เรื่องเล่น ๆ ที่เป็นเงิน


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

บรรดานักโต้คลื่นชาวไทยบนอินเตอร์เน็ตหลายคนคุ้นเคยกับเว็บไซต์ (pantip.com) หรือ (sanook.com) เพราะ มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันบนเว็บไปแล้ว

ในแต่ละวันจะมีคนจำนวนมากที่เปิด (lock in) เข้าเว็บ ไซต์เหล่านี้ เพื่อหาเพื่อนใหม่ในห้องสนทนา (Chatroom) หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกระทู้ต่างๆ ในห้องที่จัดแบ่งไว้ตามความสนใจ และมีอีกไม่น้อยที่เข้าไปหาซื้อชิ้นส่วนคอม พิวเตอร์ อาทิ โมเด็ม ฮาร์ดดิสก์ ซีดีรอม

แต่ละวันจะมีคนล็อกอินเข้าไปในเว็บไซต์ของ pantip. com และ sanook.com ไม่ต่ำกว่า 50,000 รายต่อวัน เป็น ตัวเลขที่น่าสนใจไม่น้อย เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ใช้อินเตอร์ เน็ตในไทยที่มีอยู่ประมาณ 2-3 แสนราย

ยิ่งเมื่อบวกกับกระแสความสำเร็จของ yahoo.com หรือพวกบรรดา amazon.com ในสหรัฐอเมริกา เป็นแรงส่งทำให้ pantip.com และ sanook.com ด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป

จนทำให้เกิดคำถามว่า จะมีเว็บไซต์คนไทย ที่จะสามารถ เดินตามรอยบรรดา yahoo.com หรืออะเมซอนดอทคอม ที่ ร่ำรวยจากการขายหุ้น หรือเข้าตลาดหลักทรัพย์ แม้ว่าเนื้อแท้ของธุรกิจจะขาดทุนก็ตาม

"ผู้จัดการ" สนทนากับ วันฉัตร ผดุงรัตน์ ผู้สร้างเว็บไซต์ pantip.com พร้อมกับทีมงานอีก 2 คนในบ่ายวันหนึ่งที่ร้านแมคโดนัลด์ สาขาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

อภิศิลป์ ตรุงกานนท์ หรือบอย นักศึกษาปี 4 วิศว กรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รับหน้าที่พัฒนาโปรแกรม และ ฤทธิชาติ ศิริวงศ์ ณ อยุธยา หรือบอยโปรแกรมเมอร์ของบริษัทซอฟต์แวร์จากต่างประเทศ รับหน้าที่ออกแบบเว็บ และงานกราฟิก ทั้งสองเป็นกลุ่ม ผู้ใช้รุ่นแรกๆ ของ pantip.com และต่อมาได้กลายเป็นทีมงานของ pantip.com

ปกติแล้วหากไม่ต้องออกไปพบปะกับลูกค้าที่จะมาลงโฆษณาบนเว็บ pantip.com แล้ว วันฉัตรจะนั่งทำงานอยู่ที่บ้าน และติดต่อกับอภิศิลป์ และ ฤทธิชาติ ผ่านอี-เมล และจะนัดประชุมแบบเห็นหน้าเห็นตากันเดือนละครั้ง

วันฉัตรเคยทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์อยู่ที่การบินไทยเกือบ 8 ปี ก่อนจะออกมาร่วมหุ้นกับเพื่อนทำธุรกิจนำเข้าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์จากไต้หวัน ซึ่งเป็นจังหวะที่ทำให้เขาได้สัมผัสกับอินเตอร์เน็ต

"ตอนนั้นผมไม่คิดอะไรมากไปกว่าต้องการใช้อีเมลเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการส่งแฟกซ์ ตกเดือนละ 3-4 พันบาท ทำให้ ลดค่าใช้จ่ายไปได้เยอะ"

วันฉัตรเริ่มหันมาศึกษาอินเตอร์เน็ต สิ่งที่เขาพบคือ ทำไมอินเตอร์เน็ตมีแต่ข้อมูลที่เป็นภาษาอังกฤษ ความคิดในการสร้างแมกกาซีนด้านคอมพิวเตอร์บนอินเตอร์เน็ต มีคนมาเขียนคอลัมน์ให้ มีรายได้จากค่าโฆษณา ความคิดที่จะเปิดเป็นชอปปิ้งมอลล์จึงเกิดขึ้น

แต่อินเตอร์เน็ตยังเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย คนส่วนใหญ่ยังไมรู้จัก ทำให้เป้าหมายของเขาต้องเปลี่ยนไป

"พอไปไม่ถึงผมก็เริ่มเรื่อยเปื่อย มองหาว่าจะหาบริการอะไรมาทำดี เลยส่งอีเมลหาคนโน้นคนนี้ไปแนะนำเว็บ พอดีไปเจอกับหมอคนหนึ่ง เขาแนะนำว่าควรจะมีเพลงใส่เข้าไป และก็แนะนำเว็บที่จะดาวน์โหลดได้ ผมก็เลยมานั่งคิดว่า ความรู้คอมพิวเตอร์ไม่ใช่เฉพาะพวกโปรแกรมเมอร์ หรือคนที่ทำงาน ด้านนี้ เพราะหมอเองก็ไม่ใช่คอมพิวเตอร์"

จากประกายความคิดที่ได้วันนั้น วันฉัตรออกแบบโปรแกรมแลกเปลี่ยนความรู้ คอมพิวเตอร์ หรือเทคนิคัลแชท (Technical chat) ซึ่งกลายเป็นที่มาของบริการชุมชน (Community Service) บนพันทิพย์ดอทคอม

ทุกวันนี้มีคนล็อกอินเข้ามา pantip.com เพื่อหาเพื่อนใหม่ๆ ผ่านห้องแชทรูม หรือแลกเปลี่ยนซื้อขายของ ซึ่งอาจจะมากกว่าเว็บไซต์ที่ทำขึ้นมาเพื่ออิเล็กทรอนิกส์คอมเมิร์ซบาง แห่งด้วยซ้ำ

แม้จะมีคนมาใช้บริการใน pantip.com ไม่ต่ำกว่าหลาย หมื่นคนต่อวัน และสินค้าที่ลงโฆษณาก็เริ่มเปลี่ยนจากขนม เปี๊ยะ มาเป็นชิปอินเทล แต่วันฉัตรไม่คิดว่า pantip.com จะทำให้เขาและทีมงานกลายเป็นเถ้าแก่บนเว็บ เยี่ยง Portal web ที่ทำเงินในอเมริกา

ลำพังรายได้จากค่าโฆษณา (ป้ายโฆษณา) บนหน้าแรกของ pantip.com ที่ไม่เคยเกิน 40,000 บาท คงไม่สามารถเลี้ยง pantip.com ได้ ทุกวันนี้พันทิพย์ดอทคอมต้องพึ่งพาอินเตอร์เน็ต ประเทศไทย ช่วยในเรื่องของค่าใช้จ่ายของการเช่าเนื้อที่บนอินเตอร์เน็ต ซึ่งหากคำนวณเป็นเงินแล้วไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท

รายได้โฆษณาที่หามาได้ถูกเก็บสะสมไว้เพื่อเพิ่มขีดความ สามารถ (upgrade) ให้กับเครื่องแม่ข่าย (server) และใช้สำหรับการดูแลไม่ให้เว็บมีปัญหาเกิดขึ้น

แม้ว่า pantip.com จะมีคนมาขอซื้อหุ้นที่เป็นนักลงทุน จากไทยและต่างประเทศ แต่สำหรับวันฉัตรแล้ว pantip.com ไปไกลเกินกว่าจะเป็นธุรกิจเสียแล้ว

"ในทางกฎหมายมันเป็นของบริษัท แต่ในทางปฏิบัติแล้ว มันเป็นของมหาชน ไม่ว่าผม หรือ บอย เอ และอาสาสมัครทุกคนมีส่วนร่วมทำให้เว็บมีความน่าสนใจ ไม่ใช่ผมคนเดียว สิ่งที่ผมอยากได้คือทำให้เว็บนี้เป็นของมหาชนมากกว่าจะเป็นธุรกิจ" คำกล่าวของวันฉัตรที่บอกถึงเป้าหมายของพันทิพย์ดอทคอม

แต่สำหรับ sanook.com การได้รับทาบทามจากบริษัท ในไทยและต่างประเทศเพื่อขอซื้อหุ้น อาจเป็นจุดพลิกผันที่ทำ ให้งานอดิเรกของ ปรเมศวร์ มินศิริ กลายเป็น Portel web เต็มตัว

บริษัท MIH (Multichoice International Holding Company Limited) มีถิ่นฐานในแอฟริกา เป็นเจ้าของธุรกิจ เปย์ทีวีรายที่ 3 ของโลก และมีกิจการที่เกี่ยวกับไอทีและเอ็นเตอร์เทนเมนต์อยู่หลายประเทศ รวมทั้งการลงทุนในยูบีซีเคเบิลทีวี ส่งตั๋วเครื่องบินชั้นเฟิสท์คลาสให้ปรเมศวร์ บินไปดูกิจการ และเจรจาถึงข้อตกลงที่จะมาซื้อหุ้นในsanook.com

ข้อเสนอของ MIH คือพร้อมจะอัดฉีดเงิน 300 ล้านบาท ในการพัฒนา sanook.com ให้เป็น Portel web ที่มีบริการข้อมูลแบบหลากหลาย

เช่นเดียวกับ ชิน คอร์ปอเรชั่น (ชินวัตร) ที่เปิดโต๊ะเจรจา กับปรเมศวร์เพื่อพัฒนา sanook.com ร่วมกัน ซึ่งบุญคลี ปลั่งศิริ ประธานกรรมการบริหาร ชิน คอร์ปอเรชั่น ยอมรับว่าการลงทุนใน sanook.com เป็นส่วนหนึ่งของแผนการขยาย ไปสู่อิเล็กทรอนิกส์ อินฟอร์เมชั่น ของ ชิน คอร์ปอเรชั่น ที่กำลังทำเรื่องเพื่อเข้าไปขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่นิวยอร์ก เพื่อสร้างความพร้อมทั้งในเรื่องเงินทุน และบริการใหม่ๆ หลัง เปิดเสรีโทรคมนาคมของไทย แม้ว่าการลงทุนจะเป็นแค่ธุรกิจเล็กๆ อย่างหนึ่งของ ชิน คอร์ปอเรชั่น ก็ตาม

ในจำนวนนี้มีหน่วยลงทุน (venture cappital) จากนิว-ยอร์กรวมอยู่ด้วย ซึ่งได้ตีมูลค่าการตลาดของ sanook.com อยู่ที่ 100-1,000 ล้านบาท

"เวนเจอร์แคปปิตอล ที่นิวยอร์กเขาก็พูดว่า Portel web ในเอเชียแปซิฟิก sanook.com ดีที่สุด" ปรเมศวร์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ปรเมศวร์บอกว่า ทุกวันนี้ sanook.com ยังต้องแบกรับขาดทุนอยู่ทุกเดือนและเป็นหนี้อยู่หลายแสนบาท

และหากพิจารณาถึงผู้ใช้อินเตอร์เน็ตของเมืองไทยเวลา นี้ ส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียนและนักศึกษา ซึ่งไม่ใช่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่จะทำให้โฆษณาบนเว็บทำเงินได้มากมาย

ความน่าสนใจของ sanook.com จึงขึ้นกับการคาด การณ์อนาคตเป็นสำคัญ เมื่อใดที่ตลาดอินเตอร์เน็ตขยายตัว มียอดสมาชิกเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคนในอีก 3-4 ปีข้างหน้า และราคาค่าอินเตอร์เน็ต รวมทั้งอุปกรณ์เกี่ยวเนื่องลดต่ำลง เครือข่ายสื่อสารข้อมูลถูกพัฒนาทั้งในเรื่องความสามารถ และความเร็ว เมื่อนั้นทุกอย่างจะพัฒนาไป รวมทั้ง sanook.com

"เมื่อถึงเวลานั้น คนที่เปิดหน้าจอมาจะเจอกับหน้าแรก ที่เป็น sanook.com ซึ่งเวลานั้นทุกคนจะไม่ต้องเข้าไปค้นหาข้อมูลที่มีอยู่กระจัดกระจาย แต่สนุกจะจัดการให้ ทั้งราคาหุ้น ผลบอล หรืออะไรก็แล้วแต่ จะขึ้นหน้าจอไว้เลย นี่คือสิ่งที่ เวนเจอร์แคปปิตอล และบริษัทสื่อสารเขามองเห็น"

และปรเมศวร์เรียกสิ่งเหล่านี้ว่า อินฟอร์เมชั่นออน ดีมานด์ (ข้อมูลที่เรียกใช้ได้ตามต้องการและทันที)

"เวนเจอร์แคปปิตอล เขาก็บอกว่า หากจะสร้างเว็บไซต์ ให้มีคนรู้จักเหมือนกับ sanook.com จะต้องใช้ทั้งเวลาและเงินไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งเขาคงต้องศึกษาและคำนวณ มาแล้ว"

ปรเมศวร์ จบวิศวกรรมอุตสาหการ จากจุฬาลงกรณ์มหา วิทยาลัย ซึ่งไม่ต้องเรียนเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ แต่จะเรียน ในเรื่องของกระบวนการที่ทำให้เกิดการผลิต ซึ่งทำให้เขาได้มากในเรื่องของกระบวนการคิด แต่จะขาดในเรื่องของความ คิดสร้างสรรค์ไม่เหมือนคนเรียนสาขานิเทศน์

หลังเรียนจบ ปรเมศวร์เริ่มทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ที่บริษัท FIDELIO ของเยอรมนีที่มีสาขาในไทย เคยถูกส่งไปอบรมที่เยอรมนีในหลักสูตรสั้นๆ เกี่ยวกับเครือข่าย (network) ในขณะที่คนอื่นๆ เป็นแค่การเริ่มต้นหาประสบ การณ์จากการทำงาน แต่สำหรับปรเมศวร์เวลาปีครึ่งเพียงพอสำหรับการที่เขาจะอำลาชีวิตลูกจ้าง เพื่อมีธุรกิจเป็นของ ตัวเอง เพราะมันจะเสี่ยงน้อยกว่าการออกไปเริ่มต้นในช่วงที่อายุมากแล้ว

ธุรกิจเริ่มแรกในวัย 22 ปี ของปรเมศวร์คือ การเป็นอาจารย์สอนคอมพิวเตอร์ที่สถาบันสอนคอมพิวเตอร์และภาษา อีซีซี และเขียนตำราเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เคยเขียนหนังสือการใช้อินเตอร์เน็ตบนวินโดว์

จากการเขียนตำราและศึกษาก็นำไปสู่การทำธุรกิจบนอินเตอร์เน็ต ซึ่งเขาเริ่มต้นด้วยการรับทำโฮมเพจให้ลูกค้า จากที่เคยต้องรอลุ้นกว่าจะได้ลูกค้าสักราย จนธุรกิจเริ่มอยู่ตัว ปรเมศวร์ก็เริ่มหาโจทย์ใหม่

"ผมก็มาดูว่าอินเตอร์เน็ตบ้านเราต้องการอะไร ในที่สุดเราพบว่า เขาต้องการเนื้อหาที่จะอ่านเยอะๆ แต่ผมกลับไม่อยากทำเนื้อหา เพราะลำพังเราคนเดียวทำเนื้อหาไม่ไหว ก็เลยคิดว่าไปดูของ yahoo.com เขาทำตัวเป็นเว็บไดเรคเทอ-รีส์ คือ ทำหน้าที่ลิงค์ไปยังเนื้อหาต่างๆ ก็ให้ประโยชน์กับคนเล่นอินเตอร์เน็ตได้ดี" ปรเมศวร์เล่าถึงที่มาของ sanook.com

2 ปีเต็มที่ปรเมศวร์ ปลุกปั้น sanook.com จากจำนวนลิงค์ที่เพิ่มขึ้น ไปสู่บริการใหม่ๆ เพจเจอร์เกตเวย์ จะเชื่อมโยง (link) ไปที่โฮมเพจของวิทยุติดตามตัวทุกยี่ห้อเพื่อฝากข้อความ ได้จัดอันดับเว็บยอดนิยม ผ่านการลองผิดลองถูก ทำพีเพิ่ลไดเรคเทอรีส์ด้วยแต่ปิดไปแล้ว เพราะว่ามีปัญหาไปรบกวนความเป็นส่วนตัวคนอื่น รวมทั้งข้อมูลแมก-กาซีนออนไลน์ที่ต้องปิดไป

แม้ว่าจำนวนคนที่เข้ามาในเว็บ sanook.com จะเพิ่ม ขึ้นเรื่อยๆ แต่การไม่มีรายได้จากค่าโฆษณาเลยเป็นปีๆ ซึ่งเขา หวังว่าจะมีเข้ามาบ้าง แต่ต้องเสียค่าเช่า Host ในต่างประเทศ ที่จะเก็บเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้ใช้ ทำให้ปรเมศวร์ต้องตัดสินใจปิด sanook.com ลง เพราะทนกับค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียเดือนละหลายหมื่นบาทไม่ไหว

ในที่สุดอินเตอร์เน็ตประเทศไทย ก็ปลุกชีพ sanook.com ขึ้นมาอีกครั้ง โดยให้มา Host อยู่ด้วยฟรี เพื่อแลกกับโฆษณา บนเว็บของสนุกดอทคอม

เมื่อได้ผู้สนับสนุน ปรเมศวร์ก็หันมาเพิ่มเนื้อหาใหม่ๆ ทำเป็นห้องสนทนา (chatroom) ที่แบ่งออกเป็น 22 ห้อง ตาม อายุ การศึกษา อาชีพ และความสนใจ

ทุกวันนี้ปรเมศวร์ บริหาร sanook.com ร่วมกับทีมงานอีก 5 คน แบ่งกันไปทำงานตามถนัด กราฟิก ทำโฮมเพจ นักข่าวหาข่าว และดูแลเนื้อหาบนเว็บ เช่น คอยลบข้อ ความที่ไม่เหมาะสม ส่วนตัวปรเมศวร์จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางควบคุม และทำการตลาด ในจำนวนนี้มีที่ทำประจำ 3 คน ที่เหลือทำเป็นงานเสริม

แม้ว่าปรเมศวร์จะหวงแหนความเป็นอิสระในการทำงาน กับวิถีทางง่ายๆ ของการทำงานร่วมกับทีมงานทั้งหลาย ที่บ่อยครั้งที่เขาได้ไอเดียใหม่ๆมาเพิ่มให้กับ sanook.com ระหว่างที่ไปดูหนัง กินข้าว หรือเล่นกีตาร์ริมชายหาดกับ ทีมงาน

แต่การขยายเขตแดนของ yahoo.com ในย่านเอเชีย ซึ่งมาเปิดให้บริการเป็นภาษาเกาหลี และจีนแล้ว รวมทั้งการแข่งขันของ Portel web ที่ต้องมีการพัฒนาเว็บตลอดเวลา ทั้งในแง่ของเนื้อหา บริการ และเทคโนโลยี ทำให้ปรเมศวร์ ต้องกลับมาทบทวนข้อเสนอของบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้อีกครั้ง

เงินทุน 300 ล้านบาท จะใช้สำหรับจ้างพนักงาน 50 คนมาช่วยพลิกโฉม sanook.com เป็น Portel web แห่งเอเชีย เมื่อถึงเวลานั้นข้อมูลจะถูกเปลี่ยนทุก 15 นาที พอมีข่าวใหม่เข้ามาจะถูกนำเสนอไปทันที หรือการนัดหมายที่สามารถเห็นหน้าคนนัดหมายได้ทันที หรือการส่งอีเมลพร้อมกันได้ครั้งละหลายๆ Address รวมทั้งการทำโฮมเพจฟรี

"ก็ไม่แน่ว่า ผมอาจจะอยากได้แค่ 3 ล้านบาท เป็นราย เล็กๆ ที่รายใหญ่ต้องกลัวผม เพราะผมลงทุนนิดเดียว ค่าโฆษณา ก็ถูกกว่า แต่ไม่ว่าจะเลือกใครก็ตาม ผมจะต้องเป็นประธานบริษัท และมีอิสระในการคิด"

ภายในสิ้นปีนี้ ก็จะรู้แล้วว่า เว็บไซต์ที่ทำมาเล่นๆ ที่เหมือนกับการเลี้ยงปลา จะทำเป็นธุรกิจขายส่งปลาได้หรือไม่

เวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์ !!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.