ผลงานครั้งแรกของคริสตี้ส์ ประเทศไทย


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

บทสรุปจากงานประมูลครั้งแรกของบริษัทคริสตี้ส์ ประเทศไทย เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจนอกจากทางบริษัทสามารถขายสินค้าไปได้เกือบหมดแล้ว ยังสามารถทำยอดขายได้รวมทั้งสิ้นเป็นเม็ดเงินถึง 40 ล้านบาท

เฉพาะแค่ภาพของบรมอาจารย์ทางด้านศิลปะ ทวี นันทขว้าง กับถวัลย์ ดัชนี เพียง 3 ภาพ ก็ทำราคาไปได้ถึง 6,325,000 บาทเข้าไปแล้ว

และ 15% ของราคาภาพและหนังสือที่ขายได้คือค่าคอมมิชชั่นที่เป็นรายได้เข้าบริษัท เยาวณี นิรันดร ผู้บริหารคนหนึ่งของคริสตี้ส์บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่าถึงแม้ว่าทางบริษัทเองจะมีรายจ่ายในการจัดงานค่อนข้างสูงเช่น ค่าเช่าสถานที่ ค่าทำหนังสือ และการจัดการในเรื่องต่างๆ แต่พอใจมากที่มีผู้ร่วมงานจำนวนมากและสามารถทำราคา ได้ดีขนาดนี้ในภาวะเศรษฐกิจเช่นปัจจุบัน

คริสตี้ส์ เป็นบริษัทประมูลงานศิลปะที่เก่าแก่บริษัทหนึ่งของโลก มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และได้ทำการขายงานศิลปะแขนงต่างๆ อาทิ ภาพเขียน เฟอร์นิเจอร์ เซรามิก เครื่องประดับ เครื่องเงิน ไวน์ มาเป็นเวลานานกว่า 200 ปี ปัจจุบันเปิดให้บริการทั่วโลกโดย ผ่านเครือข่ายกว่า 100 สาขาใน 41 ประ-เทศและได้เป็นบริษัทในตลาดหลัก ทรัพย์ของกรุงลอนดอนตั้งแต่ปีค.ศ.1973

คริสตี้ส์ได้ขยายสาขามาประเทศไทยเมื่อปี 2540 ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจในเมืองไทยตกต่ำอย่างหนัก และเห็นเป็นโอกาสดีที่จะตั้งบริษัททางด้านประมูลขึ้น เพราะมั่นใจว่าภายใต้ความกดดันของภาวะเศรษฐกิจ ทำให้มีเศรษฐีหลายคนต้องการเอาของเก่าเก็บออกมาปล่อยขาย และเช่นเดียวกันก็ยังมีผู้ต้องการไขว่คว้า ของที่มีคุณค่าเหล่านั้นมาเก็บไว้โดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องราคาว่าสูงขึ้นเพียงไร รวมทั้งยังมีผู้ที่เห็นช่องทางในการทำกำไรกับงานศิลปะ และเป็นการซื้อเพื่อลงทุนแทนที่จะฝากเงินไว้ในเวลาที่ดอกเบี้ยเองก็ดิ่งลงเหวเช่นทุกวันนี้

ในช่วงเวลานั้นประเทศไทยก็มีบริษัทประมูลทางด้านศิลปะอยู่บ้าง และมีการจัดประมูลตามโรงแรมต่างๆ เพียงแต่การจัดแต่ละครั้งมีจำนวนชิ้นงานออกมาประมูลไม่มากมายนัก จึงได้รับความสนใจเพียงในวงแคบๆ เท่านั้น

เยาวณี นิรันดร, ปัญญชลี เพ็ญชาติ, ทิวาลักษณ์ เจียรวนนท์ เป็น ทีมงานบริหาร ของคริสตี้ส์ ประเทศไทย และเมื่อปี 2541 ทางบริษัทได้รับโอกาสให้เข้าไปเป็นผู้ดำเนินการจัดประมูลงานศิลปะของปรส. ซึ่งในงานครั้งนั้นมีภาพเขียนมากกว่า 450 ภาพ งานศิลปะอีกจำนวนหนึ่งและสามารถทำยอดขายได้ 100% เต็ม เป็นจำนวนเงินถึง 60 ล้านบาท

ผลงานครั้งนั้นทำให้บริษัทเริ่มเป็นที่รู้จักในเมืองไทยมากขึ้นเช่นกัน

งานประมูลได้แบ่งออกเป็น 2 วัน วันแรกในวันที่ 7 สิงหาคม โดยเป็นการประมูลหนังสือที่พิมพ์ขึ้นตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประกอบด้วยหนังสือยุคเก่าที่เกี่ยวข้องกับคำสอน ทางศาสนา, แผนที่, ปฏิทิน, พจนานุ-กรม รวมทั้งบันทึกการเดินทางและการ ใช้ชีวิตในประเทศสยามของชาวยุโรป หนังสือส่วนใหญ่ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ

รวมทั้งภาพถ่ายโบราณที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของไทยถือได้ว่า เป็นการประมวลภาพชิ้นสำคัญเกี่ยวกับ ประเทศสยามช่วงใกล้เปลี่ยนศตวรรษ ประกอบไปด้วยภาพของมหากษัตริย์ ราชินี ภาพพระราชพิธีที่สำคัญ วัด วัง และความเป็นอยู่ของประชาชน ชีวิตริมน้ำ และภาพถนนหนทางในอดีต หนังสือและภาพถ่ายมีจำนวนรวมทั้ง หมด 286 รายการ

ในวันที่ 8 สิงหาคม เป็นการประมูลภาพเขียนโดยศิลปินไทย ซึ่งนำมาประมูลทั้งหมด 146 รายการ

ต้องยอมรับว่าเป็นความสามารถ ของผู้บริหารของคริสตี้ส์ที่สามารถติด ต่อหาหนังสือและภาพถ่ายโบราณมาได้ โดยได้มาจากนักสะสมชาวอเมริกันคนหนึ่งที่สะสมเรื่องราวต่างๆ ของประเทศไทยและประเทศต่างๆ ในภาคพื้นเอเชีย มาตลอดชีวิต และสุดท้ายเศรษฐีท่านนี้มีความคิดว่าน่าจะ ให้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าเหล่านี้กลับสู่คนไทย

ส่วนภาพเขียนนั้นทางคริสตี้ส์ได้รับการติดต่อมาจากเจ้าของภาพส่วนหนึ่ง ที่ประสงค์จะเอาภาพออกมาประมูล รวมทั้งการเข้าไปสืบค้นภาพที่มีคุณค่าต่างๆ ด้วยตัวของผู้บริหารเอง และติด ต่อขอมาประมูล ซึ่งกว่าจะรวบรวมสินค้าทั้งหมดมาได้ต้องใช้เวลามากเช่นกัน ดังนั้นบริษัทจะสามารถจัดงานประมูลได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้นเอง โดยครั้งต่อไปก็จะเป็นงานใหญ่อีกครั้งในปีค.ศ.2000

หนังสือที่ทำราคาสูงสุดได้แก่บันทึกการเดินทางเพื่อสำรวจประเทศต่างๆ ในแถบอินโดจีน ของ "การ์นิเยร์" ซึ่งพิมพ์ขึ้นในปารีสเป็นครั้งแรกในปีค.ศ.1873 โดยทำราคาได้ 1,265,000 บาทจากราคาประเมินที่วางไว้ ประมาณ 950,000-1,200,000 บาท

รองลงมาได้แก่ต้นฉบับการแปล The Great Jesuit Evangelist of Southeastern Asia ของนักบวช Alexandre de Rhodes ซึ่งเขียนขึ้นในศตวรรษ ที่ 18 จากภาษาละติน และภาษาญวนมาเป็นภาษาไทยที่เขียนด้วยลายมือ และมีประวัติศาสตร์การครอบครองโดยผู้มีชื่อเสียงหลายท่าน ราคาประเมินอยู่ที่ 750,000-1,000,000 บาท และทำราคาได้ที่ 747,500 บาท

ภาพถ่ายที่ทำราคาได้สูงสุดได้แก่ พระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และพระมเหสี ซึ่งถูกประมูลไปที่ราคา 299,000 บาทจากราคาประเมิน 95,000-120,000 บาท

บรรยากาศในการประมูลวันแรก ไม่เป็นที่คึกคักนัก ได้รับความสนใจจากชาวไทยน้อยกว่าที่ควร จากจำนวนผู้ที่เข้าร่วมประมูลเกือบ 300 คนนั้นเป็น คนไทยประมาณ 30 คนเท่านั้น หนังสือ และภาพถ่ายสำคัญส่วนใหญ่จึงกลับไปอยู่ในมือของชาวต่างชาติอีกครั้ง

ผิดกับบรรยากาศในการประมูลวันที่ 2 ที่มีผู้เข้าร่วมประมูลจำนวนมาก รูปที่ทำราคาสูงสุดในวันนั้น ได้แก่ภาพ "หญิงสาวเปลือย" ของทวี นันทขว้าง เป็นภาพสีอะคริลิกบนผ้าใบขนาด 76x2122 ซม.ราคาประเมินอยู่ที่ 1.2-1.5 ล้านบาท แต่ถูกทำราคาได้ที่ 2,530,000 บาท

จุดเด่นของภาพนี้คาดกันว่าเป็นภาพผู้หญิงเปลือยภาพเดียวที่อาจารย์ทวีเขียนขึ้น งานนี้มีผู้ร่วมประมูลอย่างดุเดือด 4 รายและในที่สุด "วรวิทย์ โภคิน" เจ้าเก่าซึ่งเคยสร้างประวัติศาสตร์ ทำการประมูลผลงานชื่อ "ใบไผ่" ของอาจารย์ทวี ไปในราคา 2,877,000 บาท จากราคาประเมินเพียง 4 แสนบาท เมื่อคราวงานประมูลรูปของปรส.เมื่อปีที่ผ่านมา และเป็นราคาสูงสุดในงานนั้นเช่นกัน เป็นผู้คว้าเอาไป

ภาพ "ไก่ชน" เป็นภาพสีน้ำมันขนาด 118x176 ซม.ของถวัลย์ ดัชนี ก็เป็นอีกภาพหนึ่งที่ทำราคาได้สูงเป็นอันดับสองจากราคาประเมินที่ตั้งไว้ 600,000-700,000 บาท ไปปิดที่ราคา 2,070,000 บาท

ภาพนี้เป็นภาพที่ถวัลย์ได้มอบให้กับพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ สมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ ในโอกาสขึ้นบ้านใหม่และพลเอกชาติชายได้นำภาพนี้ไปที่กรุงบัวโนสไอเรส และกรุงเวียนนาด้วยเมื่อท่านเป็นทูตประจำอยู่ที่ต่างประเทศ เป็นผลงานช่วงแรกๆ ของถวัลย์ที่ยังเต็มไปด้วยสีสัน เพราะงานยุคหลังของถวัลย์จะมีการลดสีใช้เพียงสีขาวดำเท่านั้น

อีกภาพหนึ่งที่ทำราคาได้สูงเกินความคาดหมายก็คือภาพ "พระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 3" เป็นภาพสีน้ำมันบนผ้าใบขนาด 42x32 ซม. ซึ่งวาดโดย พระสรลักษณ์ลิขิต ศิลปินในราชสำนักสมัยรัชกาลที่ 5 ผู้ซึ่งถือได้ว่าเป็นศิลปินที่วาดภาพเหมือนคนแรกของไทย ภาพนี้ไปปิดที่ราคา 1,265,000 บาท ในขณะที่ราคาประเมินเพียง 400,000-500,000 บาท

ผลงานของสุเชาว์ ศิษย์คเณศ ศิลปินผู้มีความโดดเด่นแต่เสียชีวิตเพราะความยากจนนั้น งานครั้งนี้มีภาพของท่านทั้งหมด 7 ภาพประมูลได้สูงกว่าราคาประเมินที่วางไว้ทั้งสิ้นโดยปิดอยู่ที่ราคาประมาณ 250,000-500,000 บาท

ภาพของเหม เวชกร ที่หาดูได้ไม่ง่ายนัก มีมาประมูลทั้งหมด 4 ภาพ แต่ราคาที่ได้ไม่สูงกว่าราคาประเมินมากนักราคาไปปิดอยู่ที่ 50,000-90,000 บาท

ส่วนภาพวาดสีน้ำมันบนผ้าใบใหญ่ขนาด 8 เมตร "แผ่นดินทอง" ของประเทือง เอมเจริญ ซึ่งตั้งราคาไว้สูงที่สุดคือ 2.5-3.5 ล้านบาท กลับพลิกล็อกมีผู้เสนอราคามาเพียง 1,900,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาที่ตั้งไว้ก็เลยต้องยกเลิกการประมูลไป

สรุปแล้วหนังสือทั้งหมดประมาณ 286 รายการนั้นมีการประมูลไปได้กว่า 90% ส่วนภาพวาด 146 รายการนั้นประมูลไปได้ 124 รายการ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.