ภาพสะท้อนความผันแปรธุรกิจไทย16 ปีของนิตยสารรายเดือน "ผู้จัดการ" ถือเป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญของสังคมธุรกิจไทย
จากวิกฤตการณ์ สู่ความรุ่งโรจน์ แล้วกลับสู่วิกฤตการณ์ที่เลวร้ายกว่า จากการเริ่มต้นด้วยโอกาสที่กว้างขวางแล้ว
ยังกว้างขวางมากขึ้นในเวลาต่อมาชนิดที่ไม่เคยพบมาก่อน ด้วยการระดมทุนจากสาธารณชน
และการขยายตัวทางธุรกิจอย่างบ้าคลั่งไปทั่วภูมิภาคอย่างเกินตัว และต้องถอยร่นกลับมาอย่างไม่เป็นท่า
โครงสร้างธุรกิจไทยผันแปรจากการครอบงำของระบบครอบครัว สู่ส่วนผสมของมืออาชีพผู้เยาว์วัย
แล้วก้าวกระโดดสู่การแข่งขันในระดับโลกอย่างไม่ทันตั้งตัว ภายใต้การครอบงำของธุรกิจระดับโลกมากขึ้น
ความผันแปรและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในรอบวงจร 16 ปี ถือเป็นภาพสะท้อนความเปลี่ยนเชิงโครงสร้างสำคัญที่สุดของสังคมธุรกิจไทย
ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา
สิงหาคม 2526
อำนวย วีรวรรณ : เบื้องหลังความสำเร็จ
เส้นทางการเติบโตที่รวดเร็ว เป็นที่ยอมรับของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองของ
อำนวย วีรวรรณ ซึ่งเริ่มต้นจากกรมบัญชีกลางสู่ตำแหน่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของจอมพลสฤษดิ์
ธนะรัชต์ จนสู่ตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 5 ปี ที่นี่เพียงพอสำหรับเขา
จึงไปเริ่มตำแหน่งใหม่กับองค์การภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก แล้วกลับมาเป็นที่ปรึกษากระทรวงการคลังอีก
2 ปี ก่อนก้าวสู่ตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร ในช่วงที่เหตุการณ์บ้านเมืองวุ่นวายเดือนต.ค.2516
แล้วก็เหมือนชะตาลิขิต เมื่อ บุญชู โรจนเสถียร ก้าวมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์
ปราโมช บุญชูต้องการคนหนุ่มไฟแรง และมีความคิดสอดคล้องเข้าใจรับกับความคิดของเขาได้
อำนวยจึงได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดกระทรวงการคลังในเดือนเม.ย.2518 อายุเพียง
43 ปี ซึ่งถือได้ว่าน้อยมาก และนี่เป็นจุดเริ่มต้นปรัชญาการใช้คนที่ความสามารถมากกว่าอาวุโสของกระทรวงการคลัง
ซึ่งดำเนินมาจนปัจจุบัน แต่เมื่อรัฐบาลสิ้นสุด ความที่ทำงานใกล้ชิดกับบุญชูและกลุ่มคนในตึกดำกลับเป็นดาบที่ย้อนมาฟันเขา
ในภายหลัง อำนวยถูกตั้งคณะกรรม การสอบสวนย้อนหลังสมัยยังอยู่ที่
บีโอไอ โดยรัฐบาลหอย เขาถูกพักราชการ และนี่นับเป็นพงหนามที่เขาต้องฝ่า
เส้นทางชีวิตของอำนวยหักเหเข้าสู่วงการธุรกิจ ขณะเดียวกันก็ต้อง ต่อสู้กับความผิดที่ถูกป้าย
อำนวยเข้า ทำงานที่สหยูเนี่ยนของ ดำริ ดารกานนท์ ซึ่งกลับทำให้ใกล้ชิดกับธนาคารกรุงเทพ
เพราะสหยูเนี่ยนเป็นลูกค้ารายใหญ่ของธนาคารกรุงเทพ ประกอบกับครอบครัววีรวรรณก็ใกล้ชิดกับโสภณพนิชอยู่แล้ว
กล่าวกันว่าอำนวยต้องการข้อมูลอะไรจากสินเอเซีย (ไฟแนนซ์ในเครือแบงก์กรุงเทพ)
เป็นต้องได้ ที่สหยูเนี่ยน อำนวย นำบริษัทก้าวสู่การค้าระหว่างประเทศมากขึ้น
แล้ววันฟ้าโปร่งก็มาถึงเมื่อการ เมืองเปลี่ยนยุค บุญชูกลับมาเป็นรองนายกฯ
อำนวยถูกทาบทามลงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ คลัง พร้อมกับได้รับการการเคลียร์ข้อกล่าวหาทุกอย่างจาก
ก.พ. ในตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง การทำงานตรงไปตรงมาของท่านได้รับการยอมรับจากนักการเมืองทุกกลุ่มค่ายตลอด
จนนักข่าว อำนวยไม่ใช่เด็กของใครอย่างที่หลายคนคิด และเมื่อพรรคกิจสังคมถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล
อำนวยก็กลับสหยูเนี่ยนและได้รับการทาบทามสู่ธนาคารกรุงเทพอย่างเป็นทางการในที่สุด
และนี่คือข้อพิสูจน์ได้อย่างดีว่า ความเจริญก้าวหน้าของเขาเกิดมาจากความรู้ความสามารถ
แม้ชีวิตจะต้องมรสุมแต่หลังมรสุมฟ้ามักจะสดสวยกว่าเดิมเสมอ ด้วยอัตราเงินเดือน
400,000 บาท พร้อมสิทธิพิเศษอีกมากมาย ที่ทางสหยูเนี่ยนและธนาคารกรุงเทพเสนอ
นี่คือเครื่องรับประกันความรู้ความสามารถของ อำนวย วีรวรรณ เป็นอย่างดี ว่าเขาเป็นคนถึงพร้อมทั้งความรู้ความสามารถ
และสายสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของอำนวยจึงเป็นที่ยอมรับทั้งนอกและในประเทศเป็นอย่างดี
เรื่องอำนวย วีรวรรณ เป็นตัวอย่างข้าราชการไทยที่สามารถทำงานให้ประโยชน์จากสายสัมพันธ์
และประสบการณ์แก่วงการธุรกิจ ซึ่งสืบทอดมายาวนานหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
แต่กรณีนี้พัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง
มกราคม 2527
70 ปี ปูนใหญ่ : จาก บุญมา
สู่ สมหมาย ถึง จรัส และก็...?
เนื่องในวาระครบ 70 ปี การเสนอประวัติความเป็นมาสรุปบริษัทปูนซิเมนต์ไทยที่ค่อนข้างจะละเอียด
โดยเริ่มตั้งแต่ยุคของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้เสด็จไปต่างประเทศ
เห็นอารยธรรมของอารย ประเทศแล้ว คิดที่จะนำมาดำเนินการ ในประเทศบ้าง จนมีการก่อตั้งบริษัทและสร้างโรงงาน
การผลิตสนองความต้องการของตลาด รวมไปถึงการบริหารที่จำเป็นต้องจ้างชาวยุโรปที่มีความเชี่ยวชาญบริหาร
เพราะ บุคลากรที่เป็นคนไทยยังไม่มีความรู้ความสามารถพอ
สรุปเหตุการณ์ในช่วงต่างๆ ที่สำคัญๆ ของปูนซิเมนต์ไทย ตั้งแต่ในช่วงของสงครามโลกครั้งที่
2 ที่กองทัพญี่ปุ่นเข้ามายึดครองประเทศไทยและพยายามที่จะใช้ประโยชน์จากผลผลิตของบริษัทผ่านรัฐบาลไทยอยู่ตลอดเวลา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งญี่ปุ่นมีความต้องการที่จะเข้าชมการถลุงเหล็กกล้า ด้วยถ่าน
ไม้ ที่เป็นบริษัทในเครือของปูนซิเมนต์ไทย เพื่อที่จะหยิบฉวยเอาไปใช้ประโยชน์ในการทำสงคราม
หลังสงครามเป็นระยะที่บริษัท เริ่มฟื้นตัวและเร่งรีบขยายงานและการลงทุน
ความสำคัญในการบริหารในช่วงที่คนไทยเข้าดำรงตำแหน่งผู้บริหารแทนชาวต่างประเทศ
โดยเริ่มตั้งแต่นายบุญมา วงศ์สวรรค์ นายสมหมาย ฮุนตระกูล ถึงนายจรัส ชูโต
ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ในสมัยนั้น
นอกจากนี้ได้รายงานถึงสถาน การณ์ต่างๆ ของบริษัทอุตสาหกรรมของคนไทย ผู้บริหารปูนซิเมนต์ไทย
รับมือกับสถานการณ์เหล่านั้นอย่างไร บุญมา วงศ์สวรรค์ ได้เป็นผู้จัดการองค์กรและวางหลักเกณฑ์แล้ว
ต่อมาก็ได้สมหมาย ฮุนตระกูล เข้ามาบุกเบิกในด้านการค้าปูนในฐานะของผู้ที่เคยทำงานแบงก์และรัฐมนตรีช่วย
ว่าการกระทรวงการคลัง พ้นภาระจากสมหมาย ปูนซิเมนต์ไทยได้ลูกหม้อขึ้นมาเป็นผู้จัดการใหญ่คือ
จรัส ชูโต ผู้จัดการใหญ่ปูนซิเมนต์ไทยผู้นี้รับหน้าที่พัฒนาคน จากการบ่มเพาะประสบการณ์ในด้านต่างๆ
ของปูน
ซิเมนต์มาเป็นระยะยาวนานถึง 70 ปี แทบจะฟันธงลงไปตรงๆ เลยว่า "ผู้จัดการใหญ่บริษัทปูนซิเมนต์ไทยคนต่อไปไม่มีใครเด่นเท่า
พารณ อิศรเสนา"
อุตสาหกรรมที่รากฐานยาวนาน ภายใต้การผูกขาด ก็สามารถสร้างความเข้มแข็งทางธุรกิจได้
และสามารถผลิตมืออาชีพขึ้นในวงการธุรกิจไทยด้วย
ตุลาคม 2527
เทียม โชควัฒนา
คุณภาพซื่อสัตย์ ราคายุติธรรม
บุรุษผู้เงยหน้าไม่อายฟ้า
ก้มหน้าไม่อายดิน
สหพัฒนพิบูล ตั้งขึ้นในปี 2495 ดำรงอยู่และเติบโตขยายเครือข่ายการค้ามาจนถึงปัจจุบันที่มีสินค้าอุปโภคบริโภคมากมายจนนับไม่ถ้วน
ประวัติศาสตร์ของสหพัฒนฯ ทุกหน้า ทุกตอนล้วนก่อเกิดจากบุคคลนี้ เทียม โชควัฒนา
เทียม โชควัฒนา เป็นลูกชายพ่อค้าจีน ร้าน "เปียวฮะ" ซึ่งเมื่อ 60 ปีก่อน
อยู่แถวๆ ตรอกอาเนียเก็ง ย่านทรงวาด ความสำเร็จของเทียมมีพื้นฐานมาจากความคับแค้นที่เห็นร้าน
เปียวฮะของพ่อต้องตกเป็นของอา และตัวเขาเองแทนที่จะได้เรียนรู้สูงๆ ต้องทำงานหนักเยี่ยงจับกัง
เทียมเริ่มทำตัวเป็นพ่อค้าตั้งแต่อายุได้ 12-13 ขวบ ด้วยการไปรับ ยาเส้นมาขาย
จนถึงอายุ 20 ปี เขาจึงมีร้านเป็นของตัวเองชื่อว่า "เฮียบฮะ" ความที่เขาเป็นคนหัวก้าวหน้า
มองเห็น ว่า การขายของเบ็ดเตล็ดอย่างเดิมคงไปไม่ไกลแน่จึงได้เปลี่ยนแนวมาทำร้านส่งเสื้อยืดชื่อ
"เฮียบเซ่งเชียง" เมื่อปี 2485
บริษัทสหพัฒนพิบูลเกิดขึ้นมาแทนร้านเฮียบเซ่งเชียงเมื่อปี 2495 และเทียมก็ทำให้หลายคนแปลกใจใน
แนวทางการบริหารธุรกิจที่มองอนาคต เป็นสำคัญ เมื่อเขามอบหมายหน้าที่ "หลงจู๊"
ให้กับเด็กหนุ่มหน้ามนคนหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นการ "เสี่ยง" อย่างมาก ทว่าหลงจู๊คนนั้น
"ดำริ ดารกานนท์" ที่วันนี้กลายเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ "กลุ่มสหยูเนี่ยน"
ไปแล้ว ย่อมเป็นบทพิสูจน์ความสามารถของเทียมได้เป็นอย่างดี
ปี 2502-2509 เป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของสหพัฒนพิบูล เมื่อเทียมเห็นว่าระบบการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าจากต่างประเทศ
นั้นหลายครั้งมีปัญหาจุกจิกกวนใจ และไม่ได้เป็นการพัฒนาอุตสาหกรรม ภายในประเทศอย่างแท้จริง
เทียมตัดสินใจยกระดับสหพัฒนฯ ขึ้นมาเป็นผู้ผลิตสินค้าเสียเองโดยดัดแปลงวิธีการของญี่ปุ่นมาใช้
ซึ่งก็ต้องเรียนถูกเรียนผิดกันหลายครั้ง จนกระทั่งแก้ไขได้ถูกจุด กิจการของสหพัฒนฯ
จึงเริ่มรุ่งเรืองขึ้นมาในปี 2505 และเป็นปีที่สหพัฒนฯ ร่วมทุนผลิตซิปกับญี่ปุ่นซึ่งเป็นการร่วมทุนครั้งแรกของบริษัท
โรงงานไลอ้อน (กรุงเทพฯ) ที่ เทียมตั้งขึ้นในปี 2506 เป็นรากฐานสำคัญของกิจการสหพัฒนฯ
เพราะโรงงานนี้ทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตสินค้าหลายๆ อย่างไม่ว่าจะเป็น สบู่ ยาสีฟัน
ผงซักฟอก พลาสติก เพื่อป้อนให้กับบริษัทสหพัฒนพิบูลเป็นผู้จำหน่าย การขยายตัวของสหพัฒนฯ
ก่อนถึงปี 2510 ยังคงเน้นที่การผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้า
ปี 2511-2515 กลุ่มสหพัฒนฯ ได้ปูพื้นฐานให้กับลูกหลานอย่างหนักแน่นและมั่นคง
พฤษภาคม 2528
ศึกชิงสำนักน่ำไฮ้ :
บุญชู "ผมจะสู้เพื่อหลักการ"
ปี 2525 วิกฤตการณ์การเงินเล่นงานสถาบันการเงินหลายแห่งซวดเซ ธนาคารนครหลวงไทยคือหนึ่งในวังวนแห่งการล้มเหลว
ในยุคเริ่มต้น ธุรกิจร่วมทุนของ 3 ตระกูลอันได้แก่ รัตนรักษ์ กาญจนพาสน์
และ มหาดำรงค์กุล ขยับขยายเข้าสู่ธุรกิจหลายประเภท ทั้งธนาคารพาณิชย์และธุรกิจอสังหาริม
ทรัพย์ ก่อนที่จะเฮโลเข้ามาที่ธนาคารนครหลวงไทย ซึ่งต่อมาหลังจากแตกคอกัน
ก็มีการแลกหุ้นระหว่างธนาคารกรุงศรีอยุธยาและนครหลวงไทย รัตนรักษ์ไปอยู่กรุงศรีอยุธยา
กาญจนพาสน์ และมหาดำรงค์กุลยึดครองนครหลวงไทย ด้วยลักษณะการทำธุรกิจที่อิงฐานอำนาจการเมืองหลังปี
2516 ที่มีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในการเมืองเมืองไทย ทำให้มงคล กาญจนพาสน์
ตัดสินใจย้ายเงินลงทุนไปฮ่องกง รุ่งเรืองสุดขีดอยู่ 10 ปี จนเกิดวิกฤตการณ์การเงิน
มงคลเริ่มถอยหลัง แล้วผลครั้งนั้นก็ทำให้เขาพบว่าไม่ใช่ธุรกิจในฮ่อง กงเท่านั้นที่เป็นปัญหา
ในเมืองไทยธนาคารนครหลวงไทยก็เละเหลว มงคลตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดให้กับมหาดำรงค์กุล
และมหาดำรงค์กุลเชื่อว่าถ้าจะเข้าครองนครหลวงไทยให้สำเร็จต้องดึงบุญชู โรจนเสถียร
เข้าร่วมด้วย นั่นคือจุดเริ่มต้นของศึกชิงสำนักน่ำไฮ้ บุญชูกับมหาดำรงค์กุลผูกพัน
กันมานานเพราะเป็นไหหลำด้วยกัน แม้จะเป็นการพึ่งพาของมหาดำรงค์กุลเสียส่วนใหญ่
ครั้งนี้ก็เช่นกันมหาดำรงค์กุลมีเงินไม่พอซื้อหุ้น สภาพการบริหารการเงินและการจัดการของ
นครหลวงไทยเละมาก จำเป็นต้องอาศัยบารมีของบุญชูช่วยเหลือ ซึ่งก็เป็นช่วงจังหวะที่บุญชูกำลังว่างงานและ
เขาก็เห็นว่าความยุ่งยากของธนาคารแห่งนี้มันท้าทาย สัญญาการร่วมมือยกร่างขึ้น
แล้วมืออาชีพของบุญชูก็ถูกส่งเข้าไปพร้อมกับเงินกู้ที่บุญชูหาให้ เพื่อแก้ปัญหาตามที่ธนาคารชาติยื่นจดหมายมาแสดงความนับถือ
น้ำผึ้งเริ่มไม่หวานเมื่อบุญชูพบว่าหนี้เสียที่นี่มากกว่าที่ได้รับมาก่อน
และอำนาจที่มหาดำรงค์กุลมอบให้ก็ไม่มี มืออาชีพที่ส่งเข้าไปหวังแก้ปัญหาก็ไม่ได้รับความร่วมมือ
หลายคนทยอยลาออก บุญชูสรุปปัญหาไว้คร่าวๆ คือเรื่องการแต่งบัญชี ตบตาประชาชน
ซึ่งคนที่ยึดถือหลักการอย่างเขาทนไม่ได้ และอีกเรื่องคือการใช้อำนาจอย่างผิดๆ
อำนาจที่อยู่ในมือมหาดำรงค์กุล ถูกใช้ไปเพื่อพวกพ้องเสียเป็นส่วนใหญ่ แล้ววันแตกหักก็มาถึงเมื่อบุญชูเสนอแผนฟื้นฟูกิจการ
5 ปี อันมีเรื่องการเพิ่มทุนของธนาคารอยู่ด้วย ซึ่งเรื่องนี้ผูกพันไปถึงเรื่องเงินกู้
200 ล้านที่บุญชูขอมาจากธนาคารกรุงเทพ ซึ่งทางมหาดำรงค์กุลหวังพึ่งบุญชูให้กู้เงินต่าง
ประเทศให้ 500 ล้านบาท แต่บุญชูไม่เล่นด้วย เรื่องเลยต้องแตกหัก
สิงหาคม 2528
ชม้อย ทิพย์โส
วีรสตรีหรือซาตานกันแน่
ตลอดระยะเวลาที่ "แชร์น้ำมัน" ของแม่ชม้อยเป็นข่าวอื้อฉาว 1 ปี 9 เดือน
"ผู้จัดการ" เก็บประเด็นและเฝ้ามองด้วยความเป็นห่วงสงสารเหยื่อความโลภทั้งหลายแล้ว
บทสรุปของเรื่องราวคือ ผู้ก่อกรรมต้องชดใช้บาปที่ตนเป็นผู้ก่อ คุ้มหรือไม่นั้นแล้ว
แต่มุมมอง
ชม้อย ทิพย์โส ในสายตาของผู้แวดล้อมล้วนเชื่อมั่นหญิงผู้นี้ว่าเป็นคนซื่อสัตย์
น่าสงสาร เธอไม่เคยมีเจตนาโกง ไม่เคยวางแผนคิดร้ายต่อใคร แม้แต่ลูกแชร์ผู้เสียหายหลาย
คนยังเชื่อว่า ถ้ารัฐบาลมือกฎหมายไม่เข้าไปยุ่งกับเธอแชร์พันล้านหมื่นล้านของเธอคงไม่ล้มแน่ๆ
ชม้อย ทิพย์โส คือผู้ได้รับเครดิตนี้ไป ด้วยความเชื่อถือเช่นนี้ นี่จึงเป็นต้นกำเนิด
ของวงแชร์พิสดาร จากเท้าแชร์ที่ซื่อ สัตย์ในหน่วยงานเล็กๆ อย่างองค์การ เชื้อเพลิง
พวกเขาเคยกล่าวกันว่า แม้แม่ชม้อยได้รับอุบัติเหตุบาดเจ็บ ยังโขยกเขยกเอาเงินเปียแชร์มาจ่ายลูกวง
จากวงแชร์นับสิบ พัฒนาการมาเป็นแชร์ที่ไม่ต้องเปีย "ธุรกิจจัดคิวเงิน" ให้
ผลตอบแทนแน่นอน สูงกว่าธนาคารและไฟแนนซ์ทั้งหลาย แต่ไม่มีใครรู้ว่า ชม้อย
ทิพย์โส เอาเงินไปทำอะไร มีแต่คำค้ำประกันว่าเงินต้นจะเบิกคืนเมื่อไหร่ก็ได้
และดอกเบี้ยจ่ายตรงตามวันกำหนดนัดทุกครั้ง จากองค์การเชื้อเพลิงสู่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยสู่หน่วยงานราชการและประชาชนทั่วทุกสารทิศ
มีหัวหน้าสายรับจัดคิวเงิน มีคนในเครื่องแบบร่วมวงด้วย และจากลงทุนก็กลายเป็น
หัวหน้าสายเสียเอง คำตอบที่ชม้อย ให้เวลามีคนมาถามว่าเอาเงินไปทำอะไร ก็มีแต่เพียงปล่อยกู้ผู้ร้อนเงินในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าปกติ
และค้าน้ำมัน ซึ่งก็ได้รับการโต้ตอบจากผู้ค้าน้ำมันและวงการการเงินว่าไม่มีทาง
เป็นไปได้ แต่จะโต้ตอบอย่างไรถ้าเงินยังคงไหลกลับมาสู่ประชาชนบ้าง คำพูดเหล่านั้นก็ไม่มีความหมาย
จากวงเงินที่หมุนไม่กี่ล้านกลายเป็นหมื่นล้าน มีคนคำนวณคร่าวๆ ว่าเฉพาะดอกเบี้ย
ชม้อยต้องหมุนจ่ายประมาณเดือนละ 500 กว่าล้าน เงินสดในมือ 3,000 กว่า ล้าน
ถ้าไม่มีเงินใหม่เข้ามา 2-3 เดือนก็ตายแล้วและเมื่อมีข่าวการล้มของไฟแนนซ์
เงินใหม่ที่จะเข้ามาเริ่มชะงัก แม้จะมีผู้บัญชาการทหารบกออกมาปกป้องชั่วครั้งชั่วคราวก็เป็นเพียงแต่ข่าวว่าหาเงินคืนผู้ใหญ่
แล้ววาระสุด ท้ายของชม้อยก็มาถึง น้ำลดตอผุด มีการสาวถึงเงินที่หายไป ใครอยู่เบื้อง
หลัง ชื่ออย่าง ประสิทธิ์ จิตที่พึ่ง คือหนึ่งในบุคคลลึกลับที่งาบเงินก้อนโตไป
ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง สามี ญาติสามี การตามล่าเงินกองกลางเป็นไปอย่างเข้มข้นกว่าการล่าขุมทรัพย์คิงโซโลมอน
สุดท้ายคงไม่มีใครพูดได้ดีกว่าตำรวจผู้คุมตัวชม้อย "ตอนแรกฟังแกเล่าก็สงสาร
แต่ฟังๆ ไปก็รู้ว่าแกโกหก" ทรัพย์สินที่ยึดคืนได้ก็คงเป็นเพียงส่วนน้อยไม่ถึง
10% ที่เหลือ สาบสูญ
สิงหาคม 2529
พร สิทธิอำนวย :
เมื่อกิ้งกือหกคะเมน
ในอดีต ถ้าเอ่ยชื่อ พร สิทธิอำนวย คงไม่มีใครจะไมรู้ว่า เขาคือ tycoon
เจ้าของอาณาจักรพีเอสเอ อันยิ่งใหญ่
ความเจริญก้าวหน้าที่นับวันจะทวีเพิ่มขึ้นของพีเอสเอในวันนั้น ไม่มีใครสักคนคาดคิดว่า
มันจะพังครืนลงอย่างง่ายดายเหมือนปราสาททรายที่ถูกน้ำทะเลเซาะทลายลงไป พร
สิทธิอำนวย มีพื้นฐานการศึกษาระดับสูงจากสหรัฐอเมริกา เขาเริ่มต้นทำงานที่ธนาคารกรุงเทพ
(สาขานิวยอร์ก) จากนั้นก็ได้ไต่เต้าขึ้น เรื่อยๆ จนกระทั่งได้เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการธนาคาร
และเพราะทำงานที่นี่เอง พรจึงมีความคุ้นเคยกับ บุญชู โรจนเสถียร แล้วบุญชูก็ได้แนะนำให้พร
รู้จักกับบุคคลคนหนึ่ง นั่นคือ สุธี นพคุณ
ทั้งสองจับมือกันออกมาร่วมสร้างฝันของคนหนุ่ม นั่นคือ เริ่มสร้างธุรกิจของตนเอง
และสร้างวิธีการบริหารในรูปแบบทันสมัยขึ้น โดย เริ่มจากบริษัทเล็กๆ คือ พีเอสเอ
โดยส่วนตัวแล้ว พร สิทธิอำนวย เป็นคนที่มีความรู้ดี พูดเก่งและมีพรสวรรค์ในการทำให้คนฟังเคลิบเคลิ้ม
จึงทำให้ดูเหมือนว่าเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญในการบริหาร ดังนั้นเขาจึงมีโอกาสได้รับเชิญเข้าไปปรับ
ปรุงกิจการหลายแห่งที่ใกล้จะล้ม
ละลาย
เมื่อชื่อเสียงดี พร จึงอาศัยช่วงนี้เองขยายกิจการของตนจนกลาย เป็นอาณาจักร
พีเอสเอ อันยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ โดยครอบคลุมตั้งแต่โรงแรมไปจนถึงบริษัทส่งออก
ฯลฯ แต่แล้วทุกอย่างก็ดำเนินไปตามครรลองขององค์กรในการทำธุรกิจ เมื่อกิจการขยายตัวเพิ่มขึ้น
พรและสุธีก็เริ่มระหองระแหงหวาด ระแวงกัน ซึ่งนี่คือสัญญาณแห่งความแตกแยกนั่นเอง
และรอยร้าวนั้นดูเหมือนจะถูกเร่งเร้าให้แตกสลายเร็วขึ้น เมื่อพรได้ดึงเอา
อึ้ง วาย ชอย ซึ่งเป็นที่ปรึกษาการลงทุนและนักเล่นหุ้น รวม ทั้งเป็นนักปั่นหุ้นตัวฉกาจเข้ามาช่วยงานเพื่อรองรับสภาวการณ์การบูมของ
ตลาดหุ้น ทั้งนี้เพื่อเตรียมทำประ-โยชน์ให้กับกลุ่มพีเอสเอ
พรหมายตาบริษัทรามาทาว เวอร์ ซึ่งมีโรงแรมไฮแอทรามาเป็นหลักทรัพย์ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์อยู่และพรก็ได้ให้
อึ้ง วาย ชอย เข้าไปสืบดูว่าในบรรดาผู้ถือหุ้นของรามาทาวเวอร์ เจ้าของโรงแรมไฮแอท
รามา มีผู้ใดบ้างที่เป็นเจ้าของหุ้น และ นั่นเองทั้งพรและ อึ้ง วาย ชอย ก็พบว่าหลายบริษัทที่เป็นเจ้าของหุ้นของโรงแรมรามานั้น
สุธี นพคุณ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
พรไม่พอใจสุธีเป็นอย่างยิ่ง แต่ทั้งพรและวนิดา ผู้เป็นภรรยา (และมีส่วนร่วมในการสร้างพีเอสเอมา
ด้วยกัน) ก็ต้องการยุติข้อขัดแย้งกับสุธี ดังนั้นผลจึงลงเอยที่ทั้งพร และ
สุธี ต้องแยกทางกันเดิน โดยพรปล่อยให้สุธีได้กิจการของโรงแรมไฮแอทรามา, บริษัทพัฒนาเงินทุน,
บริษัทบ้านและที่ดินไทย, บริษัทประกันชีวิตอินเตอร์ไลฟ์, บริษัททัวร์รอแยล
ฯลฯ ไปครอบครอง โดยที่พร คงเก็บ บงล.ปฐมสยาม, บงล. เครดิตการพาณิชย์, บริษัทแอ็ดวานซ์
มีเดีย, บริษัทแอดวานซ์โปรดักส์, บริษัทสยามราษฎร์ลิซซิ่ง ไว้บริหารเอง
เมื่อสุธีแยกตัวออกไป ไม่ช้าอาณาจักรของสุธีก็ต้องพังทลายลง โดยเหตุผลคือ
สุธีขาดความชำนาญในการบริหารงานและขาดการมองการณ์ไกล
แต่ก็ใช่ว่าพรจะรอดพ้นชะตากรรม เมื่อรัฐบาลประกาศลดค่าเงินบาทในปี 2527
นั้นได้ส่งผลกระทบต่อกิจการทั้งหลายทั้งปวงของพรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พรประสบภาวะ
ขาดทุนอย่างย่อยยับ
พรและวนิดา สิทธิอำนวย ต้องหลบลี้หนีหน้าผู้คนไปจากวงการธุรกิจ ภายหลังจากถูกธนาคารแห่งหนึ่งยื่นฟ้องร้องต่อศาลให้เขาเป็นบุคคลล้มละลาย
หลายคนทีรู้จัก พร สิทธิอำนวย ดี ต่างพูดกันว่า ที่เขาต้องเป็นเช่นนี้
เพราะเขาเป็นคนดี และมองโลกดีเกินไป สำหรับโลกธุรกิจ
แม้ชื่อของ พร สิทธิอำนวย จะถูกลบจากทำเนียบนักธุรกิจชั้นนำในปัจจุบัน
แต่ตำนานการก่อร่างสร้างตัว เป็น tycoon ในอดีตของเขา ยังคงเป็นเรื่องน่าศึกษาไม่ใช่หรือ
?!
พฤษภาคม 2530
สุกรี โพธิรัตนังกูร
"เพราะผมเก่ง"
ทีบีไอกรุ๊ป กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอมูลค่าหลายหมื่นล้าน ไม่น่าเชื่อเลยว่าจะแขวนอนาคตไว้กับเถ้าแก่ที่ไมรู้หนังสือวัยกว่า
70 ซึ่งเปรียบกันว่าเป็นเจ้าพ่อของวงการสิ่งทอไทย สุกรีเริ่มต้นสร้างอาณาจักรของ
เขาจากร้านผ้าเล็กๆ ในย่านสำเพ็งที่ชื่อ กิมย่งง้วน ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
จากนั้นก็เจริญรอยตามคนจีนโพ้นทะเลทั่วไป ด้วยการเข้าใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจโดยผ่านชำนาญ
เพ็ญชาติ ซึ่งเป็นทั้งเลขาและลูกเขยของจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งเป็นการปูทางไปสู่การเป็นเจ้าของโรงงานทอผ้าแห่งแรกของเขา
โดยมีชำนาญเป็นฐานสนับสนุนทางการเงินและเป็นผู้ร่วมทุนด้วยในระยะแรก
สุกรีเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในการใช้กลยุทธ์การร่วมทุนเพื่อ ขยายธุรกิจมากคนหนึ่ง
เช่น ในการร่วมทุนกับบริษัท Shikibo Inc. ยักษ์ ใหญ่แห่งวงการสิ่งทอญี่ปุ่น
ก็สามารถ เรียนรู้เทคโนโลยีมาสร้างความแข็ง แกร่งให้กับธุรกิจของตนเองได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตามพันธมิตรทางธุรกิจของสุกรีอาจไม่คิดเช่นนั้น ผู้ร่วมทุนหลายรายมักต้องขาดจากกันไปด้วยเสียงร่ำลือถึงเล่ห์เหลี่ยมทางธุรกิจของสุกรี
ไม่ว่าจะเป็น ชำนาญ Rhone Poulenc หรือ Shikibo ซึ่งรายหลังนี้ Nomura ประธานของ
Shikibo ถึงขั้นเดินทางมาขอตรวจสอบบัญชีกับสุกรี แต่ก็เอาความผิดอะไรไม่ได้
ความเชี่ยวกรากของสุกรี ยังเคยให้บทเรียนครั้งสำคัญกับชาตรี โสภณพนิช เมื่อครั้งที่ธนาคารกรุงเทพผู้ร่วมทุนกับสุกรีเจรจาซื้อหุ้นจาก
Rhone Poulence ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุนในโรงงานเดียวกันสุกรีไม่แสดงการขัดขวางแต่ตลบหลังด้วยการส่งคนไปเจรจาซื้อหุ้นโดยตรงที่ปารีส
หรือกรณีล่าสุดเมื่อปี 2530 กับพล.ต.อ. ประมาณ อดิเรกสาร คู่ปรับทางธุรกิจของเขาซึ่งพยายามขัดขวางการขยายจำนวนแกนปั่นด้ายของทีบีไอ
แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งที่ ประมวล สภาวสุ ซึ่งเป็นคนพรรคชาติไทยและนับถือพล.ต.อ.ประมาณ
เป็นลูกพี่เก่ามีตำแหน่งเป็นทั้ง รมว. อุตสาหกรรมและประธานคณะกรรม การนโยบายสิ่งทอแห่งชาติ
กล่าวกันว่าเป็นเพราะสุกรีต่อสายถึงพล.อ. ชวลิต ผบ.ทบ.ขณะนั้น โดยผ่านลูกเขยคนหนึ่ง
ความยิ่งใหญ่ของทีบีไอกรุ๊ป ดูเหมือนจะมาจากความชาญฉลาดและการวางแผนอันแยบยลของเขา
แม้ว่าหลายครั้งจะเป็นเพราะเทพีแห่งโชคยืนอยู่ข้างเขา และในวันที่วัยของเขา
74 ปี แล้ว อาณาจักรหลายหมื่นล้านก็ยังอยู่ภายใต้การบริหารงานตาม แบบฉบับของตัวเองว่า
"ข้ามา ข้าเก่ง ข้าคนเดียว..." เป็นอาณาจักรที่ไม่เปิดรับการบริหารของมืออาชีพ
ขณะเดียวกันก็ยังไม่มีความลงตัวที่ชัด เจนในบทบาทของทายาทที่สุกรีวางใจให้สืบต่อกิจการจากเขา
สุกรีและทีบีไอกรุ๊ปในเวลานั้นก็คือ โมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย เวลานั้น ด้วยความสามารถในการใช้เทคโนโลยีพื้นๆ
ของต่างประเทศ บวกกับคนงานไทย
สิงหาคม 2530
สามทศวรรษธุรกิจไทย
Trading Society ยังครอบงำหนาแน่น
พัฒนาการของสังคมและเศรษฐกิจสมัยใหม่ ที่เริ่มนับจากนโยบายการพัฒนาในสมัยของจอมพลสฤษดิ์
มีอายุถึง 3 รอบทศวรรษแล้ว และหากย้อนนับการเติบโตของธุรกิจการค้าไทย ก็จะมีอายุราวหนึ่งขวบศตวรรษ
อย่างไรก็ตามสำหรับการ เปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ เวลาเพียงเท่านี้ไม่มากมายเท่าใดนัก
สามทศวรรษอาจยังไม่ผ่านพ้นบทบาทของผู้ประกอบการแม้เพียงรุ่นเดียว การเปลี่ยนแปลงของสังคมเศรษฐกิจไทยผ่านย่างก้าวของธุรกิจการค้า
การธนาคาร และมุ่งสู่อุต-สาหกรรม ซึ่งเป็นการพัฒนาเชิงซ้อนที่ลักษณะของสังคมแต่ละประเภทดังกล่าว
จะซ้อนกันอยู่ ทว่าในสามทศวรรษนี้ลักษณะสังคมการค้ายังมีบทบาทเด่นเป็นพื้นฐานอยู่
การพัฒนาในระยะที่ผ่านมาได้สร้างผู้ประกอบการที่เป็นคนรุ่นใหม่แทรกอยู่ในองค์กรธุรกิจต่างๆ
แต่โดยทั่วไปแล้วคนเหล่านี้ยังไม่อยู่ในฐานะที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง
เพราะอยู่ภายใต้อิทธิพล และวัฒนธรรมการบริหารงานที่ตกทอดมาจากผู้ประกอบการรุ่นเก่า
อีกทั้งจำนวนมากยังไม่อยู่ในชั้นของการปฏิบัติการ ไม่ใช่ผู้กุมทิศทางองค์กร
ธุรกิจส่วนใหญ่ยังบริหารงานแบบธุรกิจครอบครัว ซึ่งไม่เปิดโอกาส ให้ "มืออาชีพ"
และทำให้ "คนรุ่นใหม่" ที่สืบทอดกิจการเป็น "เถ้าแก่รุ่นใหม่" ที่ทั้งต้องบริหารกิจการ
ซึ่งยังอยู่ภายใต้แนวความคิดของเถ้าแก่เก่า ขณะเดียวกันก็พยายามดิ้นรนที่จะนำพาองค์กรไปสู่การปรับปรุงหรือเปลี่ยน
แปลงเพื่อให้อยู่รอดในอนาคต เมื่อเหลียวมองไปยังภาคธุรกิจต่างๆ แนวความคิดแบบเถ้าแก่เก่ายังครอบงำอยู่หนาแน่น
เป็นความ คิดแบบพ่อค้า ที่เน้นการตลาดมุ่งแสวงหากำไรหรือมาร์เก็ตแชร์ เข้าสู่ธุรกิจที่มีผลตอบแทนเร็ว
นอกจากนี้ยังเน้นผลการดำเนินงานในระยะเฉพาะหน้า สนใจเทคโนโลยีน้อย เนื่องจากการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาใช้เงินลงทุนมากและใช้เวลายาวนาน
นับเป็นอุปสรรคของการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยแท้
ภาคธุรกิจต่างๆ มีความก้าว หน้าไปไม่มากนัก ทั้งยังเผชิญปัญหาความอยู่รอดในอนาคต
ในธุรกิจส่งออกสินค้าเกษตรซึ่งเป็นพื้นฐานของธุรกิจการค้ามาหลายทศวรรษ มีแนวโน้มที่นับวันจะเสื่อมถอยจากการแข่งขันที่รุนแรงในขอบเขตทั่วโลก
ผู้ประกอบการในธุรกิจนี้อยู่ระหว่างการ แสวงหาทางออกไปสู่ธุรกิจอื่น แนวโน้มในภาคธุรกิจธนาคารเพิ่งจะให้ความสำคัญกับตลาดสินเชื่อรายย่อย
และการแสวงหารายได้จากค่าธรรม เนียมมากขึ้น ทั้งยังมีปัญหาในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการธนาคาร
ในภาคอุตสาหกรรมความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตของตนเองเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีไม่สูง
มีผู้ประกอบการน้อยรายที่เริ่มให้ความสำคัญกับการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา
วัฒนธรรมและแนวคิดของการบริหารธุรกิจสมัยใหม่ ที่ก่อตัวขึ้นพร้อมกับการพัฒนาอุตสาหกรรมกำลังท้าทาย
และรอเวลาเข้าแทนที่วัฒนธรรมการบริหารงานของผู้ประกอบการที่เติบโตจากสังคมการค้า
แต่จะนานเพียงใดเป็นเรื่องยากแก่การให้คำตอบ เพราะกล่าวกันว่า คนสองวัฒนธรรมที่ยากจะประสานกลม
กลืนกันได้ ต้องปล่อยให้ผ่านหรือแยกตัวจากกันด้วยประวัติศาสตร์เท่านั้น
สิงหาคม 2531
สี่ทศวรรษธุรกิจครอบครัว
การบุกเบิก การสืบทอด
และการเปลี่ยนแปลง
พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนและนโยบายคนไทยเพื่อคนไทยของจอมพล ป.พิบูลสงคราม
นับได้ว่ามีส่วนปลุกเร้า "นายทุนใหม่" และลดการครอบครองขุมอำนาจเศรษฐกิจของต่างชาติลงไปอย่างมาก
อุตสาหกรรมส่งออกข้าว โรงสี ธนา-คารพาณิชย์ กิจการเดินเรือ ประกันภัย เหล่านี้ถูกรัฐบาลแทรกแซง
สิ่งนี้คือการสร้างทุนกลุ่มใหม่เป็นอย่างดี และกลุ่มที่ปรับตัวได้ก่อนใครก็คือกลุ่มพ่อค้าคนจีนพวกเขายอมหวานอมขมกลืนกับการอยู่ใต้อำนาจราชศักดิ์
แต่พวกเขาก็หยิบฉวยโอกาสจากบารมีของคนเหล่านั้น จนกลายเป็นภาวะคุ้มครองที่ยิ่งใหญ่สำหรับพวกเขา
ทุนธนาคารที่เติบใหญ่ล้วนเติบโตมาจากจุดนี้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกรุงเทพ
สหธนาคาร หรือ กสิกรไทย อุตสาหกรรมน้ำตาลเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เติบโตจากการผูกขาดที่รัฐเป็นผู้กำหนดให้
เราจึงเห็นการเติบโตของกลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง กลุ่มชินธรรมมิตร ซึ่งเกาะกุมสายอำนาจของจอมพลสฤษดิ์และจอมพลผ้าขาวม้าแดงผู้นี้ก็คือผู้เปิดประตูการลงทุนยุคใหม่ขึ้น
นั่นคืออุตสาห-กรรมก่อสร้างอันเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานและผู้ที่เติบโตจากการนี้คือกลุ่มกรรณสูตนั่นเอง
โฉมหน้าอุตสาหกรรมไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงการมีพระราชบัญญัติ ส่งเสริมการลงทุนปี
2503 เปิดช่องให้กลุ่มธุรกิจผูกขาดรุกสู่การเป็นผู้ผลิตมีการยกระดับการลงทุนร่วมกับทุนต่างประเทศ
ธุรกิจที่เคยเป็นของครอบครัวแต่ผู้เดียวเริ่มมีการเปลี่ยน แปลง แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนนั่นคือการยกระดับความรับรู้ในเทคโนโลยี
พวกเขายังไม่ละวางนิสัยการเป็นนายหน้าการค้าในยุคบุกเบิกนี้สะท้อนภาพ ให้เห็นเพียงธุรกิจที่อิงอิทธิพลการเมืองและพวกที่อาศัยพื้นฐานของต่างชาติเท่านั้น
ลองพิจารณาดูเราจะเห็นได้จากกลุ่มธุรกิจของครอบครัวเหล่านี้ กลุ่มโพธิรัตนังกูร
ในอุต-สาหกรรมทอผ้า กลุ่มพรประภา ในอุตสาหกรรมรถยนต์ กลุ่มโชควัฒนา ในอุตสาหกรรมผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค
กลุ่มจิราธิวัฒน์ ในธุรกิจค้าปลีก และกลุ่มเจียรวนนท์ ในธุรกิจเลี้ยงสัตว์และอาหารสัตว์
ระยะผ่านของธุรกิจครอบ ครัวในช่วงแรกถือได้ว่าเป็นรุ่นบุกเบิกวางรากฐาน
การเปลี่ยนแปลงในปี 2516 นั้นไม่ได้มีผลกระทบต่อแวดวงการเมืองเพียงด้านเดียว
หากแต่นับได้ว่านำการเปลี่ยนแปลงขนาดเปลี่ยนโฉมหน้ามาสู่ธุรกิจครอบครัวเลยทีเดียว
พวกเขาต้องดิ้นรนปรับตัวเองเพื่อความอยู่รอดอย่างหนัก จากธุรกิจที่อาศัยเถ้าแก่
สร้างตัวด้วยความอดทนขยันหมั่นเพียร อาศัยการกล้าได้กล้าเสียด้วยวิจารณญาณ
พวกเขาต้องปรับองค์กรบริหารกันใหม่ หลายครอบครัวผลัดปลี่ยนมาถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน
ซึ่งมีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคมเทคโนโลยี หลายครอบครัวอยู่รอดและเติบโต
แต่ส่วนใหญ่โชคไม่ดี ว่ากันว่าเกือบ 90% ทีเดียวที่สูญหายไปกับเส้นทางการเปลี่ยนแปลง
เพราะธุรกิจครอบครัวมักแยกความเป็นเจ้าของกับอำนาจบริหารไม่ออกนั่นเอง
มีนาคม 2533
ยูนิคอร์ด กว่าจะถึงปลายทาง
จากความจำเป็นที่ต้องพึ่งพาตัวเองทางการตลาด ดำริห์ ก่อนันทเกียรติ เจ้าของกิจการผลิตปลาทูน่ากระป๋องอย่างยูนิคอร์ด
ประเทศไทย ตัดสินใจซื้อกิจการบริษัทบัมเบิ้ลบีซีฟู้ด จากบริษัท ทิลลบูรี่
อเมริกา โดยการประมูลนี่คือยุทธวิธีที่จะครองตลาดปลาทูน่าในสหรัฐฯ ยูนิคอร์ดแจ้งยอด
ประมูลด้วยวงเงินสูงถึง 283 ล้านเหรียญสหรัฐ คู่แข่งทั้ง 15 รายไม่ใช่ปัญหาของยูนิคอร์ดเลย
ปัญหาของยูนิคอร์ดกลับอยู่ที่การต้องหาเงินสดจำนวนนี้มาจ่ายให้ทันทีในวันเซ็นสัญญา
การประมูลจบลงเมื่อสิ้นเดือนส.ค.2532 เพราะฉะนั้นภายในเดือนก.ย.2533 เงินสดจำนวนนี้ต้องครบถ้วน
ยุทธศาสตร์ของดำริห์ตอนนั้นถือเพียง "เอาบัมเบิ้ลบีมาก่อน เรื่องอื่นว่ากันทีหลัง"
แล้วแผนการทุกอย่างก็ถูกกำหนดขึ้นอย่างรอบคอบ เริ่มต้นด้วยการตั้งบริษัทยูนิกรุ๊ปเพื่อดำเนินกิจการบัมเบิ้ลบี
ยูนิกรุ๊ป จดทะเบียนในบริทริช เวอร์จิน ไอส์แลนด์ ประเทศในหมู่เกาะแคริบเบียนที่มีข้อตกลงกับสหรัฐฯ
ว่าธุรกิจที่จดทะเบียน ที่นี่ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ในอเมริกา แล้วให้ยูนิกรุ๊ปแห่งนี้ถือหุ้น
100% ในบริษัทที่จดทะเบียนในอเมริกาที่เก็บภาษีถูกกว่ารัฐอื่น โดยยูนิคอร์ดถือหุ้น
75% ในยูนิกรุ๊ป ส่วนที่เหลือเป็นหุ้นส่วนชาวฮ่องกงด้วยเงินจดทะเบียน 100
ล้านเหรียญ ชำระครั้งแรก 40 ล้านเหรียญ กล่าวกันว่า 30 ล้านเหรียญที่ยูนิคอร์ดลงในยูนิกรุ๊ป
เป็นเงินที่แปลงลดมูลค่าหุ้นจาก 100 บาท ลงเหลือ 10 บาท แล้วเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก
400 เป็น 600 ล้านบาท โดยดำริห์นำหุ้นเพิ่มทุนขายจำนำให้กับนักลงทุนทั้งสถาบันและประชาชนโดยยืนยันว่าเมื่อยูนิคอร์ดเข้าตลาด
หลักทรัพย์ราคาเสนอขายต่อคนทั่วไปจะมีส่วนเกินประมาณ 15 บาท เชื่อกันว่า
30 ล้านบาทมาจากตรงนี้ เงิน 40 ล้านเหรียญคิดเป็นเพียง 14% ของ 283 ล้านเหรียญ
ที่เหลืออีก 243 ล้านเหรียญ ทีมงานของยูนิคอร์ดประกอบด้วย วิเชษฐ บัณฑุวงศ์
และจิตติเกษม แสงสิงแก้ว มือดีจากพีเอสเอ (ตึกดำ) ได้จัดการเอาบัมเบิ้ลบี
เข้าไฟแนนซ์ได้เงินมา 195 ล้านเหรียญ โดยเสียดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปี ยังคงเหลืออีก
65 ล้านเหรียญที่เป็นปัญหา เพราะตอนนี้ทรัพย์สินบัมเบิ้ลบีไม่เหลือแล้ว มีบริษัทการเงินเสนอเงินกู้แลกกับการแปลงเป็นหุ้นสามัญเมื่อบัมเบิ้ลบีเข้าจดทะเบียนในตลาด
แต่ดำริห์ไม่ยอม ตกลง เพราะไม่อยากแบ่งให้ใคร ทางออกสุดท้ายที่พวกเขาเลือกคือทำบริดจิ้งโลน
เงินกู้ดอกเบี้ยสูงที่ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยมีกำหนดคืนเงินใน
1 ปี เขาเชื่อว่าบริด จิ้งโลนคือสะพานเชื่อมเครือข่ายการตลาดของยูนิคอร์ดประเทศไทยกับสหรัฐฯ
ดำริห์คิดว่าเมื่อถึงเวลาจะทำจังก์บอนด์ตราสารหนี้ที่บริษัทหนึ่งๆ จะออกขายให้ประชาชนโดยทั่วไป
ซึ่งขณะนั้นเป็นที่นิยมมากในอเมริกา แต่พอดีหลายบริษัทที่ออกตราสารหนี้แบบนี้ล้มเหลวเสียมาก
หนทางของยูนิคอร์ดเลยถูกปิด แต่สวรรค์ยังเปิดให้ยูนิคอร์ดและดำริห์ เพราะยูนิคอร์ดประเทศไทยได้รับอนุญาตให้เอาหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลัก
ทรัพย์พอดีในเดือนก.พ. โดยดำริห์ยืนยันว่าเขาตั้งใจเอายูนิคอร์ดเข้าตลาดอยู่แล้วแม้ว่าจะไม่มีการซื้อบัมเบิ้ลบี
ยูนิคอร์ดประกาศเพิ่มทุนจดทะเบียนอีกครั้งพร้อมเสนอขายให้ประชาชนหุ้นละ 85
บาท เงินที่ได้ยูนิคอร์ดเอาไปลงในยูนิกรุ๊ป เพื่อเรียกทุนเพิ่มจาก 40 ล้านเหรียญเงิน
จำนวนนี้ยูนิกรุ๊ปเอาไปชำระหนี้บริด จิ้งโลนอีก 25 ล้านเหรียญ ดำริห์บอกว่าจะกู้ภายในประเทศไปจ่าย
"จะเรียกว่าเฮงก็ได้ แต่เราคิดว่า ทุกอย่างจริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องของการวางแผน"
ดำริห์คุยถึงเรื่องเวลาที่เป็นใจให้เขาแก้ปัญหาสำเร็จ แต่อนาคตหรือปลายทางจะเรืองรองแค่ไหนคงต้องรอดูกันต่อไป
เรื่องยูนิคอร์ดเป็นเรื่องที่ปรากฏขึ้นใหม่ในสังคมธุรกิจไทย ในยุคตลาดทุนกำลังเจริญเติบโตขึ้นอย่างมาก
กรกฎาคม 2534
ซีพี : ทำทุกอย่างเพื่อชัยชนะ
การได้สัมปทานดำเนินการติดตั้งโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย ทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร
ปริมณฑล และเขตภูมิภาค มาจากรัฐบาลเลือกตั้ง ยุคพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยมีมนตรี
พงษ์พานิช รัฐมนตรีคมนาคม เป็นเจ้าของโครงการของซีพี มิได้เป็นกรณีอ้อยในปากช้างแต่อย่างใด
เมื่อรัฐมนตรีคมนาคม นุกูล ประจวบเหมาะ ของรัฐบาลแต่งตั้งจาก รสช. หยิบยกปัญหาว่าด้วยผลประโยชน์ของรัฐที่จะได้รับตอบแทนต่ำเกินไป
นี่เป็นการรายงานข่าวของ ผู้จัดการรายเดือน ประจำเดือนกรกฎาคม 2534
ตุ๊กตาง่ายๆ ที่รมต.คมนาคม ยกขึ้นมาประกอบเพื่อให้สามารถงัดอ้อยออกจากปากช้างซีพีก็คือ
"การดำเนินการของทศท.ขณะนี้ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าใด ยิ่งกำไรตั้ง 60 สตางค์
และใช้ต้นทุนเพียง 40 สตางค์ หากต่อไปทศท.มีรายได้ 1 บาทต้องแบ่งให้ซีพี
0.82-0.83 สตางค์ ทศท. ได้แค่ 18 สตางค์ มันยุติธรรมหรือไม่"
ดูเหมือนว่า จุดเริ่มต้นของปัญหาความขัดแย้งที่ต้องมีการทบ ทวนเจรจาต่อรองเรื่องรายได้กันใหม่นั้น
จะมาจากรัฐบาลชุดแต่งตั้งต้อง การที่จะแผ่ความไม่ชอบมาพากลของ รัฐบาลเลือกตั้งเป็นสำคัญ
ยึดอำนาจมาจากเขาทั้งที ต้องมีตัวอย่างประกอบ ให้สมเหตุสมผลหน่อยอะไรทำนองนั้นเสียมากกว่า
แต่เรื่องกลับเลยเถิดชนิดที่เรียกกันว่าจะคุมเกมกันไม่อยู่กลายเป็นมวยเปลี่ยนคู่ไปทันที
เมื่อรัฐบาลกับฝ่ายทหารว่ากันไปคนละทางถึงขั้นออกสมุดปกเหลืองปกขาวออกมาตอบโต้กัน
ท่านนายกฯ อานันท์ ปันยาร-ชุน ต้องลงมาหาทางออกเอง
ผลของการต่อรองลงเอยด้วยดี ซีพียังได้ประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยอยู่เหมือนเดิม
เพราะเรื่องผลประโยชน์ที่นำมาเป็นหลักในการต่อรองนั้นไม่ได้มีอะไรใหม่แม้แต่น้อย
มันมีอยู่แล้วในสัญญาเดิม เพียงแต่ได้มีการหยิบขึ้นมากำหนดกฎเกณฑ์ให้มันเห็นชัดเจนขึ้นเท่านั้น
สิ่งที่ซีพีเสียไป เห็นจะได้แก่สัมปทานโทรศัพท์ 1 ล้านเลขหมายในเขตภูมิภาค
แต่มองอีกด้านหนึ่งกลับกลายเป็นผลดีแก่ซีพีในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินการและผลประ-โยชน์ที่ซีพีจะก้าวพ้นไปจากการเป็นเพียงพ่อค้าขายไก่
แต่กว่าซีพีจะได้เงื่อนไขสัมป-ทาน 2 ล้านเลขหมายมา ธนินท์ เจียร วนนท์
คนโตซีพีต้องวิ่งล็อบบี้เหนื่อย สายตัวแทบขาดแม้ว่าจะมีสายสัมพันธ์ อันดีฉันพี่น้องกับฝ่ายรสช.ก็ตาม
เพราะนุกูล ประจวบเหมาะ นั้นท่านยอมหักไม่ยอมงอ อยู่แล้ว
งานนี้ธนินท์แสดงให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะนักธุรกิจเห็นว่า เขาเป็นนักธุรกิจมือชั้นครู
มีความอดทนเป็นเลิศ ที่สามารถฝ่าคลื่นลมการเมืองมาได้ด้วยการใช้ข้อมูลที่เหนือกว่า
โดยที่นาวารัฐบาลอานันท์มิเป็นไร ว่ากันว่าหากนาวารัฐบาลอานันท์มีอันเป็น
ไป ชื่อเสียงซีพีที่สะสมมายาวนานก็จะพลอยพับฐานตามไปด้วย เพราะคนทั่วไปเห็นและยอมรับว่า
รัฐบาลชุดนายกฯ อานันท์เป็นรัฐบาลที่ดีที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา
มีนาคม 2535
ด่าน "อาฟต้า"
5 ปีจะพิสูจน์ว่าใครแน่กว่ากัน
เขตการค้าเสรีอาเซียน หรืออาฟต้า โดยการผลักดันของนาย
อานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้งของไทย ได้ประกาศตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่
28 มกราคม 2535 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหก
อันได้แก่ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และ บรูไน รวมตัวกันต่อรองกับกลุ่มเศรษฐกิจอื่นในโลกได้อย่างเป็นจริงเป็นจังขึ้น
ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดหรือมีอะไรดับจะต้องมีคนอยู่ 2 กลุ่มเสมอไป ฝ่ายที่ได้ประโยชน์ต่างแสดงออกด้วยความดีใจแซ่ซ้องร้องสนับสนุน
ตรงข้ามกับฝ่ายที่เสียประโยชน์ จะพากันออกมาตีโพยตีพายพร้อมแช่งชักหักกระดูก
การนำกลุ่มสินค้าต่างๆ 15 กลุ่มของไทยเข้าไปอยู่ภายใต้กฎของอาฟต้า ก็อยู่ในวิสัยที่ว่านี้
มีทั้งช่อดอกไม้และก้อนอิฐ
ในกลุ่มสินค้า 15 กลุ่ม อันได้แก่ ปูนซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์หนัง เยื่อกระดาษ
อุตสาหกรรมสิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์หวาย
น้ำมันพืช เคมีภัณฑ์ เภสัชภัณฑ์ พลาสติก ผลิตภัณฑ์เซรามิก ผลิต ภัณฑ์ยาง
และแคโทดหรือหลอดที่ทำจากทองแดง มีอยู่เพียง 2 กลุ่มเท่านั้นที่ประเทศไทยเสียเปรียบเพื่อน
สมาชิกอาเซียนเอามากๆ อันได้แก่ พลาสติก และน้ำมันพืช
"ผู้จัดการ" ได้แจกแจงรายละเอียดของทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลงทุน
การแข่งขัน การดำเนินการราคาของผลิตภัณฑ์แต่ละช่วง ทั้งของสินค้าพลาสติก
และน้ำมันพืช โดยเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่ผลิตสินค้าตัวเดียวกันแต่มีราคาถูกกว่า
คุณภาพดีกว่า ให้เห็นอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของผู้ประกอบการและรัฐบาลจะต้องเร่งมือร่วมกันปรับปรุงแก้ไข
และพัฒนาทั้งการผลิตและคุณภาพให้สามารถแข่งขันกับเขาได้เพราะในเวลาอีก 15
ปี สินค้าทั้ง 15 กลุ่ม ของประเทศสมา-ชิกจะต้องลดภาษีระหว่างกันลงมาให้เหลือเพียง
0-5% เท่านั้น และหากมีสินค้าตัวใดที่มีภาษีเกินกว่า 20% จะต้องลดภาษีระหว่างกันลงมาให้เหลือ
20% ในเวลา 5-8 ปี หรือภายในปี 2543 และหลังจากนั้นอีก 7 ปี คือ ปี 2551
ภาษีจะต้องลดเหลือ 5%
ทั้งสินค้าพลาสติกและน้ำมันพืชของไทยที่สามารถอยู่ได้ขณะนี้ ล้วนแต่มีภาษีเป็นเกราะคุ้มครองทั้งสิ้นและเป็นภาษีที่สูงที่สุดในกลุ่มอา-เซียน
คือ 40% และ 30%
แม้จะมีสินค้าอีกหลายตัวที่ประเทศไทยได้เปรียบ อันได้แก่ เซ-รามิก ปูนซีเมนต์
สิ่งทอ และอัญมณีและเครื่องประดับ หากไม่พัฒนาคุณภาพให้ดีมีราคาสมเหตุสมผล
ก็มีสิทธิ์ที่จะตกเป็นรองและเสียตลาดได้ 5 ปีแรกของอาฟต้าจะเป็นช่วงเวลาที่บ่งชัดลงไปว่าใครจะอยู่หรือใครจะไป
พฤษภาคม 2537
Reengineering กสิกรไทยสู่ธนาคารแห่งศตวรรษใหม่
2538 จะเป็นปีที่ธนาคารกสิกรไทยครบรอบ 50 ปี เป็นปีที่การเปลี่ยนแปลงซึ่งเริ่มต้นในปีนี้ภายใต้แนวคิดเรื่อง
"Reengineering" กระบวนการทำงานจะเริ่มปรากฏผล และเป็นปีที่ธนาคารจะเผยโฉมดีไซน์ภายในสำนักงานใหม่ในโทนสีเขียว
โดยเฉพาะสาขาของธนาคารในเขตกรุงเทพมหานคร ประมาณ 120 แห่ง
การเปลี่ยนแปลงของธนาคารกสิกรไทยที่เริ่มขึ้นในปีนี้เกิดจากแนว ความคิดของ
บัณฑูร ล่ำซำ กรรม การผู้จัดการใหญ่ของธนาคาร ซึ่งมองทิศทางการแข่งขันในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ว่าจะมีเพิ่มมากขึ้นและรุนแรงขึ้นในตลาดลูกค้ารายย่อย
แม้ว่าพนักงานของธนาคาร 3 ใน 4 ส่วนจะทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการลูกค้ารายย่อยอยู่แล้วก็ตาม
แต่บัณฑูรเห็นว่างานที่พวกเขาทำส่วนมากเป็น "การทำข้อมูลมากกว่าการบริการลูกค้า"
บัณฑูรไม่ต้องการให้พนักงานของธนาคารเป็น "กรรมกรปกขาว" ใช้ชีวิตการทำงานส่วนใหญ่ในการเตรียมข้อมูล
เขาคิดว่าข้อมูลควรจะถูกเตรียมโดยระบบแล้ว พนักงานควรใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตการทำงานใช้ข้อมูลนั้นและให้บริการแก่ลูกค้า
การเปลี่ยนแปลงภายใต้แนวคิดของบัณฑูรในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวง
ต่อทิศทางการทำธุรกิจของแบงก์ในอนาคต แบงก์จะต้องให้ความสำคัญกับงานบริการลูกค้าเป็นอันดับหนึ่ง
พนักงานของแบงก์ต้องผ่านการอบรมงานขายหรือการทำมาร์เก็ตติ้ง ซึ่งเป็นหัวใจของการทำธุรกิจค้ารีเทล
พนักงานของแบงก์ต้องออกไปพบปะลูกค้าเพื่อขายบริการอย่างใดอย่างหนึ่งของแบงก์
ซึ่งจะมีมากมายหลายประเภทตามความต้องการของลูกค้า
ทิศทางเช่นนี้เป็นการก้าวเดินตามทิศทางการพัฒนาของแบงก์สหรัฐฯ ซึ่งซิตี้แบงก์เคยก้าวผ่านมาแล้วและได้เป็นผู้นำในธุรกิจรีเทล
แบงก์
บัณฑูรมองว่าการเปลี่ยน แปลงเพื่อก้าวไปสู่รีเทล แบงก์นั้น เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับธนาคารพาณิชย์
ไทยทุกแห่ง โดยเฉพาะธนาคารขนาด ใหญ่ ที่มีกระบวนการทำงานที่ยุ่งยาก ซ้ำซ้อนและสิ้นเปลืองมาก
การเปิดเสรีทางการเงินที่จะมีการ deregulation กฎระเบียบต่างๆ ลงอีกซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแรงบีบคั้นจากต่างประเทศ
โดยเฉพาะแกตต์ (GATT) บวกกับการพัฒนาตลาดทุนภายในประเทศ ที่ทำให้เกิดช่องทาง
และโอกาสในการระดมทุนได้มากขึ้น ภาวะเช่นนี้ทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทยจำเป็นต้องเปลี่ยน
แปลงหรือปรับตัว
เป้าหมายของบัณฑูรนั้นไม่เพียงทำให้ธนาคารกสิกรไทยสามารถ แข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่
อื่นๆ ภายในประเทศเท่านั้น แต่มาตรฐานการให้บริการของธนาคารจะ ต้องเป็นมาตรฐานสากล
ซึ่งสามารถแข่งขันกับธนาคารต่างประเทศได้ด้วย
เมื่อมีฐานความมั่นคงในธุรกิจ หลักคือรีเทล แบงก์ในไทยที่แข็ง แกร่งแล้ว
การตามไปให้บริการลูกค้า ในต่างประเทศโดยเฉพาะในภูมิภาคนี้ก็ไม่ใช่เรื่องยากลำบากแต่อย่างใด
นี่คือความหมายการเป็นธนาคารแห่งภูมิภาคของบัณฑูร
แนวคิดการเปลี่ยนแปลงทั้ง หมดของบัณฑูรต่อแบงก์กสิกรไทยในเวลานี้ซึ่งมีขนาดขององค์กรประมาณ
16,000 คน ไม่ใช่เรื่องเกินเลยหากจะกล่าวว่าเป็นเสมือนหนึ่ง "การพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน"
มิถุนายน 2538
ถ้าทักษิณ ชินวัตร
เป็นนายกรัฐมนตรี
ในช่วงก่อนหน้าไม่ถึง 10 ปี ทุกสื่อสารได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แซงหน้ากิจการที่เคยทรงอิทธิพลในอดีต
อย่างเกษตรกรรม อุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ อย่างไม่ติดฝุ่น ด้วยเหตุผลของกลไกในโลกธุรกิจทุกวันนี้
กำลังผ่านพ้นคลื่นบุกที่หนึ่ง เกษตรกรรม คลื่นลูกที่สอง อุตสาหกรรม มาสู่คลื่นลูกที่สาม
อัน เป็นยุคอินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี ที่ทุกคนไม่อาจปฏิเสธได้อีกต่อไป ดังจะเห็นได้จากการเจริญเติบโตอย่างรวด
เร็วของผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ กลุ่มชินวัตร ภายใต้การนำของทักษิณ ชินวัตร
ใช้เวลาเติบโตไม่ถึง 10 ปี จากบริษัทให้เช่าระบบคอมพิวเตอร์เมนเฟรมแบบมินิให้กับหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ
มีพนัก งานไม่ถึง 10 คน กลายเป็นกิจการโทรคมนาคมขนาดใหญ่ มีสินทรัพย์นับแสนล้านบาท
ทั้งนี้ด้วยความสามารถในการครอบครองระบบสัมปทานจำนวนมาก อาทิ โทรศัพท์เคลื่อนที่
วิทยุติดตามตัว เคเบิลทีวี ดาวเทียม ฯลฯ เป็นกลไกทำให้ชินวัตร เติบโตพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว
กลุ่มยูคอม กิจการโทรคม-นาคมอีกแห่งหนึ่งที่กำลังมีบทบาทไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชินวัตร
กลุ่มนี้เข้าสู่ธุรกิจโทรคมนาคมมาตั้งแต่ 30 กว่าปีที่แล้ว ในลักษณะการค้าขายอุปกรณ์สื่อสารให้กับหน่วยราชการ
และได้สร้างชื่อคู่กับสินค้าโมโตโรล่าของสหรัฐอเมริกามาตลอด จุดพลิกผันให้กลุ่มยูคอมเติบโตอย่างมาก
คือการคว้าสัมปทานโทรศัพท์มือถือระบบ 800 และ 1800 เป็นจุดเริ่มจากนั้นก็เริ่มกระบวนการไล่ล่าสัมป-ทานเช่นกลุ่มชินวัตร
ซีพีหรือเจริญโภคภัณฑ์ ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจการเกษตร ก็เป็นอีกรายที่โลดแล่นในธุรกิจสื่อสาร
ด้วยการคว้าสัมปทานโทรศัพท์พื้นฐานในกรุงเทพฯ จากนั้นก็ขยายธุรกิจสัมปทานไปอีกมากทั้งหมดมีการเติบโตที่เริ่มต้นคล้ายๆ
กัน และขยายตัวอย่าง รวดเร็วคล้ายๆ กันด้วยการระดมเงิน จากตลาดหลักทรัพย์
ซึ่งธุรกิจสื่อ สารกลายเป็นสินค้าหอมหวนมาก
ซึ่งเป็นทีรู้กันในวงในว่าธุรกิจเหล่านี้เติบโตมาด้วยดสายสัมพันธ์ ซึ่งในที่สุดก็พัฒนาไปอย่างเปิดเผยมากขึ้น
เมื่อทักษิณ ชินวัตร ลงเล่นการเมือง อันเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของ อิทธิพลธุรกิจที่ยิ่งใหญ่กำลังมีมากขึ้นๆ
สิงหาคม 2539
ผู้จัดการแห่งปีและอนาคต?
THE NET
ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ชอบ ต้องการหรือไม่ต้องการก็ตาม THE NET หรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์จะเข้ามาสู่ชีวิตประจำวันและการทำงานของคุณอย่างแน่นอน
ทั้งอินเตอร์เน็ต อินทราเน็ต ฯลฯ จะท่วมท้นเข้ามาสู่ตัวคุณอย่างไม่ทันตั้งตัว
แต่ปรากฏ การณ์ที่เป็นอยู่ขณะนั้นก็คือ "ความสับสน" ของสังคมไทย ไม่ว่าแน่ใจว่า
THE NET จะถาโถมเข้ามาในฐานะใดและใช้พวกมันอย่างไร THE NET จะกลายเป็น "ผู้บงการ"
ชีวิตของเรากระนั้นหรือ หรือจะเป็นเพียง "เครื่อง มือ" ในการแสวงหาความรู้และโอกาส
ใหม่ๆ
ชีวิตของมนุษย์จะอยู่เพียงหน้าจอสี่เหลี่ยมเท่านั้นหรือ จะหลีกเลี่ยงเพียงใดก็ตาม
THE NET มาแน่ๆ ในสังคมธุรกิจไทย
ความตื่นตัวอินเตอร์เน็ตในเมืองไทยเริ่มต้นขึ้น และคาดหมายว่าจะมีบทบาทในการดำเนินธุรกิจของ
ไทยต่อมา
ความพยายามประยุกต์เทค-โนโลยีล่าสุด เข้ากับกิจกรรมทางธุรกิจหลักเริ่มต้นอย่างมาก
ไม่ว่าธนาคาร (กรณีธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารเอเชีย) ตลาดหุ้น (ตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
หนังสือพิมพ์ (เครือผู้จัดการ) และแน่นอน คนที่พยายามสร้างกระแสความตื่นตัวก็คือเครือข่ายสินค้าคอมพิวเตอร์ทั้งมวลที่อยู่ในเมืองไทย
ซึ่งส่วนใหญ่ ก็คือเครือข่ายธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ จากตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ
และรายหนึ่งที่กระตือรือร้นต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ก็คือไมโครซอฟท์ ซึ่งมีกิจการเครือข่ายในเมืองไทยที่เอาการเอางานอย่างมาก
กันยายน2540
ยานยนต์ไทย : ดีทรอยต์เอเชีย จบเห่ก็คราวนี้!?
ไม่เคยมีวิกฤตการณ์ครั้งใดที่ส่งผลให้การขับเคลื่อนของอุตสาห-กรรมยานยนต์ไทยต้องหยุดชะงักและยุ่งยากถึงเพียงนี้
โรงงานผลิตรถยนต์หลายๆ โรงต้องหยุดการผลิต 1 สัปดาห์บ้าง หรือถึงขั้นเป็นเดือน
แล้วแต่ใครจะมีสถานการณ์เลวร้ายกว่า ไม่เว้นแม้แต่โตโยต้า ยักษ์ใหญ่จากซีกโลกตะวันออก
ที่อาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นครั้งแรกของฐานการผลิตในไทยแห่งนี้ ที่จำต้องหยุดการผลิต
หลังจากที่ตลาดกว่า 30 ปี ได้เจริญรุดหน้ามาอย่างงดงามการปิด โรงงานแม้ช่วงสัปดาห์เดียว
และมีข้ออ้างมากมาย แต่เมื่อเป็นโรงงานโตโยต้าสถานการณ์เช่นนี้จึงไม่ธรรมดา
หรือกระทั่งจีเอ็ม ยักษ์ใหญ่จากโลกตะวันตกที่แถลงข่าวอย่างใหญ่โตในการลงทุนเกือบสองหมื่นล้านบาทเพื่อ
ให้ไทยเป็นฐานส่งออกรถยนต์โอเปิลปีละเกือบหนึ่งแสนคัน แม้ขณะนั้นเจ้าตัวจะยืนยันว่าโครงการเดินหน้าต่อไปตามแผน
แต่สถานการณ์ยังไม่แน่นอน เพราะซัปพลายเออร์ต่างๆ ที่จะเคลื่อนทัพตามเริ่มลังเล
ในสภาพเศรษฐกิจที่ดิ่งเหว คนตกงานมีให้เห็นอย่างดาษดื่น ด้วยจำนวนตัวเลขที่เราไม่อยากได้ยิน
ชนชั้นกลางเรื่อยลงไปเดือดร้อนอย่าง หนัก กลุ่มคนเหล่านี้คือลูกค้ารายใหญ่กลุ่มหนึ่งของตลาดยานยนต์
มองแค่นี้จะพอจะเดาออกว่า ตลาดยานยนต์ไทยต่อไปจะเป็นเช่นไร
ซ้ำร้ายภาษีมูลค่าเพิ่มได้ปรับขึ้นเป็น 10% ซึ่งมาพร้อมกับการปรับราคาจำหน่ายเพราะต้นทุนการดำเนินงานของอุตสาหกรรมรถยนต์ต้องเพิ่ม
ขึ้น เนื่องจากเงินบาทลอยตัวตามที่กล่าวอ้าง รวมแล้วราคาจำหน่ายรถยนต์จะเพิ่มขึ้นตั้งแต่
6% จนถึงกว่า 20% ในบางยี่ห้อ บวกกับการปิดสถาบันการเงิน 58 แห่ง และที่เหลือ
อยู่ก็เริ่มเข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อรถยนต์มากขึ้น เช่นนี้แล้วตลาดรถยนต์เมืองไทยก็ต้องเผชิญวิกฤตการณ์
อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
เมื่อตลาดในประเทศถดถอยอย่างหนักอย่างคาดไม่ถึง ขณะที่ส่งออกกระเตื้องบ้างเล็กน้อย
อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ที่ต่างขนานนามว่า "ดีทรอยดต์เอเชีย" ชื่นชมกันมากว่า
2 ปี ก็มีปัญหาอย่างรุนแรงทีเดียว
สิงหาคม 2541
จุดจบแบงเกอร์ไทย
โฉมใหม่อุตสาหกรรมธนาคาร
โครงสร้างธุรกิจธนาคารไทยภายใต้ระบบครอบครัว มีการพลิกโฉมครั้งใหญ่ เมื่อรัฐบาลประกาศมาตรการ
14 สิงหาคม ตระกูลจันทร์ศรีชวาลา ชลวิจารณ์ และ อัศวินวิจิตร ก็หลุดจากธนาคารแหลมทองและสหธนาคารไปเหมือน
4 ธนาคารรัฐบาลที่ถูกยึดไปก่อนหน้านั้นแล้ว (ธนาคารศรีนคร ธนาคารนครหลวงไทย
ธนาคารมหานคร และธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ) มีพียง 2 ตระกูลหลักที่รอดมาได้คือโสภณพนิช
และล่ำซำ ในขณะที่ตระกูลรัตนรักษ์ ก็ยอมขายสินทรัพย์ อื่นๆ เพื่อถือเงินสดไว้ในกรณีที่จำเป็น
ในการเพิ่มทุนธนาคารกรุงศรีอยุธยา ส่วนตระกูลหวั่งหลีก็ทำใจ พร้อมกับดิ้นรนอย่างหนักเพื่อเซ็นสัญญากับธนาคารต่างชาติรายใดรายหนึ่ง
ในภาวะขณะนั้นคงเป็นเงื่อนไขที่ยาก
ความมหัศจรรย์แห่งเอเชียได้พัดกระหน่ำเจ้าสัวหลายตระกูลม้วนเสื่อกลับบ้าน
ชนิดที่ไม่ได้เตรียมตัว และโฉมหน้าใหม่ของอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ไทยก็ได้เปิดปฐมบทขึ้นแล้ว
แผนฟืนฟูครั้งนี้สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างมากเพราะได้ก่อให้เกิดธนาคารขนาดใหญ่
ขึ้นถึง 5 แห่ง ส่วนธนาคารที่ไม่ได้ถูกแทรกแซงกลับกลายเป็นธนาคารขนาดกลางและเล็กไป
กรกฏาคม 2542
ชุมพล ณ ลำเลียง
"ผมเป็นเพียง ลูกจ้าง"
ชุมพล ณ ลำเลียง ผู้มีความขัดแย้งในตัวเองมากมายในอดีต กำลังจะกลายเป็นบุคคลที่เหมาะสมกลมกลืนกับสถานการณ์ในยามคับ
ขันอย่างยิ่งของสังคมธุรกิจไทยปัจจุบัน สังคมธุรกิจที่มีสถาบันลงทุนหลักสถาบันหนึ่งเป็นสัญลักษณ์และเป็นภาพสะท้อนของความมั่นคงของสังคมธุรกิจไทยอยู่ด้วย
แม้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ คือสถาบันการลงทุนทางธุรกิจที่ใหญ่ที่สุด
ปึกแผ่นที่สุด ยาวนานที่สุด เป็นสิ่งที่อ้างอิงมากที่ สุดของประเทศ ก็ไม่อาจหลุดพ้นวงจรของความตกต่ำ
ที่ได้รับแรง กระทบความล่มสลายของระบบเศรษฐกิจไทยครั้งนี้
ประวัติชีวิตของเขา มีคนทราบน้อยมาก ตระกูล ณ ลำเลียงของเขานั้นก็ไม่ได้มีความหมายมากไปกว่า
เปลี่ยนมาจากแซ่จัง บิดาของเขาทำการค้า เป็น trading firm เล็กๆ ย่านสี่พระยา
โดยนำเข้าเม็ดพลาสติกจากไต้หวัน มาขายในเมืองไทย ชีวิตการศึกษาอย่างจริงๆ
จังๆ ของเขา จึงเริ่มต้นที่ฮ่องกง จากนั้นก็ไปร่ำเรียนที่สหรัฐอเมริกา ในช่วง
อาภัสรา หงสกุล ได้รับตำแหน่งนางงามจักรวาล สังคมไทยเป็นที่สิ่งเขาไมรู้จักดีพอ
โดยเฉพาะการเข้ากับสังคมชั้นสูง เขากลับมาเมืองไทยเพื่อทำงานครั้งแรก แม้แต่การเขียน
อ่าน ภาษาไทย ก็เพิ่งมาเริ่มต้นเรียนในตอนนั้น
จากนั้น 30 ปีเต็ม เขาไม่เพียง เป็นผู้นำองค์กรธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเท่านั้น
หากได้มีบทบาทอย่างสำคัญ นำพาและรักษาความยิ่งใหญ่ของกิจการนั้นๆ ฝ่ามรสุมทางเศรษฐกิจที่ร้ายแรงที่สุด
ผ่านพ้นไปได้เป็นช่วงสำคัญช่วงหนึ่ง
ชุมพล ณ ลำเลียง ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่เครือซิเมนต์ไทย องค์กรธุรกิจที่มีบริษัทในเครือมากกว่า
150 แห่ง มีสินทรัพย์รวมกันมากกว่า 3 แสนล้านบาท ในฐานะ ประธานกรรมการบริหาร
(แม้ว่าจะเป็นบทบาทเฉพาะกิจ) ธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งมีปัญหามากมายในการดูแลสินทรัพย์มากกว่า
7 แสนล้านบาท หลังจากเขาเข้ามาจัดการไม่นานก็เกิด การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในธนาคารแห่งนี้
และท้ายสุดลงเอยในทางที่ดีขึ้น และที่สำคัญ เขาเป็นที่ปรึกษาที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่ง
ของสำนัก งานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ด้วย ทั้งธนาคารไทยพาณิชย์ และเครือซิเมนต์ไทย
เคยส่งเงินปันผลให้สำนักงานทรัพย์สินฯ รวมกันปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท แต่ในช่วงปี
2540 เป็นต้นมา เริ่มไม่ได้ตามเป้า มิหนำซ้ำ สำนักงานทรัพย์สินฯ ซึ่งไม่ค่อยได้
"ควักกระเป๋า" เพิ่มทุนทั้งสองกิจการ ก็ต้องมาจ่ายเพิ่มทุนที่ไทยพาณิชย์ด้วย
แม้ว่าการคร่อมตำแหน่งทั้งเครือซิเมนต์ไทยและธนาคารไทยพาณิชย์ ดูจะเป็นสิ่งไม่เหมาะสม
(ผู้บริหารบริษัทลูกหนี้มาเป็นผู้บริหารกิจการเจ้าหนี้) ทำให้คนของแบงก์ชาติอึดอัดใจพอสมควร
แต่ด้วยความจำเป็นของแผนการฟื้นฟูกิจการ (ของสำนักงานทรัพย์สินฯ) เขาจึงต้อง
รับบทบาทนี้ ซึ่งถือว่าเป็นการ "แหวก ประเพณี" ของสำนักงานทรัพย์สินฯ ที่คนคนเดียวดูแลสองธุรกิจหลัก
อย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์
ชุมพล ณ ลำเลียง จึงเป็นบุคคลได้รับความสนใจในวงสังคมระดับสูงและลึกอย่างมากในระยะนี้