จากน้ำตาลสดถึงไทม์แชร์


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อ 20 ปีก่อนด.ช.วิทเยนทร์ มุตตามระ ชั้นมัธยมต้น เริ่มธุรกิจทุกเช้าด้วยการซื้อน้ำตาลสดจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปตักขายหน้าโรงเรียนบดินทร์ เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) มีรายได้วันละ 500 บาท ก่อนเข้าเรียนทุกวัน

สิ่งที่เขาทำอาจไม่ใช่เพราะความ จำเป็นทางเศรษฐกิจเสียทีเดียว เนื่องจาก วิทเยนทร์เป็นหลานตาของพล.อ.หลวงกัมปนาทแสนยากร อดีตผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อย และนายกองใหญ่กระทรวงมหาดไทย ที่รับราชการสนองพระเดช พระคุณ จนกระทั่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรี

โดยฐานะทางบ้านเช่นนี้ จึงไม่จำ เป็นต้องดิ้นรนตื่นตีห้า ไปรับของมาขาย หากเด็กชายเห็นเป็นโอกาสธุรกิจ จึงเลือกทำเช่นนั้น

จึงไม่แปลกที่ในระหว่างศึกษาระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงต้นทศวรรษ 2530 วิทเยนทร์ต้องวิ่งรอกระหว่างห้องค้าตลาดหลักทรัพย์ ห้องบรรยายในคณะรัฐศาสตร์ และการดูที่ทางประเภทซื้อมาขายไป จนกระทั่งถึงการมีโครงการอสังหาริมทรัพย์เป็นของตนเอง

เช่นเดียวกับกิจกรรมในมหาวิทยาลัย ที่เริ่มจากสมาชิกสภานักศึกษา เหรัญญิก องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) และร่วมทีมงานกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวการละคร เปิดแสดง ละครเวทีเรื่องคือผู้อภิวัฒน์ เป็นครั้งแรก

ใครที่มีประสบการณ์ชีวิตโชกโชนขนาดนั้น คว้าปริญญามาได้หนึ่งใบก็น่า จะพอแล้ว เพื่อที่จะกระโดดลงธุรกิจอย่างเต็มตัว แต่ที่สุดวิทเยนทร์ ก็เห็นว่าการศึกษาในระดับที่สูงกว่า พร้อมๆ กับการหาประสบการณ์ธุรกิจในต่างประเทศน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

เหตุนี้เขาจึงได้พื้นฐานการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ จาก Dominican College of San Rafael สหรัฐฯ โดยระหว่างนั้นเขาได้ทำงานวิจัยชิ้นหนึ่งให้ซันไมโครซิสเต็มส์ เรื่องอินเตอร์เน็ตกับโอกาสทาง ธุรกิจ ซึ่งเมื่อ 10 ปีก่อน ถือเป็นเรื่องที่ใหม่มาก

วิทเยนทร์ อยู่ที่สหรัฐฯ อีก 2 ปีเพื่อหาประสบการณ์จากการทำงานที่ Bank of America ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ในด้านการบริการลูกค้าส่วนวาณิชธนกิจ ก่อนเดินทางกลับเมืองไทย ในยุคที่ฟองสบู่เริ่มแตกแล้ว เขาเริ่มงานระยะสั้นๆ ที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย ก่อนที่จะต้องกลับมาช่วยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของ ครอบครัว คือควอลิตี้ สวีท แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ

ควอลิตี้ สวีท แอร์พอร์ท จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาต้องแสวงหาทางรอดให้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของครอบครัว ก่อนที่จะขยายโอกาสนี้สู่รายต่อๆไป

"เราต้องศึกษาในสิ่งที่เขาคิดค้นมาก่อน จากนั้นก็ใช้ที่สิ่งที่เรามีแต่เขาไม่มีให้เกิดประโยชน์ในเชิงการแข่งขัน เราพึ่งเข้าอาร์ซีไอมา 3 ปี แต่เขายอม รับเรามาก เพราะเติบโตเร็วกว่าคนเอเชียด้วยกัน แล้วเมื่อเราจับจุดได้เรา ก็พัฒนาโปรดักส์ให้แตกต่าง" วิทเยนทร์ กล่าวบทสรุปของการคบฝรั่ง เพื่อใช้เครือ ข่ายของฝรั่งให้เกิดประโยชน์สูงสุด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.