สายพันธุ์ใหม่ทีวีไทย ไม่มี "พระเอกขี่ม้าขาว"


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

ไอทีวีเกิดขึ้นมาท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังดิ่งเหว ปัญหาที่ตั้งสถานีเครือข่ายที่กว่าจะได้มาก็เลือดตาแทบกระเด็น เงื่อนไขที่ต้องผลิตข่าวและสาระ 70% ที่ตรงข้ามกับความต้องการของท้องตลาด

เวลานั้นไม่มีใครรู้ว่าไอทีวีจะโผล่พ้นเขตอันตรายเมื่อไหร่ !

แต่ในที่สุดไอทีวีก็ทำสำเร็จ แม้ว่าจะมีภาระหนักอึ้งที่รออยู่ข้างหน้า แต่อย่างน้อยก็พ้นขอบเหวมาแล้ว แจ้งเกิดได้ด้วยสไตล์ข่าวชนิดกัดไม่ปล่อย จนเป็นทีรู้จักกันไปทั่วเมือง

ที่แน่ๆ 3 ปีแห่งความสำเร็จครั้งนี้ไม่ได้มาจาก"พระเอกขี่ม้าขาว"เพียงคนเดียว แต่มาจากประสบการณ์ของทีมงานที่ถูกดึงมาจากทุกวงการ มาสู่เบ้าหลอมเดียวกัน ด้วยสไตล์ใหม่ของการทำธุรกิจโทรทัศน์ที่ไม่เหมือนใคร

ความน่าสนใจของไอทีวี ไม่ได้อยู่แค่การเป็นสถานีโทรทัศน์เกิดใหม่ แต่ไอทีวีเป็นสัมปทานโทรทัศน์รายที่ 6 ของเมืองไทย เพียงช่องเดียว ในรอบหลายสิบปีมานี้ จากกลไกกึ่งระบบผูกขาดของธุรกิจโทรทัศน์ของเมืองไทย ทำให้โทรทัศน์ของเมืองไทยล้วนแต่อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐ การบริหารงานโดยเอกชนมีเพียงช่อง 3 และช่อง 7 เท่านั้น

ไอทีวียังเป็นสถานีโทรทัศน์ที่เกิดขึ้นมาท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ ความไม่พร้อมของระบบเศรษฐกิจ ที่ไม่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจของไอทีวี

ในขณะที่ไอทีวีต้องอยู่ภายใต้กฎ

เกณฑ์สัมปทานผูกรัดด้วยเงื่อนไขที่ว่าไอทีวีจะต้องนำเสนอเนื้อหาข่าวและสาระ 70% บันเทิง 30% ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ตรงกันข้ามกับสภาพความ เป็นจริง

แต่แล้วไอทีวีก็ใช้เวลา 3 ปีเต็มกับการสร้างสถานีโทรทัศน์ขึ้นมา ให้เป็นทีรู้จัก ด้วยสไตล์ข่าวที่แตกต่างไป ฉีกโมเดลธุรกิจโทรทัศน์ของเมืองไทย ที่ต้องว่ากันด้วยรายการบันเทิงเป็นหลัก ถึงแม้จะยังไม่สามารถครอบคลุมไปถึงรายจ่ายที่เป็นค่าสัมปทาน และดอกเบี้ยก็ตาม

"ไอทีวี ไม่ใช่ virgin ทุกคนในนี้มีประสบการณ์มาก่อน ข้อแรกเลยคนที่มาอยู่กับเราส่วนใหญ่แล้ว เป็นคนที่มีประสบการณ์ตรงกับฟีลด์ที่เราต้องการ ไม่เช่นนั้นไอทีวีคงไม่ได้เกิดขึ้นมาถึงทุกวันนี้" นี่คือ บทสรุปแรกๆ ของนพพร พงษ์เวช กรรม การผู้อำนวยการใหญ่และผู้ถือหุ้น บริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน)ในการสนทนากับ "ผู้จัดการ"

นพพร พงษ์เวช จัดเป็นมือการเงินที่คร่ำหวอดในสถาบันการเงิน มีประวัติอันยาวนานในธุรกิจธนาคาร เขาอยู่ซิตี้แบงก์เพียงแห่งเดียวเป็นเวลาเกือบ 20 ปี ตำแหน่งสุดท้ายในซิตี้แบงก์ คือ รองกรรมการประธานกรรมการ ก่อนลาออกไปนั่งเก้าอี้กรรมการรองผู้อำนวยการธนาคารสยาม จากนั้นก็ไปนั่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอ็มซีซี

นพพร พลิกชีวิตการเป็นผู้บริหารสถาบันการเงินไปสู่ธุรกิจใหม่ที่เขาไม่เคยรู้มาก่อน เมื่อเขาไปซื้อหุ้นบริษัทไดนาสตี้เซรามิก มาจากเจ้าของเก่า และหลังจากนั่งบริหารได้ 2-3 ปี จากนั้นเขาก็ขายหุ้นต่อให้กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกธนกิจ

"ตอนนั้นเอกธนกิจ เข้ามาขอซื้อหุ้นไดนาสตี้เซรามิกต่อจากผม ผมซื้อมา 10 บาท บริหารอยู่ 2-3 ปี เขามาขอซื้อ ราคาหุ้นละ 37 บาท ก็เอาเงินมาลงทุนในไอทีวี 10% ก็ 100 ล้านบาท ร่วมกับน้องชาย และเพื่อนๆ ด้วย" นพพรย้อนอดีตให้ฟังถึงที่มาของเงินทุนที่มาลงขันในไอทีวี หลังจากได้รับการชักชวนจากจุลจิตต์

บุณยเกตุ ซึ่งเคยเป็นผู้บริหารของไอทีวีในยุคแรกๆ

นพพร ไม่ได้เป็นแค่ผู้ถือหุ้นของไอทีวีเท่านั้น แต่เขายังเป็นผู้บริหาร ที่นั่งตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) แต่เป็นคนที่สองในตำแหน่งนี้ ก่อนหน้าเขาคือ กิตติ โรจน์ชลาสิทธิ์ จากกันตนา ที่มานั่งเก้าอี้ได้ปีเดียวก็กลับไปทำงานที่กันตนาตามถนัด ซึ่งตามตำแหน่งแล้วเขาคือผู้กุมบังเหียนการบริหารงานทั้งหมดของสถานีโทรทัศน์ แห่งนี้ การไม่มีประสบการณ์ในไอทีวี ไม่ใช่ประเด็นสำหรับนพพร การเป็นผู้บริหารกิจการเป้าหมายสุดท้ายอยู่ที่ How to make the most money และ How to be the most efficient เป็นตรรกะที่นพพรยึดมาตลอดตั้งแต่สถาบันการเงินมาจนถึงไอทีวี

การที่กรรมกรรมการผู้อำนวย การของสถานีโทรทัศน์เอ็นบีซี ไม่ใช่ผู้สื่อข่าวมาก่อน เช่นเดียวกับกรรมการผู้อำนวยการของสายการบินยูไน เต็ด แอร์ไลน์ไม่ใช่นักบินมาก่อนฉันใดก็ฉันนั้น นพพรก็บอกว่า การเป็นกรรมการผู้จัดการของไอทีวี ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นนักข่าวมาก่อน

"การทำรายการทีวีผมไมรู้หรอก แต่มีคนเก่งๆ อยู่ในนี้เยอะ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ถ้าผมไปทำหนังสือพิมพ์ ผมก็ไมรู้หรอกว่าจะเป็นนักข่าวยังไง ก็เหมือนกับทำไดนามิกกระเบื้อง ผมรู้อย่างเดียวว่า อะไรคือกลไกของการทำกำไรให้กับธุรกิจ ทำนองเดียวกันกับไดนามิก" นพพรสะท้อนแนวคิดของเขากับหน้าที่การบริหาร ของการจับแพะชน แกะ ที่เขาไม่จำเป็นต้องมีประสบ การณ์ในเรื่องเหล่านั้น แต่สามารถมองให้ทะลุและจับมาผสมให้ลงตัวและทำให้เดินหน้าต่อไป นพพรโชคไม่ดีนัก เมื่อไอทีวี ต้องมาแจ้งเกิดในช่วงที่เศรษฐกิจเมืองไทยกำลังเจอวิกฤติอย่างหนัก ตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการของเขา จึงต้องออกไปขายโฆษณาเอง ซึ่งเขาบอกว่า เป็นการเรียนรู้แบบ On the job training ที่ทุกคนในไอทีวีก็ต้องผ่านการเรียนรู้ด้วยวิธีการเหล่านี้

การเป็นสถานีข่าวสารและสาระของไอทีวีจึงมีที่มา ที่นพพรบอกว่าความไม่พร้อมของไอทีวีในช่วงแรกที่ยังมีสถานีเครือข่ายไม่ครบ และปัญหาในเรื่องเงินทุน จึงต้องหันไปมุ่งเน้นการผลิตข่าวและสาระ ซึ่งก็เพื่อให้ตรงกับเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนด และลงทุนไม่มากเมื่อเทียบกับการผลิตรายการประเภทอื่น

"แต่หลังจากเครือข่ายครบแล้ว เราต้องไปหาลูกค้ากลุ่มอื่นๆ ที่เป็น MASS มากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะทิ้งข่าวและสาระ อันนี้ยังเป็นหัวหอกอยู่ เพียงแต่เรามีรายการอื่นมาเสริม เช่น เกษตรและมวยไทย

เพราะภาระในวันนี้ของไอทีวี ก็คือ การหาเงินทุนมาเพื่อใช้หนี้ธนา-คาร ภาระหนักของไอทีวีก็คือ การต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นทั้งผู้ใหกู้ และผู้ถือหุ้นเดือนละเกือบ 30 ล้านบาท และยังไม่รวมกับค่าสัมปทานที่ต้องจ่ายให้ทุกปี ซึ่งจะเพิ่มจำนวนขึ้นทุกปีเช่นกันซึ่งก็เป็นที่มาของการที่ต้องให้มีผู้ถือหุ้นใหม่เข้ามาลงทุนในไอทีวี และจะต้องเข้าจดทะเบียนในตลาดหลัก ทรัพย์เพื่อระดมทุนต่อไป

"ไอทีวีไม่แคร์เลยว่า จะเป็นผู้ถือหุ้นจากต่างชาติหรือไม่ ขอให้มีเงิน เข้ามา พูดตรงๆ เลยผมอยากได้เงินเยอะที่สุด เท่านี้ก็จบ เพราะไอทีวีมีทางเลือกเพียง 2 ทาง คือ พันธมิตรร่วมทุน หรือกองทุนจากต่างชาติ ก็ได้"

นพพรเองคงต้องใช้ประสบ การณ์มือการเงินมาช่วยในเรื่องนี้อีกมาก

วางเครือข่ายแข่งกับเวลา

การที่ไอทีวีนับเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งที่ 6 ในเมืองไทย และเป็นสถานีโทรทัศน์ช่องแรกที่ใช้คลื่นความถี่แบบยูเอชเอฟ (UHF) ในการส่งสัญญาณ ก็เป็นสิ่งท้าทายแรกของไอทีวี ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในทีโออาร์ ระบุไว้ชัดเจนว่า ไอทีวีจะต้องขยายเครือข่ายครอบคลุมจำนวนประชากรรับได้ไม่น้อยกว่า 96.72% หรือ คิดเป็นจำนวนสถานีเครือข่าย 36 แห่งให้เสร็จภายในเวลา 4 ปี นับจากวันลงนามในสัญญา (3 กรกฎาคม 2538) แต่ลึกลงไปกว่านั้นก็คือ ยุทธ ศาสตร์เริ่มต้นของธุรกิจทีวี ก็อยู่ที่เครือข่ายเพราะหากทำรายการดีเพียงใดแต่คนดูไม่ได้ก็เปล่าประโยชน์ เป็นยุทธศาสตร์ที่ช่อง 7 เคยคว้าชัยชนะเหนือทีวีช่องอื่นมาแล้ว

"เวลา" และเทคโนโลยี จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดของไอทีวีในช่วงเริ่มต้น

การติดตั้งเครือข่ายในช่วงแรกๆ ไอทีวีว่าจ้างบริษัทบีบีซี เอ็นจิเนียริ่ง จากประเทศอังกฤษ มาศึกษาข้อมูลการใช้พื้นที่ของกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งตามแผนงานเดิม ไอทีวีจะแบ่งการว่าจ้างสัญญาออกเป็น 2 งวด สัญญาว่าจ้างฉบับแรกที่ไอทีวีทำกับบีบีซี เอ็นจิเนียริ่ง คือ การเป็นผู้ออกแบบวางแผนในการติดตั้งเครือข่าย และเป็นผู้เขียนข้อเสนอในการเลือกซื้ออุปกรณ์ของสถานี ส่วนสัญญาที่สองคือ การบริหารโครงการ ในการติดตั้งเครือข่าย

ปรากฏว่าไอทีวีก็ต้องเจออุป-สรรคชิ้นใหญ่ เพราะตามแผนงานการออกแบบเครือข่ายที่ไอทีวีทำไว้นั้นจะใช้พื้นที่ของกรมประชาสัมพันธ์เป็นหลัก โดยอาศัยข้อกำหนดในสัญญาที่ระบุให้ผู้รับสัมปทานสามารถ ร้องขอให้สำนักนายกรัฐมนตรีช่วยประสานงานกับอ.ส.ม.ท. หรือสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง 11 ในการขอใช้ หรือเช่าเสาอากาศจากหน่วยงานเหล่านี้ได้ แต่เอาเข้าจริงแล้วกลับไม่เป็นไปตามที่ไอทีวีคาดหวังไว้ เมื่อกรมประชาสัมพันธ์ไม่อนุมัติให้ใช้สถานที่ในการจัดตั้งสถานีเครือข่าย

จากข้อมูลในเอกสารที่ไอทีวียื่นเสนอขอขยายเวลาชำระค่าตอบแทนต่อสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุไว้ว่าไอทีวีได้รับความเสียหายจากการเข้าใช้พื้นที่ของกรมประชาสัมพันธ์ล่าช้า ที่เห็นตัวเงินก็คือการสูญเสียในการว่าจ้าง "บีบีซีเอ็นจิเนียริ่ง" เพื่อทำการศึกษาข้อมูลการใช้พื้นที่ของกรมประชาสัมพันธ์จัดตั้งสถานีเครือข่าย เป็นเงิน 4.6 ล้านปอนด์หรือ 184 ล้าน บาท แต่ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลการสำรวจของบีบีซีได้ เนื่อง จากสภาพพื้นที่ตลอดจนเสาอากาศได้เปลี่ยนแปลงไป ทำให้บริษัทต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จากการสำรวจพื้นที่ใหม่อีก 20 ล้านบาท พูดง่ายๆ ก็คือ เงินลงทุนที่จ้างบีบีซีสูญเปล่าต้องเสียเงินลงทุนทำเอง สัญญาฉบับที่สองที่แต่เดิมจะให้ "บีบีซีเอ็นจิเนียริ่ง" เป็นผู้บริหารโครงการสร้างสถานีเครือข่ายจึงไม่มีการลงนามต่อ

เมื่อแผนงานที่วางไว้สะดุดลง ไอทีวีจึงต้องหันมาใช้ทีมงานเทคนิคของตัวเอง โดยไปดึงไพโรจน์ ปิ่นแก้ว มือเทคนิคเก่าแก่ของสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 มาคุมด้านเทคนิคของไอทีวี เพื่อสร้างเครื่องไม้เครื่องมือ ห้องส่ง ในการผลิตรายการ และศูนย์ข่าวภูมิภาคผ่านดาวเทียม มาเป็นหัวหน้าทีมคุมงานด้านสร้างสถานีเครือข่ายแทน

"เราจ้างบีบีซีมาทำได้ครึ่งเดียว ฝ่ายบริหารกับคุณไพโรจน์ก็มานั่งพิจารณาว่า อีกครึ่งหนึ่งเราต้องการจ้างเขามั้ย ก็เห็นว่าสามารถทำได้เอง เช่น การสร้างตึกที่ใช้ติดตั้งสถานีเอา เอ็นจิเนียคนไทยมาดู บอกไม่จำเป็น ต้องใช้เงินถึง 15 ล้าน 5 ล้านก็พอแล้ว สเป็กที่ลดลงไม่มีความจำเป็น อย่างที่กลั่นหิมะที่เขาออกแบบให้มี หรือแม้กระทั่งวงกบประตูที่ไม่ต้องใช้ขนาดนั้นก็ได้" ธาดา โพธิวิหค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ด้านบริหารบริษัท

ไอทีวี จำกัด อธิบายสาเหตุ

อันที่จริงแล้ว งานหลักของฝ่ายเทคนิค คือ การจัดสร้างห้องส่ง หรือเรียกว่าฮาร์ดแวร์ที่จะใช้ออกอากาศทั้งหมด เมื่อมีงานด่วนเข้ามา ไพโรจน์จึงต้องใช้วิธีไปดึงเอาพรรคพวกเพื่อนฝูงจากกรมประชาสัมพันธ์ และอ.ส.ม.ท.มาช่วย

"พอรู้ว่า เขายังไม่ให้แน่ๆ เรา ต้องเปลี่ยนใจมาดูว่า ตรงไหนบ้างที่ไม่มีปัญหาเรื่องครอบคลุมพื้นที่ ก็ไปติดตั้ง ซึ่งจากแผนงานเดิมที่ทำไว้ก็ต้องเปลี่ยนใหม่หมด อุปกรณ์อะไรที่หาซื้อมาได้ก็ซื้อมาก่อนเลย จากนั้นก็เริ่มเร่งติดตั้งสถานีชั่วคราว ไปตั้งอยู่ตามโรงแรมในต่างจังหวัด"

ต่อมาหลังจากได้รับอนุมัติพื้นที่จากกรมประชาสัมพันธ์ จึงต้อง ทยอยติดตั้งสถานีถาวรขึ้นมาแทน ซึ่งปรากฏว่าเมื่อเข้าไปในพื้นที่จริงๆ มีการเปลี่ยนสภาพไป ไม่เหมือนที่สำรวจไว้ จึงต้องทำการสำรวจใหม่ ช่วงปีแรกของการลงมือติดตั้งเครือข่ายถาวรจึงต้องเสียเวลาไปกับการสำรวจใหม่ 4-5 เดือน ไพโรจน์ เล่าว่า ด้วยเวลาที่จำกัดการติดตั้งเครือข่ายของไอทีวีจึงใช้วิธีว่าจ้างซัปพลายเออร์รับเหมางานไปทำ หรือที่เรียกว่า Turnkey project ซึ่งผู้รับเหมางานนี้จะมีอยู่หลายราย แบ่งออกไปตามประเภทของอุปกรณ์ เช่น การติดตั้งระบบเครื่องส่ง ระบบดาวเทียม การส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม รวมแล้วประมาณ 7-8 ราย ถึงแม้จะไม่ต้องติดตั้งเอง แต่วิธีการจ้างผู้รับเหมาก็จำเป็นต้องมีการวางแผนและจัดการที่ดี โดยเฉพาะการติดตามงานแบบวันต่อวัน ซึ่งไพโรจน์ยกตัวอย่างให้ฟังว่า "อย่าง เวลาเราก่อสร้างอาคารที่ตั้ง จะมีบริษัทรับเหมาก่อสร้างรับไป พอเสร็จจากจุดนี้ บริษัทก่อสร้างจะต้องไปสร้างอีกต่อไปทันที จากผู้รับเหมาในเรื่องของอุปกรณ์จะมาติดตั้ง ซึ่งจะแบ่งเป็นผู้รับเหมาในเรื่องของเครื่องส่งมาจัดการทันที จากนั้นก็เป็นผู้รับเหมาระบบดาวเทียม หมุนเวียนกันไป"

ไพโรจน์ เล่าว่า การทำงานที่แข่งกับเวลาทำให้การติดตั้งของไอทีวี เฉลี่ยเดือนละ 1 สถานีเป็นอย่างต่ำ ในขณะที่บางเดือนก็ติดตั้งได้ถึง 4-5 สถานี ทำให้ไอทีวีสามารถเร่งติดตั้งเครือข่ายได้ทั้งหมด 33 สถานี ครอบ คลุมพื้นที่ 91% ซึ่งจะติดตั้งอีก 14 สถานีจะครอบคลุมได้ 96% ตามที่วางแผนไว้

ทั้งนี้แผนการจัดตั้งสถานีเครือข่ายตามทีโออาร์ที่ไอทีวีกำหนดไว้ ปีที่สอง (กรกฎาคม 2539) จะติดตั้งไม่น้อยกว่า 9 สถานี ปีที่ 3 (กรกฎาคม 2540) ไม่น้อยกว่า 18 สถานี ปีที่ 4 (2541) ไม่น้อยกว่า 27 สถานี และปีที่ 5 (2542) จะต้องติดตั้งให้ครบ 36 สถานี

สถานีออกอากาศที่เช่าอาคารใบหยก 2 สูง 86 ชั้น จะเป็นสถานีแห่งล่าสุดในกรุงเทพฯ ที่ไอทีวีจะใช้เป็นสถานีเครือข่ายถาวรแทนที่สถานีชั่วคราว 3 แห่ง ที่มีความสูง 350 เมตร และมีกำลังส่ง 30 กิโลวัตต์ รัศมีการส่งสัญญาณที่มีพื้นครอบ คลุม 120 กิโลเมตร จะทำให้ส่งสัญญาณครอบคลุมพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงจังหวัดที่อยู่ใกล้กับกรุงเทพฯ วางไว้ภายในปีนี้ไอทีวีจะขยายเครือข่ายในต่างจังหวัดเพิ่มเติมอีก 10 แห่ง เพื่อให้ครอบคลุมประชาชนตามที่กำหนดไว้ในทีโออาร์

ศูนย์ข่าวภูมิภาคในต่างจังหวัด เป็นอีกองค์ประกอบสำคัญของการช่วงชิงความเป็นต่อของการทำข่าวโทรทัศน์ ที่ต้องอาศัยความรวดเร็วเป็นหัวใจสำคัญ และฐานคนดูในต่างจังหวัดเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ไอทีวีจะละเลยไม่ได้ และเป็นภาระที่ทีมเทคนิคต้องติดตั้งให้เร็วที่สุด ปัจจุบัน ไอทีวีมีศูนย์ข่าวภูมิภาคต่างจังหวัดที่ตั้งอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ๆ 7 แห่ง คือ เชียงใหม่ สุโขทัย ขอนแก่น อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี และหาดใหญ่ จะส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมมาที่กรุงเทพฯ ได้พร้อมกัน 3 แห่ง และมีห้องส่งเล็กๆ ที่ใช้รายงานข่าวสัมภาษณ์ 4 แห่ง คือ เชียงใหม่ ขอนแก่น สระแก้ว หาดใหญ่ ภาพข่าว เครื่องบินตกที่สุราษฎร์ธานี ที่ไอทีวีได้แพร่ภาพเป็นช่องแรก ก็มาจากสถานีเครือข่ายในภูมิภาค ถึงแม้ว่าภาพข่าวแรกที่ปรากฏสู่สายตาจะเป็นของสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ที่ไอทีวีขอยืมฟุทเทจ มาออกก่อน แต่ก็ทำให้ไอทีวีกลายเป็นซีเอ็นเอ็นย่อยๆ ไปโดยปริยาย

หากเทียบกับสถานีโทรทัศน์อื่นๆ ไอทีวีคงไม่ต่างจากทารกที่เพิ่งหัดเดิน ความพร้อมในเรื่องสถานที่ยังมีน้อย ไอทีวีมีเพียงสำนักงานพื้น ที่ขนาด 3 ชั้น ด้านอีสต์ ที่เช่าจากอาคารไทยพาณิชย์ปาร์คพลาซ่าที่ต้อง แบ่งสรรพื้นที่อย่างประหยัดและต้องคุ้มค่าที่สุด

ไพโรจน์เล่าว่า ที่จริงแล้วหน้า ที่หลักของฝ่ายเทคนิค ที่ได้รับมอบหมายคือ การสร้างห้องส่งทั้งหมด ของฝ่ายผลิตและฝ่ายข่าว เรียกว่าดูในเรื่องฮาร์ดแวร์การออกอากาศทั้ง หมด และก็เป็นงานด่วนชนิดฉุก

ละหุกอีกชิ้นสำหรับทีมเทคนิค

"ช่วงนั้นทดลองออกอากาศเพื่อทดสอบสัญญาณ ยังไม่ได้แพร่ภาพอะไร พอออกไปได้ 3 เดือน ก็ต้องทดลองแพร่ภาพดู ช่วงนั้นเครื่อง ก็ยังไม่เตรียมพร้อม เราก็มานั่งคิดว่าจะเอายังไงดี ก็ไปเอาสารคดีมาออกฉายไปก่อน จากนั้นถัดมาอีกไม่นาน หลังจากรับนักข่าวเข้ามา 50 คน ไปซื้อกล้องซื้อเทปมาให้ทดลองเขียนข่าว เขียนสคริปต์ทดลองทำข่าว พอมีนาคมเขาบอกให้ลองทำข่าวออกอากาศจริงเลย ตอนนั้นเรายังไม่ได้เตรียมอะไรเลย ผมมีเวลาแค่ 15 วันที่จะต้องติดตั้งให้เสร็จ ห้องก็ยังไม่ได้ตกลงเลยว่า จะใช้ห้องไหน ยังรื้อยังตอกไม้อยู่เลย เป็นสภาพที่ฉุก ละหุกทีเดียว" ไพโรจน์ ย้อนอดีตถึงความฉุกละหุกในช่วงแรกของการออกอากาศ

ช่วงนั้น ไพโรจน์ต้องใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการไปเช่าอุปกรณ์ในการออกอากาศจากที่อื่นมาทำ ไม่เว้นแม้กระทั่งอุปกรณ์มอนิเตอร์ ยกเว้นเพียงแค่เครื่องรับเท่านั้น ทีมงานของไอทีวีจึงต้องย้ายสลับจากห้องนั้นเข้าห้องนี้ถึง 3 ครั้ง กว่าห้องส่งจะเสร็จสมบูรณ์

แม้ว่าวันนี้พนักงานของไอทีวีไม่ต้องย้ายห้องอีกแล้ว แต่ใครจะรู้ว่าห้องของผู้ประกาศข่าวของไอทีวีที่ปรากฏบนหน้าจอทีวีตั้งแต่เช้าจรดค่ำ จะเป็นเพียงมุมเล็กๆ ที่อยู่สุดมุมห้อง ของฝ่ายข่าว ถัดออกมาคือที่นั่งทำงาน ของโต๊ะข่าวสายต่างๆ นักข่าวทั้ง 50 คนของไอทีวีไม่ไกลนัก ท่ามกลางอุปกรณ์ตัดต่อที่วางเรียงรายอยู่กลางห้อง

ทุกวันนี้การผลิตรายการของไอทีวี ก็ทำได้แค่วิเคราะห์ข่าว เช่น รายการไอทีวีทอล์ก ที่มีเพียงคู่สนทนามานั่งคุยกัน ส่วนรายการอื่นๆ เช่น ผู้หญิง 2000 รายการเด็ก สุขภาพ ที่ต้องใช้พื้นที่มากขึ้นไอทีวีจะต้องไปเช่าใช้สตูดิโอเลควู้ดที่ติดกับอาคารไทยพาณิชย์ปาร์คพลาซ่า

ด้วยปัจจัยหลายๆ ด้านข้อจำกัดสถานที่ เวลา และกำลังคนการ ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับไอทีวี รถถ่ายทอดข่าวผ่านดาวเทียม (SNG หรือ Sattelite news gathering) ของไอทีวีจะมีอยู่ถึง 4 คัน ซึ่งสถานีโทรทัศน์ขนาดใหญ่บางช่องอาจมีเพียงแค่ 2-3 คัน ภายในรถจะมีอุปกรณ์ตัดต่อภาพ ที่สามารถยิงสัญญาณยังสถานีพร้อมออกอากาศได้ทันทีภายในครึ่งชั่วโมง เช่น รายงานสดไปถึงภายใน 5 นาที ก็ออกอากาศได้

"อุปกรณ์เหล่านี้ ทำให้เราจัดทีมได้เล็กลงได้ มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะถ้าคนเยอะยิ่งอุ้ยอ้าย แต่ถ้าอุปกรณ์เบ็ดเสร็จอยู่ในนั้น เสียบปลั๊ก ไฟปุ๊บก็ออกอากาศได้เลย ก็ทำให้เราไม่ต้องเข้ามาที่สำนักงานใหญ่" อัชฌา สุวรรณปากแพรก อธิบาย

แม้การติดตั้งเครือข่ายจะเสร็จสมบูรณ์เกือบหมด เหลือเพียงสถานีเครือข่ายอีก 10 แห่ง ที่ไพโรจน์ และทีมงานเทคนิคอีก 100 กว่าชีวิตจะต้องทำหน้าที่จัดหา และอำนวยความสะดวกให้กับทีมงานข่าว และทีมงานผลิต รวมถึงการบำรุงรักษา และการจัดอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับการใช้งาน ซึ่งเป็นภารกิจที่ยังไม่จบสิ้นของไพโรจน์และฝ่ายเทคนิค

สู่เบ้าหลอมเป็นข่าวสไตล์ไอทีวี

เดิมที ไอทีวีมีผู้ถือหุ้นที่มีประสบการณ์ในด้านข่าวอยู่หลายรายทั้งไอเอ็นเอ็น หนังสือพิมพ์ดอกเบี้ย และตงฮั้ว ซึ่งไตรภพ ลิมปภัทรก็ถูกกำหนดให้เป็นหัวหอกในการผลิตรายการ แต่แล้วทั้ง 3 รายก็ขอถอนหุ้นออกไปในช่วงที่สถานีไอทีวีเพิ่งเปิดดำเนินการไม่นาน ประสบการณ์ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการน้ำหมึกมาสามสิบกว่าปี และลีลาการวิเคราะห์ข่าวบนหน้าจอโทรทัศน์ที่แตกต่างไปจากรูปแบบเดิม สุทธิชัย หยุ่น ถูกดึงมาร่วมถือหุ้น10% กำลังสำคัญในการผลิตข่าวและสาระ 70% ให้แก่ไอทีวี

การสร้างทีมข่าวไอทีวีในช่วงแรกของไอทีวี ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากแกนนำของกลุ่มเนชั่น ที่มาพร้อมกับฐานข้อมูล และแนวคิด สุทธิชัย หยุ่น รับสมัครทีมข่าวภายในของกลุ่มเนชั่น เพื่อมาทำงานที่ไอทีวี ปรากฏมีผู้ยื่นใบสมัครและผ่านคัดเลือกประมาณ 10 คน และในจำนวนนั้น คือ เทพชัย หย่อง น้องชายของสุทธิชัย ที่เวลานั้นเป็นบรรณาธิการข่าวของเนชั่น สุภาพ คลี่ขจาย ที่ช่วงหลังเริ่มจัดรายการเนชั่นนิวส์ทอล์กคู่กับสุทธิชัย และเป็นกรรมการผู้จัดการ ดูแลวิทยุเนชั่น ประจักษ์ มะวงศา ก่อเขตต์ ศิริรัตน์ อดีตโปรดิวเซอร์รายการเนชั่นนิวส์ทอล์ก พวกเขาเหล่านั้นยื่นใบลาออกและมาเป็นพนักงานของไอทีวี ทันทีที่ไอทีวีเริ่มแพร่ภาพออกไป

"ผมตัดจากความเป็นพนักงานตั้งแต่วันแรกที่ก้าวออกมาแล้ว และเนชั่นเองก็มีคนอยู่แค่ 10 คนเท่านั้น ทำงานหนังสือพิมพ์มาเกือบ 20 ปี มาทำทีวีผมก็ว่าท้าทายดี และบังเอิญว่าเนชั่นมีแผนกทีวีเล็กๆ อยู่แผนกหนึ่ง หลายคนเห็นว่าแคบไปก็ย้ายตามมาไอทีวี" เทพชัย เล่า

แม้ว่าหลายปีมานี้สุทธิชัย หยุ่น

จะมีประสบการณ์ในการทำข่าว แต่ประสบการณ์การเป็นผู้ผลิตข่าวโทรทัศน์ ไม่เหมือนกับทำข่าวหนังสือพิมพ์ หรือรายการทอล์กโชว์ ที่ต้องอาศัยองค์ประกอบและขั้นตอน การทำงานและการผลิตที่ซับซ้อนและยุ่งยากกว่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นประสบ การณ์ที่สุทธิชัย หยุ่น และคนของเนชั่นเองยังไม่เคยมีมาก่อน

อัชฌา สุวรรณปากแพรก อดีตหัวหน้าข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ที่คร่ำหวอดในการผลิตข่าวโทรทัศน์มาหลายสิบปี ถูกชักชวนมาร่วมในทีมข่าวไอทีวีตั้งแต่เริ่มต้นใหม่ๆ ประสบการณ์และความเก๋าในการทำข่าวโทรทัศน์ของอัชฌา ช่วยไอทีวีได้มากในเรื่องของทั้งมุมมองข่าวและเทคนิคต่างๆ ที่จำเป็นกับการผลิตข่าวโทรทัศน์ รวมถึงการติดต่อกับสติงเกอร์ที่มีอยู่ทั่วประเทศ

ภาพข่าวเครื่องบินตกที่สุราษฎร์ธานี ที่ทำให้ไอทีวีเป็นซีเอ็นเอ็นย่อยจากการได้ออกข่าวเป็นสถานีแรก ขอ ภาพข่าวสั้นๆ (Footage) จากช่อง 11 ที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติให้แพร่ภาพนำมาออกในไอทีวีได้ก่อน ก็เป็นผลงานของอัชฌา ที่เป็นผู้หยิบยืมมาจากช่อง 11

นอกจากอัชฌาแล้ว ทีมข่าวของไอทีวี ยังเป็นจัดได้ว่าเป็นศูนย์กลางของ "สื่อ" จากเกือบทุกประเภท หนังสือพิมพ์เกือบทุกค่ายของเมืองไทย เอ่ยชื่อไปมีหมดไม่ว่าจะเป็น ไทยรัฐ มติชน ฐานเศรษฐกิจ ผู้จัดการ รวมถึงผู้สื่อข่าวจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 3, 5, 7, 9 สำนักข่าวแปซิฟิก และสถานีวิทยุไอเอ็นเอ็นหรือแม้แต่โปรดักชั่นเฮาส์

ทั้งหมดนี้คือส่วนผสมที่ถูกนำมาเขย่ารวมกันเป็นทีมข่าวไอทีวี "ตอนแรกคนก็สงสัยเหมือนกันว่า ข่าวไอทีวีจะทำได้ดีกว่าช่องอื่นได้อย่างไร นักข่าวส่วนใหญ่ก็มาจากหนังสือพิมพ์ แต่ผมแน่ใจว่า เราต้องทำได้ดีกว่าช่องอื่น เพราะผมดูข่าวทุกคืนรู้ว่าจุดอ่อนของเขาอยู่ตรงไหน สไตล์ของเราคือ การทำให้คนดูข่าวไอทีวี มีสีสัน น่าติดตาม มีการเจาะลึกมากกว่าช่องอื่นๆ บวกกับความพยายามในการเจาะลึกเรื่องต่างๆ เนื่องจากการที่เรามีเสรีภาพมากกว่าคนอื่น" ความเห็นของเทพชัย หย่อง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายข่าวของไอทีวี ที่สะท้อนความสำเร็จของข่าวไอทีวี

เทพชัย อยู่ไอทีวีมาปีนี้เป็นปีที่ 3 นอกจากจัดรายการข่าวเองด้วยแล้ว เทพชัยยังเป็นผู้คุมทีมข่าวทั้งหมด ความขยันบวกกับความทุ่มเททำให้เขาได้คะแนนจากทีมข่าวของไอทีวีไม่น้อย

"ผมไมรู้ว่าคุณเทพชัยเขาเอาเวลาไปนอนตอนไหน เขาจะรู้หมดเลยว่าข่าว 7 โมงเช้า จนถึงเที่ยงคืน ใครทำตรงไหน พลาดยังไง เขาเรียกไปคุยได้หมดเลย" ผู้สื่อข่าวคนหนึ่งของไอทีวีเล่า

และความขยันของเทพชัย เป็นสิ่งที่สุภาพ คลี่ขจาย ซึ่งตอนแรกร่วมดูฝ่ายข่าว หลีกทางให้โดยตัวเองย้ายไปดูกิจกรรมพิเศษ และดูรายการไอทีวีทอล์กเป็นหลัก มาร่วมดูบ้างในบางเรื่อง

"คุณสุทธิชัย เป็นคนมาให้ไกด์ไลน์ มาช่วยมอนิเตอร์ข่าว แต่ ไม่ได้มานั่งบริหารงานวันต่อวัน คนรันจริงๆ คือคุณเทพชัย คุณอัชฌา คุณสุภาพ" ผู้อยู่ในเหตุการณ์เล่า อัชฌา เล่าว่า การเป็นสถานีข่าวของไอทีวี เริ่มต้นมาจากการวางทิศทางร่วมกันระหว่างสุทธิชัย เทพชัย สุภาพ และตัวเขา มีเป้าหมายอยู่ที่การปรับปรุงคุณภาพของการทำข่าวให้แตกต่างจากสถานีโทรทัศน์ช่องอื่น

"เวลานั้นเราก็เริ่มศึกษาจากโครงสร้างหลายๆ ส่วน ศึกษาจากเพื่อนฝูงที่อยู่สำนักข่าวต่างประเทศ ดูจากซีเอ็นเอ็น หรืออย่างเอ็นเอชเค ซึ่งก็ใหญ่โตเกินกว่าจะมาเป็นแบบอย่างได้"

แนวทางที่พวกเขาเหล่านั้นเห็นไม่ต่างกันก็คือ โทรทัศน์เมืองไทยไม่สามารถถ่ายทอดในเรื่องราวหลายอย่างที่เกิดขึ้นกับสังคม ที่ผู้ดูอยากรู้ ด้วยความที่ไม่มีอิสระในการเสนอ

"ผมอึดอัดมากเวลานักการเมืองออกมาปล่อยข่าว โยนหินถามทาง นักข่าวเราก็ไปตามกระแส แต่เราพยายามปรับ มองว่าจะทำยังไงกัน ที่นี่ผมเน้นเรื่องการประชุมข่าวเป็นสำคัญ เราต้องมีการวางแผน ให้ไอ-

เดีย ระดมสมอง มีการแจกลูกส่งให้โต๊ะโน้น โต๊ะนี้ไปทำข่าวนี้เกี่ยวข้องกับหลายสาย ทำสายเดียวไม่สำเร็จแน่" อัชฌา ย้อนอดีต

6 เดือนแรกของทีมข่าวของไอทีวี ให้น้ำหนักไปกับการอบรม การเขียนข่าว ที่พยายามเน้นสไตล์ไอทีวีที่ไม่เหมือนใคร

"ข่าวช่องอื่นอาจเริ่มต้นด้วยกิจกรรมของนายกรัฐมนตรี หรือผู้บัญชาการทหารบก แต่เราจะเทรนคนของเรา ให้มองข่าวของไอทีวี ซึ่งข่าวของเราจะเริ่มต้นด้วยเรื่องของขอทาน หรือชาวนาในชนบทก็ได้ เราจะให้ความสำคัญกับข่าวที่ใกล้ตัวคน กระเทือนความรู้สึกของคนหรือ กระทบกับความเป็นอยู่ของคนในสังคม" เทพชัยบอกถึงความเป็นไอทีวี

เทพชัยบอกว่า การเป็นสไตล์ไอทีวี เขานำมาจากการศึกษาข่าวโทรทัศน์มาตลอด ทั้งซีเอ็นเอ็น เอ็นบีซี ซีบีเอส และนำมาผสมกับประสบการณ์เดิมที่ได้จากการทำข่าวหนังสือพิมพ์ที่เนชั่น ที่เขาบอกว่า เป็นความโชคดีที่ข่าวภาษาอังกฤษมีวิธีที่แตกต่างกับภาษาไทยที่ต้องเขียน ให้ตรงประเด็นและชัดเจนกว่า รวมกับการฟังความเห็นจากคนในวงการ

"หนังสือพิมพ์ได้เปรียบในการทำข่าวเชิงลึก แต่เคล็ดลับของทีวีอยู่ที่ว่า ประเด็นข่าวต้องไม่ยาว และประเด็นต้องไม่แตก เพราะคนดูทีวีต้อง Concentrate กับข่าว ชื่อ หรือตำแหน่งไม่จำเป็นสำหรับข่าวทีวี นี่คือสิ่งที่ต้องอบรม ให้กับนักข่าวไอทีวี นักข่าว หรือช่างภาพของไอทีวีหลังจากฝึกอบรม 6 เดือนจะไปทำข่าวไอทีวีได้ ไม่ว่าจะเป็นนักข่าวที่อยู่ในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด "สิ่งที่พยายามเทรนก็คือ ให้คิดง่ายๆ ว่า รถชนกัน 1 คันตาย 1 ศพ ถ้าเป็นข่าวแค่นั้นไอทีวีไม่ทำแค่นี้ แต่ต้องไปสืบเพิ่มเติมว่า คนตายเป็นใคร เป็นลูกคนเดียวที่เลี้ยงคุณยายอายุ 80 ปี ซึ่งก็คือมันเป็นโศกนาฏกรรมอย่างหนึ่งของสังคม ไม่ใช่แค่ปัญหาของสิบล้อ แต่นี่คือปัญหาของสังคม" เทพชัยบอก

กระบวนการการฝึกอบรมเป็น สิ่งจำเป็นมากๆ สำหรับที่ไอทีวี เพราะ ไม่ใช่สร้างความรู้ใหม่ให้กับนักข่าวแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งการหล่อหลอมประสบการณ์ในอดีตของผู้สื่อข่าวจากสำนักพิมพ์ค่ายต่างๆ เข้าด้วย กัน เพื่อสร้างสไตล์ใหม่ ที่เป็นของไอทีวีโดยเฉพาะ

"ทีมงานแต่ละโต๊ะไปหานักข่าวมา ก็มาอบรม มาชี้ปรัชญาการทำงาน รับคนมา 5-6 คน เราก็มาอบรมสัมมนา เชิญผู้รู้ด้านต่างๆ เชิญท่านมุ้ยมาสอนว่า ภาพที่ดีควรเป็นยังไง เชิญนักภาษาศาสตร์มา เชิญคนเขียนทีวีเก่งๆ มา เชิญนักวิชาการ ในรั้วมหาวิทยาลัย มาอบรมเคี่ยวกันนาน" สุภาพเล่า

รูปแบบและการนำเสนอ แง่มุมและหัวข้อข่าวที่เลือกมา เทพชัยเชื่อว่า สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนผสมที่เป็นความสำเร็จของไอทีวี ทิศทางข่าวของ ไอทีวีจึงมุ่งไปที่การสร้างความแตกต่าง

"ผมบอกนักข่าวทุกคนว่า ทุกครั้งที่คุณเขียนข่าว ญาติพี่น้องคุณจะดูข่าวมั้ย ถ้าทุกคนดูข่าวของคุณ ถือว่าใช้ได้" เทพชัยเล่าถึงกระบวนการฝึกคนของไอทีวี

ในขณะที่สถานีโทรทัศน์ช่องอื่นๆ มักหลีกเลี่ยงที่จะนำเสนอข่าวที่กระทบ หรือล่อแหลมกับผู้มีอำนาจของรัฐ หรือทางสังคมมาโดยตลอด แต่ไอทีวีกลับนำเสนอข่าวการขุดคุ้ยเบื้องหน้าเบื้องหลังคอร์รัปชั่น การทุจริตการเลือกตั้ง ซึ่งกลายเป็นอีกมิติของการนำเสนอข่าวบนโทรทัศน์ ทำให้ไอทีวีแจ้งเกิดในเวลาไม่นาน

การนำเสนอในข่าวลักษณะนี้เป็นที่ชอบใจของกลุ่มคนไทยไม่น้อย ที่กำลังเกิดคำถามขึ้นกับปัญหาของสังคมไทย กระหายใครรู้ข้อเท็จจริง ไอทีวีแจ้งเกิดได้ในเวลาอันรวดเร็ว

...ภาพของคนขับรถบรรทุกยื่นเงินให้ตำรวจทางหลวง ที่คอยตรวจจับรถบรรทุกคันที่วิ่งผ่านมายังด่านตรวจจับ ก่อนจะโบกมือปล่อยให้วิ่งฝุ่นคลุ้งออกไปบนท้องถนน ข่าว ของตำรวจปราบปรามยาเสพย์ติดที่วิสามัญฆาตกรรมพ่อค้ายาบ้ากลุ่มที่กำลังมอบตัว ในบ้านหลังหนึ่งกลางทุ่งนา ที่ไม่สามารถหาดูได้จากโทรทัศน์ช่องอื่น ทำให้ไอทีวีแจ้งเกิดในสายตาคนดูในเวลาไม่นาน

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องธรรมดาที่รับรู้กันอยู่ทั่วไปของสังคมไทย แต่เมื่อภาพเหล่านี้ปรากฏขึ้นบนหน้าจอโทรทัศน์ จึงกลายเป็นความแตกต่างของไอทีวี สามารถฉีกรูปแบบการนำเสนอข่าวแบบเดิมๆ เทพชัย และคนข่าวของไอทีวีเชื่อว่า ความเป็นอิสระของการนำเสนอข่าว คือ ปัจจัยสำคัญของความสำเร็จของไอทีวี โอกาสที่เปิดให้นักข่าวได้แสดงฝีมือได้อย่างเต็มที่ เป็นสิ่งที่ทำให้ไอทีวีสามารถนำเสนอข่าวได้แตกต่างจากสถานีช่องอื่นๆ ซึ่งอิสรภาพที่ว่า จากทั้งภายในไอทีวีและภายนอกไอทีวี

"ถ้าเป็นข่าวไอทีวี เราไม่มีความเกรงใจกันเลยว่า ข่าวชิ้นนี้ไม่ได้ชิ้นนั้นไม่ได้ ความเห็นที่แตกต่างกัน ฝ่ายการตลาดและการเงินบอกให้บันเทิงเยอะหน่อยก็ไม่มีปัญหา แต่หลักการทำข่าวพื้นฐานต้องไม่ถูกกระทบ เพราะผมเป็นคนตัดสินใจสูงสุดเลยว่า จะเล่นหรือไม่เล่นข่าวยังไง ในแง่ผู้ถือหุ้นเองก็ไม่ได้มาก้าวก่าย ไม่มีใครขอ เพราะถ้าขอได้ต้องขออีก" เทพชัยบอกถึงความเป็นไอทีวี ที่เป็นช่องเดียวที่วางเป็นนโยบายไว้ว่า ข่าวครบรอบทั้งหลายจะต้องไม่ปรากฏ ในไอทีวี

สุภาพ เป็นอีกหนึ่งในทีมงานเนชั่นที่ย้ายมาอยู่ไอทีวีแบบเต็มตัว และร่วมในการสร้างทีมข่าวไอทีวี 3 ปี จึงขาดเสียไม่ได้สำหรับความเห็นของเขา ซึ่งเขาบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า ความสำเร็จของไอทีวี อยู่ที่การที่สังคมไทยกระหายข้อเท็จจริงทางโทรทัศน์มานาน และไอทีวีก็เกิดขึ้น โดยใช้คอนเซ็ปต์เดียวกับหนังสือพิมพ์ การขุดคุ้ยเบื้องหน้าเบื้องหลังแบบกัดไม่ปล่อย ทำในสิ่งที่โทรทัศน์ช่องอื่นไม่ทำ ทำให้คนดูมีทางเลือกใหม่ ความสำเร็จของไอทีวีจึงมีอยู่ท่วมท้น ซึ่งความสำเร็จนี้ไม่รวมเรื่องของธุรกิจ

"ไม่ใช่นักข่าวของไอทีวีเก่งกว่าช่องอื่น แต่นักข่าวของไอทีวีมีความเป็นอิสระมากกว่า เขาอยู่ที่นี่เขาทำอะไรก็ได้ถ้าถูกต้อง แต่ถ้าเขาอยู่ช่องอื่น เขาจะไปทำข่าวฝ่ายค้าน ก็ไม่ได้ออกอากาศ คนที่มีไฟอยู่ไฟก็มอด แต่เขาอยู่ที่ไอทีวี เขารู้ว่าเขาควรจะทำอะไร" สุภาพกล่าว

การเป็นองค์กรใหม่ และถูกกดดันจากผู้บริหารที่ต้องให้ขึ้นเป็นอันดับ 1 เป็นส่วนหนึ่งที่อัชฌาเชื่อว่า ทำให้ไอทีวีประสบความสำเร็จมาได้

"ผมมองว่า ศักยภาพของคนไม่ต่างกัน แต่เป็นเพราะโอกาสของเรามากกว่า เราให้นักข่าวเรากล้าคิดกล้าทำ มีแนวทางชัดเจน อย่างบางเรื่องผมเชิญเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาสรุปเนื้อหาให้กองบรรณาธิการฟังเลย เพื่อให้นักข่าวและคนข้างในรู้ข้อมูล เพื่อเราจะได้ไกด์ไลน์ที่ถูกต้อง นักข่าวจะตามประเด็นได้" ความเห็นของ อัชฌา

ด้วยโอกาสที่เปิดกว้าง และอิสระในการนำเสนอข่าวก็เลยกลายเป็นพลังอันเร้าใจให้กับนักข่าวไอทีวีได้อย่างคาดไม่ถึง หลายคนที่ไอทีวีจะไม่ยอมหยุดพักในวันหยุด แต่จะมานั่งอยู่ในที่ทำงานเพียงเพื่อดูข่าวของตัวเองที่ทำเอาไว้ออกอากาศ

"นักข่าวที่นี่ส่วนใหญ่เราจะดูเองหมด ตั้งแต่ตัดต่อ เราได้โอกาสที่มากกว่าคนอื่น" นักข่าวไอทีวีคนหนึ่งให้ความเห็น

การบริหารข่าวของไอทีวี นำเอากระบวนการของหนังสือพิมพ์มาประยุกต์ใช้กับการทำข่าวโทรทัศน์ ไอทีวีมีผู้สื่อข่าว 70 คน ช่างภาพอีก 50 คน ทีมผู้สื่อข่าวเหล่านี้ จะถูกจัดสรรไปตามโต๊ะข่าวที่แบ่งออกตามประเภทของข่าว เช่น โต๊ะข่าวการเมือง อาชญากรรม เศรษฐกิจ ราชสำนัก กีฬา บันเทิง และภูมิภาค

ในแต่ละวันการประชุมข่าวจะแบ่งออกเป็น 3 รอบ รอบแรกจะเริ่มขึ้นช่วง 10 โมงเช้า เพื่อดูกระแสข่าวที่เกิดขึ้นในวันนั้น และจะมาประชุมอีกครั้งในช่วงบ่าย 2 เพื่อเตรียมเลือก ข่าวลีด และข่าวรอง จากนั้นจะประชุมอีกครั้งในช่วง 2 ทุ่ม การประชุมรอบนี้เพื่อเตรียมสำหรับการทำข่าวในวันรุ่งขึ้น นักข่าวไอทีวีจะออกไปข้างนอกโดยปราศจากทิศทางข่าวไม่ได้ หลายครั้งที่สกุ๊ปชิ้นสำคัญๆ ของไอทีวี ก็มาจากการประชุมโต๊ะข่าว ซึ่งโต๊ะข่าวแต่ละสายจะเป็นผู้เสนอมา และนำมาวางแผนร่วมกันในที่ประชุม เช่น ข่าวส่วยทางหลวงที่โต๊ะข่าวอาชญากรรมเป็นคนเสนอประเด็น หรือข่าววัดพระธรรมกายที่มีทีมโต๊ะข่าวสังคมเป็นผู้เสนอและเป็นเจ้าภาพในการทำ จากนั้นประเด็นที่เกี่ยวข้องจะถูกนำแจกจ่ายไปให้โต๊ะข่าวต่างๆ เพื่อขยายประเด็นของข่าวให้ครอบ คลุมมากขึ้น

"อย่างข่าววัดพระธรรมกาย เราต้องระดมหลายจุด มีสายสังคมเป็นเซ็นเตอร์กลาง และแบ่งประเด็นไปให้ทีมอาชญากรรมแบ่งไปดู อีก ด้านการเมืองไปดู เราวางแผนไว้เลยว่าแต่ละวันเราจะนำเสนอยังไง" อัชฌาเผยถึงความเป็นมาของข่าวที่สร้างชื่อให้ไอทีวี

อัชฌาบอกว่า ข่าวเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นใหม่ในสังคมไทยแต่เกิดมานานแล้ว แต่ไอทีวีไปหยิบเอามาทำเป็นข่าว ทำให้เห็นว่ามีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นจริง

แง่มุมข่าวในเชิงวิเคราะห์เจาะลึกนี้ ยังนำไปสู่การเกิดรายการใหม่ๆ ของฝ่ายข่าวขึ้นในผังรายการของไอทีวี เช่น รายการถอดรหัส ที่จะเป็นการให้รายละเอียดของข่าวที่มากขึ้นกว่าเดิม

แม้กระทั่งผู้ประกาศข่าวที่มีอยู่ไม่กี่คนจะต้องเข้าร่วมประชุมโต๊ะข่าวกับผู้สื่อข่าวด้วย หรือบางครั้งต้องออกไปทำข่าวด้วย การอ่านข่าวเพียงอย่างเดียว สำหรับที่ไอทีวีผู้สื่อข่าวของไอทีวีจะมานั่งเป็นผู้ประกาศข่าวก็เป็นเรื่องธรรมดาของที่นี่เช่นกัน เป็นสิ่งที่ไอทีวีพยายามสร้างความแตกต่างไปจากสถานีช่องอื่นๆ

นักข่าวของไอทีวี จึงไม่ได้ทำข่าวอย่างเดียว แต่ต้องรู้ถึงกระบวนการขั้นตอนการตัดต่อจนกระทั่งข่าวถูกแพร่ภาพออกไป เป็นความรู้สึกของการมีส่วนร่วมที่ทำให้ผู้สื่อข่าวของไอทีวีมักจะไม่ใช้วันหยุดพักผ่อน เหมือนกับช่วงเริ่มต้นของสำนักข่าวทั้งหลาย

ไอทีวีมีทั้งข้อจำกัด และความ ท้าทายรวมอยู่ในเวลาเดียวกัน การทำข่าวของไอทีวีที่เล่นกับความรู้สึกของคนดู เพื่อไม่ให้ข่าวมีความจืดชืด ภาพที่ได้จึงมีความสำคัญไม่แพ้เนื้อหา

"สมมติ ไปทำข่าววัดธรรมกาย ช่างภาพต้องเรียนรู้เลยว่า มุมกล้องตรงนี้ไม่เอา ต้องเอามุมแคบ เช่น ไปสัมภาษณ์เด็กคนหนึ่งที่กำลังร้องไห้ เราจะโค้ดไปที่หน้า ซึ่งจะให้ความรู้สึกได้มากกว่า ซึ่งทีวีช่องอื่นๆ เขาจะเล่นในมุมกว้างๆ แต่ไอทีวีเป็นช่องแรกที่ทำแบบนี้ เราจะให้เอาอารมณ์ความรู้สึกออกมาให้มากที่สุด นี่คือ เคล็ดลับอย่างหนึ่งของไอทีวี" เทพชัยบอก

อัชฌาบอกว่า ช่างภาพของไอทีวีจะถูกฝึกให้มีมุมมองที่แตกต่างไปจากสถานีโทรทัศน์ช่องอื่นๆ ซึ่งจำเป็นต้องเน้นความมีชีวิตชีวา น่าติดตาม

"อย่างข่าวไฟไหม้บ้านวอดวาย ไป 20 หลังคาเรือน หากเป็นสถานีโทรทัศน์ช่องอื่น จะรายงานข่าวเกิดไฟไหม้ขึ้นเมื่อไหร่ เวลากี่โมง แต่นักข่าวไอทีวีจะต้องไปหาแง่มุมอื่นๆ ไปดูถึงชีวิตเบื้องหลังที่ถูกไฟไหม้ ไปเจอลุงแก่ๆ คนหนึ่ง ที่กำลังหยิบปลาช่อนขึ้นมา แกบอกว่านี่คืออาหารเย็นที่ให้ลูกกับหลานที่กลับจากทำงาน ภาพ ข่าวของไอทีวีเย็นวันนั้นจะขึ้นด้วยคำพูดที่ว่า อาหารเย็นที่ลุงเตรียมไว้สำหรับลูกหลาน แต่ไมรู้ว่ามื้อเย็นของครอบครัวนี้จะไปกินกันที่ไหน เพราะบ้านถูกไฟไหม้ในกองเพลิงแล้ว และจึงบรรยายว่าเกิดไฟไหม้ขึ้นที่ไหน นี่คือการที่เราเล่นกับภาพ ให้มีสีสัน มีชีวิต" อัชฌาบอกถึงการเล่นกับอารมณ์ของคนดู เพื่อสร้างสีสันให้ข่าวมีชีวิตเหมือนกับละคร

ส่วนผสมอีกอย่างหนึ่งของความเป็นข่าวสไตล์ไอทีวี ที่ขาดไม่ได้เลยก็คือการมี "โปรดิวเซอร์" และไอทีวี จัดเป็นสถานีโทรทัศน์ที่ใช้โปรดิวเซอร์เปลืองที่สุด

อัชฌาเล่าว่า โปรดิวเซอร์ของไอทีวีเหล่านี้จะต้องทำหน้าที่มองภาพรวมของข่าวโทรทัศน์ ที่เน้นการเล่นด้วยภาพ และเล่นด้วยเสียงและข้อ มูล บรรดาครีเอทีฟเหล่านี้ก็ไม่ต่างไปจากผู้อำนวยการสร้างหนัง ที่ต้องทำให้ข่าวมีความน่าดูมีชีวิตชีวา ดูแล้วไม่เบื่อ โปรดิวเซอร์ของไอทีวีทั้งสิบกว่าคน จะถูกจัดสรรไปอยู่ประจำแต่ละโต๊ะข่าว เพื่อมองภาพรวมของโต๊ะข่าวเหล่านั้น และมองภาพรวมของภาพข่าวไอทีวีทั้งหมดด้วย

"ข่าวจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ที่ถูกส่งผ่านศูนย์ข่าวใน 7 จังหวัด จะถูกฟีดสัญญาณผ่านดาวเทียมมาที่ศูนย์ข่าวกลางที่กรุงเทพฯ โปรดิวเซอร์ของไอทีวี จะต้องทำหน้า ที่ดูภาพรวมของข่าวในแต่ละภาคด้วยว่า ข่าวไหนจะเป็นข่าวนำ ข่าวรอง เมื่อมีข่าวหนักแล้ว ควรมีข่าวเบาๆ ดูแล้วสนุกสนานไม่เครียด นี่คือ การมองภาพรวม" อัชฌาบอก

ศูนย์ข้อมูลที่ไอทีวีทำขึ้นมาเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งจะเริ่มขยายใหญ่ขึ้นไปตามลักษณะของงาน นอกจากข้อมูลแล้ว ระบบภาพสำหรับที่นี่เป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งส่วนหนึ่งจะใช้ "มอนิเตอร์" ผลงานที่ผ่านมา และใช้แก้ปัญหาต่อไป ที่ชัดเจนก็คือ หลังเหตุการณ์เครื่องบินตกที่สุราษฎร์แล้ว มีการจัดตั้งทีมเฉพาะกิจขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งทีมเฉพาะกิจนี้จะต้องหิ้วกระเป๋าเดินทางได้ทันที

ขายอย่างเดียวไม่ได้

ถึงแม้ว่า ไอทีวีจะมีความโดดเด่นในเรื่องของการเป็นสถานีข่าว แต่ในโลกความเป็นจริงทางธุรกิจ ยังต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่ทำให้ไอทีวี ขับเคลื่อนต่อไปได้ ฝ่ายการตลาด และฝ่ายขาย คือองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของไอทีวี ที่ต้องทำหน้าที่เป็นกองหลังคอยสนับสนุนกองหน้า แต่ความเป็นสถานีโทรทัศน์เกิดใหม่ และเกิดมาในช่วงที่วิกฤตเศรษฐกิจ ที่ไอทีวี ฝ่ายขายต้องทำทั้งกองหน้าและกองหลังในเวลาเดียวกัน

เงื่อนไขของไอทีวีอยู่ที่ความ สนใจจากผู้ผลิตรายการที่จะมาเช่าเวลายังมีน้อย การผลิตรายการเกือบ 80% จึงตกเป็นภาระของไอทีวีที่ต้องทำหน้าที่นี้ด้วยตัวเอง ซึ่งแตกต่างไปจากสถานีโทรทัศน์ช่องอื่นๆ ที่เวลาส่วนใหญ่ถูกขายไปให้กับผู้ผลิตรายการที่มาเช่าเวลา หรือรับจ้างผลิต

เมื่อความหลากหลายของโปรแกรมรายการมีน้อย เมื่อเทียบกับ สถานีโทรทัศน์ช่องอื่นๆ ที่มีผู้ผลิตรายการอยู่ในมือจำนวนมาก การเป็น สถานีข่าวของไอทีวี ได้กลายเป็นข้อจำกัด ในแบบวิเคราะห์เรตติ้งคนดูของเอซีนีลสัน (ดีมาร์) เจ้าตำรับวิจัยเรตติ้งผู้ชมรายการโทรทัศน์ประเมินออกมา ก็ยิ่งเป็นอุปสรรคชิ้นใหญ่ทำ ให้ไอทีวีไม่สามารถนั่งรองบโฆษณาจากเอเยนซีโฆษณา เมื่อเอเยนซีส่วนใหญ่ยังคงยึดเอาตัวเลขจากเอซีนีลสันเป็นคัมภีร์ในการลงโฆษณาให้กับลูกค้า ถึงแม้ว่าไอทีวีจะมีตัวเลขที่ว่าจ้างสถาบันราชภัฎและเอแบคโพลล์สำรวจความนิยมของคนดู และก็พบความสนใจของคนดูที่ให้การต้อนรับไอทีวีเป็นอย่างดีก็ตาม

ทั้งหมดนี้คือ โจทย์ที่ฝ่ายขาย ที่มีหน้าที่โดยตรงกับการหารายได้เข้าสถานี จะต้องไปหาคำตอบให้ได้

สุรศักดิ์ ซิมตระกูล ผู้อำนวยการฝ่ายขาย บริษัทไอทีวี เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้ ความรับผิดชอบของฝ่ายขายของ

ไอทีวีจะแตกต่างไปจากสถานีโทร-ทัศน์ช่องอื่นพอสมควร เพราะฝ่ายขายไอทีวีจะต้องขายโฆษณาในราย การที่ผลิตขึ้นมา 80% เอง เรียกง่ายๆ ก็คือ ขายทั้งสถานี ในขณะที่สถานีโทรทัศน์ช่องอื่นอาจขายแค่รายการ การทำงานของฝ่ายขายจึงยากกว่าปกติ เพราะต้องผสมผสานทุกอย่างให้ลงตัว ไม่ว่าจะเป็นการขายรูทสปอต หรือแม้กระทั่งผลิตสปอตโฆษณาให้กับลูกค้าด้วย

พูดง่ายๆ ฝ่ายขายของไอทีวี ไม่สามารถนั่งกระดิกนิ้วรอรับเงินรายได้จากค่าเช่าเวลาที่เก็บจากผู้ผลิตรายการเหมือนกับช่องอื่นๆ หรืออย่างดีก็ออกไปหาลูกค้าในบางรายการที่สถานีผลิตเองบ้าง ซึ่งก็จะมีรูทสปอตที่เอเยนซีโฆษณาทำมาสมบูรณ์แล้วส่งมาให้ออกอากาศ

ฝ่ายขายของไอทีวี จำเป็นต้องพลิกตำราการตลาดทุกรูปแบบมาใช้ สำหรับไอทีวีจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และกรรมการผู้จัดการจะมีภารกิจที่ต้องออกไปพบลูกค้าเป็นประจำพร้อมกับพนักงานขาย

โครงสร้างภายในของฝ่ายขาย ไอทีวี นอกจากจะมีทีมขายแล้ว ที่นี่ยังตั้งเป็นเอเยนซีโฆษณา มีแผนกโปรดักชั่นเฮาส์เพื่อรับผลิตรายการโฆษณาให้กับลูกค้าด้วย เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของลูกค้าแบบครบวงจร

"สปอตโฆษณาที่ออกในไอทีวีหลายชิ้น เป็นโฆษณาที่ไม่เคยออกให้ช่องอื่นมาก่อน นี่คือสิ่งที่เรียกว่าบริการที่แตกต่างไปจากช่องอื่นๆ และเป็นสิ่งที่จะสร้างแรงจูงใจให้กับลูกค้า"

สุรศักดิ์มองว่า วิธีนี้จะทำให้ ไอทีวีได้ลูกค้าประเภทที่มีงบประมาณ โฆษณาไม่มาก ไม่มีเงินจ้างโปรดักชั่น เฮาส์แพงๆ ไม่ต้องการความพิถี พิถันมากนักแต่สามารถถ่ายทอดคอนเซ็ปต์ของสินค้าออกมาได้ ซึ่งลูกค้าเหล่านี้มีอยู่ในตลาดไม่น้อย เป็นช่องว่างที่ไอทีวีมองเห็น และที่ผ่านมาไอทีวีก็มีลูกค้าอย่างมาม่า ของ ค่ายสหพัฒนพิบูล น้ำยาลบคำผิด น้ำยาฆ่าหญ้า มาใช้บริการพอสมควร

นอกจากรับผลิตโฆษณาแบบรูทสปอต ข้อเสนอใหม่ของไอทีวีที่ให้กับลูกค้าก็คือ การรับผลิต โปรแกรมรายการให้กับลูกค้าที่ต้อง การมีรายการของตัวเอง เช่น การทำเป็นรายการประเภทเกมส์โชว์ หรือ สารคดีสั้น ซึ่งเป็นวิธีการหาโฆษณาแบบหนึ่งสำหรับลูกค้าที่ต้องการรูปแบบโฆษณาเป็นของตัวเอง เช่น รายการคลีนิครัก ที่ไอทีวีผลิตให้กับผลิต ภัณฑ์ดูเร็กซ์ ซึ่งต้องการทำเป็นสาร-คดีสั้นๆ เกี่ยวกับปัญหาทางเพศ

วิธีนี้จะทำให้ไอทีวีมีรายได้จากโฆษณามากขึ้น ยังเท่ากับเป็น การเพิ่มรายการสั้นๆ เข้ามาในสถานีด้วย ความยืดหยุ่นในเรื่องเวลาออกอากาศให้กับลูกค้า เป็นหัวใจสำคัญอีกอย่างหนึ่งของกลยุทธ์การขายที่ไอทีวี สุรศักดิ์เล่าว่า ในขณะที่โทรทัศน์ช่องอื่นคิดค่าโฆษณา 30 วินาที 1 แสนบาท แต่ที่ไอทีวี 1 แสนบาท จะสามารถลงได้ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ออกทุกชั่วโมง หรือแม้แต่รายการข่าว ที่อยู่ในช่วงไพรม์ไทม์ก็ไม่มีข้อยกเว้น ลูกค้าสามารถเลือกซื้อได้ตั้งแต่ 40 วินาที มาจนถึงแค่ 5 วินาที

"เมื่อจำนวนคนดูสู้ช่องอื่นไม่ได้ เราก็ต้องจำนวนมากเข้าว่า เช่นลูกค้าหากไปซื้อโฆษณากับช่องอื่นได้ 30 วินาทีจ่าย 1 แสนบาท แต่เขาซื้อไอทีวี เขาจะได้ออกตั้งแต่เช้าจรดเย็นเลย เราก็มาดูเลยว่า ถ้าลงกับไอทีวีจะออกได้กี่ครั้ง ออกทั้งวันก็ได้ จะเลือกออกช่วงไหนก็ได้ นี่คือสิ่งที่เราทำ เพื่อหาทางออกให้กับตัวเอง"

สุรศักดิ์ บอกว่า นอกจากไอทีวีต้องทำตัวเป็นเอเยนซีมีโปรดักชั่นเฮาส์ผลิตโฆษณาให้ลูกค้า ที่นี่ยังต้อง มีครีเอทีฟ เพื่อออกแบบแพ็กเกจการขาย เพราะไอทีวีไม่สามารถเดินไปหาลูกค้าเพื่อขายโฆษณาละครเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือรายการใดรายการหนึ่งแต่เซลส์แมนของไอทีวีต้องขายเวลาทั้งสถานี

ทีมขายของไอทีวีจะถูกแบ่งออกไปตามพื้นที่ของลูกค้า เช่น ทีมดูแลเอเยนซี หรือทีมดูแลกลุ่มลูกค้าประเภทต่างๆ ซึ่งเซลส์แมนเหล่านี้จะนำเวลาโฆษณาที่ถูกทำขึ้นเป็นแพ็ก เกจไปเสนอขายให้ลูกค้า

"ช่องอื่นๆ หรือผู้ผลิตรายใหญ่ๆ เขามีอย่างมากไม่เกิน 5-6 ราย การที่ไปขายให้ลูกค้า แต่ของไอทีวีมี 50-60 โปรแกรม ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ว่าพนักงานขายของเราจะไปนั่งอธิบาย ให้ลูกค้าฟังได้ทั้งหมด เราจึงต้องมีฝ่ายซัปพอร์ต เพื่อออกแบบแพ็กเกจให้ลูกค้าแต่ละราย เช่น ลูกค้าที่ต้อง การโฆษณาช่วงข่าว เราจะมีข่าวเช้า กลางวัน ภาคค่ำ จัดให้ตลอดทั้งวัน หรือต้องการสารคดีเราก็มีแพ็กเกจให้ ลูกค้าเขาจะรู้ว่าสินค้าของเขาจะเหมาะ กับรายการประเภทไหน"

สิ่งเหล่านี้คือ การขายที่สุรศักดิ์ ซึ่งคร่ำหวอดอยู่ในวงการทีวีมาหลายสิบปีเองก็ยังไม่เคยเห็นในตำราเล่มไหน แม้แต่เอเยนซีก็ไม่มีใครทำ

ในบรรดามือการตลาดของธุรกิจโทรทัศน์ สุรศักดิ์ จัดว่ามีฝีมือไม่เป็นรองใคร เพราะเขาเป็นคนริเริ่มรายการมาตามนัดเกมส์โชว์ยอดฮิตที่มีอายุยืนยาวที่สุดในยุคสมัยหนึ่งมาแล้ว

สุรศักดิ์ จบด้านจัดการอุต-สาหกรรม มาจาก Ferris State College USA เริ่มงานครั้งแรก ที่บริษัทโอชูก้ากรุ๊ป ผู้จัดจำหน่ายขายสเปรย์ฉีดยุงอาท และในช่วงที่อาท ไปเป็นสปอนเซอร์รายการให้กับประตู ดวง ทำให้กิตติกระโดดเข้าสู่วงการทีวีอย่างเต็มตัว เปลี่ยนชื่อจากราย การประตูดวง มาเป็นประตูดวงอาท จากนั้นกิตติก็โลดแล่นอยู่ในวงการทีวี ตลอด เข้าไปทำงานร่วมกับรัชฟิล์มทีวี ผลิตรายการมาตามนัด ที่ฮิตติดลมบนในช่วงสิบกว่าปีที่แล้ว ตามมาด้วยรายการน่ารักน่าลุ้น และกาลิเลโอเป็นรายการสุดท้าย ก่อนจะตัดสินใจมาทำงานที่ไอทีวี ตามคำชวนของกิตติ โรจน์ชลาสิทธิ์ แห่งกันตนาทีรู้จักชอบพอกันมาสิบกว่าปีตั้งแต่สมัยทำรายการมาตามนัด

แนวทางการผลิตรายการของสุรศักดิ์ จะต้องเดินควบคู่กับการขาย มาตลอด การทำรายการของสุรศักดิ์ คือ จะต้องทำแล้วขายได้ด้วย การทำข่าวในรูปแบบของไอทีวี ที่มีสีสันของความร้อนแรง ประเภทกัดไม่ปล่อย สำหรับสุรศักดิ์แล้ว ช่วยฝ่ายขายในแง่ของกระแส และทำให้คนรู้จักไอทีวีมากขึ้น

เมื่อถามว่าที่แล้วมาประสบความสำเร็จเพียงใด สุรศักดิ์ตอบสั้นๆ แต่ได้ใจความว่า ทั้งหมดนี่คือสิ่งที่ทำให้ไอทีวีอยู่รอดมาได้ สิ่งที่เขาคาดหวังจากนี้ก็คือ เมื่อเครือข่ายเสร็จสมบูรณ์แล้ว จะมีผู้ผลิตจากข้างนอกมาเช่าเวลาของไอทีวีมากขึ้น และเมื่อนั้นฝ่ายขายจะทำงานน้อยลง

ผังรายการไอทีวี

นอกจาก "ข่าว" ที่เป็นหัวหอก หลักของไอทีวีแล้ว การสร้างสีสันให้กับรายการในช่วงเวลาอื่นๆ ของไอทีวี ก็มีความจำเป็น และหน้าที่ของศศิกร ฉันท์เศรษฐ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ด้านธุรกิจรายการ จะต้องหาจุดลงตัวให้กับไอทีวี

ปัญหาสำคัญของไอทีวี ก็คือ การที่รายได้หลักของไอทีวีมาจาก "ข่าวและสาระ" ซึ่งแม้จะทำรายได้ให้ถึง 80% ของรายได้รวม แต่เป็นรายได้ที่ไม่สามารถหาเลี้ยงสถานีได้ทั้ง หมด ภาระของศศิกรคือ ต้องหารายการมาลงในช่วงเวลาที่เหลือเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับไอทีวี ศศิกร บอกว่า ความเป็นไอทีวีมีข้อจำกัดหลายด้าน ทำให้เธอต้องเจอโจทย์ยากกว่าปกติ ปัญหาหลักของไอทีวีคือ การต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนสูงมาก ขณะเดียวกันก็เจอข้อจำกัดในการหารายได้ เนื่องจากเงื่อนไขของสัญญาสัมปทานที่ต้องเน้นรายการข่าวและสาระ 70% จึงเป็นโจทย์ที่ขัดแย้งกัน เพราะเม็ดเงินโฆษณาส่วนใหญ่ของทีวีเมืองไทยจะไปอยู่กับรายการบันเทิงเป็นหลัก

"ถ้าเราไม่มีรายจ่ายเป็นปัจจัย ไอทีวีคงทำงานอย่างสบาย และรู้ว่าตัวเองจะไปทางไหนตั้งแต่ปีแรกที่ทำงาน แต่ข้อจำกัดนี้ทำให้เราต้องคิดแล้วคิดอีก แนวทางของเราก็ต้องยึดนโยบายเดิม คือเอาข่าวนำ เพราะข่าวเป็นตัวทำรายได้หลักให้กับเรา ขณะเดียวกันส่วนอื่นก็ต้องพัฒนาตามข่าวให้ทัน เพราะคนจะดูข่าวอย่างเดียวก็เป็นไปไม่ได้"

การปรับผังรายการดูจะเป็นเรื่องปกติสำหรับไอทีวี ตลอดช่วงเวลา 3 ปีมานี้ ไอทีวีต้องปรับผังรายการเป็นประจำ ต้องลองผิดลองถูกมาโดยตลอด และการลองผิดครั้งใหญ่ ครั้งล่าสุดของไอทีวี ก็คือ การหันมาทดลองผลิตรายการละครแนวซิทคอม จุดประสงค์สำคัญของไอทีวีคือ ต้องการเพิ่มเม็ดเงินด้านบันเทิงในช่วงหลังข่าวให้เข้ามามากขึ้น ขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งความเป็นสถานีข่าวของไอทีวีคือ เลือกเอาเรื่องที่อยู่ในสถานการณ์ข่าวมาเขียนเป็นบทละคร แต่ด้วยความที่บทละครยังไม่ดีพอ และต้นทุนที่มีอยู่จำกัด หลังจากออกอากาศมาได้ 3 เดือน ไม่มีเสียงตอบรับจากคนดูและเจ้าของสินค้า ไอทีวีก็ต้องถอดใจพับรายการเข้ากระเป๋า และหันไปซื้อภาพยนตร์ซีรีส์จากต่างประเทศมาฉายแทน

"งานโทรทัศน์เหมือนงานศิลปะ ไม่มีสูตรตายตัว เพราะบางครั้งเราเชื่อมั่นว่าดี และประสบการณ์ในอดีตมันก็ดีจริงๆ แต่พอเอาเข้าจริงก็อาจล้มเหลว" ศศิกร สะท้อนแนวคิด

เครือข่ายการรับสัญญาณของไอทีวีที่ครอบคลุมมากขึ้น บวกกับข้อจำกัดในเรื่องรายได้เป็นแรงบีบทำให้ฝ่ายรายการของไอทีวีต้องทำงานหนัก ขึ้น

การนำภาพยนตร์ซีรีส์มา แม้จะไม่ให้เม็ดเงินรายได้โฆษณาก้อนใหญ่เหมือนกับละครของสถานีโทร-ทัศน์ช่องอื่นๆ แต่ไอทีวีก็เริ่มเดินมาถูกทาง เมื่อสร้างกลุ่มคนดูเฉพาะกลุ่มที่ชื่นชอบหนังฝรั่งก็พอทำให้ไอทีวี มีรายได้มาหล่อเลี้ยงเดือนละ 8-10 ล้านบาท ขณะเดียวกันไอทีวีจึงต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หันไปเล่นกับโปรแกรมพิเศษ เพื่อกระตุ้นคนดูและ รายได้เป็นครั้งคราว เช่น การไปสัมภาษณ์ดะไลลามะ รวมทั้งการใช้กลยุทธ์การตลาดมาจัดทำเป็นราย การเพื่อกระตุ้นคนดูรายการของ สถานี เช่น รายการเกาะติดเกมส์ ที่ให้คนดูโทรเข้ามาทายปัญหา ที่จะมีทุกๆ ช่วงเวลา เป็นวิธีการหนึ่งที่เล่นกับความเป็นสถานีเพื่อสร้างให้คนติดตามดูรายการของไอทีวี ผลตอบรับจากภาพยนตร์ซีรีส์ ทำให้ไอทีวีเริ่มมองเห็นแนวทางที่ชัดเจนขึ้น โดยไปซื้อภาพยนตร์จีน "มังกรหยก ภาค 2" มาฉายในช่วงเวลา 18.00 น. วิธีการนี้ ศศิกรเชื่อว่า จะดึงคนดูให้ติดตามไอทีวีมากขึ้น ถึงแม้จะไม่ถึงกับระดับ MASS เหมือน กับละคร แต่ก็ไม่แพงเหมือนกับลงทุนผลิตละคร

"ผังรายการต่อจากนี้จะอยู่ไปได้อีกนาน เพราะทุกอย่างค่อนข้างลงตัว ที่เหลือจะเป็นการพัฒนา รายละเอียดของรายการ เช่น เมื่อซีรีส์จบก็ต้องหาหนังเรื่องใหม่เข้ามา แต่ก็ยังเป็นหนังซีรีส์เหมือนเดิม หรือไอทีวีทอล์ก เราก็ต้องพัฒนารูปแบบให้ตื่นเต้นมากขึ้น"

ก่อนหน้าจะมาร่วมงานกับไอทีวี ศศิกร ดูแลการผลิตรายการทั้งหมดของกันตนา ยกเว้นละคร เช่น รายการท้าพิสูจน์ ชีวิตพิสดาร แฝดสยาม เสรีไทย และเกมส์โชว์ต่างๆ เธอมาทำงานในไอทีวีตามคำชักชวนของกิตติ โรจน์ชลาสิทธิ์ รองประ-ธานกรรมการกันตนา และเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นของกันตนา ศศิกร เล่าว่า ภาระในกันตนาและไอทีวีแตกต่างกันมาก ในกันตนา เธอจะดูเฉพาะรายการเพียงอย่างเดียว แต่ในไอทีวีเธอต้องรับผิดชอบรายการ ทั้งหมดของไอทีวี

การปรับรายการเป็นเรื่องปกติ ของสถานีโทรทัศน์เพื่อสร้างสีสันใหม่ๆ ให้คนดู ไม่ให้เบื่อหน่าย แต่ที่ไอทีวีการปรับผังรายการเป็นเรื่องทำกันประจำโดยเฉพาะในช่วงแรกๆ ที่ปรับบ่อยมาก รายการของไอทีวีจะมาจาก 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายรายการ จะทำหน้าที่ไปซื้อภาพยนตร์จากต่างประเทศมาฉาย ฝ่ายผลิต จะเป็นรายการประเภทที่ผลิตขึ้นเอง เช่น 2000 ดาวดวงเล็ก ที่เหลือจะมาจากฝ่ายข่าว นอกจากรายการข่าว จะเป็นรายการถอดรหัส และจับกระแสโลก

การเลือกว่าจะเอารายการไหน ลงผังรายการของไอทีวี จะต้องให้คณะกรรมการผังรายการเป็นผู้ พิจาร-ณา บอร์ดผังรายการจะประกอบด้วย ตัวแทนจากทุกฝ่ายของไอทีวี ที่ต้องระดมความเห็นและตัดสินใจ ไม่ใช่มาจากฝ่ายรายการ

นิมะ ราซิดี ผู้อำนวยการฝ่ายรายการ เป็นอีกคนหนึ่งที่มีประ-สบการณ์ยาวนานในธุรกิจโทรทัศน์ ทำงานอยู่กับช่อง 3 มาเป็นเวลากว่า 17 ปี ตำแหน่งล่าสุดคือ ผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายรายการ ซึ่งมีอัมพร มาลีนนท์ เป็นหัวหน้าฝ่ายและเป็นหัวหน้าโดยตรง ก่อนมาอยู่ไอทีวี นิมะเคยไปทำงานให้กับไอบีซี ของค่ายชินวัตร ที่เคยไปลงทุนทำโทรทัศน์ที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา มาได้ 2 ปีครึ่ง พอตอนหลังไอบีซียุบกิจการที่เขมร นิมะจึงกลับมาทำงานไอบีซีที่กรุงเทพฯ ได้ปีเดียวก็มาทำงานที่ไอทีวี

การทำงานในไอทีวี เป็นการอาศัยประสบการณ์เดิมของเธอในการจัดดูแลผังรายการ ซื้อขายหนัง ให้เช่าเวลา รวมถึงดูแลการออกอากาศของไอทีวีด้วย

พ่อบ้านไอทีวี

ภาระหน้าที่ในฐานะของผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านบริหาร ของธาดา โพธิวิหค ไม่ต่างไปจากพ่อบ้าน ดูแลในเรื่องที่เกี่ยวกับ Back office ของไอทีวีทั้งหมด ตั้งแต่บัญชีการเงิน บุคคล ระบบข้อมูลสารสนเทศ รวมทั้งคิวโฆษณา

ธาดามีหน้าที่ดูแลพนักงาน

ไอทีวีที่ขยายจาก 200 คนในช่วงแรกจนเป็น 817 คน ในจำนวนนี้เป็นฝ่ายข่าว 217 คน ฝ่ายผลิต 100 คน และฝ่ายรายการ 100 คน ธาดาก็เหมือนกับทุกคนใน

ไอทีวี ที่มองว่า การที่ไอทีวีสร้างชื่อติดตลาดได้เร็ว ก็คือ การเลือกคนที่มีประสบการณ์ตรงกับสายงานทั้งฝ่ายข่าว เทคนิค ฝ่ายรายการ และฝ่ายการตลาด

"เนื่องจากเราเกิดมาเร็วมาก การฝึกของไอทีวีจึงเน้นการฝึกแบบ On the job training คือ ทำงานได้เลย ผมบอกได้เลย ถ้าได้คุยกับนักศึกษาฝึกงานที่นี่ เราจะใช้เขาถ่ายจริง เลย นักศึกษาฝึกงานที่นี่ไม่เหมือนกับคนอื่น เราต้องฝึกให้เขามั่นใจด้วย"

ธาดา เข้ามาร่วมงานในไอทีวี ในช่วงที่ไอทีวีเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง เมื่อ 3 ปีที่แล้ว พร้อมๆ กับศรัณย์ทร ชุติมา กรรมการผู้จัดการ บริษัทไอทีวี จำกัด ทั้งสองคือศิษย์เก่าฝ่ายสินเชื่อของธนาคารไทยพาณิชย์

"ผมกับคุณศรัณย์ทรมาอยู่ ตอนที่เขาเพิ่งฟอร์มทีมงาน แต่โครงสร้างมีอยู่แล้ว เริ่มเซ็ทอัพไปบางส่วนแล้ว ผมกับคุณศรัณย์ทรก็เข้ามาดูในส่วนของเรื่องการบริหาร และหาที่ตั้งสถานี"

ธาดา จบบัญชีการเงิน ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ก่อนบินไปจบปริญญาโทด้านคอมพิวเตอร์ไซน์ที่ แอตแลนต้า ยูนิเวอร์ซิตี้ สหรัฐฯ ใช้ชีวิตการทำงานในอเมริกา 8 ปี เคย ทำงานด้านคอมพิวเตอร์ ในธนาคารเฟิสท์แมเนจเม้นท์ ทำงานโรงแรมฮิลตัน ก่อนจะกลับมาทำงานในแบงก์ไทยพาณิชย์ และในเครือของแบงก์อีกหลายปี จากนั้นก็ถูกชักชวนจากศรัณย์ทรมาทำงานไอทีวี หน้าที่อีกอย่างของธาดา คือ การติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้กับไอทีวี ฐานข้อมูลเป็นเรื่องจำเป็น มากสำหรับฝ่ายบริหารที่นี่ ด้วยข้อจำกัดที่ไอทีวีต้องผลิตรายการทั้ง หมดเองถึง 80% และต้องหารายได้โฆษณาเองฝ่ายบริหารจึงจำเป็นต้องอาศัยประโยชน์จากฐานข้อมูล มาใช้ในการบริหารการขายโฆษณา และรายได้ในแต่ละวัน

ฐานข้อมูลการขายของไอทีวี ไม่ว่าจะเป็นรายการ เวลาโฆษณา ถูกเก็บไว้ในเครื่องแม่ข่าย ที่จะทำหน้าที่ประมวลผล และส่งผ่านระบบอินทราเน็ตไปให้ผู้บริหารของไอทีวีเรียกดูข้อมูล ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกจัดแบ่งไปตามลำดับขั้นของความรับผิดชอบของผู้บริหาร ที่จะมีสิทธิได้รับรู้ข้อมูลได้แค่ไหน

"ผู้บริหารของที่นี่จะสามารถเรียกดูข้อมูลบนหน้าจอได้เลยว่าในแต่ละวันเรามียอดขายได้เท่าไหร่ รายการไหนโฆษณาเข้ากี่เปอร์เซ็นต์แล้ว รายการไหนโฆษณายังว่างอยู่ เซลส์คนไหนเป็นคนขาย เราจะได้รู้สถานภาพของเรา จะวางแผนการขาย ในแต่ละวันได้ รายการไหนต้องขายเพิ่ม รายการไหนขายเต็มแล้ว"

ขณะเดียวกันยังใช้ประ-โยชน์ในเรื่องของการวางแผนคิวโฆษณา ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบ ของธาดา ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยฐาน ข้อมูลมาช่วยตัดสินใจในขณะที่สถานีโทรทัศน์ช่องอื่น คิวโฆษณา อาจถูกกำหนดไว้เป็นเดือนหรือเป็นสัปดาห์ แต่คิวโฆษณาของไอทีวีจะเปิดจนเกือบนาทีสุดท้าย

"ข่าวภาคค่ำ 1 ทุ่มตรง คิวโฆษณาจะเปิดรอได้ถึง 6 โมงครึ่งของเย็นวันนั้น ความยืดหยุ่น เหล่านี้ก็รองรับความต้องการของลูกค้า และรายได้ที่จะต้องเข้ามาหล่อเลี้ยงสถานี ผู้บริหารของ

ไอทีวีจะต้องรู้ข้อมูลการขายโฆษณาในแต่ละช่วงเวลาของแต่ละวัน

การจัดคิวโฆษณาของที่นี่จึงต้องทำงานแข่งกับเวลา และระบบสารสนเทศจึงมีความจำเป็น อย่างมาก ซอฟต์แวร์ใหม่ที่ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศพัฒนาออกมาเพิ่งถูกบรรจุใส่ศูนย์คอมพิวเตอร์ "เราจะเปิดขายจนวินาทีสุดท้าย โฆษณาสามารถเสียบเข้ามาได้ตลอด รายการที่เรียบร้อยไปแล้วเราสามารถรื้อใหม่ได้ตลอด เราจำเป็นต้องยืดหยุ่น ไม่อย่างนั้นเราอยู่ไม่ได้" นี่คือส่วนหนึ่งของกระบวนการที่ทำให้ไอทีวีมีวันนี้

นี่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไอทีวี จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด การเกิดในยามข้าวยากหมากแพงทำให้ไอทีวีต้องดิ้นรนมากกว่าปกติ สำหรับธาดา โพธิวิหค แล้ว เขาเชื่อว่าไอทีวีผ่านจุดที่ยากลำบากที่สุดไปแล้ว

3 ปีของไอทีวี ไม่ได้เกิดมาได้เพราะ "พระเอกขี่ม้าขาว" แต่เกิดขึ้นมาจากประสบการณ์ของ คนเหล่านี้ ที่ถูกนำสู่เบ้าหลอมเดียวกันและกลายเป็นไอทีวี ที่กำลังจะเป็นสถานีโทรทัศน์พันธุ์ใหม่ของเมืองไทย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.