ในวันนี้ อภิพร และ พจมาน ภาษวัธน์ สองสามีภรรยาคู่นี้อยู่ในตำแหน่งของผู้บริหารระดับสูงของบริษัท
ที่ทำงานอยู่ทั้งคู่ เป็นความสำเร็จของอาชีพการงานที่น่าภูมิใจยิ่ง
อภิพร วัย 51 ปี เขาเป็นผู้ช่วย ผู้จัดการใหญ่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด
(มหาชน) และกรรมการใหญ่บริษัทเคมีภัณฑ์ซิเมนต์ จบการศึกษาปริญญาตรีเคมีวิศวกรรม
คณะวิทยาศาสตร์ จุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย m.s.(Chemical Engineering) University
of Wisconsin และ MBA (Production) University of Wisconsin
ส่วนพจมานมีอายุอ่อนกว่าเพียง 1 ปี หลังจากที่เธอศึกษาจบจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลง-กรณ์มหาวิทยาลัยด้วยเกียรตินิยมอันดับ 2 แล้ว ได้ไปทำงานทางด้านบัญชีที่
Dole Thailand ประมาณ 2 ปี และได้ไปศึกษาต่อ MBA Idaho State University,
Pocatello, Idaho
กลับมาได้มีโอกาสช่วยท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ ที่บริษัทนายเลิศจนมีการโอนรถเมล์ไปเป็นของรัฐวิสาหกิจจึงได้ลาออก
เริ่มทำงานใหม่ที่บริษัท คาร์เนชั่น ดูแลทางด้านบัญชีและการเงิน จนกระทั่งในปี
2528 เนสท์เล่ ซื้อกิจการจึงโอนมาอยู่เนสท์เล่และได้มีโอกาสเปลี่ยนหน้าที่ความรับผิดชอบให้ดูแลทางด้าน
Import-Export และเปลี่ยนไปอยู่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล และล่าสุด ปัจจุบันเธอเป็นผู้อำนวยการฝ่าย
Supply Chain Management ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สำคัญมากในปัจจุบัน
พจมาน เดิมนามสกุล สุทัศน์ ณ อยุธยา ราชสกุล "สุทัศน์" เป็นนาม สกุลที่สืบทอดมาจากรัชกาลที่
1 คุณพ่อ เป็นหม่อมหลวง แต่อภิพรนั้นจะมีเชื้อเจ้าที่เข้มกว่าเพราะมีท่านแม่เป็นหม่อมเจ้า
ซึ่งเป็นพระธิดาของกรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา ราชสกุล "จันทรทัต" ซึ่งสืบทอดมาตั้งแต่รัชกาลที่
4 แต่เนื่องจากท่านแม่ มาสมรสกับคนธรรมดาผู้เป็นลูกเลยสูญเสียบรรดาศักดิ์ไป
หลังชีวิตการแต่งงานบ้านหลังแรกของอภิพรและพจมาน คือบ้านเดิมของฝ่ายหญิงในย่านอนุสาวรีย์
ที่ต้องขยับขยายย้ายออกมาเพราะทนความแอ อัดจอแจของการจราจร และมลภาวะ ที่
เป็นพิษที่เพิ่มขึ้นในย่านนั้นไม่ไหวบัง เอิญไปได้ที่ดินแปลงหนึ่งประมาณ
500 ตารางวาในซอยนวลน้อยบนถนนเอกมัย ซึ่งสมัยเมื่อ 20 กว่าปีก่อนจะดูร่มรื่นและ
สงบเงียบกว่าทุกวันนี้มากนัก
ในที่ดินทั้งหมดนั้นมีบ้านของญาติพี่น้องอยู่ในบริเวณเดียวกัน ส่วนบ้านของอภิพรและพจมานแยกออกมาปลูกสร้างในบริเวณใกล้ๆ
กันในเนื้อที่ประมาณ 200 ตารางวา ทุกวันนี้รอบๆ บ้านมีไม้ใหญ่ที่แผ่เงาร่มครึ้ม
หน้าบ้านมีซุ้มดอกเล็บมือนางออกดอกขาว แดง ชมพู พรูพร่าง เช่นเดียวกับดอกละบาท
สีม่วง ที่ทอดยอดพันพาดไปทั่ว ส่วนหลังบ้าน ยังมีสระน้ำที่ล้อมรอบไปด้วยสวนป่าธรรมชาติเพราะเจ้าของบ้านไม่มีเวลาตกแต่งมากนัก
พลูด่าง ต้นบอน และว่านต้นเล็กๆ จึงแตกหน่อไปทั่ว ได้ยินเสียงจุ๊บจิ๊บของบรรดานกตัวเล็กๆ
และกระรอกตัวน้อยๆ ก็ยังมีวิ่งผ่านบ้าง บางครั้ง
ทั้งคู่ใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านหลังนี้ จนกระทั่งมีลูกสาว 2 คน และเมื่อเวลาผ่าน
ไปประมาณ 10 กว่าปี ตำแหน่งหน้าที่การงานที่มั่นคงขึ้น ประกอบกับเมื่อมีเวลาว่าง
หรือวันหยุดหากไม่ได้ไปเที่ยวต่างประเทศ คนทั้งคู่ซึ่งชอบอะไรคล้ายๆ กันก็จะขึ้นไปเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่
เพราะติดใจในอากาศที่เย็นสบาย งานไม้งานทอผ้าและงานหัตถกรรมของคนพื้นบ้าน
รวมทั้งอัธยาศัยของคนทางเหนือ ก็เลยมีความคิดที่จะมีบ้านอีกหลังที่ เชียงใหม่ไว้พักผ่อน
นับเป็นบ้านหลังที่ 2 หลังชีวิตแต่งงาน โดยจะหาโอกาสไปพักปีละ 4-5 ครั้งมาตลอด
และมุ่งหวังไว้ว่าวันหนึ่งเมื่อรีไทร์จากหน้าที่การงานแล้วจะไปใช้ชีวิตที่นั่นให้ได้
และเมื่อประมาณปี 2537-2538 ในช่วงที่เศรษฐกิจบูมสุดขีด อภิพรและพจมาน
ยังได้ไปพัฒนาบ้านเก่าหลังหนึ่ง ของครอบครัวที่หัวหิน สร้างเป็นคอนโด มิเนียมตากอากาศขายให้กับญาติๆ
และ เพื่อนฝูง โดยมี นิธิ สถาปิตานนท์ จาก บริษัทสถาปนิก A.49 เป็นผู้เขียนแบบโครงการและร่วมลงทุนด้วย
จากบ้านไม้ เก่าๆ ที่มีอายุมากกว่าอายุของพจมานเอง เปลี่ยนเป็นคอนโดมิเนียมหรู
"บ้านชูทัศน์" ซึ่งแบ่งย่อยออกเป็น 33 ยูนิต และขณะนี้ขายไปได้เกือบหมดแล้วเหลือ
เพียง 1 ยูนิตเท่านั้น และ 1 ยูนิต นั้นคือบ้านพักผ่อนในวันว่างอีกแห่งหนึ่ง
ของคนในครอบครัวนี้
พร้อมๆ กับเม็ดเงินของผลกำไรที่ได้จากการทำโครงการครั้งนั้น ประกอบ กับการเดินทางจากบ้านที่เอกมัยมาทำงานบนตึกโซโก้บนถนนเพลินจิต
หรือสำนักงานใหญ่ของปูนใหญ่ที่บางซื่อ ต้องผจญกับภาวะการจราจรที่ติดขัดมากขึ้นทุกที
ในขณะที่ตำแหน่งหน้าที่ของคนทั้งคู่สูงขึ้น ต้องใช้เวลาทำงานเพิ่ม ขึ้น การหาซื้อบ้านอีกหลังหนึ่งใจกลางเมืองจึงเป็นทางเลือกที่ค่อนข้างลงตัว
บ้านสมถวิล คอนโดมิเนียม ในซอยมหาดเล็กหลวง ถนนราชดำริ คือบ้านหลังที่
2 ในกรุงเทพฯ ที่คนทั้งคู่เลือก บ้านหลังนี้ใกล้กับที่ทำงานของพจมาน มาก
เธอเล่าว่าบางวันอากาศดีๆ ใช้วิธีเดินมาทำงานได้ด้วยซ้ำไป และสามารถเริ่มชีวิตการทำงานตั้งแต่เช้า
เลิกงานประมาณ 1-2 ทุ่มด้วยความสะดวกสบายขึ้น อภิพรเองก็สามารถไปทำงานได้ในเวลาไม่เกิน
7 โมงเช้าของทุกวัน และหากวันไหนไม่มีงานเลี้ยง ก็ยังมีเวลาเล่นกีฬาหรือจ๊อกกิ้งได้ที่บริษัท
โดย ถึงบ้านไม่ดึกนัก
ดังนั้นในช่วงประมาณ 3 ปีที่ผ่านมาจึงใช้เวลาส่วนใหญ่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ที่บ้านหลังนี้
วันหยุดสุดสัปดาห์ถึงจะมีเวลาไปพักที่บ้านเอกมัย แต่นั่นหมายถึงว่าต้องเป็นสัปดาห์ที่พจมานไม่ต้องไปทำงานพิเศษในวันเสาร์
หรือ อภิพรไม่ติดก๊วนเล่นกอล์ฟที่ไหน
ส่วนลูกสาวที่ เรียนเก่งทั้งคู่คือพจพรและวรพรวันนี้ไม่ได้อยู่ในเมืองไทย
คนแรกหลังจากเรียนจบคณะบัญชีจากจุฬาฯ ตามแบบผู้เป็นแม่ ปัจจุบันศึกษาต่ออยู่ที่มหาวิทยาลัยโคราโด
ส่วนคนที่ 2 เรียนปี 3 ที่คณะวิทยาศาสตร์ ด้านเคมีเหมือนพ่อ และเมื่อเดือนกันยายนปี
2541 ได้ทุนไปเรียนปี 3 ที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน และจะกลับมาเรียนปี 4 ต่อในเดือนตุลาคมปีนี้
วันนี้บ้านที่เอกมัยก็เลยยิ่งเงียบ เหงามีเพียงคุณแม่ของพจมานและญาติๆ
เท่านั้น เมื่อไหร่ที่ลูกสาวกลับมาจะพักอยู่ที่บ้านหลังนั้น กิจกรรมของคนในครอบครัวจึงจะคึกคักขึ้นมาอีกครั้งในบรรยากาศของบ้านหลังแรกหลังเดิม
ก้าวแรกที่ "ผู้จัดการ" ได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสกับบรรยากาศในคอนโดของคนทั้งคู่ดูราวกับว่าได้เข้าไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์เล็กๆ
สักแห่งหนึ่ง เพราะเต็มไปด้วยของสะสมมากมายที่ได้รับการจัดวางแบ่งเป็นหมวดหมู่อย่างสวยงามกลมกลืน
เพียงแต่ว่าเจ้าของไม่ได้จดทะเบียนบันทึกถึงที่มาวันเดือนปี และราคาของที่ซื้อมาเท่านั้น
ด้วยบทบาทและภาระหน้าที่ของงานประจำทำให้ต้องเดินทางท่องเที่ยวอยู่บ่อยๆ
อภิพรเล่าว่าในแต่ละปีจะเดินทางไปต่างประเทศประมาณ 7-8 ครั้ง ทั้งเรื่องงานและเที่ยวส่วนตัว
ประกอบ กับความที่มีใจรัก และหลงใหลในสิ่ง ของบางอย่าง คอนโดพื้นที่ 135
ตารางเมตรหลังนี้เต็มไปด้วยของสะสมต่างๆ เต็มไปหมด
และยังไม่แค่นั้นยังเผื่อแผ่ไปตกแต่งบ้านที่เอกมัย บ้าน "ชูทัศน์"
บ้านพักผ่อนที่เชียงใหม่ รวมทั้งคอนโดให้เช่าที่สมคิดการ์เด้นท์ที่ว่ากันว่าแต่งสวยเสียจนคนต้องเข้าคิวจองด้วย
ของที่นำมาจัดวางโชว์ไว้ในห้องบ่งบอกรสนิยมของผู้สะสมได้เป็นอย่างดี เป็นสื่อที่ดีในการเริ่มต้นสนทนาเพราะการได้กล่าวถึงที่มาของของที่ตนรักนั้นเป็นความสุข
และความภูมิใจอย่างหนึ่ง
สิ่งที่อภิพรชอบมากเป็นพิเศษดูเหมือนจะเป็นจานของชาวดัตช์ บรรดา ถ้วย ชาม
จานเหล่านั้นส่วนใหญ่จะได้มาจากประเทศอินโดนีเซีย เพราะเมื่อปูนใหญ่มีกิจการอยู่ที่อินโดนีเซียด้วยบางช่วงเวลาจึงต้องเดินทางไปบ่อยมาก
"ผมชอบเพราะลายแปลกดีราคา ไม่แพง ประกอบกับเคยมีเพื่อนเก่าเป็น ผู้ว่าที่จังหวัดปัตตานี
ซึ่งมีของประเภทนี้เยอะมาก ก็เลยฝากให้เพื่อนซื้อ ซึ่งต่อมาภายหลังชาวบ้านรู้ว่าท่านผู้ว่าจะซื้อก็มาฝากขายกันยกใหญ่
ตอนนี้เพื่อน คนนี้เขาก็เลยสะสมจานชามเหมือนผมไปเลย"
แต่ถ้ามีโอกาสไปท่องเที่ยวตามเมืองในประเทศยุโรป ของที่มักจะได้ติดไม้ติดมือมาประดับบ้านคือพวกรูปภาพ
และรูปแผนที่เก่าของเมืองไทยที่อาจจะได้จากริมถนนทางเดิน ร้านขายของเก่า
หรือแม้แต่ขวดยาเก่าๆ ที่ขายตามข้างทางในประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งหลายคนอาจจะแค่มองแล้วผ่านไป
อภิพรก็ยังมองเห็นลึกซึ้งไปยังความสวยงามและจับจ่ายมาประดับตกแต่งบ้านจนได้
ส่วนของสะสมในเมืองไทยที่ชื่นชอบเป็นพิเศษจะเป็นพวกไม้เก่าๆ ซึ่งจะเป็นเครื่องเรือนชิ้นใหญ่ๆ
เช่น โต๊ะ ตู้ ตั่ง เตียง หรือแม้แต่ของกระจุกกระจิกเล็กๆ เช่น เชี่ยนหมาก
คนโท กาน้ำ ถาด หรือแม้แต่เตารีดผ้าสมัยโบราณ อภิพรก็ยังหอบหิ้วกลับมาจากแม่สาย
ลำพังอภิพรคนเดียวชอบซื้อของสะสมก็มากมายพอดูแล้ว บังเอิญพจมานก็ยังชอบสะสมด้วยเช่นกันเพียงแต่ของสะสมของเธอ
มักเน้นไปยังของชิ้นเล็กๆ ที่กระจุกกระจิกดูสวยงามอ่อนหวานเสียมากกว่า สิ่งที่เป็นพิเศษหน่อยก็คือ
ชุดน้ำชาลวดลายดอกไม้ดอกเล็กๆ สีหวานๆ โดยเฉพาะลายกุหลาบนั้นจะปลื้มเป็นพิเศษ
แม้ไม่ได้ศึกษาลึกซึ้งถึงที่มาของของสะสมที่เป็นชุดน้ำชา และเครื่องกระเบื้อง
แต่เธอก็จะใช้เวลาเลือกนานมากเพื่อให้ได้เนื้อกระเบื้องที่มีคุณภาพดี
ผ้าไหม ผ้าไทย เป็นของสะสม อีกชิ้นหนึ่ง ที่กำลังทยอยเพิ่มขึ้นตามวันเวลาที่ผ่านไป
นอกจากจะได้มาจากเมือง เชียงใหม่ เชียงราย หรือจังหวัดแถบอีสานแล้ว ร้าน
"ตำนาน" ที่อาคารธนิยะ บนถนนสีลมก็เป็นแหล่งหนึ่งที่ไปเลือกซื้อหาเป็นประจำ
และนอกจากเอามานุ่งมาสวมใส่ได้ในหลายโอกาสแล้ว ส่วนหนึ่งเธอยังเอามาพันพาดตกแต่งบ้านได้ด้วยอย่างสวยงาม
และแปลกตาอีกด้วย
แม้ว่าภาระหน้าที่ของตำแหน่งของคนทั้งคู่จะหนักแค่ไหน แต่เมื่อได้กลับมาถึงบ้าน
มีเวลาได้ชื่นชมของต่างๆ ที่เลือกซื้อมา หรือเพียงได้อยู่ท่ามกลาง สิ่งของที่ตัวเองรัก
ก็ดูราวกับว่าเป็น การเพิ่มพลังให้ชีวิตมีความสุขได้แล้วเช่นกัน น้ำเสียงของคนทั้งคู่ที่เล่าถึงของชิ้นโปรดบ่งบอกกับ
"ผู้จัดการ" อย่างนั้น