ก้องเกียรติ โอภาสวงการ


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

สัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นเด่นชัดในกลางปีนี้ทำให้ตลาด หลักทรัพย์กลับมาคึกคักในรอบแรก ดัชนีพุ่งขึ้นจาก 200 กว่าจุดสู่ระดับกว่า 500 จุดได้ ผู้ที่อยู่ในวงการตลาดทุนทราบดีว่า สัญญาณในตลาดหุ้นมักจะวิ่งไปล่วงหน้าก่อนภาวะเศรษฐกิจจริงจะตามมานานถึง 5-6 เดือน ครั้นเมื่อตลาด ฟุบลงอีกโดยในปัจจุบันดัชนีอยู่ที่ระดับ 400 ต้นๆ นั้น อาจมีหลายคนตั้งคำถามว่าแล้วเศรษฐกิจฟื้นจริงหรือไม่

มีผู้ให้คำอธิบายภาพรวมเศรษฐ กิจไว้มากพอแล้ว แต่ในส่วนของภาคตลาดทุนนั้น ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ กรรมการผู้จัดการ บล.แอสเซท พลัส ให้สัมภาษณ์แง่คิดหลายอย่างที่น่ารับฟัง กิจการในตลาดฯ 30% ปรับตัวเรียบร้อยแต่รายใหญ่ยังไม่มีวี่แวว

บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่มีการปรับโครงสร้างและทำการเพิ่มทุนไปเรียบร้อยแล้วมีอยู่ 4-5 หมวด ที่เห็นชัด คือกลุ่มซีเมนต์, กลุ่มธนาคาร, กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์, กลุ่ม retail business ที่ถูกต่างประเทศซื้อไปมาก ส่วนด้านเทเลคอมนั้น การปรับโครงสร้างนอกจากตัว SHIN แล้ว ตัวอื่นยังทำได้ค่อนข้างช้า แม้กระทั่ง ADVANCE ที่หาพาร์ตเนอร์เข้ามาคือ Sing.Tel. TA ก็พยายามปรับ แต่ไม่ได้มากมายมีการขายหุ้นออกไปบางส่วนเพื่อชำระหนี้ แต่ว่าแทบไม่ได้ทำอะไรส่วน TT&T ก็ไม่จบ ขณะที่ SAMART ก็ไม่ค่อยได้ทำอะไรนี่คือเซกเตอร์หลักๆ ส่วนพร็อพเพอร์ตี้ก็มีแต่บริษัทกลางๆ ที่ปรับได้คือ SAN กับ GOLD ซึ่งฝรั่งก็ชอบ ขณะที่ L&H ยังไม่เสร็จสักที

คาดว่าบริษัทที่ปรับโครงสร้างเสร็จเรียบร้อยมีประมาณ 30% ได้หรือ 1 ใน 3 ขณะที่บริษัทส่วนมากยังอ่อนแออยู่ แต่หากมองจากมาร์เก็ตแคป หรือมูลค่าตามราคาตลาดแล้ว ตัวใหญ่สุดคือKTB หรือ กรุงไทย ก็ยังไม่เสร็จ ตัวรองลงมาคือ THAI หรือการบินไทย ก็ยัง และ ปตท.ก็ยัง

สัญญาณที่ดัชนีตลาดทุนไทยจะฟื้นตัวอย่างชัดเจนนั้น ดร.ก้องเกียรติให้ความสำคัญในเรื่องของกระแสเงินสดหรือ cash flow ของบริษัท อย่างในส่วนของกิจการธนาคารนั้นมีกระแสเงินสดที่เป็นบวก หรือ positive cash flow ซึ่งตอนนี้เริ่มปริ่มน้ำสำหรับบางแบงก์ แต่บางแบงก์ยังเป็นลบอยู่

เรื่องถัดมาคือภาคการส่งออกยังเป็นสิ่งสำคัญ ตอนนี้คนไม่ให้ความสำคัญด้านนี้เพราะว่าค่าเงินบาทแข็ง และหุ้นส่งออกก็ underperform แต่หากไปดูกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งสำคัญมากเพราะมีสัดส่วนการส่งออกใหญ่มาก กลุ่มนี้ยังมีอัตราการเติบโตอยู่ แม้กระทั่งในไตรมาสแรกที่ค่อนข้างแย่ก็ตาม ดร.ก้องเกียรติมองว่า "หากภาคการส่งออกเริ่มฟื้นมากกว่านี้ ซึ่งตอนนี้ยังลูกผีลูกคนอยู่ จะมีส่วนช่วยได้มาก"

ตัวอย่างกิจการส่งออกที่จดทะเบียนในตลาดที่น่าสนใจคือ DELTA เป็นบริษัทใหญ่ ติดทอปเทนของบริษัทที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด แล้วก็มี TUF ที่มียอดขายถึง 20,000 ล้านบาททีเดียว

"หาก 2 ปัจจัยนี้มีการปรับปรุงที่ ดีแล้วก็น่าจะเป็นสัญญาณที่ดี อีกอย่าง คือดีลที่ค้างๆ อยู่ไม่ว่าจะเป็นธ.นครธน ธ.รัตนสิน ก็ตาม หากดีลเหล่านี้จบลงได้ มันก็จะมีเม็ดเงินใหม่ๆ เข้ามาได้" การปรับโครงสร้างฯ ต้องใช้เวลา

อย่างไรก็ดี ดร.ก้องเกียรติยังไม่มั่นใจในกิจการหลายแห่งเมื่อลองมองไปในอนาคต 5 ปีข้างหน้า ว่ากิจการเหล่านี้จะอยู่รอดเป็นบริษัทที่มีอัตราการเติบโตที่ดีเหมือนก่อนหรือไม่

"บริษัทในตลาดหลักทรัพย์หลาย แห่งเมื่อมองไปในอีก 5 ปีข้างหน้า ไม่แน่ใจว่าในอนาคตจะอยู่หรือไม่ด้วยซ้ำไป มีหลายบริษัท อย่างในกลุ่มธนาคาร ธุรกิจการเงิน เราเริ่มเห็นแล้วว่าแต่ละแห่งเป็นอย่างไร บางบริษัทก็จบไปแล้ว บางบริษัทแม้จะทนทำไปอีก 4-5 ปี อาจ จะไม่รอดก็เป็นได้"

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ดร.ก้องเกียรติยังมีความไม่มั่นใจอยู่มาก ก็เพราะเขาพบว่าเมื่อสัญญาณในตลาดหุ้นเริ่มดีนั้น หลายบริษัทในตลาดที่น่าจะมีการปรับตัวมากกว่าที่เห็น กลับกลายเป็นว่าไม่ปรับตัว เพราะว่าอยู่ๆ ราคาหุ้นวิ่งขึ้นโดยที่ตัวเองไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่ยอมจ่ายหนี้ธนาคาร ไม่จ่ายหนี้ผู้ถือหุ้นกู้

"ผมเริ่มเห็นสัญญาณไม่ดีในลักษณะที่ว่าการที่ฟื้นเร็วเกินไป ในแง่ตลาดหุ้นทำให้หลายบริษัทเริ่มไม่อยากจะทำอะไรแล้ว"

ดร.ก้องเกียรติเล่าว่า "ผมอยู่ในธุรกิจไอบี ผมมองเห็นเลย บางบริษัทที่เราเคยไปคุยๆ ว่าคุณควรจะเพิ่มทุนนะ เพื่อที่จะทำให้สัดส่วนหนี้ต่อเงินกองทุนลดน้อยลง เพราะว่านี่คือ โอกาสที่ดีแล้วหุ้นขึ้น ทุกคนพร้อมที่จะเอาเงินมาให้คุณ บริษัทนั้นบอกว่าหุ้นมันถูกไป ถึง แม้ขึ้นแล้วก็ยังถูกไป รอให้ขึ้นสูงกว่านี้ก่อนอันนี้คือ mentality ของคนเลยที่จะพยายามดีเลย์การแก้ปัญหาชะลอการ แก้ปัญหาลงไป ซึ่งเป็นทุกคน เราก็ไม่มีใครทราบว่า แล้วหุ้นจะขึ้นไปอีกนานเท่าไร ทุกอย่างเป็นการคาดคะเนทั้งนั้น"

ในฐานะนักลงทุนที่ดีลกับนักลงทุนต่างชาติอีกทอดหนึ่ง และมีหน้าที่เป็นผู้ชักนำนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยนั้น ดร.ก้องเกียรติมองว่าการเพิ่มทุนหรือการปรับโครงสร้าง ทางการเงินของกิจการต่างๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้นเป็นสิ่งที่ต้องรีบทำ รวมถึงการหาพาร์ตเนอร์ หาผู้ร่วมทุนใหม่ การที่เจ้าของกิจการจะลดสัดส่วนการถือครองหุ้นของตน ในกิจการลงเพื่อเปิดทางให้ผู้ร่วมทุนใหม่เข้ามาถือหุ้นด้วย

เขามองว่า "แม้หุ้นอาจจะขายได้ราคาถูกไปนิดหนึ่ง แต่มันก็มีความคืบหน้าในเรื่องของการแก้ปัญหา และยังสร้างเพื่อนได้ด้วย นักลงทุนต้องการเป็น เพื่อนกับบริษัทของคุณ" สิ่งที่ดร.ก้องเกียรติคิดว่าเจ้าของกิจการต้องปรับเปลี่ยน ด้วยคือ mentality ของพวกเขา ที่มีต่อนักลงทุนต่างชาติ

ด้านการปรับโครงสร้างกิจการนั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ดร.ก้องเกียรติ แปลกใจมากเมื่อเห็นตัวเลขที่ทางการประกาศ เรื่องกิจการที่มีการปรับโครงสร้างไปแล้วคิดเป็นเม็ดเงินจำนวนสูงมากนั้น เขาสันนิษฐานว่า "ส่วนใหญ่เป็น เรื่องการยืดหนี้และลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งโชคดีที่เป็นผลพลอยได้มาจากการที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศลดลง อย่างไรเสียก็ต้องลดอยู่แล้ว และก็ถือว่าปลดมา เป็นหนี้ปกติได้ (performing loan) เพราะการปรับโครงสร้างหนี้ส่วนใหญ่ต้องใช้เวลานานมาก"

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่สินเชื่อของแบงก์ส่วนมากก็ไม่ได้ถูกฝึกหัดให้มาทำทางด้านนี้ และอีกอย่างหนึ่งสายการบังคับบัญชาของแต่ละแบงก์ส่วนใหญ่จะกระจุกอยู่ข้างบน การปรับโครงสร้างหนี้ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมจริงๆ นั้นต้องอนุมัติโดยกรรมการข้างบน ซึ่งส่วนใหญ่ ก็เป็นผู้ถือหุ้นด้วย พวกเขาก็จะไม่เห็นด้วยเพราะว่ามี haircut เกิดขึ้นหรืออะไรก็แล้วแต่

เพราะฉะนั้น ดร.ก้องเกียรติจึงมองว่า "การปรับโครงสร้างหนี้จริงๆ ของสถาบันการเงินไทยตาม Western context นั้นแทบจะไม่มีเลย ที่เห็นปรับ จริงๆ นั้น เจ้าหนี้เป็นแบงก์ต่างประเทศมากกว่า พวกนี้เข้าใจ แต่ถึงแม้จะเข้าใจนี่ กว่าที่แต่ละดีลจะจบ ใช้เวลาเป็นปีทั้งนั้น มันไม่ใช่ระยะเวลาสั้น เพราะมันรวมถึงการทำ due diligence ให้ auditor เข้ามาดูว่า cash flow เป็นอย่างไร จ่ายหนี้ได้ถึงระดับไหน จ่ายดอกเบี้ยได้ถึงระดับใด ต้องดู prospect ของอุตสาหกรรมว่ายอดขายในปีหน้าจะเป็นอย่างไร จะรอดไหม รวมทั้งในที่สุดว่าต้องมาต่อรองกันว่าจะให้ผู้บริหารชุดเดิมอยู่ต่อไหม หรือจะส่งใครเข้ามาดูเรื่องการเงิน ส่วนใหญ่เวลาปรับโครงสร้างหนี้จริงๆ เจ้าหนี้จะส่ง CFO เข้ามาดูแล

แต่วิธีปรับโครงสร้างหนี้แบบไทยๆ ส่วนใหญ่ไม่มีการส่ง CFO เข้ามา เพราะว่าคนของเขาเองก็ไม่พอ การส่ง CFO เข้ามาก็เพื่อที่จะดูว่าการใช้จ่ายของบริษัท การลงทุนของบริษัทมีเหตุมีผลหรือเปล่า ไม่ใช่ว่าลงทุนในสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ สิ่งที่ผิด เพราะมันทำให้เงินของเจ้าหนี้สูญหายไปด้วย" ปรับโครงสร้าง ประเด็นสำคัญคือปรับเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

ในการปรับโครงสร้างของกิจการ ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ส่วนมากจะเน้นในเรื่องของการปรับโครงสร้างทางการเงินเป็นด้านหลัก การเพิ่มทุน การหาพาร์ต เนอร์ใหม่เข้ามาเพื่อให้ได้เม็ดเงินใหม่เข้ามาหล่อเลี้ยงกิจการให้เดินหน้าและชำระหนี้ได้ แต่ใจความสำคัญที่ดร. ก้องเกียรติอยากให้เกิดขึ้นมากๆ คือการปรับวิธีการทำงาน

"ผมคิดว่าการปรับเปลี่ยนวิธีการ ทำงานยังค่อนข้างน้อย ซึ่งนี่เป็นจุดที่น่ากลัวในระยะยาว ทำให้ความสามารถในการแข่งขันจะไม่มี"

ตัวอย่างในประเด็นนี้ที่น่าสนใจคือประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งในวิกฤตรอบนี้กล่าวได้ว่าแม้คนของเขาจะมีเลือดรักชาติมากไม่แพ้บ้านเรา ดูจากการที่เขาขน ทองคำไปขายให้รัฐบาลและขายให้ต่างประเทศ ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนนี้เขายอมให้ต่างประเทศมาถือหุ้นในสัดส่วนที่น้อยกว่าบ้านเราด้วยซ้ำไป เขาก็ยอมทุกอย่าง นี่คือวิธีการเปลี่ยนการทำงานของเขา เพราะเขาคิดว่าวิธีนี้จะทำให้ผู้บริการเก่าๆ เปลี่ยนวิธีการทำงานจากที่ดูแต่ยอดขายไม่ดู bottom line มาเป็นดูที่ bottom line มากขึ้น

นี่คือวิธีการทำงานแบบตะวันตกคือดูกำไร ไม่ได้ดูที่ยอดขายหรือส่วนแบ่งตลาด ในขณะที่บ้านเราดร.ก้องเกียรติเชื่อว่า หลายคนยังดูที่ตัวเลขตัวบนอยู่ คือดูที่ยอดขาย "ผมว่าเขาดู bottom line น้อย ไม่เช่นนั้น เขาจะมีกำลังการผลิตที่ล้นได้อย่างไร เช่นผลิต เหล็ก หรืออื่นๆ return on investment คุ้มที่ไหนกับการลงทุนพวกนั้น เขาอาจจะบอกว่าต้นทุนเขายืมดอลลาร์มาไม่ถึง 10% เพราะฉะนั้นเมื่อมาลงทุน return on fix equity อาจจะได้ 12-13% เขาก็บอกว่าโอเค แต่ถามจริงๆ ว่าโอเคหรือเปล่า ผมว่ายังไม่โอเค เพราะว่า safety margin ยังน้อยเกินไป"

นอกจากนี้ ดร.ก้องเกียรติเปรียบ เทียบเรื่อง SME ที่บ้านเราเพิ่งจะมาฮิตกันในยามเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ในเกาหลีใต้และไต้หวันนั้นธุรกิจขนาดกลางเขาแข็งกว่าของเราเยอะ "พวกเราเพิ่งจะมาพูดเรื่อง SME กัน ผมมองว่ายังอีกไกล กว่าที่จะพัฒนาไปอย่างไต้หวัน ไต้หวันผมบอกได้เลย บังเอิญผมเข้าไปคลุกคลี หลายบริษัทในไต้หวัน รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาให้กับกองทุนบางกองทุนที่ลงทุน ในเอเชีย ก็ได้เห็นดีลต่างๆ ในเกาหลี ไต้หวัน มาเลเซีย ด้วย บริษัทพวกนี้ที่ไปลงทุนในไต้หวัน ส่วนใหญ่จะเป็น high growth company และเกิดจากบริษัทพ่อลูกเยอะมาก ล่าสุดมีบริษัทที่ทำแผ่นซีดีเล็กๆ โรงงานสร้างมาแค่ 2-3 ปีเท่านั้นเอง แต่ยอดขายเป็นหมื่นล้าน ทำส่งออก ถามว่ายอดขายขนาดนี้ใหญ่ เป็นที่เท่าไร เขาบอกเป็นแค่ที่ 6 ของประเทศ และพวกเวนเจอร์แคปปิตอลก็อยากจะเข้าไปลงทุน ในเกาหลีเขาเป็นเจ้าของเทคโนโลยี ยอดขายเขาโตปีละ 100% - 200% กระโดด ในบ้านเราผมหาบริษัทพวกนี้ไม่ค่อยเจอ นี่คือสิ่งที่น่าเสียดาย"

บ้านเราเทคโนโลยีก็ไม่เก่งเกษตร มีเยอะจริงแต่สิ่งที่เป็นมาตรฐานและมูลค่าเพิ่มไม่เยอะเท่าไร ถ้าเราต้องการพัฒนาธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม จากพื้นฐานการเกษตร เราก็ต้องมาลงทุนในเทคโนโลยีมากๆ คำถามสำคัญคือทำ อย่างไรเราถึงจะส่งผลไม้ที่จะมีรสชาติ รูป กลิ่น เป็นมาตรฐานได้? เช่น มะม่วงจะส่งออก รสชาติให้มีมาตรฐานเหมือนกันทุกครั้งที่ผลิดอกออกผล สีผิวเท่ากัน ทำอย่างไรถึงจะมีสิ่งเหล่านี้ แพ็กเกจจิ้งต้องดี คงทน เพราะหากสามารถทำได้ ของพวกนี้ก็สามารถขายได้ราคาดีทีเดียว ดังนั้นในจังหวะที่มีการปรับโครง สร้างกิจการครั้งใหญ่นี้ ดร.ก้องเกียรติจึงเห็นเป็นโอกาสดีที่บริษัทจะปรับปรุงในเรื่องของ งานวิจัยและพัฒนา หรือ R&D ไปด้วย

"ผมคิดว่าคนที่จะเป็นหัวหอกที่สำคัญคือรัฐบาล เท่าที่ดูผมยังไม่เห็นว่ารัฐบาลทำอะไรเลย ได้เงินมิยาซาวามา แต่ส่วนใหญ่ไปใช้จ่ายตรงมากกว่า เรื่อง การว่าจ้างงาน แต่สิ่งที่เขาลืมคือ กันไว้สำหรับ R&D ผมคิดว่าสำคัญนะเรื่องนี้ R&D มันต้องลงทุน ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ จะเนรมิตขึ้นมา ผมอยากเห็นว่าอีกหน่อยธนาคารเพื่อการเกษตรฯ หรือธนาคารของรัฐที่จะปล่อยสินเชื่อให้ภาคเกษตร น่าจะบังคับให้เกษตรกรรับ R&D ไปเลยถ้าเขามี แต่ปัจจุบันไม่มี คือมันต้อง ทำงานร่วมกับภาครัฐ

นี่อาจจะเป็นการเตือนรัฐบาลในสิ่งพื้นๆ ที่รู้อยู่แล้ว แต่ไม่ได้ทำ สิ่งเหล่า นี้มีความสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐ กิจครั้งใหม่นี้อย่างมาก หากเราไม่ต้อง การให้การฟื้นตัวครั้งนี้เป็นภาพลวงตา "สิ่งที่ผมกลัวคือว่า ถ้าอยู่ๆ เราฟื้นมาจากสิ่งเหล่านี้ ผมว่าไม่ได้เป็นการฟื้นที่ยั่งยืน และถึงจุดหนึ่งเราจะเจอวิกฤต การณ์ใหญ่กว่านี้ คือ เราไม่มี position ของตัวเราเองว่าจะแข่งกับคนอื่นได้อย่างไร เพราะเราจะถูกบีบทั้งบนทั้งล่าง บนก็คือประเทศที่มีเทคโนโลยีสูงกว่าเรา ไม่ว่าจะเป็นเกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย บีบจากล่างคือ จีน เวียดนาม ซึ่งค่าแรงถูกกว่าเรา

ที่ผ่านมา ที่เรายังโตอยู่ได้ เพราะ ว่าค่าแรงเราถูก แต่ปัจจุบันค่าแรงเราไม่ถูกที่สุด ผลผลิตของเราไม่ใช่มีประสิทธิ ภาพสูงสุด เทคโนโลยีของเราไม่ได้เหนือ กว่าคนอื่น แทบจะไม่มีด้วยซ้ำ การปลูก ผักปลูกต้นไม้ก็ยังเป็นวิธีการเดิมๆ ผลผลิตต่อไร่ก็ยังต่ำสุด โชคดีที่ว่า ลมฟ้าอากาศเราดี ชาวนายังมีจำนวนเยอะ เลย ทำให้ผลผลิตเยอะ แต่เราจะพึ่งอันนี้ตลอดเวลาไม่ได้ เพราะว่าของทุกอย่างเป็น commodity ราคาขึ้นลง ควบคุมไม่ได้ และมูลค่าเพิ่มเราไม่มี นี่คือสิ่งที่น่าเป็นห่วง และผมไม่อยากให้คนไทยลืมบทเรียนที่ผ่านมา"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.