สถานะแบงก์ไทย-เทศ ยุคหัวเลี้ยวหัวต่อ


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

มุมมองของบริษัทจัดอันดับยักษ์ใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อนักลงทุนอย่าง Moody"s Investors Service ต่อภาคธนาคารพาณิชย์ไทยว่ายังอยู่ในภาวะวิกฤติที่ต่อเนื่องและยังมีแนวโน้ม "เชิงลบ" ต่อกลุ่มธนาคารขนาดเล็กขนาดกลาง รวมทั้งธนาคารที่ขอรับการช่วยเหลือจากทางการส่วน ธนาคาร ขนาดใหญ่ถูกจัดในระดับที่มี "เสถียรภาพ" โดย Moody"s เห็น ว่าการเพิ่มทุนของระบบธนาคารพาณิชย์ตั้งแต่ต้นปี 2541 เป็นต้นมามีจำนวน 7 แสนล้านบาทนั้น "ยังไม่เพียงพอ"

สืบเนื่องจาก ณ เดือนมิถุนายน 2542 เงินกองทุนของระบบธนาคารรวมกับจำนวนกันสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ เมื่อหักดอกเบี้ยค้างรับแล้วมีสัดส่วนเพียง 23% ของสินเชื่อรวม ส่งผลให้ธนาคาร มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุนอีกในจำนวนที่ใกล้เคียงกับที่ได้ระดมทุนมาแล้ว อีกทั้งการแข่งขันในธุรกิจมีความรุนแรงมากขึ้น และธนาคารต่างชาติเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้น ในระบบแทนธนาคารในประเทศ ขณะเดียวกันบริษัทจัดอันดับ Stan-dard & Poor"s มีความเห็นในเชิงลบ เช่นเดียวกับ Moody"s เนื่องจากปี 2542 ระบบธนาคารยังคงมีรายได้สุทธิ "ติดลบ"

การคาดการณ์ของ Moody"s ในการเข้ามามีบทบาท ในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยของต่างประเทศ สอดคล้องกับความกังวลของหลายฝ่าย ที่เกรงกันว่าอีก 5 ปีข้างหน้า ธนาคารต่างชาติจะเข้ามาครอบงำธุรกิจนี้มากถึง 70% ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ ไทยจะค่อยๆ ลดบทบาทลง หลังจากที่สถาบันการเงินของไทยได้เผชิญกับวิกฤติการณ์ทางการเงินตั้งแต่ปี 2540 ธนาคารพาณิชย์ไทย ได้มีการปรับโครงสร้างขนานใหญ่ โดยจำใจเปิดกว้างให้นักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนได้เต็ม 100% ทำให้โครงสร้างการถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ไทยที่จัดตั้งในประเทศ มีการ เปลี่ยนแปลงไปสู่ธนาคารที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นชาวต่างชาติจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2541 ธนาคารเอเชียและ ธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ ได้เปลี่ยนโฉมหน้าเป็นธนาคารลูกครึ่งไปแล้ว

หากการแปรรูปธนาคารพา-ณิชย์ไทย 5 แห่ง ได้แก่ นครหลวงไทย รัตนสิน ศรีนคร ไทยธนาคาร และนครธน สำเร็จภายในสิ้นปีนี้ทำ ให้ธนาคารไทยถือหุ้นใหญ่โดยนักลงทุนต่างชาติสูงขึ้น รวมกับสาขาธนาคารต่างประเทศในไทยอีก 21 แห่ง จะทำให้ส่วนแบ่งตลาดทั้งในสินทรัพย์ เงินฝาก และสินเชื่อของกลุ่มธนาคารต่างประเทศเพิ่มขึ้นประมาณ 30% ของ ทั้งระบบ นอกจากนี้ ในปี 2543 หากทางการแปรรูปธนาคารกรุงไทยเสร็จเรียบร้อย จะส่งผลให้ส่วนแบ่งของธนาคารลูกครึ่ง เพิ่มขึ้นเกือบ 50% ของทั้งระบบ ด้านธนาคารขนาดใหญ่ที่ถือหุ้นโดยคนไทยทั้ง 6 แห่งนั้น ได้แก่ กรุงเทพ กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ กรุงไทย กรุงศรีอยุธยา และทหารไทย ปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาด ทั้งในแง่สินทรัพย์ เงินฝาก และสินเชื่อประมาณ 70% โดยมีธนาคารที่ถือหุ้น ใหญ่เป็นเอกชนในขณะนี้ คือ กรุงเทพ กสิกรไทย และกรุงศรีอยุธยา ขณะที่กรุงไทยถือหุ้น โดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ในสัดส่วน 87% กระทรวงการคลัง 3.7% สำหรับไทยพาณิชย์และทหารไทย ได้ประกาศขอรับความช่วยเหลือจากทางการตามโครงการเงินกองทุนขั้นที่ 1 ซึ่งจะทำให้ ธนาคาร 2 แห่งนี้มีโครงสร้างผู้ถือหุ้น เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน โดยมีรัฐ บาลเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น

เผยศักยภาพของธนาคาร

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ผู้ถือหุ้นดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญนำมาสู่การพัฒนาธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ทำให้การแข่งขันเข้มข้นขึ้นระหว่างธนาคารที่ถือหุ้นใหญ่ โดยคนไทยกับธนาคารที่ถือหุ้นใหญ่โดยต่างชาติ และ สาขาธนาคารต่างประเทศในไทย เมื่อเปิดฐานะของแต่ละกลุ่มมา พิจารณาเปรียบเทียบศักยภาพ ในการแข่งขันแล้ว นับวันยิ่งดุเดือดขึ้นทุกวัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า หากพิจารณาฐานะเงินกองทุน ตามกฎหมายของระบบธนาคารพาณิชย์ (เฉพาะธนาคารที่จัดตั้งในไทย 13 แห่ง) ณ สิ้นพฤษภาคม 2542 มีจำนวนรวม 6.2 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10.82% ของสินทรัพย์รวม โดยกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 6 แห่ง มีสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์สูงกว่าเฉลี่ยทั้งระบบอยู่ประมาณ 11.54% อันเป็น ผลจากความสำเร็จในการเพิ่มทุนของธนาคารกสิกรไทย กรุงเทพ กรุงศรีอยุธยา และทหารไทย คาดว่าสัด ส่วนจะเพิ่มขึ้นในช่วงต่อไปจากการเพิ่มทุนอีก 6.5 หมื่นล้านบาทของธนาคารไทยพาณิชย์ และอีก 10.8 หมื่นล้านบาทของธนาคารกรุงไทย ขณะที่ 2 ธนาคารลูกครึ่ง และอีก 5 ธนาคาร ที่รอการขายต่างชาติ มีสัดส่วนประมาณ 9.08% และ 7.31% ตาม ลำดับ

ห้วงที่ผ่านมา ธนาคารพา-ณิชย์ที่ถือหุ้นโดยคนไทยถูกกดดัน จากปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan : NPLs) และความไม่เพียงพอของเงินกองทุน ทำให้ต้องเร่งระดมทุนเพื่อเสริมฐานะเงินกองทุนให้แข็งแกร่ง ขณะเดียวกันต้องระดมทรัพยากรส่วนใหญ่ มาใช้ในการเร่งปรับโครงสร้างหนี้เพื่อ ลดจำนวน NPLs ส่งผลให้ไม่สามารถเตรียมความพร้อมและปรับตัวทางธุรกิจ ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อได้ ขณะที่ธนาคารเอเชียและดีบีเอส ไทยทนุ บุกตลาดนำร่องไปก่อนตั้งแต่ต้นปีนี้แล้ว

ด้านขนาดสินทรัพย์ของระบบธนาคารโดยรวม ณ สิ้นพฤษภาคม 2542 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,585 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 6,410 พันล้านบาทณ สิ้นปี 2541 โดยแบ่งเป็นสัดส่วนกลุ่มธนาคารไทย 6 แห่งที่ลดลงจาก 71.5% ณ สิ้นปี 2541 เหลือ 70.4% ณ สิ้นพฤษภาคม 2542 ขณะที่กลุ่มธนาคารที่รอขายต่างประเทศ มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจาก 10.1% เป็น 12% เป็นผลจากการรวมกิจการ ของธนาคารไทย ธนาคารกับ 12 ไฟแนนซ์ ส่วน สาขาธนาคารต่างประเทศ 21 แห่งบวก กับธนาคารลูกครึ่งต่างมีขนาดสินทรัพย์ในสัดส่วนที่ลดลงเพียงเล็กน้อย

ยอดเงินฝากทั้งระบบ ณ สิ้นพฤษภาคม 2542 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 4,742 พันล้านบาทเพิ่มขึ้นจาก 4,579 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2541 ส่วนแบ่งตลาดด้านเงินฝากของ ธนาคารพาณิชย์ 6 แห่งมีสัดส่วนลดลงจาก 79.3% ณ สิ้นปี 2541 เหลือ 76.3% ณ สิ้นพฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยฝากประจำ ที่ไม่จูงใจรวมทั้งเงินฝาก โดนถอนเงินเพื่อไปลงทุน โดยเฉพาะ SLIPs และ CAPs ในทางกลับกัน ยอดเงินฝากในธนาคารที่กำลังรอขาย และธนา-คารลูกครึ่งมีสัดส่วนขยับขึ้นจาก 11.8% และ 4.9% ตามลำดับ มาเป็น 14.4% และ 5.1% โดยเฉพาะธนาคารเอเชียที่เคยมีส่วนแบ่งตลาด 2.5% ในช่วงสิ้นปี 2541 เพิ่มเป็น 2.7% ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จากการอัดแคมเปญเจาะตลาดลูกค้ารายย่อยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับสัดส่วนเงินฝากที่เพิ่มขึ้นของธนาคารที่รอขายต่างประเทศ หลังการควบกิจการระหว่างธนาคาร และ 12 ไฟแนนซ์ ทำให้เงินฝากไหลเข้ามาในระบบเพิ่มมากขึ้น

ด้านยอดคงค้างสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นพฤษภาคม 2542 มียอดรวมทั้งสิ้น 4,510 พันล้านบาท ลดลงจาก 4,586 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2541 ส่วนแบ่งตลาดสำหรับสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ 6 แห่งและกลุ่ม 21 ธนาคารต่างประเทศ มีสัดส่วนลดลงประมาณ 70.7% และ12.8% ตามลำดับ จากที่เคยอยู่ที่ระดับ 70% และ 14% ช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา ขณะที่ส่วนแบ่งตลาด ธนาคารที่รอขายเพิ่มขึ้นจาก 9.3% เป็น 11.85% เป็นผลจากการควบกิจการระหว่างธนาคารไทยธนาคารและ 12 ไฟแนนซ์ ส่วนธนาคารเอเชียและ

ดีบีเอส ไทยทนุ มีสัดส่วนสินเชื่อลดลงเล็กน้อยจาก 4.7% เหลือ 4.6%

เมื่อเมียงมองไปดูจำนวนสาขาของแต่ละธนาคารถือว่าเป็นตัวบ่งชี้สำคัญถึงศักยภาพการขยายฐานลูกค้า โดยจำนวนสาขาธนาคารพาณิชย์ ไทย เพิ่มขึ้น 159 สาขา จาก 3,691 สาขา ณ สิ้นมิถุนายน 2541 มาเป็น 3,829 สาขา ณ เดือนพฤษภาคม 2542 ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นเกิดขึ้นเฉพาะสาขาธนาคารที่จัดตั้งในประเทศเท่านั้น ขณะที่ธนาคารต่างชาติยังคงมีสาขาเท่าเดิม ส่วนกลุ่มธนาคาร 6 แห่ง มีส่วนแบ่งตลาด 77.5% เพิ่มขึ้นจาก 76.8% ในช่วงกลางปีก่อน ด้านธนาคาร ลูกครึ่ง 2 แห่ง ยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ที่ 5.5% เช่นเดิม ส่วนธนา-คารที่รอขายมีสัดส่วนสาขาลดลงต่อเนื่องจาก 17% ณ กลางปี 2541 เหลือ 16.5%

สำหรับทรัพยากรทางด้านบุคคล นับตั้งแต่ช่วงปี 2541 ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งพยายามลดต้นทุน แล้วเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน ทั้งนี้จำนวนพนักงานของธนาคาร ต่างมีจำนวนลดลงจากปี 2540 โดยกลุ่มธนาคาร ที่รอขาย มีจำนวนพนักงานลดลง 5% ขณะ ธนาคารเอเชียและดีบีเอส ไทยทนุลดพนักงานลงประมาณ 4% ส่วนธนาคารคนไทยมีอัตราการลดจำนวนพนักงานประมาณ 2.5%

หากเทียบในแง่ประสิทธิภาพ การดำเนินงานของพนักงานธนาคาร ที่มีต่างชาติถือหุ้นด้วย จะได้เปรียบวัดได้จากสัดส่วนของสินทรัพย์และเงินฝากต่อพนักงาน (Assets and Deposits per Employee) ของธนาคารลูกครึ่งที่มีระดับสูงกว่าธนาคารของคนไทย ส่วนธนาคารที่รอขายมีสัดส่วนดังกล่าวในระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนรวมทั้งระบบ นับเป็นปัจจัยกดดันให้ธนาคารกลุ่มนี้ ต้องลดจำนวนพนักงานลงในระยะต่อ ไปหลังการแปรรูปขายให้ต่างชาติแล้ว

ด้านจำนวนเครื่องเอทีเอ็ม เป็นตัวบ่งบอกถึงการบริการให้เข้าถึงลูกค้า โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องของเวลา ปรากฏว่าธนาคาร 6 แห่งของคน ไทยมีสัดส่วนแบ่งตลาดเครื่องเอทีเอ็ม 83% ขณะที่ธนาคารลูกครึ่ง 2 แห่งและ 21 สาขาของธนาคารต่างชาติและธนาคาร ที่รอขายให้นักลงทุนมี จำนวน 17%

ในส่วนของจำนวนบัตรเอทีเอ็ม ธนาคารที่สามารถเพิ่มจำนวนบัตรได้ จะสามารถทำรายได้จากค่าธรรมเนียมรายปีบัตรเอทีเอ็มและค่าธรรมเนียมในการออกบัตรใหม่ได้เพิ่ม ขึ้น บัตรเอทีเอ็มโดย 13 ธนาคารที่จัดตั้งในไทย มีจำนวนลดลงจากกลางปี 2541 ที่มีจำนวนประมาณ 16,888 พันใบ มาเป็น 15,802 พันใบในต้นปี 2542 ขณะที่สาขาธนาคารต่างประเทศ สามารถออกบัตรเอทีเอ็มเพิ่มขึ้นจากประมาณ 115 พันใบเป็น 133 พัน ใบ แม้ว่าจำนวนบัตรเอทีเอ็มของระบบธนาคารจะมีจำนวนลดลง แต่ปริมาณการทำรายการผ่านเครื่องเอทีเอ็มกลับเพิ่มขึ้น จาก 27 ล้านครั้งต่อเดือนในปี 2540 มาเป็น 31 ล้านครั้งต่อเดือนในปี 2541

กลยุทธ์แบงก์ภายใต้การแข่งขันรุนแรง

ผลจากการเปิดให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในธนาคารพาณิชย์ไทยได้อย่างเสรี ซึ่งเคยเป็นธุรกิจที่ได้รับการปกป้องมาช้านาน ต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขัน ที่ดุเดือดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะเมื่อคู่แข่ง เป็นธนาคารต่างชาติที่เพรียบพร้อมด้วยประสบการณ์ในการแข่งขันระดับนานาชาติมาแล้วทั้งสิ้น ดังตัวอย่างที่เพียงการขยับตัวของธนาคารเอเชีย ที่อดีตถูกจัดว่าเป็นธนาคารขนาดเล็ก ยังสามารถสั่นคลอนตลาดที่ธนาคารไทยเคยยึดครองไว้อย่างช้านานได้ หากภายในสิ้นปีนี้ทางการสามารถแปรรูป หรือขายธนาคารออกไปได้สำเร็จการแข่งขันยิ่งนับวันรุนแรงมากยิ่งขึ้น แม้ว่า การหยั่งรากลึกในฐาน ลูกค้าที่กว้างกว่าของธนาคารไทย เป็นจุดแข็งสำคัญที่ดูเหมือนจะทำให้ธนาคารไทยได้เปรียบในการแข่งขันกับต่างชาติ แต่ขณะนี้ด้วยกลยุทธ์การตลาด เทคโนโลยีและสินค้ารูปแบบใหม่ๆ อีกทั้งการบริหารที่มีประสิทธิภาพเป็นจุดแข็งสำคัญที่ส่งเสริมให้ธนาคารต่างชาต ิกลายเป็นคู่แข่งสำคัญที่มีศักยภาพสูงในธุรกิจธนาคาร พาณิชย์ไทย ดังนั้น หากธนาคารพาณิชย์ยังคงไม่ปรับกลยุทธ์การดำเนินงาน โครงสร้างองค์กร และนำสินค้าใหม่ๆ มาต่อสู้เพื่อรักษาตลาดเดิมเอาไว้ โดยยังคงยืนเป็นฝ่ายตั้งรับอย่างเดียวก็มีความเป็นไปได้ว่า ธนาคารไทยจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ให้กับธนาคารต่างชาติได้ในระยะเวลาอันใกล้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.