ฟินันซ่าเริ่มผงาด ดึงเม็ดเงินนอกมาตั้งกองทุนใหม่


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

ชื่อของบริษัท ฟินันซ่า ไม่ได้เป็นที่คุ้นเคยในแวดวงตลาดทุนไทยในช่วงก่อนเศรษฐกิจล่มสลายสักเท่าใด เพราะเป็นบริษัทบริหารเงินลงทุนเล็กๆ มีการจัดตั้งกองทุนขึ้น 2 กองเพื่อลงทุนในเวียดนามและในภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเศรษฐกิจเริ่มผงกหัวขึ้นมานี้ ปรากฏว่าบริษัทได้รับความสำเร็จอย่างยิ่งจากการตัดสินใจลงทุนหุ้น TISCO และคาดว่าจะมีความสำเร็จจากหุ้นอีกหลายตัวที่ได้ลงทุนไว้ในช่วงปีที่ผ่านมา ความสำเร็จที่ชัดเจนอีกอย่างคือบริษัท สามารถดึงเม็ดเงินต่างประเทศเข้ามาตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในไทยได้มากขึ้น แต่เดิมนั้นฟินันซ่าเน้นเรื่องการลงทุนโดยตรงหรือ direct investment ซึ่งตอนนี้ก็มีการบริหารกองทุนอยู่ 2 กองและเพิ่งจัดตั้งใหม่อีก 1 กอง

กองแรกคือ The Vietnam Frontier Fund หรือ VFF ก่อตั้งในปี 1994 กองทุนนี้ลงทุนในกิจการต่างๆ ในเวียดนาม ได้แก่ ซีเมนต์ วัสดุก่อสร้าง อย่างกระเบื้องเซรามิกสำหรับมุงหลังคา รถสามล้อ เหล็กเพื่อการก่อสร้าง โรงเรียนและการพัฒนาชุมชน โรงพยาบาล โครงการลงทุนส่วนมากจะเป็นพวกโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นเรื่องจำเป็นในการพัฒนา ประเทศในช่วงต้น อย่างเหล็ก ซีเมนต์ และการสาธารณสุข (health care) เป็นต้น

เมื่อเร็วๆ นี้ฟินันซ่าได้ทำการศึกษาเรื่องการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ ในเวียดนาม และมีการเชิญกลุ่มคนเวียดนามจำนวน 22 คนมาเยี่ยมไทย ประมาณ 2 สัปดาห์ครึ่ง เป็นกลุ่ม โบรกเกอร์ในเวียดนามและผู้บริหารกิจการที่มีขีดความสามารถ (potential) ที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เวียดนามที่กำลังจะจัดตั้งขึ้น ฟินันซ่าเชิญคนเหล่านี้มาศึกษาเรียนรู้ประสบการณ์การจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ไทย ร่วมกับทางตลาดหลัก ทรัพย์ไทยที่เชิญพวกเขามาเยี่ยมชมกิจการด้วย ยูจีน เอส เดวิส กรรมการผู้จัดการ ฟินันซ่า กล่าวในการให้สัม-ภาษณ์แก่ "ผู้จัดการ" ว่า "เวียดนาม ฟันด์ ไม่ได้เป็นกองทุนที่ popular มากนัก เวียดนามเองก็ไม่ใช่ประเทศที่มีผู้นิยมลงทุนกันมากนักเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศในภูมิภาคนี้ คนสนใจอินโดฯ ไทย เกาหลี มากกว่า แต่ตอนที่เราทำกองทุนนี้คือปี 1994 ซึ่งสิ่งต่างๆ กำลังเปลี่ยนแปลงเราจึง ตั้งออฟฟิศในเวียดนาม และมีคนที่นั่นทำงานอยู่ประมาณ 10 คน"

ผลตอบแทนของเวียดนามฟันด์ ตอนนี้มี NAV อยู่ประมาณ 7.80 เหรียญขณะที่หน่วยลงทุนมีมูลค่าหน่วยละ 10 เหรียญ หรือ NAV ติดลบอยู่ประมาณ 20% คือยังเป็น negative return กองทุนนี้จดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์เมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ทำการซื้อขายแบบ OTC หรือในหมู่โบรกเกอร์เท่านั้น ไม่ได้เป็นกองทุนที่มีการซื้อขายแอกทีฟนัก แต่ก็ถือว่าเทรดกันมากที่สุดในบรรดากองทุนที่มาลงทุนในเวียดนาม ทั้งหลาย คือเทรดอาทิตย์ละครั้งหรือสองอาทิตย์ครั้ง (ดูกราฟ NAV ประกอบ)

VFF ให้น้ำหนักการลงทุนมาก ที่สุดในกิจการเหมืองแร่ในช่วงตั้งกองทุน และซีเมนต์วัสดุก่อสร้างแต่ หลังจากปี 1997 ก็มีการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักการลงทุน โดยช่วงหลังๆ นี้ได้หันไปให้น้ำหนักการลงทุนในกิจการ ที่มีความสามารถจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เวียดนาม โดยเฉพาะกิจการท้องถิ่น

มูลค่าของกองทุน VFF ตอนนี้ประมาณ 32 ล้านเหรียญ

กองทุนแห่งที่สองที่ฟินันซ่าบริหารคือ The Southeast Asia Frontier Fund ซึ่งแต่เดิมเป็นการลงทุนที่ลงทุนในทั่วภูมิภาคเอเชีย(ตั้งเมื่อ ปี 1996) ครั้นในเดือนกรกฎาคม 1997 ที่วิกฤติเศรษฐกิจในเอเชียปรากฏตัวชัดเจน กองทุนนี้ก็หยุดการลงทุน และในเดือนมีนาคม 1998 ได้เปลี่ยนนโยบายการลงทุนมาลงเฉพาะกิจการ ในประเทศไทยเท่านั้น เป็นกิจการทั้งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย และไม่ได้จดทะเบียนฯ แต่กิจการเดิม ที่มีอนาคตแต่ไม่ได้อยู่ในไทยก็คงดำเนินการลงทุนต่อไปบางแห่ง ซึ่งกองทุนนี้ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น Siam Investment Fund I หรือ SIF I SIF I เริ่มลงทุนใหม่อีกครั้งเมื่อวิกฤติเศรษฐกิจในไทยตกไปถึงจุด ต่ำสุด (bottom) โดยมีการลงทุนใน 4 กิจการ คือลงทุนซื้อหุ้น 14% ใน บริษัท เนชั่น มัลติ มีเดีย กรุ๊ป (NMG) ซึ่งได้มีตัวแทนเข้าไปนั่งในกรรมการบริษัทด้วย นอกจากนี้ก็มีการลงทุนในซี-เอ็ด 20% ซึ่งมร.เดวิสกล่าวว่าเขาชอบทีมบริหารของซี-เอ็ด ซึ่งมีความซื่อสัตย์และมุ่งมั่นในกิจการ เป็นอย่างยิ่ง มร.เดวิสกล่าวว่า "โดยเฉพาะในยามนี้ เราต้องให้ความสำคัญในปัจจัยเรื่องบุคลากรเป็นด้านหลัก เพราะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้กิจการก้าวล่วงผ่านวิกฤติไปได้ด้วย" ตัวเขาและวรสิทธิ์ โภคาชัยพัฒน์-กรรมการบริหารของฟินันซ่า ได้ร่วมในกรรมการบริษัท ซี-เอ็ด นาม สกุลของวรสิทธิ์ดูเป็นที่คุ้นหูในกิจการ ด้านกฎหมายและที่ปรึกษา ซึ่งจริงๆ แล้วนั่นเป็นบิดาของเขา(สุนทร โภคาชัยพัฒน์) ตัวเขานั้นเดิมเป็นนักวิเคราะห์ที่ TISCO มาก่อน แล้วตัด สินใจมาเปิดบริษัทที่ปรึกษาการลงทุน ฟินันซ่า ร่วมกับมร.เดวิส ในปี 1992

มร.เดวิสพูดถึงวรสิทธิ์ว่า"คนบอกว่าวรสิทธิ์บ้า เพราะตอนนั้นใครๆ ก็ล้วนแต่อยู่ในธุรกิจหลักทรัพย์ในบริษัทไฟแนนซ์กันทั้งนั้น" แต่ตอนนี้ปรากฏว่ากิจการบริหารกองทุนของเขา กลับรุ่งเรือง

วรสิทธิ์กล่าวว่า เขาเป็นคนที่ชอบด้านการลงทุน สมัยอยู่ทิสโก้นั้นเขาทำด้านการวิเคราะห์หลักทรัพย์เขา มองว่าการให้คำปรึกษานั้นเป็นเสมือนการชกกระสอบทรายไม่ได้ขึ้นชกจริงๆ เพราะว่าคนวิเคราะห์ไม่มีความ เสี่ยง หรือความเสี่ยงน้อยกว่า แต่เมื่อมาลงทุนเองนั้น เขาจะต้องเข้าใจบริษัทมากขึ้นเพราะว่าเขามีความเสี่ยงสูง มีเม็ดเงินที่เข้าไปลงทุนด้วยจำนวนมาก

"ผมมองว่าตอนทำวิเคราะห์ก็สนุกดี แต่จริงๆ แล้วรู้แค่งูๆ ปลาๆ คน ที่เขียนวิเคราะห์นั้นก็เป็นคนที่ฉลาด แต่ทว่าไม่ได้ลงสนามจริง ไม่ได้รู้จริง"

ส่วนที่ธนาคารเอบีเอ็น แอม โร เข้ามาถือหุ้น 31% ในฟินันซ่านั้น จริงๆ แล้วมันเป็นมรดกมาจากกิจการ Hoare Govett Asia ที่ธนาคารฯ ซื้อไปในช่วงปี 1994 ทั้งนี้ หุ้นอีก 60% กว่าที่เหลือของฟินันซ่าถือโดยกลุ่มผู้บริหารบริษัท

นอกจากเนชั่นและซี-เอ็ดแล้ว SIF I ก็มีการลงทุนในหุ้น TISCO ในส่วนที่เป็นการเพิ่มทุนหุ้นบุริมสิทธิ ซึ่ง มร.เดวิสได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ บริษัทด้วย กิจการที่ 4 ที่ลงทุนคือบริษัท Asia Pacific Resources ซึ่งได้รับสัมปทานทำเหมืองโปแตชในจังหวัดอุดรธานี โดย 90% ของกิจการ นี้ถือหุ้นโดยบริษัทแคนาดาชื่อ APR และอีก 10% เป็นของกระทรวงการคลัง นี่เป็นเหมืองโปแตชที่จะใหญ่ที่สุดในเอเชีย

กล่าวได้ว่าทั้ง 4 กิจการเป็นการ ลงทุนใหม่ของ SIF I แต่ก่อนหน้านั้นก็มีการลงทุนในกิจการอื่นๆ มาแล้วซึ่ง ก็มีส่วนที่ไม่ประสบความสำเร็จและต้องขาย(liquidate)เงินลงทุนทิ้งไป เช่น กิจการบริษัทพิซซ่าในไทยชื่อ Monterey Pizza ซึ่งทำพิซซ่าชื่อ Domino และ SIF I ก็มี convertible loan อยู่

แต่กิจการเก่าที่ยังลงทุนต่อเนื่องต่อไปได้แก่ บริษัท Acron Pla-stic Industry Co.,Ltd., บริษัท Pato Chemical Industry PLC. และบริษัท Northbridge Communities Ltd.

มูลค่าสินทรัพย์สุทธิหรือ NAV ของ SIF I เมื่อสิ้นเดือนมิถุนายน 1999 อยู่ที่หน่วยละ 16.10 เหรียญ (ดูกราฟ ราคาหน่วยลงทุน SIF I) ส่วนมูลค่ากองทุน SIF I ตอนนี้อยู่ที่ 41 ล้านเหรียญเทียบกับตอนเริ่มตั้งนั้นอยู่ที่ 25 ล้านเหรียญ

SIF I ถือว่าเป็นกองเล็ก ดังนั้นมูลค่าการลงทุนในโครงการหนึ่งๆ จึงจำกัดอยู่ระหว่าง 2-5 ล้านเหรียญเท่านั้น และตอนนี้ก็ยังเป็นกองทุนปิด อยู่ ผู้บริหารทั้งสองมองว่าอาจจะมีการเปลี่ยนเป็นกองทุนเปิด เพื่อสร้างพอร์ตโฟลิโอให้ดีขึ้น SIF I จดทะเบียน ที่ตลาดลอนดอน ก็พอจะมีการเทรดบ้างประมาณ 10%-20% ในช่วงที่มีการ release ข่าวเรื่องกำไรหุ้น TISCO ออกไป ว่าไปแล้ว ผลกำไรจาก TIS-CO ที่เป็นกอบเป็นกำครั้งนี้ (โปรด ดูรายละเอียดข่าวได้จาก "ผู้จัดการ" ฉบับเดือนกรกฎาคม 2542 หน้า 128) ในกลุ่มผู้ถือหน่วยลงทุน SIF I ยังไม่ได้มีการปรึกษากัน จนกว่าจะถึงการประชุมบอร์ดครั้งต่อไป วรสิทธิ์กล่าวว่า "นี่ถือเป็นปัญหาใหม่ว่าเราจะทำอย่างไรกับกำไรที่ได้ อาจจะขายและจ่ายเงินคืนผู้ถือหน่วย หรืออย่างไรก็ตามแล้วแต่จะมีการเสนอและตกลง กันในที่ประชุม"

มร.เดวิสกล่าวว่า "เราต้องจ่าย ผลตอบแทน 12% ให้แก่ผู้ถือหน่วย หรือประมาณ 50% ของราคาหน่วยใน ตอนนี้ ซึ่งคนก็น่าจะซื้อหน่วยลงทุนนี้ เพราะจะได้เงินปันผลประมาณ 40%-50%"

กองทุนที่ 3 เป็นกองทุนใหม่ที่ฟินันซ่าบริหารในภูมิภาคนี้ (เริ่มลงทุนในช่วงปลายปี ตอนนี้อยู่ระหว่างการระดมเงินทุน) โดยร่วมมือกับแคปปิตอล ซี (Capital Z) ลงทุนในสัด ส่วนเท่าๆ กันเพื่อจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ขึ้นใหม่ชื่อ ฟินันซ่า แคป-

ปิตอล (Finansa Capital) กิจกรรมแรกสุดของบริษัทนี้คือการจัดตั้งกองทุนโดยใช้ชื่อว่า สยามอินเวสเมนท์ ฟันด์ II (Siam Investment Fund II หรือ SIF II) มูลค่า 75 ล้านเหรียญ ซึ่ง แคปปิตอล ซี จะลงทุนจำนวน 30 ล้าน เหรียญและธนาคาร เอบีเอ็น แอมโร จะมีส่วนร่วมด้วยในกลุ่มแรกที่เป็น core investor ซึ่งคาดว่าจะรวมได้ ประมาณ 50-60 ล้านเหรียญในช่วงที่เป็น first closing หลังจากนั้นจะไปทำโรดโชว์เพื่อระดมทุนอีกครั้งกับสถาบันการเงิน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 3-6 เดือน เป็น second closing กองทุน SIF II จะลงทุนในกิจการต่างๆ ในประเทศไทยซึ่งเป็นกิจการที่มีหลักทรัพย์มั่นคงและมีอนาคตทางธุรกิจที่ดี แต่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ขอบเขตการลงทุนของกองทุนนี้จะค่อนข้างกว้างกว่ากองทุน SIF I คือ นอกจากลงทุนซื้อสินทรัพย์แล้วยังสามารถลงทุนซื้อภาระหนี้ ที่มีเงื่อนไขแปลงเป็นหลักทรัพย์ได้ในอนาคต ซึ่งแหล่งที่จะซื้อก็คือลูกหนี้แบงก์ที่มีอยู่มากมายในเวลานี้ กองทุนนี้จึงทำตนเป็นเสมือน "ทางเลือกของเงินทุน" ใน ไทย (a source of solution capital) และเม็ดเงินที่จะลงทุนในโครงการหนึ่งๆ มีมูลค่าประมาณ 10-20 ล้านเหรียญ หรืออาจจะไปได้สูงถึง 50 ล้านเหรียญ

กองทุน SIF II เป็นกองทุนปิด ต้องลงทุนให้ได้ภายใน 5 ปี ซึ่งวรสิทธิ์มองว่าภายใน 2 ปีนี้เขาต้องลงทุนให้หมด หากเลย 2 ปีไปแล้ว เขาก็ไม่ทราบจะลงทุนอะไรดี เพราะถึงตอนนั้นตลาดคงจะปิดหมดแล้ว

วรสิทธิ์มองว่า "อาจกล่าวได้ว่ามีแต่ฟินันซ่ากับกลุ่ม AIA เท่านั้นที่เป็นกองทุนที่มีพื้นฐานอยู่ในประเทศไทย กองทุนที่เข้ามาลงทุนนอกจากเราทั้งสองกลุ่มแล้วก็เป็นพวก reg-ional fund ทั้งนั้น แต่เราเป็น on the ground"

ทั้งนี้วรสิทธิ์หมายถึงกองทุนจำพวก portfolio fund อย่าง Tem-pleton หรือพวก country fund ทั้งหลาย

อย่างไรก็ดี หากกล่าวถึงกลุ่ม ทุนต่างชาติที่เข้ามาซื้อกิจการสินทรัพย์ ในไทยนั้น ก็มีหลายระลอกแล้ว ยังจะมีสินทรัพย์อะไรที่เป็น cream ให้นักลงทุนเข้ามาซื้ออีกหรือไม่ วรสิทธิ์มองว่า "เรายัง bullish กับที่นี่อยู่ ที่เราสนใจคือพวก high growth อย่างพวก มีเดีย เอนเตอร์เตนเมนต์ อะไรที่เกี่ยวกับ tourism ส่วนพวก manu-facturer เราก็สนใจ แต่ต้องเป็น low cost manufacture จริงๆ และใครที่ไม่ได้เป็น market leader จริงๆ เราไม่สนใจ priority เรายังเป็นพวกที่จดทะเบียนในตลาดซึ่งเราจะซื้อผ่านผู้ถือหุ้น ติดต่อกับเจ้าของกิจการเอง เท่านั้น"

นอกจากนี้ ฟินันซ่ายังสนใจซื้อ operation มากกว่าที่จะซื้อ asset ซึ่งนี่ก็เป็นจุดที่ทำให้เขาต่างไปจาก นักลงทุนอย่างเลห์แมน โกลด์แมน ยีอี เป็นต้น "เราเน้นเรื่องแฟรนไชส์มาก (franchise value)" วรสิทธิ์พูดถึงประเภทกิจการที่อยู่ในความสนใจของเขา

กลุ่มแคปปิตอล ซี ดำเนินกิจการลงทุนและบริหารสินทรัพย์ในทั่วโลก มีสำนักงานใหญ่ในนิวยอร์ก สปอนเซอร์ใหญ่ของกลุ่มคือกิจการ Zurich Insurance มีบริษัทในเครือชื่อ แคปปิตอล ซี พาร์ทเนอร์ส จำกัด (Capital Z Partners Ltd.)ทำหน้าที่บริหารกองทุนที่ลงทุนในกองทุนต่างๆ ทั่วโลก (fund-of-funds)มูล ค่า 1.5 พันล้านเหรียญ และบริหารสินทรัพย์ด้วยการลงทุนโดยตรงอีก 3.3 พันล้านเหรียญ

นอกจากนี้กลุ่มฯ ยังเป็นผู้สนับสนุนในกิจการ แคปปิตอล ซี เอเชีย พาร์ทเนอร์ส, แอลพี (Capital Z Asia Partners,L.P.)ซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนโดยตรงในเอเชีย มีสำนักงานในฮ่องกง กลุ่มได้จัดตั้งพันธมิตรทั่วเอเชียเพื่อบริหารกองทุนที่ลงทุนในภูมิภาคนี้ เช่นการตั้ง Batavia Investment Management ซึ่งมีโครงการลงทุนโดยตรงในอินโดนีเซีย รวม ทั้งตั้ง ฟินันซ่า แคปปิตอล ด้วย

นับได้ว่าแคปปิตอล ซี เป็นกลุ่มทุนเม็ดเงินหนาที่รุกคืบเข้ามาในเอเชียเพื่อแสวงหาการลงทุนได้ในจังหวะเหมาะสม และการเข้ามาเป็นพันธมิตรกับฟินันซ่าก็เป็นการเพิ่มความเข้มแข็งในการลงทุนทางตรงของ กลุ่มนี้ด้วย

จริงๆ แล้ว แคปปิตอล ซี ได้รับการติดต่อเข้ามาเพื่อให้ไปลงทุนใน กิจการไฟแนนซ์แห่งหนึ่ง แต่ปรากฏว่าผู้บริหารแคปปิตอล ซี และฟินันซ่า เกิดคุยกันได้ดีจนเปลี่ยนมาเป็นส่งเม็ด เงินเข้ามาตั้งกองทุนให้ฟินันซ่าบริหารในที่สุด

เลือกลงทุนกิจการใด ต้องดูทีมผู้บริหาร

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การลงทุนของ SIF I ในหุ้น TISCO ประสบความสำเร็จสูงมากนั้น นอกจากการวิเคราะห์ตัวอุตสาหกรรมและกิจการนั้นๆ แล้ว สิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้บริหารหนุ่มของฟินันซ่าทั้งสองเห็นพ้องต้องกันคือปัจจัยเรื่องทีมผู้บริหารของกิจการ คือปัจจัยเรื่องคนนั่นเอง

มร.เดวิสให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก "เรามอง TISCO มานานปีกว่าแล้วและเราก็คิดว่านี่เป็นกิจการ ไฟแนนซ์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศนี้ แต่เราเพิ่งทำ due diligence และเริ่มซื้อเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประเด็นที่ผมเห็น TISCO ดีและมีความต่างไปจากไฟแนนซ์รายอื่นๆ คือ เรื่องการจัดการบริหารความเสี่ยง"

ระบบบริหารจัดการความเสี่ยง หรือ risk management ของ TISCO เป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้บริษัทหลุดพ้นจากความล่มจมอันเนื่องมาจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ TISCO มีระบบรายงานความเสี่ยงเสนอให้ผู้บริหารตรวจสอบพิจารณาทุกๆ วัน เพื่อดูว่าในแต่ละวันบริษัทมีความเสี่ยงอย่างไรบ้าง และมีความสามารถที่จะรับมือได้อย่างไร ระบบบริหารความเสี่ยงของ TISCO นี้เริ่มดำเนินมาได้ 2 ปีครึ่งแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ TISCO ได้ ขอให้ทางแบงเกอร์ทรัสต์ในนิวยอร์กฝึกอบรมให้และนำมาพัฒนาใช้ใน TISCO ด้วยตัวเอง

"TISCO เป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทที่ยังอยู่ในธุรกิจไฟแนนซ์อย่างแอกทีฟ และมีความสามารถในการบริหารความเสี่ยง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญมากในเวลานี้" มร.เดวิสกล่าว

นโยบายการลงทุนที่ผ่านมาของฟินันซ่าเน้นเรื่องผู้บริหาร วรสิทธิ์ กล่าวว่า "หลายๆ อย่างที่เราลงทุนไปสามารถแก้ไขได้ แต่หากมีผู้บริหารที่ไม่ดี ไม่ให้ความร่วมมือ หรือไม่มีความซื่อสัตย์ มันก็แก้ไขไม่ได้"

ก่อนที่ฟินันซ่าจะเข้าไปลงทุนนั้น วรสิทธิ์ต้องทำงานร่วมกับผู้บริหารเพื่อดูว่าทำได้ดีหรือไม่ เขามอง ว่าเมืองไทยยังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาเรื่องนี้อีกมาก ผู้บริหารต้องมีบทบาทหน้าที่ของตนผู้ถือหุ้นก็ต้องมี บางครั้งวรสิทธิ์เข้าไปสวมหมวกผู้ถือหุ้น บางครั้งก็สวมหมวกกรรมการและกรรมการก็ต้องดูในเรื่องนโยบาย ซึ่งเขาก็คงช่วยได้อยู่แล้ว อย่างเรื่อง TISCO อาจจะเป็นกรณีหนึ่ง ที่พอดีเขาก็มีความชำนาญในเรื่องของไฟแนนซ์อยู่แล้ว เขาก็เลยสามารถช่วยในเรื่องนี้ได้ ส่วน NATION นั่นแตกต่างออกไป เขาคงให้ความเห็นได้หรือ ช่วยในเรื่องการเงิน จะเห็นได้ว่า อิน-เวสเมนท์ที่ฟินันซ่ามีนั้น แทบจะไม่มีอะไรเลยที่ผู้บริหารฟินันซ่าไม่ได้เข้าไป ร่วมในบอร์ด

แนวทางที่วรสิทธิ์และฟินันซ่าใช้ในการลงทุนนั้น ผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องการลงทุนประเภทนี้จะทราบว่ามันคล้ายคลึงกับแนวทางการลงทุนของวอร์เรน บัฟเฟตต์-นักลงทุนคนที่สร้างความร่ำรวยขึ้นจากการเข้าร่วม ลงทุนและช่วยบริหารกิจการต่างๆ ใน สหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันเขาติดอันดับอภิมหาเศรษฐีโลก

แต่วรสิทธิ์บอกว่าแนวทางการ ลงทุนของเขามาจากประสบการณ์

"เรามองว่าผู้บริหารเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เมืองไทยนี่ยังต้องมีการพัฒนาเรื่องนี้อีกมาก ที่ผ่านมานี่บางคนก็ได้เรียนรู้เพิ่มขึ้น บางคนก็ไม่ได้เรียนรู้อะไร เมื่อก่อนนี้ผู้ถือหุ้น ทีมบริหาร และกรรมการบริษัทเป็นคนเดียวกันหมด การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี่คงเริ่มจากสถาบันการเงินก่อน เพราะสถาบันการเงินนี่มีหน่วยงานรัฐบาลเข้าไปอยู่มาก

เราใช้เวลากับผู้บริหารมากถ้า บริษัทใดที่เราคิดว่าทำงานด้วยกันไม่ได้หรือร่วมมือกันไม่ได้นี่เราคงไม่ลงทุน เพราะเรามองว่าเราเป็นพาร์ตเนอร์ ชิป หรือหุ้นส่วน หรือเป็น financial partner คือหุ้นส่วนทางการเงินเราไม่ได้เป็นแค่ investor เท่านั้น"

นอกจากนี้จุดมุ่งหมายอีกอย่างหนึ่งที่ฟินันซ่าเข้าร่วมบอร์ดในกิจการที่ไปลงทุนคือเพื่อป้องกัน down side risk ของกิจการนั้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.