"ลูกประคบสมุนไพร" ภูมิปัญญา ชาวบ้านอย่างหนึ่งที่ถูกนำมาสู่วิถีชีวิตชาวกรุง
และกำลังบริหารจัดการ ให้กลายเป็นธุรกิจ มันจะเป็นไปได้อย่างไร มีช่องทางไหนบ้างเพราะหลายๆ
คนยังไม่เคยรู้จัก หรือได้ยินชื่อด้วยซ้ำไป
บ่ายวันหนึ่งเมื่อประมาณกลางเดือนมินายน "ลูกประคบสมุนไพร" ของ โครงการสมุนไพรดอยน้ำซับ
ปรากฏโฉม ในงาน "รวมน้ำใจ" ที่จัดขึ้นที่กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์
ก็พบว่าเจ้าชื่อประหลาดๆ นี้ในคนบางกลุ่มเขากลับรู้จักกันดี และใช้ประโยชน์
กันมาช้านานแล้ว
ก็เลยได้ยินลูกค้าบางรายพูดว่า "แหมดีจังหามานานแล้ว เอาไปนึ่งแล้ว ประคบได้เลยใช่มั้ย"
ในขณะที่หลายๆ รายกลับทำหน้างุนงงแล้วถามว่า "นี่คือ อะไร"
โครงการสมุนไพรดอยน้ำซับ เป็น ผลผลิตจากกลุ่มเกษตรกรดอยตุง จังหวัดเชียงราย
ซึ่งได้สืบทอดสูตรลูกประคบมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน ทุกวันนี้จะหาผู้ที่ทำลูกประคบที่ครบสูตร
ตามตำราโบราณซึ่งต้องใช้สมุนไพร 9-10 ชนิดนั้นยากเต็มทีเพราะสมุนไพรบางอย่างหาได้ยาก
และมีปลูกกันเพียงบางพื้นที่เท่านั้น คุณสมบัติที่ชาวบ้านเชื่อถือกันมานานก็คือเมื่อนำลูกประคบไปผ่านความร้อน
และเอามาประคบจะทำให้เนื้อเยื่อพังผืดยืดตัวออก ลดการติดขัดของข้อต่อและการเกร็งของกล้ามเนื้อ
ช่วยลดอาการบวมที่เกิดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อหลังบาดเจ็บ 24-48 ชั่วโมงรวมทั้งการปวดเมื่อยต่างๆ
ดุษฎี วิสุทธิศักดิ์ชัย นักศึกษาปริญญาโทคณะพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
(NIDA) ผู้นำเอาภูมิปัญญาชาวบ้านสู่วิถีชีวิตคนเมืองเล่าให้ฟังถึงจุดที่ได้ทำธุรกิจนี้ว่าเมื่อประมาณปลายปี
2541ได้เข้าไปทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของธนาคารออมสิน เพื่อทำงานเกี่ยวกับเรื่องของกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม
(Social Investment Fund-SIF) ซึ่ง รัฐบาลให้งบประมาณธนาคารออมสินมาประมาณ
6,000 ล้านบาท เพื่อ ช่วยเหลือในเรื่องอาชีพของชาวบ้าน
ในช่วงเวลาที่ตนเองลงไปสำรวจพื้นที่ก็พบว่าชาวบ้านมีการปลูกสมุนไพร ต่างๆ
ไว้เยอะมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็น การปลูกเพื่อใช้กันเองในครัวเรือน ซึ่งทันทีที่เห็นก็เกิดแนวความคิดขึ้นมาว่าจะสนับสนุนให้สมุนไพรที่ไร้ค่านี้
แปรเปลี่ยนเป็นพืชเศรษฐกิจให้ได้
"บังเอิญสนใจและศึกษาเรื่องสมุนไพรมานานรู้ว่าตัวไหนมีคุณสมบัติ ทางตัวยาอย่างไรบ้างและด้วยจิตสำนึก
ของเรา เราก็ไม่อยากให้คนไทยใช้ของ แพงอยู่แล้วก็เลยคิดจะทำเป็นลูกประคบขึ้น"
สาเหตุของความมุ่งมั่นอีกอย่างหนึ่งของเธอ ก็คือมีอยู่ช่วงหนึ่งแม่ของสามีไม่สบายสมองซีกซ้ายมีปัญหาเลือด
ไปเลี้ยงสมองไม่ได้มีผลให้กล้ามเนื้อบาง ส่วนขยับไม่ได้ ก็ต้องมีการกระตุ้นทำกายภาพ
ก็เลยทำลูกประคบสดๆ ไปนั่งประคบกัน
"แต่ตอนนั้นก็หาซื้อตัวยายากมาก เลยนะ กว่าจะได้ หลังจากการประคบอาการของคุณแม่ก็ดีขึ้นมาก็เลยมีความ
ตั้งใจจะทำตรงนี้ คือคนที่ต้องการก็ไม่ต้องขวนขวายหาซื้อสมุนไพรให้ยุ่งยากเราทำสำเร็จรูปให้เสร็จ
เขาก็เอาไปนึ่งอย่างเดียว"
จากคนที่ไม่เคยทำธุรกิจด้านค้าขายมาก่อนแรกๆ เธอก็สับสนเหมือนกันว่าจะเริ่มตรงจุดไหน
จะทำตลาดอย่างไร และข้อสำคัญจะมีคนสนใจลูกประคบนี้แค่ไหน เธอได้นำเรื่องมาปรึกษาอาจารย์วิชัย
รูปขำดี อาจารย์ที่ปรึกษาของคณะพัฒนาสังคมที่นิด้า ก็ได้รับคำแนะนำว่าต้องทำการวิจัยตาม
หลักวิชาการว่าสินค้าที่เราผลิตออกไปตลาดต้องการหรือเปล่า ก็เลยมีการสุ่มด้วยการออกแบบสอบถามผลปรากฏว่า
80 กว่าเปอร์เซ็นต์ ต้องการสินค้าตัวนี้ เมื่อรู้ว่าคนต้องการเธอก็ยิ่งมั่นใจกับสินค้าตัวนี้มากขึ้น
หลังจากนั้นเธอก็ขอให้แกนนำของหมู่บ้านไปสำรวจดูแต่ละท้องที่ ว่าแต่ละบ้านมีที่ทำกินหลังละเท่าไหร่
ให้เขาแบ่งมาบ้านละ 1 ไร่ ปลูกสมุนไพร ตะไคร้ ขมิ้นอ้อยและตัวยาอื่นๆ ตามที่ต้องการ
ส่วนที่มีอยู่แล้วก็ให้หั่นตากแห้งไว้ โชคดีที่เธอมีน้องสาวคือ ปวลี นำภา
ซึ่งเคยเป็นครูชาวดอยแห่งหมู่บ้านป่าคา ของมูลนิธิแฮรี่ดูแลนส์ คอยเป็นตัวประสานงานกับชุมชนอยู่ที่เชียงราย
ตัวเองจะคอยดูเรื่องการบริหารจัดการที่กรุงเทพฯ
บ้านในเรื่องนี้อาจจะไม่เกิดผลหากชาวบ้านไม่มีทุนไปไถ่ที่หรือไปหาพื้นที่ขยายเพิ่มขึ้น
ดุษฎีเองก็เลยเอาขบวนการของกองทุนชุมชนเข้ามาช่วยเหลือแนะนำ ให้ดำเนินการตามกฎเกณฑ์ของธนาคารออมสินที่เขาวางไว้
ซึ่งชาวบ้านจะได้เงินจากกองทุน สนับสนุนหรือไม่จะขึ้นอยู่กับความพร้อมของชุมชนเอง
แต่เธอก็คิดว่าถึงแม้ชุมชนจะไม่ได้รับเงินสนับสนุนก็ไม่เป็นไรจะมีการรับซื้อพืชสมุนไพรที่ปลูก
อยู่แล้ว เพียงแต่ถ้าได้เงินกองทุนตรงนั้นมาโอกาสในการขยายพื้นที่ก็จะมากขึ้น
แต่ขั้นตอนการผลิตก็ไม่ได้ให้ชาว บ้านทำทั้งหมด เพราะกลัวว่าจะควบคุม คุณภาพไม่ได้เลยตัดตอนเอามาผลิตเอง
โดยเอาวัตถุดิบที่ตากแห้งมาแล้วทำความสะอาดโดยการอบที่ไม่ได้ใช้ความ ร้อน
หลังจากนั้นก็ทำการทดลองกับญาติพี่น้องลองดูว่าตัวยาจะอยู่ได้กี่วัน ใช้ได้กี่ครั้ง
พร้อมกับเริ่มคิดที่จะดีไซน์แพกกิ้ง เป็นลูกประคบ 2 ลูกห่อด้วยผ้าดิบบรรจุในถุงพลาสติก
1 ชุด ทั้งหมด ทำด้วยมือทั้งสิ้น
"เอาออกขายงานแรกเมื่อวันที่ 12 เมษายนปีนี้ ที่วัดสวนแก้ว ตอนนั้นไม่มั่นใจเลยนะว่าผลจะเป็นอย่างไร
แต่ปรากฏว่าขายได้ดีเลย"
จากการออกงานในวันนั้นเอง เธอ เล่าว่ามีเจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าคนหนึ่งเขาเป็นนักวิ่งมาราธอนเข้ามาคุยด้วย
และบอกว่าในกลุ่มของเขาจะมีนักวิ่งเยอะมากซึ่งตัวนี้จะเป็นที่ต้อง การมากและได้เสนอเป็นตัวแทน
"ตอนนั้นเราก็ไม่คิดว่าจะให้คนอื่นเป็นตัวแทน เพราะคิดว่าทำขายลองตลาดดูเท่านั้น
ครั้งแรกที่เขาสั่งมา 100 ชุด เป็นตัวแทนขายให้เราที่วัดสวนแก้วแล้วถ้ามีงานวิ่งมาราธอนที่ไหนเขาก็จะสั่งเพิ่ม
ช่วงเดือนที่แล้วเขาสั่งเราเกือบ 300 ชุด"
หลังจากวัดสวนแก้วแล้วครั้งที่ 2 ก็จะมีงานชุมนุมแพทย์แผนไทยครั้งที่ 3
ที่กระทรวงสาธารณสุข
"ที่นี่เรียกง่ายๆ ว่าเราได้เกิด วันหนึ่งสามารถขายได้ประมาณ 100 ชุด คนมุงจนตอนนั้นทีวีช่อง
3 ช่อง 5 มา จับภาพไปออกอากาศ คนจะเห็นจากทีวี ส่วนหนึ่ง ตอนนั้นทำไม่ทันเลยต้องเกณฑ์พวกญาติๆ
มานั่งทำกันใหญ่ เสร็จงานแล้วมีลูกค้าบางรายโทรเข้ามาขอบคุณว่าเอาไปใช้แล้วได้ผล
เรารับโทรศัพท์นี่น้ำตาแทบไหล" เธอเล่าให้ฟังอย่างภูมิใจ และบอกว่าแผนทางการตลาดต่อไปก็คงเน้นไปขายตามงานออกร้าน
พร้อมๆ กับเปิดร้านขายที่บ้านโดยเฉลี่ยแล้วอาทิตย์ละ 100 ชุดต้องขายได้ ส่วนช่วงไหนมีงานออกร้านก็จะมากกว่านั้น
วันนี้คือจุดเริ่มต้นของธุรกิจลูกประคบของดุษฎี ซึ่งเธอมั่นใจว่าหากสามารถรักษาคุณภาพให้คงที่อย่างสม่ำ
เสมอ ก็จะเป็นการรักษาลูกค้าของตนเองได้นาน และเพิ่มทวีมากขึ้น โดยไม่มีผลกระทบต่อการที่มีผู้ค้ารายอื่นที่ทำเลียนแบบ
และขณะเดียวกันชาวบ้านก็จะได้มีงานทำอย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเช่นกัน