แปลงสัมปทาน งานนี้ไม่มีเฮ


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

หลังรอคอยมานานในที่สุดกรอบที่ใช้ในแปลงสัมปทานสื่อสารโทรคมนาคม ที่ทีดีอาร์ไอรับเอาไปศึกษาก็ได้ข้อสรุปออกมา ซึ่งจะกลายเป็น "กติกา" ที่จะให้หน่วยงานรัฐและเอกชนคู่สัญญาต้องนำไปปฏิบัติตาม

การแปลงสัมปทานเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการในการเปิดเสรีโทรคมนาคม ที่รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งดำเนินการให้สิทธิ เนื่องจากเงื่อนไขของสัญญา สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่มีอยู่ในสัญญาขัดกับหลักการแข่งขันเสรี และที่สำคัญคือเรื่องผลประโยชน์ตอบแทนที่เอกชนเคยจ่ายให้กับรัฐบาลที่ยังเหลือเวลาอีกหลายปี

เอกชนทั้งหลายก็ตั้งความหวังเอาไว้ว่า หลังจากเปิดเสรีแล้ว ค่าต๋งเหล่านี้จะหมดไป เปลี่ยนเป็นการจ่ายค่าใบอนุญาตให้กับองค์กรกลาง ซึ่งค่าใบอนุญาตจะมีราคาถูกกว่าค่าต๋งหลายเท่านัก จะทำให้การทำธุรกิจคล่องตัวมากขึ้น จะหาคนมาลงทุนก็ทำได้ง่ายกว่าเก่า

แต่เรื่องไม่ง่ายอย่างคิด เพราะหน่วยงานรัฐก็ต้องสูญเสียรายได้ที่เคยคาดว่าจะได้ไปมหาศาล การแปลงสัมปทานจึงเป็นเรื่องสลับซับซ้อน ยิ่งสัมปทานไหนมีมูลค่ามากๆ ก็ยิ่งยุ่งยาก ประเภทที่จะได้ประโยชน์ทั้งคู่ก็ทำไม่ได้ง่ายๆ อย่างเก่งก็ให้สมน้ำสมเนื้อ

ก่อนหน้านี้ กระทรวงคมนาคม เคยว่าจ้างกลุ่มที่ปรึกษาประกอบไปด้วยบริษัทหลักทรัพย์ธนสยาม บริษัทแบริ่ง บราเทอร์ส จำกัด และเครดิตซุเอซเฟิสท์บอสตัน ควบคู่ไปกับการศึกษาของคณะทำงานพิจารณาการแปรสัญญาร่วมการงาน ทั้งสองฝ่ายก็มีแนวทางที่แตกต่างกันไป คณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (กนร.) จึงได้มอบหมายให้ทีดีอาร์ไอ เป็นผู้รวบรวมผลศึกษาของทั้งสองหน่วยงาน และให้ไปรวบรวมข้อมูลและความคิดจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาด้วย และผลศึกษาที่ได้จากทีดีอาร์ไอจะเป็นกรอบกติกาสุดท้ายที่คู่สัญญาของรัฐบาล และเอกชนที่แปลงสัมปทานต้องนำไปยึดถือปฏิบัติ

ข้อเสนอของทีดีอาร์ไอที่ทำออกมาไม่ได้กำหนดเฉพาะเจาะจงไปว่า สัมปทานไหนจะต้องแปรสัญญา แต่ใช้วิธีจัดอันดับความสำคัญของสัมปทาน โดยพิจารณาจากผลประโยชน์ที่มีต่อผู้ใช้จากการแปรสัญญา

อันดับแรกหนีไม่พ้นโทรศัพท์พื้นฐาน ของสองค่ายคือ ทีเอ และทีทีแอนด์ที ตามมาด้วยโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มที่มีผลประโยชน์ต่อผู้ใช้จากการแปรสัญญาสูง และอันดับสามอยู่ในระดับปานกลางคือ กิจการดาวเทียม และอันดับ 4 เป็นกิจการประเภทบริการสื่อสารข้อมูลระหว่างประเทศ วิทยุติดตามตัว และประเภทที่รับจ้างติดตั้งโครงข่าย

เมื่อมาถึงในส่วนของ "ค่าต๋ง" ที่จะถูกยกเลิกนั้น ทีดีอาร์ไอเสนอให้เอกชนที่แปรสัญญาจะต้องจ่ายชดเชยให้กับรัฐ เพื่อแลกกับสิทธิการใช้ประโยชน์จากโครงข่ายที่ลงทุนไป โดยคำนวณจากผลประโยชน์ตอบแทนที่คาดว่าจะต้องจ่ายตลอดอายุสัญญาที่เหลือ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ การเปลี่ยนของเทคโนโลยี การแข่งขันและสภาพปัจจุบันมาใช้ประกอบในการคิดคำนวณด้วย

เช่นว่า สัมปทานมีอายุ 30 ปี ให้บริการไปแล้ว 10 ปี ยังเหลืออีก 20 ปี ก็ให้นำ 20 ปีที่เหลือมาคิดคำนวณ แต่ให้เอาปัจจัยในด้านอื่นมาคำนวณประกอบด้วย ส่วนเอกชน จะได้รับสิทธิชดเชยค่าธรรมเนียมกลับไปด้วย

นอกจากนี้ ทีดีอาร์ไอยังกำหนดวิธีการจ่ายค่าชดเชยไว้ด้วยว่า จะจ่ายได้ 2 รูปแบบคือ จ่ายเป็นเงินสด หรือตราสารหนี้เท่านั้น ห้ามจ่ายเป็นหุ้น หรือเลขหมาย และการจ่ายค่าชดเชยนี้ให้จ่ายเป็นงวดได้ แต่จะต้องเสีย ดอกเบี้ย แต่ต้องจ่ายภายใน 4 ปี คือ แบ่งจ่ายก้อนแรก 50% ภายใน 2 ปี จากนั้นจึงค่อยทยอยจ่ายส่วนที่เหลือในอีก 2 ปีที่เหลือ

ดร.อัมมาร สยามวาลา บอกว่า สิ่งที่ต้องทำต่อจากนี้คือ ให้ครม.มีมตินำสัญญาเข้าสู่กระบวนการกำกับ โดยให้ตั้งคณะอนุกรรมการกำกับการแปรรูปสัญญาร่วมงานด้านกิจการโทรคมนาคม (กปส.) ห้ามหน่วยงานรัฐและเอกชนตกลงกันนอกรอบ

ปรากฏว่า เมื่อเจอเงื่อนไขเหล่านี้ ในการประชาพิจารณ์ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา ทีเอ และชินวัตร เป็นสองค่ายหลักที่ออกมาคัดค้านกันแบบสุดๆ ส่วนเอกชนรายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นทีทีแอนด์ที ยังไม่ได้แสดงท่าทีอะไร

เริ่มต้นจากช่วงเช้า ดร.วัลลภ วิมลวณิชย์ ทำหน้าที่ตัวแทนเอกชนคัดค้านหลายจุด เช่นว่า การจ่ายค่าชดเชย ตามที่ทีดีอาร์ไอกำหนดให้จ่ายถึงสิ้นสุดสัมปทาน และยังต้องจ่ายค่าใบอนุญาตอีก เท่ากับเป็นการจ่ายซ้ำซ้อนกัน และระยะเวลาชำระค่าชดเชยที่ให้จ่ายครึ่งหนึ่งภายใน 2 ปี และเป็นเรื่องยากมากที่จะจ่ายสัมปทานเพราะยังเป็นหนี้ก้อนใหญ่ ที่ต้องหาทางประนอมหนี้อยู่ เรื่องหาเงินก้อนใหม่มาจ่ายชดเชยจึงเป็นไปแทบไม่ได้

พอมาถึงช่วงบ่าย บรรยากาศก็เริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ บุญคลี ปลั่งศิริ ประธานกรรมการบริหาร ของชิน คอร์ ปอเรชั่น ออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้านอย่างเต็มที่ ยิ่งไปกว่านั้นเอไอเอสจะไม่ได้ค่าธรรมเนียมชดเชยจากองค์การโทรศัพท์ฯ เลยแม้แต่บาทเดียว งานนี้บุญคลีเลยประกาศว่า จะไม่ขอแปลงสัมปทาน แต่จะรอจนกว่าจะตั้งองค์กรกลางขึ้นมาก่อน จึงค่อยไปแปลงเอาตอนนั้น

งานนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะลงเอยยังไง แต่ที่แน่ๆ ทีดีอาร์ไอก็บอกมาแล้วว่า ขึ้นอยู่กับคู่สัญญาสองฝ่ายจะแปลงสัญญาหรือไม่แปลงก็ได้ ถ้าอย่างนั้นแล้ว ไม่รู้ว่า "คู่มือ" ของ ทีดีอาร์ไอนี้จะได้ใช้หรือเปล่า เพราะดูจากท่าทีแล้วคงจะหาเอกชนมาขอแปลงสัมปทานยากแน่



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.