ใครเป็นใครในกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ของ TISCO


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

บริษัทเงินทุน ทิสโก้ จำกัด (มหาชน) เซ็นสัญญาเข้าร่วมโครงการเพิ่มเงินกองทุนขั้นที่ 1 กับกระทรวงการคลัง โดยออกหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพซึ่งผู้ถือหุ้นจะมีสิทธิได้รับเงินปันผลจำนวน 1 บาทต่อหุ้น (หรือร้อยละ 10 ของมูลค่าที่ตราไว้) ก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ และมีสิทธิได้รับเงินปันผลร่วมกับผู้ถือหุ้นสามัญ

หุ้นบุริมสิทธินี้ได้จดทะเบียนเพื่อเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เรียบร้อยแล้ว และบริษัทก็ได้รับเงินชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวจากนักลงทุนประเภทรายย่อย และสถาบันการเงินทั้งใน และต่างประเทศครบทั้งจำนวน 3,000 ล้านบาท ส่วนกระทรวงการคลังได้ออกใบสำคัญแสดง สิทธิอนุพันธ์ในการให้ผู้ร่วมลงทุนสมทบซื้อหุ้นจากกระทรวง การคลังในระยะเวลา 3 ปีในราคาต้นทุน โดยมีราคาการใช้สิทธิ 11.20 บาทต่อหุ้น นอกจากนี้กระทรวงฯ ยังได้ออกพันธบัตรมูลค่า 3,000 ล้านบาทเพื่อแลกกับหุ้นบุริมสิทธิจำนวน 300 ล้านหุ้นด้วย

นักลงทุนที่ซื้อหุ้นบุริมสิทธิของทิสโก้ไปนั้นมีกลุ่มที่น่าสนใจคือ Southeast Asia Investment Holding หรือ SAI จำนวน 110 ล้านหุ้น SAI เป็นบริษัทโฮลดิ้งเพื่อการลงทุน ที่ริเริ่มก่อตั้งโดยรัฐบาลไต้หวัน ธนาคารโลกและ China Development Industrial Bank หรือ CDIB (เดิมชื่อ China Development Corp. หรือ CDC) ซึ่งเป็นธนาคารเพื่อการลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรมรายสำคัญในไต้หวัน มีธุรกิจด้านการลงทุนโดยตรง วาณิช-ธนกิจ กิจการธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งยังทำเทรดดิ้งและโปรเจกต์ไฟแนนซ์ด้วย CDIB ถือเป็นธนาคารที่มีฐานเงินทุนแข็งแกร่งที่สุดในไต้หวัน โดยมีมูลค่าตามราคาตลาดประมาณ 8,000 ล้านเหรียญและมีส่วนของทุน 2,100 ล้านเหรียญ

SAI มีจุดมุ่งหมายคือการลงทุนในกลุ่มประเทศ

อาเซียน SAI ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านเหรียญ แต่เรียกชำระไว้เพียง 300 ล้านเหรียญ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา CDIB และ SAI มีการลงทุนในไทยมากกว่า 120 ล้านเหรียญ เช่น การซื้อหุ้นเพิ่มทุนในบงล.กรุงเทพธนาทรหรือ BFIT, บริษัท ทุนเท็กซ์ (ประเทศไทย) มีส่วนร่วมกับกลุ่ม จีอี-โกลด์แมนในการประมูลสินเชื่อจากปรส. รวมทั้งยังมีส่วนร่วมในโครงการเพิ่มทุนของ BBL และ TFB ด้วย นักลงทุนรายถัดมาคือ Olympus Capital Holdings Asia Ltd., เป็นบริษัทที่ดำเนินการลงทุนโดยตรงในเอเชีย Olympus บริหารเงินทุนระยะยาวจำนวน 275 ล้านเหรียญ Olympus แสวงหาโอกาสที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาและสร้างความเจริญเติบโตให้แก่กิจการในเอเชีย โดยมีการนำเอาระบบการบริหารที่ดีและแฟรนไชส์ที่มีลักษณะโดดเด่นเข้ามาร่วมบริหาร ผู้ก่อตั้งและมีส่วนร่วมในเงินกองทุนนี้คือ Ziff Brothers Investments หรือ ZBI ส่วนผู้สนับสนุนกองทุน Olympus คือหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีชื่อว่า Oversea Private Investment Corporation หรือ OPIC

สำหรับการลงทุนในประเทศไทยที่ผ่านมานั้น Olympus ใส่เม็ดเงินลงมาแล้วประมาณ 60 ล้านเหรียญ ซึ่งลงไปในโครงการต่างๆ ได้แก่ Asia Pacific Resources Ltd., ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานการทำเหมืองโปแตชในอุดรธานี นอกจากนี้ก็ลงทุนใน Thai Capital LLC, ซึ่งเป็นบริษัทที่เข้าไปซื้อสินเชื่อ (loans)จาก FRA

นักลงทุนถัดมาคือ กลุ่ม ฟินันซ่า (ประเทศไทย) เป็น กิจการที่ทำการลงทุนโดยตรงและทำด้านวาณิชธนกิจด้วย โดยได้ใบอนุญาตการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินจากก.ล.ต. นอกจากมีออฟฟิศในกรุงเทพฯ แล้ว บริษัทยังมีสำนักงานในฮานอย และโฮจิมินห์ซิตี้ด้วย บริษัทบริหารกองทุนที่ทำ การลงทุนโดยตรง 2 กองทุน มูลค่ารวม 75 ล้านเหรียญ และเพิ่งเปิดตัวระดมเม็ดเงินเพื่อจัดตั้งกองทุนใหม่อีก 1 กองมูลค่าเงินลงทุน 100 ล้านเหรียญลงทุนในไทยประเทศเดียว ฟินันซ่าเป็นที่ปรึกษาการลงทุนในไทยของ Olympus ด้วย นอกจากลงทุนซื้อหุ้นเพิ่มทุนในทิสโก้แล้ว ฟินันซ่าก็มีการลงทุนทำนองเดียวกันอีกในกลุ่มเนชั่น บริษัทซีเอ็ดฯ และ Asia Pacific Resources

กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของฟินันซ่าคือทีมบริหารที่ถือไว้ 70% ที่เหลืออีก 30% เป็นธนาคารเอบีเอ็นแอมโร อาจกล่าวได้ว่า หากมีการใช้สิทธิในใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่กระทรวงการคลังออกให้นักลงทุนแล้ว ทั้ง 3 กลุ่มนี้ ซึ่งถือเป็นพันธมิตรกัน ก็จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในทิสโก้ทันที ในสัดส่วนประมาณ 40%-50% ทีเดียว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.