ปิดฉากบรรณวิทย์ บุญญรัตน์ ไม่มีที่ว่างของเขาอีกต่อไป


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

บรรณวิทย์ บุญญรัตน์ และสยามมีเดีย แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น เป็นกรณีศึกษาที่มักถูกหยิบยกมาเสมอ กับความล้มเหลว ที่เกิดขึ้นจากการขยายอาณาจักรธุรกิจเกินตัวบทสรุปของการบริหารงานที่ผิดพลาดในครั้งนั้นก็คือ การลบชื่อของบรรณวิทย์ออกจากกิจการของสยามมีเดียฯ ทุกตำแหน่ง เพราะนี่คือบาดแผลของแบงก์ไทยพาณิชย์ ที่ต้องเช็ดให้สะอาด

บรรณวิทย์ไม่ใช่ผู้บริหารคนเดียว และสยามทีวี แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น (ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนไปใช้ชื่อ สยามมีเดีย แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น) ก็ไม่ได้เป็นบริษัทเดียวที่ประสบกับปัญหาขยายการลงทุนจนเกินตัว

แต่สิ่งที่บรรณวิทย์แตกต่างไปจากผู้บริหารอื่นๆอย่าง บุญชัย เบญจรงคกุล ธวัชชัย วิไลลักษณ์ อดิศัย โพธารามิก ก็ตรงที่สยามมีเดียฯ ไม่ใช่ของบรรณ-วิทย์ แต่เป็นของแบงก์ไทยพาณิชย์ และ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ความรับผิดชอบของบรรณวิทย์ จึงไม่มีโอกาสลุกมาตั้งหลักเพื่อสู้ใหม่ เหมือนเถ้าแก่เหล่านี้แต่วิธีเดียวก็คือการลาออกจากทุกตำแหน่งในสยาม

มีเดียฯ และไอทีวี

และสิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นภายหลังจากการพ้นจากเก้าอี้กรรมการผู้จัดการใหญ่ของแบงก์ไทยพาณิชย์ของโอฬาร ไชยประวัติได้ไม่นาน !!

ใครจะเชื่อว่า ในเวลาไม่กี่ปีจากคนที่ได้ชื่อถูกจัดว่ามีวิสัยทัศน์ในเรื่อง ของเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information technology) เคยขึ้นปกนิตยสารเกือบทุกฉบับจะกลายเป็นคนที่แบงก์ไทยพาณิชย์ หรือแม้แต่คนในกลุ่มสยามมีเดียฯ เองก็ยังไม่อยากพูดถึง

"ผู้จัดการ" เคยนำเสนอเรื่องราว การบริหารงานของบรรณวิทย์ บุญญรัตน์ และกลุ่มสยามมีเดีย แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น มาแล้ว (ฉบับเดือนสิงหาคม 2538) ที่สะท้อนถึงการขยายธุรกิจของบรรณวิทย์

ความน่าสนใจของกลุ่มสยามมีเดียฯ อยู่ที่การมีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นผู้ถือหุ้น พูดง่ายๆ ก็คือ

มีฐานกำลังในแง่ของเงินทุน และความน่าเชื่อถืออยู่เต็มเปี่ยม

บรรณวิทย์ เป็นผู้หนึ่งที่ได้ชื่อว่า เป็นผู้กุมบังเหียนของสยามมีเดียฯ ก็ใช้ศักยภาพเหล่านี้ ขยายอาณาจักรของสยามมีเดียฯ ออกไปอย่างรวดเร็ว ดุจพยัคฆ์ติดปีก

ตลอดเวลาที่ผ่านมาสำนักงานทรัพย์สินฯ ลงทุนในอุตสาหกรรมที่เป็นรากฐานเศรษฐกิจ คือ ธนาคาร อุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์ และอสังหาริมทรัพย์ การลงทุน ธุรกิจไอทีจึงเป็นของใหม่ที่ท้าทายยิ่งนัก

การเติบโตอย่างรวดเร็วของกลุ่มชินวัตร ยูคอม ทีเอ จัสมิน และกลุ่มสามารถ ด้วยการเป็นเจ้าของสัมปทาน สื่อสาร กลายเป็นสิ่งเย้ายวนที่ทำให้นักธุรกิจของเมืองไทยพยายามมองหาบริการใหม่ๆ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า (โซลูชั่น) เพื่อจะไม่ต้องตกขบวนรถไฟในคลื่นลูกที่สาม

แบงก์ไทยพาณิชย์มีผลงานการติดตั้งเอทีเอ็มเป็นแบงก์แรก และยังลงทุนนำไอทีมาใช้แต่ละปีเป็นเงินมหาศาล การขยับขยายเป็นผู้ลงทุนในกิจการด้านสื่อ และเทคโนโลยีสารสนเทศ จึงไม่ใช่เรื่องไกลเกินตัวสำหรับแบงก์ไทยพาณิชย์ และไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับโอฬาร ไชยประวัติ อดีตกรรมการผู้จัดการแบงก์ไทยพาณิชย์

ธนาคารใหญ่ๆ ของเมืองไทยเกือบทุกแห่งก็มีส่วนร่วมอยู่ในธุรกิจทีวี ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ก็คือ ตระกูลรัตนรักษ์ เจ้าของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ในขณะที่เจ้าสัวชิน โสภณพนิชเจ้าของแบงก์กรุงเทพเองก็มีความสัมพันธ์อันดีกับตระกูล มาลีนนท์ สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 มายาวนานไม่ใช่แค่ในฐานะของเจ้าหนี้เท่านั้นแต่เขาให้การสนับสนุนแก่ช่อง 3 มาสม่ำเสมอตลอด 20 กว่าปีที่แล้ว

โทรทัศน์เป็นธุรกิจกึ่งผูกขาด การบริหารงานส่วนใหญ ่อยู่ในมือของหน่วยงานภาครัฐ มีเพียงช่อง 3 และช่อง 7 ที่บริหารงานโดยเอกชน การที่ธนาคารไทยพาณิชย์ และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ คว้าโครงการโทรทัศน์เสรี ของสำนักนายกรัฐมนตรีมาอยู่ในมือ จึงเป็นมิติใหม่ และท้าทายสำหรับวงการโทรทัศน์ และในแวดวงไอทียิ่งนัก

แต่สำหรับบรรณวิทย์แล้วโทรทัศน์ ยังเป็นแค่ส่วนเดียวของอาณาจักร ธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ

บรรณวิทย์เคยมีผลงานนำเครื่องเอทีเอ็มมาใช้ในแบงก์ไทยพาณิชย์เป็นแบงก์แรกของเมืองไทย จนกลายเป็นดีกรีติดตัวที่เขามักนำมากล่าวอ้างอยู่เสมอ รวมทั้งผลงานการวางระบบ Online Banking ที่ทำให้เขาไต่เต้าเป็นถึงรองกรรมการผู้จัดการ รับผิดชอบสายงานลูกค้าส่วนบุคคล

แต่โอกาสที่บรรณวิทย์จะก้าวไปถึงกรรมการผู้จัดการใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะยังมีชฎา วัฒนศิริธรรม เป็นรองกรรมการผู้จัดการ ที่รับผิดชอบสายงานที่ใหญ่กว่า และประกิต ประทีปะเสน ก็เป็นรองกรรมการผู้จัดการ ที่มีอาวุโสมากกว่าจ่อคิวรออยู่ถึง 2 คน

การสร้างอาณาจักรสยามมีเดียฯให้มีขอบเขตธุรกิจที่กว้างใหญ่ จึงเป็นการเดิมพันครั้งใหม่ที่คุ้มค่ากับความเสี่ยง และเป็นสิ่งที่บรรณวิทย์คุ้นเคยมากยิ่งกว่าการบริหารธุรกิจธนาคารด้วยซ้ำ

บรรณวิทย์ เคยอธิบายให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า ทิศทางของสยามมีเดีย แอนด์คอมมิวนิเคชั่น คือ การสร้างบริการใหม่ๆ ที่ใช้ไอทีเป็นตัวนำพา หากเปรียบแล้วก็เหมือนกับการสร้างรถชนิดต่างๆไปวิ่งบนถนนทางด่วนข้อมูล และบริการเหล่านี้จะต้องตอบสนองผู้ใช้ได้ทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะใช้ในเรื่องของงาน การศึกษา และเพื่อการบันเทิง จะว่าไปแล้ว แนวคิดของบรรณวิทย์อาจไม่ใช่เรื่องผิด เพราะธุรกิจอินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี เป็นคลื่นลูกที่สามที่ทรงพลัง หากชนะเขาจะเป็นต่อในทางธุรกิจ

แต่บังเอิญว่า ช่วงเวลาการเข้าสู่ธุรกิจไอทีของสยามมีเดียฯ ไม่ต่างไปจากเรือลำสุดท้ายที่กำลังจากท่าเรือ เพราะเวลานั้นชินวัตร ยูคอม ซีพี จัสมิน และสามารถ ต่างก็พากันแสวงหารายได้จากสัมปทานหลักๆ กันไปเกือบหมดแล้ว

เวลาที่เหลืออยู่ไม่มาก เป็นสถานการณ์ที่บีบบังคับให้บรรณวิทย์ ต้องเร่งรีบขยายธุรกิจ และเป็นที่มาของการแตกบริษัทลูกออกหลานมากถึง 40 แห่ง ใน 9 กลุ่มธุรกิจ ที่ครอบคลุมธุรกิจทุกสื่อ โทรคมนาคม ไอที ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้เวลาเพียงแค่ปีกว่าๆ จะเห็นได้ว่า สัมปทานสื่อสารโทรคมนาคมที่สยามมีเดีย แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ได้มาจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ไม่ได้เป็นสัมปทานหลัก เป็นแค่บริการเสริม มีลูกค้าเฉพาะกลุ่ม และต้องอาศัยเวลาในการสร้างตลาด ไม่ว่าจะเป็นสัมปทานบริการสื่อสารข้อมูล ภาพ และเสียงผ่านดาวเทียม (วีแสท) ที่ซื้อมาจากอิทธิวัฒน์ เพียรเลิศ และมาเปลี่ยนชื่อเป็นสยามแซท เน็ทเวิร์ค รวมทั้งสัมปทานที่ขอมาใหม่จากกสท. คือ บริการสื่อสารข้อมูลระหว่างประเทศ (International Value Added Network :IVAN) และสัมปทานการเป็นผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตเฉพาะในองค์กร และได้รับสิทธิเป็นตัวแทนจากการสื่อสารฯ ในการทำตลาดเครือข่ายของกสท. เช่น บริการไทยแพค X.25 บริการเฟรมลิงค์ เป็นต้น

บรรณวิทย์มักพูดกับพนักงานเสมอว่า Speed หรือ ความเร็ว จะนำไปสู่ความเป็นต่อในการแข่งขันทางธุรกิจ

บรรณวิทย์ ให้เหตุผลว่าองค์กรธุรกิจต่างๆ เช่น ธุรกิจโทรคมนาคม ต่างก็มีโครงสร้างใหญ่โต เพื่อพยายามก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไรในโลกปัจจุบัน ที่ทุกฝ่ายก็ต้องพยายามเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งนั้น

และวิธีการขยายธุรกิจโดยยึดหลักความเร็ว มักจะควบคู่ไปกับวิธีการไล่ซื้อกิจการ ผนวกกิจการ ซึ่งบรรณวิทย์ใช้ทั้งสองสิ่งนี้ควบคู่กันไปอย่างครบถ้วน

เงินทุนส่วนใหญ่ของแบงก์ไทยพาณิชย์ และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถูกนำไปใช้ในการซื้อหุ้นของกิจการต่างๆ ทั้งในธุรกิจมีเดีย บันเทิง โทรคมนาคมรวมทั้งโครงการขนาดใหญ่ อีรีเดียม

"สิ่งที่คุณบรรณวิทย์พูดให้พนักงานมั่นใจก็คือ ไม่ต้องกังวล เดี๋ยวขายหุ้นบริษัทออนป้า ปลายปีก็มีรายได้เข้ามาแล้ว" อดีตพนักงานคนหนึ่งสะท้อนวิธีคิดของบรรณวิทย์

บรรณวิทย์ อาจมีวิสัยทัศน์ในเรื่องไอที แต่สิ่งที่ขาด ก็คือประสบการณ์ในเรื่องของการทำข้อตกลงทางธุรกิจ (DEAL) และการบริหารงานในฐานะของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ซึ่งเป็น 2 ส่วนที่สำคัญมากและจำเป็นอย่างยิ่ง

บรรณวิทย์ ใช้วิธีพึ่งพามืออาชีพจากทั้งในแวดวงธุรกิจไอที มีเดีย ที่เขาดึงตัวมาด้วยการให้ค่าตอบแทนสูงๆทั้งเงิน ทั้งรถยนต์ โดยหวังว่าจะอาศัย บุคลากรเหล่านี้ เป็นตัวขับเคลื่อนให้ธุรกิจเหล่านี้เดินหน้าต่อไปได้

แต่บรรดามืออาชีพเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นดาวรุ่งที่โตขึ้นมาพร้อมกับกระแสของไอที ซึ่งผ่านประสบการณ์มาไม่กี่ปี ยังไม่เคยผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านความสำเร็จในการทำธุรกิจมาอย่างจริงจัง

บรรณวิทย์อาจลืมไปว่า บทบาทของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ไม่ใช่เพียงการแสดงวิสัยทัศน์ หรือจ้างมืออาชีพมามากๆ เท่านั้น แต่เขาจะต้องมีความสามารถในการบริหารงาน จัดการแก้ปัญหาภายในการบริหารคนให้เหมาะสมกับงาน และการกำหนดทิศทางของธุรกิจอย่างแน่ชัด ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่บรรณวิทย์ไม่มี และเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความล้มเหลว ของสยามมีเดียฯ

สนธิญาณ หนูแก้ว เป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญของเรื่องนี้ เขาทำงานให้กับสำนักงานทรัพย์สินฯ มานาน ตั้ง แต่สมัยยังเรียนและทำกิจกรรมอยู่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเขามีส่วนร่วมในการร่างข้อเสนอในการประมูลทีวีเสรี และนี่เองที่ทำให้สนธิญาณมอง ว่า เขาได้ขึ้นเป็นหนึ่งในผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มสยามมีเดียฯ

แต่บรรณวิทย์ไม่คิดเช่นนั้น แม้จะมีความสามารถ แต่ในสายตาของบรรณวิทย์สนธิญาณยังขาดคุณสมบัติในเรื่องของความรู้ ที่จะขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูงในองค์กรของสยามมีเดีย แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น ที่เต็มไปด้วยอดีตนักเรียนนอก

สนธิญาณจึงเป็นชนวนแรกที่นำไปสู่การแตกร้าวถึงขั้นที่สนธิญาณ ต้องเดินแยกทางออกจากสยามมีเดียฯ พร้อมกับหอบเอาคลื่นวิทยุ 102.5 กลับ ไปอยู่กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ดังเดิม ส่วนอิทธิวัฒน์ เพียรเลิศ ก็แยกเอาคลื่น 94.5 ไปสร้างอาณาจักรส่วนตัว ในนามบริษัทบรอดคาสติ้ง เน็ทเวิร์ค ประเทศไทย

ในอีกด้านหนึ่งปัญหาภายในระ-หว่างผู้ถือหุ้นของสยามอินโฟเทนเม้นท์ เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นเพื่อรับสัมปทานโทรทัศน์เสรี ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทไอทีวีเองก็มีปัญหาความขัดแย้ง เป็นเรื่องปกติของบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นมากถึง 10 ราย ที่จะมีปัญหาความคิดเห็นที่ไม่ลงรอยกัน ในหลายๆ เรื่อง แต่บรรณวิทย์ก็ไม่สามารถจัดการแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ลงตัว และการปราศจากการตัดสินใจที่ถูกต้อง ก็เป็นสาเหตุให้หนังสือดอกเบี้ย หนังสือพิมพ์ตงฮั้ว และไตรภพ ลิมปภัทร ต้องตัดสินใจถอนหุ้นในเวลาต่อมา

ปัญหานี้ยังรวมไปถึงการที่ไม่สามารถประสานงานการบริหารงานร่วมกับ จุลจิตต์ บุณยเกตุ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ของสหศีนิมาโฮลดิ้ง ซึ่งจัดเป็นคีย์แมนอีกคนที่อยู่ในระดับเดียวกับบรรณวิทย์

จุลจิตต์ เป็นหนึ่งในคณะกรรมการร่างเงื่อนไขในการประมูล (ทีโออาร์)ทีวีเสรี และต่อมาลาออกจากคณะกรรมการ เพื่อมาเข้าร่วมกับกลุ่มสยามมีเดียฯ จุลจิตต์สนใจและเคยทำงานเกี่ยวกับสื่อมาหลายครั้ง เคยเป็นบอร์ดให้กับองค์การสื่อสารมวลชน และมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มสำนักงานทรัพย์สินฯ

ช่วงแรก จุลจิตต์ และบรรณวิทย์ แยกการบริหารงานเอาไว้อย่างชัดเจน

จุลจิตต์นั่งเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทสหศีนิมาโฮลดิ้ง ดูเรื่องการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ส่วนบรรณวิทย์รับผิดชอบสยามมีเดียฯ มีเป้าหมายให้ลงทุนเฉพาะธุรกิจโทรทัศน์เสรี ซึ่งทั้งสองต้องประสานงานร่วมกัน

แต่ในช่วงหลังเมื่อบรรณวิทย์ไม่ต้องการให้บทบาทของสยามมีเดียฯ อยู่แค่การลงทุนในธุรกิจทีวี หลายเรื่องในความรับผิดชอบของจุลจิตต์ กลายเป็นของบรรณวิทย์ ความไม่ลงรอยในเรื่องการบริหารงาน

"ช่วงหลังคุณจุลจิตต์มีความเห็นไม่ตรงกับคุณบรรณวิทย์หลายเรื่อง คุณบรรณวิทย์ไม่ให้คุณจุลจิตต์เป็นกรรมการในบริษัทลูกหลายๆแห่งที่ตั้งขึ้นมา ถึงขั้นที่ว่า คุณจุลจิตต์เองไมรู้ตัวมาก่อน" อดีตพนักงานในสยามมีเดีย แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น เล่าถึงที่มาของการกลับไปนั่งไทยออยล์ของจุลจิตต์ และเกษม จาติกวณิช ในฐานะประธานกรรมการบริหารสยามมีเดีย

จนกระทั่งผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัทอินโฟเทนเม้นท์ ก็ได้จัดประชุมขึ้นในวันที่ 22 ธันวาคม 2538 ซึ่งเป็นวันชี้ชะตาที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในของสยามมีเดีย แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น และบทบาทของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

บทสรุปที่ได้จากการประชุมในวันนั้น นอกเหนือจากการแยกตัวของสนธิญาณ และอิทธิวัฒน์ ยังนำไปสู่การแยกบทบาทของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ออกจากสยามมีเดีย แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น

"สำนักงานทรัพย์สินฯต้องการแยกบทบาทให้ชัดเจนว่า สยามมีเดียฯเป็นการลงทุนของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่มีโอฬาร ไชยประวัติ เป็นประธานกรรมการ ส่วนไอเอ็นเอ็น และคลื่น 102.5 เป็นของสำนักงานทรัพย์สินฯ ไม่ เกี่ยวข้องกับสยามมีเดียฯ อีกต่อไป"

เหตุผลที่ลึกไปกว่านั้นก็คือ สำนักงานทรัพย์สินฯ ต้องหันมาทบทวนกับการบริหารงานของบรรณวิทย์ ซึ่งไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจน ถึงผลตอบแทนที่จะได้รับจากการขยายการลงทุนไปอย่างหนักของสยามมีเดีย แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น

สยามมีเดียฯ ใช้เงินลงทุนในช่วงแรกถึง 1,400 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เป็นค่าจ้างพนักงาน ซื้อที่ดิน ซื้อหุ้นในบริษัทต่างๆ แต่ธุรกิจที่ลงทุนยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ต้องอาศัยเวลาอีกนานกว่าจะมีรายได้กลับคืนมาในช่วงเวลาสั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโทรทัศน์ โรงภาพยนตร์ มัลติมีเดีย

นอกจากเวลาที่เหลือไม่มากของบรรณวิทย์ เขายังต้องมาเจอกับวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้หลายธุรกิจของสำนัก งานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไม่ว่าจะเป็นแบงก์ไทยพาณิชย์ บริษัทคริสเตียนี แอนด์ นีลเส็น หรือแม้แต่ปูนซิเมนต์ไทย ต่างก็ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และเป็นสาเหตุที่ทำให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ต้องออกมาเข้มงวดในเรื่องการลงทุนมากขึ้น

"ตอนนั้นคุณเสนาะ อูนากูล คุณสุธีย สิงห์เสน่ห์ ก็เตือนแบบผู้ใหญ่เตือนเด็กว่า ไม่ควรขยายธุรกิจแบบนี้ เพราะอาจมีปัญหาได้ แต่คุณบรรณ-วิทย์ เขาก็เฉยๆ" อดีตพนักงานของสยามทีวีฯ เล่า

แต่เหตุการณ์ที่ทำให้บรรณวิทย์ตกที่นั่งลำบากมากขึ้น เมื่อสยามมีเดียฯ ไม่สามารถนำเสนอแผนงานการลงทุน ผ่านคณะกรรมการพิจารณาเกี่ยวกับแผนการลงทุนของสำนักงานทรัพย์สินฯ ในขณะที่กลุ่มธุรกิจอื่นๆ ก็นำเสนอผ่าน ตลอด

ช่วงนั้นเองจึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองขึ้นมาเพื่อปรับปรุงแผนงานของสยามมีเดียฯ ก่อนจะส่งให้คณะกรรมการสำนักงานทรัพย์สินส่วน พระมหากษัตริย์พิจารณา

คณะกรรมการกลั่นกรอง มีทั้งหมด 4 คน สองคนในนั้นก็คือ ยศ เอื้อชูเกียรติ ที่สนิทสนมกับจิรายุเป็นอย่างดี และวิชิต สุรพงษ์ชัย ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมของธารินทร์ นิมมานเหมินท์

"คุณบรรณวิทย์ ไม่เคยเข้าไปร่วมประชุมกับคณะกรรมการชุดนี้เลย แต่ส่งผู้บริหารระดับรองลงมาไปประชุมแทน ทั้งๆ ที่ถือว่าเป็นความรับผิดชอบ โดยตรง ยิ่งสร้างความไม่พอใจให้กับคณะกรรมการฯมากขึ้น" แหล่งข่าวเล่า

จะว่าไปแล้ว หากไม่มีวิกฤติเศรษฐกิจ สถานการณ์ของสยามมีเดียฯ และบรรณวิทย์ก็อาจไม่เลวร้ายถึงเพียงนี้

เพราะจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นโอฬาร และแบงก์ไทยพาณิชย์เองก็เอาตัวไม่รอด ต้องหันมาแก้ปัญหาในเรื่องของแบงก์ตัดค่าใช้จ่าย หามาตรการแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้เสีย ทบทวนการลงทุนทั้งหมด

และที่สำคัญการลงทุนของแบงก์ ไทยพาณิชย์ในสยามมีเดียฯ ก็เป็นการฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ของแบงก์ชาติ ที่กำหนด ไม่ให้แบงก์ลงทุนในธุรกิจอื่นๆ เกิน 10%

"ช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจไปได้ดี กฎเกณฑ์เหล่านี้ก็อาจหย่อนยานไป แต่พอเกิดวิกฤติขึ้นมา ธนาคารเป็นหนึ่งในต้นตอของปัญหาวิกฤติครั้งนี้ ก็เริ่มถูกจับตา แบงก์ไทยพาณิชย์ก็เลยต้องหันมาแก้ไขปัญหา สิ่งที่ทำไว้กับการลงทุน" อดีตแหล่งข่าวเล่า

บรรณวิทย์จึงต้องหันมาทบทวนการลงทุน ยอมลดขนาดธุรกิจลงปลด พนักงานออกไปมากมาย ทั้งที่ลาออกเอง และที่โดนให้ออก และเพื่อลดแรงกดดันที่มาจากสำนักงานทรัพย์สิน ส่วนพระมหากษัตริย์

แต่การแก้ปัญหาของบรรณวิทย์ก็ยังสะท้อนให้เห็นถึงการไร้ประสบการณ์ในการบริหาร

"วันดีคืนดี คุณบรรณวิทย์ก็มาบอกว่าให้คนนั้นคนนี้ออก และก็ไม่ให้เหตุผลอะไร เพราะคนที่ออกก็ล้วนแต่เป็นผู้บริหารที่เป็นมือทำงานจริงๆ ถ้าลงไปดูจริงๆ จะเห็นเลยว่า คุณบรรณวิทย์ และสยามทีวีฯ มีคดีที่ถูกพนักงานฟ้องร้องเต็มไปหมด" อดีตพนักงานคนหนึ่ง เล่าวิธีการแก้ไขปัญหา ที่สะท้อนถึงวิธีการแก้ปัญหาของบรรณวิทย์

วันที่บรรณวิทย์ แถลงข่าวประกาศเปิดศูนย์จาวา หรือ JAVA BASE CENTER พร้อมกับให้สัมภาษณ์ถึงทิศทางใหม่ของสยามทีวีฯ ที่จะมุ่งสู่ธุรกิจไอทีและมีเดีย ส่วนธุรกิจโทรคมนาคมจะชะลอลงชั่วคราว เมื่อมีความพร้อมจะกลับมาลงทุนใหม่อีกครั้ง

ช่วงบ่ายวันเดียวกันก็มีคำสั่งด่วนจากแบงก์ไทยพาณิชย์ แต่งตั้งให้ประสพ สนองชาติ มือการเงินของแบงก์ไทยพาณิชย์ เข้ามานั่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน ในบริษัทสยามมีเดีย แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด

ภารกิจ ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการเงินของประสพ มาควบคุมการเงินสยามมีเดีย แอนด์ คอมมิวนิ เคชั่นให้มากที่สุด และที่มากไปกว่านั้นก็คือ มาทำความสะอาดกวาดล้างบ้านให้กับสยามมีเดียฯ

ประสพอยู่ในแบงก์ไทยพาณิชย์มานาน เคยทำงานร่วมกับชฎา วัฒน-ศิริธรรม นอกจากเชี่ยวชาญด้านการเงินแล้ว ประสพยังชำนาญธุรกิจในเมืองจีนด้วย

"แบงก์ส่งคุณประสพมาคุมเกม พอหลังจากคุณประสพมา ก็ไล่ปิดบริษัทที่ไม่ทำรายได้หรือมีกำไรลง เวลานั้นบรรณวิทย์ก็ไม่สามารถทำอะไรได้แล้ว"

การประกาศนโยบายของชฎา วัฒนศิริธรรม ภายหลังจากรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ แทนโอฬารว่า ไทยพาณิชย์จะทำเฉพาะธุรกิจที่ตัวเองถนัด ส่วนธุรกิจที่ลงทุนไว้แล้วจะเหลือเฉพาะธุรกิจที่เลี้ยงตัวเองได้ ธุรกิจไหนที่ไม่ทำกำไรก็ตัดทิ้งไป จึงไม่ต่างไปจากการปิดฉากยุคฟุ่มเฟือยของสยามมีเดียฯ ลงอย่างสิ้นเชิง วันอังคารที่ 25 พฤษภาคม เป็นวันที่บริษัทสยามมีเดีย แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น ออกมาประกาศต่อสาธารณ ชนเป็นครั้งแรก จากบริษัทในเครือสยามมีเดียฯ ที่เหลืออยู่ 13 แห่ง ในจำนวนนี้มีเพียง 5 บริษัท (ดูตารางประกอบ) เท่านั้นพอมีรายได้เลี้ยงตัว และในจำนวนนี้บริษัทที่ได้รับสัมปทานจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) เป็นบริษัทรับสัมปทาน มีสัญญาผูกพันอยู่กับการสื่อสารฯ

โครงสร้างใหม่ของสยามมีเดียฯ จะมีบริษัท Infonet Service Corporation บริษัทให้บริการสื่อสารระหว่าง ประเทศ จากสหรัฐอเมริกา มาเป็นพันธมิตรถือหุ้นร่วมกับสยามมีเดีย แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จัดตั้งเป็นบริษัท Infonet Thailand มีสัดส่วนถือหุ้น 75:25 ตามลำดับ

บริษัท Infonet ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นพันธมิตรของบริษัทสยามมีเดียฯ เคยถือหุ้นในบริษัทสยามอินโฟเน็ต การลงทุนร่วมกันครั้งนี้เพื่อต้องการขยายการลงทุนร่วมกับสยามมีเดียฯมากขึ้น โดยจะมีการปรับเปลี่ยนการถือหุ้นใหม่ บริษัท Infonet Thailand จะเข้าไปถือหุ้นในบริษัทสยามอินโฟเน็ต 100%

นอกจากนี้ Infonet Thailand จะไปถือหุ้นในบริษัทสยามโกบอล แอ็คเซ็ส 65% แทนสยามมีเดียฯ และที่เหลือ 35% ถือโดยกสท. ส่วนในบริษัท STC network คอร์ปอเรชั่นนั้น Infonet Thailand จะเข้าไปถือหุ้น 51% แทนสยามมีเดียฯ และที่เหลือ 49% ถือโดยกสท.

ส่วนที่เหลืออีก 2 บริษัท คือ บริษัทสยามแซท เน็ทเวิร์ค และบริษัทสยามคอนซัลติ้ง จำกัด เป็นสองบริษัทที่อยู่ระหว่างปรับปรุงโครงสร้างธุรกิจ

ในงานวันนั้นมีเพียงประสพ ซึ่ง รับตำแหน่งใหม่เป็นประธานกรรมการ บริษัท Infonet Thailand และนพชัย วีระมาน กรรมการผู้จัดการ บริษัทสยามโกบอล แอ็คเซ็ส แต่ไร้เงาของบรรณวิทย์ ผู้ที่เคยเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สยามมีเดียฯ

จะว่าไปแล้ว การที่สยามมีเดียฯ ต้องตกอยู่ในที่นั่งลำบากเช่นนี้ ส่วนหนึ่งมีโอฬารรับผิดชอบร่วมด้วย และโอฬารเอง กล่าวไว้ชัดเจนว่า การขยายธุรกิจของสยามมีเดียฯ ที่ผ่านมาเป็นความคิดร่วมกันระหว่างเขาและบรรณวิทย์

พูดง่ายๆ ก็คือ หากไม่ได้ไฟเขียว จากโอฬาร บรรณวิทย์ก็คงไม่สามารถขยายกิจการ เอาเงินไปซื้อหุ้นในธุรกิจต่างๆ ซื้อที่ดิน จ้างบรรดามือบริหารมาได้มากมายถึงเพียงนี้

โอฬาร สนใจเรื่องของเทคโน-โลยีมาตั้งแต่สมัยยังทำงานอยู่แบงก์ชาติ และศึกษามาตลอด ระหว่างโอฬารและ บรรณวิทย์ความสัมพันธ์ของเขาทั้งสอง เป็นไปด้วยดี และราบรื่นเอามากๆ

และนี่เองที่ทำให้บรรณวิทย์มองโลกในแง่ดีเกินไป คิดว่า แบงก์ไทยพาณิชย์จะให้การสนับสนุนเขาตลอดไป และก็ไม่แน่ว่า หากไม่มีวิกฤติเศรษฐกิจ และแบงก์ไทยพาณิชย์ไม่ตัดการลงทุนสยามมีเดียฯ คงไม่ต้องประสบกับปัญหาถึงเพียงนี้

ความล้มเหลวของสยามมีเดียฯ จึงเป็นความรับผิดชอบที่โอฬารไม่อาจปฏิเสธได้ ทั้งโอฬาร และบรรณวิทย์ ยื่นใบลาออกไปในเวลาที่ใกล้เคียงกัน

โอฬาร เลือกโปรแกรมเกษียณก่อนอายุ (Eerly Retire) ซึ่งเป็นโปร-แกรมที่แบงก์ไทยพาณิชย์จัดให้กับพนักงานที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ที่ต้องการเกษียณก่อนอายุ 60 ปี จะได้รับผลตอบแทน 10 เดือนบวกกับอายุงานที่เหลือ เช่น หากอายุ 55 ปี จะได้รับเงินตอบแทน 15 เดือน เป็นต้น

ในกรณีของโอฬารอายุ 54 ปี จะได้เงินตอบแทนไป 16 เดือน ส่วนประกิต ประทีปะเสน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ อายุ 56 ปี ที่เลือกโปรแกรมนี้ด้วย จะได้เงินไป 14 เดือน

สำหรับบรรณวิทย์ เขาไม่ได้เข้าโปรแกรมเกษียณก่อนอายุ หรือ โปรแกรมไทยพาณิชย์ร่วมใจ เป็นโปรแกรมให้พนักงานลาออกตามความสมัครใจ เพราะบรรณวิทย์ลาออกจากการเป็นพนักงานของแบงก์ไทยพาณิชย์ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2541 การลาออกของ บรรณวิทย์ จึงเป็นการยื่นใบลาออกจากทุกตำแหน่งที่มีในสยามมีเดียฯ และในเครือแบงก์ไทยพาณิชย์ทั้งหมด รวมถึงการเป็นประธานกรรมการบริหารของไอทีวี ซึ่งก่อนหน้านี้บรรณวิทย์เองก็เคยหวังไว้ว่า เขาจะกลับมานั่งทำงานที่ไอทีวีก็ตาม ในฐานะประธานกรรมการบริหาร แต่แบงก์ไทยพาณิชย์ สั่งยุบคณะกรรมการบริหาร เหลือเพียงคณะกรรมการของบริษัท ที่จะมีผู้ถือหุ้นร่วมเป็นกรรมการ และส่งประกิต ประทีปะเสน มานั่งเป็นประธานกรรมการ แทนโอฬาร หลังจากยื่นใบลาออกแล้ว บรรณวิทย์ก็ปลีกตัวออกจากสังคม และทำให้หลายคนยังเชื่อว่าบทเรียนที่ผ่านมา เป็นบาดแผลที่ลึกเกินกว่าจะทำให้เขาจะไม่กลับมาบนเส้นทางนี้อีกแล้ว แต่บางคนเชื่อว่า บรรณวิทย์จะกลับมาชำระประวัติศาสตร์ของเขาใหม่อีก ครั้ง

เวลาเท่านั้นก็จะกลายเป็นเครื่องพิสูจน์



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.