บทเรียนจากละตินอเมริกา


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

ทุกวันนี้ภูมิภาคเอเชียมีองค์ประกอบที่จะทำให้การผนวกและซื้อกิจการธนาคารขยายตัวครั้งใหญ่ จากประสบการณ์ของละตินอเมริกาหลังจากเกิดวิกฤตทางการเงินในช่วงกลางทศวรรษ 1990 ได้ชี้ให้เห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเอเชียต่อไป เพราะในช่วงปี 1994-1995 ธนาคารต่างประเทศรายใหญ่ใช้เวลากว่าสองปี ในการฟื้นความมั่นใจทางเศรษฐกิจก่อนจะเริ่มผนวก และซื้อกิจการธนาคารในละตินอเมริกา ขณะที่ในเดือนกรกฎาคมปีนี้จะเข้าสู่ปีที่สามของวิกฤตการณ์ในเอเชีย สภาพกิจกรรมในตลาดในระยะนี้รวมทั้งการรายงานข่าวของสื่อมวลชน เริ่มชี้ให้เห็นว่าความมั่นใจในตลาดเอเชียได้กลับคืนมาอีกครั้ง และจะนำไปสู่การผนวกและซื้อกิจการครั้งใหญ่ในทำนองเดียวกัน

ละตินอเมริกายังให้บทเรียนอีกสามประการแก่เอเชีย ประการแรก ธนาคารที่มีความทะเยอทะยานสามารถใช้การผนวก และซื้อกิจการเป็นช่องทางก้าวกระโดดแซงหน้าผู้นำธุรกิจรายเดิมได้ ในละตินอเมริกา ธนาคารระหว่างประเทศสามแห่งคือ บังโก แซนแทนเดอร์, บังโก บิลบาว วิสจายา และ เอชเอสบีซี ได้ใช้แผนการผนวกและซื้อกิจการในเชิงรุกเปลี่ยนสภาพกิจการของตน ให้เป็นแฟรนไชส์ธนาคารชั้นนำในภูมิภาค โดยมีฐานะในระดับนำในตลาดหลักส่วนใหญ่ กิจการเหล่านี้ยังใช้โมเดลการผนวกและซื้อกิจการที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ที่เด่นชัดของตนเอง และทำให้เพิ่มมูลค่าให้กับการซื้อกิจการด้วย (ตาราง 4) ธนาคารทั้งสามแห่งจึงกลายมาเป็นผู้ผลักดันให้เกิดการผนวก และซื้อกิจการธนาคารละตินอเมริกาไปโดยปริยาย

ประการที่สอง ภาคธุรกิจธนาคารในประเทศของละตินอเมริกามีการผนวกกิจการอย่างรวดเร็ว จากปี 1994-1997 จำนวนสถาบันการเงินในอาร์เจนตินา บราซิล และเวเนซุเอลา ลดลงไป 32% 14% และ 16% ตามลำดับ แบบแผนดังกล่าวก็กำลังจะเกิดในเอเชียเช่นกัน อย่างเช่นในอินโดนีเซียเพิ่งมีการประกาศผนวกกิจการธนาคาร 7 แห่งเข้า เป็นกิจการของรัฐ และปิดกิจการอีก 38 แห่ง โดยรัฐบาลมีเป้าหมายระยะยาวที่จะลดจำนวนธนาคารที่มีอยู่ 237 แห่งลงเหลือ 30 แห่งหรือน้อยกว่านั้น ในทำนองเดียวกัน ธนาคารในเกาหลีใต้ที่ล้มละลาย 5 แห่งถูกบังคับให้รวมกิจการ เป็นแห่งเดียว ส่วนธนาคารขนาดใหญ่ก็ผนวกกิจการเพื่อให้เป็นธนาคารชั้นนำ

ประการที่สาม ธนาคารจากต่างประเทศเข้าไปมีส่วนแบ่งตลาดในละติน อเมริกามากขึ้น ในอาร์เจนตินา สัดส่วนของสินทรัพย์ในประเทศที่ธนาคารต่างประเทศควบคุมมีเพิ่มขึ้นจาก 15% ในปี 1994 เป็น 55% ในปี 1997 ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง ที่เวเนซุเอลาเพิ่มจาก 8% เป็น 40% และในเม็กซิโกเพิ่มจาก 6% เป็น 22% ส่วนในเอเชีย แนวโน้มดังกล่าวยิ่งเห็นเด่นชัดในประเทศไทย จากการที่เอบีเอ็น แอมโร, จีอี แคปิตอล, และดีบีเอส ได้เข้ามามีบทบาทเด่น และที่เกาหลีใต้ ธนาคารชั้นนำสองแห่งก็ต้องขายกิจการให้กับต่างชาติไป

เอาชนะอุปสรรค

ธนาคารที่ต้องการใช้กลยุทธ์การ ผนวกและซื้อกิจการเชิงรุกเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จจะต้องเอาชนะอุปสรรคจำนวนหนึ่ง อย่างแรกก็คือเรื่องการตีราคา เนื่องจากราคาสินทรัพย์มีความผันผวนอย่างยิ่งและการคาดหมายเศรษฐกิจเชิงมหภาคยังไม่น่าเชื่อถือนัก จึงมีผู้ซื้อและผู้ขายกิจการน้อยรายเท่านั้นที่จะตกลงราคาได้ลงตัวง่ายๆ ผู้ขายส่วนใหญ่ซึ่งเชื่อว่าราคาสินทรัพย์ในปัจจุบันค่อนข้างต่ำ กำลังพยายามเพื่อให้ได้ราคาที่ตรงกับสิ่งที่ต้องสูญเสียไป หรือไม่ก็จะต้องเป็นราคาที่ชดเชยกับเงินกู้ยืมซึ่งมักเป็นดอลลาร์ ส่วนผู้ซื้อก็เชื่อว่าสภาพเศรษฐกิจที่ผันผวนในขณะนี้ เป็นการยืนยันถึงความเหมาะสมของการตีราคาที่ค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะอย่าง ยิ่งหากมองจากแง่ของความขาดแคลนข้อมูลที่ดี และความผันผวนเกี่ยวกับ เงินกู้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และเงินได้คืนจากหลักทรัพย์ค้ำประกัน สมมติฐาน ที่แตกต่างกันเหล่านี้รวมทั้งปัจจัยหลักอื่นๆ ซึ่งมาจากมุมมองสภาพการณ์ที่แตกต่างกัน สามารถทำให้การตีราคาธนาคารเป้าหมายขึ้นลงได้ถึง 300%

มีบ่อยครั้งที่ผู้ขายบอกราคาสูงกว่าที่ผู้ซื้อยินดีจ่ายถึง 2-3 เท่า เช่น กรณีที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ที่อินโดนีเซีย ฝ่ายผู้ขายปฏิเสธที่จะพิจารณาข้อเสนอราคาที่ต่ำกว่า 20 เท่าของมูลค่าตลาดยิ่ง กว่านั้น ความจริงที่ว่า ผู้ขายที่มีศักย ภาพจำนวนมาก เป็นคนในรุ่นที่สามหรือสี่ของเจ้าของกิจการที่ดำเนินธุรกิจแบบครอบครัว ซึ่งทำให้ธุรกิจมีค่ามากกว่าปริมาณเงินหมุนเวียน ดังนั้น "ช่องว่างของมุมมองเรื่องมูลค่า" ระหว่างผู้ซื้อและขายจึงทำให้โครงสร้างการตกลงซื้อกิจการแบบตรงไปตรงมา ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ แต่ต้องใช้ข้อเสนอที่สร้างสรรค์และยืดหยุ่นกว่านี้ ซึ่งอาจรวมถึงเรื่องของหนี้ค้างชำระและกลไกการปรับราคา อีกทั้งการจัดโครงสร้าง การบริหารโดยที่ฝ่ายผู้ซื้อจะเข้าควบคุมด้านการบริหารกิจการเป้าหมายอย่างค่อยเป็นค่อยไป และยอมให้อดีตเจ้า ของกิจการยังคงมีบทบาทเด่นชัดในธุรกิจ ในระยะแรก

ฝ่ายผู้ซื้อกิจการยังจะต้องเข้าใจด้วยว่าเจ้าหน้าที่ภาครัฐนั้นมีบทบาทสำคัญในการซื้อขายกิจการ ด้วยขณะ นี้ข้อกำหนดต่างๆ เกี่ยวกับธนาคารในเอเชียหลายประเทศยังคงไม่ชัดแจ้ง หรือกำลังมีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว บ่อยครั้งมีการแก้กฎหมาย เพื่อผ่อน ปรนให้มีการซื้อขายกิจการได้ เมื่อใดที่ข้อกำหนดเหล่านี้มีผลกระทบต่อมูลค่าของธนาคาร ความผันผวนเหล่านี้จะต้องนำมาเป็นปัจจัยในการคิดคำนวณราคาด้วย ยิ่งกว่านั้น การสนับสนุนจากรัฐบาลซึ่งมักอยู่ในรูปของข้อตกลงแบ่งส่วนยอดขาดทุน หรือประมาณการหนี้เสียก็จะมีบทบาทสำคัญที่จะทำให้การตกลงซื้อขายดำเนินไปได้ ผู้ซื้อที่ประสบ ความสำเร็จจึงต้องถือว่าธนาคารกลางและรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการซื้อขายกิจการ โดยต้องรวมกลุ่มเหล่านี้เข้ามาด้วยในทุกขั้นตอน

ผู้ซื้อกิจการที่ประสบความสำเร็จ ยังต้องเผชิญอุปสรรคในเรื่องการตรวจสอบบัญชีในภาวะที่ไม่อาจหาข้อมูลที่มากพอและเชื่อถือได้ ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลเกี่ยวกับผู้กู้ซึ่งบางครั้งเกือบจะเป็นข้อมูลเชิงคุณภาพที่ไม่มีหลักฐานทางการเงิน หรือรายงานความน่าเชื่อประกอบ แม้ว่าธนาคารในประเทศจะเข้าใจและยอมรับแนวปฏิบัติเช่นนี้ สิ่งนี้กลับทำให้ผู้ซื้อกิจการจากต่างประเทศ ที่เป็นหน้าใหม่ในตลาดมีความยุ่งยากยิ่งขึ้น กิจการเหล่านี้อาจต้องจัดหาทีมผู้บริหาร และที่ปรึกษาที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดอย่างลึกซึ้งเพื่อที่จะสนับสนุนสำนักงานใหญ่

ด้วยเหตุนี้ การซื้อกิจการจึงจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรอย่างมหาศาล ดังเช่นที่ซิตี้แบงก์ได้ส่งเจ้าหน้าที่ราว 50-100 คน รวมทั้งนักการธนาคารจากต่างประเทศมาประจำที่ธนาคารสาขาในกรุงเทพฯ แต่ทีมตรวจสอบบัญชีดังกล่าวก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหา จนในท้ายที่สุดก็ทำลายการซื้อขายกิจการไปเสีย หรือกรณีการซื้อขายกิจการขนาดเล็กอีกแห่งหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ฝ่ายผู้ซื้อจะต้องจัดทีมตรวจสอบบัญชีกว่า 20 คนเป็นเวลาถึงสองเดือน และหากถือว่าเงินกู้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เป็นปัญหาสำคัญแล้ว ทีมตรวจสอบบัญชีก็จะต้องมีผู้บริหารระดับสูงทางด้านสินเชื่อ และความเสี่ยงจากสำนักงานใหญ่มาร่วมในการวิเคราะห์ด้วย

นอกจากนั้น ยังมีข้อควรระวังเป็นพิเศษเกี่ยวกับราคาการซื้อขายกิจการและอุปสรรคในการทำ syner-gies เนื่องจากสัดส่วนของราคาตลาดต่อมูลค่าหน้าบัญชีได้ลดลงจากระดับเฉลี่ยที่ 2.4 ในปี 1996 เป็น 0.8 ในปี 1998 สำหรับกิจการภาคเอกชนในอินโด นีเซีย มาเลเซีย เกาหลีใต้ และไทย แต่เมื่อประเมินจากกระแสเงินสดหมุน เวียน เมื่อหักดอกเบี้ยแล้ว ราคากลับไม่ได้ลดลงมาที่ระดับฐานในการเจรจาซื้อขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่มีผู้สนใจซื้อกิจการหลายราย ด้วยเหตุนี้ การซื้อกิจการส่วนใหญ่ในเอเชียจึงไม่อาจจะสร้างมูลค่าได้ หากฝ่ายผู้ซื้อไม่สามารถทำ synergies ด้านต้นทุนและรายได้ได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม การทำ syner-gies ในธุรกิจธนาคารในเอเชียก็ยังคงเป็นไปได้แม้ในสภาพการณ์ที่ไร้การแข่งขัน และขาดความทันสมัยดังที่เป็นอยู่ อย่างในเกาหลีใต้ ขณะที่ฝ่ายทหารยืนยันสนับสนุนวิธีการลดต้นทุน ข้างรัฐบาลยังลังเลที่จะเผชิญปัญหาคนว่างงานเพิ่มขึ้นจากเดิม ดังนั้น ไม่ว่าจะในประเทศใดก็ตาม การเฟ้นหาวิธีการดีที่สุดสำหรับการบริหารสินเชื่อ ด้านเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร และการขายบริการธนาคารอื่นๆ ย่อมเป็นเรื่องที่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูงและอาศัยระยะเวลา

ผู้ซื้อกิจการที่ประสบความสำเร็จ จึงต้องเจรจาซื้อกิจการโดยมีความเข้าใจ แจ่มแจ้งเกี่ยวกับแหล่งและขอบข่ายของ โอกาสในการสร้างโอกาส ผู้ซื้อกิจการที่ประกอบธุรกิจธนาคารอยู่เดิม (อย่างเช่น เอบีเอ็น แอมโรและดีบีเอส) และผู้ซื้อกิจการที่ไม่ได้ประกอบธุรกิจธนาคาร (เช่น นิวบริดจ์) จะเริ่มเตรียมการสำหรับการผนวกกิจการเป้าหมายและมุ่งหาโอกาสเพิ่มผลกำไร โดยอาจจะดำเนินการก่อนหน้าที่ทีมตรวจสอบบัญชีจะวิเคราะห์เสร็จด้วยซ้ำ

ธนาคารทุกแห่งในเอเชียจะต้องพิจารณานัยเชิงกลยุทธ์ของกระแสการผนวก และซื้อกิจการที่กำลังมาแรงขณะนี้ ธนาคารใดก้าวรุกไปอย่างเอาจริงเอาจังย่อมมีโอกาสที่จะปรับเปลี่ยนอุตสาห-กรรมธนาคารในเอเชียและรักษาความเป็นผู้นำไว้ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในละติน อเมริกาและสิ่งที่เอเชียกำลังเผชิญหน้าอยู่ ชี้ให้เห็นว่าวิกฤตการณ์ทางการเงินนั้นจะเป็นตัวปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมธนาคารอย่างรวดเร็ว และยังผลให้มีทั้งผู้แพ้และผู้ชนะ ดังจะเห็นได้ว่า ก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤตในละตินอเมริกา ธนาคารอย่างบังโก แซนแทนเดอร์, บัง-โก บิลบาว วิสจายา และเอชเอสบีซี ต่างก็เป็นธนาคารขนาดเล็กในภูมิภาค ทว่า ก็ได้ก้าวขึ้นเป็นธนาคารชั้นนำได้ภายหลังจากนั้นสี่ปี

ดังนั้น เมื่อวิกฤตธนาคารในเอเชียผ่านไป จะมีธนาคารเพียงไม่กี่แห่งที่ผงาดขึ้นเป็นผู้นำในแต่ละประเทศ และไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นธนาคารที่เป็นผู้นำอยู่ในขณะนี้ ธนาคารอีกราวสองหรือสามแห่งจะประสบความสำเร็จในการสร้างตัวเป็นแฟรนไชส์ของธนาคาร ระดับภูมิภาคและก้าวขึ้นเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียได้ ผู้ที่ก้าวนำไปก่อนแล้วก็มีเอบีเอ็น แอมโร, ดีบีเอส, และเอชเอส บีซี แต่การซื้อขายกิจการซึ่งจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมแขนงนี้ในเอเชียจะยังดำเนินต่อไปอีก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.