พินิต วงศ์มาศา จากเครือซิเมนต์ไทยสู่ผาแดงฯ


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

เขาเป็นคนโชคดีมากๆ คนหนึ่งที่ ลาออกจากงานได้เงินก้อน แล้วสามารถ หางานใหม่ที่ดี และท้าทายได้อย่างรวดเร็ว

กรณี พินิต วงศ์มาศา อดีตลูกหม้อบริษัทในเครือ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ยักษ์ใหญ่ธุรกิจปูนซีเมนต์ ได้ ยื่นหนังสือลาออกตามโครงการ Early Retire เมื่อสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาด้วยอายุ 55 ปี หลังจากใช้ชีวิตในองค์กรนี้ 25 ปี ซึ่งถ้าพูดกันตามความจริงถือว่า พินิตสามารถทำงานในระดับผู้บริหารต่อไปได้อีกหลายปี แต่เขาตัดสินใจลาออก ด้วยเหตุผลสั้นๆ "หมดความท้าทายเพราะคิดว่าอยู่บริษัทที่รวยมามากแล้วอยากเปลี่ยนงาน"

บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำแผนการออกจากงาน ด้วยความเห็นชอบร่วมกัน (Mutual Separation Plan : MSP) ซึ่งเปิดโอกาสให้พนักงานสมัครเข้าร่วมแผนนี้ตามความสมัครใจ ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์-31 มีนาคม 2542 ผลสรุป มีพนักงานใน เครือซิเมนต์ไทยทั้งหมด สมัครเข้าร่วมรับการพิจารณาได้รับอนุมัติทั้งสิ้น 1,020 ราย จากพนักงานที่มีสิทธิ์ประมาณ 20,000 คน โดยบริษัทฯ จะต้องจ่ายผลประโยชน์แก่พนักงาน รวมเป็นเงินประมาณ 1,300 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีผู้บริหารหลายคนที่ร่วมโครงการ อาทิ ทวี บุตรสุนทร รองผู้จัดการใหญ่ จัก-ราวุธ บัณฑุรัตน์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ อดิศร ประคุณหัวสิต ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ เป็นต้น

พินิต จบการศึกษาปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเดินทางไปศึกษาระดับปริญญาโทด้านการจัดการอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยโอคลาโฮมา และด้าน Advance Management Program มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พินิตกลับเมืองไทยในปี 2515 เข้ารับตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัทเอสโซ่แสตนดาร์ด จากนั้นในปี 2517 ย้ายมาทำงานที่บริษัท สยามคูโบต้าดีเซล ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาด ปี 2524 เข้าดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการในปูนซิเมนต์ ไทย ก่อนลาออกพินิตดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท สยามคูโบต้าอุตสาหกรรม

หลังจากถอดหมวกของปูนซิเมนต์แล้ว พินิตไม่ได้หางานใหม่ที่ไหนเลย แต่ด้วยความสามารถที่หาตัวจับยากคนหนึ่ง เนื่องจากสมัยที่อยู่สยามคูโบต้าอุตสาหกรรม เขาสามารถสร้างบริษัทให้เติบโตจนบริษัทแม่อย่างปูน ซิเมนต์ไทย ยังต้องมาขอกู้เงิน "ผมทำที่นั่นจนรวย" คือคำพูดของพินิต ดังนั้น ด้วยศักยภาพส่วนตัวย่อมเป็นที่หมายปองของบริษัทต่างๆ ทั้งข้ามชาติและท้องถิ่นที่พินิตไม่อยากเปิดเผย ต่างรุมจีบเพื่อให้เขาไปทำหน้าที่ผู้บริหาร แต่พินิตปฏิเสธ ยกเว้น บมจ.ผาแดงอินดัสทรี (PDI) บริษัทแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ดำเนินธุรกิจเหมืองแร่และถลุงโลหะสังกะสี

"คุณอาสา สารสิน เป็นคนชวนมาทำงานในผาแดงฯ ผมไม่ลังเลใจเลยที่จะเข้ามาทำงาน แต่ที่อื่นตัดสินใจนานและได้ปฏิเสธทุกแห่ง" พินิต กล่าวถึงบทเริ่มต้นก่อนที่จะเข้ามาเริ่มงานในผาแดงฯ โดยส่วนตัวแล้วเขาให้ความเคารพ นับถือ อาสา สารสิน (ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการของผาแดงฯ) อย่างมาก โดยพินิตเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการและประธานบริหาร ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2542

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่พินิตจะเข้ามาทำงานในผาแดงฯ ได้เกิดวิกฤติ การณ์ในผาแดงฯ เมื่อบริษัทเวสเทิร์น เมทัลส์ จำกัด เจ้าของเหมืองแร่สังกะสีในออสเตรเลีย ได้ขอถอนตัวจากการเป็นผู้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนของผาแดงฯ จำนวน 75 ล้านหุ้น จากทั้งหมด 81.6 ล้านหุ้น (ซื้อไปแล้ว 6.6 ล้านหุ้น) คิดเป็นประมาณ 36% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด เหตุผลที่เวสเทิร์นฯ ยกเลิกการซื้อหุ้นครั้งนี้เนื่อง จากผาแดงฯ ไม่สามารถตกลงเงื่อนไขใน สัญญาสำคัญในเรื่องการขอใบอนุญาตทำเหมืองแร่ ที่ อ.แม่สอดประมาณ 3 หมื่นไร่ ตามที่ทั้งสองตกลงกันไว้

เมื่อเวสเทิร์นฯ ถอนตัว ผู้บริหาร ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการและประ-ธานผู้บริหาร คือ เบร็ต โธมัส แลมเบิร์ท ที่เวสเทิร์นฯ ส่งเข้ามานั่งบริหารต้องว่างลงทันที

ด้วยเหตุผลดังกล่าว พินิตจึงได้เข้ามาบริหารในตำแหน่งที่ต้องรับผิดชอบ งานทั้งหมดในผาแดงฯ ซึ่งถือเป็นงานหนักที่พินิตต้องสะสางให้ได้ตามที่ผาแดงฯ ให้ความไว้วางใจ

"25 ปี ในปูนซิเมนต์ไทย แล้วก็เข้ามาทำงานในผาแดงฯ ผมมองว่าธุรกิจ ทั้งสองไม่มีความแตกต่างกัน คือ ไม่มีใต้ดินจึงทำงานได้ง่าย" พินิต กล่าว

ปัจจัยสำคัญอีกข้อ ที่พินิตตัด สินใจเลือกงานที่ผาแดงฯ คือ เป็นบริษัท คนไทยที่ค่อนข้างใหญ่และเคยมีผลประกอบการที่ดีในอดีต แล้วเกิดขาดทุนติดต่อกันหลายปี "นี่คือสิ่งที่ท้าทายผม มีคนพูดถึงผาแดงฯ ทั้งทางดีและไม่ดี คาดว่ามีปัจจัยอีกมากมายที่เข้ามาทำงานแล้วจะมีความสนุกสนาน"

สิ่งท้าทายที่ว่า คือ การตกที่นั่งลำบากของผาแดงฯ เนื่องจากในปี 2541 มีกระแสเงินสดไม่เพียงพอโดยมีหนี้สินหมุนเวียน 3,843.36 ล้านบาท ขณะที่สิน ทรัพย์หมุนเวียนมีเพียง 1,220.22 ล้านบาท อีกทั้ง บริษัทฯ มีภาระหนี้สินที่ต้องสะสางและกำลังปรับโครงสร้างหนี้ก้อนโตจำนวน 3,427 ล้านบาท

"หนี้ระยะสั้นจำนวน 1,142 ล้านบาท เดิมผาแดงฯ มีสัญญากับเจ้าหนี้ต้องชำระเป็นงวดๆ ในเดือนกุมภาพันธ์, มีนาคม และกรกฎาคมที่ผ่านมา เราได้แก้ไขสัญญาเป็นชำระครั้งเดียวในวันที่ 15 กันยายน 2543" พินิตบอก

แม้ว่าพินิตจะยืดเวลาการชำระหนี้เงินต้นออกไปได้สำเร็จ แต่ดอกเบี้ย ยังต้องชำระทุกเดือนประมาณ 7-8 ล้าน บาท โดยเม็ดเงินจำนวน 1,142 ล้านบาท เป็นบทพิสูจน์ความสามารถครั้งแรกของพินิต ด้วยวิธีการหาพันธมิตรรายใหม่เข้ามาเสียบแทนเวสเทิร์นฯ ให้ได้ก่อนวันสิ้นสุดการชำระหนี้

"ขณะนี้ได้เล็งนักลงทุนหลายๆ แห่งแต่ยังไม่เปิดเผย เชื่อว่าการยืดหนี้ได้สำเร็จจะทำให้ขั้นตอนการเจรจาหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ได้ง่ายขึ้นและทันเวลา ส่วนหนี้ที่เหลือประมาณ 2,285 ล้านบาท จะมาจาก cash flow ของบริษัท ซึ่งจะ จ่ายแบงก์ตามงวด มั่นใจว่าเราทำได้"

อย่างไรก็ดี สิ่งที่นักลงทุนรายใหม่จะพิจารณาก่อนที่จะเข้ามาเป็นพันธมิตรกับผาแดงฯ คือ การได้รับประทานบัตรทำเหมืองแร่ที่ อ.แม่สอด ดังนั้น นอกเหนือจากที่พินิตต้องใช้ความสามารถในการหาพันธมิตรแล้ว เขาจะต้องเร่งขอใบอนุญาตดังกล่าวจากกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงอุตสาหกรรมให้ได้ก่อน มิฉะนั้น งานที่พินิตตั้งใจไว้จะไม่บังเกิดผลตามที่วางแผน

เป้าหมายระยะยาวที่พินิตต้องดำเนินการ คือ ขจัดผลการดำเนินงานที่ขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2538-2540 ขาดทุนรวมทั้งสิ้น 3,128.47 ล้านบาท และในปี 2541 ขาดทุน 314.504 ล้านบาท "ผมวิเคราะห์ดูแล้วที่ผาแดงฯ ขาดทุนนั้น ไม่ได้มาจากการดำเนินงาน แต่เกิดจากการเพลี่ยงพล้ำในการขยายการลงทุนเกินตัว โดยเฉพาะในบริษัทผาแดง พุงซาน ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายทองเหลืองและเหรียญกษาปณ์ประมาณ 1,100 ล้านบาท รวมทั้งเสียหายจากการลดค่าเงินบาท ส่งผลให้ผาแดงฯ ย่ำแย่ที่สุด" พินิต กล่าว

เมื่อเป็นเช่นนี้ เป้าหมายของผาแดงฯ ภายใต้ผู้นำคนใหม่จึงต้องพยายาม ตัดธุรกิจที่ไม่เชี่ยวชาญออกให้หมด เพื่อไม่ให้เป็นภาระของบริษัทอีกต่อไป "ตอนนี้เราเดินหน้าด้วยธุรกิจโลหะสังกะสีอย่างเดียว แต่จะมุ่งไปข้างหน้าอย่างช้าๆ และรอบคอบกว่าอดีต ถ้าไม่มีเหตุการณ์อะไรที่เลวร้ายไปกว่านี้ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปเราอยู่ได้และสามารถมีกำไร พูดง่ายๆ เราจะเริ่มต้นใหม่หลังจากได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ"

ด้านแผนการลงทุน พินิตให้ความสำคัญการสำรวจแหล่งแร่โลหะสังกะสี แม้ว่าจะต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมากก็ตาม "เพื่ออนาคตของผาแดงฯ เรา จำเป็นต้องทุ่มสุดตัว" และโครงการหลัก จะอยู่ที่การสร้างโรงลอยแร่ (Flotating Plant) ที่ อ.แม่สอด ซึ่งต้องใช้เงินประมาณ 100 ล้านบาท

"ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน" พินิต วงศ์มาศา จะทำสำเร็จหรือไม่? คงต้องรอดูกันต่อไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.