วอลโว่ เมื่อความลงตัวแปลว่าเจ้าบัลลังก์


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

ความลงตัวของ "วอลโว่" เกิดขึ้นแล้ว และนับจากวินาทีนี้ การทวงถามจะเริ่มต้นขึ้น

ภาพลักษณ์ของรถยนต์วอลโว่ ในประเทศไทย ลดความโดดเด่นลงทันทีเมื่อเปิดเสรีนำเข้ารถยนต์ ความเป็นเจ้าตลาดรถยนต์นั่งระดับหรูหราของไทยห่างหายไป ปล่อยให้บีเอ็มดับ เบิลยูกับเมอร์เซเดส-เบนซ์ เร่งหนีออกไป

บทสรุปกว่า 7 ปีที่ผ่านมา

แต่เมื่อความลงตัวเกิดขึ้น สิ่งที่ขาดหายไป คงกลับคืนมาได้ไม่ยาก

17 สิงหาคมที่ผ่านมา บริษัท วอลโว่ คาร์ (ประเทศไทย) ได้จัดงานแถลงข่าวเกี่ยวกับแผนการฟื้นฟูกิจการของบริษัท สวีเดนมอเตอร์ส จำกัด (มหาชน)

หัวข้อหลักบ่งชี้ชัดเจน "กระบวน การฟื้นฟูกิจการ คือ อีกก้าว สู่เป้าหมายของแบรนด์วอลโว่ ในเมืองไทย"

การอนุมัติแผนฟื้นฟู ภายใต้การ เกื้อหนุนอย่างเต็มที่ของวอลโว่ คาร์ ที่มี ต่อสวีเดนมอเตอร์ส ได้ทำให้บรรยากาศ การเป็นคู่ค้าของทั้งสอง ชื่นมื่น หายข้อกังขา อันจะส่งผลดีต่อตลาดรถยนต์วอลโว่ในไทย อย่างไม่ต้องสงสัย

แม้ว่า นับจากที่วอลโว่ คาร์ ได้เข้ามาคุมกิจการวอลโว่ในไทย ในราว 1 ปี ภาพลักษณ์และกิจกรรมของวอลโว่ไม่ได้โดดเด่นหรือพลิกฟื้นทันที ซึ่งเข้าใจได้ว่าเป็นปกติวิสัยของช่วงรอยต่อการ ปรับองค์กร

นอกจากนี้ในตัวของวอลโว่ คาร์ แห่งสวีเดนเองก็ยังมีการปรับเปลี่ยนโครง สร้างครั้งใหญ่ด้วยเช่นกัน กล่าวคือ ในส่วนกิจการของวอลโว่ รถยนต์นั่งได้ถูกฟอร์ดแห่งอเมริกาซื้อกิจการไป ดังนั้น นโยบายเกี่ยวกับภารกิจในไทย จึงต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับแผนงานระดับเครือข่ายของกลุ่มฟอร์ดในไทยด้วยเช่นกัน

แต่นับจากนี้ หลังจากการแถลง ข่าวอย่างเป็นทางการครั้งแรก ภายใต้เงาของความเป็น "กลุ่มฟอร์ด" ได้แสดง ให้เห็นว่า วอลโว่ นั้นพร้อมแล้ว

แอนเดอร์ส ลอฟเกรน กรรม การผู้จัดการ ของ วอลโว่ คาร์(ประ-เทศไทย) กล่าวว่า ในขั้นตอนแรกนี้ วอลโว่ คาร์ได้ใช้เงินลงทุน 1,000 ล้านบาทเพื่อพัฒนาและปรับโครงสร้างธุรกิจรถยนต์วอลโว่ในประเทศไทย

โดยเงินทุนจำนวน 260 ล้านบาท ได้ถูกอัดฉีดเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างการดำเนินการและฟื้นฟูกิจการของ สวีเดนมอเตอร์ส

อีก 497 ล้านบาท เพื่อซื้อสินทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้ในธุรกิจหลักของสวีเดน มอเตอร์ส เช่น อาคารที่ดิน โรงงานประกอบรถยนต์ ไทยสวีดิชแอสเซมบลีย์ และผลประโยชน์ของสวีเดนมอ- เตอร์สในโรงงานแห่งนี้ รวมถึงคลังอะไหล่ของสวีเดนมอเตอร์สด้วย

ส่วนที่เหลือนั้น วอลโว่ คาร์ได้เตรียมไว้เพื่อการขยายและปรับปรุงเครือ ข่ายของวอลโว่ ในต่างจังหวัด ซึ่งนับจากนี้ วอลโว่ คาร์ จะเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบการดำเนินการวอลโว่ในไทยโดยตรง ทั้งภาคการตลาด การผลิต การบริการ โดยลดบทบาท สวีเดนมอ- เตอร์ส เหลือเพียงผู้แทนจำหน่ายและให้บริการในเขตกรุงเทพฯ และปริมณ- ฑล เท่านั้น

แอนเดอร์ส ย้ำว่า ในส่วนของโรงงานประกอบนั้น วอลโว่ คาร์ จะเข้า ไปพัฒนา ลงทุนเพิ่มเพื่อให้โรงงานแห่ง นี้มีสายการผลิตที่ครบวงจรสำหรับรถหนึ่งรุ่นในไทย ซึ่งแผนงานนี้ได้ครอบ คลุมถึงการผลิตวอลโว่ S80 ตัวใหม่ที่คาดว่าจะทำการผลิตในไทยในราวเดือน พฤศจิกายนนี้

นอกจาก S80 แล้ว วอลโว่ คาร์ ยังได้เปิดทำการผลิตรุ่นอื่นๆ อีก อาทิการผลิต S/V 70 ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และ S/V40 ที่จะผลิตใน เดือน ตุลาคมนี้ การเริ่มต้นผลิตรถยนต์อีกครั้งหนึ่งหของ ไทยสวีดิชแอสเซมบลีย์ ภายใต้ความดูแลของวอลโว่ คาร์โดยตรง นั้นแม้ดูจะธรรมดา ไม่มีอะไรพิเศษ

แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ผู้บริหารวอลโว่คาร์ ได้ชี้ว่า การที่โรงงานสามารถเปิดสายการผลิตได้ตามปกติอีกครั้ง หลังจากเกิดวิกฤตเมื่อกลางปี 2540 นั้น แม้ดูว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าดูในบางแง่มุม นี่ถือว่าไม่ธรรมดา

"เราเป็นรายแรกที่กลับมาผลิตได้ ตามปกติอีกครั้ง ในขณะที่ค่ายรถยนต์หรูอื่นๆ ยังไม่เรียบร้อย นี่อาจจะเป็นจุด พลิกผันอีกครั้งก็ได้ หลังจากที่เราเคย เพลี่ยงพล้ำเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งเรามั่นใจว่า ความพร้อมที่มีอยู่จะทำให้เราอยู่ในสถานการณ์ที่ได้เปรียบคู่แข่ง"

นอกจากความพร้อมในการผลิต ความลงตัวของบทบาท และแผนฟื้นฟูกิจการของคู่ค้าแล้ว วอลโว่ คาร์ ยังเตรียมพัฒนาในรายละเอียดของงานบริการที่จะมีให้กับลูกค้าวอลโว่ในไทยด้วย

เช่น การนำระบบ VADIS ซึ่งเป็นระบบการวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญ-หาเครื่องยนต์ ด้วยโปรแกรมคอมพิว เตอร์ เข้ามาใช้

ระบบ VADIS ของวอลโว่จะช่วยทำให้การระบุถึงสาเหตุของปัญหาเครื่องยนต์มีความถูกต้องแม่นยำขึ้น ช่วยลดเวลาการซ่อมให้น้อยลง

นอกจากนี้ วอลโว่ คาร์ จะยกฐานะของศูนย์บริการอะไหล่วอลโว่ในไทย ขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์บริการอะไหล่รถยนต์วอลโว่ทั่วโลก อันจะทำ ให้การบริการครอบคลุมรถยนต์วอลโว่ได้ทุกรุ่น ไม่เฉพาะที่มีจำหน่ายในไทย ซึ่งส่วนนี้นำไปสู่ความหลากหลาย ของรุ่นรถยนต์ ในภาคบริการ

อีกประการหนึ่งที่อยู่ในแผน และ มีความสำคัญในการพลิกฟื้นสถานการณ์ ตลาดรถยนต์วอลโว่ในไทย ก็คือ การบริการที่รวบยอด ครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำประกัน จัดไฟแนนซ์ ลีสซิ่ง หรือแม้แต่การแลกเปลี่ยนรถยนต์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า ในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการซื้อขายรถยนต์วอลโว่

สำหรับตลาดรถยนต์วอลโว่ในไทยนั้น วอลโว่ คาร์ คาดว่าภายในปีนี้จะจำหน่ายได้ราว 1,000 คัน หรือคิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 25% ของตลาดรถยนต์หรูหราในไทย ซึ่งคาดการณ์นี้ไม่น่าจะถึงเป้าเนื่องจากครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ยอดจำหน่ายวอลโว่มีอยู่ทั้งสิ้น 485 คัน

การแถลงข่าวครั้งนี้ วอลโว่คาร์ ไม่ได้ประกาศถึงเป้าหมายที่จะกลับมาครองความเป็นผู้นำตลาดรถยนต์นั่งระดับหรูหราในไทยอีกครั้ง

แต่บังเอิญที่ว่า ผู้บริหารของฟอร์ด กลับคิด และก็มีสิทธิ์เป็นไปได้

บรรยากาศที่ตื่นเต้น เร้าใจ กำลัง จะกลับมาเยือนตลาดรถยนต์หรูหราของไทย อีกครั้ง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.