คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ตอนที่ 1

โดย อเนกระรัว
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

ผมเป็นผู้หนึ่งที่เกาะติดกับวงการ คอมพิวเตอร์มาเป็นเวลานาน และเป็นเรื่องปรกติที่เพื่อนฝูงญาติพี่น้องจะมาปรึกษาเรื่องจะซื้อคอมพิวเตอร์ใช้ ไม่นานมานี้ผมให้คำปรึกษากับเพื่อนนักธุรกิจคนหนึ่ง (โดยไม่คิดมูลค่า) เขาต้อง การหาซื้อคอมพิวเตอร์ส่วนตัวชนิดหิ้วไปไหนมาไหน อันที่จริง ที่ทำงานของเขา ก็มีคอมพิวเตอร์อยู่หลายเครื่องสำหรับลูกน้อง และก็ใช้งานอย่างเป็นล่ำเป็นสันยกเว้นตัวเขาเอง เขาเคยถามผู้รู้เรื่องคอมพิวเตอร์ในที่ทำงานหลายคนและมักจะได้คำตอบที่เป็นสูตรสำเร็จทั่วๆ ไปแต่เพื่อนของผมเขาทราบข่าวการฟื้นคืนชีพของบริษัทแอปเปิลคอม พิวเตอร์ พร้อมกับการออกอาละวาดของเครื่องคอมพิวเตอร์สีลูกกวาดรูปทรงประหลาดในภูมิภาคต่างๆ ของโลก ทำให้คิดว่าคอมพิวเตอร์ในโลกนี้มิได้มีแต่ เครื่องพีซีที่มีตัว "อินเทล" อยู่ข้างในกับ "วินโดวส์" ของ บิลล์ เกตส์ เท่านั้น

ก่อนที่ผมจะถูกซักไซ้เรื่องคอมพิวเตอร์ ผมซักไปก่อนว่าทำไมถึง (เพิ่ง) สนใจจะใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อนผมสารภาพว่า แต่ไหนแต่ไรเวลาต่อรองทางธุรกิจเขาจะรู้สึกว่าตัวเองฉลาดและมีความมั่นใจ แต่เวลาใช้คอมพิวเตอร์จะรู้สึกเหมือนคนโง่ที่ช่วยตัวเองไม่ได้ (แต่ เดี๋ยวนี้ถ้าไม่รู้คอมพิวเตอร์ท่าจะโง่เอาจริงๆ เพื่อนผมกล่าวยอมรับ) เพื่อนผม ทราบดีว่าคอมพิวเตอร์จะมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจเจริญก้าวหน้า และการ ที่ได้เรียนรู้และใช้ด้วยตัวเองจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังเป็นข้อ บังคับกลายๆ ในการติดต่อสื่อสารเพื่อการค้าขายระหว่างประเทศโดยเฉพาะกับ ประเทศที่พัฒนาแล้ว

ปัจจุบันการติดต่อสื่อสารและการแลกเปลี่ยนข้อมูลในโลกไร้พรม แดนผ่านทางอินเตอร์เน็ตเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและประหยัดที่สุด คุณสามารถติดต่อธุรกิจหรือญาติพี่น้องเพื่อน ฝูงผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ เรียนรู้วิทยาการใหม่ๆ ติดตามข่าวสาร ค้น คว้าข้อมูล โฆษณาสินค้า เสวนาโต๊ะกลม (ด้วยมือกับแป้นพิมพ์) และอีกมากมาย ผ่านทางอินเตอร์เน็ต นอกจาก นี้ยังมีแนวโน้มที่จะนำเทคโนโลยีเครือข่ายใยแมงมุมมาใช้ในการซื้อขายสินค้าที่เรียกกันว่า อิเล็กทรอนิกส์คอมเมิร์ซ หรือ อี-คอมเมิร์ซ อย่างเต็มรูปแบบ รวมทั้งการทำธุรกรรมทั้งในระดับส่วนบุคคลจนถึงระดับองค์กร และเชื่อว่าในเวลาอันรวดเร็วนี้ รูปแบบการทำการค้าขายของโลกจะเปลี่ยนแปลงอย่าง น่าตกใจ

ความจริงแนวโน้มเรื่องอี-คอมเมิร์ซมีมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ไม่สามารถก้าวกระโดดอย่างมั่นใจได้ด้วยสาเหตุสำคัญคือ ปัญหา Y2K ภายในปีนี้และ ต้นปีหน้าจะเป็นช่วงการปรับปรุงซอฟต์ เเวร์และระบบคอมพิวเตอร์เพื่อให้การทำงานของคอมพิวเตอร์ปลอดปัญหา Y2K และเป็นการตั้งหลักเพื่อรองรับการพัฒนาระบบต่อไป คาดว่าเมื่อผ่านพ้นระยะเวลานี้ไปได้แล้ว ใครต่อใครที่จ้อง จะทำเงินให้เป็นเงินอย่างเช่น บริษัทบัตรเครดิต ธนาคาร(ของฝรั่ง ไม่ต้องรอเพิ่มทุนอย่างจะเป็นจะตาย) หรือเครือข่ายค้าปลีกทางไปรษณีย์ จะต้องกระโจนเข้าสู่เวที อี-คอมเมิร์ซดังเสือหิวข้ามปี แต่ก่อนที่จะเตลิดเปิดเปิงไปไหนต่อไหน ผมขอกลับมาเข้าเรื่องของเพื่อนผมที่อยากจะหาเครื่องคอมพิวเตอร์ มาใช้สักเครื่อง ในที่นี้ผมขอกล่าวเฉพาะ เจาะจงไปยังคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลทั้งแบบตั้งโต๊ะและแบบหิ้วได้

เนื่องจากเทคโนโลยีด้านคอมพิว เตอร์ยังเป็นของใหม่และเป็นอุปกรณ์ที่มีการทำงานที่ซับซ้อน การที่จะเลือกซื้อคอมพิวเตอร์สักเครื่อง จนกระทั่งสามารถใช้งานได้อย่างคล่องแคล่ว จึงเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก แต่อย่างไรก็ตามวงการคอมพิวเตอร์พยายามพัฒนาให้เครื่องใช้งานง่ายขึ้นและมีราคาถูกลง เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้าง ให้กลายเป็นอุปกรณ์ประจำบ้านเหมือนโทรศัพท์ ชุดเครื่องเสียง หรือเครื่องรับโทรทัศน์ แต่ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลานั้น ท่านทั้งหลายต้องทำใจและใช้ความพยายาม

คอมพิวเตอร์ไม่ว่าจะเป็นค่ายไหนยี่ห้อไหนจะประกอบด้วยสองส่วนคือ ตัวเครื่องที่จับต้องได้ ภาษาอังกฤษ เขาเรียก Hardware ภาษาไทยเป็นทางการเรียก กระด้างภัณฑ์ ซึ่งออกจะเรียกยากอยู่ ผมขอใช้คำทับศัพท์ว่า ฮาร์ดแวร์ จะสะดวกกว่า ฮาร์ดแวร์หมายถึงตัวเครื่อง แป้นพิมพ์ จอภาพ หรือเมาส์ เป็นต้น ส่วนที่สองคือ ซอฟต์ แวร์ (Software) หรือ ละมุนภัณฑ์ หมายถึงชุดคำสั่งทางคอมพิวเตอร์เพื่อให้เครื่องทำงานได้ ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ต้องมารวมกันจึงจะทำให้เครื่องคอมพิว เตอร์ทำงานได้

ผมขอลงรายละเอียดเกี่ยวกับฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์อีกนิดว่า ส่วนประกอบของฮาร์ดแวร์ที่สำคัญคือ ตัวเครื่อง ซึ่งเรียกว่าหน่วยประมวลผลกลาง ฝรั่งเรียก Central Processing Unit หรือ CPU ซึ่งเป็นศูนย์กลางการทำงานของเครื่อง ทำหน้าที่คิดคำนวณ จดจำข้อมูลต่างๆ ติดต่อกับผู้ใช้ และควบคุมอุปกรณ์ต่อพ่วงต่างๆ มีรูปร่างและขนาดต่างๆ กันตั้งแต่เป็นกล่องตั้งโต๊ะแบนๆ ไปจนถึงตู้ตั้งพื้นขนาดย่อม เครื่องคอมพิวเตอร์บางชนิด มีตัวประมวลผลกลางเป็นชิ้นเดียวกับจอภาพ การใช้งานของคอมพิวเตอร์ ผู้ใช้จะติดต่อกับเครื่องผ่านทางแป้นพิมพ์อักษร และอุปกรณ์เหมือนหนูหางยาวที่เรียกว่า เมาส์ (Mouse) เครื่องจะรับคำสั่งหรือข้อมูลนำไปคิดคำนวณ จากนั้นจะแสดง ผลผ่านทางจอภาพซึ่งเหมือนกับจอทีวีเป็นตัวอักษรหรือภาพสัญลักษณ์ นอกจากนั้นยังมีอุปกรณ์สำหรับรับส่งข้อมูลได้แก่ เครื่องอ่านแผ่น ซีดีรอม หรือ แผ่นดีวีดี ซึ่งใช้ในการติดตั้งโปรแกรมหรือป้อนข้อมูลจำนวนมาก นอกจากนั้น ยังใช้ดูภาพยนตร์หรือฟังเพลงได้ด้วย และอุปกรณ์เก็บข้อมูลขนาดเล็ก หรือ ฟลอปปี้ดิสก์ เป็นแผ่นบันทึกข้อมูลเพื่อใช้เก็บสำรอง หรือใช้ในการย้ายข้อมูลที่มีขนาดไม่ใหญ่จากเครื่องหนึ่งไปยังอีกเครื่องหนึ่ง ในกรณีที่ต้องการใช้งานต่อกับอินเตอร์เน็ต จะต้องมีอุปกรณ์ต่อพ่วงที่เรียกว่าโมเด็มซึ่งจะทำหน้าที่ติดต่อกับเครือข่ายคอมพิวเตอร์ผ่านสายโทรศัพท์

อย่างที่กล่าวมา ลำพังเพียงฮาร์ด แวร์อย่างเดียวเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่สามารถจะทำงานได้ จำเป็นต้องมีซอฟต์ แวร์ประกอบ ซอฟต์แวร์ในเครื่องคอม พิวเตอร์อาจแบ่งได้เป็นสองส่วนคือ ระบบปฏิบัติการภาษาฝรั่งเรียกว่า Operation System และโปรแกรมใช้งานหรือ Application Program ระบบปฏิบัติการทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของส่วนต่างๆ ที่สลับซับซ้อนของเครื่องคอมพิวเตอร์ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ใช้ไม่จำเป็น ต้องข้องเกี่ยวด้วย แต่มีส่วนหนึ่งของระบบปฏิบัติการที่ทำหน้าที่ติดต่อกับผู้ใช้ที่เรียกว่า User Interface ซึ่งผู้ใช้งานจำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้การใช้งาน คอมพิวเตอร์จะใช้งานง่ายหรือยากและดูฉลาดหรือไม่ก็ตรงจุดนี้

สมัยก่อน คอมพิวเตอร์เป็นเพียงเครื่องมือของนักวิทยาศาสตร์ หรือวิศวกร การพัฒนา User Interface ยังไม่เห็นแก่ประชากรส่วนใหญ่ การใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์จะต้องพิมพ์คำสั่งเป็นคำๆ และในคำสั่งแต่ละคำก็มีตัวเลือกอีกมากมาย ผู้ใช้จะต้องใช้ความ จำอย่างยิ่งยวด หรือไม่ก็ทำผิดซ้ำผิดซากจนจำได้ หรือถ้าจำไม่ได้ก็ผิดซ้ำผิดซากต่อไป ใครที่เก่งหน่อยและไม่อยากพิมพ์คำสั่งซ้ำซากก็จะเขียนเป็นโปรแกรมขึ้นมา (โปรแกรมคือชุดของคำ สั่งหลายๆ คำมาต่อกัน) ซึ่งดูจะนอกเหนือวิสัยของปุถุชนคนธรรมดา แล้ววัน หนึ่งเกือบยี่สิบปีมาแล้ว มิสเตอร์ สตีฟ จ๊อบส์ ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็น ซีอีโอ ชั่วชีวิตของบริษัทแอปเปิล คอมพิวเตอร์ ได้ประยุกต์ระบบ Graphic User Interface มาใช้กับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ซึ่งผู้ใช้สามารถสั่งการคอมพิวเตอร์ผ่านจอภาพ โดยการเลื่อนอุปกรณ์รูปร่างเหมือนหนูหางยาวที่เรียกว่า เมาส์ ซึ่งจะบังคับลูกศรในจอคอมพิวเตอร์ให้ไปอยู่บนรายการคำสั่งที่เรียกว่าเมนู หรือภาพสัญลักษณ์ที่ใช้แทนคำสั่ง จากนั้นก็กดปุ่มบนเมาส์เพื่อให้ทำงาน วิธีนี้ทำ ให้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ไม่ต้องจดจำคำสั่งต่างๆ และยังมีรูปสวยๆ งามๆ ให้ดูเล่น ทำให้ช่องว่างระหว่างคอมพิวเตอร์กับผู้ใช้แคบลง ระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ในปัจจุบันล้วนประยุกต์วิธีการนี้แทบ ทั้งสิ้นรวมทั้งระบบปฏิบัติการ (ครองโลก) ที่เรียกว่า วินโดวส์

เรื่องราวของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลยังไม่จบเพียงเท่านี้ ยังมีเกร็ดความรู้และแง่คิดสำหรับผู้ที่กำลังมองหาเครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้สักเครื่อง โปรดติดตามตอนต่อไป สวัสดีครับ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.