Telecommuting การทำงานของบรรณาธิการพาร์ทไทม์


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

"การทำงานด้านข้อมูลข่าวสารไม่จำเป็นต้องนั่งประจำ OFFICE" วิรัตน์ แสงทองคำ บรรณา-ธิการอำนวยการ นิตยสารผู้จัดการ ฉบับที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้สรุปความคิดรวบยอดเอาไว้

เขาบอกว่า กองบรรณาธิการนิตยสารรายเดือนมีสตาฟฟ์ไม่เกิน 10 คน ซึ่งถือว่าจำนวนคนไม่มากทำ ให้ต้องมีกระบวนการบริหารในออฟ ฟิศยุ่งยาก โดยเฉพาะงาน per-sonal สาระสำคัญของงานนิตยสาร ก็คือ การค้นคิดประเด็น แสวงหาข้อมูล ประมวลข้อมูลและความคิด จบด้วยงานเขียนเรื่อง ซึ่งงานเหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องทำที่ OFFICE ทั้งหมด

วิรัตน์เล่าถึงประสบการณ์และกระบวนการทำงานของตนเองไว้อย่างน่าสนใจ

OFFICE - เขามาทำงานที่สำนักงานก็ต่อเมื่อมีการประชุมที่ต้องการพบปะพูดคุยกันและถกเถียง กัน ซึ่งในแต่ละเดือนมีไม่กี่ครั้งส่วน ที่เหลือสัปดาห์ละประมาณ 2-3 ครั้งในครึ่งวันเช้า ก็คือการรวบรวมข้อมูล พื้นฐานที่หาได้เฉพาะ OFFICE

"ผมหาข้อมูลจาก wire ser- vice ซึ่งราคาแพง บริษัทเป็นสมาชิก อยู่โดยไม่สามารถ online ไปที่บ้านได้ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลใหม่วันต่อวัน หรือข้อมูลย้อนหลัง ระบบข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็เป็นอีกหนึ่งที่ต้องตรวจสอบ รวมไปจนถึงระบบข้อมูลของผู้จัดการเอง ซึ่งเป็นระบบข้อมูลข่าวย้อนหลังที่ผมเป็นผู้วางระบบไว้เองหลายปีมาแล้ว" เขาแจงรายละเอียด

ส่วนใหญ่ข้อมูลเหล่านี้ เขาจะสืบค้นและคัดเลือกอยู่ในรูปดิจิตอล จากนั้นก็ส่งเป็น E-mail ให้ตัวเองเพื่อไปเปิดอ่านที่บ้านได้

บ้าน - ห้องทำงานที่บ้านเป็น ที่สามารถติดต่อกับ OFFICE อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วย E-mail ไม่ว่าจะเป็นการรับส่งข้อมูล การติดต่อ การรับส่งต้นฉบับและการแก้ไขต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับบรรณาธิการ เขาทำงานทั้งหมดนี้ที่บ้านได้

รวมทั้งการติดต่อพูดคุย ส่งข้อมูลทางโทรศัพท์กับแหล่งข่าว รวมไปจนถึงการนัดหมาย เพื่อไปสนทนา นอกสถานที่ ทั้งนี้ด้วยมีบริการโทร-ศัพท์เคลื่อนที่ก็ยังติดต่อกันได้ตลอดเวลาที่จำเป็น

นอกจากนี้ ที่บ้านยังสามารถหาข้อมูลได้จากอินเตอร์เน็ต หนังสือพิมพ์ วิทยุ ทีวี "ทุกวันนี้การติดตามกระแสข่าว ความเคลื่อนไหวของธุรกิจ ง่ายกว่าสมัยก่อนมากเหลือเกิน" เขาบอกว่า นี่คือสิ่งแวดล้อมสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไปของวิชาชีพสื่อมวลชน ไทย

"งานหาข้อมูลพื้นๆ แบบเก่าจำเป็นน้อยลงอย่างมาก ในขณะที่งานความคิด การประมวลข้อมูล มีความจำเป็นและยุ่งยากมากขึ้น ผมว่างานนักข่าวยุคใหม่ ไม่ใช่นั่งเฝ้าแหล่งข่าวอย่างเดียว งานที่สำคัญก็คือการพัฒนาความรู้ ความคิดในการประมวล และจัดระบบข้อมูล" เขาเน้น

ยิ่งกว่านั้น เขายังบอกว่า เป็นสิ่งน่าเหลือเชื่อ ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจไทยมีมากมายในอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะข้อมูลธุรกิจต่างประเทศที่เกี่ยว กับสังคมธุรกิจไทย "ผมสามารถค้นข้อมูลธุรกิจไทยได้ในอินเตอร์เน็ต

อย่างง่ายๆ และมากกว่าข้อมูลที่หาได้ในเมืองไทยเอง" เขาสรุป

มีบริการข้อมูล ที่เสียค่าสมา-ชิกจำนวนหนึ่งในอินเตอร์เน็ต ที่เขาจำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิกประจำ อาทิ wallstreet jounal และ hoovers อีกส่วนอาจจะต้องจ่ายเงินเพื่อ ซื้อข้อมูลเป็นคราวๆ ไปก็มี ในการสนทนา หรือสัมภาษณ์แหล่งข่าวนอกสถานที่ เพื่อรวบรวมความคิดและข้อมูลเพื่อนิตยสารรายเดือน สำหรับเขา จำเป็นต้องมี อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง รวมไปถึงการค้นข้อมูลอื่นๆ ประกอบจากภายนอกด้วย

"หากใครทำงาน OFFICE มากๆ นั้นสิ มีปัญหา" วิรัตน์ แสงทองคำ บรรณาธิการผู้คร่ำหวอดในวงการข่าวธุรกิจให้ความเห็นสำหรับคนที่มีอาชีพนักข่าว

เขาให้ความเห็นอีกว่า บรร-ยากาศการทำงานที่ OFFICE มักสร้างสังคมขึ้นแบบหนึ่ง ที่บางครั้งไม่มีส่วนโดยตรงต่อการสร้างสรรค์งานเลย ไม่ว่าจะเป็นการแสดง การรักษาอำนาจในการจัดการ การวางตัวให้สมกับตำแหน่ง และการไต่เต้า ศักดิ์ศรีและสังคมของมนุษย์ทำงาน อาจทำให้บางสิ่งบางอย่าง มีความสำคัญมากกว่างาน โดยให้ความสำคัญกับรูปธรรมบางอย่างจับต้องได้มากกว่าความสำเร็จในการทำงาน เช่น ขนาดของโต๊ะทำงาน คอมพิว เตอร์ที่ใช้ รวมไปจนถึงห้องทำงาน หรือรถประจำตำแหน่ง

โดยเฉพาะองค์กรธุรกิจ ที่มีระบบการจัดการไม่มีประสิทธิภาพ ความไม่มีมาตรฐานบรรยากาศใน OFFICE จะสร้างปัญหา มากกว่าจะเอื้อประโยชน์ต่อการทำงาน

การทำนิตยสารธุรกิจราย เดือน จะเน้นการค้นคิด การทำงานความคิดอย่างเป็นโครงสร้างและระบบ ในกระบวนการแสวงหา จัดระบบข้อมูล และทุกคนมีเป้าหมายในการทำงานแต่ละเดือนชัด เจน วิรัตน์ แสงทองคำ เคยเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการนิตยสารผู้จัดการ (ปี 2529-2530) บรรณาธิการ หนังสือผู้จัดการรายสัปดาห์ (ปี 2530-2533) หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน (ปี 2533-2537) และกรรมการผู้จัดการ บริษัทบริการข้อมูลผู้จัดการ (ปี 2538-2540 เขามีบทบาทสำคัญในการพัฒนา ระบบงานของกองบรรณาธิการโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ การจัดหน้าอัตโนมัติทั้งฉบับของหนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรกของเมืองไทย ต้นคิดการพิมพ์หนังสือพิมพ์ผ่านดาวเทียมไปยังหัวเมืองใหญ่ ตลอดจนการพัฒนาระบบข้อมูล เพื่อเพิ่มประ- สิทธิภาพในการคิดและการทำงานของ กองบรรณาธิการ เขาเพิ่งมารับหน้าที่ ในการพัฒนานิตยสารรายเดือน "ผู้จัดการ" เมื่อ 1 เดือนเศษๆ ที่ผ่านมา

วันนี้เวลาที่เหลือของเขา ก็คือการขับรถรับ - ส่งลูกชาย 2 คนจากบ้าน ไป - กลับ โรงเรียน ทั้งตอนเช้าและตอนบ่าย การค้นคิด การตกผลึกทางความคิด และการเขียนหนังสือส่วนใหญ่ทำที่บ้าน

บ้านของเขา อยู่ชานเมืองทิศตะวันออกของกรุงเทพฯ หลังบ้านยังติดกับทุ่งนา ในบ้านของเขาเพิ่งปลูกต้นไม้ ซึ่งมีทั้งสวนครัว ไม้ผล และไม้ไทยในวรรณคดี ห้องทำงานของเขาจึงอยู่ในบรรยากาศของธรรมชาติที่พยายามสร้างขึ้นในเขตเมืองหลวง ชวนให้ทำงานพอสมควร

"ผมขับรถวันละ 4 ชั่วโมง ทำงานที่บ้านได้ทุกเวลาที่เหลือที่อยาก จะทำ ตอนสายๆ หรือตอนดึก ผมรู้สึกว่า วิถีชีวิตแบบนี้ทำให้ผมมีความสุขในการทำงาน" เขากล่าว

วิรัตน์ แสงทองคำ เชื่อในความคิด การสร้าง "ความสุขในการทำงาน" อย่างมาก โดยเขาคิดว่าการเขียนหนังสือภายใต้การทำงานค้น คว้าข้อมูล อย่างละเอียด รอบคอบ ไม่มีแรงจูงใจใดสำคัญเท่ากับการทำงานด้วยความสุข



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.