไฟแนนซ์ส่วนมากที่ถูกทางการสั่งปิดกิจการไปแล้วและก็รวมถึงบง.ภัทรธนกิจด้วยนั้น มีสาเหตุของการเจ๊งที่เหมือนกัน และก็เป็นสาเหตุเดียวกันกับที่ธนาคารพาณิชย์เจ๊ง นั่นคือ ถูกลูกค้าถอนเงินฝากออกมากจนไม่มีเงินสดมาจ่ายให้ทัน ต้องไปกู้จากตลาดเงิน ซึ่งแหล่งกู้สุดท้ายก็คือ FIDF

บง.ภัทรธนกิจก็ถูกลูกค้าถอนเงินออกมากเช่นกัน ในช่วงก่อนที่ธนาคารกสิกรไทยจะประกาศเข้าอุ้ม เดิมธนาคารกสิกรไทยถือหุ้นในภัทรธนกิจ 8.16% ในปี 2540 คิดเป็นมูลค่า 1,091.4 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 49% ตอนปลายปี 2540 ครั้นในปี 2541 เมื่อแยกกิจการบง.-บล. ธนาคารเข้าให้ความช่วยเหลือโดยรับซื้อหุ้นในบง.ภัทรธนกิจทั้งหมด ทำให้มีสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 94.43% คิดเป็นเงิน 6,949.2 ล้านบาท

เมื่อธนาคารเข้าซื้อหุ้นและกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่แล้วนั้น ธนาคารก็ได้จัดทำแผนการดำเนินการกับภัทรธนกิจ มีแนวทางที่จะแยกสินทรัพย์ดีออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ หาผู้ร่วมทุนซื้อหุ้นในสถาบันการเงินใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้น สร้างฐานเงินฝากใหม่ ชำระหนี้ และอาจขออนุญาตทำธุรกิจ Super Finance ส่วนสินทรัพย์ที่เหลืออยู่ก็จะมีการปรับปรุงคุณภาพเพื่อให้ได้มูลค่าสูงสุด

เรียกว่าแนวทางใหม่ก็ยังยึดติดกับการประกอบการที่ใกล้เคียงกับกิจการธนาคารพาณิชย์อยู่นั่นเอง

แต่ดูเหมือนแนวทางที่ว่าถูกตั้งคำถามตลอดมา ในเมื่อข้อเท็จจริงในช่วงที่ผ่านมาก็คือ บริษัทมีเงินให้กู้ยืมและลูกหนี้ที่ระงับการรับรู้รายได้ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นจำนวนเงินประมาณ 12,322.5 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2540 ซึ่งบริษัทอ้างว่าเงินให้กู้ยืมและลูกหนี้เหล่านี้ส่วนใหญ่มีหลักประกัน และได้นำไปพิจารณาในการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญไว้แล้ว ซึ่งมีการตั้งไว้ 6,648.42 ล้านบาท

ครั้น ณ วันที่ 30 กันยายน 2541 บริษัทได้ตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มเป็น 8,769.8 ล้านบาท ทั้งนี้บริษัทมีวงเงินสินเชื่อทั้งหมด 59,622.5 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นวงเงินให้กู้และลูกหนี้ที่ระงับการรับรู้รายได้ตามประกาศของธปท. (ลูกหนี้จัดชั้นสงสัยจะสูญและลูกหนี้จัดชั้นสูญ) 32,760.5 ล้านบาท หรือคิดเป็น 55% ของวงเงินสินเชื่อทั้งหมด

นอกจากนี้ บริษัทยังมีลูกหนี้ที่กล่าวถึงเป็นพิเศษและลูกหนี้จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐานรวมเป็น 13,150.6 ล้านบาท หรือคิดเป็น 22% ของวงเงินสินเชื่อทั้งหมด ลูกหนี้ปกติมี 13,940.5 ล้านบาทหรือคิดเป็น 24.5% ของวงเงินสินเชื่อทั้งหมดเท่านั้น

นี่คือตัวอย่างไฟแนนซ์ชั้นดี ที่ต้องล่มสลายเพราะการทำธุรกิจตามแบบฉบับธนาคารพาณิชย์



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.