ปิโตรเคมีไทย: รอด-ไม่รอดอยู่ที่จีน


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

ช่วงที่เริ่มเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยกำลังอยู่ในช่วงลงทุนอย่างหนัก และเม็ดเงินที่ทุ่มลงไปส่วนใหญ่มาจากการระดมทุน ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจึงส่งผลกระทบต่อสถานะของบริษัทปิโตรเคมีเป็นอย่างยิ่ง และบทสรุปของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทย คือ การพยายามหาทางรอดและต่อสู้กับความเชื่อมั่นที่นักลงทุนมีต่ออุตสาหกรรมดังกล่าว แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญคาดหวังว่าเศรษฐกิจได้ตกต่ำถึงขีดสุดและกำลังก้าวไปสู่การฟื้นตัว แต่ตลาดปิโตรเคมียังคงถดถอยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ให้เหตุผลว่าเกิดจากการเพิ่มโรงงานผลิตโอเลฟินส์ถึง 4 แห่งในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ กลุ่มบริษัทปูนซิเมนต์ไทย, ฟอโมซา (ไต้หวัน), ไทตัน (มาเลเซีย) และกูแดง (อินเดีย) ที่ขยายกำลังการผลิต 6 แสน ตัน, 4.5 แสนตัน, 3.3 แสนตัน และ 3.3 แสนตันต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้บริษัทต่างๆ ยังได้มีการปรับตัวเพื่อรับ สถานการณ์ อาทิ การรวมกลุ่มปิโตร เคมีใหญ่ๆ ในเกาหลีใต้ และการปรับโครงสร้างหนี้ที่กู้จากสถาบันการเงินต่าง ประเทศ

"การนำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์ ปิโตรเคมีในภูมิภาคเอเชียกำลังเปลี่ยน แปลงไปอย่างรวดเร็ว ประเทศต่างๆ ในอาเซียนได้ทำการขยายกำลังการผลิตของตนเองอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาวะการแข่งขันในตลาดโลกรุนแรงยิ่งขึ้น"

สำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทย ในระยะแรกผลิตออกมาเพื่อสนอง ตอบความต้องการภายในประเทศ แต่ ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาเริ่มเปลี่ยนแผนเน้นผลิตเพื่อส่งออก เห็นได้จากการสร้างโรงงานผลิตโอเลฟินส์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2542 ไทยผลิตโอเลฟินส์ได้ทั้งสิ้น 2.7 ล้านตัน แต่ความต้องการภายในมีเพียงประมาณ 2.4 ล้านตัน ซึ่งเกินความต้องการตลาด ในประเทศประมาณ 3 แสนตัน ผู้ผลิต ย่อมต้องการหาทางส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ แล้วตลาดอยู่ที่ไหน? คือ คำถาม ของผู้ผลิตปิโตรเคมีไทยทั้งหลาย

ช่วงที่ผ่านมาแม้ธุรกิจปิโตรเคมีจะประสบกับปัญหามากมาย แต่ธุรกิจดังกล่าวถือได้ว่ามีอนาคต เนื่องจากความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในภูมิภาคเอเชียขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดประเทศจีน

"ดังนั้นผู้ผลิตปิโตรเคมีของไทยไม่ควรมองข้ามตลาดนี้ ในปี 2533 จีนและประเทศกลุ่มอาเซียนเป็นผู้นำเข้าโอเลฟินส์รายย่อย ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีรายย่อย แต่ในปี 2541 จีนกลายเป็นผู้นำเข้าโพลีเอทิลีนและโพลีโพรพิลีนรายใหญ่ที่สุดในโลก" ศูนย์วิจัย กสิกรไทย ชี้ทางออกให้กับผู้ผลิตปิโตรเคมีไทย

ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าความต้องการ โพลีโพรพิลีนของจีนจะเพิ่มจาก 3.2 ล้านตัน ในปี 2541 เป็น 5.6 ล้านตันในปี 2548 ทำให้จีนกลายเป็นผู้มีอิทธิ พลต่อตลาดปิโตรเคมีในอาเซียนและตลาดโลกในที่สุด เพราะเมื่อใดก็ตามที่จีนหยุดซื้อ ไม่ว่าด้วยเหตุผลทางเศรษฐ กิจหรือทางการเมือง ราคาผลิตภัณฑ์ ปิโตรเคมีพลอยตกต่ำไปด้วย

"ในปีเดียวกันเกาหลีใต้ได้กลายเป็นผู้ส่งออกปิโตรเคมีรายใหญ่ โดยมีจำนวนการส่งออกประมาณ 1.2 ล้านตัน การเปลี่ยนแปลงจากผู้ซื้อรายย่อยมาเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ทำให้จีนเป็นตลาด ที่ผู้ประกอบการปิโตรเคมีทั่วโลกต้องการเข้าไปบุกเบิกตลาด"

แม้ว่าจีนเป็นแหล่งระบายผลิต ภัณฑ์ปิโตรเคมีและยั่วน้ำลายบรรดา ผู้ผลิตทั้งหลาย แต่ปัญหาที่ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญมีมากพอๆ กับโอกาส ที่มี เพราะจากการประเมินของกองทุน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจโพ้นทะเล (OECF) คาดว่าเศรษฐกิจในระยะยาวจะขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 7-8% ต่อปี เมื่อจีนต้องการให้เศรษฐกิจขยาย ตัว อย่างเนื่องจึงใช้ทรัพยากรส่วนใหญ่มาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญๆ ในประเทศ (Infrastructures) ส่งผลให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของจีนไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ ทำให้การจัด สรรงบประมาณจึงลดลงไปด้วย

"สาเหตุที่รัฐบาลจีนไม่พัฒนา ปิโตรเคมีให้ต่อเนื่องมองว่ามีคู่แข่งมาก ทั้งเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และไทย อีกทั้งตลาดปิโตรเคมีอยู่ในช่วงขาลง เขาจึงคิดว่าซื้อผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีถูกกว่า เขาไม่มีความจำเป็นที่ต้องสร้างโรงงานรองรับความต้องการในอนาคต" ความเห็นของศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ปัจจัยเหล่านี้เป็นโอกาสอันดียิ่งสำหรับผู้ประกอบการปิโตรเคมีของไทยในการนำผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไปจำหน่าย หรือเข้าไปร่วมลงทุนสร้างโรงงานในจีน เพราะรัฐบาลจีนเองก็คาดการณ์ว่าก่อนปี 2548 จะมีโรงงาน ปิโตรเคมีในจีนมากกว่าครึ่งที่เป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐบาลจีนกับบริษัทต่างชาติ

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการของไทยอย่าได้นิ่งนอนใจ เพราะคู่แข่งอย่าง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ หรือมาเลเซีย ยิ่งเศรษฐกิจแต่ละประเทศยังอยู่ในช่วงขาลง ประเทศเหล่านี้ก็จ้องตลาดจีนตาเป็นมันเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเกาหลีใต้ที่เป็นผู้นำด้านราคาในภูมิภาคนี้ได้สร้างโรงงานขึ้นมาใหม่เพื่อส่งออกไปในจีนอย่างเดียว อีกทั้งการรวมกันระหว่างกลุ่มฮุนได (Hyundai Pe-trochemical) และกลุ่มซัมซุง (Sam-sung General Chemicals) ทำให้ได้เปรียบคู่แข่งประเทศอื่นในด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำอย่างมาก

"ญี่ปุ่นเราไม่กลัวเพราะต้นทุนสูงมาก โรงงานส่วนใหญ่เก่าแก่มากและมีขนาดเล็ก บวกกับตอนนี้รัฐบาลเขาให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในประเทศจึงไม่ได้สนใจใน ปิโตรเคมีมากนัก"

ในปี 2542 จีนจะบริโภคโพลีเอ-ทิลีนในสัดส่วน 14.4% และโพลิโพรพิลีน 21.7% ของความต้องการผลิต ภัณฑ์ดังกล่าวในตลาดโลก ทำให้จีนเป็นตัวแปรสำคัญของการฟื้นตัวอุตสาหกรรมปิโตรเคมีโลก หากจีนยังมีนโยบายที่จะชะลอการพัฒนาอุตสาห-กรรมดังกล่าวต่อไปจะสามารถช่วยลดภาวะปิโตรเคมีล้นตลาดของไทยได้ด้วย บริษัทปิโตรเคมีไทยจะสามารถผลิตในอัตราสูงสุดซึ่งจะช่วยให้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ (Economy of Scale) และแข่งขันกับคู่แข่งได้ เพราะช่วงนี้ผู้ประ-กอบการไทยไม่สามารถผลิตได้เต็มที่เนื่องจากอุปทานล้นตลาด แต่หากเข้า ไปเจาะตลาดจีนได้อุตสาหกรรมปิโตร-เคมีไทยน่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดี

ภายใต้การแข่งขันที่ดุเดือด ผู้ประกอบการปิโตรเคมีไทยคงต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขัน และพยายามแทรกตัวให้อยู่ในตลาดนี้ให้ได้ในอนาคต บริษัทที่คิดจะเก็บเกี่ยวผลกำไรในช่วง 3 ปีข้างหน้า ต้องเริ่มวางกลยุทธ์การลงทุนในขณะนี้ เนื่องจากโรงงานที่สร้างขึ้นใหม่และเดินเครื่องได้ในช่วงที่ตลาดกำลังฟื้นตัวเต็มที่ จะมีโอกาสอยู่รอดได้ดีกว่าโรงงานที่เดินเครื่องช่วงตลาดฟื้นตัวสูงสุดแล้ว นักวิเคราะห์ชี้ว่าบริษัทปิโตรเคมียักษ์ใหญ่ของไทยควรตักตวงผลประโยชน์ในช่วงตลาดฟื้นตัวให้ได้มากที่สุด ส่วนบริษัทขนาดกลางหรือเล็กควรชะลอหรือหยุดการลงทุนชั่วคราวเพื่อรอดูสถานการณ์ให้ชัดเจนก่อน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.