การใช้ชีวิตในวันว่างของ ศิวะพร ทรรทรานนท์ อดีตกรรมการผู้อำนวยการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้
น่าอิจฉาอย่างมาก เพราะแม้ในปัจจุบันจะมีภาระสำคัญในตำแหน่ง รองประธานกรรมการปรับโครงสร้างหนี้
และเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แต่เขายังมีเวลาให้กับสิ่งต่างๆ
ที่เขาชื่นชอบเป็นพิเศษส่วนตัวมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสะสมภาพศิลป เล่นเกมคอม
พิวเตอร์ และการเดินทางท่องเที่ยว
แต่เรื่องเล่นๆ เรื่องหนึ่งของเขา วันนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่เขาต้องทุ่มเทเวลา
และสนใจเป็นพิเศษที่จะสานต่อให้สำเร็จ
"ผมกำลังสร้างหอศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 ในไซเบอร์สเปซ" ศิวะพร กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ด้วยท่าทีที่ค่อนข้างเครียด แต่แล้วก็ค่อนข้างผ่อนคลายมากขึ้น เมื่อให้รายละเอียดในงานสิ่งที่เขารัก
และตั้งใจจะให้เป็นจริงที่สุด
ที่มาของเรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะชื่อเสียงของความเป็นคนที่หลงใหลในงานศิลปะ
ที่ว่ากันว่าเพราะชีวิตเยาว์วัยของเขาเติบโตในอิตาลี และทิสโก้ก็เป็นองค์กรธุรกิจแรกๆ
ของเมืองไทยที่ส่งเสริมงานศิลปะมานาน จนกลายโมเดลความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับศิลปะที่งอกเงยมาตามลำดับ
นั้น ได้รับเชิญเข้าไปเป็นประธานอนุกรรมการฝ่ายนิทรรศการในโครงการเฉลิมพระเกียรติศิลปะแห่งรัชกาล
ที่ 9 เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชสมบัติครบ
50 ปี เมื่อปี 2539
งานในครั้งนั้นคณะกรรมการฯ ได้รวบรวมศิลปกรรม จำนวน 1,090 ชิ้น จากศิลปิน
จากสถาบัน และนักสะสม ตั้งแต่เมื่อปีเริ่มรัชกาลตลอดจนถึงปีที่ 50 แห่งรัชสมัย
จัดเป็นนิทรรศการศิลปะครั้งที่ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่ง ที่มีการดำเนินงานตามหลักวิชา
จัดแสดงด้วยมาตรฐานพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ประกอบด้วยสิ่งพิมพ์อย่างประณีต ทั้งสูจิบัตรและสมุดภาพ
และมีการจัดทำทะเบียนศิลปะตลอด จนเก็บรักษาหลักฐานทั้งหมด เป็นระบบฐานข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการศึกษาของชาติต่อไป
"ความตั้งใจแรกของคณะกรรมการก็คือจัดงานได้เงิน แล้วก็ถวายแค่นั้นเอง ผมเป็นผู้ค้านเพราะเห็นว่ารายได้จากการจัดงานเป็นเงินไม่มาก
และมีความเห็นว่าน่าจะตั้งเป็นมูลนิธิดีกว่า ค่อยๆ หาเงินไป แล้วขยายเป็นหอศิลป
เลยตั้งเป้าไว้อย่างนี้"
ศิวะพรยืนยันว่า การสร้างเป็นหอศิลปเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับความต้องการของศิลปินต่างๆ
ด้วยเพราะในกทม.เองแทบจะไม่มีหอศิลป ที่เป็นกลางของรัฐบาลเองเลย
"ต้องยอมรับว่าตั้งแต่หอศิลป พีระศรี ซึ่งเป็นแห่งเดียวที่ยอมรับกันว่าเป็นหอศิลปร่วมสมัยถูกปิดไป
หอศิลปของกทม.ที่ผ่านการคัดเลือกแบบไปแล้วก็ยังไม่ได้ก่อสร้าง หอศิลปเจ้าฟ้าหรือหอศิลปมหาวิทยาลัยมีก็จริงแต่ก็ไม่ค่อยแอคทีฟ
และศิลปินก็ไม่กล้าที่จะมาแสดง อาจจะมีความรู้สึกกันว่าเป็นของมหาวิทยาลัย
ศิลปากร ดังนั้นคนที่ไม่ได้เรียน ไม่ได้จบที่นั่นก็อาจจะไม่กล้ามาใช้"
มูลนิธิหอศิลปะแห่งรัชกาล ที่ 9 ก็เลยเกิดขึ้นเมื่อปี 2540 โดยมีธารินทร์
นิมมานเหมินท์ เป็นประ-ธานกรรมการ มีชัย วีระไวทยะ เป็นกรรมการและเลขาธิการ
เริงชัย มะ-ระกานนท์ เป็นกรรมการและเหรัญญิก ส่วนศิวะพร เป็นผู้อำนวยการ
เมื่อครั้งรัฐบาลมีโครงการจะย้ายโรงงานยาสูบซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่หลายร้อยไร่บนถนนพระราม
4 ออกไปนั้น ศิวะพรแอบมีแผนการว่าจะทำเรื่องขอให้รัฐบาลยกในส่วนของตัวตึกสำนักงานใหญ่ซึ่งเป็นตึกเก่าๆ
แต่ควรอนุรักษ์ไว้ กับโกดัง 1-2 โกดังในบริเวณโรงงานให้กับมูลนิธิเพื่อใช้เป็นหอศิลป
ใช้เป็นที่เก็บงาน หรือทำเป็นเวิร์คช็อปให้กับบรรดาศิลปิน เพราะสถานที่ดังกล่าวมีทำเลที่ดี
มีบึงน้ำขนาดใหญ่ ใกล้ศูนย์ประชุมแห่ง ชาติสิริกิติ์ การคมนาคมก็สะดวก และกว้างขวางพอที่จะให้บริการประชาชนได้
ความหวังของศิวะพรต้องสะดุดลงเมื่อเกิดภาวะวิกฤติทางการเงินของรัฐบาล โครงการย้ายโรงงานยาสูบคงเป็นไปไม่ได้อีกนาน
และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในครั้งนี้ยังมีผลกระทบลามไหลไปยังบรรดาสปอนเซอร์ทั้งหลาย
ที่น่าจะมีส่วนช่วยสร้างหอศิลปให้เป็นจริงด้วย
"คือคนที่เคยสนับสนุน พวกแบงก์ ไฟแนนซ์ ที่เป็นแหล่งสปอนเซอร์ที่สำคัญก็เจ๊งกันเกือบหมด
ถ้าไม่เจ๊งก็สาหัส บริจาคเงินก็ไม่เหมือนเดิม เราเองก็ไม่มีระบบการช่วยสนับสนุนเป็นรายเดือนแน่นอนเหมือนต่างประเทศ
ซึ่งระบบนั้นความจริงผมก็ชอบ เพราะจะทำให้มูลนิธิเองมีความมั่นคงจริงๆ แล้วเงินช่วยเหลือรายเดือนเราอาจจะเก็บเดือนละไม่กี่ตังค์
แต่เมื่อมีจำนวนหลายรายก็เป็นก้อนใหญ่เหมือนกัน ก็เคยคุยเรื่องนี้กัน ส่วนใหญ่จะตอบมาว่า
ช่วยได้ แต่อย่าให้ผูกพันเป็นรายเดือนเลย"
แต่..ความฝันของศิวะพรในการสร้างมูลนิธิหอศิลปยังไม่หมดไป และยังถูกสนับสนุนต่อจากศิลปินหลายท่านที่ทราบ
และเห็นถึงความตั้งใจ โดยการบริจาครูปมาให้ขายบ้าง เอาไว้ให้จัดงานแสดงบ้างซึ่งแน่นอนมันไม่มากเพียงพอที่จะแปรเปลี่ยนเป็นเม็ดเงิน
เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการหาสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับการตั้งมูลนิธิหอศิลปะ
ร.9 แน่นอน
"อย่าว่าหาที่ใหม่เลย แม้แต่ค่าใช้จ่ายต่อเดือนในการบริหารที่นี่ เพื่อเลี้ยงตัวเองให้ได้ตอนนี้ก็แทบจะไม่เพียงพอ
ผมก็ให้เด็กทำเสื้อยืดขายบ้าง ทำหนังสือขายบ้างเดือนละหมื่น 2 หมื่นพอจ่ายเงินเดือน
อย่างอื่นไม่รู้จะทำอะไร คิดไม่ออก"
ปัจจุบัน มูลนิธิศิลปะร.9 มีสถานที่ชั่วคราวอยู่ที่ชั้นล่างของอาคาร สินธร
ถนนวิทยุ โดยได้รับอนุ-เคราะห์ลดค่าเช่าให้เป็นพิเศษจากสำนักงานทรัพย์สินฯ
ในห้องเล็กๆ พื้นที่ประมาณ 80 ตารางเมตรนั้น จะมีผลงานของศิลปินต่างๆ ที่มาบริจาคไว้ผลัดเปลี่ยนกันมาแสดงส่วน
ที่เหลืออีกประมาณ 100 กว่าภาพ ถูกเอาไปฝากเก็บเอาไว้ที่ห้องเก็บใบหุ้นของตลาดหลักทรัพย์ฯ
ซึ่งอยู่บนชั้น 2 ของอาคารสินธร
"ผมกำลังท้อ คิดไปคิดมาก็ปิ๊งเลย เราจะทำหอศิลปในไซเบอร์ สเปซ ที่จริงแล้วมันกลับกันนะเพราะที่อื่นเขาจะมีหอศิลปก่อน
แล้วค่อยทำเว็บไซต์ แต่ของเรากลับทำเว็บไซต์ก่อน รายได้หลักของเราจะมาจากตรงจุดนี้ล่ะ"
ศิวะพรต้องการให้เว็บไซต์นี้เป็นศูนย์กลางทางด้านข้อมูลของศิลปะทั้งหมด
ไม่ว่าจะเป็นงานส่วนตัว งานศิลปะในองค์กร และแกลลอรี่ต่างๆ หากหน่วยงานใดหรือใครทำเป็นข้อมูลไว้แล้วมีเว็บไซต์ของตนเองแล้ว
ก็อาจจะขอเชื่อมต่อข้อมูลกัน แต่เมื่อส่วนใหญ่องค์กรต่างๆ และศิลปินต่างๆ
ในเมืองไทยไม่มีการ ทำข้อมูลเก็บไว้ ซึ่งตรงนี้คือจุดที่จะหารายได้ โดยเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิจะพยายามติดต่อเข้าไปอธิบายรายละเอียดในสิ่งที่กำลังทำ
"พูดง่ายๆ ว่า ก่อนอื่นเราต้องไปเชียร์ศิลปิน เราหวังว่าให้ศิลปินทุกคนได้ทำเว็บไซต์เป็นของตัวเองด้วย
เขาจะได้แสดงงานในเว็บไซต์แล้วเราจะขอดึงงานเขามารวมไว้ที่นี่ เขาจะอัพเดทงานของเขาไว้เสมอ
หรือถ้าเขาจะให้คนอื่นทำเราก็ยินดี แต่ถ้าไม่มีใครทำเราก็จะทำให้คิดราคาแค่
4,500 บาท เท่านั้น ราคากันเอง เงินไม่มีเอาผลงานมาให้แทนก็ได้" ศิวะพรเชิญชวน
ทุกวันนี้เจ้าหน้าที่ประมาณ 10 คนของมูลนิธิฯ ก็เลยกำลังทำงานเต็มมือ เพราะกำลังเตรียมเก็บข้อมูลรายละเอียดต่างๆ
เข้าคอมพิวเตอร์ เช่นในเรื่องรายละเอียดของหอศิลปต่างๆ ในกทม. ประวัติของศิลปิน
ผลงานต่างๆ ปฏิทินงานศิลปะที่กำลัง จัดแสดง และงานในเดือนต่อไป งานศิลปะสำหรับเด็ก
และข่าวคราวสังคม ศิลปินทั่วๆ ไป รวมทั้งมีภาพเป็นหมื่นๆ ภาพของศิลปินที่สแกนเก็บไว้
แต่ยังไม่ได้จัดเก็บเป็นระบบ
ซึ่งข้อมูลบางส่วนนั้นเปิดดูได้แล้วใน www.rama9art.org ส่วนศิลปินที่ตกลงให้ทางมูลนิธิทำเว็บไซต์
ให้แล้วนั้นขณะนี้เริ่มจาก กันยา เจริญศุภกุล และ วิโชค มุกดามณี
ดังนั้นรายได้หลักของมูลนิธิต่อไปนอกจากการรับทำเว็บไซต์ให้กับศิลปิน และองค์กรต่างๆ
แล้ว ก็คือจะให้ศิลปินมาฝากผลงานขาย มูลนิธิฯ ก็จะมีรายได้เป็นค่าคอมมิช
ชั่น ซึ่งเวลานี้คงเป็นเรื่องยากที่จะขาย งานได้ แต่ก็หวังกันไว้ว่าเมื่อระบบ
ของเว็บไซต์พัฒนาขึ้น มีข้อมูลมากขึ้นชาวต่างชาติเปิดเจอก็อาจจะเข้ามาเป็นลูกค้าสำคัญที่สั่งซื้อเช่นกัน
ความหวังสุดท้ายก็คือเรื่อง
สปอนเซอร์ที่คงจะเข้ามาช่วยได้อีกครั้งยามเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนยุคฟองสบู่แตก
"ตอนนี้ผมเลยขอทำเรื่องนี้ไปก่อน เพราะอย่างน้อยมันก็เป็นงานสำคัญและทำได้เลย
ส่วนเรื่องการสร้าง หอศิลปจริงๆ เป็นเรื่องของอนาคตแล้ว เดิมผมอาจคิดใหญ่ไป
ทำได้แค่นี้ก็แค่นี้ ได้ไม่ได้ยังไม่รู้แต่เรื่องนี้ผมจะต้องทำ หรือแม้แต่จะมีหอศิลปเรื่องนี้ก็ต้องทำอยู่ดี
ก็คงอยู่รอดน่า ต้องอยู่รอดน่า" ศิวะพรพูดแบบปลอบ ใจตนเองและทีมงานที่กำลังขะมัก
เขม้นทำงาน
ในความเป็นจริงแล้วเขาได้คิดว่าการสร้างวัตถุเช่นหอศิลปจริงๆ ไม่สำคัญ
มีระบบข้อมูลที่ดีให้ผู้คนสามารถเข้าถึงได้อย่างกว้างขวางทั่วโลก เช่น หอศิลปในอินเตอร์เน็ต
"ผมต้องการช็อกฝรั่งด้วยว่า เมืองไทยเรามีศิลปะร่วมสมัยเยอะมาก ไม่ใช่มีแต่วัดอย่างเดียว
ยิ่งเรารวบรวมผลงานของศิลปินมากแค่ไหน เราก็ยิ่งยิ่งใหญ่มาก" ศิวะพรทิ้งท้าย
ก่อนที่จะลาจาก "ผู้จัดการ" ไปเมื่อประมาณ 18.30 น เพื่อร่วมประชุมอีกงานหนึ่งในวันนั้น