สบสันติ์ เกตุสุวรรณ ปูนซิเมนต์ MATURE PRODUCT CLASSIC CASE STUDY

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

เขาเป็นคนเรียบง่าย ค่อนข้างสมถะ ตามแบบฉบับของคนเครือซิเมนต์ไทยที่สำคัญเป็นลูกหม้อ เริ่มทำงานครั้งแรกที่นี่ด้วยปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จุฬาฯ จากนั้นก็เป็นนักเรียนทุน MBA รุ่นแรกของบริษัท (เขาเรียนจบทั้ง M.Eng และ MBA จาก University of Southern California) ปัจจุบันอายุ 53 ปี ทำงานในบริษัทมามากกว่าใครๆ ในทีมจัดการ ด้วยอายุงานถึง 33 ปีแล้ว เขามีคุณสมบัติเพรียบพร้อม จนคาดหมายกันว่าเขาจะก้าวมาเป็นผู้จัดการใหญ่คนต่อไปต่อจาก ชุมพล ณ ลำเลียง ลำเลียง ในกรณีที่ชุมพลเกษียณตัวเองก่อนกำหนด สบสันติ์ เกตุสุวรรณ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส จึงเหมาะสมอย่างยิ่งที่ดูแลธุรกิจซีเมนต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสามของ Core Business เป็นธุรกิจดั้งเดิมมาเกือบ 90 ปีของกิจการเก่าแก่ในประเทศไทย ในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญมากในเวลานี้ ความยิ่งใหญ่ของธุรกิจซีเมนต์ ก็คือความยิ่งใหญ่บริษัทคนไทยแห่งนี้มาช้านาน แม้ว่าผู้บริหารเครือซิเมนต์ไทย จะพยายามแสวงหาโอกาสใหม่อย่างมากมาย ในยุค ชุมพล ณ ลำเลียง มีบทบาทในฐานะผู้ดูแลโครงการใหม่มายาวนาน ก่อนดำรงตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ มาจนดำรงตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ ในที่สุดเขาก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ธุรกิจซีเมนต์ ก็ยังความสำคัญอยู่มากทีเดียว เป็นกิจการที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเครือซิเมนต์ไทยมากที่สุด

ความสำคัญมีหลายมิติ

‘ เป็นผู้ผลิตรายแรกที่เริ่มต้นและมีความสัมพันธ์กับพัฒนาการเศรษฐกิจไทยมายาวนาน ผ่านประสบการณ์วิกฤติสังคมไทยมาตลอด ในที่สุดก็พัฒนาจากอุตสาหกรรมผูกขาด ไปสู่อุตสาหกรรมที่ผลิตน้อยรายในประเทศ ความผันแปรของอุตสาหกรรมนี้ มีความสัมพันธ์กับระบบการเมืองเศรษฐกิจมาตลอด แต่เครือซิเมนต์ไทย ก็ยังสามารถรักษาธุรกิจดั้งเดิมที่มีความสามารถเป็นผู้นำตลาดนี้ไว้ได้

‘ ต้องยอมรับว่าผู้บริหารมืออาชีพที่มีความรู้ด้านวิศวกรรมและ MBA เป็นตัวอย่างผู้บริหาร ที่ทำงานรากฐานอย่างจริงจังในสังคมธุรกิจไทย พวกเขาสามารถผ่านยุคพองตัวเกินธรรมชาติมาแล้ว พวกเขาสร้างและพัฒนาอุตสาหกรรมที่เคยชินกับการผูกขาดตลาดในประเทศ ให้มีความสามารถในการแข่งขันในระดับภูมิภาคได้ ดัชนีของความสามารถในการแข่งขันก็คือต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าเกือบทุกประเทศในย่านเอเชีย (ดูกราฟประกอบ)

ความเข้มเข็งของธุรกิจซีเมนต์ ย่อมถือเป็นภาพสะท้อนของความเข้มแข็งของเครือซิเมนต์ไทยที่กำลังฝ่าวิกฤติการณ์ครั้งสำคัญครั้งนี้ด้วย

"ผมบอกลูกน้องว่าเราเคยชกมวยไทย จากนี้ไปเราต้องมาชกมวยสากลกันแล้ว" คำกล่าวของ สบสันติ์ เกตุสุวรรณ มีความหมายถึงการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมซีเมนต์ครั้งสำคัญในประเทศไทยปัจจุบัน

จากการผลิตที่เคยผลิตได้ 80-90% ของกำลังการผลิตทั้งอุตสาหกรรมก่อนวิกฤติการณ์ ต้องมาลดฮวบเหลือเพียง 50-60% ในปัจจุบันนี่คือสาเหตุหลักที่สบสันต์เรียกว่า "Major Change"

ผู้ผลิตในไทยเผชิญปัญหาทางการเงิน ทำให้พวกเขาจำเป็นต้องมีหุ้นส่วนเป็นต่างชาติ มีกิจการไทย 2 กิจการสำคัญในขณะนี้ ที่ถือหุ้นใหญ่และบริหารโดยกิจการซีเมนต์ยักษ์ใหญ่ระดับโลก (โปรดพิจารณาตารางการซื้อกิจการในระดับภูมิภาค) นับว่าเป็นครั้งแรกของอุตสาหกรรมที่เคยผูกขาด ที่มีต่างชาติเข้ามาอย่างเต็มรูปแบบ ธุรกิจระดับโลกเหล่านี้ มีโรงงานเป็นเครือข่ายทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก การแข่งขันทางธุรกิจจะเป็นอย่างไร สบสันต์บอกว่าตอบไม่ได้ แต่ก็น่าติดตามอย่างยิ่ง

แม้ว่าธุรกิจซีเมนต์ของเครือซิเมนต์ไทย ไม่จำเป็นต้องมีหุ้นส่วนจากต่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาทางการเงิน แต่สบสันต์บอกว่าก็จำเป็นต้องปรับตัวมากทีเดียว "ตลาดในประเทศเราไม่แย่ง ทุกที่มีปัญหารัฐบาลก็หันมาที่ปูนซิเมนต์ไทยทุกที่อยู่แล้วมีมาร์เก็ตแชร์พอสมควรแล้ว อย่าตะกละดีกว่า" นี่คือข้อสรุปยุทธวิธีใหม่ของเครือซิเมนต์ไทย สำหรับตลาดในประเทศ

สิ่งที่สำคัญจากนี้ก็คือการเข้าสู่ตลาดระดับภูมิภาคอย่างจริงจังในหลายรูปแบบ ทั้งขยายตลาดไปในตลาดที่สามารถแข่งขันได้ การร่วมมือกับกิจการซีเมนต์ในประเทศที่มีความสามารถทัดเทียมกับไทย เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเชีย อาจจะเป็นการร่วมมือการตลาด หรือร่วมหุ้นในกิจการที่มีอยู่แล้ว (ทั้งร่วมมือกับกิจการท้องถิ่น หรือระดับโลก) เขาคิดว่า การสร้างโรงงานใหม่ที่เคยคิด และยังไม่ทำ ก็เกิดวิกฤติการณ์เสียก่อน ก็คงต้องหยุดต่อไป

ส่วนในประเทศมีความสามารถในการผลิตปูนซีเมนต์ต่ำกว่าประเทศไทย เขาก็แผนที่จะย้ายเครื่องจักรที่ไม่ใช้ประโยชน์ในประเทศไทย ออกไปผลิตในประเทศเหล่านั้น เช่น พม่า เวียดนาม และลาว

ธุรกิจซีเมนต์ก็คงพลิกแพลงได้ไม่มากทั้งในแง่การตลาดและการผลิต "การหา Application ใหม่ๆ ค่อนข้างลำบาก เนื่องจาก Mature Product เป็น Product ที่เกิดขึ้นนาน ตั้งแต่สมัยโรมัน ไม่ใช่พลาสติกที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลก" สบสันติ์ เกตุสุวรณ สรุปไว้

ความหวือหวาที่ท้าทายของธุรกิจนี้คงไม่มีมากมาย แต่ก็เป็นภาพสะท้อนของความเข้มแข็ง เป็นไปของระบบเศรษฐกิจไทยและภูมิภาคได้อย่างดี



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.