สหกรณ์ออมทรัพย์ ธนาคารของชนชั้นกลาง


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อก่อนเชื่อว่า หากเอ่ยถึง "สหกรณ์ออมทรัพย์" คนทั่วไปน้อยมากที่จะรู้จักว่า คืออะไร

และเชื่อว่า ส่วนใหญ่ต่างนึกถึงสหกรณ์ที่ดำเนินงานด้านการเกษตร หรือเกี่ยวพันกับเกษตรกรเป็นสำคัญ มากกว่าที่จะอยู่ใกล้ชิดกับชนชั้นกลาง และชนชั้นล่างของประเทศแบบที่เรียกว่าเป็นเหมือนเพื่อนที่รู้ใจยามยากเลยก็ว่าได้

จนกระทั่ง จู่ๆ เมื่อราวกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา ข่าวผู้บริหารสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่โกงเงิน 300 ล้านบาท...ปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์ ตลอดจนสื่อต่างๆ อย่างครึกโครมต่อเนื่อง เพราะกรณีที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ถือได้ว่า เป็นการโกงเงินในสหกรณ์ออมทรัพย์ครั้งใหญ่ที่สุด ในประวัติศาสตร์ของการจัดตั้งระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ขึ้นในประเทศไทย

หลังจากนั้นเป็นต้นมา ภาพของระบบสหกรณ์ออมทรัพย์เริ่มชัดเจนขึ้นและเปิดให้คนทั่วไปสนใจใคร่จะรู้ว่า "สหกรณ์" คือ อะไร ทำไมถึงเกี่ยวพันกับสถาบันอุดมศึกษาชั้นแนวหน้าของประเทศ มีบทบาทขนาดไหนในสังคม และทำไมถึงมีเงินจำนวนมากมาย จนเกิดการโกงเงินมูลค่ามหาศาลขนาดนั้น

ผ่าสหกรณ์มช.

สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัย เชียงใหม่จำกัด(สหกรณ์ฯ มช.)ถือเป็นสหกรณ์ฯ ขนาดใหญ่ ที่มีขนาดของสินทรัพย์หมุน เวียน ณ สิ้นปี 2541 จำนวน 1,946,838,540.92 บาท

มียอดเงินรับฝากจากสมาชิก 7,465 คน จำนวน 1,226,162,388.68 บาท และมีทุนเรือนหุ้น 539,220,220 บาท

รวมแล้วสหกรณ์ฯ มีต้นยอดเงินที่สามารถบริหารได้ทันทีกว่า 1.7 พันล้านบาท

ขณะที่มียอดเงินปล่อยกู้แก่สมาชิก 865,006,183.01 บาท

ปล่อยกู้ให้กับสหกรณ์อื่นๆ จำนวน 524,279,850.25 บาท

รวมแล้วถือว่า สัดส่วนของเงินฝากกับสินเชื่อปล่อยกู้อยู่ในอัตราเท่าๆ กันคือ 1.2 พันล้าน ต่อ 1.3 พันล้านบาท ในทางการบริหารการเงินโดยทั่วไปถือว่าเป็นอัตราที่เหมาะสม

นับว่าสหกรณ์ฯ แห่งนี้มั่นคงอย่างยิ่ง หากมองว่า เงินปล่อยกู้แก่สมาชิกส่วนใหญ่ที่เป็นลูกจ้างและข้าราชการในมช. มีอัตราส่วนหนี้สูญน้อยมาก เพราะจะมีการหักเงินเดือนเข้าสหกรณ์ฯ ทุกเดือนไปตามระบบของสหกรณ์

โดยจะมีความเสี่ยงประการเดียว ก็คือ จากการบริหารผิดพลาด เช่น นำเงินไปลงทุนด้วยความเสี่ยง หรือ มีช่องโหว่ในการรั่วไหล รวมถึงการปล่อยกู้แก่สถาบันอื่นๆ โดยขาดหลักค้ำประกัน

..........แต่ที่ผ่านมาสหกรณ์ฯแห่งนี้ ยังไม่เคยเกิดเหตุการณ์หนี้สูญ หรือมีการรั่วไหลใดๆ ที่ร้ายแรง และสร้างความสั่นคลอนในการบริหารงานเลย..........

ในส่วนของเงินสดของสหกรณ์ฯ มช. มีระบุในงบกระแสเงินสด ณ สิ้นปี 2541 ว่า สหกรณ์ฯ มีเงินสดและเงินฝากธนาคารทั้งสิ้น 366,093,737.74 บาท

ส่วนใหญ่เป็นเงินฝากประจำ คือ ประมาณ 341 ล้านบาท ทั้งนี้ก็เป็นความ จำเป็นปกติในการบริหารเงินเพื่อให้มีกำไรเข้ามา

นอกจากนั้น ยังมีเงินฝากประจำ กับชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด อีก 105 ล้านบาท ที่ครบกำหนดในเดือนมีนาคม 2542 อีก ก้อนหนึ่ง

โดยเงินสดที่ผู้บริหารของสห-กรณ์ฯ มช.บริหาร เพื่อหมุนเวียนในระบบมีสูงถึงกว่า 470 ล้านบาท !

จุดนี้นี่เอง........ที่เป็นเหตุจูงใจทำให้เกิดปัญหาในสหกรณ์ฯ มช. จนฉาวโฉ่ไปทั่วประเทศ

ความจริง เรื่องราวในสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นที่จับตามองของบุคคลทั่วไปที่อยู่ในวงการสหกรณ์ และข้าราชการ-เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ เมื่อผศ.บุญส่ง วิญญา อาจารย์ประจำภาควิชาชีวะเคมี คณะแพทยศาสตร์ ได้รับเลือกเป็นประธานกรรมการดำเนินงานสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชุดที่ 24 โดยได้เสียงสนับสนุนจากกรรมการดำเนินงานไม่น้อยกว่า 16 เสียงจาก 23 เสียง ท่ามกลางเสียงครหาจากฝ่ายตรงข้ามว่าต้องใช้การล็อบบี้ แบบใช้ความสนิทสนมที่ร้านอาหารเพื่อขอเสียง จึงได้เข้ามานั่งในตำแหน่งประธานกรรมการฯ

ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่จะได้รับเลือกเป็นประธานฯ ผศ.บุญส่ง มีบทบาทสำคัญมาแล้วในคณะกรรมการชุดก่อน โดยเป็นรองประธานกรรมการ ในคณะ กรรมการชุดที่ 23 และยังเป็นกรรมการในคณะกรรมการอำนวยการหรือ "บอร์ด เล็ก" ชุดดังกล่าวก่อนที่จะก้าวขึ้นเป็นประธานอย่างเต็มตัว

สำหรับตำแหน่งประธานกรรม การชุดที่ 24 นี้ ผศ.บุญส่ง วิญญา ยังได้เป็นกรรมการในคณะกรรมการอำนวย การ ของสหกรณ์ฯ มช. อีกตำแหน่งอีกด้วยไม่เพียงเท่านั้น ผศ.บุญส่ง ยังเล่นการเมืองควบคู่กันไปโดยเตรียมจะลงเลือกตั้งส.ส. พรรคไทยรักไทยในเขตจังหวัดตาก อีกด้วย

ประเด็นที่กล่าวต่อไป เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการอำนวยการ ซึ่งมีกรรมการ 4 คน โดยมีความสำคัญมาก ที่จะบริหารรายได้และเม็ดเงินทุกอย่างของสหกรณ์ฯ ขณะที่กรรมการชุดใหญ่ 23 คน เป็นแค่ "บอร์ดใหญ่" ที่กำกับนโยบายอย่างกว้างๆ

คณะกรรมการอำนวยการนี้เอง ที่ทำให้เกิดเรื่องราวทุจริตขึ้นในรั้วสถาบัน วิชาการระดับภาคแห่งนี้

โดยขณะนั้นสถานการณ์ของสหกรณ์ฯ มช. อยู่ในภาวะที่เงินค่อนข้าง จะล้นระบบมาก เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดทยอยลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และเงินกู้ ตามสภาวะเศรษฐ กิจที่ตกต่ำ คนนิยมการออมเงินมากกว่า การจับจ่ายใช้สอย นอกจากนั้นการขอกู้เงินเพื่อการต่างๆ ก็มีแนวโน้มลดลง

ภาวะดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำมาก ของระบบธนาคารพาณิชย์นั่นเอง จึงทำให้ไม่เพียงพอกับดอกเบี้ยที่สหกรณ์ฯ ต้องจ่ายให้กับเงินฝากของสมาชิก

นอกจากดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ลดต่ำมาก จนไม่คุ้มกับการนำเงินเข้าไปฝาก ข้อกำหนดในพระราชบัญญัติสหกรณ์ออมทรัพย์ พ.ศ. 2511 ก็ระบุเพียงให้ ฝากเงินกับธนาคาร พาณิชย์ ชุมนุมสหกรณ์ฯ ปล่อยกู้ เท่า นั้นทำให้ผู้บริหารเห็นช่องการเพิ่มมูลค่าเงิน และเข้าหาผลประโยชน์ในการนำเงินของสหกรณ์ฯ มาลงทุนในตั๋วสัญญา ใช้เงิน NCD ซึ่งจะให้ผลตอบแทนสูงในขณะนั้น

เหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน เมื่อ ผศ. บุญส่ง ได้แจ้งต่อ กรรมการอำนวยการ หรือ บอร์ดชุดเล็ก ซึ่งประกอบมาจากรองประธานกรรมการ, เหรัญญิก และเลขานุการ รวมทั้ง ผู้จัดการของสหกรณ์ฯ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ประจำว่า มีนโยบายจะบริหารต้นเงินให้เกิดกำไรสูงสุด

และยังเชิญบุคคลที่อ้างว่าเป็นตัวแทนจากธนาคารแห่งหนึ่งมาอธิบายต่อกรรมการว่า ตั๋วสัญญาใช้เงิน NCD หรือ ตั๋วเงินฝากกำหนดระยะเวลา ซึ่งมีเงื่อนไขที่ผู้ซื้อสามารถสลักหลังโอนต่อได้ทันที

จะด้วยสาเหตุใดก็ตาม กรรม การอำนวยการเห็นชอบในแนวทางการ โยกเงินฝากประจำไปเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน ด้วยเล็งเห็นว่าจะได้ผลตอบแทนสูง

สถานะของสหกรณ์ฯ มช. ณ เวลานั้นมีปัญหาเพียงประการเดียว ก็คือ ความสามารถในการทำกำไรลดลง ขณะที่เป้าหมายของกรรมการดำเนินการต้องการจะปันผลเงินตอบแทนต่อหุ้นให้กับผู้ถือหุ้นนั้น ตกที่ 6-7% ดังนั้น ปัญหาเรื่องการบริหารต้นทุนเงินฝาก จึงกลายเป็นปมที่ผู้บริหารต้องเร่งแก้ จนนำมาซึ่งความผิดพลาดในเวลาต่อมา

ทั้งๆ ที่ความเป็นจริง หากฝ่ายบริหารไม่ตั้งเป้าจะจ่ายเงินปันผลในอัตรา สูงๆ โดยอ้างถึงสภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และหาเงินดอกเบี้ยจากเงินฝากในกระบวนการทั่วๆ ไปที่ไม่มีความเสี่ยง สหกรณ์ฯ แห่งนี้ยังสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น

กล่าวคือ ในบรรดาสมาชิกเกือบ 800 รายนั้น เกือบ 80% ที่มีหนี้สินกับสหกรณ์และจำเป็นต้องหักเงินจากเงินเดือนเข้าสหกรณ์ฯ ทุกเดือนอยู่แล้ว

ขณะที่มีสมาชิกเพียงส่วนน้อยที่มีเงินฝาก และสมาชิกส่วนนี้เองที่ระดม ถอนอย่างเป็นการใหญ่ร่วม 600 ล้านบาท ชั่วเวลาเพียง 3-4 วันหลังจากเกิดเหตุการจับกุมประธานสหกรณ์ฯ ในคดียักยอกทรัพย์.....

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสหกรณ์ฯ มช. แม้วันนี้ยังไม่ชัดเจนนักว่า ผู้บริหาร ตั้งใจโกงเงิน หรือกระทำไปด้วยความหวังดีที่ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเงินที่ตัวเองนั่งบริหารอยู่ หรือเพื่อหาผลประโยชน์ที่จะได้รับเป็นค่าตอบแทนในการซื้อตั๋ว NCD ก็ตาม แต่เรื่องนี้ ทำให้คนทั่วไปอดสงสัยไม่ได้ว่า ในระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ของไทยทั้งระบบ มีเงินเวลานี้เท่าไหร่กันแน่ เพราะแค่สหกรณ์เดียว สมาชิกจำนวนไม่มากนัก มีสินทรัพย์รวมเงินสดหลายพันล้านบาทแล้ว ทั้งหมดมีเท่าไหร่???

ย้อนรอยสหกรณ์

"สหกรณ์" ถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อ 81 ปีที่แล้ว โดยแห่งแรก คือ สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้ จังหวัดพิษณุโลก จดทะเบียนเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2459 และขยายตัวอย่างรวดเร็วจนกระทั่งปัจจุบัน (ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2541) มีจำนวนทั้งสิ้นถึง 4,689 แห่ง แบ่งเป็น 6 ประเภท ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2511 คือ สหกรณ์ การเกษตร สหกรณ์ประมง สหกรณ์นิคม สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์บริการ และสหกรณ์ออมทรัพย์ โดยมีสมาชิกรวมกัน 6,747,853 ล้านคน ทุนดำเนินงาน 327,143.01 ล้านบาท

โดยหลักการจัดตั้งสหกรณ์ ก็เพื่อให้เป็นองค์กรในการให้สมาชิกร่วมกันดำเนินธุรกิจรับฝาก ให้กู้เงิน จัดหาสินค้ามาจำหน่าย รวบรวมผลผลิตและ ให้บริการอื่นๆ ตามประเภท เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน และยกระดับความเป็นอยู่ของสมาชิก

อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของสหกรณ์มากมาย จากข้อมูลของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า การดำเนินงานส่วนใหญ่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก และสหกรณ์ส่วนใหญ่ค่อนข้างด้อยประสิทธิภาพในการดำเนินงาน...

..... มีเพียงสหกรณ์ออมทรัพย์เท่านั้น ซึ่งภายหลังจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ สหกรณ์พ.ศ.2511 จนถึงปัจจุบัน มีผลการดำเนินงานดีที่สุดจากสหกรณ์ 6 ประเภท เป็นที่เชิดหน้าชูตากรมส่งเสริม สหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มากที่สุด

บทบาทของสหกรณ์ออมทรัพย์ ในฐานะที่เป็นสถาบันการเงินนั้น ตั้งแต่เริ่มจัดตั้งอย่างเป็นทางการ พบว่า มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและ พัฒนาการบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิ ภาพมากที่สุด ซึ่งข้อมูลจากงานวิเคราะห์ และรายงานสถิติ ศูนย์สารสนเทศ กองวิชาการและแผนงาน กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2541 ระบุว่าปัจจุบันสหกรณ์ออมทรัพย์ทั่วประเทศมีจำนวนมากถึง 1,160 สหกรณ์ จำนวนสมาชิกสูงถึง 2,037,146 ราย ทุนเรือนหุ้น 118,124.29 ล้านบาท รับฝากเงิน 87,599.13 ล้านบาท ยอดเงินกู้ 226,224.33 ล้านบาท และมีผลการดำเนินงานกำไรสุทธิ 19,736.84 ล้านบาท จำนวนสมาชิกสูงถึง 2,037,146 ราย ทุน เรือนหุ้น 118,124.29 ล้านบาท

โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2540 ที่มีอยู่เพียง 1,099 สหกรณ์ จำนวนสมาชิก 1,915,281 ราย ทุนเรือนหุ้น 100,200.21 ล้านบาท การรับฝากเงิน 75,183.63 ล้านบาท ยอดกู้ 195,565.19 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 16,490.92 ล้านบาท (ดูตาราง ผลการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์ประกอบ)

อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นใหม่ของสหกรณ์ออมทรัพย์ พบว่า ส่วนใหญ่มีการจัดตั้งอยู่ในกลุ่มเกษตรกร ที่มีทุนดำเนินงานไม่มากนัก ทั้งนี้เนื่องจาก หน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล และรัฐวิสาหกิจทั่วไป โดยรวมของประเทศ ส่วนใหญ่พนักงานมีการรวมกันจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ภายในหน่วยงานทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้กลุ่มธนาคารพาณิชย์ระดับหัวแถว และธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย

สาเหตุเนื่องมาจากการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ สมาชิกส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่มีรายได้ประจำในอาชีพเดียวกัน หรือมีถิ่นใกล้เคียง ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ ส่งเสริมการออม ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทางด้านการเงิน สำหรับสมาชิกที่มีเงินออม และต้องการเงินกู้

โดยสหกรณ์ออมทรัพย์ เป็นสถาบันการเงินที่ส่งเสริมให้บุคคลที่เป็นสมาชิกรู้จักการประหยัด รู้จักการออมทรัพย์ และสามารถบริการเงินกู้ให้แก่สมาชิก เพื่อนำไปใช้จ่ายในคราวจำเป็น ได้ ถือได้ว่าเป็นธนาคารของชนชั้นกลาง-ล่าง-อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ การออมทรัพย์แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ การออมโดยการถือหุ้น กำหนดให้สมาชิกส่งชำระค่าหุ้นประจำทุกเดือน และจ่ายเงินปันผลค่าหุ้นให้แก่สมาชิกตามอัตราที่กฎหมายสหกรณ์กำหนด และส่งเสริมการออมด้วยการรับฝากเงิน ซึ่งมีทั้งฝากประจำ ออมทรัพย์ และออมทรัพย์พิเศษ โดยให้ดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทน ในอัตราเดียวหรือสูงกว่าธนาคารพาณิชย์

ส่วนการให้กู้นั้น สหกรณ์จะนำเงินค่าหุ้นและเงินฝากของสมาชิกมาใช้หมุนเวียนให้สมาชิกกู้เมื่อถึงคราวจำเป็น โดยคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเงินกู้ของภาคเอกชน การให้กู้จะแบ่งออกเป็น เงินกู้ฉุกเฉิน เงินกู้สามัญ และเงินกู้พิเศษ

นอกจากนี้ยังจัดหาแหล่งทุนจาก ภายนอก โดยการกู้ยืมตามความเหมาะสม และจัดสวัสดิการต่างๆ ให้แก่สมาชิกและสังคม เช่น ทุนการศึกษา ทุนสาธารณประโยชน์ และกระทำการต่างๆ ตามที่กฎหมายว่าด้วยสหกรณ์กำหนด

การดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ผ่านมา มีตัวเลขการเติบโตที่ดี มีผลกำไรดี และมีเงินปันผลปลายปีต่อหุ้นจำนวนมากให้กับสมาชิก

ผิดกับช่วงเวลานี้ ที่ผู้บริหารทุกสหกรณ์ออมทรัพย์ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับการบริหารเงินของสมาชิก เพราะเมื่อธนาคารพาณิชย์มีสภาพคล่อง ล้นระบบ ธนาคารพาณิชย์พากันลดดอกเบี้ยเงินฝากเพื่อลดภาระต้นทุนการดำเนินงาน ที่มีแต่จะฝากแต่ไม่ถอนไม่กู้ ตั้งแต่กลางปี 2541 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันทั้งฝากประจำและออมทรัพย์เหลือประมาณไม่เกินร้อยละ 4 และมีแนวโน้มจะลดลงอย่างไม่หยุดยั้ง

จุดนี้ทำให้ช่วงตั้งแต่ปลายปี 2541-ต้นปี 2542 เงินไหลเข้าสู่สหกรณ์ออมทรัพย์จำนวนมาก ถึง 50,000 กว่าล้านบาท สร้างภาระอย่างใหญ่หลวง ให้กับผู้บริหารสหกรณ์ออมทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่ ที่มีเงินสดอยู่ในมือจำนวนมาก หรือที่เรียกว่า กลุ่มสหกรณ์เสถียรภาพ ประกอบด้วย สหกรณ์ขนาดใหญ่ คือ สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ มหิดล การบินไทย มหาวิทยาลัยเกษตร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การ ประปานครหลวง กรมชลประทาน การไฟฟ้านครหลวง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ซึ่งน่าสนใจว่า... วิกฤตหนักแบบนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์บริหารงานกันอย่างไร จึงจะไปรอด และยังคงเป็นที่พึ่งของคนทำงานตั้งแต่ระดับกลาง-ล่างได้ต่อไป ....

จุฬาฯ ยังมั่นใจระบบธนาคาร

สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด ถือได้ว่าเป็นสหกรณ์ขนาดใหญ่ ที่มีอัตราการเติบโตสูงมากโดยช่วงปี 2540 สหกรณ์ออมทรัพย์ จุฬาฯ มีทรัพย์สินไม่ถึง 7,800 ล้านบาทมาถึงปี 2541 กลับเพิ่มมากถึง 11,500 ล้านบาท โดยจนถึงวันที่ 7 มิถุนายน 2542 จากเมื่อสิ้นปีมีเงินเพียง 8,651 ล้านบาท เงินฝากเพิ่มประมาณ 650 ล้านบาท ส่วนหุ้นเข้ามาราว 510 ล้าน โดยเฉลี่ยเงินไหลเข้าสู่การออมในสหกรณ์ฯ มากถึงเดือนละ 220 ล้านบาท (เงินฝากประมาณ 120 บวกกับเงินหุ้น 100 ล้าน) 220 คูณ 12 เดือน คาดว่าจนถึงสิ้นปี น่าจะมีเงินไหลเข้ามาอีก 2,600 ล้านบาท และสหกรณ์ฯ จะมีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 14,000 ล้านบาท จากเดิมที่มีเพียง 11,500 ล้านบาท

โดยรองศาสตราจารย์ ดร.สวัสดิ์ แสงบางปลา ประธานกรรมการดำเนินการ สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด อดีตประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย บอกว่า ปัจจุบันสภาพการเงินของสหกรณ์ฯ สวนทางกับช่วงเดียว กันของปีก่อนมาก โดยปีที่แล้วขาดสภาพคล่องอย่างหนัก เนื่องจากไม่มีการกู้ ไม่มีการฝาก ธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ค่อนข้างหยุดนิ่ง และดำเนินงานในแบบที่ไม่รู้ว่า หากเกิดปัญหาอย่าง ธนาคารที่ล้มระเนระนาด เงินของสมา-ชิกจะเป็นอย่างไร

"ช่วงนี้มีเงินฝากเข้ามามาก ส่วนหนึ่งคงหนีจากธนาคารที่ลดดอกเบี้ย... คนที่หนีก็ต้องการมาสู่สิ่งที่มั่นคงขึ้น โดย ดอกเบี้ยที่ลดลง แสดงให้เห็นว่า ยิ่งมั่น คงมากดอกเบี้ยก็ต่ำ ถ้าไม่ค่อยมั่นคงดอกเบี้ยแพง ซึ่งเสี่ยงมากเมื่อดอกเบี้ยสูง และเสี่ยงน้อยดอกเบี้ยแพง เพราะฉะนั้นฝากสหกรณ์ฯ ดอกเบี้ยต่ำๆ แสดงถึงความมั่นคงด้วย เราไม่ง้อเงินแล้วแต่คนฝากต้องง้อเรา "

สำหรับสถานการณ์เงินสดไหลเข้าสู่ระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ มีแนวโน้มว่าน่าจะไหลเข้ามาเพิ่มจากเดิมอีกมาก เพราะจากสิ้นปีมาถึงขณะนี้ก็ไหลเข้ามา 500-600 ล้านบาทแล้ว (เงินไหลเข้ามาฝากในสหกรณ์) เดือนละ 100 ล้านหุ้นก็เข้ามา 500 ล้านแล้ว รวม 1,050 ล้าน ทั้งหุ้นทั้งเงินฝาก (5 เดือน)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเงินจะล้นมากเกินความต้องการ แต่สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ ไม่รู้สึกหวั่นไหว และเชื่อว่าธนาคารพาณิชย์ยุคนี้ยังให้ผลตอบแทนที่สร้างความพอใจในระดับหนึ่งแม้ ไม่มากเช่นเดิม และไม่เชื่อว่ารัฐจะปล่อยให้ธนาคารเกิดปัญหาจนถึงขั้นต้องปิดกิจการ โดยรัฐไม่เหลียวแล เพราะปรัชญาของสหกรณ์ออมทรัพย์คือการออมทรัพย์ รับเงินฝากให้เงินกู้แก่สมาชิก ช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นสำคัญไม่ใช่หวังผลกำไร

ทั้งนี้เงินกว่า 8,000 ล้านบาท สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ จะจัดสรรดังนี้คือ

1. ฝากธนาคาร ทั้งประจำ ออมทรัพย์ และกระแสรายวัน กระจายอยู่ในธนาคาร 7 แห่ง อัตราส่วนขึ้นอยู่กับว่าธนาคารไหนให้ผลตอบแทนที่ดี และมีความมั่นคงมาก ซึ่งการฝากธนาคารจะเป็นการรักษาสภาพคล่องให้กับสหกรณ์ฯ ได้

2. ฝากชุมนุมสหกรณ์ฯ โดยในรอบปีที่ผ่านมา สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ ฝากเงินไว้กับชุมนุมสหกรณ์ฯ สูง มาก เพราะชุมนุมสหกรณ์ฯ เป็นเหมือน ศูนย์รวมของกลุ่มสหกรณ์ซึ่งคล้ายกับธนาคารแห่งประเทศไทย การฝากที่ชุม นุมสหกรณ์ฯ ก็มีผลตอบแทนระดับที่สร้างความพอใจให้กับสหกรณ์ฯ มากเช่นกัน

3. ให้สมาชิกที่มีอยู่จำนวน 8,473 รายกู้ เป็นการหารายได้ที่มั่นคงและไว้ใจ ได้ และเป็นการเพิ่มรายได้ที่ดี แต่สห-กรณ์ฯ ก็ไม่ได้เอากำไร เพราะดอกผลของเงินฝากยังต่ำกว่าเงินปันผล ฉะนั้นสหกรณ์ฯ จะเอาเงินหุ้นมาให้สมาชิกกู้กำไรก็คืนสมาชิก

4. ให้สหกรณ์ฯ อื่นกู้ ซึ่งจุดนี้สหกรณ์ฯ จะได้รับประโยชน์เต็มที่ เมื่อได้กำไรก็จะมีการเฉลี่ยคืนสมาชิก ขณะสหกรณ์ฯ อื่นไม่มี จุดนี้สหกรณ์ฯ จะได้ผลประโยชน์แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย และสามารถปล่อยให้กู้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยที่ไม่เสี่ยงและปลอดภัยทุกแห่ง ที่การบริหารจัดการที่ดี มีระเบียบวินัยในการปล่อยเงินกู้สมาชิกหนี้สูญ สงสัยจะสูญไม่ค่อยมี หรือไม่มีเลย หรือมีน้อย ก็เลือกลูกค้าชั้นดีมาเป็นลูกค้าเรา

"เราก็เลือกไม่เคยเกิน 10% ของสหกรณ์ฯ ทั้งหมด เป้า 100 แห่งเคยมีคนกู้เรามากสุด 77 แห่ง เคยได้สูงสุด 5,342 ล้านของปีก่อนโน้น เป็นตอนที่เงินฝากทั้งหมดปล่อยหมดเลย เพราะเรามีหุ้นพอให้สมาชิกกู้พอแล้วคือหุ้นมาก กว่าหนี้ และยังมีเหลือด้วยซ้ำ ก็เอาไปรักษาสภาพคล่อง พอใครมาถอนเงินก็มีเงินให้เขาไม่ต้องไปถอนเงินมาจากที่อื่นมาให้

เงินฝากที่ได้มาปล่อยให้สห-กรณ์ฯ อื่นกู้หมดเลย ปีก่อนโน้น 5,324 ล้านเป็นเงินฝาก แต่ให้สหกรณ์อื่นกู้5,342 ล้านบาทตัวเลขกลับกัน ให้กู้เต็มที่เลยนั่นคือสภาพปกติแล้วเก็บไว้ที่ตัวเองไม่มากนัก เพียงพอที่ให้สมาชิกผู้ที่นำเงินมาฝาก...มาถอนได้สบาย และผู้ถือหุ้นกู้ถ้าอยากจะกู้ก็มากู้เอามาใช้ได้ตลอดเวลา สมาชิกพอที่จะกู้ยืมแล้วจึงจะเอาไปเผื่อแผ่คนอื่น ไม่ใช่ทำมาหาได้ข้างนอก เอาเงินไปให้เขากู้ได้ทั่วบ้านทั่วแดน สมาชิกตัวเองรอคิวไม่ได้ สมาชิกต้องมาก่อน เงินเหลือแล้วถึงจะเอาไปให้คนอื่น"

สำหรับในช่วงที่ธนาคารเริ่มลดอัตราดอกเบี้ย สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ ก็หนีไม่พ้นต้องปรับลดดอกเบี้ยตามเพื่อความเหมาะสม และไม่ให้แตกต่างกันมากนัก เป็นการสกัดการไหลเข้าของเงินฝากมากเกินไป โดยตั้งแต่ปลายปี 2541 สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินฝาก-เงินกู้ รวมทั้งหมด 5 ครั้ง (ล่าสุดเริ่มมีผลบังคับใช้ วันที่ 1 กรกฎาคม 2542 )

โดยการปรับลดครั้งแรก เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2541 ประเภทฝากไม่จำกัด ยอด ระยะ 3 เดือนร้อยละ 6.50 ระยะ 6 เดือน 6.25 ร้อยละ 6.25 และ 12 เดือน อัตรา 6.00 ส่วนประเภทจำกัดยอดเงินฝาก 3 เดือน ไม่ต่ำกว่า 2 แสนบาท 3 เดือน 6.75 , 6 เดือน 6.50 และ 12 เดือน 6.25

ส่วนเงินฝากไม่ต่ำกว่า 1 ล้าน ไม่ ต่ำกว่า 5 ล้าน และไม่ต่ำกว่า 10 ล้าน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.00 ส่วนระยะ 6 เดือนไม่จำกัดยอด ไม่ต่ำกว่า 2 แสนอัตราร้อยละ 6.50 ส่วนไม่ต่ำกว่า 1 ล้าน, 5 ล้าน และ 10 ล้าน อัตราร้อยละ 6.75 และจำกัดยอดเงินฝากประเภท 12 เดือน ไม่ต่ำกว่า 2 แสน ร้อยละ 6.25 และไม่ต่ำกว่า 1 ล้าน, 5 ล้านและ 10 ล้าน อัตรา ดอกเบี้ยร้อยละ 6.50 ขณะที่อัตราการกู้จะอยู่ที่ร้อยละ 13.50

หลังจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้ครั้งแรก สหกรณ์ฯจุฬาก็มีการประกาศปรับลดตามมาเป็นระลอกไล่หลังธนาคาร จนถึงล่าสุดวันที่ 1 กรกฎาคม 2542 วงเงินฝากไม่จำกัดยอด ทุกระยะเวลาจะเหลือร้อยละ 5.00 ส่วนเงินฝากจำกัดยอดไม่ต่ำกว่า 2 แสน อยู่ที่ร้อยละ 5.25 และต่ำกว่า 1 ล้าน, 5 ล้าน และ 10 ล้าน ทุกระยะเวลา จะเหลือเพียง 5.50

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ 1 กรกฎาคมนี้จะเหลือเพียง 10.50% และถึงลดกระหน่ำขนาดนี้ ก็ยังมีแนวโน้มว่า คงไม่มีใครจะสนใจกู้สักเท่าไหร่ !!

กฟผ.เมินคนนอกกู้

สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หารายได้จากการปล่อยให้สหกรณ์อื่นๆ กู้และฝากธนาคารเพื่อ สร้างรายได้โดยไม่สนว่า ธนาคารจะลด ดอกเบี้ยยังไง ตรงกันข้ามกับสหกรณ์ ออมทรัพย์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำกัด(กฟผ.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีรายได้จำนวนมากแต่มีความเป็นคอนเซอร์เวทีฟสูงมาก คือไม่ปล่อยใครกู้นอกจากสมาชิกเท่านั้น

นายกำจร อุสยาภาส กรรมการผู้จัดการ สหกรณ์ออมทรัพย์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำกัด เล่าว่า ช่วงก่อนหน้านี้ประมาณต้นปี 2542 สมาชิกแห่ฝากเงินในสหกรณ์ฯ สูงมาก จากภาวการณ์ที่ธนาคารพาณิชย์ค่อยๆ ลดอัตราดอกเบี้ยลงตลอดอย่างต่อเนื่อง และผลต่างดอกเบี้ยระหว่างธนาคารกับสหกรณ์ฯ ต่างกันถึงร้อยละ 1-1.5 แต่จนถึงขณะนี้ การไหลเข้าของเงินฝากเริ่มชะลอตัว หรือเรียกได้ว่าอยู่ตัวแล้ว

เหตุที่ทำให้เงินเริ่มไหลเข้าน้อยลง ส่วนหนึ่งมาจากคณะกรรมการบริหารสหกรณ์ฯ ได้พิจารณาเห็นว่า หากปล่อย ให้สภาพเงินล้นระบบแบบนี้ไปเรื่อยๆ สหกรณ์ฯต้องแบกภาระหนักมาก และอาจมีปัญหาในการบริหารตามมาในอนาคต เพราะที่ผ่านมาสหกรณ์ฯ มีเพียงการฝากธนาคารพาณิชย์ และปล่อยให้สมาชิกกู้ โดยไม่มีการปล่อยกู้ให้กับสหกรณ์อื่นๆ เลย เพราะพวกเราฟังแต่เรื่องร้ายๆ มากเกรงว่าจะมีปัญหาขึ้นได้ หากสมาชิกต้องการใช้เงิน ซึ่งจากการประชุมของคณะกรรม การฯ เห็นว่ามาตรการสกัดกั้นที่สำคัญและดีที่สุดในเวลานี้ คือ ลดอัตราดอกเบี้ย ทั้งเงินฝากและเงินกู้

โดยสหกรณ์ฯ เริ่มลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากครั้งแรก ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2542 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เริ่ม 1 กุมภาพันธ์ 2542 ครั้งที่ 2 ประกาศ ลดดอกเบี้ยเงินฝาก-กู้ วันที่ 1 มีนาคม และวันที่ 29 เมษายน และ 1 พฤษ-ภาคม สหกรณ์ฯ ประกาศลดดอกเบี้ยครั้งที่ 3 และจนถึงปัจจุบัน (ถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2542) อัตราดอกเบี้ยของสหกรณ์ฯ ทุกประเภทลดลงร้อยละ .25

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2542 ที่ผ่านมา สหกรณ์ฯ ประกาศลดดอกเบี้ยมาแล้ว 3 ครั้งโดยเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2542 เงิน ฝากออมทรัพย์มีการปรับลงอยู่ 5.00% เงินฝากออมทรัพย์พิเศษเดิม 8.00% เหลือ 6.00% เงินฝากออมทรัพย์พิเศษทวีทรัพย์ เดิม 7.75% เหลือเพียง 5.75% ส่วนเงินฝากประจำ ระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือนและ 12 เดือนมีอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดจาก 8.00% เหลือ 6.00% ส่วนเงินฝากประจำเพิ่มทรัพย์ จาก 8.50 เหลือ 7.50 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ จาก 12.50 เหลือ 11.50%

หลังจากการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก จนถึงปัจจุบัน ปรากฏว่า สหกรณ์ฯ สามารถหยุดการไหลเข้าของเงินฝากได้อย่างเห็นผล อย่างไรก็ตาม แม้จะประกาศลดดอกเบี้ยทุกประเภท จนมีอัตราใกล้เคียงกับธนาคารมาก แต่ก็ยังสูงกว่าธนาคาร .25 และช่วงปลายปีสมาชิกยังได้รับการปันผล และเฉลี่ยคืนจากผลกำไรของการดำเนินงานในสหกรณ์ฯ ด้วย

ทั้งนี้ การลดดอกเบี้ยทำให้จากเมื่อเดือนมกราคม 42 เดิมสหกรณ์ฯ สูงกว่าธนาคารมาก ทำให้เงินเข้ามาถึงเกือบ 1 พันล้าน จนเวลานี้สหกรณ์ฯ มีเงินเหลือฝากธนาคารถึง 2 พันกว่าล้าน

นอกจากสหกรณ์ออมทรัพย์ กฟผ.จะไม่ยอมให้สหกรณ์อื่นๆ กู้ เพราะ กังวลเรื่องเงินอาจขาดมือในภาวะฉุกเฉิน แล้ว จุดหนึ่งของการจัดตั้งสหกรณ์ฯ แห่งนี้ คือ เพื่อเป็นสวัสดิการของพนักงาน เพื่อค้ำจุนคนการไฟฟ้าฯ โดยเล็งเห็นว่า พนักงานกว่า 3 หมื่นคน หากมีปัญหาต้องการใช้เงินจะเอาเงินที่ไหนมาให้กู้ สหกรณ์ฯ จึงถูกจัดตั้งเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2522 ไม่ใช่เพื่อการทำธุรกิจเรื่องเงิน ซึ่งกรรมการเองก็ไม่ได้โบนัส เหมือนสหกรณ์อื่นๆ

"การแก้ไขปัญหาที่เรากำลังคิดว่าจะทำปีนี้คือ เงินรายได้เข้า 1.2 พันล้าน คำนวณแล้วกำไรประมาณเกือบ 700 ล้าน ปันผลประมาณ 600 กว่าล้าน ดอกเบี้ยเฉลี่ยคืน 1% และจ่ายค่าเงินฝากตรึงดอกเบี้ยเป็นเงินตอบแทนประมาณ 10 กว่าล้านบาท ซึ่งคาดว่ามาตรการนี้จะบรรเทาความเดือดร้อนของสมาชิกที่ได้รับผลจากการลดดอกเบี้ยบ้าง"

มธ.เน้นหารายได้จากปล่อยกู้

ส่วนสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จำกัด(มธ.) ซึ่งเป็น สหกรณ์ออมทรัพย์ที่ปล่อยให้สหกรณ์ฯ อื่นกู้มากที่สุด พบว่า ปัจจุบันสหกรณ์ฯ มีเงินฝากรวมกันประมาณ 3.6 พันล้าน มีเงินหุ้น เงินสำรอง เงินกองทุนรวมกัน 1พันล้าน มีทุนดำเนินงาน 4.5 พันล้านบาท โดยให้สหกรณ์อื่นกู้ 2 พันล้าน ที่เหลือก็ให้สมาชิกตัวเองกู้และฝากธนาคาร ซึ่งประมาณ 85% ปล่อยให้สหกรณ์ อื่นๆ กู้

โดยสหกรณ์ฯ แห่งนี้เน้นปล่อย กู้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูมากที่สุด ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.มนูญ พาหิระ ประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำกัด บอกว่าเพราะเป็นการให้ความช่วยเหลือกลุ่มสหกรณ์ที่มีปัญหา ตามอุดมการณ์สหกรณ์ และผลกำไรจากการปล่อยกู้จุดนี้สร้างความพึงพอใจให้กับสมาชิกและผู้บริหารที่ยอมรับได้

อย่างไรก็ตาม ในสภาวะปัจจุบันที่ระบบของธนาคารมีการเปลี่ยนแปลง สภาพคล่องของระบบเศรษฐกิจโดยรวม มีมาก ก่อให้เกิดปัญหามากกับสหกรณ์ฯ ที่มีเงินฝากมาก ขณะที่สมาชิกก็กู้น้อยลงมาก นอกจากนี้คนที่เคยเอาเงินไปฝากธนาคาร ก็ไปถอนเงินจากธนาคารมาฝากสหกรณ์ฯ ทำให้สหกรณ์ฯ ก็มีเงินเพิ่มขึ้น และสหกรณ์ฯ บางแห่งก็คืนเงินกู้ก่อนกำหนด

ทำให้สหกรณ์อื่นๆ ที่เคยมากู้สหกรณ์ฯ ธรรมศาสตร์น้อยลง เพราะสหกรณ์นั้นๆ มีเงินฝากของตัวเองปล่อยกู้อยู่แล้ว ทำให้สภาพเวลานี้ของสหกรณ์ฯ ไม่รู้จะทำอย่างไรกับเงินที่มากขนาดนี้ได้ ซึ่งของสหกรณ์ฯ ธรรมศาสตร์มีเงินเหลือถึงกว่า 1.8 พันล้านบาท

ซึ่งการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ดีที่สุด ในการป้องกันเงินไหลเข้าสู่ระบบ สหกรณ์ฯ แบบเฉพาะหน้า สหกรณ์ฯ ธรรมศาสตร์ก็เหมือนสหกรณ์อื่นๆ คือ ลดอัตราดอกเบี้ยให้ใกล้เคียงกับธนาคาร พาณิชย์

จากที่ก่อนหน้านี้กลุ่มสหกรณ์ฯ ชั้นแนวหน้า ที่มีเงินฝากในระบบสูงๆ จะแข่งกันลดดอกเบี้ยอย่างหนัก ทั้งฝาก และกู้ จนทำให้เกิดปัญหาแย่งลูกค้า แต่ เมื่อเร็วๆ นี้ ทุกสหกรณ์ฯ ตกลงกันว่า การปรับลดจะตกลงร่วมกันว่า ให้มีผลต่างไม่เกิน .25 เพื่อให้ทุกสหกรณ์ฯ และสมาชิกดำรงอยู่ได้

สำหรับอัตราดอกเบี้ยของสห-กรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มีการปรับลด เริ่มตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2541 โดยฝากออมทรัพย์มีอัตราร้อยละ 5.50 เงินฝากประจำ 3 เดือนอัตราร้อยละ 6.50 ฝากประจำ 6 และ 12 เดือนร้อยละ 7.25 ถัดมามีการประกาศลดดอกเบี้ยเงินฝากวันที่ 28 มกราคม 2542 โดยเงินฝากออมทรัพย์เท่าเดิม คือ ร้อยละ 5.50 ขณะที่ฝากประจำทุกระยะเวลาลดลงร้อยละ .25

จากนั้นวันที่ 2 มีนาคม 2542 มีการปรับ ลดอีกครั้ง โดยคราวนี้ปรับลดดอกเบี้ยออมทรัพย์และฝากประจำ 3 เดือนลงอีก .50 ขณะที่เงินฝากประจำ 6 และ

12 เดือนปรับลดอีก .75

ในช่วงเดือนเมษายน 2542 มีการปรับลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง คือ ในวันที่ 1 เมษายน ปรับลดทุกประเภทเงินฝากลงร้อยละ .25 และวันที่ 23 เมษายน ปรับลดเฉพาะเงินฝากประเภท 6 และ 12 เดือนลงอีก .25 โดยเหลือที่ร้อยละ 6.00

สำหรับการปรับลดครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2542 สหกรณ์ฯธรรมศาสตร์ได้ประกาศปรับลดทุกประเภทเงินฝากลงอีก .25 โดยเงินฝากออมทรัพย์เหลือร้อยละ 4.50 ฝากประจำ 3 เดือน 6 เดือนและ 12 เดือนเหลือเพียงร้อยละ 5.25 เท่านั้น

ทางออกแก้เงินท่วมระบบ

ปัญหาที่สร้างความหนักอกหนักใจผู้บริหารของสหกรณ์ออมทรัพย์ขณะนี้ คงหนีไม่พ้นสภาพเดียวกับผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ของไทยทั่วประเทศ ที่หวาดวิตกว่า นับวันคนจะนิยมออมเงิน เพื่อหวังได้ดอกเบี้ยเป็นการตอบแทน มากกว่าที่จะถอนเงินไปลงทุน หรือจับจ่ายสิ่งของเครื่องใช้ในการดำรงชีวิต ทำ ให้ต้นทุนการบริหารงานเพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลา

แต่ธนาคารพาณิชย์ยังมีช่องทางในการหาเงินมาจ่ายดอกเบี้ยให้กับลูกค้าไม่ยาก เหมือนกับสหกรณ์ที่มีข้อบังคับของพระราชบัญญัติสหกรณ์ ที่แม้จะมีการแก้ไขปรับปรุงใหม่และประ-กาศใช้เมื่อเดือนเมษายน 2542 จะมีช่อง ทางให้สหกรณ์สามารถลงทุนเพิ่มประเภทได้ แต่ก็ยังไม่มีกฎกระทรวงประกาศออกมารองรับ โดยต้องรอคณะ กรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์แต่งตั้งขึ้นมาพิจารณารายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง

โดยพ.ร.บ.ฉบับใหม่มีหลายมาตราเปิดโอกาสการลงทุนในกรอบที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 62(7) ที่ระบุถึงความสามารถในการลงทุนของสหกรณ์ฯ ว่า

สหกรณ์อาจฝากหรือลงทุนได้ ดังต่อไปนี้

1. ฝากในชุมนุมสหกรณ์ฯ หรือสหกรณ์อื่นๆ

2. ฝากในธนาคารหรือสถาบันการเงิน ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สหกรณ์

3. ซื้อหลักทรัพย์ของรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ

4. ซื้อหุ้นของธนาคารที่มีวัตถุ ประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สหกรณ์

5. ซื้อหุ้นของชุมนุมสหกรณ์ฯหรือสหกรณ์อื่น

6. ซื้อหุ้นของสถาบันการเงินที่ประกอบธุรกิจอันทำให้เกิดความสะดวก หรือส่งเสริมความเจริญแก่กิจการของสหกรณ์ โดยได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์

7. ฝากหรือลงทุนอย่างอื่นตามที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติกำหนด

กฎหมายใหม่มาตรานี้ เปิดโอกาสให้สหกรณ์ฯ มีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้น แต่ไม่ระบุรายละเอียดว่ามีทางเลือกอื่นใดบ้างที่นอกเหนือจากกฎเกณฑ์เดิมๆ แม้ขณะนี้จะเปิดโอกาส ให้สหกรณ์ฯ ไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจได้ แต่ก็ยังมีปัญหาในการฝากเงินอีกคือ ต้องฝากธนาคารหรือสถาบันการเงินที่มีวัตถุ ประสงค์ให้การช่วยเหลือสนับสนุนทางการเงินแก่สหกรณ์ออมทรัพย์กู้เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างลำบาก ....

การยกร่างของคณะกรรมการ ที่มีรองรศ.ดร.มนูญ พาหิระ นั่งเป็นประธานเพื่อที่จะยกร่างกฎกระทรวงในมาตรา 62(7) ยื่นเสนอว่า จะจัดการหรือบริหารการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์ โดยจะพิจารณาว่าจะสามารถฝากหรือลงทุนอะไรได้บ้าง โดยการยกร่างดังกล่าวได้มีการถกรายละเอียดเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2542

"ส่วนข้อสรุปดังกล่าวที่เกิดจากกรรมการยกร่าง ที่มีผมเป็นประธาน มีผู้ทรงคุณวุฒิอื่นและก็มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชี IFCT ได้ยกร่างขึ้นมาเพื่อเปิดโอกาสให้มีการลงทุนได้หลายอย่างเพิ่มมากขึ้น....

....ซึ่งหากว่าที่ประชุมเห็นชอบและถ้าหากว่าคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ ให้ความเห็นชอบก็จะเป็นทางออกทำให้สามารถลงทุนเพิ่มขึ้นได้อีกหลายหลักทรัพย์ หรือหลายตราสาร ทางการเงิน"

โดยการพิจารณาร่างกฎกระทรวง คราวนั้น มีการเชิญสหกรณ์ประเภทต่างๆ มาประมาณ 100 กว่าคน เพื่อร่วมวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอนี้ว่าจะให้ความเห็นชอบมากน้อยแค่ไหน หลังจากวันที่ 18 แล้วก็จะส่งให้คณะกรรม การพัฒนาการสหกรณ์ฯ พิจารณา

การยกร่างกฎกระทรวงของคณะกรรมการชุดนี้ เน้นใน 2 เรื่องใหญ่ คือ 1. เรื่องสินทรัพย์สภาพคล่องจะกระทบกับทุกคนที่มีเงินฝาก เพราะทุกสหกรณ์ออมทรัพย์ก็มีเงินฝาก และอาจจะมีความเห็นแตกแยกว่าสูงไปหรือ ต่ำไป หรืออาจบอกว่าขอดำรงในสินทรัพย์ประเภทอื่นได้

จุดนี้จะได้ความหลากหลายแต่แน่นอนในที่สุดแล้วก็จะต้องนำข้อมูล เพื่อประมวลว่าจะมีข้อมูลที่เห็นด้วย ไม่ เห็นด้วยแค่ไหน เรื่องอะไรบ้าง เพื่อประมวลเป็นสถิติขึ้นมา และเรื่องที่ 2 คือการลงทุน ที่อาจไม่กระทบมากนัก

"ร่างนี้ไม่ทราบใช้เมื่อไร ทราบแต่เพียงว่าพอระดมความคิดในวันที่ 18 นี้แล้วจะรีบเสนอให้กับ รมต.เกษตร หรือนายทะเบียน ปลัดกระทรวงเกษตร แต่ขึ้นอยู่กับว่าคณะกรรมการเขาจะประชุมเมื่อไร และเห็นชอบด้วยมั้ยแต่ อย่างไรก็ตามก็ยังมีมือไม้ของกระทรวงคือกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมส่งเสริมฯ ที่ทราบข้อมูลใกล้ชิดประสานกันอยู่แล้ว เพราะปกติมี 2 กรมนี้เป็นคนยกร่าง"

รศ.ดร.มนูญ กล่าวว่าในพ.ร.บ. ฉบับใหม่ให้มีการดำรงสินทรัพย์ สภาพคล่อง ซึ่งเมื่อก่อนไม่มีมาก่อน โดยฉบับใหม่ระบุว่าสหกรณ์ฯ ที่มีเงินฝากต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องจำนวนหนึ่ง ซึ่งในฐานะประธานกรรมการ ยกร่าง ก็กำหนดอัตราที่ร้อยละ 2.5 ของ เงินฝาก แล้วก็จะประกอบด้วยหลักทรัพย์ที่จะใช้ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง และวิธีการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องว่าจะทำอย่างไร

คล้ายกับที่ธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) กำหนด แต่ธปท.กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง 6% ของเงินฝาก แต่ของสหกรณ์ ให้ดำรงเพียง 2.5% ส่วนประเภทของหลักทรัพย์อาจจะแตกต่างกัน

ฉะนั้นการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องก็อาจจะประมาณครึ่งหนึ่งส่วนสหกรณ์ที่ไม่มีเงินให้กู้ก็ไม่ต้องดำรง เพราะสหกรณ์ส่วนใหญ่บริหารเงินหุ้น สหกรณ์ที่ไม่มีเงินฝากส่วนใหญ่จะมีหุ้นเป็นจำนวนมาก

ตัวเลขสำรอง 2.5 ที่กำหนดจะถือเป็นการเพิ่มความมั่นคงให้กับองค์กร ฉะนั้นถ้าหากตัวนี้ยิ่งสูงมากเท่าไร เมื่อเทียบกับเงินฝากก็จะทำให้สร้างความมั่นใจกับผู้ฝากมากขึ้นเท่านั้น และในที่สุดก็จะทำให้มีความสามารถในการระดมเงินฝากมากขึ้น

ทั้งนี้ ในการระดมความคิดเห็นเรื่องการยกร่างกฎกระทรวงเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน เสียงของสหกรณ์แตกมาก ประเด็นแรกที่พูดถึงอย่างมากคือ
1. การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง และประเด็น 2. ร่างข้อกำหนดการฝากหรือการลงทุนอย่างอื่นของสหกรณ์ซึ่งถือเป็นเรื่องค่อนข้างด่วน และมีปัญหาที่ต้องขบคิดในช่วงที่เงินไหลทะลักเข้าในระบบสหกรณ์ออมทรัพย์อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ซึ่งตัวแทนสหกรณ์ออมทรัพย์ส่วนใหญ่ ยังคงระแวดระวังเกี่ยวกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดซ้ำรอยเดียวกับ โครงสร้างที่พังทลายลงของภาคการธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินโดยเฉพาะตัวอย่างของ 56 ไฟแนนซ์

ความเห็นที่ค่อนข้างสอดคล้องกันคือ เมื่อรู้ว่าทุกแห่งมีปัญหาคือเงินล้น และทางออกมีน้อย แต่สิ่งสำคัญก็คือต้องคำนึงถึงความเสี่ยงเป็นหลัก.... เรียกว่ากอดเงินสดไว้กับตัว แบบต้นทุนขยับสูงขึ้นทีละน้อย ก็ยังดีกว่าปล่อย เงินแบบสั่วๆ แล้วเกิดปัญหาหนี้สูญ เหมือนตัวอย่างที่เคยเกิดกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินในช่วงต้นของวิกฤตการณ์เงิน

เสียงส่วนใหญ่จึงลงความเห็นว่า...ระบบสหกรณ์สมควรยึดแนวหัวเก่าต่อไป เพราะปลอดภัยกว่า...ไม่โตแต่ก็ภาคภูมิใจที่ยืนหยัดอยู่ได้ ทั้งที่วิกฤตรุนแรงกระหน่ำอย่างหนักขนาดนี้.....

ระบบอนุรักษนิยม ถือเป็นแนวทางหลักหรือปรัชญาของกลุ่มสหกรณ์ทุกประเภท แม้จะมีการกล่าวถึงการพัฒนาและแปรสภาพสหกรณ์เป็นธนาคารพาณิชย์มาในระยะหนึ่ง แต่ในที่สุดเหตุการณ์เลวร้ายของภาคการเงินทั้งระบบ ก็ทำให้สมาชิกค่อนข้างอุ่นใจ เพราะที่ผ่านมาการบริหารเป็นไปในกรอบที่ค่อนข้างเข้มงวด ทำให้หลุดพ้นจากวิกฤตครั้งนี้ได้ แต่ก็ต้องมาประสบกับวิกฤตครั้งใหม่ในช่วงที่เงินไหลจากธนาคารพาณิชย์เข้าสู่ระบบของสหกรณ์แทน

สหกรณ์ออมทรัพย์แทบทุกแห่งจึงไม่สนใจต่อข้อกฎหมายที่เพิ่มทางเลือกในการลงทุนที่มีความเสี่ยง รวมทั้งร่างกฎหมายยกฐานะสหกรณ์เพื่อจัดตั้งเป็นธนาคารพาณิชย์ก็เงียบหายไป หลังจากเกิดวิกฤตภาคการเงินเป็นต้นมา

"ควรจะพิจารณาลงทุนในสห-กรณ์ภาคเกษตร คือไม่ทำกำไรมาก (ที่ผ่านมาไม่มีการปล่อยกู้ ลงทุนหรือฝาก) เนื่องจากมองที่ความเสี่ยงมากไป ขณะที่สหกรณ์ฯ บางแห่งที่ผลดำเนินการดี สหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีเงินล้นเหลือก็ควรจะมองการให้ความช่วยเหลือที่ภาคเกษตรที่ขาดแคลนเงินทุน แต่ความต้องการเงินทุนมีสูง"

ตัวแทนสหกรณ์ออมทรัพย์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ออกความเห็นในกลุ่มว่า การไฟฟ้าฯ เองก็มีเงินล้นเข้ามามาก แต่ส่วนตัวกลับมองว่าเงินจำนวนนี้น่าจะนำไปช่วยเหลือกลุ่มที่จะสร้างผลประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ แต่ขาดแคลนเงินทุนและอยู่นอกกลุ่มบ้าง...

โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจในอุตสาห-กรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ที่อยู่นอกระบบสหกรณ์ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่ต้องการเงินทุนดำเนินการ และยังมีโอกาสช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้ นอกจากนั้นเงินจำนวนมากขนาดนี้ก็ยังจะช่วยลดภาระการก่อหนี้ต่างประเทศได้ด้วย

พร้อมแนะว่า สำหรับการปล่อยกู้สหกรณ์ด้วยกันเอง น่าจะมองไปที่การดำเนินการของสหกรณ์เป็นรายๆ ไปมากกว่า เช่นภาคเกษตรแต่ละแห่ง แต่ตรงกันข้ามทุกคนต่างก็มุ่งแสวงหากำไร ทั้งที่ความจริงเงินที่ล้นอย่างมากขณะนี้ ควรจะนำมาช่วยเหลือสหกรณ์ ที่ยังขาดเงิน เงินทุนไม่พอ เพื่อลดเงินภาระล้น

จุดนี้จะช่วยเชื่อมโยงธุรกิจด้วย โดยการกระจายทุนไปยังสหกรณ์ออม-ทรัพย์หรือสหกรณ์ประเภทอื่นเพราะ กฎหมายไม่ได้ระบุว่าต้องลงทุนในสหกรณ์ประเภทเดียวกัน

การลงทุนในสหกรณ์ด้วยกันจึงไม่ควรคำนึงถึงกำไรมากนัก เพียงแต่ ต้องการระบายเงินที่ยากมากๆ ในขณะนี้ ไปสู่สหกรณ์ด้วยกันอย่างมีประสิทธิ ภาพดีกว่าเอาไปลงทุนในที่ที่มีความเสี่ยง สูง เพราะการลงทุนในสมาชิกด้วยกันสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา แม้บางแห่งไม่สามารถหัก ณ ที่จ่ายได้

ส่วนประเด็นที่ 2 เรื่องหลักเกณฑ์ การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง ที่กำหนดว่าสหกรณ์ฯ ควรดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2.5 ของยอดเงินฝากรวมทุกประเภทนั้น สมาชิก มีความเห็นที่แตกต่างเหมือนในประเด็น แรก

โดยเฉพาะชนิดของสินทรัพย์ที่จะใช้ประกอบด้วย เงินสด เงินฝากที่ชุมนุมสหกรณ์ฯ ซึ่งปราศจากภาระผูกพัน ตั๋วสัญญาใช้เงินของชุมนุมสหกรณ์ฯ ซึ่งปราศจากภาระผูกพัน เงินฝากธนาคารที่ปราศจากภาระผูกพัน

บัตรเงินฝากของธนาคารที่มีระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปี ซึ่งปราศจากภาระผูกพัน และตั๋วแลกเงินที่ธนาคารเป็นผู้รับรอง สลักหลัง หรือรับอาวัล หรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่ธนาคารเป็นผู้สลักหลัง หรือรับอาวัล โดยไม่มีข้อจำกัดความรับผิด หลายฝ่ายมองว่าน่าจะขึ้นกับการพิจารณาของแต่ละแห่ง

การกำหนดกฎเกณฑ์ดังกล่าว เป็นผลมาจากอาการหวาดวิตกว่า หากสหกรณ์ฯ มีพัฒนาการถึงขั้นสามารถบริหารการเงินได้ในระดับเดียวกับธนาคารพาณิชย์แล้ว จำเป็นต้องมีเงินส่วนหนึ่งกันไว้สำรองสภาพคล่อง หากสมาชิกเกิดอยากจะถอนเงินพร้อมกันในคราวเดียวเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเพื่อป้องกันวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจจะกลับมาเยือนอีกโดยไม่คาดฝัน

ตัวแทนส่วนใหญ่ให้ความเห็นที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องที่ตัวเลขร้อยละ 2.5 มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ที่เห็นด้วยส่วนใหญ่จะเป็นสหกรณ์ขนาดใหญ่ที่มีเงินฝากจำนวนมาก และที่ไม่เห็นด้วยก็คือสหกรณ์ขนาดเล็กที่ขาดเงินทุนดำเนินการ

สหกรณ์ขนาดเล็ก โดยเฉพาะที่มีเงินน้อยแสดงความเห็นว่า น่าจะกำหนดได้เองตามใจชอบ ขณะที่บางส่วนยกตัวอย่างประสบการณ์ภายหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจว่าควรจะสำรองให้มากและตัวเลขที่ 2.5 ก็เหมาะสม นอกจากนั้นก็มีการแนะนำเพิ่มเติมว่าการนำเงินไปฝากไว้ที่สหกรณ์อื่นก็น่าจะนับเป็นสภาพคล่องด้วย

"นอกเหนือจากเงินกู้แล้วสห-กรณ์การเกษตรที่ขาดแคลนเงินอยู่แล้วก็ยิ่งลำบากใจ โดยเฉพาะเงินฝากแทบไม่เหลือให้สมาชิกได้กู้ขณะที่สหกรณ์ อื่นก็ไม่อยากจะปล่อยให้ ดังนั้นก็ควรจะผ่อนปรนเหมือนกับที่ธปท. ยังผ่อนเกณฑ์ให้ธนาคารพาณิชย์ จึงสรุปว่าตัวเลขสูงไปสำหรับการลองของใหม่" ตัวแทนสหกรณ์ขนาดเล็กออกตัวด้วยน้ำเสียงที่ไม่ค่อยพอใจนัก

นายวิวัฒน์ แดงสุภา รองประ-ธานชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวภายหลังการประชุมสิ้นสุดว่า ผลสรุปการระดมความเห็นจะนำไปประมวล เพื่อดำเนินการก่อนที่จะสรุปผลในขั้นตอนสุดท้ายออกมา

ทั้งนี้ สหกรณ์ทุกแห่งต้องกลับไปคิดตัวเลขของตัวเองให้ดีกว่า 2.5 จะระดมเงินจากไหน ขณะที่การร่วมแสดงความเห็นครั้งนี้กว่าเรื่องจะถึงปลัดหรือ รัฐมนตรี ก็อย่าได้คาดหวังว่าการพูดคุย หรือถกกันจะเป็นไปตามนั้น เพราะเอาเข้าจริงก็อาจจะเปลี่ยนไปหรืออาจจะไม่มีเลย ไม่มีการติดตามก็อาจจะหายไปได้

นายวิวัฒน์กล่าวถึงอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงในช่วงนี้ตัวเลขที่ 2.5 คงจะลำบาก แต่ถ้าอยู่ในช่วงดอกเบี้ยสูงก็น่าจะทำได้ ส่วนชุมนุมฯ ขณะนี้ยังไม่ลดและถ้ายังมีเงินฝากเข้ามาก็รับเต็มที่ แต่เร็วๆ นี้อาจจะลดลงตามธนาคารพาณิชย์

"สำหรับคนที่จะขอกู้ถ้าขอเข้ามาตอนนี้พนักงานจะทำงานเร่งรีบมาก เพราะสภาพคล่องมากพอควร ตรงกันข้ามหากเอามาฝากเสียงก็จะอ่อยๆ ลง"

ทั้งนี้ดอกเบี้ยสูงชุมนุมฯ ก็จะได้รับความเชื่อถือหรือศรัทธามาก ซึ่งก็ขึ้นกับดอกเบี้ย ขณะที่การประชุมครั้งนี้สามารถอ้างกับคณะกรรมการพัฒนาการ สหกรณ์แห่งชาติได้ว่า คณะกรรมการไม่ ได้คิดฝ่ายเดียว แต่ได้มีการระดมความคิดจากหลายฝ่ายแล้ว

อย่างไรก็ตาม มติของสมาชิกครั้งนี้ก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะเป็นไปตามนี้ เพราะอาจจะเปลี่ยน แปลงได้ และได้เตือนว่ากรณีของสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่มีเหตุการณ์ยืดเยื้ออื้อฉาวนั้น ควรจะนำมาใช้เป็นบทเรียน โดยหากจะทำให้โปร่งใส เมื่อมีอะไรสงสัยให้นำเข้าเป็นมติที่ประชุมไว้ โดยเฉพาะการบริหารการเงินไม่มีคำว่าญาติ พี่น้องหรือความ สนิทสนมส่วนตัว

รัฐร่วมแก้เงินล้นสหกรณ์

กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในบทบาทผู้ดูแลการ ดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์ เวลานี้อธิบดีเองก็กังวลกับปัญหาที่สหกรณ์ต่างๆ กำลังเผชิญอยู่ไม่น้อยไปกว่ากันเท่าไร

โดยเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นายบุญมี จันทรวงศ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้จัดตั้ง "ศูนย์กลางบริหารสินเชื่อระหว่างสหกรณ์" เพื่อเป็นตัวกลางประสานเพื่อให้การบริหารเงินดังกล่าวระหว่างสหกรณ์เกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากแม้ว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ทั้งระบบจะมีเงินฝากล้น แต่สหกรณ์อื่นอีกหลายประเภทยังขาดขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียน โดยเฉพาะ สหกรณ์การเกษตรที่สมาชิกส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรและต้องการเงินทุนไปใช้ในการเกษตร

ทั้งนี้ในชั้นต้นกรมส่งเสริมสหกรณ์จะเป็นผู้ตรวจสอบประวัติการดำเนินงาน ประวัติทางการเงินของสหกรณ์ที่เป็นผู้กู้อย่างเข้มงวด เพื่อให้สหกรณ์ออมทรัพย์มั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาในการชำระเงินกู้คืน อีกทั้งหลังจากปล่อยกู้แล้วกรมฯ ยังจะติดตามตรวจสอบการใช้เงินกู้อย่างต่อเนื่อง

"ที่ต้องทำแบบนี้เพราะถึงแม้กรมฯ จะจัดตั้งศูนย์กลางบริหารสินเชื่อระหว่างสหกรณ์แล้ว แต่สหกรณ์ออมทรัพย์อาจไม่ยอมปล่อยสินเชื่อให้ต่างสหกรณ์ เพราะไม่วางใจว่ากู้ไปแล้วจะได้เงินคืนหรือไม่ แต่ไม่ได้หมายความว่ากรมฯ เป็นผู้รับผิดชอบเงินกู้ดังกล่าว เพราะเป็นเรื่องระหว่างสหกรณ์ผู้ให้กู้กับผู้กู้ กรมฯ เพียงตรวจสอบคุณสมบัติ ให้เท่านั้น" นายบุญมีกล่าว

สภาพคล่องที่ล้นเข้ามาในระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ยังคงสร้างปัญหาอย่างมากเวลานี้ นายบุญมีกล่าวว่า กรม ส่งเสริมสหกรณ์ได้แนะนำสหกรณ์ออมทรัพย์ลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพื่อชะลอ การไหลเข้าของเงินฝาก โดยให้อยู่ในระดับ 5% ใกล้เคียงกับระดับที่แบงก์กำหนดคือ 4-4.75% ส่วนอัตราดอกเบี้ย เงินกู้ให้ลดลงในสัดส่วนเดียวกัน ทั้งนี้สหกรณ์ออมทรัพย์มีต้นทุนดำเนินการต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์ และควบคุมลูกหนี้สมาชิกได้อยู่แล้ว จึงไม่น่าจะมีปัญหา เรื่องต้นทุนดำเนินการเหมือนกับธนาคาร พาณิชย์

วันนี้ ถึงแม้บทสรุปในการแก้ไข ปัญหาเงินล้นระบบสหกรณ์ออมทรัพย์จะยังหาข้อยุติไม่ได้ว่าแนวทางที่สห-กรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่ ร่วมพาเหรด กันลดดอกเบี้ยในอัตราเดียวกัน หรือ การยกร่างกฎกระทรวงฯ เพื่อเพิ่มช่องทางลงทุน แบบไหนจะสามารถแก้ไขได้ ดีและไม่ทำให้ต้องเจ็บตัวกันมากนัก

แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกสหกรณ์ออมทรัพย์ต้องเผชิญอย่างหลีกหนีไม่พ้น คือ การมีต้นทุนในการดำเนินงานมากขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากดอกเบี้ยและเงินปันผลต่อหุ้น ก็ยังต้องจ่ายให้สมาชิก ในอัตราที่สูงกว่าได้รับดอกเบี้ยจากธนาคารพาณิชย์

ฉะนั้น ปลายปีนี้ทุกสหกรณ์ออมทรัพย์ต้องเจอสภาพขาดทุนกำไร แน่นอน !!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.