แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

นับตั้งแต่ เอ็มเว็บตัดสินใจซื้อ sanook.com ฉากใหญ่ของธุรกิจอิน-เตอร์เน็ตก็ถูกคลี่ออกอย่างเป็นรูปเป็นร่าง

ที่แล้วมาตลาดอินเตอร์เน็ตของไทย ได้ออกจากจุดเริ่มต้นด้วยธุรกิจการเชื่อมเข้าสู่เครือข่ายอินเตอร์ หรือ access provider ที่มีผู้ให้บริการอิน-เตอร์เน็ตเป็นตัวขับเคลื่อน

แต่นับจากเอ็มเว็บ ซื้อ sa-nook . com อินเตอร์เน็ตของไทยก็ก้าวเข้าสู่กระแสใหม่ ที่เป็นการสร้างฐาน ข้อมูล (content) ภาษาไทย อันเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างประชาคมบนอิน-เตอร์เน็ต ที่จะมี portal web เป็นหน้า ด่านแรกของการเข้าสู่ชุมชนบนเว็บ ที่มีเป้าหมายอยู่ที่การค้าขายบนอินเตอร์ เน็ต หรือ อิเล็กทรอนิกส์ คอมเมิร์ซ อัน เป็นสิ่งที่ทุกคนอยากเห็น เพราะนี่คือเม็ด เงินที่จะได้จากการลงทุนในธุรกิจอินเตอร์ เน็ตเป็นรูปธรรมที่สุด

แม้ว่า e-bays.com หรือ amazon.com จะเป็นบทพิสูจน์ที่ทำให้เชื่อได้ว่า อี-คอมเมิร์ซมีตัวตนอยู่จริง แต่ประชาคมอินเตอร์เน็ตในไทยมีอยู่ไม่กี่แสนรายเทียบไม่ได้กับยอดสมาชิกที่มี 40 ล้านรายในสหรัฐอเมริกา แต่การซื้อ sanook.com ในราคาเกือบ 100 ล้าน ก็ทำให้หลายคนเริ่มเห็น แสงสว่างปลายอุโมงค์

ไม่ใช่แค่สามารถกรุ๊ปเท่านั้น ที่ตัดสินใจกลับลำในนาทีสุดท้ายไม่ยอมขายธุรกิจการเป็นผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต หรือไอเอสพีให้กับเอ็มเว็บ และหันมาทุ่มเงินพลิกโฉมหน้าใหม่ เพื่อก้าวขึ้นสู่สนามประลองฝีมือบนโลกไซเบอร์สเปซนี้ อีกครั้ง

ชิน คอร์ปอเรชั่น และทีเอ เป็นสองบิ๊กสื่อสาร ที่ประกาศตัวอย่างเป็นรูปธรรมที่จะไม่ยอมพลาดศึกในครั้งนี้ และนับจากนี้สนามอินเตอร์เน็ตจะ ไม่ใช่แค่รายย่อยๆ แต่เป็นบริษัทสื่อสาร ขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมในเรื่องของเครือข่ายโทรคมนาคมเป็นอาวุธสำคัญ

ทั้งทีเอ และชิน คอร์ปอเรชั่น เป็นเจ้าของโครงข่ายโทรคมนาคม แต่ต่างประเภทกันไป ชิน คอร์ปอเรชั่น ยึดน่านฟ้าเบื้องบน ด้วยบริการสื่อสารผ่านดาวเทียม และกำลังมุ่งลงดินด้วยการซื้อกิจการโทรศัพท์ 1.5 ล้านเลขหมายต่างจังหวัดจากทีทีแอนด์ที ในขณะที่ทีเอเป็นเจ้าของโครงข่ายโทรศัพท์ 2.6 ล้านเลขหมาย ที่มีโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง

"อินเตอร์เน็ตเป็นหลักที่เราจะบุกเต็มที่ เราต้องลงแรงอีกเยอะ ผมให้สัญญากับตัวเองที่จะต้องทำให้สำเร็จ งานจะยุ่งขนาดไหน ผมก็จะใช้เวลากับอินเตอร์เน็ต อาทิตย์ละ 2-3 วัน เป็นอย่างน้อย เข้าไปศึกษาดูว่าข้างในเป็นยัง ไง" นี่คือ คำกล่าวของชัชวาล เจียร-วนนท์

กิจกรรมของชัชวาลก็ไม่ต่างไปจากบุญคลี ปลั่งศิริ ประธานกรรมการบริหาร ชิน คอร์ปอเรชั่น ที่ใช้เวลา 4-5 เดือนศึกษาธุรกิจอินเตอร์เน็ตมาแล้ว ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน

หลังการปรับโครงสร้างของกลุ่ม ชิน กลายเป็นโฮลดิ้งคอมปานี ที่จะมีรายได้จากการลงทุนในธุรกิจต่างๆ มีเป้า หมายอยู่ที่การนำหุ้นเข้าไปขายในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กไม่เกินสิ้นปีนี้ และตลาดสหรัฐอเมริกาหุ้นที่หวือหวาและร้อนแรงที่สุดเวลานี้ก็คือ อินเตอร์เน็ต

บุญคลีประกาศชัดเจนว่า ธุรกิจ อินเตอร์เน็ต คือเป้าหมายหลักของชิน ที่จะต้องเข้าสู่ธุรกิจนี้แน่นอน

และเขาก็พบว่า อินเตอร์เน็ต เป็นธุรกิจที่แปลกมากที่ไม่มีโมเดลธุรกิจใดในโลก และไม่เคยปรากฏอยู่ในตำราเล่มไหน เป็นธุรกิจที่แยกไม่ออกว่าระหว่างคนขาย คนสร้าง หรือคนใช้ ทุกอย่างปนเปกันไปหมด เมื่อผู้ใช้กลายเป็นผู้สร้างข้อมูล ในขณะที่คนสร้างเครือข่ายกลับไม่ได้ทำมากไปกว่าการสร้างเวทีให้คนมาเล่น จากนั้นเครือข่ายนี้ก็กลายเป็นชุมชนขนาดไหน ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ธุรกิจอินเตอร์เน็ตตามแนวคิดของบุญคลี จะแบ่งออกเป็น 3 โมเดล เริ่มจากโทรคมนาคมโมเดล นั่นก็คือ ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ไอเอสพี) เนื่อง จากวิธีคิดและการให้บริการพัฒนามาจากโทรคมนาคม เช่น คิดจากจำนวนผู้ใช้ ค่าบริการรายเดือน

ส่วนอีกโมเดลหนึ่ง เป็นมีเดีย โมเดล ตรงนี้บุญคลีบอกว่า จะเน้นที่ข้อมูล (content) และสร้างเป็นสังคมขึ้นมา ซึ่งจุดหมายปลายทางของธุรกิจลักษณะนี้ คือ ค่าบริการในการติดต่อ (transaction) ลักษณะนี้คล้ายกับการเปิดหนังสือ พิมพ์ ที่ต้องใช้เวลานานพอสมควร

โมเดลที่สาม คือ การให้ดูข้อ มูลฟรีบางส่วน และขายข้อมูลบางส่วน ธุรกิจลักษณะนี้จะคล้ายกับอเมริกันออน ไลน์ (AOL)

ปัจจุบันชินมีไอเอสพีอยู่แล้ว ใน นามของซีเอสคอมมิวนิเคชั่น ซึ่งเป็น การให้บริการอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียม ซึ่งที่แล้วมาการทำตลาดของซีเอสคอมมิว นิเคชั่นไม่หวือหวา เจาะกลุ่มลูกค้าองค์กร เพราะการให้บริการผ่านดาวเทียมจะมีค่าบริการสูง แต่ซีเอสคอมมิวนิเคชั่น ก็อยู่ระหว่างเตรียมพร้อมที่จะอุดช่องว่าง ของตัวเอง ด้วยการขยายเครือข่ายการให้ บริการให้ทุกจังหวัดสามารถต่อเชื่อมบริการถึงกันได้ เพื่อให้ค่าบริการลดลงมา เหลือในราคาค่าบริการครั้งละ 3 บาท ไม่ ว่าลูกค้าจะใช้บริการที่จังหวัดไหนก็ตาม

ส่วนลูกค้าที่ต้องการใช้บริการความเร็วสูงๆ จะใช้บริการผ่านดาวเทียม เคยูแบนด์ ซึ่งเป็นจานดาวเทียมขนาดเล็กและมีโมเด็มพิเศษ ที่จะเสียบเข้ากับเครื่องพีซีเพื่อหมุนผ่านโทรศัพท์ปกติมาที่ซีเอสคอมมิวนิเคชั่น โดยเอไอเอส เน็ทเวิร์คโพรไวเดอร์เป็นจิ๊กซอว์ ในเรื่องของเครือข่าย ที่มีบริการดาต้าเน็ต และบริการสื่อสารอื่นๆ เป็นทัพหนุน แต่จิ๊กซอว์ที่ขาดไปก็คือในเรื่องของข้อมูล และนั่นก็คือ ที่มาของโครงการ "Adventure club" ที่ชินประกาศไปเมื่อเดือนสองเดือนที่ผ่านมา

แอดเวนเจอร์คลับ เป็นยุทธ ศาสตร์ที่ชินใช้ในการสร้าง content โดยชินจะเข้าไปถือหุ้น และให้เงินทุนเพื่อสนับสนุนแก่เจ้าของเว็บของไทยในลักษณะเดียวกับหน่วยลงทุนหรือ VENTUER CAPLTAL ที่ชินคัดเลือกแล้วว่ามีแนวโน้มจะไปได้ดี จากจำนวนผู้เข้ามาเยี่ยมชม (hit rate) และความน่าสนใจของตัวเว็บ จากนั้นจะให้เจ้าของเว็บพัฒนาต่อไป โดยชินวัตรจะให้เงินทุนสนับสนุน และจะกลับมาพิจารณาดูกันอีกครั้งภายใน 2 ปีว่าเว็บไหนจะพัฒนาต่อหรือเว็บไหนจะทิ้ง

วิธีนี้เท่ากับว่าชินวัตรจะสร้างทั้ง content และฐานลูกค้าในเวลาเดียวกัน

บุญคลียอมรับว่าเขาไม่รู้ว่า 2 ปีจากนี้รายได้จากการลงทุนของเขากับการสร้าง content จะอยู่ตรงไหน เขายังเชื่อด้วยว่า รายได้จากการหาโฆษณาบนเว็บสำหรับตลาดอินเตอร์เน็ตของไทยยังห่างไกลกันมาก จากขนาดที่เล็กมากและจำนวนสมาชิกที่มีอยู่น้อยงาน แต่ก็เป็นจิ๊กซอว์ที่ชินวัตรยอมเสี่ยง

"วันหนึ่งโทรศัพท์มือถือ จะไปสู่เจนเนอเรชั่นที่ 3 คือ ไวร์แบนด์ซีดีเอ็มเอ ซึ่งจะเป็นเรื่องของข้อมูล มันก็จะกลับไปสู่ปัญหาเดิมถ้าผมไม่ทำตรงนี้ การทำหนังสือพิมพ์ต้องใช้เวลา 2 ปี แต่ การสร้างเน็ทเวิร์ค ผมจ้างซัปพลายเออร์ มาปีเดียวก็เสร็จ เมื่อเทคโนโลยีมันไปแล้ว ทุกอย่างจะต่อเชื่อมกัน ทั้งเซลลูลาร์และ อินเตอร์เน็ต วันนี้ผมก็ต้องทำข้อมูลออกมา ไม่เช่นนั้นแล้วคนจะดูอะไร"

บุญคลีกำลังต้องการบอกถึง อนาคตของโทรคมนาคม ที่จะมุ่งไปที่การสื่อสารด้วย "ข้อมูล" ที่จะมีบทบาทมากกว่าการสื่อสารด้วย "เสียง" ซึ่งเป็นสิ่งที่ชินต้องก้าวไปตั้งแต่วันนี้

เขาพบด้วยว่า ในขณะประเทศ อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง ที่มี local content ข้อมูลภาษาท้องถิ่นมีเพียงแค่ 30-40% แต่สำหรับตลาดอินเตอร์เน็ตของไทย 90% จะเป็นข้อมูลในประเทศที่เป็นภาษาไทย นี่ก็คือ สิ่งที่ชินกำลังอยากจะสร้างชุมชนไทย และตลาดที่เป็นของเมืองไทยโดยเฉพาะ

การไปถือหุ้นในเว็บไซต์ hunsa. com ซึ่งเป็น portal เว็บอีกแห่งที่เป็น ของเกรียงศักดิ์ หิรัญวุฒิกุล อดีตนักข่าวคนไทยชาวเหนือเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ส่วนเดียวของยุทธศาสตร์ และอีกไม่ช้าภาพการลงทุนของชินกับบรรดาเจ้าของ ข้อมูลทั้งหลายจะมีให้เห็นเป็นระยะ รวม ถึงกลุ่มเนชั่น ที่กำลังมุ่งไปกับอินเตอร์-เน็ต ที่คงจะได้ข้อสรุปในไม่ช้า และอาจพ่วงรวมไปถึงพันทิพย์.คอม "มี Invester ถามผมว่า วันนี้คุณ เพิ่งขายหุ้นยูบีซีไปแล้ววันนั้นคุณบอกคุณไม่สนใจ content แต่วันนี้คุณกลับมาทำ content ผมบอกไม่ใช่ สิ่งที่ผมจะทำต่อไปนี้มันเป็น Digital content ผมเลือกทำผมไม่ทำหนัง"

อย่างไรก็ตาม บุญคลียอมรับว่า เขายังไม่สามารถหาบทสรุปได้ว่า ท้ายสุดของโมเดลธุรกิจทั้ง 3 นี้โมเดลใดที่จะเป็นฝ่ายชนะ เพราะโมเดลของแต่ละประเทศก็ต่างกันไป เขารู้แต่เพียงว่า เป็นสิ่งที่บริษัทโทรคมนาคมไม่สามารถเลี่ยงได้ เพราะหากจะยืนอยู่ในจุดของธุรกิจโทรคมนาคมอย่างเดียวก็อาจจะล้มตายได้ นั่นคือสาเหตุที่ชินเลี่ยงไม่ได้

"ถึงเวลานั้นมันจะเป็นเรื่องของข้อมูล มันเป็นเรื่องของแนวคิดที่ผมอาจจะต่างจากคนอื่น การเริ่มต้นอาจต่างกัน ผมก็เดินจากตรงนี้ไปเพื่อไปจ่อรอ ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่มันจะรวมกัน แต่เรารู้ว่าเลี่ยงไม่ได้ ถ้าเราจะคิดว่าเราเป็นโทรคมนาคมแล้วเราจะยืนอยู่ตรงนั้นตรงเดียว เราก็อาจถูกกินได้ นั่นคือ จิ๊กซอว์ที่เราอยากสร้างขึ้น ผมเชื่อว่าในอินเตอร์เน็ตเราเลี่ยงไม่ได้"

โมเดลธุรกิจอินเตอร์เน็ตในสายตาของชัชวาล เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เทเลคอม โฮล-ดิ้งจะพบว่า ธุรกิจนี้จะแบ่งออกเป็น 3

ส่วนเครือข่าย (networking) อินเตอร์ เน็ต เซอร์วิส โพรไวเดอร์ (ไอเอสพี) หรือ ผู้ให้บริการ และให้ข้อมูล (content)

ชัชวาล เป็นหนึ่งทายาทตระกูลเจียรวนนท์ เป็นลูกของสุเมธ เจียร-วนนท์ ซึ่งเป็นพี่ชายของของธนินท์ ที่ถูกเลือกให้ดูแลธุรกิจโทรคมนาคม เขาถูกวางตัวเป็นหนึ่งในเจนเนอเรชั่นที่ 3 ที่ต้องขึ้นคุมธุรกิจสื่อสาร มีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ บริษัทเทเลคอม โฮลดิ้ง (ทีเอช) ซึ่งเป็นธุรกิจการลงทุน ที่มีรายได้จากเงินปันผล และการลงทุนเหล่านี้ก็เป็นเรื่องของอนาคตที่จำเป็นต้องอาศัยเวลา

วัย 37 ปี ชัชวาลผ่านประสบ การณ์มาไม่น้อย ในขณะที่คนอื่นอาจฝึกฝนหาประสบการณ์จากธุรกิจในเครือ แต่ชัชวาลหิ้วกระเป๋าออกไปหาประสบ การณ์ถึงประเทศจีน แต่ไม่ได้ทำให้กับกลุ่มซีพี แต่ทำธุรกิจเป็นของตัวเอง ก่อนจะกลับมาดูแลช่วยงานในธุรกิจสื่อสาร และจากประสบการณ์เหล่านี้ชัชวาลจึงได้รับมอบหมายให้ดูแลธุรกิจ ลงทุนของทีเอชในต่างประเทศเป็นหลัก

การกลับมาของชัชวาลครั้งนี้ เขา ถูกวางตัวสำหรับบริษัทเทเลคอมโฮลดิ้ง ที่ต้องดูแลงานระดับนโยบาย โดยมีสุภกิต เจียรวนนท์ ลูกชายคนโตของธนินท์ เป็นคนรับผิดชอบการบริหารแบบวันต่อวัน

"อินเตอร์เน็ตจะเป็นหลักของเราที่จะบุกเต็มที่ แน่นอนว่าเราต้องเข้าใจธุรกิจนี้ จึงจะนำพาธุรกิจไปสู่อนาคต เพราะอะไรที่เกี่ยวกับ .com ในสหรัฐอเมริกามันมีมูลค่ามหาศาล" คำกล่าวของ ชัชวาล ที่บอกอย่างชัดเจนถึงภารกิจในวันนี้ของเขา

ทีเอช แม้ไม่มีชื่อหรือโครงการสวยหรูเหมือนกับชิน คอร์ปอเรชั่น หรือ เตรียมเงินหน้าตัก 200 ล้านบาท ที่เตรียมไว้สำหรับสนับสนุนเว็บไทย เช่นเดียวกับชิน แต่ทีเอชก็เข็นเว็บไซต์ ไชโยเมล.คอม มาให้ชาวไทยได้ใช้อีเมลฟรีกันไปแล้ว และประกาศสนับสนุน เว็บไซต์สบาย.คอม อย่างเป็นทางการแล้ว

"เราเชิญคนทำ portal ของไทย ซึ่งมีอยู่สามพันถึงสี่พัน คนที่ทำส่วนใหญ่ก็เป็นนักศึกษาทั้งนั้นอายุไม่เกิน 25 ปี มาคุย จะร่วมกันยังไง จะให้เราไปซื้อก็ได้ หรือจะรวมกันแบ่งรายได้ ส่วนเขาทำเรื่องครีเอทีฟเราผลักดันมาตลอด" ชัชวาลเล่า

เจ้าหน้าที่ของเอเซียอินโฟเน็ต ที่รับผิดชอบเรื่องนี้เล่าว่า การเข้าร่วมในเว็บไซต์ไทยของเอเซียอินโฟเน็ต จะเป็นลักษณะให้การสนับสนุนมากกว่า กรณีของ สบาย.คอม ก็เริ่มต้นด้วยการชักชวนให้มาใช้เนื้อที่บนอินเตอร์เน็ต (Host) ได้ฟรีไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

เธอบอกว่า เว็บไซต์เป้าหมายที่เอเซียอินโฟเน็ตจะให้การสนับสนุนจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวน Hit rate แต่ดูจากวัตถุประสงค์ของการทำเว็บ ความสามารถในการซัพพอร์ตมากกว่าสิ่งอื่น แต่ที่สำคัญ เว็บไซต์เหล่านั้นจะต้องเป็นการพัฒนามาจากกลุ่มเด็กๆ และเยาวชนที่มีไอเดียดีๆ เพราะนี่คือผู้ใช้ และผู้ขายตัวจริง ซึ่งเว็บไซต์ที่น่าสนใจที่สุดก็ คือ วาไรตี้ และฟรีอีเมล

"ปัจจุบันคนเล่นอินเตอร์เน็ตเป็นเด็กนักเรียน เป็นกลุ่มคนที่เล่นอินเตอร์เน็ตจริงๆ ฉะนั้นเขาจะรู้ความคืบหน้าได้เร็ว รู้ความต้องการจริงๆ ว่าคน ที่ใช้อินเตอร์เน็ตต้องการอะไร"

เว็บไซต์ของสบาย.คอม ก็มีเจ้าของเป็นกลุ่มเด็กนักเรียน 3-4 คนที่ร่วมกันสร้างเว็บนี้ขึ้นมา หรือแม้แต่ ไชโยเมล.คอม ที่เป็นเว็บไซต์ให้บริการจดอีเมลฟรี แต่เป็นภาษาไทย คนที่พัฒนาเว็บไซต์นี้ให้กับเอเซียอินโฟเน็ต ก็เป็นนักศึกษาระดับปริญญาโท ที่กำลังศึกษาอยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

รวมถึงการร่วมมือกับเอ็มเว็บ ที่อยู่ระหว่างวางยุทธศาสตร์ในธุรกิจนี้ร่วมกัน ตามมาด้วยการร่วมมือกับองค์กรการศึกษาระหว่างประเทศในกลุ่ม เอเชียแปซิฟิก (SEAMEO) เป็นองค์กร ไม่แสวงหากำไร มีสำนักงานใหญ่อยู่เมือง ไทย ทำโครงการที่ชื่อว่าซีมีโอ ดาราคาม ร่วมกัน

โครงการซีมีโอ-ดาราคาม เป็นโครงเครือข่ายการศึกษาต้นแบบ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้โรงเรียนใช้อินเตอร์ เน็ต ในลักษณะของ Education Package ที่เป็น Digital Course on web เป็น จุดแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างโรงเรียน

การเข้าไปร่วมมือในโครงการนี้ นอกจากเอเซียอินโฟเน็ตจะได้ในเรื่องของการให้บริการเชื่อมต่อเครือข่ายอินเตอร์เน็ตให้กับโรงเรียนเหล่านี้ ซึ่งขั้นต้นจะมี 40 กว่าโรงเรียน ยังเท่ากับเป็น การพัฒนาในเรื่องของฐานข้อมูล เพราะข้อตกลงที่ทำไว้กับโรงเรียนเหล่านี้ จะต้องทำฐานข้อมูลเพื่อการศึกษา เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยว หรือประเพณีของแต่ละจังหวัด หรือฐานข้อมูลวิชาการต่างๆ

และนี่ก็คือความพยายามในการสร้างฐานข้อมูลที่เป็นภาษาไทย โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การสร้างให้เกิดการใช้อินเตอร์เน็ตภายในประเทศ และสิ่งที่ตามมาก็คือ การใช้ข่ายสายภายในประเทศ ซึ่งมีเอเซียมัลติมีเดีย เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการ

จะว่าไปแล้ว การมองธุรกิจอินเตอร์เน็ตของทีเอชก็ไม่ต่างไปจากชิน คอร์ปอเรชั่นนัก การสร้างคอนเทนท์ของทีเอช ก็เป็นแค่เติมเต็ม "ช่องว่าง" ของภาพอินเตอร์เน็ตทั้งหมด

"story ของเราไม่เหมือนกับคนอื่น คนอื่นเขามองจากการเป็น access (ไอเอสพี) และจะกระโดดมาเข้า content ได้ยังไงเขาไม่ได้มองเน็ตเวิร์ค เพราะคนอื่นเขาไม่มี เขาจะต้องมาหาเรา หรือ ทศท., กสท.หรือยูคอม ฉะนั้นการที่เขาบอกว่า แอ็คเซ็สเขาเป็นที่ 1 มันก็เป็นแค่ส่วนเดียวของภาพทั้งหมด"

ชัชวาลมองว่า การที่ทีเอชเป็นเจ้าของเครือข่าย (network access) ก็ คือ ข้อได้เปรียบอย่างมหาศาลที่ไอเอสพี รายอื่นไม่มี และไม่ใช่สิ่งที่ทีเอชจะต้องไปแข่งในเรื่องข้อมูลกับไอเอสพีอื่นๆ

"คนที่เป็นบริษัทโทรคมนาคมก็ได้เปรียบมหาศาลอยู่แล้ว การที่ drive ในเรื่องของข้อมูล ก็เพื่อให้มี ACCESS ธุรกิจมากยิ่งขึ้นก็เพื่อสร้างธุรกิจ ให้กับเครือข่ายของเรานั่นเอง ยิ่งมีคนช่วยเราทำเราก็ยิ่งชอบ ทำไมผมจะต้องไปเฉือนคนอื่น การมีทราฟฟิกยิ่งเยอะก็เท่ากับเป็นสร้างเน็ตเวิร์คให้เรา แต่การทำเราต้องทำเองก็เพื่อให้รู้ว่าเกิดอะไร ขึ้น ไม่ได้ทำเพื่อฆ่าทุกคน เขาโตเราก็ได้ และเรายังรู้ข้อมูลข่าวสารทันกันได้"

เป้าหมายของทีเอช ไม่ได้อยู่แค่การมี portal web แต่เป็น total business และนั่นคือที่มาของการที่ทีเอชจะต้องเตรียมการสำหรับการลงทุนในเรื่องของเครือขาย

เป้าหมายของเขาก็คือ การสร้างโครงข่ายที่จะรองรับกับอินเตอร์เน็ต เพื่อรองรับกับทราฟฟิกของอินเตอร์เน็ต ที่จะเกิดขึ้น

5 เทคโนโลยี ที่ถูกหมายตาไว้ก็คือ เครือข่ายบรอดแบนด์ ที่เป็นเทค โนโลยีเพื่อการสื่อสารข้อมูล คือ เคเบิลโมเด็ม เอดีเอสแอล ไดเรคพีซี (จะเป็นกึ่งผ่านดาวเทียมกึ่งใช้โครงข่ายโทรศัพท์ ไมโครเวฟ และบรอดแบนด์ซีดีเอ็มเอ เป็นเทคโนโลยีของโทรศัพท์มือถือที่จะมุ่งไปในเรื่องการสื่อสารข้อมูล

ทั้ง 5 เทคโนโลยีมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป และบางประเภท ก็ต้องอาศัยการลงทุนใหม่ เช่น บรอดแบนด์ซีดีเอ็มเอ แต่เทคโนโลยีที่ทีเอชเริ่มต้นนำร่องไปแล้วก็คือ บริการเคเบิล โมเด็ม ซึ่งเป็นบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้กับลูกค้าประเภทองค์กรและบุคคล วิธีคิดเงินจะคิดตามจำนวนการใช้ข้อมูล (เมกะไบต์) ไม่ได้คิดเป็นแอร์ไทม์ (นาที)

แน่นอนว่า ซีพีย่อมไม่มองอะไรชั้นเดียว

ทีเอชไม่ได้มีเครือข่ายเป็นกระดูก สันหลังเท่านั้น แต่ที่มากไปกว่านั้นก็คือ เครือข่ายนี้ถูกเชื่อมไปถึงในบ้าน แม้บริษัทอื่นจะสร้างเครือข่าย เอดีเอสแอล หรือ ไมโครเวฟ หรือ ไวร์แบนด์ซีดีเอ็มเอได้ แต่ไม่มีรายไหนที่จะมีสายต่อ เชื่อมเข้าบ้าน เหมือนกับทีเอช

ทีเอชก็ไม่จำเป็นต้องไปแข่งซื้อเว็บไซต์กับใคร เพราะเมื่อเว็บไซต์ภาษาไทยบูมมากเท่าใด มีคนกว้านซื้อมากเท่าใด ก็เท่ากับว่าจะต้องมีคนเป็นสมาชิก มากขึ้น และเมื่อคนใช้มากขึ้น ทราฟ-ฟิกบนโครงข่ายก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย และเครือข่ายนี้ก็ยังไปถึงตัวของผู้ใช้ได้เลย เรียกง่ายๆ ว่าได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง

ในสายตาของเขา โมเดลธุรกิจของทีเอช ไม่ต่างไปจากการเป็นเอทีแอนด์ที ที่เมื่อซื้อบริษัททีซีไอ บริษัทเคเบิลทีวีรายใหญ่ ทุกอย่างก็ครบวงจร เช่นเดียวกับทีเอ ที่มีโครงการ flag เป็น เคเบิลใยแก้วใต้น้ำออกสู่ต่างประเทศ มีบริการนอนพอร์ตที่เชื่อมไปต่างจังหวัด มีเครือข่ายไฟเบอร์ออพติกในกรุงเทพฯ และยังต่อไปถึงบ้านลูกค้า

"ทีเอชมีเครื่องมือทุกอย่าง ไม่ใช่ว่าผมต้องเป็นที่หนึ่ง ยังไงก็ต้องเป็นที่หนึ่ง แต่เราจะเป็นที่หนึ่ง ด้วยอะไร ชื่อเสียงหรือคำชม หรือลูกค้า"

นี่คือมุมมองของสองสื่อสาร ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครจะไปถึงแสงสว่างปลายอุโมงค์ที่เห็นอยู่รำไรได้ชัดกว่ากัน และเป็นรูปธรรมได้ก่อนกันเท่านั้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.