เบื้องหลังฉาก "นางนาก"


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

หนังสือ "นางนาก" เป็นหนังสือที่นนทรีย์ นิมิบุตร ได้ถ่ายทอดเรื่องราวทั้งหมดด้วยตัวของเขาเอง ผ่านสำนักพิมพ์แพรวเอนเตอร์เทน เป็นการเล่าถึง "การถ่ายหนังบนโต๊ะ" หรือขั้นตอนกระบวนการทำงานก่อนถ่ายทำจริงนั้นเอง โดยมีคอนเซ็ปต์เป็นหนังสือ "The Making Of..." เหมือนในต่างประเทศที่มีการทำกันเป็นเรื่องปกติ ซึ่งในประเทศไทยเราไม่ค่อยได้เห็นหนังสือประเภทนี้ ส่วนที่มีอยู่จะเป็นบทวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นส่วนใหญ่

หนังสือ "นางนาก" จึงถือเป็นคัมภีร์การทำหนังเล่มแรกที่สมบูรณ์ที่สุด ณ ขณะนี้

หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 7 ส่วน ด้วยกัน...

ส่วนแรกเป็นภาพรวมของกระ-บวนการทำหนังทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ Introduction ที่นนทรีย์ได้เล่าถึงต้นสายปลายเหตุของความ "คัน" หรือความอยากในการทำหนัง "นางนาก" มาสู่ Version ของ "นางนาก" ที่นนทรีย์ได้ให้นิยามหรือแก่นของหนังเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องของ "ความตายมาพลัดพรากความ รักจากกัน" ซึ่งแตกต่างจากหนังผีทั่วไปที่เอะอะก็ปาฏิหาริย์ อิทธิฤทธิ์ แหวกอกควักไส้ วิ่งไล่ ลงตุ่ม...อยู่แค่นั้น แต่ "นางนาก" เปรียบเสมือนหนังโรแมนติก ซึ้งกินใจเรื่องหนึ่งทีเดียว...

นอกจากนั้นในส่วนแรกของหนังสือเล่มนี้ นนทรีย์ได้กล่าวถึงยุทธวิธีในการทำ Presentation และการเสนอ Budget ด้วยซึ่งการทำหนังเรื่อง นี้ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 12 ล้านบาท และได้มีการศึกษาค้นคว้ารวบรวมข้อมูล กันเป็นปีๆ ราวกับเป็นการทำ Thesis เรื่องหนึ่งทีเดียว

ส่วนที่ 2 เป็นส่วนของ Pre-Production เป็นการเล่าตั้งแต่การค้น หาโลเกชั่นที่ "ใช่" การคัดเลือกตัวแสดงที่ "เป็น" "เป็น" ในที่นี้คือ เป็นนางนาก เป็นนายมาก เลย ไม่ใช่เพียงแค่ เหมือนนางนาก หรือเหมือนนายมากเท่านั้น หรือแม้กระทั่งตัวแสดงตัวอื่นที่ต้องเลือกให้เจอคนที่ "เป็น" ตัวแสดงตัวนั้นจริงๆ ตามบทที่กำหนดไว้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย และในส่วนนี้ขอแทรกความ รู้สึกหลังจากที่ได้ชมนางนากแล้ว รู้สึกว่า ตัวแสดงทุกตัว "เนียน" ดีกับบทบาทที่ได้รับ แต่มีสิ่งที่ประดักประเดิดอยู่ตรงที่สำเนียงของนายมากที่ออกจะ "ทองแดง" ไปนิด ทั้งๆ ที่ในเรื่องราว เนื้อหา หรือตำนานก็ไม่ได้ระบุว่าพื้นเพของนายมากนั้นมาจากถิ่นใด ทำให้เข้าใจโดยทั่วกันว่า นายมากน่าเป็นคนพระโขนงเช่นเดียวกับนางนาก ซึ่งอยู่ในเขตภาคกลางด้วยซ้ำไป...

นอกจากนั้น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายก็ต้องเหมือนจริงที่สุด เหมือนกับหลุดไปอยู่ในยุครอยต่อของรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 อย่างสมจริง ซึ่งนนทรีย์ เล่าว่า ผ้าทุกผืนได้มีการทอมือขึ้นมาใหม่รวมทั้งมีการกำหนดโทนสีและผ่านกรรมวิธีทำเก่าให้สมจริงที่สุด รวมทั้งยังมีเรื่องของการทำชูทติ้งบอร์ด การ ทำสเปเชี่ยล เอฟเฟ็กต์ การทำเวิร์กช้อป ซึ่งนักแสดงต้องเรียนรู้วิถีชีวิตจริง ณ สถานที่จริง เช่น การไถนา การเกี่ยวข้าว เป็นต้น และสิ่งที่นนทรีย์ให้ความสำคัญมากและเล่าไว้ในส่วนนี้อีกคือ "ทีมงาน" ที่ต้องมีการประชุมอยู่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความสัมพันธ์กันทั้งในแง่ของการทำงานและจิตใจ อันจะนำมาซึ่งความสำเร็จของงานอย่างสมบูรณ์

ยิ่งไปกว่านั้น หนังสือเล่มนี้ถือเป็นหนังสือเกร็ดประวัติศาสตร์เล่มย่อยได้อีกเล่มหนึ่ง เนื่องจากข้อมูลในอดีตได้ถูกรวบรวมไว้อย่างกระชับในส่วน ที่ 3 ของหนังสือคือ ส่วนของข้อมูลประกอบหนังนางนาก อาทิ ประวัติของขรัวโต หรือสมเด็จพุฒาจารย์โต พรหมรังสี วัดระฆังโฆสิตาราม, ประวัติของวัดมหาบุศย์ อันเป็นสถานที่ฝังศพนางนาก, ภาพของพระโขนงในยุคของนางนาก, วิถีชีวิตของคนไทยในสมัยนางนาก (รัชกาลที่ 4) อันรวมถึงรายละเอียด ของหน้าตา ท่าทาง อากัปกิริยา ทรงผม ถ้อยคำ การแต่งกาย อาหารการกิน ที่อยู่อาศัย ประเพณี และความเชื่อ เป็นต้น

ส่วนที่ 4 เป็นบทสัมภาษณ์ Script Writer วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ซึ่งเขาทุ่มเวลาในการเขียนบทนานถึง 6 เดือน ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งทำงานแข่งกับเวลา

"ยาก ยากในแง่ของการที่เราไม่ แน่ใจกับข้อมูลจริง แล้วเรากำลังจะทำหนังเรียลลิสติก ผมบอกได้เลย หนังเรียลลิสติกยากที่สุด..." เป็นความรู้สึกของคนเขียนบทคนนี้

ส่วนที่ 5 คือ ส่วนของ Production Design ที่เล่าผ่าน เอก เอี่ยมชื่น Production Designer คนสำคัญที่ทำให้องค์ประกอบทุกส่วนของฉากในหนัง "นางนาก" ออกมาเหมือนจริงที่สุด

ส่วนท้ายเล่ม เป็นการให้คะแนน ตัวเองของนนทรีย์ ต่อหนัง "นางนาก" ภายใต้งบประมาณ 12 ล้านบาท และสุดท้ายจริงๆ คือ หางฟิล์ม เป็นการแนะนำทีมงานทุกคน พร้อมความรู้สึกต่อการมาร่วมกันทำหนังเรื่องนี้

ส่วนเคล็ดลับหรือสูตรสำเร็จในการปรุงอาหารให้อร่อย หรือทำหนังให้สุดยอด นั้นเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลที่ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง แต่ที่แน่ๆ หนังสือเล่มนี้ได้บอกเอาไว้แล้ว...ค้นหากันเอาเอง...

อ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้วรู้สึกว่า เท่าที่ผ่านมา ที่เรามักจะได้ยินแต่ "ทุนมันไม่มี แล้วใครจะกล้าทำหนังดีๆ" หรือไม่ก็ "ทุนพอมี แต่หาคนเก่งๆ มาทำหนังดีๆ สักเรื่องไม่ได้" ท้ายที่สุดก็ "หนังไทยไม่ได้เรื่อง ไร้สาระ" และแล้วก็ไม่มีใครพิสูจน์ให้เห็นความสามารถของคนไทยในการทำหนังไทยให้ทัด เทียมหนังสากลได้สำเร็จสักคน... คงจะค่อยๆ จางไป เนื่องจากมีคนรุ่นใหม่อย่างนนทรีย์ นิมิบุตร กล้าที่จะลุกขึ้นมาปฏิวัติการทำหนังในประเทศไทย เขาไม่ใช่คนที่เกิดมาจากการทำหนังใหญ่ เขาเกิดมาจากการทำหนังโฆษณา ซึ่งนับเป็นข้อดี ที่ทำให้เขามีมุมมองการคิดที่เป็นสากล และมีมุมมองของการรวมเอาธุรกิจกับศิลปะไว้เข้ากันอย่างแนบเนียน และนี่จะเป็นการเริ่มต้นยุคสมัยของคนทำหนัง (เป็น) ที่ไม่อดตายอีกต่อไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.