เกิดอะไรขึ้นกับตรีเพชรอีซูซุเซลส์


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อปี 2540 เนื่องจาก ความอ่อนแอของตัวแทนจำหน่าย ในอดีตบริษัทข้ามชาติเลือกที่จะมอบหมาย ความรับผิดชอบการทำตลาดของตนไว้กับตัวแทนจำหน่ายท้องถิ่น เพราะมองเห็นความเชี่ยวชาญเข้าถึงลูกค้าได้ดีกว่า ที่สำคัญเพื่อลดความเสี่ยงกระทั่งเกิดวิกฤตการเงิน ทำให้กำลังซื้อรถยนต์ลดฮวบฮาบ ส่งผลถึงการขาดทุนครั้งมโห-ฬารของบริษัทรถยนต์ บางรายทนไม่ได้ถึงกับล้มละลาย ส่วนผู้ที่รอดกลับถูกค้นพบจากบริษัทข้ามชาติว่าไม่มีความแข็งแรงพอหรือไม่สามารถรักษามาตร ฐานการตลาดและบริการในระดับที่ยอมรับอีกต่อไปได้

บริษัทตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด (TPIS) กำลังได้รับการเปลี่ยนแปลงซึ่งหนีไม่พ้นการได้รับความอุ้มชูจากบริษัทแม่ คือ บริษัทมิตซูบิชิคอร์ปอเรชั่น จำกัด ถือหุ้นใน TPIS 20% ด้วยการปล่อยเงินกู้จำนวน 6 พันล้านบาทในรูปแบบของการเพิ่มทุนชั่วคราว เมื่อเดือนตุลาคม 2541 ตามคำขอร้องของ TPIS การสนับสนุนจากบริษัทอีซูซุมอเตอร์ แห่งญี่ปุ่นและผู้ถือหุ้นคนไทย เพื่อลดภาระดอกเบี้ยของบริษัท

ตัวเลขเงินกู้ดังกล่าว มีน้ำหนักเพียงพอที่จะทำให้มิตซูบิชิฯ เข้ามายึดกิจการ (take over) TPIS ได้อย่างสบาย แม้ว่าจะเป็นการเพิ่มทุนชั่วคราวเท่านั้น โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 23 ส.ค.42 เนชั่น พาดหัวข่าว "Mitsubishi take over TPIS" ส่งผลให้โกโร่ ชินตานิ กรรมการผู้จัดการ TPIS ต้องเรียกผู้บริหารระดับสูงประชุมด่วน เพื่อเคลียร์ข้อสงสัย "ไม่ใช่การแปลงหนี้เป็นหุ้น แต่เป็นการเพิ่มทุนจากการขอร้องของเรา"

เขาอธิบายถึงการเข้ามาช่วยเหลือ ของมิตซูบิชิฯ ว่าเป็นการแบ่งภาระทางด้านการเงิน อีกทั้งจะไม่มีการทำสัญญา ใดๆ ถึงการซื้อหุ้นคืนจากมิตซูบิชิฯ ในอนาคต "นี่คือนโยบายการลงทุนของ มิตซูบิชิฯ"

การเข้ามาครั้งนี้ของมิตซูบิชิฯ ไม่ เป็นที่ประหลาดใจ แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น ในอนาคต ซึ่งหลังจาก TPIS ได้เงินก้อนโตเข้ามาแล้ว ก็มีแถลงการณ์ออกมา "เนื่องจากการขยายตลาดในอนาคตและ สถานะการเงิน บริษัทพร้อมที่จะศึกษาใน การแปลงหนี้เป็นหุ้นเมื่อถึงคราวจำเป็น"

ดังนั้น ถ้ามีการแปลงหนี้เป็นหุ้นของมิตซูบิชิฯ จะส่งผลกระทบอย่างมาก ต่อผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ใน TPIS โดยเฉพาะ ผู้ถือหุ้นที่เป็นคนไทย เช่น ตระกูลบุญสูง 18%, สารสิน 6%, ชันซื่อ 6% และราชสกุลกฤดากร 1% รวมทั้ง บล.บี.ที. เอ็ม. (ประเทศไทย) 5% และอีซูซุมอเตอร์ แห่งญี่ปุ่น 19% นอกจากนี้ มิตซูบิชิฯ ยังได้ลงทุนด้วยการเข้าไปถือหุ้นใน บริษัทมิตซูบิชิ ประเทศไทย จำกัดและ บริษัทไทยเอ็มซี จำกัด โดยทั้งสองยังถือหุ้นรวมกันใน TPIS จำนวน 25%

แม้ว่า โกโร่ ชินตานิ จะยืนยันว่า ถ้ามีการเพิ่มทุนในอนาคตจะมีผลกระทบ เพียงน้อยนิดต่อผู้ถือหุ้นสำหรับการเปลี่ยนแปลงในสัดส่วนของหุ้น แต่ปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันดีถึงบทบาทผู้ถือหุ้นคนไทยใน TPIS ว่ามีน้อยมาก เพราะ อำนาจการบริหารจะตกอยู่ในมือของญี่ปุ่นทั้งหมด ซึ่งเป็นไปได้ที่การเปลี่ยน แปลงครั้งนี้ของ TPIS จะเดินตามหลังบริษัทรถยนต์รายอื่นๆ ที่โดนบริษัท แม่เข้ามายึดคืนไปเกือบหมดแล้ว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.