6 สิงหาคม 2542 คือวันเปิดโครงการ "Movie Walk" ที่ได้ พัฒนาพื้นที่ชั้น 6
และ 7 สยามดิสคัฟเวอรีด้วยแนวความคิดใหม่ ที่นอกจากจะเน้นเรื่องรูปแบบและประสานสินค้าแล้ว
ยังคำนึงถึงขนาด สภาพและจำนวนของร้านค้า และสินค้าที่อยู่ในพื้นที่ นอกจากนี้
ยังเน้นการสร้างบรรยากาศให้สอดคล้อง และกลมกลืน ไปกับอารมณ์และความรู้สึกของผู้มาใช้บริการที่เป็นลูกค้ากลุ่มที่มาใช้บริการโรงภาพยนตร์
ไม่ว่าจะเป็นการตกแต่งร้านค้า การตกแต่งสถานที่และทางเดิน
"เราไม่คิดว่าเป็นเจ้าแรกของความคิดนี้ แต่เป็นแนวความคิดของเราและเป็นของใหม่
โดยต้นแบบการดำเนินการลักษณะนี้ต้องระดมเอาทรัพยากรที่มีอยู่มาสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์
แนวความคิดของเรามองว่าธุรกิจค้าปลีกจากอดีตมีทั้งความสำเร็จและล้มเหลว และเกิดจากอะไรถึงเป็นเช่นนั้นและมีจุดเด่นและจุดด้อยอยู่ตรงไหน"
ชาญศักดิ์ ศิริวัฒนาชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฟกัส อินโนเวชั่น จำกัด
ในฐานะผู้บริหารโครงการ Movie Walk กล่าว
กลยุทธ์ Movie Walk นำเอาความต้องการชีวิตประจำวันของคนมา ประยุกต์เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการ
เนื่องจากเล็งเห็นว่าชีวิตคนเมืองกรุงหลักๆ แล้วจะออกจากบ้านมี 2 ประ-เด็น
เพื่อจับจ่ายซื้อของและความบันเทิง เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัย 4 "แล้วสถานที่ไหนที่คนกรุงเทพฯ
ไปแล้วได้ทั้งสองอย่าง ดังนั้นเราจึงนำเอาความคิดของคนมารวมกันที่ Movie
Walk สำหรับผู้บริโภคทั้งหลายนำมาผสมผสานเข้าไว้ด้วยกัน คือ มีธุรกิจค้าปลีกรวมกับธุรกิจบันเทิง
เราเรียก Movie Walk ว่า Entertain Retail"
โครงการดังกล่าว ใช้เม็ดเงินประมาณ 100 ล้านบาท โดยชาญศักดิ์ และพรรคพวกเริ่มศึกษา
โครงการเมื่อประมาณ 2 ปีก่อน โดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากกลุ่มผู้บริหารค่ายหนังยักษ์ใหญ่
EGV ซึ่งแนวความคิด Movie Walk นำเอารูป แบบธุรกิจค้าปลีกที่มีชนิดของสินค้า
และร้านค้าที่สามารถสอดคล้องและไปกันได้กับบรรยากาศของโรงภาพยนตร์ โดยได้นำแนวคิดของ
"City Walk" กลุ่มร้านค้าด้านหน้า Universal Studio ในอเมริกามาเป็นต้นแบบในการพัฒนาปรับปรุงในพื้นที่ต่อเนื่องกับโรงภาพยนตร์
นอกจากจะช่วยสร้างสีสันและบรรยากาศซึ่งกันและกันแล้ว ยังก่อให้เกิดธุรกิจค้าปลีกในแนวใหม่ซึ่งเป็นเรื่องของการจัดรูปแบบและวางแนวสินค้าเพื่อกลุ่ม
คนรุ่นใหม่
"คนออกมาเพื่อพักผ่อน ต้อง การความสุข ความบันเทิง ซึ่งเป็นสิ่งที่คนขาดสิ่งเหล่านี้ไม่ได้
ถ้าเรานำสถานที่แห่งหนึ่งที่เป็นแหล่งรวมศูนย์ ที่ได้ทั้งอารมณ์ของการจับจ่ายและอารมณ์ความบันเทิง
น่าจะเป็นทางเลือกใหม่เพื่อใช้เวลาสำหรับความสุขของตัวเอง"
ตำนานใหม่ในการนำธุรกิจค้าปลีกมารวมไว้กับความบันเทิง ถ้ามองในปัจจุบันแล้วยังไม่มีให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมส่วนใหญ่มีเฉพาะด้านนามธรรม
เช่น เอนเตอร์เทน
เมนต์ คอมเพล็กซ์ หรือ เอนเตอร์เทนเมนต์ ซิตี้ ซึ่งจริงๆ ยังไม่ชัดเจน เพราะทุกอย่างมีขอบเขตและเชื่อมด้วยทางเดินเท่านั้นซึ่งไม่เชื่อมทางด้านอารมณ์เข้าไป
แต่ Movie Walk เมื่อเดินเข้ามาผู้บริโภคจะได้ครบวงจร ซึ่งจะทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีความสุขที่อยากจะได้และชัดเจน
"เพราะโรงหนังเป็นตัวตอบโจทย์ความหมายของบันเทิงอย่างชัด เจนและง่ายที่สุด
เช่น ถ้าอยากได้ความบันเทิงก็ต้องไปดูหนัง แต่ถ้าไปดูหนังอย่างเดียวอาจจะไม่อิ่มพอและ
ถ้าหนังไม่สนุกก็ไม่สามารถตอบคำถามของโจทย์ได้ว่านี่คือความบันเทิง แต่เป็นการ
"ฆ่าเวลา" เท่านั้นเอง"
เป้าหมายของ Movie Walk คือ อนาคตอีกประมาณ 5-6 ปีข้างหน้าซึ่งถึงตรงนั้นความคุ้มค่าทั้งรายได้และความนิยมจึงจะเห็นเป็นรูปเป็น
ร่าง แต่ปัจจุบันความหวังโดยเฉพาะด้านผลกำไรยังไม่มี แต่ที่จะได้ก็คือความแปลกใหม่ที่จะเย้ายวนให้คนเมืองกรุงเข้ามาสัมผัส
"เรามองเป็นแนวโน้มของอนาคตและมองเจาะลึกลงไปในอารมณ์และความรู้สึกของคน
ที่เชื่อว่าธุรกิจใดๆ ก็ตามที่สามารถตอบสนองอารมณ์ของคนได้ธุรกิจนั้นจะยั่งยืน"
ชาญศักดิ์ กล่าว
นั่นหมายความว่า Movie Walk กำลังดำเนินธุรกิจโดยใช้อารมณ์ ของคนในด้านความหลงหรือมายา
ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันคนส่วนใหญ่ ดำเนินชีวิต และอยู่กับความบันเทิง
ดังนั้น ถ้าธุรกิจไหนหากินกับอารมณ์นี้แล้วธุรกิจนั้นจะยั่งยืน "ซึ่ง Movie
Walk กำลังสร้างตัวและหากินกับ ความหลง"
ความคาดหวังดังกล่าว เกิดจากแรงผลักดันในอเมริกา ถึงแม้ว่าขณะนี้ธุรกิจดังกล่าวที่นำเอาค้าปลีกมารวมกับบันเทิงจะเพิ่งเห็นเด่นชัดแค่ในนครชิคาโก
ที่นำเอาลักษณะความเป็นดิสนีย์แลนด์ มารวมกับธุรกิจค้าปลีก และที่ซานฟรานซิสโก
เป็นศูนย์การค้าแห่งใหม่ของ SONY ซึ่งมองกันว่าเป็น เอนเตอร์เทนเมนต์ มอลล์
อีกทั้งนักวิเคราะห์ในอเมริกาคาดการณ์ว่าแนวโน้มธุรกิจค้าปลีกจะ ไม่ใช่ค้าปลีกอย่างเดียว
หรือธุรกิจบันเทิงก็จะไม่ใช่เรื่องบันเทิงอย่างเดียว แต่จะเป็นธุรกิจที่ผสมผสานกันระหว่างธุรกิจทั้งสอง
และถ้าประสบความสำเร็จแล้วภายใน 5 ปี ธุรกิจ Entertain Retail จะมีมูลค่าตลาดสูงถึง
9 พันล้านดอลลาร์เฉพาะในอเมริกา ตัวเลขนี้สามารถตอบโจทย์พฤติกรรม ของคนยุคไร้พรมแดนได้ว่าพวกเขาต้องการอะไร
"ดังนั้นเราเชื่อมั่นในธุรกิจนี้ว่าคุ้มค่า เพราะความต้องการของคนไทยด้านนี้มีสูงและต่อเนื่อง
และหัวใจของ Movie Walk คือ การสร้างความรู้สึกของคนที่ได้เข้ามาสัมผัส"
ชาญศักดิ์กล่าว