INFORMATION MEMORENDUM สุดยอดคัมภีร์ธุรกิจไทย

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

หนังสือปกขาว "The Siam Cement Group" December 1998 หนาประมาณ 160 หน้ามีความหมายเป็นพิเศษไม่เฉพาะเครือซิเมนต์ไทย หากเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับธุรกิจ ไทยด้วย

กว่าจะเป็นหนังสือเล่มนี้ใช้เวลา 1 ปีเต็ม

"ปรับโครงสร้างปูนซิเมนต์ไทยเราเริ่มตั้งแต่ต้นปี 2541 เรามีการประชุมการจัดการ แจ้งความจำเป็นแจ้ง ให้หน่วยงานต่างๆ ไปทำแผน แล้วก็แผนงานที่ทำยังสั่งให้ทำเป็นภาษา อังกฤษ คิดไว้แล้วว่าจะจ้างต่างชาติมาดู ก็ต้องยอมรับว่า เป็นภาษาอังกฤษ ที่แย่มาก แต่อย่างน้อยก็พอเดาออก" ชุมพล ณ ลำเลียง ผู้จัดการใหญ่ เครือซิเมนต์ไทย เปิดที่มาของการทำแผนปรับโครงสร้าง อันเป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ ไม่มีคำแปลภาษาไทย

"วิธี Approach มันแตกต่างกัน ระหว่างองค์กร ของเรามีข้อมูลพร้อมอยู่แล้ว เขาเข้ามาศึกษาตามระบบตาม ข้อมูลที่เรามีอยู่เขานำ Expert แต่ละอุตสาหกรรม เข้ามาช่วย Audit ข้อมูล ที่มีอยู่ ระบบข้อมูล เช่น เรามีแผนงาน เรามี Vission ของธุรกิจคืออะไร Objective คู่แข่งมีอะไร Brenchmark เป็นอย่างไร เขา Review หลังจากดูแล้วเรา ขาดอะไร เขาจะให้ข้อมูล เขาจะดูจุดแข็งของปูนฯ คืออะไร ควรให้คำแนะนำอะไร ควรจะเลือกธุรกิจนี้เพราะอะไร ไม่ควรเลือกธุรกิจนี้เพราะอะไร" อวิรุทธ์ วงศ์พุทธพิทักษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้ดูแลสำนักผู้จัดการใหญ่ และมีบทบาทสำคัญในการทำ INFORMATION MEMORENDUM เล่มนี้ ให้รายละเอียดของการทำงานของ McKinsey ที่เข้ามาเป็นที่ปรึกษาในการปรับโครงสร้างธุรกิจเครือซิเมนต์ไทย ประมาณกลางปี 2541 เขาเล่าอีกว่า McKinsey ใช้เวลาเพียง 5 สัปดาห์ เสร็จพอดีกับการ ประชุมกรรมการประจำเดือน (กันยายน 2541) เมื่อคณะกรรมการอนุมัติโครงสร้างธุรกิจใหม่ พร้อมๆ กับเขาเดินทางไปเจรจาจ้างที่ปรึกษาทางการเงินมาให้คำปรึกษาทางการเงินในแผนงานรวม (Chase Manhattan Bank และ Deutsche Bank) จากนั้นประมาณเดือนตุลาคมก็จ้าง Goldman Sachs เข้ามาเพื่อเขียน Information memorendum สรุปเสร็จต้นเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็น Version แรก อวิรุทธ์ให้ข้อมูลว่าเครือซิเมนต์ไทยใช้เงินจ้างที่ปรึกษาเหล่านี้เป็นเงินรวมกันเพียงประมาณ 30 ล้านบาทเท่านั้น โดยการจ้างแต่ละรายไม่ซ้อนกันมี TOR (Term of Refrrence) อย่างชัดเจน มีโครงสร้างงานอย่างชัดเจน และกำหนดเวลาที่แน่นอน "หากไม่เสร็จตามเวลา พวกเขาต้องเดินออกไป" บทเรียนการจ้างฝรั่งเป็นที่ปรึกษาของเขาจึงมีค่าอีกบทหนึ่งสำหรับธุรกิจ และราชการไทย ด้วยการเตรียมตัวของ ผู้จ้างอย่างพร้อมมูล

หนังสือเล่มนี้ถูกแก้ไขบนเครื่องบินในสาระปลีกย่อยอีกเล็กน้อย โดย อวิรุทธ์ วงศ์พุทธพิทักษ์ และ เชาวลิต เอกบุตร ผู้อำนวยการพัฒนาธุรกิจและโครงการในระหว่างทางไป Road Show ในต่างประเทศซึ่งกลายเป็น Version ล่าสุดที่เห็น

ความสำคัญของหนังสือปกขาวเล่มนี้มีมากทีเดียว

‘ หนังสือเล่มนี้ทำขึ้นเพื่อสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ถือหุ้น นักลงทุน และเจ้าหนี้ โดยเฉพาะต่างประเทศ ซึ่งก็หมายความมาจากแผนการของการปรับโครงสร้างที่เป็นจริง หนังสือเล่มนี้จึงกลายเป็นพันธะสัญญาของเครือซิเมนต์ไทยในการปรับโครงสร้าง

‘ หนังสือเล่มนี้ให้ภาพความเชื่อปรัชญา และแนวทางการปรับตัวของธุรกิจไทย ที่กระจ่างชัดที่สุดเท่าที่มีหนังสือประเภทนี้เกิดขึ้นในสังคมธุรกิจไทย ย่อมจะเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับธุรกิจทั่วไปด้วยความเชื่อถือของนักลงทุน ในวันนี้เปลี่ยนจากการเขียนแผนการที่มองโลกในแง่สวยงามเมื่อ 4-5 ปี ที่พิสูจน์ว่าเป็นไปไม่ได้ในเวลาต่อมา มาเป็นแผนการที่วิเคราะห์และยอมรับความล้มเหลวในอดีต พร้อมกับแผนการใหม่เพื่อปรับปรุงแก้ไข

‘ เป็นหนังสือที่ผลิตขึ้นได้จากข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ภายใต้ระบบข้อมูลที่ดีมากของเครือซิเมนต์ไทย ซึ่งเป็นองค์กรใหญ่ มีกิจการนับร้อยแห่ง ซึ่งมีความหมายที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การรู้จักตนเองได้ดี ย่อมจะแก้ปัญหาได้ง่าย

เนื้อหาในหนังสือปกขาวเล่มนี้ ประกอบด้วย แผนการปรับโครงสร้างโดยละเอียดของเครือซิเมนต์ไทย โดยแยกเป็นรายธุรกิจ พร้อมข้อมูลสำคัญที่สนใจมากมาย เป็นข้อมูลที่ในอดีตไม่สามารถเปิดเผยได้ ตามวัฒนธรรมของธุรกิจไทย

เนื่องจาก "พื้นที่" ใน "ผู้จัดการ" มีจำกัด จึงไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาสาระได้ครบถ้วน ขอนำมาเฉพาะบทแรกเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อเข้าใจง่ายขอแปลเป็นภาษาไทย ซึ่งมิใช่คำแปลอย่างเป็น ทางการของเครือซิเมนต์ไทย

หากผู้สนใจต้องการรายละเอียด หรือหนังสือเล่มนี้ คิดว่าเครือซิเมนต์ไทยคงมีให้ได้จำนวนหนึ่ง หรือหาอ่านได้ในอินเตอร์เน็ต ที่ www.cementhai. com

รู้จักกับเครือซิเมนต์ไทยกลุ่มบริษัทชั้นนำของไทย

บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC) เป็นเครือบริษัทอุตสาหกรรมที่โดดเด่นที่สุดในประเทศไทย มีรายรับรวมในปีค.ศ.1997 มากกว่า 118,000 ล้านบาท หรือประมาณ 3,900 ล้านดอลลาร์ หากคิดที่อัตราแลกเปลี่ยน 30 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์ SCC เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (รหัส SCC และ SCC-F) และเป็นบริษัทแม่ของบริษัทย่อยอีกหลายบริษัท ซึ่งรวมกันเป็นเครือซิเมนต์ไทย ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์มากกว่า 60,000 รายการ ทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ SCC ได้รับการก่อตั้งในปีค.ศ. 1913 เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงตราพระราชกำหนดให้ตั้ง SCC เพื่อยุติการพึ่งพาการนำเข้าปูนซีเมนต์จากต่างประเทศ และเพื่อพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติภายในประเทศ ทุกวันนี้ธุรกิจของเครือซิเมนต์ไทยครอบคลุมทั้งปูนซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี กระดาษและบรรจุภัณฑ์ วัสดุก่อสร้าง เซรามิก เหล็กและเหล็กกล้า เครื่องจักร เครื่องไฟฟ้าและเครื่องเหล็ก ยางรถยนต์และ อุปกรณ์รถยนต์ นอกจากนั้น SCC ยังทำธุรกิจด้านการจัดจำหน่ายและการค้าอีกด้วย

ด้วยความโดดเด่นและความมุ่งมั่นที่จะผลิตสินค้าคุณภาพสูงสุดโดยใช้เทคโนโลยีทันสมัย SCC จึงสามารถก้าวเข้าสู่การเป็นหุ้นส่วนธุรกิจกับบริษัท ชั้นนำระดับโลกเช่น ดาว เคมีคัล, มิชลิน, โตโยต้า, ฮิตาชิ, นิปปอนสตีล และโตโต้

จุดแข็งที่สำคัญของเครือสยามซิเมนต์

แม้ SCC จะเป็นผู้นำของเครือ ซิเมนต์ไทย อันเป็นเครือบริษัทที่ใหญ่ ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย แต่ขนาด ก็มิใช่พื้นฐานหลักของความสำเร็จในทางธุรกิจของกิจการนี้ สถานะความเป็นบริษัทชั้นนำในสายตาของนักลงทุน ของ SCC ในประเทศไทยนั้น วางอยู่บนพื้นฐานของจุดแข็งที่สำคัญ ดังต่อไปนี้

‘ การบริหารจัดการโดยมืออาชีพและเป็นอิสระ ที่สามารถกำหนดกลยุทธ์ของ SCC เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้น

‘ การเป็นผู้นำที่ครองตลาดสินค้านานา ประเภทประกอบกับการมีเครือข่ายการ จัดจำหน่ายที่ครอบคลุม

‘ ชื่อเสียงของบริษัทในด้านการดำเนินธุรกิจด้วยคุณภาพ และฐานะทาง การตลาดภายในประเทศอันโดดเด่นเป็นหนึ่ง ซึ่งดึงดูดให้บริษัทข้ามชาติที่สำคัญๆ ของโลกต้องการเข้าเป็นหุ้นส่วนธุรกิจกับ SCC

การเปิดเผยข้อมูลใหม่ๆ

ถึงแม้ว่า SCC จะมีประวัติศาสตร์ อันยาวนานและมีชื่อเสียงเป็นที่รับรู้กัน ทั่วไป ทว่าบุคคลภายนอกจำนวนมากก็ ยังไม่เข้าใจถึงขนาดความใหญ่โตและการดำเนินธุรกิจอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมการผลิตของเครือ SCC ความยุ่งยากทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเมื่อหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมา ทำให้ SCC จำเป็นต้องเปิดเผยโครงสร้างทางธุรกิจ ให้กระจ่างเพื่อสร้างความเข้าใจว่า SCC บริหารจัดการธุรกิจในสาขาต่างๆ ที่แผ่ สาขากว้างขวางได้อย่างไร ท่ามกลางสภาพแวดล้อมซึ่งผันผวนอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เอกสารฉบับนี้ มีเป้าหมายเพื่ออธิบายว่า SCC ตั้งใจที่จะปรับ โครงสร้างเครือซิเมนต์ไทยอย่างไร เพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ทางเศรษฐกิจและการพาณิชย์ และเพื่อให้ ข้อมูลอันเป็นประโยชน์เกี่ยวกับแต่ละ กลุ่มบริษัทภายในเครือ ดังที่ได้ปรับองค์กรภายใต้โครงสร้างธุรกิจใหม่ที่มีผล บังคับมาตั้งแต่เดือนมกราคมปี ค.ศ. 1999 ในเอกสารฉบับนี้ "SCC" หมายถึงตัวองค์กรธุรกิจที่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งภายหลังการจัดโครงสร้างบรรษัทใหม่ดังจะได้กล่าวต่อไป จะมีบทบาทหน้าที่ในฐานะเป็นศูนย์กลางการบริหารของเครือบริษัทและเป็นบริษัทแม่ที่ถือหุ้นในบริษัท โฮลดิ้ง อีก 9 แห่งที่เป็นบริษัทลูกโดยตรง ส่วน "เครือซิเมนต์ไทย" นั้นจะหมายถึง SCC และบริษัททั้งหมด อีกทั้งธุรกิจทั้งมวลที่อยู่ภายใต้ความเป็นเจ้าของ, การควบคุม หรือการบริหารของ SCC นอกจากนั้น "ซิเมนต์ไทย" จะหมายถึงบริษัทและกลุ่มบริษัทภาย ในเครือซิเมนต์ไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับกิจการหรืออุตสาหกรรมที่ต้องวิเคราะห์พาดพิงถึงตามแต่ความจำเป็น ของบริบท

การปรับโครงสร้างเครือซิเมนต์ไทย

หลักการและเหตุผล

ตั้งแต่ประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1997 เป็นต้นมา เศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจภายในภูมิภาคนี้ได้ประสบกับความเปลี่ยนแปลงอย่าง สำคัญและรวดเร็ว ต้องมีการปรับลดตัว เลขประมาณการเดิมๆ ที่เคยพยากรณ์ไว้ก่อนหน้านั้นอย่างมากมาย ไม่ว่าจะในเรื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจระดับมหภาค ไปจนถึงการขยายตัวของระดับอุปสงค์ต่อสินค้าอุตสาห-กรรมต่างๆ ปัจจัยเหล่านั้น ทำให้กลุ่ม ธุรกิจในอุตสาหกรรมเหล่านี้ต้องเผชิญกับปัญหากำลังการผลิตล้นเกิน และความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต ภายใต้สถาน การณ์เช่นนั้น ได้เกิดความกดดันที่จะต้องรวบรวมอุตสาหกรรมภายในประเทศและในภูมิภาคให้เป็นกลุ่มก้อนและปึกแผ่น

เมื่อมองตนเอง SCC พบว่าตนเป็นเจ้าของกิจการต่างๆ อย่างหลากหลายกว้างขวาง อันเป็นผลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี และเป็นผลจาก การสะสมกำไรเนิ่นนานหลายต่อหลาย รุ่น กิจการต่างๆ เหล่านี้ บางกิจการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กิจการลงทุนร่วมกับ หุ้นส่วนจากต่างประเทศ เกิดขึ้นจากการ เล็งเห็นโอกาสของการขยายตัว และอาศัยชื่อเสียงอันโดดเด่นและสถานะอันแข็งแกร่งของเครือซิเมนต์ไทย อย่าง ไรก็ตาม การขยายตัวเหล่านั้น ได้สร้าง องค์กรขึ้นมาอย่างซับซ้อน โดยมีผลิต ภัณฑ์หลายรายการที่ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับ ผลิตภัณฑ์อื่นๆ แต่ได้ดูดซับทรัพยากรทางการบริหารให้กระจายออกไป การ ที่รายได้ของธุรกิจในกลุ่มนี้เริ่มหยุดขยายตัว และมีผลกำไรตกต่ำลง ส่งผลให้นักลงทุนโดยทั่วไปหันมาเรียกร้องให้เครือซิเมนต์ไทยมีความโปร่งใสมากกว่าเดิม

เมื่อคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ อีกหลาย ประการ อาทิ สภาพแวดล้อมภายนอก ที่ไม่เอื้ออำนวย ความจำเป็นที่จะต้องจัดระบบการบริหารภายใน และความกังวลของประชาคมนักลงทุน ผู้บริหาร ของ SCC จึงได้ริเริ่มการตรวจสอบสินทรัพย์และการดำเนินการของเครือบริษัทอย่างรอบด้าน อันนำมาซึ่งแผน การปรับรื้อโครงสร้างบริษัทในที่สุด

วัตถุประสงค์หลักของการปรับรื้อโครงสร้าง

การปรับรื้อโครงสร้างจะนำไปสู่การตั้งเป้าหมายการบริหารที่เข้มข้น ยิ่งขึ้น และจะปรับลดสายการผลิตที่หลายๆ ส่วนของเครือซิเมนต์ไทยดำเนินการอยู่ ต่อไปข้างหน้าเครือ ซิเมนต์ไทยจะสร้างเป้าหมายที่เข้มข้นมากขึ้นในด้านต่างๆ อาทิ การสร้างความเติบโตที่ให้ผลกำไรสูง, การเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน และการขยายความชัดเจนของเครือบรรษัท

‘ เครือซิเมนต์ไทยจะส่งเสริมนโยบายการเติบโตที่ให้ผลกำไรสูง โดยเร่งพัฒนาจุดแข็งที่มีความสามารถเชิงการแข่งขันสูงอยู่แล้ว ในขณะเดียว กันก็ถอนตัวออกจากธุรกิจที่ดูแลยาก หรือธุรกิจขนาดเล็กๆ

‘ เครือซิเมนต์ไทยจะปรับปรุงฐานะของเงินสดของบริษัท โดยการขายสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ธุรกิจตัวหลัก, ลดการปล่อย กู้ในกิจการร่วมทุนที่ไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ด้านยุทธศาสตร์ใหม่ของบริษัทตลอดจนหลักเกณฑ์ทางการเงิน อีกทั้งจะขายหุ้นบางส่วนในกิจการหลัก ให้นักลงทุน

‘ เครือซิเมนต์ไทย จะเพิ่มความชัดเจนของเครือบรรษัท โดยการปรับลดประเภทของผลิตภัณฑ์ และให้มีการจัด ทำรายงานทางการเงินที่ลงรายละเอียด มากขึ้น โดยแบ่งเป็นกลุ่มธุรกิจ ตามโครง สร้างใหม่

การทำให้โครงสร้างองค์กรมีความชัดเจนนี้ จะทำให้ทั้งฝ่ายผู้บริหาร และผู้ลงทุนสามารถเปรียบเทียบผลประกอบการของแต่ละกิจการภายในเครือซิเมนต์ไทยได้จากรายงานทางการ เงินของแต่ละกิจการ

องค์ประกอบของการปรับรื้อโครงสร้าง

SCC จะเริ่มการปรับองค์กรของ ธุรกิจในเครือซิเมนต์ไทย โดยการตั้งบริษัทโฮลดิ้งขึ้น 9 บริษัทเป็นกลจักรตัวกลางของโครงสร้าง โดยให้อยู่ภายใต้ SCC อีกชั้นหนึ่ง ("แผนปรับองค์ กรบรรษัท") SCC จะโอนสินทรัพย์ในส่วนของปูนซิเมนต์ให้กับหนึ่งในเก้าบริษัทโฮลดิ้งตัวกลาง ส่วนตัว SCC เองจะถือสินทรัพย์ อื่นที่ไม่ใช่หุ้นไว้น้อย มาก จากนั้น SCC จะทำบทบาทหน้าที่ เป็นหลายด้าน อาทิ ดำเนินการในฐานะบริษัทโฮลดิ้งตัวแม่ซึ่งจดทะเบียน อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ และเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทโฮลดิ้งตัวกลาง ทั้งเก้า; ให้ การสนับสนุนด้านการบริหาร จัดการในส่วนกลาง และให้มีการกู้ยืมภายในเครือเพียงบางส่วนเพื่อไม่ให้กระทบต่อฐานะการกู้ของ SCC ที่มีอยู่ขณะนี้ซึ่งมีเงื่อนไขการกู้ยืมที่ดี แม้ว่าจะต้องเน้นย้ำว่าเงินทุนก้อนใหม่ที่ธุรกิจในเครือ ต้องการนั้น ควรจะต้องได้มาในต้นทุนที่เท่ากับหรือต่ำกว่าที่บริษัทโฮลดิ้งนั้นควรจะกู้ได้บนพื้นฐานของบริษัทโฮล-ดิ้งนั้นเอง มิใช่การพึ่งพิงความน่าเชื่อถือของทั้งเครือบริษัท หรือความเข้มแข็งของสินทรัพย์ของเครือซิเมนต์ไทย

กลยุทธ์การปรับรื้อโครงสร้าง

ก. การปรับรื้อโครงสร้างประเภทของสินค้า

ฝ่ายบริหารได้ทบทวนโครงสร้างประเภทของสินค้าที่มีอยู่ในปัจจุบันของเครือซิเมนต์ไทย และได้วิเคราะห์ความน่าสนใจของกลุ่มอุตสาหกรรม และสถานะในการแข่งขันของแต่ละกลุ่มสินค้าหลัก ผลของการวิเคราะห์ทำให้สามารถแบ่งโครงสร้างประเภทของสินค้าได้เป็นสามประเภทใหญ่ คือ ธุรกิจหลัก ธุรกิจที่สามารถพัฒนาหรือตัดขายก็ได้แล้วแต่สถานการณ์ และธุรกิจซึ่งขาดความได้เปรียบในการแข่งขัน

ธุรกิจหลักคือธุรกิจที่มีครบเกณฑ์ สามประการดังนี้ คือ มีความน่าสนใจและสอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจ สอด คล้องกับทักษะความถนัดของ SCC และมีขนาดที่พอเพียงและเหมาะสมที่จะขยายให้ครอบครองตลาด ธุรกิจหลัก สามประเภทคือ ปูนซีเมนต์ ปิโตรเคมี และเยื่อกระดาษและกระดาษ รวมกัน แล้วมียอดขาย 59,000 ล้านบาทใน ปีค.ศ.1997 (ก่อนหักยอดขายระหว่างบริษัทในเครือ)

ประเภทที่สองเป็นสินค้าซึ่งมีสถานะทางการตลาดเข้มแข็งหรือสามารถทำกำไรได้เพิ่มมากกว่านี้ แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เฉพาะบางอย่าง เช่น การดำเนินการร่วมกันของหุ้นส่วนผู้ร่วมทุน หรือการได้มาซึ่งขนาดที่เหมาะสมกว่านี้ ธุรกิจในประเภทนี้ได้แก่ สินค้าคอนกรีต และกระเบื้องมุงหลังคา ยิปซัมบอร์ด ปิโตรเคมี เครื่อง จักร และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ประเภทที่สามเป็นสินค้าซึ่งไม่ได้ เกี่ยวพันกับหรือให้ประโยชน์ส่งเสริมกับ ธุรกิจหลักสามประการที่กล่าวถึงข้างต้นอย่างเพียงพอ และเป็นธุรกิจซึ่งอาจ ใช้ทรัพยากรและเวลาของผู้บริหารอีก มากเพื่อจะมีผลการดำเนินงานผ่านเกณฑ์มาตรฐานของเครือซิเมนต์ไทย ธุรกิจประเภทนี้ก็คือสินค้าประเภทเหล็ก และเหล็กกล้า อุปกรณ์รถยนต์ เครื่อง ใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร เซรามิก และสินค้า บางประเภทในกลุ่มปิโตรเคมีและเยื่อกระดาษและกระดาษ

ข. การปรับรื้อโครงสร้างบริษัท โครงสร้างของบริษัทในปัจจุบันไม่เหมาะสมกับกลยุทธ์การปรับรื้อโครง สร้างประเภทของสินค้าดังที่กล่าวไปข้างต้น และไม่เปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนประเมินผลการปฏิบัติงานของแต่ละธุรกิจแยกเป็นรายกลุ่มได้ การปรับรื้อ โครงสร้างของบริษัท จะทำให้มีโครงสร้างที่เหมาะสม สอดคล้องกับการปรับ โครงสร้างสินทรัพย์ แต่ละธุรกิจหลักจะ ดำเนินการภายใต้โครงสร้างบริษัทของตนเอง เอื้อให้มีการระดมทุนจากภายนอกอย่างเป็นอิสระ และเป็นไปได้ที่จะ ให้มีผู้ลงทุนในธุรกิจสินค้าบางชนิด ยก ตัวอย่างเช่น ภายใต้โครงสร้างบริษัทเดิม SCC เป็นเจ้าของธุรกิจปูนซีเมนต์และ สินทรัพย์ รวมทั้งการถือหุ้นในทางตรงและทางอ้อมในกิจการอื่นๆ ในเครือซิเมนต์ไทย หมายความว่าหากนักลงทุนรายหนึ่งสนใจจะเป็นหุ้นส่วนและลงทุนเฉพาะในธุรกิจปูนซีเมนต์ เขาย่อม จะต้องมีส่วนเป็นเจ้าของธุรกิจอื่นๆ ด้วยเช่นเดียวกับผู้ลงทุนโดยทั่วไปที่ถือหุ้น SCC

การปรับรื้อโครงสร้างบริษัทยังจะช่วยให้การตัดขายสินทรัพย์หรือตัดขาย ธุรกิจนั้นเป็นไปได้ง่ายขึ้นโดยการแยกธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกันออกเป็นคนละกิจการ ในเดือนมกราคมปีค.ศ.1999 หากได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับการโอนสินทรัพย์ ภายในกลุ่มธุรกิจในเครือ เดียวกันดังที่คาดไว้แล้ว SCC จะโอนสินทรัพย์ในด้านปูนซีเมนต์ไปให้กับบริษัทปูนซิเมนต์ไทยอุตสาหกรรมจำกัด ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ตั้งขึ้นใหม่ จะปฏิบัติงานในส่วนกลางเพื่อสนับสนุนทั้ง เครือซิเมนต์ไทยต่อไป อาทิ การเงิน การ บัญชี การพัฒนาธุรกิจ การวางแผนกลยุทธ์ และความสัมพันธ์กับผู้ลงทุน และจะยังคงเป็นบริษัทแม่ผู้ถือหุ้นในบริษัทโฮลดิ้งซึ่งเป็นบริษัทลูกโดยตรงเก้าบริษัท ซึ่งห้าในเก้านั้นเพิ่งจัดตั้งขึ้นมาใหม่

‘ บริษัทปูนซิเมนต์ไทยอุตสาหกรรม จำกัด บริษัทโฮลดิ้งที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ เพื่อธุรกิจการผลิตปูนซีเมนต์สีเทา และสีขาว คอนกรีตผสมเสร็จ และ Dry Mortar

‘ บริษัทเคมีภัณฑ์ซิเมนต์ไทย จำกัด เป็นบริษัทโฮลดิ้งซึ่งมี SCC เป็น ผู้ถือหุ้นทั้งหมด ทำธุรกิจการผลิต ผลิตภัณฑ์ ปิโตรเคมีทั้ง upstream และ downstream เช่น โอเลฟินส์ โพลีเอท-ทิลีน โพลีโพรไพลีนโพลีสไทรีน พีทีเอ เอ็มเอ็มเอ พีวีซี ลาเท็กซ์สังเคราะห์ สไทรีนโมโนเมอร์ และ เมลามีน

‘ บริษัทเยื่อกระดาษสยาม จำกัดเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ SCC ถือหุ้นอยู่ 58% และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (รหัส SPP) และ ดำเนินธุรกิจต่อเนื่องในกิจการปลูกสวน ป่า ผลิตเยื่อกระดาษ ผลิตและจำหน่าย กระดาษคราฟท์ ไลเนอร์ Corrugated Paper และกล่อง ยิปซัมไลเนอร์บอร์ด โคทดูเพล็กซ์บอร์ด กระดาษพิมพ์ และ ผลิตภัณฑ์กระดาษอื่นๆ

‘ บริษัทผลิตภัณฑ์หลังคาซิเมนต์ไทย จำกัด บริษัทโฮลดิ้งที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ ดำเนินธุรกิจทางด้านผลิตและจำหน่าย กระเบื้องและกระเบื้องเคลือบ มุงหลังคา ท่อคอนกรีต และผลิตภัณฑ์ไฟเบอร์ ซีเมนต์

‘ บริษัทเซรามิก ซิเมนต์ไทย จำกัด เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ SCC ถือหุ้นทั้งหมด ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่าย กระเบื้องเคลือบปูพื้นและกระเบื้องเคลือบปิดผนัง รวมทั้งสุขภัณฑ์ต่างๆ

‘ บริษัท ยิปซัมซิเมนต์ไทย จำกัด เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ก่อตั้งขึ้นใหม่เพื่อธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผนังยิปซัมบอร์ด

‘ บริษัท ค้าวัสดุซิเมนต์ไทย จำกัด เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ดำเนินธุรกิจการจัดจำหน่ายและการค้าวัสดุก่อสร้างประเภทต่างๆ ที่ผลิตโดยเครือสยามซิเมนต์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ บริษัทนี้ยังดำเนินธุรกิจด้านบริการท่าเรือด้วย

‘ บริษัท ยางสยาม (มหาชน) จำกัด เป็นบริษัทโฮลดิ้ง ซึ่ง SCC ถือหุ้นอยู่ 66% และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (รหัส STC) และดำเนินธุรกิจ ด้านการผลิตยางรถยนต์และรถจักร ยานยนต์ เส้นใยเหล็กสำหรับยาง เรเดียล และน้ำมันหล่อลื่น

‘ บริษัท ซิเมนต์ไทยโฮลดิ้ง จำกัด เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ก่อตั้งขึ้นใหม่เพื่อถือ หุ้นบริษัทย่อยและบริษัทร่วมในเครือกว่า 50 บริษัท ที่ดำเนินธุรกิจการผลิต และจำหน่ายเหล็กโครงสร้าง คานเหล็ก ชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องไฟฟ้า เช่น เครื่อง CRT เครื่องจักรใช้ในการก่อสร้างและเครื่องจักรกลการเกษตร และถือครองที่ดินอุตสาหกรรมในประเทศไทย ตารางต่อไปนี้ แสดงประมาณการรายได้จากการขายและรายได้ก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อม (งบรวมที่หักยอดขายระหว่างบริษัทในกลุ่ม เดียวกันแล้ว แต่ไม่ได้หักยอดขายระหว่างกลุ่มธุรกิจ) ในปีค.ศ.1997

ค. การปรับการบริหารจัดการ

คณะกรรมการบริหารบริษัท SCC เชื่อว่าความสามารถของผู้บริหารระดับ สูงของเครือบริษัทซิเมนต์ไทย ควร กระจายไปยังธุรกิจในสาขาต่างๆ ภายใต้โครงสร้างบริษัทใหม่และเพื่อดำเนิน กลยุทธ์ใหม่ซึ่งเกิดจากการปรับรื้อโครง สร้าง ดังนั้น พร้อมๆ กับการปรับองค์กรของบริษัทฯ ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1997 จะมีการโยกย้ายผู้บริหารระดับสูง และระดับกลางเพื่อไปเป็นผู้บริหารของบริษัทโฮลดิ้งทั้งเก้าแห่งและหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารรุ่นหลังที่ยังอายุน้อย แต่มีแววโดดเด่น จะได้รับมอบหมายให้บริหารจัดการธุรกิจที่ยากขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการคัดเลือกว่าใครมีศักยภาพสมควรเป็นผู้บริหารระดับสูงในอนาคต การโยกย้ายบุคลา-กรระดับสูงและการส่งเสริมให้ผู้บริหารรุ่นหลังสำแดงความสามารถครั้ง นี้เป็นการสร้างกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ที่จะนำพาบริษัทผ่านสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจอันร้ายกาจที่โหมกระหน่ำ ธุรกิจของเครือสยามซิเมนต์และบริษัทอุตสาหกรรมอื่นๆ ในประเทศไทย SCC เพิ่งประกาศรายชื่อผู้ได้รับแต่งตั้ง และ ภาระหน้าที่ของบุคคลดังกล่าวภายใต้การปรับโครงสร้างบรรษัทใหม่

ง. กลยุทธ์ทางการเงิน

SCC ได้ทบทวนโครงสร้างและนโยบายทางการเงินของบริษัท โดยเป็น ส่วนหนึ่งของการปรับรื้อกลยุทธ์ ดังนี้ การใช้เกณฑ์ผลตอบแทนของการลงทุน (ROI) ในอดีต SCC ใช้ เกณฑ์ ผลตอบแทนบนพื้นฐานของอัตราดอกเบี้ย MLR ในประเทศไทย บวกกำไรที่กำหนด เพื่อประเมินความน่าลงทุนของโครงการใหม่ แม้ว่าเกณฑ์เงื่อนไข นี้จะไม่นำไปใช้วัดผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจในเครืออย่างเป็นทางการ ต่อจากนี้ไป เครือซิเมนต์ไทยจะใช้เกณฑ์กระแสเงินสดจากสินทรัพย์ที่ใช้ดำเนินการ (กำหนดให้เท่ากับรายรับ ก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อม หาร ด้วยมูลค่าสินทรัพย์ที่ใช้ดำเนินการ หรือ EBITDA/operating cost) เพื่อประเมิน ผลตอบแทนและผลการดำเนินงานทาง ด้านการเงิน สินทรัพย์ที่ใช้ในการดำเนิน การจะมีการตีค่าให้เท่ากับราคาตลาดที่ ยุติธรรมเป็นประจำทุกปี เครือซิเมนต์ ไทย ได้กำหนดเป้าหมายอัตราผลตอบแทนการลงทุนที่ 20% สำหรับทุกธุรกิจ ในเครือ อย่างไรก็ตาม สำหรับในสองปีข้างหน้า เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐ กิจตกต่ำในช่วงนี้ จึงได้เป้าหมายอัตราผลตอบแทนการลงทุนเฉพาะช่วงนี้ไว้ที่ 15%

การลดสัดส่วนเงินกู้ ในอดีตการขยายงานของ SCC อาศัยเงินกู้เป็นสัด ส่วนที่สูงกว่าบริษัทอื่นๆ ที่ดำเนินธุรกิจ คล้ายคลึงกันในต่างประเทศ ส่วนหนึ่ง เนื่องมาจากการกำหนดอัตราค่าเสื่อมแบบอัตราเร่ง เครือซิเมนต์ไทยมีแผน การที่จะลดสัดส่วนเงินกู้โดยใช้กระแสเงินสดรับจากการดำเนินงานเพื่อชดใช้คืนเงินกู้ที่ครบกำหนดชำระ แม้ว่าจะไม่ใช้รายรับจากการอื่น (จากการออกหุ้นใหม่ หรือการขายสินทรัพย์) เพื่อลดหนี้ แต่ SCC ก็คาดว่าจะสามารถ บรรลุสัดส่วนเงินกู้ต่อทุนที่ 1.5 : 1 และ สัดส่วนรายได้ต่อการชำระหนี้ ที่ 6.5 เท่า ได้ภายในปีค.ศ. 2002 เครือซิเมนต์ ไทย จะไม่ปรับโครงสร้างหนี้ แต่จะใช้การกู้เงินใหม่มาชดใช้หนี้เก่าเท่าที่จำ เป็น SCC ยังไม่มีเจตนาที่จะชำระหนี้ก่อนกำหนดเนื่องจากเงินกู้ที่มีอยู่นั้น มี อัตราดอกเบี้ยไม่สูง การชำระหนี้จะใช้กระแสเงินสดรับจากการดำเนินการหรือจากเงินกู้ก่อนใหม่ เมื่อหนี้ก้อนนั้นๆ ถึงกำหนดชำระคืน การกระจายแหล่งเงินทุน ในอดีต การสรรหาเงินทุนของ SCC พึ่งพาเพียงสินเชื่อระยะยาวเพื่อการส่งออกและตลาดเงินกู้ธนาคารเท่านั้น SCC ไม่เคยแสวงหาโอกาสที่จะระดมทุนจาก ตลาดทุนสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นตรา สารหนี้หรือตราสารทุน เพื่อรักษาความ ยืดหยุ่นทางการเงินและเพื่อเป็นหลักประกันความสามารถในการแสวงหาเงินทุนในระยะยาว SCC จะพิจารณา แหล่งทุนอื่นๆ เป็นทางเลือก ตามที่เหมาะสม แม้ว่าหนี้สินเงินกู้จากธนาคารที่มีอยู่จะยังคงเป็นแหล่งเงินทุนหลักใน อนาคต

เครือซิเมนต์ไทย จะยังคงดำเนิน นโยบายเดิมในการไม่ใช้ตราสารอนุพันธ์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงสำหรับเงินกู้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศส่วนใหญ่ของ บริษัทฯ และจะให้การเพิ่มรายได้จากการส่งออก เป็นการป้องกันความเสี่ยง โดยธรรมชาติ สำหรับพันธะเงินกู้ที่เป็น เงินตราต่างประเทศ

ในอดีต หนี้สินส่วนใหญ่ SCC ซึ่ง เป็นบริษัทแม่เป็นผู้กู้และนำไปปล่อยกู้ต่อให้กับบริษัทในเครือที่มีความจำเป็น ต้องใช้เงินลงทุน เจตนาประการหนึ่งของการปรับรื้อโครงสร้างครั้งน ี้ก็เพื่อให้แต่ละกลุ่มธุรกิจมีโครงสร้างการแสวงหาเงินทุนของตนเอง แม้ว่าจะต้อง กินเวลาช่วงหนึ่งในระยะเปลี่ยนผ่าน

รายการหนี้สินของเครือซิเมนต์ไทยในปัจจุบัน

เมื่อปลายเดือนกันยายนปีค.ศ. 1988 SCC มีหนี้สินรวมทั้งสิ้น 206,000 ล้านบาท หรือ 5.2 พันล้านดอลลาร์ หนี้สินของเครือซิเมนต์ไทย อาจจัดแบ่ง ได้เป็นสามประเภทคือ เงินกู้สำหรับโครงการ เงินกู้ระยะยาวสำหรับบริษัท และเงินกู้ธนาคารระยะสั้น เงินกู้สำหรับ โครงการมีระยะเวลาการใช้คืน 7 ถึง 10 ปี และมักเป็นเงินกู้สำหรับธุรกิจนั้นๆ โดยตรง เงินกู้ระยะยาวสำหรับบริษัท ส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ของบริษัทแม่ โดยมีระยะปลอดหนี้สองปี ประมาณ 48,600 ล้านบาท หรือ 1.2 พันล้านดอลลาร์ เป็นเงินกู้ระยะสั้นที่มีกำหนดใช้คืนในหนึ่งปีหรือน้อยกว่า หนี้สินที่ไม่ผูกพันกับโครงการทั้งหมดเป็นหนี้สินที่ไม่มีการค้ำประกัน

แม้ว่าสภาพแวดล้อมจะมีความไม่แน่นอน แต่หนี้สินเงินกู้ของ SCC ก็ยังมีเสถียรภาพ เงินกู้ที่ถูกเรียกคืนมีเพียง 100 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2% ของหนี้สินทั้งหมดเท่านั้น SCC เห็น ว่าเสถียรภาพนี้เป็นผลมาจากประวัติ การชำระหนี้ที่ไม่ด่างพร้อยของบริษัทฯ กระแสเงินสดรับที่มั่นคง การปรึกษาหารืออย่างสม่ำเสมอกับธนาคารผู้ให้กู้ และความยึดมั่นในพันธะของการชำระ ดอกเบี้ยและส่วนของเงินกู้ระยะยาวที่ถึงกำหนดชำระอย่างไม่บิดพลิ้ว

หนี้สินของ SCC ยังกระจายอยู่กับผู้ให้กู้หลายราย เครือซิเมนต์ไทยได้รับสินเชื่อมากกว่า 1,300 รายการจากผู้ให้กู้กว่า 100 ราย เจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด เป็นเจ้าของ 8.3% ของหนี้สินที่มีอยู่ และ เจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด 10 รายรวมกันแล้ว คิดเป็น 52% ของหนี้สินทั้งหมดของบริษัทฯ ณ วันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1998

SCC ไม่มีนโยบายการชำระหนี้ก่อนกำหนด ประการแรก เครือซิเมนต์ ไทย ประสงค์ที่จะรักษาสภาพคล่องที่มีอยู่มากดังเช่นขณะนี้ ในสถานการณ์ทางการตลาดที่ไม่แน่นอน ประการที่สอง อัตราดอกเบี้ยสำหรับหนี้สินที่เครือ ซิเมนต์ไทยมีอยู่นี้ต่ำกว่าราคาตลาดของ ดอกเบี้ยเงินกู้ในปัจจุบัน

ความเสี่ยงจากอัตราแลกเงิน

ความเสี่ยงจากอัตราแลกเงินตรา ต่างประเทศของ SCC ส่วนใหญ่อยู่ในรูปดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นสกุลเงินของ ยอดหนี้สิน 72% ของหนี้สินทั้งหมด ของบริษัทเครือซิเมนต์ไทย ตั้งใจว่าจะลดสัดส่วนเงินดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่ม สัดส่วนหนี้สินในสกุลเงินเยนและยูโร เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้จากการ ส่งออก

SCC กำลังอยู่ในระหว่างการหารือกับธนาคารในญี่ปุ่นเพื่อแลกเปลี่ยนหนี้สินสกุลดอลลาร์สหรัฐเป็นเยนญี่ปุ่น SCC จะพยายามให้พันธะการ ชำระหนี้เงินกู้สอดคล้องกับรายได้จากการส่งออกให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็น ไปได้ (เช่น ให้ภาระหนี้เงินเยนสอด คล้องกับรายได้จากการส่งออกที่เป็นเงินเยน) ซึ่งก็จะช่วยให้เจ้าหนี้ญี่ปุ่นสามารถจับคู่สินทรัพย์และเงินกู้ที่เป็นเงินเยนได้ด้วยเช่นกัน และเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สกุลเยนต่ำกว่าอัตรา ดอกเบี้ยสกุลดอลลาร์อยู่ในขณะนี้ การแปลงสกุลเงินกู้จะช่วยลดค่าใช้จ่าย ด้านดอกเบี้ยของบริษัทลงได้อย่างมากและอาจลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนด้วย เนื่องจากว่าตั้งแต่การ ลอยตัวของค่าเงินบาทเป็นต้นมา เงินบาทและเงินเยนเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันตลอดมา ขณะนี้ธนาคาร ญี่ปุ่นเป็นเจ้าหนี้กว่า 60% ของหนี้สินทั้งหมดที่บริษัทมีอยู่

SCC ไม่ใช้เครื่องมือตราสารอนุพันธ์เพื่อปัองกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเงินเพื่อปกป้องหนี้สินเงินตราต่างประเทศ เนื่องจากคาดว่ารายได้จากการส่งออกจะเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเงินอยู่แล้ว โดยธรรมชาติ

สภาพคล่อง

SCC ยังคงมีกระแสเงินสดเข้าจากการดำเนินงานที่เข้มแข็ง เครือ ซิเมนต์ไทย ไม่มีแผนการที่จะใช้จ่ายเงินก้อนใหญ่ในช่วง 5 ปีข้างหน้า การใช้จ่ายเพื่อการลงทุนจะจำกัดอยู่เพียงการบำรุงรักษาและโครงการพัฒนาเพื่อลดต้นทุนการผลิต อย่างไรก็ตาม คาดว่าหนี้สินระยะยาวซึ่งจะถึงกำหนด ชำระเป็นจำนวนมากในช่วง 2 ปีข้างหน้า จะทำให้ต้องขาดแคลนเงินสดเป็นจำนวนเงินสามหมื่นหนึ่งพันล้านบาท เพื่อการนี้ SCC จึงได้ทำการตกลง กับธนาคารขนาดใหญ่ในประเทศจนได้รับวงเงินสินเชื่อจำนวนดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว

เครือซิเมนต์ไทยตั้งใจที่จะขยายระยะเวลาการชำระหนี้ระยะสั้นจำนวนห้าหมื่นหกพันล้านบาท ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น หนี้สินของเครือ ซิเมนต์ไทยแทบจะไม่ได้รับการทวงคืนเลย และบริษัทได้บรรลุถึงความตกลงในการขยายเวลาชำระหนี้เงินกู้ระยะสั้นไปแล้วกว่า 90% ของหนี้สินระยะสั้นทั้งหมด และเครือซิเมนต์ไทย ยังได้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการออกตราสารหนี้เพื่อระดมทุนจากตลาด ทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดภายในประเทศ ซึ่งสภาพคล่องที่มีอยู่ในปัจ-จุบันทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในเกณฑ์ ที่น่าสนใจยิ่ง

สัดส่วนหนี้และสัดส่วนรายได้ต่อการชำระหนี้

ด้วยตระหนักว่าสัดส่วนของหนี้สินในปัจจุบันอยู่ในระดับสูง SCC จึงมีแผนที่จะค่อยๆ ลดสัดส่วนของหนี้สิน โดยใช้กระแสเงินสดรับจากการดำเนิน งาน เครือซิเมนต์ไทยตั้งเป้าว่าจะมีระดับหนี้สินต่อทุนที่ 1.5 : 1 และสัด ส่วนรายได้ต่อการชำระหนี้ ที่ 6.5 เท่า ภายในปี ค.ศ.2002 ทั้งนี้ โดยมีสมมติฐานว่าไม่มีการเพิ่มทุนและไม่มีเงินสดเข้าจากการขายสินทรัพย์

นโยบายการสรรหาแหล่งทุนสำหรับเครือบริษัทในอนาคต

ในอดีตนั้นเครือซิเมนต์ไทยได้เงินทุนในการดำเนินกิจการจากทั้งระดับ โครงการและจากบริษัทแม่ ในขณะที่ ก็ยังคงให้ความสนับสนุนเท่าที่จำเป็นแก่ บริษัทเหล่านั้นโดยผ่านเงินกู้หรือการอัดฉีดเงินทุนโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่ SCC ควบคุมกระแสรายรับทั้งหมดของบริษัทนั้น การให้เงินกู้ยังให้กับบริษัทซึ่ง SCC ถือหุ้นเป็นบางส่วนและกับบริษัทร่วมทุนในกรณีที่บริษัทเหล่านั้นต้องการความสนับสนุนทางการเงินในระยะสั้น ซึ่ง SCC ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยเท่ากับที่ตนเองกู้มา โดยแทบจะมิได้กำหนดเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น สำหรับบริษัทร่วมทุนตามปกติแล้วจะได้รับสนับสนุนเงินทุนจากบริษัท หุ้นส่วนตามสัดส่วนของการถือหุ้น เมื่อมีการปรับโครงสร้างใหม่ ธุร-กรรมทางการเงินระหว่าง SCC ซึ่งเป็น บริษัทแม่กับบริษัทอื่นๆ ในเครือจะยึดหลักตามราคาตลาด โดย SCC จะรับรู้ รายได้จากบริการทางการเงินเหล่านี้

ในระยะยาวคาดว่าแต่ละกลุ่มธุรกิจจะสามารถเลี้ยงตัวเองได้แม้ว่า SCC จะยังคงควบคุมกลยุทธ์การจัด การทางการเงินโดยรวมและช่วยในการ เจรจากับธนาคาร อย่างไรก็ตาม SCC ตระหนักว่าจะต้องมีระยะเปลี่ยนผ่าน ในระยะสั้นนี้ SCC ไม่มีแผนการที่จะปรับโครงสร้าง หรือโอนหนี้สินของบริษัท แม่ไปยังบริษัทโฮลดิ้งต่างๆ เนื่องจากตัว ชี้วัดในปัจจุบันต่างบ่งบอกว่า การทำเช่น นั้นจะเพิ่มต้นทุนของเงินราว 200 basis point

อย่างไรก็ตาม ในธุรกิจซึ่ง SCC อาจจะลดการเป็นเจ้าของนั้น มีความเป็นไปได้มากว่า SCC จะต้องปลด เปลื้องภาระหนี้สินให้แก่ผู้ถือหุ้น ในบางกรณีการอัดฉีดเงินทุนจากหุ้นส่วนทั้งหมดทำให้บริษัทนั้นๆ สามารถใช้คืน เงินกู้ให้แก่ SCC ได้ การที่ SCC ลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทร่วมทุนบางแห่งจนเหลือต่ำกว่า 50% จะล้างตัวเลข หนี้สินจำนวนหนึ่งออกไปจากงบดุลรวม ของบริษัท SCC ตั้งใจที่จะกำหนดเงื่อน ไขการชำระเงินของบริษัทลูกหนี้ให้ชัดเจนลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริษัทที่สยามซิเมนต์ไม่ได้ควบคุมกระแสรายรับ

กลยุทธ์ธุรกิจใหม่

เพื่อรับมือกับสภาพแวดล้อมทาง เศรษฐกิจซึ่งยากเข็ญขึ้นนับจากเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1997 เป็นต้นมา ผู้บริหาร ของ SCC ได้ตัดสินใจอย่างชัดแจ้งที่จะเพิ่มมูลค่าต่อผู้ถือหุ้น โดยการเพิ่มมูลค่าสูงสุดให้กับธุรกิจหลัก ซึ่งหมายถึงธุรกิจที่มีฐานะการแข่งขันเข้มแข็งที่สุดที่เสริมสถานะผู้นำทางการตลาดของ SCC และโดยลดหรือตัดธุรกิจที่ไม่ ช่วยเสริมความสามารถในการแข่งขันของ SCC ผู้บริหารได้พิจารณาการดำเนินธุรกิจในบริบทกว้างๆ ทางภูมิศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเมื่อโอกาสของการรวมกิจการระดับภูมิภาค เพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพื่อประเมินความสามารถ ในการแข่งขันของแต่ละธุรกิจในเครือซิเมนต์ไทย ผู้บริหารจะใช้เกณฑ์การวัดผลการดำเนินงานและเกณฑ์เปรียบ เทียบเชิงกลยุทธ์อย่างใหม่ซึ่งเข้มงวดขึ้น กับการดำเนินธุรกิจทั้งหมด ดังนั้น ทุกกิจการจะต้องพิสูจน์ว่าตนเองสมควรที่ จะดำเนินงานอยู่ในเครือซิเมนต์ไทย มิใช่อาศัยเพียงเหตุผลความผูกพันในอดีต

กลยุทธ์ธุรกิจใหม่ของเครือซิเมนต์ ไทยมีองค์ประกอบที่สำคัญยิ่ง 4 ประการ ได้แก่

1) สร้างความเข้มแข็งบนพื้นฐาน ของธุรกิจหลัก 3 ด้านคือ ปูนซีเมนต์ ปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมกระดาษและเยื่อกระดาษ ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการจัดกลุ่มประเภทธุรกิจ เพื่อขจัดสายผลิตภัณฑ์ที่อ่อนแอ

2) แสวงหาโอกาสการเติบโตในธุรกิจกระเบื้องมุงหลังคาและผลิตภัณฑ์ คอนกรีต ยิปซัมบอร์ด เซรามิก ธุรกิจการจัดจำหน่ายและยางรถยนต์ อย่าง ระมัดระวัง

3) ประเมินความเหมาะสมทางกลยุทธ์ของผลิตภัณฑ์อื่นๆ ทั้งหมดเพื่อ นำไปสู่การลดหรือการขายธุรกิจต่างๆ เหล่านั้น ซึ่งเป็นธุรกิจที่ไม่ได้ช่วยเสริมความสามารถในการแข่งขันทั้งยังมีลู่ ทางการเติบโตที่ต่ำ และ

4) พิจารณาสร้างความเข้มแข็งเป็นปึกแผ่นในธุรกิจซึ่ง SCC เป็นผู้นำ ตลาดอยู่แล้ว และในตลาดยังคงมีความ สามารถในการผลิตล้นเกินอยู่

องค์ประกอบที่สำคัญยิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นความแตกต่างของเครือซิเมนต์ไทยในปัจจุบันกับแนวทางในอดีต ซึ่งมุ่งแต่ขยายกิจการโดยมีสมมติ ฐานว่าตลาดภายในประเทศจะค่อนข้าง ปิดและเครือซิเมนต์ไทยสามารถครอบ งำได้ หรือในบางครั้งค่อนข้างจะเป็นนโยบายแสวงโอกาสโดยปราศจากการ วางแผนล่วงหน้า ดังเช่นเมื่อบริษัท ข้าม ชาติที่มีชื่อเสียงมาติดต่อขอให้เครือซิเมนต์ไทยเป็นหุ้นส่วนดำเนินกิจการใน ประเทศไทย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.