เกาะเกร็ด! ระวังบูมแบบไฟไหม้ฟาง


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อสมัยยุคทองของการทำธุรกิจ ที่ดินนั้น "เกาะเกร็ด" หรือตำบลเกาะเกร็ด ในจังหวัดนนทบุรีเคยที่เป็นที่หมายปอง ของบรรดานักพัฒนาที่ดินหลายรายในการที่จะเข้าไปพัฒนาพื้นที่ประมาณ 2,800 ไร่นี้ให้เป็นเมืองที่พักตากอากาศ กลางแม่น้ำเจ้าพระยาโชคดีที่เกิดวิกฤติทางด้านการเงินเสียก่อน แผนการเหล่านั้นเลยถูกพับเก็บ เกาะเกร็ดก็เลยยังเป็น เพียงเกาะเล็กๆ ที่เงียบสงบต่อไป

แต่วันนี้...เกาะเกร็ดกำลังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ใครๆ รู้จักมากขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวนับเป็นพันคนได้เดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในวันเสาร์-อาทิตย์ พร้อมๆ กับร้านค้าต่างๆ ผุดขึ้นมาอย่าง มากมาย เตาเผาเครื่องปั้นดินเผาหลาย แห่งที่เคยปิดทิ้งร้างเอาไว้เพราะเจ้าของอพยพโยกย้ายไปหาที่ทำกินใหม่ในเมือง หรือเลิกอาชีพไปแล้วถูกจุดให้ คุกรุ่นขึ้นมาอีกครั้ง บ้านช่องที่เคยเงียบ เหงา ถูกเปิดเป็นร้านค้าย่อย นอกจาก จะขายเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นอาชีพหลักดั้งเดิมของคนบนเกาะนี้แล้ว ร้านค้าขายอาหารพื้นเมืองของชาวมอญ อย่างเช่นแกงหน่อกะลา แกงบอน ขนมนางละคร ถูกผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีฝีมือซึ่งเดิมเคยทำกินกันแต่เพียงในครัวเรือน จัดส่วนหนึ่งของบ้านเป็นร้านขายขึ้นเพื่อคอยบริการคนที่มาเที่ยวบนเกาะ

วิถีชีวิตของชาวบ้านที่เคยอยู่กันอย่างเงียบๆ มากว่า 200 ปีเริ่มจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นกันทำอย่างไรที่จะไม่ทำให้ลมหายใจของธุรกิจ ที่กำลังจ่อรดต้นคอผู้คนบนเกาะนั้น กลายเป็นสิ่งทำลายความสวยงามทางธรรมชาติ ทำลายวัฒนธรรมและอาชีพดั้งเดิมของชาวบ้าน เรื่องนี้คนในตำบลเกาะเกร็ดจะต้องเป็นผู้ค้นหาคำตอบ นั้นด้วยตัวเอง และต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเพื่อที่จะได้สร้างเกราะป้องกันไม่ให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น เหมือน กับที่เคยเกิดขึ้นแล้วกับแหล่งท่องเที่ยว อื่นๆ ในเมืองไทย

ภาพของสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้เมื่อ นักท่องเที่ยวเข้ามาอย่างมากมาย ก็คือความสกปรกรกรุงรังบนเกาะ มีการฉวยโอกาสตั้งราคาของสินค้าแพงขึ้น มีการรับสินค้าภายนอกเข้ามาขาย รวมทั้งมีการเปลี่ยนมือให้เช่าหน้าร้านจากเจ้าของดั้งเดิม เปิดโอกาสให้นักลงทุนหัวใสจากถิ่นอื่นเข้าไปลงทุน ซึ่งคนเหล่านั้นอาจจะไม่มีความผูกพันและไม่รักท้องถิ่นเหมือนชาวบ้านแท้ๆ จนอาจจะเกิดความขัดแย้ง เกิดปัญหาระหว่างผู้ค้าขาย ขึ้นได้เช่นกัน

"บางบ้านอาจจะไปรับสินค้าจาก ที่อื่นมาขายเช่นสินค้าจากจังหวัดสุโขทัย สินค้าจากด่านเกวียน ก็จะเข้ามาเหมือน กัน เพราะตอนนี้มันบูมมากปั้นกันไม่ทัน คนมีฝีมือจริงของครอบครัวไปทำกินที่อื่นหรือเลิกปั้นกันก่อนหน้านี้ หมดแล้วคนซื้อเองก็ต้องดูเป็น" เจ้าของร้านค้าร้านหนึ่งเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ถ้าชาวบ้านไม่ เข้าใจ ผู้บริหารส่วนท้องถิ่นเองไม่ให้ความสำคัญ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยวอาจลดลงในเวลาอันใกล้ ได้ เพราะหาความเป็นเอกลักษณ์ หรือ ความแปลกใหม่บนเกาะนี้ไม่ได้แล้ว

วัชรินทร์ โรจนพานิช นายอำเภอ ปากเกร็ดคนปัจจุบันได้ยืนยันกับ "ผู้จัดการ" ว่าทางอำเภอมีการประชุม ชาวบ้านอย่างสม่ำเสมอ เพื่อพูดถึงปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น แน่นอนทางเจ้าหน้าที่บังคับไม่ได้ทุกเรื่อง อย่างเช่นไปบอกให้เขาไม่ควรขายของบางอย่างไม่ได้ หรือบังคับไม่ให้ใครมาเช่าที่ดินเขา เพื่อค้ากำไรเกินควรก็ไม่ได้ แต่พยายามชี้แจงให้ชาวบ้านเห็นผลเสีย อย่างที่เคยเกิดมาแล้วในสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ที่บูมขึ้นแค่ไม่นานก็เงียบ นักท่องเที่ยวหายหมด

"อย่างเช่นธุรกิจคาราโอเกะที่เคย มีคนคิดจะเปิด แต่เมื่อชาวบ้านเขาเข้าใจว่าจุดขายของเขาอยู่ที่ไหนเขาก็คัด ค้านกันเอง จนต้องเลิกไป"

การทำให้เกาะเกร็ดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นดาวรุ่งพุ่งแรง อย่างในทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา จุดที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาคือ สภาพของชุมชนบนเกาะนั้นจะมีลักษณะกึ่งเมืองกึ่งชนบท เพราะอยู่ติดกับเมืองใหญ่คือกรุงเทพฯ มากมีการคมนาคมที่สะดวกส่วนใหญ่เลยมีการใช้ชีวิตแบบต่างคนต่างอยู่เหมือนคนเมืองโดยทั่วไป บางคนต้องการความเป็นอยู่ที่ทันสมัย เช่นต้องการสร้างสะพาน ข้ามเกาะเชื่อม ต่อกับตัวจังหวัด เพื่อให้ความเจริญไหลมาง่ายเข้า มีถนนที่รถยนต์เข้าถึง แต่บางกลุ่มก็ต้องการความเป็นอยู่แบบอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแบบดั้งเดิม ความขัดแย้งที่มีอยู่นั้นทำให้ชาวบ้านขาดความสัมพันธ์ และไม่มีการรวมกลุ่มกันเท่าที่ควร แต่ในขณะเดียวกันก็มีจุดเด่นที่น่าสนใจมากๆ คือนอกจากเป็นเกาะกลางแม่น้ำที่มีทิวทัศน์สวยงามที่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานครแล้ว บนเกาะ ยังมีวัดที่เป็นโบราณสถานที่มีวัตถุ โบราณที่สวยงาม มีการรักษาอนุรักษ์รักษาวัฒนธรรมประเพณี และอาชีพดั้งเดิมของชาวมอญ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่จะดึงเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาอนุชนรุ่นหลัง ให้สืบทอดมรดกทางด้านศิลปวัฒนธรรมที่มีคุณค่า ให้คงอยู่เพื่อเสริมสร้างให้เกาะเกร็ดมีศักยภาพเพียงพอ สำหรับเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างต่อเนื่อง

"สิ่งแรกที่เราได้พยายามทำก็คือชี้แจงให้ชาวบ้านเห็นว่าการพัฒนาการ ท่องเที่ยวเป็นการสร้างรายได้เพิ่ม ในขณะเดียวกันก็จะมีการส่งเสริมฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้าน เพื่อรักษาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ และความ เป็นธรรมชาติ และที่สำคัญเราจะให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันเองในการพัฒนา ต้องการหรือไม่ต้องการในเรื่องอะไร พยายามสร้างองค์กรให้ชาวบ้านดูแลกันเอง ให้ความสำคัญกับชาวบ้าน ให้เขารักเพื่อนบ้านรักท้องถิ่น เจ้าหน้าที่เป็นเพียงผู้ให้แนวความคิดเพื่อเป็นจุดเริ่มต้น และให้คำปรึกษาแนะนำเท่านั้น" นายอำเภอเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงการ เริ่มงานพัฒนาเกาะเกร็ดครั้งแรกเมื่อเข้ารับตำแหน่งใหม่เมื่อประมาณปี 2539

เมื่อชาวบ้านเข้าใจและเห็นด้วย ก็ค่อยๆ เกิดการรวมตัวกันและมีความกระตือรือร้นที่จะพบปะสังสรรค์ และร่วมมือกันพัฒนาในเรื่องต่างๆ

หลังจากนั้นก็มีการเปิดอเมซิ่งเป็นครั้งแรกที่เกาะเกร็ดเมื่อเดือนตุลาคม 2540 มีการประชาสัมพันธ์อย่างเต็มที่ และมีการจัดกิจกรรมต่อเนื่อง สอดคล้องกับปีการท่องเที่ยวไทยในปี 2541 และ 2542 ทำให้การท่องเที่ยวที่เกาะแห่งนี้เริ่มคึกคักตั้งแต่ต้นปี 2541 เป็นต้น ย้อนยุคกลับไปสู่สมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อปีพ.ศ. 2265 ในสมัยสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ได้มีการขุดคลองลัดลำน้ำเจ้าพระยา ตรงที่เป็นแหลมยื่นไปตามความโค้งของแม่น้ำเจ้าพระยา เรียกคลองนี้ว่าคลองลัดเกร็ดน้อย ขนาด กว้าง 6 วายาว 39 เส้นเศษ ลึก 6 ศอก และต่อมากระแส น้ำได้เปลี่ยนทิศทาง ทำให้คลองขยายกว้างขึ้น เพราะถูกความแรงของกระแส น้ำเซาะตลิ่งพังจึงกลายเป็นแม่น้ำลัดเกร็ด และเกาะเกร็ด อยู่ในทุกวันนี้ โดยที่ต่อมาได้มีชาวมอญอพยพมาตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ และประกอบอาชีพ เครื่องปั้นดินเผา เกาะเกร็ดจึงเป็นชุมชนการค้าขาย และศูนย์กลางทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาวมอญแต่นั้นเป็นต้นมา ปัจจุบันเกาะเกร็ดมีประชากรรวมประมาณ 6 พันกว่าคน มีประชากรเชื้อชาติมอญร้อยละ 43 จุดท่องเที่ยวที่สำคัญบนเกาะเช่น วัด ปรมัยยิกาวาส ซึ่งเป็นวัดหลวงสร้าง มาตั้งแต่สมัยอยุธยา จากวัดนี้ก็จะมีทางเดินเท้าเล็กๆ ไปยังหมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผา และร้านค้าต่างๆ รวมทั้งศูนย์ เครื่องปั้นดินเผา "กวานอาม่าน" หรือจะล่องเรือเข้าไปในคลองบางบัวทอง หรือคลองขนมหวาน ชมหมู่บ้านขนมไทยสองฝั่งคลอง และขณะนี้ทางอำเภอ ได้งบจากกรมโยธาธิการประมาณ 10 ล้านบาทเพื่อปรับปรุงถนนทางเดินเท้าซึ่งทำด้วยซีเมนต์ความกว้างประมาณ 3 เมตรซึ่งถ้าหากพัฒนาเสร็จก็จะเป็นจุดขายที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง เพราะนักท่องเที่ยวสามารถเดินเท้าได้รอบๆ เกาะ รวมทั้งสามารถเช่า เรือที่มีบริการล่องเรือเที่ยวสวนผลไม้ได้รอบๆ เกาะอีกด้วย

กิจกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ทางอำเภอจะต้องจัดขึ้นเพื่อเป็นการพัฒนา ชาวบ้านก็คือการฝึกอบรมชาวบ้านให้มีความรู้ในการเป็นมัคคุเทศก์ จัดฝึกอบรมให้ชาวบ้านมีความรู้และทักษะใน เรื่องการปั้นเครื่องปั้นดินเผา รวมทั้งการเตรียมพัฒนาองค์กรชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้วยตัวเอง

หากกิจกรรมต่างๆ ดังกล่าวได้รับการสานต่ออย่างต่อเนื่องจากองค์กรของชุมชนเอง และเจ้าหน้าที่ของรัฐเกาะเกร็ด ก็จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยาวนานตลอดไปได้เช่นกัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.