TUF สร้างความแข็งแกร่ง


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

ด้วยปรัชญาการทำงานแบบเรียบ ง่ายไม่หวือหวาเพียงแต่ผสมผสานวัฒน ธรรมการทำงานรุ่นบิดากับแนวคิดทฤษฎีสมัยใหม่เข้าด้วยกัน ส่งผลให้กลุ่มบริษัท บมจ. ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่นโปรดักส์ (TUF) เจ้ายุทธจักรด้านอาหาร ทะเลแช่แข็ง กลายเป็นบริษัทขวัญใจของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

ความสำเร็จสวยหรูของ TUF ในการเข้าซื้อบมจ.สงขลาแคนนิ่ง (SC) เจ้าของธุรกิจอาหารทะเลกระป๋องและประสบผลสำเร็จ บ่งบอกความมุ่งมั่นการดำเนินธุรกิจของกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะการรวมกิจการในครั้งนั้น เป็นไปอย่างเหมาะสมและลงตัวเข้ากับ สถานการณ์เศรษฐกิจทำให้เกิดประโยชน์ แก่ทั้งสองฝ่าย คำจำกัดความที่ว่า "Win Win Situation" จึงไม่เกินเลยนัก

ปี 2542 กลุ่มธุรกิจ TUF มีเป้าหมายการรักษาระดับอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่าปีละ 10% ในรูปของเงินเหรียญสหรัฐ ขยายตลาดสินค้าทั้งในและต่างประเทศสำหรับผลิตภัณฑ์เดิม พยายามสร้างตลาดใหม่เพิ่มขึ้น และร่วมลงทุนไปยังธุรกิจที่น่าสนใจและเป็น ธุรกิจที่มีศักยภาพและได้ผลตอบแทนที่ดีในระดับความเสี่ยงที่สามารถยอม รับได้

แนวความคิดดังกล่าวทำให้กลุ่ม TUF ตัดสินใจเข้าซื้อหุ้นบริษัท ไทยรวม สินพัฒนา อุตสาหกรรม จำกัด (TUM) ผู้ผลิตและส่งออกปลาทูน่าบรรจุกระ-ป๋องและอาหารแมวบรรจุกระป๋อง และ TUM ไม่ใช่ใครอื่นไกล แต่เป็นความสนิทสนมที่แยกกันไม่ออก เนื่องจาก TUM คือ จุดเริ่มต้นที่บิดาของธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร TUF "ไกรสร จันศิริ" สร้างขึ้นมาจนกระทั่งเติบใหญ่ ปัจจุบันไกรสร นั่งเป็นกรรม การผู้จัดการ TUM และเป็นประธานกรรมการ TUF ขณะที่ธีรพงศ์ เป็นประ- ธานกรรมการบริหาร TUF ส่วนใน TUM นั่งในตำแหน่งกรรมการ อีกทั้งในอดีต เคยเป็นผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปประจำโรงงาน TUM

ก่อนที่ TUF เข้าซื้อ TUM ถือหุ้น อยู่แล้ว 58.08% หลังรวมกิจการสัดส่วน การถือหุ้นเพิ่มเป็น 90.08% และการซื้อกิจการเกือบทั้งหมดของ TUM บอก ให้รู้ถึงกลยุทธ์การตลาดในระยะยาวของ TUF และมีผลต่อการสร้างความได้เปรียบการแข่งขันในอนาคต เพิ่มประ-สิทธิภาพในการบริหารต้นทุน การ กระจายความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งเป็นการสร้างความแข็งแกร่งที่จะลดความอ่อนไหวของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

การดำเนินการเช่นนี้ได้ของกลุ่ม TUF เพราะมีสภาพคล่องทางการเงิน ที่ดี เมื่อปีที่แล้วได้ปรับโครงสร้างทางการเงินโดยเพิ่มสัดส่วนเงินทุนจาก ผู้ถือหุ้นด้วยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน 10 ล้านหุ้น จำนวน 1,340 ล้านบาท และถูกนำไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนและจ่ายชำระคืนเงินกู้ประเภทวงเงินกู้เพื่อการส่งออก เป็นผลให้สามารถลดความ เสี่ยงทางการเงิน ลดภาระดอกเบี้ยจ่าย และมีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอต่อการ ขยายธุรกิจ

ผลประกอบการปี 2541 บอกถึงความแข็งแกร่งทางการเงินได้ดี โดยมียอดขาย 7,312.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2540 จำนวน 33.46% มีกำไรสุทธิ 1,207.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50.78% คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 21.42 บาท โดยอัตราเติบโตถัวเฉลี่ย 5 ปีของ กำไรต่อหุ้นสูงถึง 136% และถ้ามองถึงอัตราส่วนทางการเงินของ TUF ปรากฏว่าสร้างความอิจฉาให้กับหลายๆ บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์พอสม ควร (ดูตาราง)

นโยบายการกู้เงินจำนวนมากมาลงทุนไม่ใช่นโยบายของกลุ่ม TUF ส่งผลให้หนี้สินรวม 2,652 ล้านบาท ลดลง จากปีก่อนที่มี 5,359 ล้านบาท และเมื่อบริษัทมีหนี้สินเล็กน้อยทำให้เปิดโอกาสให้กลุ่ม TUF เดินเกมรุกธุรกิจได้ คล่องตัวในการสร้างฐานธุรกิจให้กว้างใหญ่และเหนือคู่แข่ง จึงน่าจับตาอย่างยิ่งสำหรับการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม TUF



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.