สุทธิชัย หยุ่น "ผมจะผิดอย่างเดียวคือขยันมากไป"


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

การเปิดศึกของสุทธิชัย หยุ่น ในวันที่ 28 มิถุนายน 2542 คำพูดในวันนั้นของสุทธิชัย หยุ่น ก็สะท้อนมุมมอง และปัญหา ที่อธิบายผ่านคำพูดของเขาในวันนั้นได้เป็นอย่างดี

"วันนี้ผมจะพูดในนามสุทธิชัย หยุ่น คนที่ทำงานทั้งเนชั่น และไอทีวี อยู่กับไอทีวีมาตั้งแต่วันแรกรู้ว่าเนชั่นเข้ามาอย่างไร ทำอะไรให้ไอทีวี และทางออกของปัญหา ขณะนี้ควรจะเป็นอย่างไร"

สุทธิชัย หยุ่น ยืนยันว่า จะยังเป็นกรรม การของไอทีวี และตราบใดที่ยังเป็นผู้ถือหุ้นของไอทีวีจะต่อสู้เพื่อให้ฝ่ายข่าวของไอทีวี รักษาไว้ซึ่งความเป็นอิสระและคุณภาพดังที่ประชาชนตั้งความหวัง

"ผมขอพูดว่า อิสรภาพของฝ่ายข่าวไอทีวีจะเป็นหัวใจ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับกรรมการ และผู้ถือหุ้นก็ตาม ผมไม่เข้าใจว่าประธานคนใหม่ของไอทีวียุบเลิกคณะกรรมการบริหารของไอทีวีด้วยเหตุผลอะไร ที่บอกว่าซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการใหญ่ฟัง ดูก็แปลก เพราะแม้แต่กระทั่งธนาคารไทยพาณิชย์ เองก็มีบอร์ดใหญ่ และบอร์ดเล็ก ซึ่งหน้าที่ของคณะกรรมการทั้งสองก็ต่างกันอย่างสิ้นเชิง ไอทีวีไม่ใช่เรื่องที่จะประชุมเดือนละครั้ง แล้วจะมาทำให้เป็นสถานีที่มีคุณภาพ"

สุทธิชัย ไม่เชื่อว่า ผู้ใหญ่ และคณะกรรมการ ของธนาคารไทยพาณิชย์จะต้องการเข้ามายึดไอทีวีทั้งทางด้านการบริหาร และสั่งงานข่าว ปัญหาอาจเกิดจากคนที่ธนาคารส่งมาเป็นกรรมการผู้จัดการ ที่กำลังทำให้เกิดความปั่นป่วน แตกแยกและแบ่งพรรคพวกกันในไอทีวี

"พูดกันเยอะเหลือเกินว่า เนชั่นมายังไง มาครอบงำไอทีวี ขอบอกก่อนว่า ที่ไอทีวีไม่มีเนชั่นทุก คนมาทำงานให้ไอทีวี ไอทีวีมีคนจากทุกแห่ง ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 9 ทุกคนกินเงินเดือนไอทีวี รวมทั้งผมด้วย ในฐานะที่เป็นคนไอทีวีเต็มตัว ปลุกปั้นกันมาตั้งแต่ต้น"

สุทธิชัยบอกว่า เนชั่นเข้ามาในไอทีวีเมื่อ 4 ปีที่แล้ว จากการที่บรรณวิทย์ บุญญรัตน์ เป็นคนโทรศัพท์ไปเชิญเนชั่น ด้วยเงื่อนไขที่ชัดเจนว่า ให้เข้ามาบริหารเนื้อหาสถานี 70%

"เรามาด้วยเงื่อนไขที่ชัดเจนว่า เราจะมาทำสาระ วันนี้มีพาดหัวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ We don"t need nation เกิดอะไรขึ้นมา 4-5 วันที่ผ่าน มามีการพยายามสร้างข่าวออกไปต่างๆ นานาที่สนุก ที่สุดคือ สุทธิชัยออกไปเพราะหนีความไม่ชอบมาพากลเรื่องเงิน สนุกที่สุดในชีวิตผมที่เจอ ไม่เคยคิดเคยเจอว่า ไอ้การสร้างข่าวปั้นสีมันเป็นยังไง"

เขาบอกว่า รายการข่าวทำรายได้ให้สถานีไอทีวี 80% จากรายได้ทั้งหมดที่ไอทีวีทำมาได้ จากเนื้อหา 70% ที่ฝ่ายข่าวผลิตป้อน ซึ่งเป็นทีมงานข่าวที่ฟอร์มขึ้นใหม่หมด และคนของเนชั่นที่มาทำงานในไอทีวีก็มีไม่เกิน 10 คน แต่กลับถูกด่าว่ามาครอบงำไอทีวี

"มาดูที่โครงสร้างของไอทีวี มีบอร์ดใหญ่ ประธานก็เป็นคนของธนาคารไทยพาณิชย์ และมีกรรมการ 4 คน ในนี้เป็นคนเนชั่น 2 คน บอร์ดเล็ก ประธานเป็นคนของธนาคารไทยพาณิชย์ มีคุณบรรณวิทย์เป็นประธาน มีกรรมการไทยพาณิชย์ 2 คน เนชั่นมี 2 คน ส่วนกรรมการผู้จัดการเป็นคนของธนาคาร คือ คุณศรัณย์ทร ดูแลการเงิน การตลาด การผลิต ฝ่ายรายการ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ มีฝ่ายข่าวฝ่ายเดียวที่ผมมาร่วมในการบริหาร และผมมาร่วมแค่เนื้อหาเท่านั้น ผมก็ต้องมาปกป้องอิสรภาพของคนข่าวเท่านั้นเอง แต่งบประมาณบุคลากร คุณศรัณย์ทร เป็นคนดูแลทั้งนั้น ไปถามฝ่ายข่าวได้ เช็คทุกใบของไอทีวี ผังรายการทุกผังของไอทีวี ผ่านกรรมการผู้จัดการคนนี้ทั้งนั้น ผมไม่เคยไปเกี่ยวข้องกับการเงินรายได้ รายจ่ายของไอทีวีเลยแม้แต่บาทเดียว แล้วผมครอบงำไอทีวีตรงไหน ผมไม่เคยแสดงอำนาจบาตรใหญ่กับแผนกไหนเลย ออฟฟิศที่ไอทีวีผมยังไม่มีเลย"

"ผมเรียนให้ทราบว่า ถ้าผมจะผิดอย่างเดียว ผมทำงานมากไป ขยันมากไป"

สุทธิชัยบอกว่า ตอนมาไอทีวีใหม่ๆ ก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายทุกวิถีทาง ทำงานมา 30 ปี วัฒนธรรมต้องขี้เหนียวไว้ก่อน มานี่เป็นตึกใหญ่ แอร์ใหญ่ ห้องใหญ่ รถคันใหญ่ ก็ไม่เคยชิน เพราะทุกคนรู้ว่าเนชั่นเกิดมาด้วยความลำบาก ผมขี้เหนียว

สิ่งที่เขาทำคือ 1. ขอยกเลิกค่าจ้างบีบีซี เอ็นจิเนียริ่ง ที่จะมาติดตั้งเสาสัญญาณ 200 ล้านบาทให้มาทำเอง 2. ยกเลิกเบี้ยประชุมกรรมการทั้งหมด ยกเลิกที่ปรึกษา 10 กว่าคน ไม่จ้างพนักงานไม่จำเป็น เวลานั้นมีอยู่ 300 คน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ฝ่ายบริหารไม่ทำตามยังจ้างคนเพิ่มและ จ้างไปแล้ว ทั้งๆ ที่คณะกรรมการบริหารไม่เห็นด้วย

"บอร์ดบริหารถามว่า ทำไมต้องส่งคนไปเมืองคานส์ถึง 6 คน เพื่อไปเลือกซื้อหนัง ปีที่แล้วไม่มีใครไป ปีนี้เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น บอร์ดบริหารมาทราบทีหลัง ไม่ได้มีการขออนุมัติ ซึ่ง 6 คนนี่ใช้เงิน ไม่น้อย"

บอร์ดบริหารได้พยายาม โดยเฉพาะตัวเขา ทำให้ระบบเครื่องมือมารวมศูนย์กลางจะได้ประหยัด เช่น กล้องถ่ายภาพ ทำไมฝ่ายข่าวต้องมีชุดหนึ่ง ฝ่ายผลิตมีอีกชุดหนึ่ง ที่สถานีอื่นเขาจะอย่างนี้ เพราะมีการสร้างจักรวรรดิของตัวเอง และหลายๆ อย่างมันก็มีผลประโยชน์ การซื้อมันมีผลประโยชน์

"ทั้ง 3 ข้อไม่ได้รับการตอบสนองจากฝ่ายบริหาร ทั้งๆ ที่ผมได้พยายามเต็มที่แล้ว ฉะนั้นบอก ได้อย่างไรว่า บอร์ดบริหารมีอำนาจล้นฟ้า กรรม การผู้จัดการใหญ่ไม่มีอำนาจ ผู้อำนวยการใหญ่ไม่มีอำนาจ ท่านทั้งหลายก็ทำ อย่างที่ท่านต้องการ"

ที่สำคัญที่สุด คือ ผังรายการ ที่เป็นหัวใจที่ทำให้ต้องออกมาพูด เพราะว่า ผังรายการเมื่อต้นปี คณะกรรมการบริหารได้ประชุมแล้วบอกว่า ต้องวางแนวนโยบายของไอทีวีให้ชัดเจน ทิศทางของไอทีวีปี 2542 เน้นเรื่องข่าวสาร และสาระที่สร้างความเชื่อถือ ไอทีวีจะเน้นความยืดหยุ่นในเหตุการณ์ข่าวด่วน เหตุการณ์สำคัญๆ ด้วยความเป็นธรรม ด้วยความยุติธรรมและถูกต้อง

คณะกรรมการได้จ้างโฟกัสกรุ๊ป และโอกิลวี่ มาทำแบบสอบถาม ก็พบ ว่า คนชั้นกลางดูข่าวมากขึ้น เลิกดูละครน้ำเน่าหันมาดูข่าวแทน คณะกรรม การจึงเขียนแผนนี้ขึ้นมา เป็นการตอกย้ำให้นำเสนอข่าวสารที่หลากมิติ และข่าวธุรกิจในช่วงกลางวัน ข่าวเบรกกิ้งนิวส์ แต่ฝ่ายบริหารไม่สนใจ ฝ่ายบริหารบอกต้องมีบันเทิงมากขึ้น เนี่ยเหรอที่บอกว่า บอร์ดบริหารมีอำนาจล้นฟ้า

"ผมไมรู้ว่า กรรมการไทยพาณิชย์มีนโยบายอย่างไรต่อไอทีวี และจนถึงวันนี้ผมก็ไม่ชัดเจน เพราะผมไม่เชื่อว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ต้องการอาศัยความเป็นเจ้าหนี้ อาศัยความเป็นผู้ถือหุ้นมายึดไอทีวี และเปลี่ยนแปลงนโยบายของสถานี ผมไม่อยากเชื่อ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่กี่วันที่ผ่านมา ทำให้ผมสงสัยว่า คณะกรรมการไทยพาณิชย์ได้รับรู้ปัญหาในอดีตมากน้อยเพียงใด เพราะถ้าไทยพาณิชย์ต้องการถือตัวว่าตัวเองเป็นเจ้าหนี้แล้วต้องมายึด ฉันเป็นเจ้าหนี้ ฉันต้องบริหารต้องมากำหนดทุกอย่าง รวมทั้งฝ่ายข่าว ผมยอมไม่ได้ เพราะธนาคารไทยพาณิชย์ชวนผมมา ชวนให้มาทำข่าว 70% แล้ววันดีคืนดี บอก ถอยไปฉันจะทำเอง และกลับไปทำให้ไม่เป็นสถานี ข่าวอย่างที่ตกลงกัน ผมคิดว่านี่คือการเปลี่ยนแปลง ครั้งใหญ่ของไอทีวี"

สุทธิชัยบอกว่า เขาไม่เห็นด้วยกับผังรายการ หลายอย่าง แต่ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะถือหุ้นเพียงแค่ 10% นโยบายที่ให้เน้นข่าวและสาระ ก็ถูกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และเชื่อได้ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ไอทีวีมีปัญหาเรื่องรายได้ จากความไม่แน่นอนของผังรายการ

"ผมไม่เคยเห็นด้วยเลย ที่สัดส่วนรายการข่าวลดลงทุกวัน ข่าวภาคค่ำเวลานี้ก็แค่ 1 ชั่วโมง 15 นาทีเท่านั้น ตั้งแต่ 1 ทุ่มถึง 2 ทุ่ม 15 นาที และบอกว่า จะเปลี่ยนแปลงให้เริ่มข่าวจาก 1 ทุ่มมาเป็น 18.30 เป็นเวลาที่เร็วไปสำหรับคนดู ถ้าจะขยายจริงควรจะขยายหลังจาก 2 ทุ่มครึ่งคนจะได้กลับมาดู ฝ่ายข่าวไอทีวีก็ต้องพูดต้องอธิบาย แต่พอพูดไปก็ถูกมองเอาอีกแล้ว ฝ่ายข่าวไอทีวีนี่ซ่าส์ไปหน่อย"

สุทธิชัย บอกด้วยว่า เขาไม่เคยเห็นด้วยกับการถ่ายทอดสด ประเภทนางงามไม่ว่าจะเป็นประเภท 1 หรือ 2 ไม่เห็นด้วยกับการรับจ้างถ่ายทอดสดหลวงพ่อโต ไม่เห็นด้วยกับการที่ส่งทีมข่าวไปอัดรายการของโรงเรียนลูกผู้บริหาร 2 คน

"ทุกวันนี้ไอทีวีมีส่วนเลอะเทอะ ผมไม่เห็นด้วย แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เราไม่เคยคิดขัดขวาง เมื่ออ้างเหตุผลโฆษณาก็ได้ให้โอกาสลองผิดลองถูกมาหลายครั้ง เช่น ไอทีวีวาไรตี้ ไอทีวี Happy Hour ละครซิทคอม แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ เสียเงินไปเยอะ แต่กลับถูกโยนความผิดไปให้ว่า ต้องลดรายการข่าวไปเน้นบันเทิงมากขึ้น ทั้งๆ ที่ข่าวเป็นผู้ทำรายได้ให้สถานี"

เขาตั้งข้อสังเกตว่า ทั้งหมดที่เนชั่นกำลังโดนกล่าวหาอยู่ก็เพราะสิ่งนี้ เพราะฝ่ายบริหารต้องการเปลี่ยนแปลง แต่เนชั่นไม่เห็นด้วย แต่ผู้บริหารที่เป็นตัวแทนของธนาคาร กำลังทำลายปรัชญาของไอทีวี

"ผมเสียใจ เพราะทุกคนฝ่ายข่าวทำงานหนัก ขนาดไหน ภูมิใจขนาดไหน ทุกวันนี้มีคนกล่าวหาผม กล่าวหาฝ่ายข่าว กล่าวหาเนชั่น อย่างนี้เขาเรียกว่าเสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล หรือเปล่า"

สุทธิชัยบอกว่า เนชั่นทำหลายอย่างให้กับไอทีวี เขาเป็นคนต้นคิดเรื่อง FOUNDING SPONSOR เพราะตอนไอทีวีเกิดใหม่ๆ ไม่มีโฆษณา ก็ต้องออกขายความคิด ไปบอกเขาว่าไอทีวีเป็นทางเลือกใหม่จะมีข่าวน่าเชื่อถือ คนไม่ต้องดูละครน้ำเน่า ขอให้เขาเซ็นสนับสนุนงบโฆษณาให้ไอทีวี คนละ 10 ล้านบาท 10 ล้าน 20 ล้านบาทก่อน

"ผมไปคุยกับบริษัทยักษ์ใหญ่ ยูนิลีเวอร์ การบินไทย อีแกท เขาก็เข้าใจดี เพราะเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกับคนที่ผ่าน 14 ตุลาคมมา ผ่านเหตุ การณ์พฤษภาทมิฬมา เขาเข้าใจดีว่า ถ้ามีไอทีวี มีทีวีเสรีแบบนี้ ผมดีใจมากเลย เพราะประสบความสำเร็จเกินคาด ได้มาไม่ต่ำกว่า 20 ราย รายละ 15 ล้านบาทบ้าง 20 ล้านบาทบ้าง ผมรู้สึกภูมิใจมาก เพราะชีวิตนี้ผมไม่เคยขายของ ขายโฆษณาเลย หลายเจ้าก็ยังลงติดต่อมาถึงปีนี้ มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 400-500 ล้านบาท"

เงินที่ไอทีวีได้มา 400-500 ล้านบาทนี้ เป็น การทำให้เนชั่นเสียโอกาส เพราะหน้าสุทธิชัยบอกว่าเป็นเนชั่นด้วย ไอทีวีด้วย ก็ทำให้เนชั่นขายโฆษณาไม่ได้ เพราะเขาให้งบโฆษณากับไอทีวีไปแล้ว ช่วงนั้นโดนเนชั่นด่า ว่าหม้อข้าวใหญ่อยู่ข้างหน้ากลับไม่ช่วย ซึ่งรายได้จากโฆษณาในส่วนนี้ นอกจากเนชั่นเสียหายแล้ว ไม่มีใครได้ค่าคอมมิชชั่นแม้แต่บาทเดียว อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวผู้อยู่ในเหตุการณ์บอกว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นแค่ข้อตกลงด้วยปากเปล่าเท่านั้น แต่เอาเข้าจริง ก็ไม่สามารถเก็บเงินจากบริษัทเหล่านั้นได้ มีเพียงบางแห่งเท่านั้นที่ให้เงินโฆษณามา แต่ไม่มีรายไหนให้ครบตามที่ตกลงไว้เลย

สุทธิชัย บอกว่า เนชั่น มีบริการออนไลน์ นิวส์ใช้นักข่าว 200-300 คน เป็นคนของเนชั่น และกรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ข่าวมาให้ไอทีวีตั้งแต่วันแรกที่เนชั่นมาที่ไอทีวี เพราะไอทีวีจะจ้างนักข่าวแบบนั้นไม่ได้ ทุกวันนี้ให้บริการมา 3 ปีแล้ว เราคิดไอทีวีเดือนละ 10,000 บาท ราคาจริงๆ 4 แสนบาทต่อเดือน เพราะมีข่าวทุกอย่าง

"ผู้ถือหุ้นเนชั่นมีสิทธิจะเล่นงานผม คิดแล้วเนชั่นรายได้หายไป 14 ล้านบาท ถ้าผมเป็นคนบ้าเงินทอง บ้าตัวเลข ไอทีวีไม่มีทางได้ แต่ที่เนชั่นเข้าใจว่า คุณสุทธิชัยเขาทำ เขาคงมีเหตุผล ให้เขาบ้าไปก่อน"

ส่วนกรณีนี้ ผู้รับผิดชอบเรื่องนี้ บอกว่า ในทางปฏิบัติจริง ไอทีวีไม่ได้ใช้บริการออนไลน์ของเนชั่นเจ้าเดียว แต่ต้องใช้บริการข่าวจากสำนักอื่นๆ ด้วย ซึ่งบริการออนไลน์ของสำนักข่าวค่ายอื่นๆ เช่น รอยเตอร์ บิสนิวส์ และแต่ละรายก็ไม่มีใคร คิดราคา

สุทธิชัย ยื่นข้อเสนอให้ธนาคารไทยพาณิชย์ว่า ทางออกของไอทีวี คือ 1. เพื่อรักษาความเป็นกลางและเป็นอิสระของฝ่ายข่าว จะต้องมีตัวแทนของฝ่ายข่าวอยู่ในระดับนโยบาย ให้ฝ่ายข่าวมีสิทธิรับรู้ทุกอย่าง

2. ให้มีการพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร และ 3. ขอให้ขายหุ้นให้กับประชาชนอย่าง กว้างขวางที่สุด เพื่อระดมทุนไปใช้หนี้ให้กับธนาคาร ไทยพาณิชย์ จะได้รักษาปรัชญาการทำธุรกิจของไอทีวี จะได้ไม่ต้องตกอยู่ในอิทธิพลทางธุรกิจ หรือของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง รวมทั้งผมด้วย สุทธิชัยบอกว่า ที่ต้องออกมาแถลงข่าววันนี้ เพราะมีปรากฏการณ์ที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับเสรีภาพของฝ่ายข่าวพอสมควร ตั้งแต่มีข่าวคราว มีความเคลื่อนไหวที่ประหลาดมาก กรรมการผู้จัดการมาปรับโครงสร้างฝ่ายข่าว บอกว่า เทพชัย หย่อง ไม่ควรออกมาอ่านข่าว เอาแค่เสียงก็พอแล้ว เพราะทำงานหนักแล้ว ก่อเขตต์ มะวงศา ทำรายการถอดรหัส หน้าไม่ต้องโผล่ออกมา เอาแค่เสียงก็พอ เพราะกลัวจะเป็นอันตราย บรรยากาศฝ่ายข่าวที่ผ่าน มาแตกแยกกันมาก ไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ ของไอทีวีที่ทำมา 3 ปี ที่จะมีการแบ่งกลุ่มแบ่งค่ายกันแบบนี้ ฝ่ายบริหารได้เข้ามาสร้างบรรยากาศ เนชั่นต้องไป

"ผมบอกว่า เนชั่นไม่มี มีแต่คนไอทีวี ทำไมต้องพูดให้เกิดความแตกแยก ทำไมต้องเกี่ยวอะไรกับเนชั่น ทำไมต้องแบ่งค่าย คนเหล่านั้นเขาไม่ได้รักไอทีวีน้อยไปกว่ากรรมการผู้จัดการเลย กรรมการผู้จัดการมาช้ากว่าพวกเขาด้วยซ้ำ เป็นปรากฏ การณ์ที่น่าเศร้า เชื่อมั้ยบางคนไม่กล้าทักทายอีกคนแล้ว กลัวว่าเป็นฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ เหมือนกับแบ่งแยกปกครอง เหมือนกับการเมืองของเอกชนบางแห่ง แต่ไม่ใช่ที่องค์กรข่าวแน่นอน"

แต่ตราบใดที่เราสามัคคีกันเป็นหนึ่ง ไม่มีใครฝ่ายบริหารจะมาแยกเราได้ เพราะไอทีวีอยู่ได้ด้วยข่าว คุณภาพของข่าวเท่านั้น ที่กำหนดว่าไอทีวีจะไปในทิศทางไหน อันนี้คือสิ่งที่สุทธิชัย หยุ่นบอกว่า เขาจำเป็นต้องมาอธิบาย

"มีปัญหาเรื่องจริยธรรมเกิดขึ้นในไอทีวีเป็น เรื่องที่ผมเป็นห่วง และจำเป็นต้องบอก มีเอกชนแห่งหนึ่งออกไอทีวีทอล์กให้เงินมา 2 แสน ผ่านฝ่าย การตลาด คุณสุภาพ คลี่ขจาย เป็นคนสัมภาษณ์ออกอากาศ ผมมารู้ทีหลัง เกือบเป็นลม ทุกท่านที่อยู่ในวงการข่าวคงทราบดีว่า เพียงครั้งเดียวที่คุณรับเงินจากแหล่งข่าว ความน่าเชื่อถือของคุณจะหมดไปทันที ผมโทรศัพท์หาฝ่ายการตลาด บอกคุณนพพร คุณต้องเอาเงินไปคืนเดี๋ยวนี้เลย ผมโกรธมาก อาจเป็นความผิดพลาดของฝ่ายการตลาด หรือ ฝ่ายเซลส์ที่อยากขายรายการ หรือสถานีอื่นเขาทำผมไมรู้ แต่ว่า ไอทีวีทำไม่ได้ อีกกรณีหนึ่ง คือ ไอทีวีทอล์กถูกยกเลิกออกอากาศ เพราะไปกระทบกับโฆษณาชิ้นหนึ่ง เป็นเพราะบริษัทนั้นโทรมาหรือฝ่ายโฆษณาคิดไปเองก็ได้ ที่น่าตกใจคือ ฝ่ายรายการ คนที่ทำราย การไอทีวีทอล์กยอมให้มีการตัด ผลประโยชน์เริ่มมาพัวพันกับฝ่ายข่าว

นี่คือ สิ่งที่ผมเห็นสัญญาณอันตราย และมาวันนี้เพื่อจะบอกว่า ไอ-ทีวีจะยอมให้เกิดเรื่องเหล่า นี้ไม่ได้ ยอมให้มีอิทธิพล ทางธุรกิจ การเงิน การบริหารเข้ามาไม่ได้ นี่คือ ประเด็นที่ผมต้องออกมาชี้แจง

สำหรับ 3 รายการ ที่เนชั่นผลิตให้ไอทีวี คือ วิเคราะห์ข่าว จัดโดยสรยุทธ สุทัศนะจินดา ราย การ สาระขัน จัดโดยกฤษณะ ไชยรัตน์ และรายการอีซีอิงลิช จัดโดยแอนดรู บิ๊กส์ ซึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวออกมาว่า เนชั่นจะถอนรายการออกจากไอทีวีเพราะ ติดค้างหนี้ค่าเช่าเวลาเป็นเงิน 10 ล้านบาท

สุทธิชัย ออกมาชี้แจงเรื่องนี้อย่างดุเดือดว่า ช่วงแรกไอทีวีเพิ่งเริ่มสร้างทีมข่าว ไม่อยู่ในฐานะจะทำได้ จึงต้องจ้างผู้จัดรายการจากเนชั่น ซึ่งเป็นทีรู้จักของประชาชนอยู่แล้ว ทั้ง 3 รายการเริ่มออกอากาศและเริ่มคิดค่าจ้างจากไอทีวี ตั้งแต่วันเปิดสถานี ได้เดือนละ 1.3 ล้านบาท

จนมาเดือนกรกฎาคม 2540 ไอทีวีปรับนโยบายใหม่ยกเลิกจ้างผลิตให้แบ่งรายได้จากขายโฆษณา เนชั่น 70% ไอทีวี 30% มาถึงเดือนมกราคม 2541 ไอทีวีเปลี่ยนนโยบายอีกครั้ง โดยยกเลิกการแบ่งรายได้ แล้วให้เนชั่นเช่าเวลาจากไอทีวี เดือนละ 1.5 ล้านบาท แต่ไอทีวียังมีปัญหาขาดทุนอยู่ จึงขอเจรจาจ่ายค่าเช่าให้ไอทีวีเป็นเงินสด 5 แสนบาท และ บาร์เตอร์ (แลกเปลี่ยนเป็นลงโฆษณาในสื่อของเครือเนชั่น) 1 ล้านบาท

จนกระทั่งในเดือนพฤษภาคม ไอทีวีขอให้จ่ายเงินสดเพิ่มจาก 5 แสนเป็น 8 แสนบาท และล่าสุดคือ ขอเก็บค่าเช่าเดือนละ 2.2 ล้านบาท และขอเก็บเป็นเงินสดทั้งหมด

"คำว่าบราเตอร์คือแลกเวลาโฆษณากัน ไม่ใช่เงิน ไม่ใช่หนี้สิน 10 ล้านบาท แต่เป็นเรื่องของการตกลง ผู้บริหารที่นี่ไปพูดให้คนไขว้เขวบิดเบือน พูดอย่างนี้ไม่ยุติธรรม ผมเชื่อว่า ถ้าถามความเห็น ประชาชนได้ว่า คุณอยากให้รายการนี้อยู่หรือไม่ตัดสินได้"

ทั้ง 3 รายการทำให้ข่าวไอทีวีมีสีสัน โดดเด่น กว่ารายการช่องอื่น มีผลทำให้โฆษณาที่เข้ามาในภาพรวมของไอทีวีสูงขึ้นด้วย ตรงนี้ผู้บริหารที่วิจารณ์เรื่องนี้ไม่ยอมพูดถึง ต่อนี้จะพูดอย่างเดียว จะคิดเงินเท่าไหร่ ลดให้เท่าไหร่ จะไม่บราเตอร์แล้ว อย่าลืมว่าทุกอย่างมีประวัติศาสตร์ ผู้บริหารที่พูดอย่างนี้ อาจไม่อยู่ตอนเกิด ผมก็ให้อภัยได้"

ข้อเสนอของเขาคือ ต้องการให้ไอทีวีและเนชั่นตกลงกัน เพราะเขาเชื่อว่าสาเหตุมาจากทิฐิ โดยให้ 3 รายการเดินหน้าต่อไป ทะเลาะกันไม่ควรให้คนดูมีปัญหา ส่วนที่ต้องมาจ้างเนชั่น เพราะก็เหมือนกับหนังสือพิมพ์ ที่ต้องมีคอลัมนิสต์จากข้างนอก เพราะมีความเชี่ยวชาญกว่า เขียนหนังสือได้น่าอ่านกว่าคนข้างใน เช่นเดียวกับรายการนี้ ซึ่งเป็นแค่รายการเล็กๆ

"ผมรักไอทีวีไม่น้อยกว่าใคร ผมทำมากับมือ ผมมีความภูมิใจ ที่ทีมข่าวทุกคนเข้าใจเรื่องนี้ ยกเว้น จะมีการบิดเบือนในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา"

แต่ผู้อยู่ในเหตุการณ์บอกว่า เนชั่นมาบอกเช่าทำรายการกับไอทีวีในฐานะผู้ถือหุ้นที่จะได้รับสิทธิพิเศษมากกว่าคนภายนอก เมื่อทำมาถึงระดับหนึ่ง ไอทีวีเห็นว่าถึงเวลาต้องขึ้นค่าเช่าเวลาได้แล้ว เพราะขึ้นราคากับรายอื่นไปหมดแล้ว ก็ควรขึ้นราคา กับเนชั่นด้วยเพื่อความทัดเทียม

"เนชั่นติดค้างค่าเวลาไอทีวีไปเรื่อยๆ จนถึง 10 ล้านบาท เนชั่นจะให้ไอทีวีไปลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ ไมรู้จะลงโฆษณายังไงหมด เราก็เลยขอเก็บเป็นเงินสด เพราะไอทีวีเองก็ต้องมีรายได้ ผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ที่ขอเช่าเวลาของไอทีวี ก็ต้องจ่ายเงินแบบเดียวกับเนชั่น แต่ไม่มีใครมาขอแบบเนชั่นทุกคนก็จ่ายตามนั้น ใครที่ผลิตแล้วไปไม่ไหวเขาก็เลิก ทุกอย่างควรทำตามกติกา "แหล่งข่าวเล่า

"ที่สำคัญการผลิตข่าวของเนชั่นใน 3 ราย การที่ผ่านมา ก็ใช้ต้นทุนน้อยมาก สามารถไปขายในราคาต่ำได้ และก็ต่ำกว่าที่ไอทีวีไปขายอีก เพราะบางส่วนเขาไม่ต้องจ่ายเป็นเงินสด" แหล่งข่าวสะท้อน สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.