สุขมากหรือทุกข์น้อย

โดย ธีรภาพ วัฒนวิจารณ์
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

ธีรภาพ วัฒนวิจารณ์ เป็นนามแฝงของนักวิชาการในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งนอกเหนือจากความเชี่ยวชาญในงานประจำด้านจิตเวช และจิตวิทยาแล้ว ยังมีความสนใจด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เขาจะเสนอมุมมองและสาระความรู้ที่น่าสนใจในคอลัมน์ "จากฝั่งพรานนก"

เพื่อนหมอของผมคนหนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่า เขาคุยกับผู้ป่วยหลายราย ไม่ว่าจะเป็นป่วยด้วยโรคทางกาย หรือความทุกข์ทางใจ (แน่นอนว่าคนที่ป่วยทางกายก็มักจะมีความทุกข์ทางใจร่วมไปด้วยเสมอ) สิ่งที่เขาพบอยู่เสมอคือ ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่เป็นโรคร้ายแรงมักจะเต็มไปด้วยความรู้สึกโกรธ กังวล กระวน กระวายใจ พวกเขามักจะบ่นกับเพื่อน ของผมว่า พวกเขาเหล่านั้นยังไม่พร้อม ที่จะตาย เขายังอยากจะได้เวลามากกว่านี้ อยากให้นาฬิกาชีวิตของเขายังคงเดินต่อไปเรื่อยๆ เนื่องจากเขายังมีหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตที่อยากจะทำ หรือยังจัดการไม่เรียบร้อย เมื่อเพื่อนของผมพยายามจะปลอบใจให้เขาสงบจิตใจ โดยพยายามให้ผู้ป่วยมองเห็นว่า ภาระต่างๆไม่ใช่เรื่องสำคัญในขณะนี้ หรือหากจะเป็นจริง คนอื่นๆที่อยู่แวดล้อมชีวิตเขาก็ยังสามารถรับผิดชอบได้ พวกเขามักจะโกรธและไม่ยอมรับ

แต่เมื่อคุยกันในรายละเอียดแล้วเรามักจะพบว่าสิ่งที่พวกเขากล่าวอ้างนั้นไม่ใช่เป้าหมายชีวิตแท้จริง หากมันคือการให้เหตุผลต่อรองกับพรหมลิขิต ว่าเหตุใดเขาจึงยังไม่พร้อมและไม่สมควรจะตายในขณะนี้

ชีวจิตที่ยังคงฮือฮากันอยู่บ้างในปัจจุบันก็ดูเหมือนว่า จะเป็นหนทางหนึ่งในการให้ความหวังกับคนกลุ่มนี้ที่จะต่อรองและดิ้นรนต่อไป

ผู้ป่วยอีกกลุ่มหนึ่งที่ผ่านจุดของการต่อรองไปแล้ว มักจะมีความคิด ความรู้สึกตรงกันข้ามกับกลุ่มแรก เมื่อทราบว่าตัวเองป่วยด้วยโรคร้ายแรง รักษาไม่ได้ เขาจะเกิดความรู้สึกว่าขอให้ชีวิตยุติแค่นี้ เมื่อเพื่อนหมอของผมพยายามจะปลุกเร้ากำลังใจในการต่อสู้ โดยการถามพวกเขาถึงภาระที่ยังคงคั่งค้างอยู่ เช่น บุคคลที่เขายังต้องดูแลรับผิดชอบ หรือภาระหน้าที่การงาน ก็มักจะได้คำตอบว่า มันไม่ใช่เรื่องที่เขาต้องห่วงใย สนใจอีกต่อไป เป็นภาระของคนที่ยังอยู่ต่อต้องรับผิดชอบ เขาไม่รู้จะดิ้นรนต่อสู้ไปทำไม ในเมื่อจะตายอยู่แล้วทำไมจะต้องทรมานต่อไป

นั่นคือความรู้สึกที่ตรงกันข้ามกับกลุ่มแรก เป็นความรู้สึกสิ้นหวัง และท้อถอย เขาไม่สนใจว่าเหตุผลในการมีชีวิตอยู่ต่อไปคืออะไร หรืออาจจะไม่มีเลยในความรู้สึกขณะนั้นหาก เหตุผลที่จะจบๆ มันไปเสียทีมีร้อยแปดพันประการ

คนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีความทุกข์ทางใจ ผิดหวังหรือไม่สมหวังในสิ่งที่ตนเองตั้งใจไว้ อาจเพียงแค่เศร้าซึม หดหู่ หรือหมดกำลังใจจะสู้ต่อไป คนกลุ่มนี้มักจะคิดและรู้สึกว่า ชีวิตของตนจบสิ้นลงแล้ว เพราะเป้าหมายหรือความมุ่งหวังนั้นพังทลาย ไป แต่นั่นคือคุณค่าหรือความหมายของการมีชีวิตที่แท้จริง หรือเป็นเพียง ความหลงในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต หากเพียงเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งเขาก็จะพบว่า ชีวิตไม่ได้จบสิ้นอยู่เพียงแค่ความผิดหวังครั้งนี้ซึ่งเป็นเพียงแค่ครั้งหนึ่งในหลายๆ ครั้งของชีวิต

นึกถึงชีวิตที่ผ่านมาในแต่ละวัน แต่ละเดือน หรือปี เราจะพบว่าบ่อยครั้งที่ชีวิตของเราลื่นไหลไปเรื่อยๆ สุขเมื่อประสบกับสิ่งที่พอใจ และทุกข์เมื่อเราไม่ได้ตามที่เราคาดหวังไว้ คำถามประเภทเรามีชีวิตอยู่ไปทำไม เป้าหมายของชีวิตคืออะไรจะไม่ค่อยเกิดขึ้น หากแต่เมื่อเราเผชิญกับอุปสรรคของชีวิต ซึ่งในห้วงเวลาขณะนั้นเราหาทางออกไม่ได้ คำถามซึ่งมักจะไม่ค่อยได้ถามนี้ก็จะผุดขึ้นมาในใจเป็นระยะๆ และทำให้ตัวเรารู้สึกว่ามันสมเหตุสมผลหากเราจะคิดถึงการจากโลกนี้ไป โดยไม่มีความอาลัยอาวรณ์กับมัน

ถ้าจะว่าไปแล้วเหมือนเรากำลังพูดกันถึงปัญหาเชิงปรัชญา หลายท่านอาจจะบอกว่าคิดไม่ออก คิดแล้วปวดหัว อีกหลายท่านอาจบอกว่าไม่คิดไม่ได้หรือ แต่หลายท่านอาจจะบอกว่าไม่เคยคิดถึงมันมาก่อน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วมักจะลงเอยว่าไม่เคยคิดถึงเรื่องแบบนี้มาก่อน

แล้วเราควรจะตั้งคำถามนี้ในการดำเนินชีวิตหรือไม่

สำหรับผมแล้ว ผมเชื่อว่ามันเป็นสิ่งสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่ง

ชีวิตคนเราก็เหมือนเรือที่แล่นไปในท้องน้ำ เมื่ออายุยังเยาว์ ประสบ การณ์ในชีวิตก็เหมือนการแล่นเรือในคูคลองที่ปราศจากคลื่นลม อายุที่มาก ขึ้นก็เปรียบเสมือนการนำเรือออกสู่แม่น้ำที่เชี่ยวกรากมากขึ้น ไปเรื่อยๆ จนออกสู่ท้องทะเลใหญ่ที่มีคลื่นลม และสู่มหาสมุทรที่มีพายุในบางครั้ง

แน่นอนว่าในชีวิตของคนแต่ละคน ความแคบกว้างของคูคลอง แม่น้ำ และมหาสมุทรไม่เท่ากัน นั่นรวมไปถึงความหนักเบาของคลื่นลม และประสบการณ์การเดินเรือที่สั่งสมมาก่อนหน้านั้นแตกต่างกันไป

สิ่งที่เหมือนกันแน่ๆ อย่างหนึ่งคือ เรือต้องมีหางเสือ หรือทิศทางที่จะไป หากปราศจากสิ่งนี้แล้ว นาวาชีวิตของคนผู้นั้นก็อาจจะอยู่ได้เพียงในคูคลองเล็กๆ หรือแล่นวนเวียนอยู่แต่ในที่ไม่มีคลื่นลม ไม่สามารถออกสู่ทะเลใหญ่ หรืออาจหลงทางเมื่อแล่นไปในที่ที่ปราศจากความคุ้นเคยมาก่อน และอาจอับปางลงเมื่อเผชิญกับคลื่นลมที่ไม่รุนแรงนัก

หางเสือ หรือทิศทางของชีวิตคือ สิ่งที่ผมกล่าวไปในตอนต้น เป้าหมายชีวิตของเราคืออะไร เมื่อยังเด็ก เราอาจจะไม่เคยคิด หรือสำเหนียก ว่าเราอยู่ไปเพื่ออะไร เพราะกัปตัน หรือพ่อแม่เป็นผู้วางแนวทางหรือกำหนดทิศทางชีวิตให้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป อายุที่มากขึ้น เราต้องให้เวลากับการไตร่ตรองว่าชีวิตของเรานั้นเคลื่อนไหวและดำเนินไปเพื่อใครและ เพื่ออะไร

สำหรับคำถามว่าเพื่ออะไรนั้น เพื่อที่ว่าเราจะได้ตระหนักรู้ว่าเวลาของชีวิตที่ไม่ยาวนัก เราจะเลือกทำสิ่งใดเป็นอันดับแรกๆ และสิ่งใดที่ไม่จำเป็น หรือหากพลาดโอกาสที่จะทำก็ไม่เป็นไร เพื่อว่า ณ เวลาหนึ่งของชีวิตเมื่อเราเผชิญกับปัญหา และอุปสรรค เราจะได้ไม่ต้องมานั่งนึกเสียดาย หรือพะวักพะวนว่ายังมีสิ่งสำคัญสิ่งดีๆ อีกหลายอย่างที่เราพลาด โอกาสไป

ส่วนเพื่อใครนั้น ก็เพื่อคนที่เราต้องดูแลรับผิดชอบ เขาเหล่านั้นจะได้มีความพร้อมที่จะประคองนาวาชีวิตของเขา ด้วยตัวของเขาเองเมื่อถึงเวลาที่ไม่มีเราคอยประคับประคอง

ว่าไปแล้วที่จริงแนวคิดนี้พุทธศาสนาก็มีคำสอนที่เราทราบกันดีอยู่ คือ การดำรงตนอยู่ในความไม่ประมาท และการครองสติในการดำเนินชีวิต หรือการดำเนินชีวิตอย่างมีสติใคร่ครวญ นั่นคือการกล่าวถึงการดำเนินชีวิตทั้งชีวิตของคนเราให้มีความทุกข์น้อยที่สุด

สำหรับแนวคิดของฝรั่งนั้นก็มักจะเน้นการตั้งเป้าหมายของชีวิต เพื่อที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต คุณจะต้องรู้ว่าคุณกำลังทำอะไร และจะทำอะไรต่อไปในภายภาคหน้า

นี่เป็นการมองแบบวัตถุ เพื่อให้คุณมีความสุขมากที่สุดในชีวิต

ดูเหมือนจะเป็นด้านเดียวกันของเหรียญ แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่เลย สุขมากไม่เท่ากับทุกข์น้อย ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า เราจะเลือกระหว่างการประสบความสำเร็จในชีวิต แน่นอนว่า ความปิติสุขย่อมเกิดขึ้น เมื่อเราวัดจากมาตรฐานของสังคมโดยทั่วไปที่เชื่อกันว่า คนเราต้องประสบความสำเร็จโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน้าที่การงาน กับความทุกข์น้อยที่เกิดจากความสงบในจิตใจ จากการที่เรารู้และตระหนักว่าเราจะดำเนินชีวิตทั้งชีวิตไปในทิศทางใด ไม่ใช่เฉพาะเพียงด้านใดด้านหนึ่งของชีวิต

การจัดการกับความเครียดในชีวิตก็เช่นกัน เราจะจัดการเพียงด้านใดด้านหนึ่ง มันก็อาจจะไปโผล่อีกด้านหนึ่ง แต่หากไม่เริ่มต้นเพียงแค่ความเครียด แต่มองทั้งชีวิตโดยรวม นอกจากความทุกข์ในชีวิตจะลดน้อยลงแล้ว ความเครียดก็อาจจะไม่ใช่ปัญหาที่เราต้องมาคำนึงอีกต่อไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.