ใครจะไปคิดว่าดีไซเนอร์ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการที่ทำให้เครื่องประดับของบริษัทแพรนด้า
จิวเวลรี ได้รับความนิยมอย่างมากทั้งในตลาด เมืองไทยและต่างประเทศ จนต้องขยายสาขาเพิ่มขึ้นเเป็น
51 สาขาในวันนี้ และสามารถทำยอดขายรวมประมาณ 500 ล้านบาทในปีที่แล้วจะเรียนจบมาทางด้านอินทีเรียดีไซน์
จากมหาวิทยาลัยศิลปากร
งานตกแต่งภายในกับงานดีไซน์เครื่องประดับซึ่งไม่น่าจะมีอะไร เกี่ยวข้องกันเลย
สุมาลี สระตันติ์ ผู้จัดการส่วนพัฒนาผลิตภัณฑ์คนนี้ เล่าให้ "ผู้จัดการ"
ฟังว่าจุดหักเหครั้งสำคัญของการเปลี่ยนอาชีพ เริ่มมาจากความเบื่อหน่ายงานตกแต่งภายในซึ่งเป็นงานชิ้นใหญ่
กว่าจะสำเร็จลงได้ต้องใช้เวลานานมาก และที่สำคัญ ตนเองมีความรู้สึกว่าขาดอิสระทางความคิดอย่างมาก
อาจจะเป็นเพราะช่วงเวลานั้น เศรษฐกิจกำลังรุ่งเรืองทำให้เกิดเศรษฐีใหม่ขึ้นมามากมายและเป็นกลุ่มลูกค้าที่ค่อนข้างเอาใจยาก
เลยยิ่งเพิ่มความเบื่อในการทำงาน และเริ่มพบว่าจริงๆ แล้ว ต้องการทำงานออกแบบที่เล็กลง
และสนใจงานออกแบบทางด้านจิวเวลรี
ความคิดแรกหลังการลาออกจากงานบริษัทตกแต่งภายใน สุมาลีวางแผนจะไปเรียนทางด้านออกแบบเครื่องประดับแต่เมื่อในเมืองไทยตอนนั้นยังไม่มี
เมืองนอกก็ยังไม่มีโอกาสไป แต่โชคดีอย่างมากที่ได้มีโอกาสไปทำงานในบริษัททำเครื่องประดับเล็กๆ
บริษัทหนึ่ง ซึ่งที่นั่นทำให้เธอมีโอกาสในการเรียนรู้การทำงาน ได้ออกแบบเครื่องประดับ
ตามความคิดของเธอเองเป็นครั้งแรก และที่สำคัญเมื่อเป็นเพียงบริษัทเล็กๆ ทำให้ดีไซเนอร์เองมีโอกาสได้ไปสัมผัส
และคลุกคลีกับพวกช่างทำทอง ช่างทำเพชร ไม่ยากนัก
"ตอนนั้นก็ไม่ได้นั่งออกแบบอย่างเดียว ชอบไปดูพวกช่างทำงานด้วย เพราะเราไม่มีประสบการณ์มาก่อน
ไม่รู้ว่าออกไปแล้วช่างทำได้หรือเปล่า เขาจะมีข้อจำกัดอย่างไรบ้าง หรือ เรามีส่วนได้ออกความเห็นกับช่าง
อย่างไรบ้าง"
ฝึกงานอยู่ที่บริษัทดังกล่าวนี้ประมาณ 1 ปี เธอจึงได้มาร่วมงานกับ ทางบริษัท
แพรนด้าฯ เมื่อประมาณปี 2531 ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นบริษัทเล็กๆ มีดีไซเนอร์เพียง
2 คนออกแบบสินค้าทั้งกลุ่ม โดยมี ปราณี คุณประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการตลาดปัจจุบัน
เป็นผู้คอยดูแลแนะนำ
ที่นี่เป็นสำนักตักศิลา ที่สำคัญ ของเธอ เพราะบริษัทเริ่มขยายใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง
มีงานออกแบบมากมายมาให้ทำ รวมทั้งการขยายสาขาไปต่างประเทศ ซึ่งเป็นการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ
ครั้งใหญ่ของเธอ งานแสดงสินค้าทางด้านเครื่องประดับตามประเทศต่างๆ จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญซึ่งเธอต้องไปดูและเรียนรู้
ถึงวันนี้ เธอผ่านงานออกแบบมาแล้วกว่าหมื่นชิ้น "ผู้จัดการ" ขอให้เธอเลือกงานชิ้นโปรดของ
"พรีม่าโกลด์" สินค้าตัวหนึ่งของบริษัทแพรนด้าฯ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยม ออกมาให้ดูเพียง
6 ชิ้น มาดูกันซิว่าดีไซเนอร์ผู้ประสบความสำเร็จอย่างเธอ ชอบเครื่องประดับรูปแบบไหนเพราะอะไร
ชิ้นแรกที่เธอหยิบออกมาให้ดู เป็นเครื่องประดับคอที่ใช้สวมเข้าไปในผ้าแพร
"ชอบเพราะแปลกดี เป็นคอนเซ็ปต์ของพรีม่าโกลด์ แต่อยากให้มีแสงเพชรส่องประกายวูบวาบก็เลยมีพรีม่าไดมอนด์ประกอบเอาไว้
เป็นชิ้นหนึ่งที่ตั้งใจจะออกแบบให้เป็นไฮไลต์ในงานแสดงสินค้าของพรี ม่าโกลด์มื่อปีที่แล้ว
ต้องการให้เป็นชิ้นที่มีสีสันในงาน"
ชิ้นที่ 2 เป็นสร้อยคอ และสร้อยข้อมือเป็นชุด งานชิ้นนี้เธอบอกว่าชอบมาก
ดูสวย และคลาสสิกมาก แต่ราคาค่อนข้างสูง เพราะเป็นชิ้นใหญ่
"ชอบค่ะ แต่คิดว่าตัวเองใส่คงไม่สวย อาจจะเหมาะสำหรับนักธุรกิจ และต้องเป็นคนที่ตัวใหญ่คอโตนิดนึง
ดูคนอื่นใส่แล้วชอบมาก"
ชิ้นนี้ขายดีมากในกลุ่มผู้มีกำลังซื้อในต่างประเทศ ส่วนเมืองไทย ช่วงเวลานี้งานชิ้นใหญ่ๆ
ก็คงต้องขายยากหน่อย
ชิ้นที่ 3 เป็นสร้อยข้อมือรูปหัวใจ "ที่จริงหัวใจก็ธรรมดานะ แต่แปลกดีตรงที่มีลายน้ำ
ลายปลาอยู่ข้างใน ชอบงานฉลุดูมันกุ๊กกิ๊กดี มัน เป็นคอนเซ็ปต์ที่ดูเหมือนง่ายๆ
แต่จริงๆ แล้วมีอะไรซ่อนอยู่"
ชิ้นที่ 4 เป็นกำไล ซึ่งเธอบอก ว่าชิ้นนี้ ดูแข็งแรงดี คงทน จะได้ใช้ได้นานๆ
แต่ลูกค้าทั่วไปอาจจะไม่ชอบเพราะมันหนักไป จุดเด่นของชิ้นนี้ อยู่ตรงลายช้างที่ฉลุบนเนื้อทอง
เป็นอีกชิ้นหนึ่งที่น่ารัก และหยิบมาใส่เป็นประจำ
ชิ้นที่ 5 เป็นจี้รูปทรงยาวๆ เป็นท่อน "ชอบ เพราะชอบของอะไรที่เล็กๆ และเป็นรูปทรงทางยาว
แปลกดีด้วย ตอนแรกดีไซน์เป็นท่อนๆ ออกมาก่อน แต่ดูแข็งไปก็เลยฉลุเป็นลายดอกไม้เล็กๆ
อยู่ข้างใน พอออกมาก็ถูกใจ แต่ลูกค้าอาจจะไม่ชอบ สั่งไปขายน้อย เพราะเป็นของใหม่
ที่ไม่แน่ใจตลาด" เธอเล่า และเผยความ ลับเล็กๆ ว่าผลปรากฏออกมาว่าเป็นชิ้นที่ขายหมดเร็วมาก
จนอาจจะต้องขยายแบบต่อ เช่นดอกไม้อาจจะฝังเพชร อาจจะทำเป็นช่อใหญ่ ช่อเล็ก
หรืออาจจะฉลุเป็นลายหนังสือต่างๆ
ชิ้นสุดท้าย เป็นชิ้นที่เธอใส่ติดข้อมือมาด้วยในวันนั้น เป็นกำไลชิ้นใหญ่
ซึ่งเดิมดีไซเนอร์ฟรีแลนซ์ของ พรีม่าโกลด์ชาวอิตาลีเป็นคนสเก็ตช์แบบมาแต่เป็นแบบที่ทื่อตรงไปแข็งมาก
ต้องเอามาคิดแบบใหม่เกือบหมด ทำอยู่หลายครั้งแก้แล้วแก้อีกใช้เวลาเกือบ 2
ปีถึงจะลงตัว
งานชิ้นนี้เลยชอบเพราะประทับ ใจที่มันทำยาก แต่ก็ออกมาสวยจนได้ ชิ้นนี้น้ำหนักทองประมาณ
100 กรัม ราคาประมาณ 75,000 บาท
ก่อนจากกันในวันนั้น สุมาลีทิ้งท้ายกับ "ผู้จัดการ" ว่า จากประสบ การณ์การทำงานมาประมาณ
10 ปี นั้น จะรู้ว่าคนไทยส่วนใหญ่ชอบสินค้าที่เป็นรูปหัวใจ รูปโบเสียเกือบ
70-80% ดังนั้นงานที่เธอชอบจึงอาจจะไม่ใช่งานชิ้นที่ขายดีนักก็ได้