ฟังดนตรีแห่งกรุงเวียนนา ตอนที่ 5 (ตอนจบ)

โดย อเนกระรัว
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

ระหว่างที่ผมเขียนเกี่ยวกับดนตรี คลาสสิกอยู่นี้ ผมได้พบกับเพื่อนผู้ซึ่งวันๆ จะวุ่นอยู่กับการสร้างสมและหมุน เวียนทรัพย์ (และสัมผัสแต่สิ่งที่แข็งกระด้างต่อจิตวิญญาณ) เขาถามผมว่ากำลังสนใจหรือทำกิจกรรมอะไรในช่วงนี้ (ผมอาจฟังผิดระหว่างกิจกรรม หรือ กิจการ) ผมตอบไปว่าฟังเพลงคลาสสิก เพื่อนผมหยุดคิด ทำหน้าเหมือนเครื่องคิดเลข บวกลบคูณหารในใจ ไม่น่าได้กำไร ผมเดาคำตอบ จากนั้นการสนทนา ก็จบลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ผมหวนนึกถึง ข้อสงสัยของหลายๆ คนเกี่ยวกับดนตรี คลาสสิก ซึ่งอาจเป็นจุดเชื่อมต่อของความสนใจในการฟังเพลงคลาสสิกก็ได้ ผมจึงขอจบข้อเขียนชุด ฟังดนตรีแห่งกรุงเวียนนาด้วยการถามตอบในสไตล์ร่วมสมัย FAQ (Frequent Asked Questions)

ดนตรีคลาสสิกเป็นของใคร เพื่อใคร

มีหลายคนเชื่อว่าดนตรีคลาสสิกเป็นดนตรีของผู้มั่งมี เพื่อผู้มั่งมีที่ชีวิตส่วนใหญ่ไม่ต้องดิ้นรนเพื่ออยู่รอดและมีเวลาคิดและทำในสิ่งที่นอกเหนือความจำเป็นพื้นฐาน ความคิดนี้มีทั้งผิดและถูก ในแง่มุมของผู้สร้างผลงาน ตั้งแต่อดีตกาลคีตกวีผู้ยิ่งใหญ่หลายท่านมีฐานะยากจน ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ ไฮเดน โมสาร์ท และบีโธเฟน (ที่ผมเขียนถึงในตอนก่อนหน้า) ล้วนมีฐานะยากจนโดยเฉพาะในช่วงเยาว์วัย แต่บุคคลเหล่านี้อุทิศชีวิตเพื่องานดนตรีแม้จะต้องลำบาก ขณะเดียวกันจะเห็นได้จากตัวอย่างในอดีตว่าผู้มีฐานะมั่งมีมักจะเป็นผู้สนับสนุน ดนตรีคลาสสิกในยุคเริ่มต้นแห่งสหัสวรรษที่ 2 ของมวล มนุษย์ซึ่งเป็นยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร ผมเชื่อ ว่าโอกาสของผู้คนที่จะสร้างสรรค์และบริโภคงานดนตรีในประเทศที่พัฒนาและกำลังพัฒนานั้นเปิดกว้างเพียงพอ อยู่ที่ความสนใจการขวนขวายของปัจเจกบุคคลมากกว่า

จะเข้าใจความหมายของดนตรีอย่างไร

มีหลายคนสงสัยว่าดนตรีคลาสสิกที่ไม่มีเนื้อร้องมีความหมายว่าอย่างไร และผู้ประพันธ์ต้องการสื่ออะไร ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าดนตรีเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่มีความเป็นนามธรรมสูงที่สุด เพลง ยอดนิยมที่เราได้ยินกันอยู่ทุกวันใช้เนื้อร้องในการสื่อความหมายที่เป็นรูปธรรม แต่ดนตรีคลาสสิกส่วนใหญ่เป็นดนตรีนามธรรมคือ เป็นดนตรีเพื่อการถ่ายทอดจินตนาการของเสียง ผู้ฟังสามารถใช้จินตนาการส่วนตัวในการสร้างภาพหรือแปลความหมายได้อย่างอิสระ แต่ก็จะมี ดนตรีบางประเภทที่เรียกว่า Program Music ซึ่งเป็นดนตรีที่มีความหมายซ่อน อยู่หรือมีการบอกเล่าเรื่องราวผ่านภาษาเสียง สังเกตได้จากชื่อของบทเพลง ถ้าชื่อเพลงหรือท่อนของเพลงมีความหมาย อย่างไร ดนตรีก็น่าจะสะท้อนความหมาย นั้นออกมา แน่นอนจะไม่ได้รายละเอียด ที่เที่ยงตรงดังภาษาพูดหรือเขียน แต่เป็น การสะท้อนความหมายผ่านจินตนาการของผู้สร้างไปยังจินตนาการของผู้ฟังโดยใช้เสียงเป็นสื่อ

อย่างไรที่เรียกว่าไพเราะ

ความไพเราะที่แท้จริงจะเกิดจากความรู้สึกในใจของผู้ฟัง ซึ่งก็แล้วแต่รสนิยม ความนึกคิดและประสบการณ์การฟังเพลงของผู้นั้น ดนตรีคลาสสิกมีหลายยุคหลายสมัย หลายรูปแบบ ซึ่งจะมีความแตกต่างกันอย่างมาก (มากจริงๆ ผมขอเน้น) ยกตัวอย่างสมมติ มีผู้อ่าน (คอลัมน์ของผม) ไปได้เพลงของคีตกวี Arnold Schonberg, Anton Webern หรือ Alban Berg ซึ่งก็เป็นคีตกวีแห่งกรุงเวียนนาเช่นกันแต่อยู่ในสมัยกลางศตวรรษที่ 20 มาฟัง เมื่อได้ฟังเพลงของ คนเหล่านี้แล้วอาจรู้สึกเกลียดดนตรีคลาสสิกไปจนชีวิตหาไม่ และถ้าต้องเสียสตางค์ซื้อมาแล้ว ก็อาจจะหักแผ่นซีดีเป็นสองท่อนแล้วโยนทิ้งถังขยะด้วยความแค้น เพราะไม่อาจค้นหาเศษเสี้ยวธุลีของอณูของความไพเราะจากดนตรีเหล่านี้ได้เลย ในทางกลับกัน ถ้าเขาได้ฟังเพลงวอลซ์ของ Johann Struss Jr, ซึ่งก็เป็นดนตรีแห่งกรุงเวียนนาในยุคครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 ก็อาจหลงรักดนตรีคลาสสิกขึ้นมาทันทีทันใด นั่นเป็นผลมาจากความแตกต่างของดนตรีคลาสสิกในแต่ละยุคสมัย กับรสนิยมคนฟังที่แตกต่างกันไป หากพูดถึงดนตรีคลาสสิกแล้วไม่ใช่ว่าจะหมายถึงดนตรีสไตล์ใดสไตล์หนึ่งโดยเฉพาะ

เหตุใดต้องมีศัพท์แสงที่พิสดาร

ชื่อของเพลงหรือชื่อท่อนของเพลงคลาสสิกมักใช้ภาษาเทคนิคทางดนตรี ซึ่งเข้าใจยากและรู้สึกวุ่นวายเกินเหตุ ดังที่กล่าวมาแล้ว ดนตรีคลาสสิกส่วนใหญ่เป็นดนตรีนามธรรม การตั้งชื่อ จึงใช้คุณสมบัติพื้นฐานทางดนตรี เช่น บันไดเสียง หรือรูปแบบการนำเสนอ เช่น ชนิดของเครื่องดนตรี ชนิดของวงดนตรี หรือโครงสร้างของดนตรี (FORM) เป็น ต้น นอกจากนั้นก็อาจมีหมายเลขกำกับกรณีที่มีผลงานในรูปแบบเดียวกันมากกว่าหนึ่งชิ้น (ตัวเลขมักเป็นลำดับตามเวลาของการประพันธ์ผลงาน) อีกอย่างผลงานดนตรีแนวนี้เกิดจากการทำงานอย่างจริงจังเป็นที่สุด ดังนั้นการตั้งชื่อเพลงด้วยศัพท์ดนตรีจึงเป็นค่านิยมของทั้งผู้ประพันธ์และผู้ฟังเพื่อสะท้อนเนื้อหา ทางดนตรีของเพลง

การไปฟังการแสดงคอนเสิร์ตจะช่วยให้เข้าถึงดนตรีได้หรือไม่

การฟังคอนเสิร์ตมีประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ที่สนใจฟังดนตรีคลาสสิก ด้วยเสียงที่เปล่งออกมาสดๆ เข้าสู่โสตประสาทจากการแสดงที่อยู่ตรงหน้า ท่านจะได้รับรู้อารมณ์และเห็นความตั้งใจของนักดนตรีที่จะถ่ายทอดผลงานที่ยิ่งใหญ่สู่ผู้ฟัง ถ้าฝีมือนักดนตรี ไม่เลวร้ายและราคาบัตรไม่สูงจนรบกวนจิตใจเกินไป การฟังคอนเสิร์ตจะได้อรรถรสและความเพลิดเพลินได้ดีกว่าการนั่งฟังซีดีอยู่กับบ้านคนเดียว และยังเป็นการส่งเสริมกิจกรรมทางดนตรีที่ดีด้วย

เครื่องเสียงที่ดีมีส่วนช่วยหรือไม่

การฟังเพลงคลาสสิกสามารถทำได้ในหลายโอกาส ไม่ว่าจะทำงานไปฟังไป เป็นดนตรีเสริมบรรยากาศก็ได้ ใช้กล่อมนอนหรือใช้ปลุกในตอนเช้าก็ดี ฟังระหว่างขับรถก็เข้าท่า ในกรณีเหล่านี้เครื่องเสียงคุณภาพระดับกระเป๋าหิ้วธรรมดาก็เพียงพอโดยไม่ต้องพึ่งพาบูมบอกซ์หรือเอฟเฟกต์นานาชนิด แต่ในกรณีที่ท่านอยากฟังเพลงคลาสสิกอย่างจริงจัง อยากฟังเสียงของคันชักที่สัมผัสสายไวโอลินด้วยลีลาเฉพาะตัวของนักสีไวโอลินระดับโลกในช่วงที่แผ่วเบาที่สุด หรือฟังแนวของปี่โอโบท่ามกลางเสียงเครื่องดนตรีอีก 80 ชิ้นในช่วงโหมโรง เครื่องเสียงที่ดีจะมีส่วนช่วยอย่างมาก เพราะเพลงคลาสสิกเพลงหนึ่งมีรายละเอียดมากมายซ่อนอยู่ เครื่องเสียงที่ดี ประกอบกับความตั้งใจของผู้ฟังจะสามารถสัมผัสความงามจากอณูของเสียงได้

ดนตรีคลาสสิกมีประโยชน์อย่างไรต่อชีวิต

ดนตรีคลาสสิกถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการเสริมแต่งคุณภาพชีวิต เช่นเดียวกับดนตรีแขนงอื่นๆ หรือการเสพศิลปะ หรือกิจกรรมสันทนาการอื่นๆ ซึ่งก็ล้วนเป็นการเสริมแต่งคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของดนตรีคลาสสิกคือ เป็นงานศิลปะที่ละเอียดอ่อน เป็นนามธรรม ต้องอาศัยความพยายาม ในการเข้าถึง ต้องใช้จินตนาการ สูง บางแนวของดนตรีคลาสสิกอาจต้องอาศัยความรู้ทางดนตรี และอาจต้องเปิด กว้างทางความคิดอย่างมาก สิ่งเหล่านี้มีส่วนเสริมความรู้สึกนึกคิดให้ได้พัฒนา และโดยทั่วไปดนตรีคลาสสิกส่วนใหญ่เกิดจากการถ่ายทอดสิ่งดีๆ ในความเป็น มนุษย์ จินตนาการที่สวยงาม หรือแม้จะ เศร้าก็เศร้าอย่างซาบซึ้ง ซึ่งน่าจะมีผลดีต่อสภาพจิตใจ อารมณ์ ที่เป็นไปในทางสร้างสรรค์

ที่กล่าวมานี้เป็นตัวอย่างของคุณลักษณะที่สำคัญของดนตรีคลาสสิก ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยสัมผัสความงามของดนตรีคลาสสิก หรือบางท่านที่กำลังจดๆ จ้องๆ หาสิ่งที่ดี เสริมแต่งให้ชีวิต รวมทั้งข้อเขียนสี่ตอน ก่อนหน้าที่เป็นการยกตัวอย่างคีตกวีและผลงานดนตรีคลาสสิกที่ยิ่งใหญ่กลุ่มหนึ่ง ซึ่งตามความคิดเห็นของผมจะเหมาะแก่การเริ่มต้นฟัง ความจริงแล้ว ยังมีดนตรีคลาสสิกที่น่าสนใจอีกมาก ในหลายยุคหลายสมัย แต่จะขอเก็บไว้ก่อน วันดีคืนดีผมจะมาเล่าต่อ สุดท้ายขอให้ท่านมีความสุขกับซีดี (เพลงคลาสสิก) แผ่นใหม่นะครับ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.