ไอทีวีเดินทางมาแล้ว 3 ปีเต็ม แต่ภารกิจของธนาคารไทยพาณิชย์ยังแค่เริ่มต้น
เป็นเวลา 3 ปีเต็ม ที่แบงก์ไทยพาณิชย์เพิ่งพบว่า ยังไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากสถานีโทรทัศน์
"ไอทีวี" ที่ควักกระเป๋าลงทุนไปแล้วเกือบสี่พันล้านบาทจากการเป็นทั้งเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้น
และยังต้องสางปัญหาใหญ่ขาดทุนของไอทีวีที่รออยู่ข้างหน้า
และแบงก์ไทยพาณิชย์เพิ่งมาเรียนรู้ด้วย "เนชั่น" เป็นผู้ถือหุ้นรายเดียว
ที่ได้รับผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมไปจากการลงทุน 20% ในไอทีวีไปแล้วอย่างมากมาย
จากอิทธิพลในไอทีวีที่เหนือผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ
เป็นโครงสร้างที่ประหลาดที่สุดในโลก ที่หุ้นส่วนน้อยจะได้ประโยชน์เพียงนี้
ไม่ว่าใครก็ตามก็คงต้องคิด แบบนี้ !
โดย ไพเราะ เลิศวิราม
"สุทธิชัย หยุ่น ไขก๊อกพ้นไอทีวี"
"ไทยพาณิชย์ผ่าโครงสร้างไอทีวี"
"ไทยพาณิชย์ล้าง ไอทีวี สุทธิชัย ทิ้งทุ่นยื่นลาออก"
"เผยเหตุ หยุ่น-เนชั่น ถอนไอทีวี ตกลงค่าเช่าเวลาไม่ได้"
"เอสซีบี รื้อก่อนอุ้มไอทีวีเขี่ยเนชั่นล้างผลขาดทุน"
ทั้งหมดนี้เป็นข่าวพาดหัวบนหน้าหนังสือพิมพ์รายวันฉบับต่างๆ ตั้งแต่วันศุกร์ที่
25 มิถุนายน 2542 ที่ผ่านมา
บ่าย 3 โมงตรงของวันที่ 28 พฤษภาคม 2542 สุทธิชัย หยุ่น เปิดห้องประชุมฝ่ายข่าวไอทีวี
บนชั้น 22 ของอาคารไทยพาณิชย์ปาร์คพลาซ่า เปิดฉากถล่มผู้บริหารของไอทีวีด้วยท่าทีอันแข็งกร้าวและดุดัน
เป็นการเปิดศึกตาต่อตาฟันต่อฟัน ต่อหน้าหนังสือพิมพ์นับสิบฉบับ ต่อการเข้ามาของผู้บริหารของแบงก์ไทยพาณิชย์
ที่มาผ่าตัดโครงสร้างใหม่ของไอทีวี มารุกล้ำเสรีภาพของฝ่ายข่าว ที่ไม่มีใครคิดว่าจะได้ยินมาก่อนทั้งๆ
ที่เรื่องเหล่านี้ควรอยู่ในห้องประชุม
แต่แล้วเรื่องก็จบลงอย่างง่ายดายในเวลาวันเดียวโดยไม่มีคำอธิบายมากไปกว่ากลุ่มเนชั่น
และแบงก์ไทยพาณิชย์ ได้ทำความเข้าใจกันแล้ว เป็นเรื่องเข้าใจไม่ตรงกัน จากนั้นก็จับไม้จับมือถ่ายภาพ
เกิดอะไรขึ้นกับไอทีวี ?
..ย้อนหลังไป 5 ปีที่แล้ว ไอทีวีเกิดขึ้นมาท่ามกลางแรงบันดาลใจของรัฐบาล
อานันท์ ปันยารชุน อันเนื่องมาจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาทมิฬ จากที่โทรทัศน์ที่อยู่ในมือถูกครอบงำจากผู้มีอำนาจ
ข่าวสารในโทรทัศน์ถูกบิดเบือนไปจากความเป็นจริง จังหวะการเกิดของโทรทัศน์เสรีในเวลานั้น
เป็นช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตเอามากๆ กระแสความต้องการข้อมูลข่าวสารที่กำลังมีอยู่ท่วมท้น
การประมูลโทรทัศน์เสรีเต็มไปด้วยความคึกคัก หลายคนมองเห็นโอกาสจากการเกิดสัมปทานโทรทัศน์ช่องใหม่ที่เกิดขึ้นมาในรอบหลายสิบปี
กลุ่มสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ และผู้ถือหุ้นในแวดวงต่างๆ
ทั้งผู้ผลิตรายการ ชนะประมูลไปด้วยผลประโยชน์ตอบแทนที่จ่ายให้รัฐในช่วงเวลาสัมปทาน
30 ปี สูงถึง 25,000 ล้านบาทเฉือนคู่แข่งรายอื่นๆ ไปแบบขาดลอย
แบงก์ไทยพาณิชย์ได้แรงบันดาลใจหลายอย่างในการลงทุน ไอทีวีเป็นสัมปทานเดียวในรอบหลายสิบปีมานี้
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่โทรทัศน์จะเป็นยุทธศาสตร์การลงทุนอย่างหนึ่งของแบงก์
เมื่อแบงก์กรุงศรีอยุธยาก็เป็นเจ้าของช่อง 7 และแบงก์กรุงเทพก็มีสายสัมพันธ์ที่ดีและยาวนานกับช่อง
3
เส้นทางของไอทีวีก็น่าจะไปได้สวย เพราะมีทั้งสำนักงานทรัพย์สินฯ ที่มั่นคงเอามากๆ
ในเวลานั้น และแบงก์ไทยพาณิชย์เป็นสถาบันการเงินรองรับด้านเงินทุน มีผู้ผลิตซอฟต์แวร์จากบันเทิง
และหนังสือพิมพ์ อีกทั้งเศรษฐกิจก็อยู่ในช่วงเติบโต
แต่เอาเข้าจริงกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะหลังจากจัดตั้งทีมได้ไม่นาน
ปัญหาการแตกร้าวก็เริ่มขึ้นทั้งจากฝ่ายบริหาร และผู้ถือหุ้นที่มีอยู่มากรายก็เริ่มแตกคอ
ไตรภพ ลิมปภัทร หนังสือดอกเบี้ย หนังสือพิมพ์ตงฮั้ว ตบเท้าถอนหุ้นออกจากไอทีวี
ไล่ๆ กับฝ่ายบริหาร จุลจิตต์ บุณยเกตุ เกษม จาติกวณิช และสนธิญาณ หนูแก้ว
ในช่วงนั้น บรรณวิทย์ บุญญรัตน์ ซึ่งโยกจากรองกรรมการผู้จัดการแบงก์ไทยพาณิชย์มานั่งคุมกิจการโทรทัศน์
เต็มตัวก็ได้ไฟเขียวจากโอฬาร ไชยประวัติ อาศัยยุทธ ศาสตร์แตกแล้วโตขยายธุรกิจสยามทีวี
แอนด์ คอมมิว นิเคชั่น ออกไปมากมาย สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ที่สู้ประมูลมาได้ด้วยค่าต๋งถึง
25,000 ล้านบาท จึงไม่ได้รับการดูแลอย่าง ที่ควรจะเป็นกลายเป็นแค่ธุรกิจหนึ่งใน
40 บริษัท ที่อยู่ภายใต้สยามทีวี แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น (ชื่อในเวลานั้น)
บรรณวิทย์ จึงต้องวิ่งไปหา "ทีมงานใหม่" เพื่อมาผลิตรายการและสาระ 70% ตามเงื่อนไขทีโออาร์
การทาบ ทามกลุ่มเนชั่นก็เริ่มขึ้น
"ตอนนั้นกลุ่มสยามอินโฟเท้นท์ เขาประมูลได้มาเดินหน้าไปสักพัก ก็มีปัญหาว่าใครจะมาทำข่าวให้
คุณบรรณวิทย์ ก็เลยมาติดต่อเนชั่น ในฐานะมืออาชีพด้านข่าว คุณสุทธิชัย ธนาชัย
กับพวกเราก็หารือกัน ผมจำได้ว่า ก็ส่งผมมาคุย" สุภาพ คลี่ขจาย ผู้อำนวยการสถานีทีวีไอทีวีบอกกับ
"ผู้จัดการ" ถึงจุดเริ่มของการที่เนชั่นมาร่วมกับไอทีวี
กลุ่มเนชั่น เข้ามาเป็นหุ้นส่วน 10% พร้อมกับข้อตกลงในการผลิตข่าว 70%
ให้กับไอทีวี
การเข้ามาในไอทีวี เป็นช่วงข้อต่อที่ สุทธิชัย หยุ่น ก็กำลังนำกลุ่มเนชั่นขยายจากธุรกิจสิ่งพิมพ์ไปยังสื่ออื่น
วิทยุ และโทรทัศน์ เนชั่นออนไลน์ ผลิตรายการประเภทวิเคราะห์ ข่าว เนชั่นนิวส์ทอล์กป้อนให้กับช่อง
9 และทุกครั้งที่เลือกตั้งเนชั่นจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับโทรทัศน์ช่องใดช่องหนึ่งรายงานข่าว
และในการประมูลทีวีเสรี เนชั่นเองก็ได้ร่วมกับสำนักข่าวแปซิฟิก ธนาคารกรุงไทย
กลุ่มสามารถเข้าร่วมประมูลแต่ต้องพลาดหวังไป การลงทุนในไอทีวี จึงเป็นการต่อยอดความฝันของสุทธิชัย
หยุ่น ที่ต้องการใช้ประโยชน์จาก "ข้อมูลข่าว" ข้ามระหว่างสื่อด้วยกันให้เป็นจริงยิ่งขึ้น
การดำเนินงานในช่วงแรกของไอทีวีมุ่งไปที่งาน 2 ส่วนหลักๆ คือ การเร่งสร้างสถานีเครือข่ายให้เสร็จเร็วที่สุด
และการจัดตั้งทีมงานข่าวเพื่อป้อนรายการให้เป็นไปตาม
ทีโออาร์กำหนดไว้ ที่ต้องผลิตรายการและสาระ 70% และจะต้องอยู่ในช่วงเวลาระหว่าง
19.00-21.30 ซึ่งเป็นช่วงไพรม์ไทม์ของโทรทัศน์
การนำเอาข่าวสารและสาระเป็นตัวชูโรง เป็นยุทธศาสตร์ที่ถูกกำหนดขึ้นมาภายใต้เงื่อนไขหลายอย่าง
นอกจากเงื่อนไขข้อกำหนดในทีโออาร์ที่ต้องผลิตข่าวถึง 70% แล้ว การที่เครือข่ายยังไม่เสร็จสมบูรณ์ก็ทำให้ไอทีวีไม่มีทางเลือกมากนัก
"ช่วงนั้นเครือข่ายก็ยังไม่เสร็จการจะเอาหนังเอารายการดีๆ มาฉาย ก็ไม่มีประโยชน์
เพราะคนก็ดูไม่ได้ผู้ผลิตรายการเขาก็ไม่มาเช่าไอทีวี ไม่คุ้มกับการลงทุนของเขา
มีแต่การผลิตข่าว เพราะนอกจากจะตรงกับเงื่อนไขในทีโออาร์แล้ว และเป็น Fix
cost ที่ไอทีวีต้องลงทุนอยู่แล้ว" ผู้รู้เหตุการณ์ในอดีตย้อนให้ฟัง
"ข่าว" จึงกลายเป็นตัวชูโรง สุทธิชัย หยุ่น เริ่มฟอร์มทีมงาน ไปดึงเอาทีมงานจากเนชั่นมาประมาณ
10 คน ในจำนวนนั้นมีทั้งสุภาพ คลี่ขจาย ซึ่งเวลานั้นก็เริ่มจัดราย การวิเคราะห์ข่าว
"เนชั่นนิวส์ทอล์ก" และเทพชัย หย่อง น้อง ชายสุทธิชัยเองก็เริ่มจัดรายการโทรทัศน์บ้างเป็นครั้งคราว
การบริหารงานของไอทีวีในช่วงเริ่มต้นจึงเป็นไปอย่างหลวมๆ คณะกรรมการบริษัท
(บอร์ดใหญ่) ที่มีดร. โอฬาร ไชยประวัติ รับหน้าที่เป็นประธานกรรมการ ซึ่งต้องยุ่งกับงานภายในแบงก์ไทยพาณิชย์ไม่มีเวลามานั่งประชุมบอร์ดของไอทีวี
หน้าที่การบริหารจึงเป็นของคณะกรรม การบริหาร (บอร์ดบริหาร) ที่มีบรรณวิทย์
เป็นคนดูแล ซึ่งบรรณวิทย์เองก็เอาเวลาส่วนใหญ่ไปกับการขยายธุรกิจของสยามทีวี
แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น ไม่มีเวลามาดูแลงานในไอทีวีมากนัก
"เดิมไอทีวีมีบอร์ดใหญ่ (คณะกรรมการบริษัท) ดร.โอฬารรักษาการอยู่ แต่ดร.โอฬารงานยุ่งมาก
เพราะเป็น กรรมการผู้จัดการแบงก์ไทยพาณิชย์ด้วย ซึ่งเวลานั้นไอทีวี มีงานขยายเครือข่าย
พัฒนาข่าวและรายการ ต้องเซ็ทอัพสถานที่ ก็เลยต้องตั้งคณะกรรมการบริหารขึ้นมาดูแล"
ศรัณย์ทร ชุติมา กรรมการผู้จัดการ บริษัทไอทีวี จำกัด บอกกับ "ผู้จัดการ"
คณะกรรมการบริหาร(บอร์ดบริหาร)ของไอทีวี มีอยู่ 7 คน 3 คนในนั้นเป็นคนของแบงก์ไทยพาณิชย์
คือ บรรณ-วิทย์ บุญญรัตน์, สมโภชน์ อินทรานุกูล และศรัณย์ทร ชุติมา
อีก 2 คน คือ กิตติ โรจน์ชลาสิทธิ์ มาในนามของกันตนา ประสบการณ์ของกิตติในธุรกิจทีวี
ช่วยได้มากในเรื่องของการตลาดและการขาย หลายคนในฝ่ายการตลาดของไอทีวี กิตติเป็นคนดึงมาทำงาน
ส่วนนพพร พงษ์เวช ซึ่งถือหุ้นในนามของไจแอนกรุ๊ป ประสบการณ์ในการเงินและการบริหาร
ก็ช่วยในเรื่องการบริหารงาน
ส่วนเนชั่น เป็นผู้ถือหุ้นรายเดียว ที่ได้ควบ 2 เก้าอี้รองประธานกรรมการบริหารในบอร์ดบริหาร
บรรณวิทย์ในช่วงนั้น หลังจากล้มเหลวจากการทำให้แบงก์ไทยพาณิชย์ขาดทุนจากการลงทุนในสยามทีวีไปมาก
สถานภาพของบรรณวิทย์จึงไม่ต่างจากคนถูกลอยแพ เขาต้องยื่นใบลาออกจากการเป็นพนักงานของแบงก์ไทยพาณิชย์ไป
ตั้งแต่กรกฎาคม 2541 เพราะตอนมาบริหาร งานในสยามทีวีฯ เป็นในลักษณะของการยืมตัวจากแบงก์
บรรณวิทย์เองเมื่ออยู่ในสภาพหลักลอยหาที่ลงไม่ได้ ก็จำเป็นต้องหาที่ยึดเหนี่ยว
และเขาก็เลือก "เนชั่น" เป็นที่พึ่งพิง ในการประชุมบอร์ดบริหารบรรณวิทย์จึงอยู่เคียงข้าง
สุทธิชัย หยุ่น และธนาชัย ธีรพัฒนวงศ์ ทุกครั้งไป เมื่อการขาดแคลนทั้งทีมงานข่าว
และการไร้บทบาท ของบรรณวิทย์ ที่ถูกลอยแพจากแบงก์ไทยพาณิชย์ อิทธิ-พลของ
"เนชั่น" จึงเริ่มก่อตัวขึ้นมาในไอทีวี
การทำงาน "ฝ่ายข่าว" ก็ถูกแยกส่วนออกจากฝ่ายบริหารชัดเจน ฝ่ายบริหารจะเข้ามายุ่งเกี่ยวน้อยมาก
เทพชัย หย่อง ซึ่งเป็นน้องของสุทธิชัย ที่ย้ายมาทำงานในไอทีวี มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการควบคุมดูแลและบริหารงานข่าวทั้ง
หมดของไอทีวี
ข่าวของไอทีวี ที่ใช้จุดขายที่แตกต่างไปจากช่องอื่น และอาศัยศักยภาพของไพรม์ไทม์
มาเป็นแรงส่งทำให้ข่าวไอทีวีแจ้งเกิดในเวลาไม่นานนัก
จะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ภาพความยิ่งใหญ่ของไอทีวี มีเนชั่นฉาบทับอยู่อย่างแยกไม่ออก
ทั้งในความเป็นจริงแล้วผลงาน "ข่าว" แบบชนิดกัดติดไม่ปล่อยที่สร้างชื่อให้กับไอทีวี
จะเป็นผลิตผลของทีมงานฝ่ายข่าวของไอทีวี ที่รับเอาคนที่มีประสบการณ์ต่างๆ
เข้ามารวมกันเป็นทีมข่าวไอทีวีแต่ที่ปรากฏบนหน้าจอล้วนแต่คนของเนชั่นทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นสุทธิชัย
หยุ่น, สุภาพ คลี่ขจาย และเทพชัย หย่อง ไอทีวีจึงแยกไม่ออกจากภาพของเนชั่นกับไอทีวี
เป็นภาพคลุมเครือที่เนชั่นรับไปด้วยความเต็มใจยิ่ง
ส่วนฝ่ายบริหารในเวลานั้น คือ ศรัณย์ทร ชุติมา ธาดา โพธิวิหค สองคนนี้มาจากฝ่ายสินเชื่อของแบงก์ไทยพาณิชย์
ศรัณย์ทรมาเป็นกรรมการผู้จัดการ ส่วนธาดามาเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ดูแลด้านบริหาร
และมีนพพร พงษ์เวช นั่งเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่
บทบาทของฝ่ายบริหารเวลานั้นจะดูแลได้แต่เฉพาะสายงานของไอทีวี ด้านการตลาด
การขาย และผังรายการอื่นๆ ยกเว้นฝ่ายข่าว ที่ถูกแยกเป็น "รัฐอิสระ" ที่ฝ่ายบริหาร
ไม่อาจแตะต้องได้ เป็นโครงสร้างที่ผู้บริหารของไอทีวียากจะทำความเข้าใจได้ง่ายๆ
"ช่วงใหม่ๆ คุณศรัณย์ทรเองก็เคยพยายามจะเข้ามาดูฝ่ายข่าวบ้าง แต่คนอยู่แบงก์จะมาพูดกับคนทำข่าวกันรู้เรื่องได้ยังไง
มันเป็นคนละสไตล์ นักข่าวก็ไม่ฟัง เขาก็ต้องฟังคุณเทพชัย หย่อง ก็เหมือนกับคนที่พูดจาภาษาเดียวกัน"
ผู้สื่อข่าวในไอทีวีผู้อยู่ในเหตุการณ์เล่าให้ "ผู้จัด การ" ฟัง
นอกจากอิทธิพลทั้งในระดับการบริหารงาน และบน หน้าจอทีวี เนชั่นเองก็เริ่มขยายบทบาทของการเป็นผู้ถือหุ้น
โดยเข้าไปซื้อหุ้นของกลุ่มสหวิริยาโอเอ ที่ถืออยู่ 10% แต่ไม่ได้ถือในนามเนชั่นโดยตรง
แต่ใช้บริษัทชัยศิริน โฮลดิ้ง ถือแทน
จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าบริษัทชัยศิริน ได้ลงทุนซื้อหุ้นในไอทีวี
จำนวน 8 ล้านหุ้น เป็นเงิน 118 ล้านบาท ส่วนรายชื่อผู้ถือหุ้นประกอบไปด้วย
สิทธิชัย ไกรสิทธิศิรินทร ศิริวรรณ์ ไกรสิทธิศิรินทร และศรินทร์ ไกรสิทธิศิรินทร
เป็น 3 คนที่ถือหุ้นส่วนใหญ่ แต่ได้รับการยืนยันจากผู้บริหารของไอทีวีว่า
เป็นบริษัทส่วนตัวของสุทธิชัย หยุ่น ที่ให้เพื่อนถือไว้
เท่ากับว่า เนชั่นเป็นผู้ถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม ในไอทีวี 20% เป็นอันดับสองรองจากแบงก์ไทยพาณิชย์ที่ถืออยู่
40%
ในช่วงปี 2541 กลุ่มเนชั่น เริ่มเดินหมากนอกกระดาน อาศัยจังหวะที่เศรษฐกิจตกต่ำ
ผู้ถือหุ้นบางรายอยากขายหุ้นในไอทีวี ผู้บริหารของเนชั่นจึงเดินสาย ไปดึงเอาสถาบันการเงิน
และบรรดากองทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาซื้อหุ้นในไอทีวี เพราะเนชั่นเองก็ไม่มีเงินมากนัก
แต่ต้องอาศัยสถาบันการเงินเหล่านี้มาเป็นพลังในการต่อรองอำนาจกับแบงก์ไทยพาณิชย์
การเจรจาขายหุ้นระหว่างเนชั่นและสถาบันการเงิ และกองทุนจากต่างประเทศมีขึ้นทั้งในประเทศและยังข้ามไปถึงสิงคโปร์
ซึ่งผู้บริหารของเนชั่น บินไปขายหุ้นไอทีวีด้วยตัวเอง
"ช่วงนั้นผู้บริหารของเนชั่น คุณธนาชัย เชิญสถาบัน การเงิน เชิญพวกกองทุนเพื่อเอาหุ้นของไอทีวีออกมาขาย
ซึ่งเป็นหุ้นที่เนชั่นเอามาจากส่วนของเนชั่นเอง หรือจากใคร ก็ไม่แน่ชัดรู้แต่เพียงว่าเนชั่นมีปัญหากับแบงก์แนวคิดไม่ตรงกัน
แต่เนชั่นไม่มีเงิน จึงต้องการหาสถาบันการเงินเข้ามาหนุน" แหล่งข่าวที่อยู่ในเหตุการณ์เล่า
แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีการยืนยันว่า เนชั่นต้องการขาย หุ้นที่ถืออยู่ออกไป
แม้ว่าจะอยากได้ชื่อ แต่เนชั่นก็อยาก ได้เงิน ทั้งนี้แหล่งข่าวในสถาบันการเงินอีกแห่งบอกว่า
ก็ได้รับการติดต่อจากเนชั่นให้มาซื้อหุ้นที่เนชั่นถืออยู่ในไอทีวี และการเจรจานี้ก็ทำขึ้นในประเทศสิงคโปร์
แต่บังเอิญว่า การซื้อขายหุ้นของเนชั่น ต้องมาสะดุดที่ "ค่าต๋ง" ที่ไอทีวีต้องจ่ายให้กับรัฐบาล
ที่ผู้บริหารสถาบันการเงินเหล่านี้เห็นแล้วไม่คุ้ม ไม่อย่างนั้นแล้ว ศึกระหว่างเนชั่น
และแบงก์ไทยพาณิชย์อาจไม่ได้ออกมาอย่างที่เห็นก็ได้ บรรณวิทย์เป็นคนที่มีบทบาทสำคัญต่อเรื่องราวความเป็นไปในไอทีวีมาตั้งแต่ต้น
การลาออกของเขาในทุก ตำแหน่งของสยามมีเดีย แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น ในเดือนพฤษภาคม
2542 ก็มีผลต่อไอทีวีโดยตรง หลังจากยื่นใบลาออกจากทุกตำแหน่งในสยามมีเดีย
แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น ซึ่งรวมถึงประธานกรรมการบริหารในไอทีวีของบรรณวิทย์
ในเดือนพฤษภาคม 2542 เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ธนาคารไทยพาณิชย์มีการเปลี่ยนแปลงโครง
สร้างผู้บริหาร ดร.โอฬาร และประกิต ประทีปะเสน รอง กรรมการผู้จัดการใหญ่
ได้ยื่นขอเกษียณอายุก่อนกำหนด โดยดร.โอฬารยังคงเป็นกรรมการ และเป็นที่ปรึกษาให้กับแบงก์ไทยพาณิชย์
สำหรับประกิต นอกจากจะรั้งเก้าอี้ที่ปรึกษาให้กับแบงก์ไทยพาณิชย์แล้ว เขายังได้รับเลือกจากกรรมการแบงก์
ไทยพาณิชย์ให้มาสวมตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัทไอทีวี จำกัด แทนดร.โอฬารที่ลาออกจากตำแหน่งนี้ไปแล้ว
"กรรมการแบงก์มองว่า ไอทีวีเป็นบริษัทในเครือที่มีความสำคัญมาก และเป็นจุดเริ่มต้น
ยังอยู่ในวัยที่กำลัง เจริญเติบโต อยากให้มีคนดูแลใกล้ชิด ก็เลยให้ผมไปดูแลแทนดร.โอฬาร
ดูแลให้ทุกอย่างเดินไปอย่างเรียบร้อยเพราะ สัมพันธภาพของธนาคารไทยพาณิชย์กับไอทีวี
ในฐานะหนึ่งก็คือผู้ถือหุ้น และในด้านหนึ่งก็คือเจ้าหนี้ จึงเป็นเรื่องที่เราจะต้องดูให้ไอทีวีประสบความสำเร็จ"
คำตอบของประกิต ให้สัมภาษณ์กับ "ผู้จัดการ" ที่มีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงในไอทีวีนับจากนี้
แบงก์ไทยพาณิชย์ใช้เงินลงทุนในไอทีวี ทั้งทางตรงและทางอ้อมรวม 40% คิดเป็นเงิน
480 ล้านบาท บวกกับความสัมพันธ์ในฐานะของเจ้าหนี้อีก 3,000 ล้านบาท ค้ำประกันอีก
1,000 ล้านบาท รวมแล้วเกือบ 4,000 ล้านบาท
เป็นตัวเลขการลงทุนในช่วง 3 ปีที่แบงก์ไทยพาณิชย์ ยังไม่ได้รับประโยชน์กลับมาเลย
นายธนาคารอย่างประกิต แค่กดเครื่องคิดเลขนิดเดียวก็รู้แล้วว่า ไอทีวีมีปัญหาขาดทุน
และยังมีปัญหาค่าสัมปทานก้อนใหญ่ที่เป็นเงื่อนปมใหญ่ ยิ่งไปกว่านั้นประกิตยังมีคำถามเกี่ยวกับโครงสร้าง
การบริหารงานของไอทีวีอีกมากมาย โดยเฉพาะอำนาจรองประธานกรรมการบริหารที่มีบทบาทมากกว่าผู้บริหารในระดับ
กรรมการผู้อำนวยการใหญ่
"ผมคิดว่าหลักการ Good governance เป็นหลักการสำคัญ มันได้พิสูจน์ในตลาดทั่วไปแล้ว
และการที่มี Good governance หมายความว่าไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งมีอำนาจเกินไป
เช่น ควรจะมีการกำหนดอำนาจอย่างตายตัว คุณเป็นผู้จัดการใหญ่ คุณดูแลได้เท่านี้
แต่ว่าคุณจะทำอะไรเกิน จะต้องมาขออนุมัติกรรมการ ทำนองเดียวกัน ถ้าเรากำหนดอำนาจผู้จัดการใหญ่
หรือซีอีโอมากเกินไป คณะกรรมการก็ไม่มีบทบาท"
ประกิต ยกตัวอย่างด้วยว่า "บริษัทที่เสียหายเวลานี้เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีการลงทุนเกินขนาดซึ่งเกิดมาจาก
อำนาจที่ผู้จัดการใหญ่ที่ไม่ได้กำหนดขอบเขตเอาไว้ เป็นบทเรียนสำคัญที่ต่อจากนี้จะยอมให้ใครมีอำนาจเกินควรไม่ได้
ไม่ว่าใครก็ตาม ถึงแม้ว่าจะเป็นเจ้าของบริษัทที่ถือหุ้น เกิน 50-60% แต่ถ้าเป็นบริษัทมหาชน
ในฐานะของกรรมการ จะยอมไม่ได้ เพราะหน้าที่ของกรรมการต้องกำกับดูแล ให้บริหารงานอย่างรอบคอบ
คนที่นั่งอยู่ในกรรมการทุกคนต้องเข้าใจ ฉะนั้นกระแส Good governance ถือว่าเป็น
เรื่องที่ดีมาก ถึงเวลาแล้วที่เขาจะต้องเปลี่ยน
เพราะจริงๆ แล้วเป็น 3 ปีเต็ม ที่นอกจากแบงก์ไทยพาณิชย์จะเริ่มรู้ว่ายังไม่ได้รับประโยชน์จากการเป็นทั้งเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นในไอทีวีแล้ว
แบงก์ไทยพาณิชย์เองก็เพิ่งมาเรียนรู้ บทบาทการทำกำไรของเนชั่น การใช้ไอทีวีเป็น
1 ในยุทธศาสตร์ของการแตกขยายสู่ธุรกิจมัลติมีเดียของเนชั่น เนชั่นได้ภาพความยิ่งใหญ่จากความน่าเกรงขาม
การมีอิทธิพลในไอทีวีที่ไม่สามารถประเมินเป็นราคาได้
ประกิต เข้ามานั่งเก้าอี้ประธานกรรมการไอทีวี พร้อมกับแผนผ่าตัดโครงสร้างการบริหารงานในไอทีวี
ด้วยการยุบบอร์ดบริหารลง ให้อำนาจบริหารเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท (บอร์ดใหญ่)
ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ถือ หุ้นทั้ง 13 ราย
ตามความหมายของประกิต ก็คือหน้าที่การกำหนดนโยบาย ควรจะเป็นเรื่องของบอร์ดใหญ่
ซึ่งจะมาจากผู้ถือหุ้นทั้ง 13 ราย ที่จะเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้บริหารของไอทีวี
โดย มีกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ซีอีโอ) เป็นผู้รับผิดชอบการบริหารงานวันต่อวัน
"เราอยากให้เป็นภาพของไอทีวีประสบความสำเร็จ และมาจากสตาฟฟ์ทุกคนที่มาช่วยไอทีวีทำ
ผู้ถือหุ้นทุกคนของไอทีวีมีสิทธิจะสนับสนุนไอทีวี เพราะเกือบทุกคนก็อยู่ในธุรกิจสื่อสารมวลชน
มีทั้งข่าวและบันเทิง ไม่ว่าจะเป็น เนชั่น เดลินิวส์ เจเอสแอล กันตนา ส่วนกลุ่มไทยพาณิชย์แม้จะไม่ได้มีความรู้เรื่องทีวี
แต่เราก็สนับสนุนเรื่องเงิน เราถือว่าผู้ถือหุ้นทุกคนช่วยกันคนละไม้ละมือให้เป็นไอทีวี"
ประกิต บอกถึงเหตุผลในการยุบบอร์ดบริหารในครั้งนั้น
ประกิตเชื่อว่า การบริหารงานที่ดีที่จะเป็น Good governance ที่ดี จะต้องมีระบบสื่อสารที่ดี
และที่สำคัญคณะกรรมการจะต้องเป็นพี่เลี้ยงให้กับ "ซีอีโอ" ไม่ใช่อยู่เหนือ
"ซีอีโอ"
การปรับเปลี่ยนโครงสร้างไอทีวี จึงไม่ใช่การเปลี่ยน "หัว" ใหม่เท่านั้น
แต่ยังเป็นการผ่าตัดโครงสร้างการบริหารงาน ที่ยังมีภาพคลุมเครือให้อยู่ภายใต้กรอบของโมเดลการบริหารงานที่สมควรจะเป็น
"ในที่ประชุมบอกว่า เมื่อเป็นบอร์ดเดียว ให้คุณนพพร เป็นซีอีโอ ผมเป็นซีโอโอเป็นคนคุมโอเปอเรชั่น
ก็ให้ไปปรับปรุงโครงสร้างกันใหม่ ให้กระจายไปถึงระดับล่าง ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ
ตั้งฝ่ายขึ้นมารับผิดชอบ แบ่งงานกันรับผิดชอบ ย่อยสลายลงไป" ศรัณย์ทร บอกกับ
"ผู้จัดการ"
ฝ่ายบริหารของไอทีวี รับเอาแผนไปดำเนินการทันที โครงสร้างใหม่ที่ฝ่ายบริหารของไอทีวีจะมีกำหนดเข้าที่ประชุมบอร์ดใหญ่ครั้งหน้า
ที่จะมีขึ้นในวันที่ 29 มิถุนายน นั่นก็หมายความว่า ฝ่ายบริหารมีเวลาไม่ถึง
2 อาทิตย์
ที่สำคัญการยุบบอร์ดบริหารในครั้งนั้น เป็นคนละแนวทางกับสุทธิชัย หยุ่น
ที่ทำมาตลอด 3 ปี ซึ่งกระทบโดยตรงต่อสุทธิชัย หยุ่น ในฐานะที่เป็นรองประธานกรรมการบริหาร
และมีบทบาทต่อการบริหารงานของไอทีวีตลอด 3 ปีที่ผ่านมา และยังรวมไปถึงการผ่าตัดโครงสร้างฝ่ายข่าว
ด้วยการแบ่งสรรการบริหารงานข่าวออกเป็น 3 ส่วน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายกระจายอำนาจ
โดยเทพชัย หย่อง, สุภาพ คลี่ขจาย และอัชฌา สุวรรณปากแพรก จะแบ่งกันไปรับผิดชอบ
ซึ่งเท่ากับว่า เทพชัย หย่อง ที่เคยรับผิดชอบบริหารข่าวไอทีวีจะถูกลดบทบาทลงไปโดยปริยาย
เกมการเผชิญหน้าระหว่างเนชั่น และแบงก์ไทยพาณิชย์จึงเริ่มขึ้น
หลังจากประกิตเข้าไปปรับเปลี่ยนโครงสร้างในไอทีวี มีข่าวปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์
เนื้อหาข่าวล้วนแต่พุ่งตรง ไปที่สุทธิชัย หยุ่น และเนชั่น ที่เตรียมถอนยวงออกจากไอทีวี
ทั้งคนและรายการที่เนชั่นผลิตป้อนให้ไอทีวี 3 รายการ คือ สาระขัน ไอทีวีทอล์ก
และอีซีอิงลิช และยังระบุถึงการเข้ามาปรับโครงสร้างของแบงก์ไทยพาณิชย์ การคืนอำนาจการบริหารให้เป็นของบอร์ดใหญ่
ก็เพื่อต้องการแก้ปัญหาขาดทุน และล้างภาพของเนชั่นในไอทีวีออกให้หมด
ท่ามกลางสงครามข่าวลือ ที่เปิดฉากถล่มใส่เนชั่นผ่านหน้าหนังสือพิมพ์รายวันที่กินเวลาติดต่อกัน
3-4 วัน
ช่วงสายของวันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน บรรดาหนังสือ พิมพ์เกือบทุกค่ายก็ได้รับโทรศัพท์จากเลขาหน้าห้องของสุทธิชัย
หยุ่น นัดแถลงข่าวด่วน เวลาที่นัดพบคือ บ่าย 3 โมงตรงของวันเดียวกัน บนชั้น
22 ของไทยพาณิชย์ปาร์คพลาซ่า ซึ่งเป็นที่ตั้งของฝ่ายข่าวไอทีวี
สุทธิชัย หยุ่นใช้เวลา 3 ชั่วโมงเต็มกับการแถลงข่าวตอบโต้ ด้วยท่าทีแข็งกร้าวดุดัน
เขาเปิดฉาก พุ่งตรงไปที่ฝ่ายบริหารของไอทีวี ถึงการเข้ามาของผู้บริหารแบงก์ไทยพาณิชย์ในไอทีวี
เพื่อต้องการแทรกแซงฝ่ายข่าว ทำให้เกิดความแตกแยกภายใน และการยุบบอร์ดบริหารของฝ่ายบริหาร
เพื่อต้องการหารายได้จากรายการบันเทิง ซึ่งจะทำ ให้ข่าวของไอทีวีสูญเสียความเป็นกลาง
และสิ่งที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน สุทธิชัย หยุ่น ก็โยนระเบิดใส่ไปที่สุภาพ
คลี่ขจาย ลูกใหญ่ เปิดเผยถึงปัญหาจริยธรรมของสุภาพ ทั้งๆ ที่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมานานถึง
2-3 ปีมาแล้ว
เป็นถ้อยความที่ทุกคนไม่เคยได้ยิน และได้เห็นท่าทีของสุทธิชัย หยุ่น เช่นนี้มาก่อน
ทั้งๆ ที่ถ้อยความเหล่า นี้ควรจะอยู่แต่ในห้องประชุม เพราะเป็นเรื่องระหว่างเนชั่น
และฝ่ายบริหารจากแบงก์ไทยพาณิชย์โดยตรง
สุทธิชัย หยุ่น อาจรู้ดีว่า สถานการณ์ของเขาและเนชั่นตกเป็นรองแบงก์ไทยพาณิชย์หลายขุม
เขารู้ดีว่า เนชั่นต้องยืนอย่างโดดเดียว ทั้งจากผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ และจากคนของเนชั่นด้วยกันเอง
จากท่าทีของสุภาพ คลี่ขจาย ที่แสดงออกผ่านบทสัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์มติชน
ฉบับวันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน ซึ่งมีท่าทีโอนเอียงไปยังฝ่ายบริหาร ทำให้สุทธิชัยต้องเปิดฉากสั่งสอนไปฉาดใหญ่
ด้วยข้อหาฉกาจขาดจริยธรรมของการเป็นผู้สื่อข่าว ด้วยการฝากนายตำรวจทางใต้
ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นมาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว
แต่สิ่งที่สุทธิชัย หยุ่น จำเป็นต้องระเบิดอารมณ์ออกมาในวันนั้น ไม่ใช่เพราะการที่ต้องคืนรถประจำตำแหน่ง
โตโยต้ารุ่นเลกซัส หรือโทรศัพท์มือถือ และเงินเดือนค่าตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหารอีกนับแสนบาท
และไม่ใช่การที่เทพชัย หย่อง น้องชายของเขาต้องถูกลดบทบาทลงจากการร่วมมือของสุภาพเท่านั้น
แต่เป็นเพราะเนชั่น กำลังถูกกดดันจากแบงก์ไทยพาณิชย์ไม่ให้ "ไอทีวี" เป็นยุทธศาสตร์การลงทุนของเนชั่นอีกต่อไป
ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า สุทธิชัย หยุ่น และเนชั่น ได้ภาพความยิ่งใหญ่ที่ประเมินค่าไม่ได้จากไอทีวี
ภาพความน่าเกรงขาม และอิทธิพลของความเป็นสื่อโทรทัศน์ไอทีวีไปอย่างมากมาย
การได้รับสิทธิพิเศษจากการได้สัมภาษณ์บุคคลสำคัญๆ ในขณะที่สื่ออื่นๆ หรือ
เนชั่นเองก็ไม่ได้สิทธิ์เหล่านี้ และอานิสงส์นี้ยังแผ่ไปถึง "เนชั่นนิวส์ทอล์ก"
รายการคู่บุญของเนชั่น และยังรวมไปถึงสื่อต่างๆ ของเนชั่น ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์
วิทยุ บริการออนไลน์ และสิ่งเหล่านี้ก็ล้วนมาจากอิทธิพลของเนชั่นที่มีอยู่ในไอทีวี
ที่มาจากปัญหาการขาดแคลนทีมงาน การไร้บทบาทของบรรณวิทย์ และศักยภาพของไพรม์ไทม์
ที่ทำให้เนชั่นมีบทบาทอยู่ในไอทีวีตลอด 3 ปีที่ผ่านมา
เนชั่นเป็น 1 ในผู้ถือหุ้นรายเดียวในจำนวน 13 ราย ที่ได้รับประโยชน์จากไอทีวี
ในขณะที่ผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ยังขาดทุน โดยเฉพาะแบงก์ไทยพาณิชย์ที่เป็นทั้งผู้ถือหุ้นรายใหญ่
และเจ้าหนี้ในไอทีวีก้อนใหญ่ ยังไม่ได้ประโยชน์เหมือนอย่างที่เนชั่น ซึ่งถือหุ้นเพียง
20% กลับมาแม้แต่บาทเดียว
และในวันนั้นสุทธิชัย หยุ่น ก็ต้องอาศัยอิทธิพลของข่าวสาร อาศัยประเด็นจริยธรรมของการทำข่าว
มาเป็นเครื่องมือในการต่อรองกับแบงก์ไทยพาณิชย์ ข้อเสนอ 3 ข้อของสุทธิชัย
ในวันนั้นก็คือ 1. เสนอ ให้มีตัวแทนฝ่ายข่าวร่วมอยู่ในระดับนโยบาย 2. ให้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารที่สามารถตัดสินใจได้นาทีต่อนาทีเหมือนเดิม
3. ให้ขายหุ้นไอทีวีแก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง เพื่อระดมทุนมาใช้หนี้คืนธนาคารไทยพาณิชย์
เพื่อจะได้ไม่ยึดไอทีวี
ท่ามกลางข่าวพาดหัวบนหน้าหนังสือพิมพ์ในวันถัดมา "ไอทีวี แตกดังโพละ หยุ่นเดินเกมรุกบอร์ดก่อนเกาะเก้าอี้แน่น"
"ซัดใบโพธิ์ป่วนไอทีวี หยุ่นทุบจอ อัดสุภาพเปลี่ยนสี"
"หยุ่นฟิวส์ขาดด่าจิ้งจก สุภาพพ้อเป็นแค่กันชน"
แต่แล้วเรื่องราวทั้งหมดก็จบลงแบบดื้อๆ ภายในชั่วข้ามคืน
เพราะหลังจากการประชุมของบอร์ดใหญ่ของไอทีวี ภายใต้การนำของประกิต พร้อมด้วยผู้ถือหุ้นใช้เวลา
3 ชั่วโมงเต็ม ซึ่งมีขึ้นในวันถัดมา (29 มิถุนายน 2542) จะลงเอยด้วยการจับมือถ่ายรูปด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส
ระหว่างสุทธิชัย หยุ่น ประกิต ประทีปะเสน และศรัณย์ทร ชุติมา
มีเพียงคำอธิบายสั้นๆ ว่า เป็นเพราะความไม่เข้าใจ กันเพราะต่างฝ่ายต่างมองกันคนละด้าน
และตั้งกรรมการจัดการมาดูแล แต่ไม่มีใครเชื่อว่า จะเป็นการสงบศึกแบบถาวร
เพราะเป็นกองไฟที่ถูกปกคลุมไว้ชั่วคราวเท่านั้น
การบรรลุข้อตกลงในวันนั้นเท่ากับว่า "เนชั่น" ไม่ได้ อะไรเลยเพราะจากข้อตกลงในที่ประชุมวันนั้น
ข้อตกลงที่ว่าให้มี "กรรมการจัดการ" ขึ้นมานั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นคณะกรรมการที่มีอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว
ซึ่งปกติจะประชุมทุกวันจันทร์ กรรมการก็มาจากผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายต่างๆ ที่มีนพพร
พงษ์เวช และศรัณย์ทร ชุติมา ร่วมอยู่ด้วย และส่วนใหญ่จะพูดคุยเแก้ปัญหางานที่ทำอยู่ประจำทุกวัน
แต่สำหรับประกิตแล้ว อย่างน้อยเขาก็บรรลุเป้าหมายแรกในการดึง "เนชั่น"
ลงมาจากอำนาจการบริหารขึ้นไปเป็น 1 ในบอร์ดใหญ่ เหมือนกับผู้ถือหุ้นคนอื่นๆ
สุทธิชัย หยุ่น เองก็รู้ว่า ข้อตกลงในวันนั้นก็เป็น การสงบศึกชั่วคราว
เป็นคำพูดที่เขาบอกกับผู้สื่อข่าวของกรุงเทพธุรกิจ และเนชั่นเมื่อถามถึงเหตุการณ์ในวันนั้น
และนับตั้งแต่วันแถลงเป็นต้นมาข้างกายของสุทธิชัย หยุ่น ก็มีบอดี้การ์ดร่างใหญ่ติดตามไปทุกหนทุกแห่ง
ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาเคยปฏิเสธการมีบอดี้การ์ดมาตลอดชีวิตของการเป็นนักหนังสือพิมพ์
แบงก์ไทยพาณิชย์เอง ยังมีปัญหาใหญ่ที่รออยู่ข้างหน้ามากมายมหาศาลกับการแก้ไขปัญหาขาดทุนของไอทีวี
และที่ใหญ่หลวงที่สุด ก็คือ การหาผู้ถือหุ้นแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement)
ซึ่งอาจทำให้เขาต้องตัดหนี้สูญบางอย่างออกไป หากการระดมทุนครั้งนั้นไม่เห็นผล
ตามแผนงานทางการเงินที่กำหนดไว้นั้น ไอทีวี ซึ่งปัจจุบันได้จดทะเบียนเอาไว้
300 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นเงิน 3,000 ล้านบาท เรียกชำระจากผู้ถือหุ้นแล้ว
1,000 ล้านบาท เท่ากับว่าไอทีวียังเหลือหุ้นอีก 200 ล้านหุ้นที่ยังไม่ได้เรียกชำระ
เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาไอทีวีจะนำหุ้น 20 ล้านหุ้น มาให้ผู้ถือหุ้นเพิ่มทุน
เพื่อนำเงินมาใช้หมุนเวียน ซึ่งปรากฏ ว่ามีผู้ถือหุ้นเดิมไม่กี่รายที่ซื้อหุ้น
ในจำนวนนั้นก็คือ แบงก์ไทยพาณิชย์ และเนชั่น
จากนั้นผู้บริหารของไอทีวีนำหุ้นที่เหลืออยู่ 120 ล้าน หุ้นไปเสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นเฉพาะเจาะจง
(Private Placement) และที่เหลืออีก 60 ล้านหุ้น จะไประดม ทุนในตลาดหลักทรัพย์ในปีหน้า
หากเป็นไปตามแผนงานดังกล่าว ไอทีวีมีเงินจากการขายหุ้นเพิ่มทุนประมาณ 1,200
ล้านบาท มาใช้จ่ายเป็นทุนหมุนเวียน และจะนำบางส่วนมาชำระหนี้ให้กับแบงก์
ไทยพาณิชย์ เพื่อลดภาระในเรื่องของดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายลง ซึ่งจะทำให้ไอทีวีหายใจสะดวกมากขึ้น
รวมทั้งไว้ใช้ในการจัดตั้งสตูดิโอแห่งใหม ่ที่จะมาไว้ผลิตรายการต่างๆ ของไอทีวี
ซึ่งตั้งงบเอาไว้ 500 ล้านบาท อุปสรรคแรกของการระดมทุนก็คือ ปัญหา "ค่าต๋ง"
ที่ต้องจ่ายให้กับรัฐเป็นเงินก้อนโต อันเกิดจากการเล็งผลเลิศของผู้บริหารไอทีวี
ตามข้อเสนอในสัญญาสัมปทานที่ทำไว้กับสำนักนายกรัฐมนตรี ไอทีวีจะต้องจ่ายเงินผลประโยชน์ตอบแทนให้กับสำนักนายกรัฐมนตรี
หลังจากดำเนินการมาในปีที่ 3 เป็นจำนวนเงิน 300 ล้านบาท จากนั้นก็จ่ายเพิ่มทุกปี
ปีละ 100 ล้านบาทไปจนถึงปีที่ 10 ที่จะต้องจ่าย 1,000 ล้านบาท จากนั้นปีที่
11-30 จะจ่ายผลตอบแทนรวม 20,000 ล้านบาท
เท่ากับว่า ไอทีวีจะจ่ายส่วนแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี
เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 25,200 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าอัตราค่าตอบแทนขั้นต่ำที่กำหนดไว้ตามทีโออาร์
14,700 ล้านบาท ! และเป็นตัวเลขที่มากกว่าที่ช่อง 7 ต้องจ่ายให้กับกองทัพบกในการต่อสัญญาล่าสุด
และมากกว่าที่ช่อง 3 ต้องจ่ายให้กับอ.ส.ม.ท. หลายเท่าตัว
เป็นไปได้ยากมากที่ไอทีวีจะหาเงินรายได้จากค่าโฆษณามาจ่ายค่าสัมปทานจำนวนเท่านี้
ปี 2540 ไอทีวีมีราย ได้ปี 2540 มีรายได้ 400 ล้านบาท รายได้ปี 2541 ทำได้
650 ล้านบาท และปี 2540 ตั้งเป้าไว้ 1,000 ล้านบาท แต่มียอดขาดทุนสะสม 400
กว่าล้านบาท และยังมีดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายอีกเดือนละ 30 ล้านบาท ทางออกของไอทีวี
ต้องยื่นขอลดค่าสัญญาสัมป-ทานที่ทำกับรัฐบาล โดยไอทีวีจะต้องอาศัยช่องว่างตามสัญญาที่ไอทีวีทำกับสำนักนายกรัฐมนตรี
ในข้อ 9 ที่ระบุไว้ว่า ในกรณีที่ไอทีวีดำเนินการให้เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรี
กฎข้อบังคับ และระเบียบต่างๆ ของทางราชการที่ใช้บังคับภายหลังวันทำสัญญานี้
เป็นเหตุให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของไอทีวีอย่างรุนแรง
เมื่อไอทีวีร้องขอสำนักนายกฯ จะพิจารณาหามาตรการแก้ไขเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ไอทีวี
เงื่อนไขที่ไอทีวีจะเสนอให้สำนักนายกฯ พิจารณา ก็คือข้อแรกการที่กองทัพบกยอมเซ็นสัญญาต่ออายุสัญญา
สัมปทานกับช่อง 7 ไปอีก 20 ปี เป็นการกระทบต่อรายได้ของไอทีวี ซึ่งตามสัญญาระบุว่า
หากไอทีวีดำเนินงานตามเงื่อนไขแล้ว หากมีเหตุทำให้ต้องกระทบต่อฐานะทางการเงินอย่างรุนแรง
ซึ่งสำนักนายกฯ จะต้องหามาตรการแก้ไขเพื่อความเป็นธรรม และไอทีวี ยังจะหยิบยกเอาเรื่องการได้รับผลกระทบทางด้านส่วนแบ่งการตลาดโฆษณาทางโทรทัศน์
จากการที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ออกสปอตโฆษณา ซึ่งตาม เงื่อนไขแล้วช่อง 11
ทำไม่ได้ รวมทั้งยูบีซีเคเบิลทีวี ก็ได้รับอนุญาตให้ออกอากาศโฆษณาที่มาจากต่างประเทศ
ซึ่งกระทบต่อรายได้ของไอทีวี ที่เป็นคู่แข่งขันในธุรกิจโทรทัศน์
ทั้งสามข้อนี้จะเป็นทางออกของไอทีวีจะนำมาเป็นเงื่อนไขในการต่อรองกับรัฐบาล
แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ไอทีวีก็รู้ว่าเป็นการสุ่มเสี่ยงจากการถูกโจมตีอย่างหนักจากหนังสือ
พิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งเคยได้รับบทเรียนนี้อย่างสะบักสะบอมมาแล้ว จากการขอเลื่อนจ่ายค่าต๋ง
300 ล้านบาท
หลายคนเชื่อว่า เป้าหมายของการโจมตีในครั้งนั้นไม่ใช่ไอทีวี แต่เป็นเพราะ
"เนชั่น" และสไตล์ของสุทธิชัย หยุ่น ที่แม้จะมีมิตรมาก แต่ศัตรูก็ไม่น้อยเช่นกัน
เงื่อนปมใหญ่อีกข้อที่แบงก์ไทยพาณิชย์ ปัญหาเรื่อง Conflict of interest
ระหว่างเนชั่น และไอทีวี ถ้อยแถลงของสุทธิชัย หยุ่น ในวันแถลงข่าวเมื่อวันที่
28 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการบ่งชัดถึงการที่ไอทีวีถูกผูกขาดไว้โดยเนชั่น
และจากผลประโยชน์ทั้งทางตรงและอ้อมที่เนชั่นได้ไปจากไอทีวีอย่างเต็มที่ ในขณะที่ผู้ถือหุ้นอื่นๆ
ยังขาดทุน
เป็นเรื่องจำเป็นที่ฝ่ายบริหารจะต้องชำระประวัติ ศาสตร์ใหม่ให้กับไอทีวี
ให้มีความชัดเจนมาก เพราะภาพเหล่านี้ย่อมเป็นอุปสรรคโดยตรงต่อการแสวงหาผู้ถือหุ้นรายใหม่
ซึ่งย่อมต้องให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
และนับจากนี้ปัญหาของไอทีวี คงจะลุกลามไปอีกมาก เพราะการปรับโครงสร้างการบริหารงานครั้งนี้ของประกิต
"กลุ่มเดลินิวส์" ก็จะเข้ามามีบทบาทในไอทีวีมากขึ้นเช่นเดียวกับผู้ถือหุ้นที่เหลืออีก
8-9 ราย
"บทเรียนที่เราได้มาครั้งนี้ ยอมไม่ได้ที่จะให้ใครมีอำนาจ ไม่ว่าใครก็ตาม
ถึงแม้ว่าจะเป็นเจ้าของบริษัท ที่ถือหุ้น 50-60% ก็ตาม แต่ถ้าเป็นบริษัทมหาชน
เราในฐานะกรรมการยอมไม่ได้" ประกิต กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ไม่ใช่แค่แบงก์ไทยพาณิชย์เท่านั้นที่ไม่ยอม ไม่ว่านักลงทุนรายไหน หรือที่ไหนก็ตาม
คงไม่มีใครมาลงทุนในไอทีวี ถ้าผู้ถือหุ้นส่วนน้อยจะมีอิทธิพลในการบริหาร
และได้รับประโยชน์อย่างที่เนชั่นเคยทำมาตลอด 3 ปีในไอทีวี
ไม่ว่าใครก็ตามก็คงต้องทำเช่นนี้ !