บลจ.วรรณนำตลาด


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้จะมาช้าหรือมาทีหลังบลจ. บางเจ้าที่ริเริ่มออกกองทุนรวมอสังหา- ริมทรัพย์ ประเภทที่ 2 (กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน) ไปก่อนหน้าแล้ว แต่ก็เป็นที่ฮือฮามากเมื่อบลจ.วรรณอินเวสมนท์ ออกกองทุนโกลบอลไทยพร็อพเพอร์ตี้ให้กับกลุ่มเลห์แมนมูลค่า 12,000 ล้านบาท เพราะเป็นกองแรกที่ บริหารอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาจากการประมูลที่จัดโดย องค์การเพื่อการปฏิรูป ระบบสถาบันการเงิน (ปรส.)

เจ็ดเดือนถัดมา บริษัทฯก็ออกกอง ทุนลักษณะคล้ายคลึงกันมาอีก 6 กอง มูลค่าที่ขออนุญาตไว้รวมกันสูง ถึง 50,600 ล้านบาททีเดียว ซึ่งหากเรียก ชำระได้หมดก็ถือเป็นบลจ. ที่ออกกอง ทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ มูลค่าสูงที่สุดทีเดียว กระนั้นก็ตาม ตอนนี้บลจ. วรรณฯ ก็เป็นผู้ออกกองทุนฯ ประเภทนี้จำนวนกองมากที่สุดอยู่แล้ว ถือว่าทำหน้าที่ตอบสนองการช่วย กันแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงินไทยตามนโยบายรัฐบาลได้มากทีเดียว

ทั้งนี้กองทุนเหล่านี้มีนโยบายการ ลงทุนคล้ายคลึงกันคือลงทุนในทรัพย์สิน หรือสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากการประกอบ ธุรกิจของสถาบันการเงิน ทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน และส่วนที่เหลือจะลงทุนในสินทรัพย์สภาพคล่อง เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งกองทุน ที่มีนโยบายการลงทุนดังกล่าวนี้ได้แก่ กองทุนรวมแกมม่าแคปปิตอล, ริชชี่เวน เจอร์, สตราติจิคแอสเซ็ท และบางกอก แคปปิตอลซึ่งดูเป็นกองทุนที่มีมูลค่าใหญ่ ที่สุด แต่จริงๆ แล้วเริ่มด้วยเงิน 500 ล้านบาทก่อน ส่วนที่เหลือจะทยอยเข้า มาภายใน 5 ปี

ส่วนกองทุนรวมไทยดีเวลลอปเมนท์ลงทุนในสิทธิเรียกร้องอย่างเดียว ขณะที่สตาร์วูดไทยแลนด์พร็อพเพอร์ตี้ 1 ลงทุนโดยทำการซื้อหรือเช่า อาคารหรืออาคารเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งกองนี้เป็น ที่ทราบกันดีว่าเป็นของกลุ่มแสนสิริที่ไป ประมูลสินเชื่อจากปรส.มาได้

ทั้งนี้ทางการได้ปิดการขออนุญาต เปิดกองทุนประเภทนี้ไปแล้วเมื่อ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา และผู้ขออนุญาตต้องจัดตั้งกองทุนที่ขอไว้ให้ได้ภายใน 1 ปี คือต้องระดมเงินเข้ามาและเริ่มลงทุน ภายใน 25 พฤษภาคม 2543 กองทุนฯ ที่จัดตั้งขึ้นมาเหล่านี้ หากไม่เป็นข่าวว่าใครลงทุนแล้ว อย่าหวังว่าจะได้ทราบข้อมูลนี้จากหนังสือชี้ชวนเป็นอันขาด เพราะในหนังสือชี้ชวนไม่เปิดเผยเรื่องนี้ ผู้บริหารบลจ. ท่านหนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่า "เป็นเรื่องที่เปิดเผยไม่ได้ เพราะผู้ลงทุนไม่ต้อง การให้ใครรู้ว่าเขานำเงินมาลงทุนอะไร แต่เราก็บอกก.ล.ต.โดยใช้วิธีเขียนชื่อผู้ลงทุนใส่ซองให้ก.ล.ต." ก็เท่ากับรู้กัน 2 ฝ่ายระหว่างผู้บริหารบลจ.กับเจ้าหน้า ที่ก.ล.ต.ที่รับผิดชอบเรื่องกองทุนรวม!!

เราๆ ท่านๆ ไม่มีสิทธิรู้ว่าใครเป็น นักลงทุนในกองทุนเหล่านี้บ้าง โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่สามารถซื้อหน่วยลงทุนประเภทนี้ได้ 100% เพราะ ทางการอนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถ ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ในไทยได้ 100% โดยผ่านการถือกองทุนประเภทนี้

นอกจากนี้ ผู้รู้ท่านหนึ่งยังช่วยอธิบายด้วยว่าทุกกองทุนที่ทำ Property Fund นั้นจะอยู่ใน Control ฝรั่งหมด เพราะกองทุนจะมีบอร์ดบริหารโดยมีตัว แทนจากบลจ.เพียงคนเดียว ที่เหลือเป็น คนที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้ถือหุ้นหมด และเรื่องทุกเรื่องต้องผ่านบอร์ดนี้เท่านั้น

ลักษณะดังกล่าวทำให้สมมติฐาน ได้ว่านักลงทุนต่างชาติเพียงแต่ยืมกลไก การจัดตั้งบลจ.ของไทย เพื่อดำเนินการ ลงทุนของเขาเท่านั้น นับได้ว่ากองทุนอสังหาริมทรัพย์พิเศษเหล่านี้ตอบสนองการแก้ไขปัญหา ของรัฐบาลแบบทุ่มสุดตัวทีเดียว!!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.